30 พฤศจิกายน 2563

สมญานามพระเมสิยาห์

พระวจนะ

ด้วยว่ามีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา
มีบุตรชายคนหนึ่งที่ประทานแก่เรา
และการปกครองจะอยู่บนบ่าของเขา
และเขาจะได้รับการขนานนามว่า
“ที่ปรึกษามหัศจรรย์ พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์
พระบิดานิรันดร์ องค์สันติราช”
      (อิสยาห์ 9:6 อมธ.)

ไตร่ตรอง-ใคร่ครวญ

พระเมสิยาห์เป็นชื่อ และ สถานภาพดั้งเดิมที่มีความหมายลึกซึ้ง พระเมสิยาห์มีสมญานาม 4 ชื่อด้วยกันคือ ที่ปรึกษามหัศจรรย์  พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์  พระบิดานิรันดร์  และ องค์สันติราช  ทั้ง 4 สมญานามนี้ได้อธิบายถึงพระลักษณะเฉพาะของพระเมสิยาห์  ที่ปรากฏในชีวิตและการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์

ภาวนา-อธิษฐาน

พระบิดาเจ้า...

เมื่อพิจารณาถึงพระนามของพระเมสิยาห์นั้นน่าเกรงขาม  และนี่คือพระลักษณะของพระเยซูคริสต์  โปรดประทานความเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญในแต่ละพระนามของพระเมสิยาห์คือ  ที่ปรึกษามหัศจรรย์  พระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์  พระบิดานิรันดร์  และ องค์สันติราช  แต่ละวันในช่วงการเตรียมรับเสด็จปีนี้  โปรดช่วยให้ข้าพระองค์มีความสนิทใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากยิ่งขึ้นเมื่อได้เรียนรู้ถึงพระคุณของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำงานอย่างน่าอัศจรรย์ด้วยความเมตตา  เพื่อนำมาซึ่งสิ่งดีดีสำหรับข้าพระองค์ และ เป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้า  และโปรดช่วยให้ข้าพระองค์ได้มองเห็นและเข้าใจถึงฤทธานุภาพอันน่าอัศจรรย์ และ พระลักษณะที่ล้ำลึกเกินกว่าความคาดคิดที่จำกัดของข้าพระองค์จะเข้าถึงได้

 

ในพระนามของพระเยซูคริสต์    อาเมน

  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่

E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




29 พฤศจิกายน 2563

ความสว่างของโลก

พระวจนะ

ประชากรผู้เดินอยู่ในความมืด
ได้เห็นแสงสว่างอันยิ่งใหญ่
บรรดาผู้อาศัยในดินแดนแห่งเงาของความตาย
แสงสว่างเริ่มส่องสว่างถึงพวกเขาแล้ว
(อิสยาห์ 9:2 สมช.)

ไตร่ตรอง-ใคร่ครวญ

“แสงสว่าง” หมายถึงการประทับอยู่ด้วยของพระเจ้า พระองค์ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะอิสยาห์เมื่อหลายร้อยปีก่อนการบังเกิดของพระเยซูคริสต์ เพื่อบอกกับประชาชนทั้งหลายว่า “แสงสว่าง” นี้เป็นแสงสว่างสำหรับทุกคน

 

ภาวนา-อธิษฐาน

พระบิดาเจ้า...

เป็นการอัศจรรย์เหลือเกินที่พระองค์ตรัสผ่านอิสยาห์ผู้รับใช้พระองค์เมื่อหลายร้อยปีก่อนที่พระเยซูคริสต์มาบังเกิด  โปรดช่วยให้ข้าพระองค์ได้เข้าใจถึงการอยู่เหนือกาลเวลาของพระองค์และแผนการของพระองค์ตั้งแต่เริ่มแรกนั้น  โปรดช่วยให้ข้าพระองค์เข้าใจถึงแสงสว่างของพระองค์  และการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระองค์นั้นหมายความว่าอย่างไร  เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้ดำเนินชีวิตประจำวันในความสว่างของพระองค์

 

พระบิดา...

โปรดให้ชีวิตของข้าพระองค์ได้เป็นชีวิตที่สะท้อนแสงสว่างของพระคริสต์ไปยังคนอื่นรอบข้าง ให้แสงสว่างได้ไปถึงผู้คนทุกชนชาติ ฐานะ มิใช่เพียงแต่ข้าพระองค์และคริสตชนเท่านั้น  พระเยซูคริสต์มาเพื่อที่จะช่วยให้ชีวิตของมนุษยชาติได้สดใสสว่างขึ้น โปรดช่วยข้าพระองค์ได้พบกับแสงสว่างของพระคริสต์ในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะมีความสว่างในชีวิต   และสะท้อนแสงสว่างพระคริสต์ไปทั่วแผ่นดินของพระองค์

 

ในพระนามพระเยซูคริสต์  อาเมน

 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่

E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




18 พฤศจิกายน 2563

คลังแสงแห่งศรัทธา

ชีวิตสาวกพระคริสต์มิเพียงแต่เผชิญหน้ากับวิกฤติปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เบื้องหลังเหตุภัยอุบัติมีสาเหตุมาจากชีวิตของเราแต่ละคนต้องตกอยู่ใน “ภาวะสงครามทางจิตวิญญาณ” ที่เป็นสงครามของอำนาจชั่วที่มาแย่งชิงชีวิตจิตวิญญาณของเราจากพระเจ้า แต่พระเจ้าทรงเตรียมและประทาน “คลังแสงแห่งศรัทธา” สำหรับสาวกแต่ละคน ที่เป็นพลังปกป้อง หนุนเสริมแต่ละคนจากการตกเป็นเหยื่อของอำนาจชั่วนั้น อีกทั้งยังเป็นพลังเสริมสร้างให้ชีวิตสาวกพระคริสต์เข้มแข็งเติบโตขึ้น

อยู่ที่ว่า เราแต่ละคนมีโอกาสเปิด “คลังแสงแห่งศรัทธา” ที่เราได้รับแล้วหรือยัง? และได้สำรวจดูว่ามีอะไรหรือไม่? มีโอกาสฝึกและใช้อาวุธยุทโธปกรณ์จากคลังแสงแห่งศรัทธานี้มากน้อยแค่ไหน?

เมื่อผมเป็นทุกข์กังวลใจ ที่จะต้องผจญกับการเสี่ยงภัย พบประสบกับภาวะอันตราย ผมต้องสู้กับความอ่อนแอในความเชื่อของตนด้วยพระวจนะที่เป็นพระสัญญาของพระเจ้า ที่ว่า

ดังนั้น
อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า
ย่าท้อแท้ เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า
เราจะทำให้เจ้าเข้มแข็งขึ้นและจะช่วยเจ้า
เราจะชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา
(อิสยาห์ 41:10 อมธ.)

เพื่อนของผมท่านหนึ่ง ครั้งเมื่อเขาต้องไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศรัสเซีย เขาหวาดหวั่นทั้งภัยทางการเมืองต่างขั้วของประเทศตนกับประเทศที่ไปศึกษาต่อ ทั้งภาษาที่ตนไม่คุ้นชิน และพบกับคนที่อาจจะต้องคิดต่าง วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน เขากังวลอย่างมาก ในเวลานั้นคุณแม่ของเขาได้พูดคุยกับเขาทางโทรศัพท์ และบอกกับลูกว่า แม่ให้อาวุธในการสู้กับความวิตกกังวล ห่วงใย และความไม่มั่นใจ ขอลูกอ่านอิสยาห์ 41:10 ภายหลังที่ผ่านการศึกษาครั้งนั้นเขาบอกผมว่า พระธรรมอิสยาห์ 41:10 นี่คืออาวุธที่ทรงพลังสำหรับเขาในการต่อสู่กับความอ่อนแอทางความเชื่อของเขา

แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่อาวุธที่เขามีชิ้นเดียวใน “คลังแสงแห่งความเชื่อ” ของคริสตชน และนี่มิใช่ยุทธปัจจัยอย่างเดียวที่เราใช้ในชีวิตของเขา

เมื่อเราตกในภาวะกังวลสิ้นหวังว่า งานพันธกิจที่เราทำมันไม่รู้สึกเกิดผลเป็นประโยชน์อะไร  รู้สึกว่าทำไปก็แค่นั้น พบแต่ “ความว่างเปล่า”  เราต้องสู้รบปรบมือกับความหมดแรงทางความเชื่อด้วย อิสยาห์ 55:11 พระเจ้าทรงยืนยันว่า “ถ้อยคำที่ออกจากปากของเรา... จะไม่กลับคืนมายังเราโดยเปล่าประโยชน์ แต่จะสัมฤทธิ์ผลตามที่เราปรารถนา และสำเร็จตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้” (อมธ.)

เมื่อเราวิตกกังวลว่า เราอ่อนแอเกินกว่าที่จะต้องทำงานที่เรารับผิดชอบ เราต้องสู้กับความอ่อนด้อยทางความเชื่อในตัวเราด้วยพระสัญญาของพระคริสต์ที่ว่า “แต่พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “พระคุณของเราเพียงพอสำหรับเจ้า เพื่อว่าฤทธิ์อำนาจของเราจะได้ปรากฏเต็มที่ในความอ่อนแอ”... (2โครินธ์ 12:9 มตฐ.)

เมื่อเราว้าวุ่นใจที่จะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของเรา ให้เรารับมือสู้กับความอ่อนหัดทางความเชื่อของเราด้วย พระธรรมสดุดี 32:8 ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ว่า “เราจะสอนและชี้แนะทางที่เจ้าควรเดินไปเราจะให้คำปรึกษาและเฝ้าดูเจ้า” (อมธ.)

เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับคู่ปรปักษ์ขัดขวางของเรา เราสู้กับความเชื่อที่อ่อนแรงของเราด้วยคำถามที่ทรงพลังที่ว่า “...แล้วเราจะว่าอย่างไร? ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเราใครเล่าจะต่อสู้เราได้?(โรม 8:31 อมธ.)

เมื่อเราตกอยู่ในความวิตกกังวลในสวัสดิภาพของคนที่เรารัก ให้เราสู้กับการขาดความเชื่อและไว้วางใจในพระเจ้าของเราด้วยคำสอนและการเปรียบเทียบของพระเยซูที่ว่า “ถ้าแม้ท่านเองซึ่งเป็นคนชั่วยังรู้จักให้สิ่งดี ๆ แก่บุตรของท่าน พระบิดาของท่านในสวรรค์จะประทานสิ่งดีแก่บรรดาผู้ที่ทูลขอต่อพระองค์ยิ่งกว่านั้นสักเพียงใด!” (มัทธิว 7:11 มตฐ.)

ดังนั้น ในการที่เราต้องต่อสู้กับความอ่อนด้อย อ่อนแอ และการขาดความเชื่อในตัวเรา ให้เราต่อสู้ด้วย “พระวจนะ” อาวุธยุทโธปกรณ์ทางจิตวิญญาณรูปแบบต่าง ๆ ในคลังแสงที่พระเจ้าประทานแก่เรา ให้เราระลึกถึงพระสัญญา และ ตระหนักชัดถึงพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเราในภาวะที่คับขันว่า 

“ดังนั้น อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าท้อแท้ เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะทำให้เจ้าเข้มแข็งขึ้นและจะช่วยเจ้า เราจะชูเจ้าไว้ด้วยมือขวาอันชอบธรรมของเรา”  (อิสยาห์ 41:10 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




16 พฤศจิกายน 2563

เบ้าหลอม... “ผู้นำมือเยี่ยม”

 อะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการเป็นผู้นำที่มีความยืดหยุ่นเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนคริสตจักร และองค์กรในสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุ่งเหยิง และ สับสน?

โค้ช ท่านหนึ่งมักนำคำพูดของประธานาธิบดี แฮรี่ ทรูแมน พูดกับคนที่ท้อแท้ บ่นว่าเกี่ยวกับการกดดันและความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานในองค์กรที่ตนนำและทำงานว่า... 

“ถ้าคุณทนความร้อนไม่ไหวก็ออกไปจากห้องครัว”

ไม่ว่า ผู้นำประเทศ ผู้นำทีมนักกีฬา ผู้นำทางการค้าธุรกิจ ผู้นำองค์กรต่าง ๆ หรือ แม้แต่ผู้นำทางศาสนา หรือ คริสตจักร รวมถึงศิษยาภิบาลด้วย ต่างต้องพบประสบกับภาวะกดดัน  ความขัดแย้งเห็นต่าง การแย่งชิงผลประโยชน์ ชื่อเสียง การยอมรับ การเอาแพ้เอาชนะอย่างร้อนแรง ทุกคนที่ท่านนำต่างมุ่งมองมายังตัวท่านในฐานะผู้นำองค์กร อย่างที่นักดนตรีทุกคนในวงออเคสตร้าต่างต้องจ้องมองมายังที่ “ไม้ที่ให้จังหวะ เสียงหนักเบา” ของวาทยากร

ความร้อนแรงของห้องครัวไม่ใช่แค่สิ่งที่ หัวหน้าเชฟ (หัวหน้าพ่อ/แม่ครัว) ต้องอดทนเท่านั้น แต่เป็นสิ่งสร้าง “เชฟมือทอง” ด้วย กล่าวคือในภาวะที่ “ร้อนแรง” “วุ่นวาย” เหล่านี้กลับเป็นเบ้าหลอมคุณลักษณะ อัตลักษณ์ และเสริมสร้างสมรรถนะของผู้นำคนนั้นด้วย

ความร้อนแรงที่กดดันเป็นสิ่งที่เสริมสร้างหล่อหลอมให้ “เชฟ” เป็นพ่อครัวที่ประสบความสำเร็จในการทำและปรุงอาหารจานเด็ดที่โด่งดัง

นี่คือเหตุผลว่าทำไมความเป็นผู้นำจึงเป็นเรื่องยาก ความเป็นผู้นำไม่ได้เกิดขึ้นจากการให้ตำแหน่งของงานใดงานหนึ่ง จนกว่าผู้นำคนนั้นจะถูกผลักดันให้อยู่ท่ามกลางงานนั้น อย่างที่เราท่านเห็นกันทนโท่ในปัจจุบันนี้ ต่อให้คน ๆ นั้นเรียนจบปริญญาตรี โท หรือปริญญาเอก แต่ไม่สามารถทำงานนำในงานนั้น หรือ รับผิดชอบในงานนั้นตามที่เรียนมา ถ้าเขาไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในสนามงานนั้นมาก่อน และยังขาดการสะท้อนคิด สกัดบทเรียนจากประสบการณ์ ขาดการเรียนรู้จนตกตะกอนเป็น “ปัญญา” ในชีวิตและงานนั้นแล้ว ต่อให้อ่านตำราร้อยเล่มพันเกวียน ต่อให้ไปร่วมฟังสัมมนาอบรมจนได้ประกาศนียบัตรติดเต็มผนังห้องทำงาน  กลับมาที่ทำงานก็ยังเป็นผู้นำคนเดิม เบ้าหลอมตัวจริงของผู้นำในงานใดใด  อยู่ในสนามงานที่ผู้นำคนนั้นกำลังทำและรับผิดชอบ  

ในเวลาที่ผู้นำคนนั้นเริ่มเป็นคน “ถือหางเสือ” หรือ “เป็นผู้ควบคุมพวงมาลัย” งานที่รับผิดชอบ ในเวลานั้นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการ “หลอมภาวะผู้นำตัวจริง” ในงานที่กำลังทำนั้น

ตัวอย่างเช่น การเป็น “ผู้นำที่อภิบาล” ชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร แต่ละคนจบจากพระคริสต์ธรรม สอนพระคัมภีร์ได้ สามารถเทศนาได้ ประกาศพระกิตติคุณได้ และ ฯลฯ แต่กิจกรรมที่เราทำเหล่านี้ได้ “อภิบาลชีวิต และ หนุนเสริมชีวิตสาวกพระคริสต์” ในคริสตจักรแห่งนั้นหรือไม่กลับเป็นคำถามตัวใหญ่ ในพระคริสต์ธรรมเป็นเบ้าหลอมให้เรามีความจริงจังจนเรียนจบตามหลักสูตรที่สถาบันแห่งนั้นกำหนด ดังนั้น แต่ละคนจึงถูกหลอมออกมาเป็น “ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร....” เห็นไหมครับว่า... ยังไม่ได้เป็นผู้อภิบาลชีวิต และ การทำพันธกิจของผู้คนที่ตนต้องดูแลเลี้ยงดู ไม่ว่าในคริสตจักร ในโรงเรียน ในโรงพยาบาล...

แต่ถ้าวันใด ที่ผู้สำเร็จหลักสูตรพระคริสต์ธรรมคนนั้นก้าวลงสู่สนามงานไม่ว่าในคริสตจักร ในโรงเรียน โรงพยาบาล บ้านพักคนสูงอายุ ในกองทัพ ในหน่วยงาน ในเรือนจำ... เขาคนนั้นเริ่มรับการหล่อหลอมโดย “เบ้าหลอม” สำหรับงานที่ต้องรับผิดชอบนั้น ๆ  

ในกระบวนการหล่อหลอมแต่ละ “เตา” และ “เบ้าหลอม” มีกระบวนการโดยทั่วไปคือ  การที่ต้องผ่านความร้อนในเตาหลอมและเทลงในเบ้าหลอมที่ร้อนแรงอย่างสูง นอกจากที่จะทำให้ทองหรือเหล็กนั้นอ่อนตัวลง สิ่งที่แปลกปลอม ไม่เหมาะสมสำหรับงานนั้นจะถูกเผาไหม้ชำระให้บริสุทธิ์สำหรับงานนั้น ๆ (หลายอย่างที่ติดตัวมา และ ความรู้บางอย่างบางเรื่องจะถูกเผาไหม้ทิ้งถ้าไม่เหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ) แล้วพระเจ้าบรรจงเทน้ำทองคำบริสุทธิ์ลงในเบ้าหลอมสำหรับงานที่พระเจ้าให้รับผิดชอบตามพระประสงค์ของพระองค์ เมื่อนั้น คน ๆ นั้นก็จะเป็น “ผู้อภิบาลชีวิตและการทำพันธกิจ” หรือ “เป็นผู้นำคนของพระเจ้า” สำหรับที่นั้น ๆ งานนั้น ๆ ที่เขาต้องรับผิดชอบ

คริสตจักร หรือ พื้นที่งานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบจะเป็น “เบ้าหลอม” ตัวจริงที่จะสร้างผู้นำคนนั้น ๆ ขึ้นให้เหมาะสมกับงานที่ต้องรับผิดชอบ แต่คำถามที่ได้รับบ่อย ๆ คือ “แล้วฉันจะอยู่รอดหรือไม่ในภาวะร้อนแรงและกดดันเช่นนี้?” แทนที่จะถามว่า “แล้วฉันจะเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการนำการทำงานเหล่านี้ได้อย่างไร?

ดังนั้น หากการสร้างผู้นำตัวจริงคือสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นจริงของที่ทำงานนั้น ๆ เป็นเบ้าหลอม “ภาวะผู้นำมือเยี่ยม” แล้ว อะไรคือสิ่งที่จำเป็นในการเป็นผู้นำในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงในชุมชนคริสตจักร และ องค์กรในที่ต่าง ๆ ที่ตกในสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อน ที่แตกกระจายเป็นเสี่ยง ๆ? และมีความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้คนในชุมชนคริสตจักร หรือ คนในองค์กรที่มักเรียกร้องไปคนละทิศคนละทาง!? เราจะพัฒนาขีดความสามารถในการนำและอภิบาลชุมชนคริสตจักรของเราในสภาพที่กล่าว ด้วยกระบวนการการตัดสินใจในภาวะที่สับสน ที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันได้อย่างไร?

จากงานวิจัยและการสัมภาษณ์ผู้นำและผู้อภิบาลที่ต้องทำงานนำการเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤติ และ เกิดการหยุดชะงักงันดังกล่าว สิ่งสำคัญจำเป็นที่ชัดเจนคือ ความร้อนกดดันในห้องครัวยังไม่สูงพอ  หรือ ความร้อนและความดันในเตาหลอมยังไม่สูงพอ  ในเวลาเช่นนี้ผู้นำหรือผู้อภิบาลจะต้องพัฒนา ทางอารมณ์ ที่ร่วมกันของ ความเข้มแข็งและความยืดหยุ่น ความเชื่อมั่นและความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเห็นอกเห็นใจและการยืนหยัด เป็นผู้นำที่ยืดหยุ่นนำผู้คนให้ผ่านภาวการณ์ที่หยุดชะงัก คือคนที่ยอมตนที่จะผ่านภาวะที่ร้อนแรงของห้องครัวเข้าสู่กองไฟ

กองไฟที่ว่านี้ เป็นเหมือนเปลวไฟที่จะหลอมเหล็กให้อ่อนตัวที่ช่างตีเหล็กจะตีเหล็กนั้นขึ้นรูปตามที่ต้องการ ความร้อนแรงที่ว่านี้คือ การสะท้อนคิดในตนเอง การสะท้อนคิดไตร่ตรองถึงจุดเปราะบางของตนเอง ขอเน้นย้ำว่าไม่ใช่สถานการณ์ที่ร้อนแรง

สมรรถนะในการนำของผู้นำ เกิดจากการก่อตัวของการสะท้อนคิดในตนเอง  

ด้วยความสัตย์จริงแล้ว ความอ่อนแอในตนเอง หรือ แม้แต่การสะท้อนคิดถึงการดลใจของพระวิญญาณก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะต้องมีอยู่ในชีวิตของผู้นำเพื่อที่จะเป็นพลังในการก่อร่างสร้างคุณลักษณะของผู้นำ และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความยืนหยุ่นทางอารมณ์ด้วย จอห์น ดิวอี้ กล่าวหลายครั้งหลายคราว่า “เราไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์  เราเรียนรู้จากการไตร่ตรองประสบการณ์ต่างหาก”

ในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำนั้นลุ่มลึกไปกว่า “การเข้ารับตำแหน่ง” และ “กรอบรายละเอียดงานที่ต้องรับผิดชอบ” ของผู้นำ ต้องยอมรับว่ากิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำคือการไตร่ตรองตนเอง การสะท้อนคิดใคร่ครวญถึงความเปราะบางของตนเองเป็นประจำ   นี่เป็นกระบวนการที่อ่อนน้อมถ่อมตนเปิดชีวิตของตนในการยอมให้พระวิญญาณเข้ามาในสถานการณ์ชีวิตและการงานของเรา ความท้าทายในการเป็นผู้นำที่เราต้องเผชิญหน้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความล้มเหลวที่เราประสบ เพื่อทำให้เราเติบโตขึ้นในความรู้เท่าทันตระหนักชัดถึงความเปราะบางของตนเอง เราต้องเต็มใจที่จะเปิดตนเองออก และกล้าเผชิญเปิดเผยถึงความอ่อนแอเปราะบางในตัวเรา

กษัตริย์ผู้ที่มักตกอยู่ในความหยิ่งผยอง และตกอยู่ในความเปราะบางอ่อนแอของชีวิต ได้อธิษฐานขอต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอ​ทรง​ตรวจ​ค้น​ข้า​พระ​องค์​และ​ทรง​รู้จัก​จิต​ใจ​ของ​ข้า​พระ​องค์ ขอทรงทดสอบข้าพระองค์และทรงนำความคิดของข้าพระองค์” เพื่อที่พระเจ้าจะทรงนำเขาไปในทางของพระองค์

การเปิดเผยและยอมรับในจุดอ่อนเปราะบางของตนเองในขณะของการนำ เป็นการที่เราสัตย์ซื่อต่อหน้าพระเจ้า มองตนเองในกระจกด้วยสายตาที่เมตตาและกล้าหาญ นำทีมงานและผู้คนของตนด้วยความกล้าหาญและสัตย์ซื่อจริงใจ โปร่งใส และ ถ่อมตนด้วยความเชื่อมั่น และความร่วมมือกันจนกว่า ทั้งผู้นำและคนที่เขานำรวมตัวเข้าด้วยกันเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายที่กำลังเคลื่อนเข้ามา

นี่คือไฟที่แปรเปลี่ยนคุณลักษณะและสมรรถนะ มิใช่เป็นไฟที่มีเพียงความร้อนในห้องครัว   แต่เป็นเตาหลอมที่จะหลอมเชฟให้พร้อมที่ช่างตีเหล็กจะตีให้เป็น “เชฟมือเยี่ยม” และนี่คือไฟแห่งการไตร่ตรองสะท้อนคิดในตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความซื่อสัตย์อ่อนน้อมถ่อมตน


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499