30 มกราคม 2563

จะแก้ไขที่ “ฉัน” หรือแก้ไขที่ “เรา”?


การบริหารจัดการชีวิตคู่อุปถัมภ์

ปัจจุบันในสังคมไทยชีวิตแต่งงานดูเปราะบางแตกร้าวง่ายกว่าอดีต?

บ่อยครั้งเมื่อชีวิตแต่งงานประสบปัญหา คู่สมรสจะไม่เอ่ยถึงประเด็นปัญหาของความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ และมักคิดว่า “ตนเอง” ควรปรับปรุงชีวิตตัวเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่จะหันมาพิจารณาชีวิตสมรส และที่แย่กว่านั้น บางคนกลับมองว่า “คู่ชีวิตของตน” ต้องปรับปรุงตนเองจึงจะแก้ปัญหาชีวิตคู่ได้?

แล้วเราจะทำ หรือ จัดการอย่างไรเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในชีวิตสมรส?

บางคนขอเวลานอกถอยตัวออกมาแก้ไขชีวิตตนเองก่อน แต่บางคนมองว่าปัญหาที่เป็นอยู่ต้องแก้ไขชีวิตของคู่สมรส แต่บางคนมองว่า จะต้องจัดการแก้ไขที่ความสัมพันธ์ของเราสองคน

การเลือกจัดการปัญหาชีวิตคู่ประเด็นใดประเด็นเดียวข้างบนนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตคู่

การจัดการแก้ปัญหาชีวิตคู่เป็นเรื่องการจัดการปัญหาชีวิตอย่างเป็นกระบวนการ!

ชีวิต มิใช่เรื่องจะเลือกซ้ายหรือขวา ไปหน้าหรือถอยหลัง แต่ชีวิตเป็นเรื่องของความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในหลายมิติ หรือ หลายด้าน หลายระดับ และอาจจะเกี่ยวข้องกับทั้งทางซ้ายและทางขวา หรือ อาจจะต้องถอยหลังและไปข้างหน้าด้วย ชีวิตจึงมิใช่เรื่องที่จะเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น การเจริญเติบโต และ แข็งแรงของชีวิต จึงมิใช่การจัดการเพียงด้านใดด้านหนึ่งของชีวิตเท่านั้น

แต่เราจะต้องพิจารณาและตัดสินใจว่า “เราจะเลือกเริ่มต้นที่ตรงไหน ที่จุดไหนในบริบทชีวิตของเรา และเมื่อลงมือจัดการเสริมสร้างกับประเด็นที่เลือก เราจะเห็นประเด็นที่ต้องจัดการต่อเนื่องเป็นประเด็นอะไร แล้วลงมือจัดการแก้ไขและเสริมสร้างต่อไป

ตัวอย่างเช่น เราเห็นว่าสุขภาพของเราย่ำแย่ เราต้องมีเวลาออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ลดไขมัน แล้วเราก็เลือกที่จะว่ายน้ำ แล้ววิ่ง แต่เมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร เริ่มมองเห็นว่า สิ่งที่สัมพันธ์กับการลดความอ้วนที่สำคัญอีกมิติหนึ่งคือเรื่องการกิน การกินอาหารที่ทอด ที่มัน มันไม่ช่วยให้ร่างกายของเราสุขภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากก็เป็นอันตรายต่อร่างกายสุขภาพของเราด้วย

เมื่อเราเห็นด้านต่าง ๆ มิติต่าง ๆ เหล่านี้ เราเริ่มคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้น จัดการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย (มิใช่แค่ออกกำลังกายเท่านั้น) เมื่อเราเริ่มต้นจากด้านใดด้านหนึ่งที่เราเห็นที่เราตระหนัก ก็จะทำให้เราสามารถเห็นถึงความจำเป็นในการจัดการด้านอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การเจริญ เติบโต และแข็งแรงในชีวิตของเราก็เริ่มเติบโต แข็งแรง และขยายมิติในหลากหลายด้านออกไป

เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มต้นปรับปรุง จัดการ พัฒนาตนเอง ก็จะนำเราไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับด้านอื่น ๆ มิติอื่น ๆ ในชีวิตด้วย และเมื่อเราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง และ เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาในมิติความสัมพันธ์ จึงมิใช่การเลือกว่าเราจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เรากำลังก้าวเดินไปในเส้นทางสู่การเสริมสร้างการเติบโต เข้มแข็งในชีวิตคู่ของเรา

ดังนั้น การที่เราจะเริ่มต้นจากจุดใด สิ่งใด เรื่องใดในชีวิตมิใช่เป็นเรื่องสำคัญตายตัว แต่นั่นเป็น “จุดเริ่มต้น” และเป็นโอกาสที่เราจะเสริมสร้างพฤติกรรมความรับผิดชอบของเราในการที่จะก้าวเดินไปบนเส้นทางที่เสริมสร้างให้ชีวิตคู่ของเราเติบโต เข้มแข็ง กว้างไกล และชัดเจนยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการดำเนินชีวิตคู่ของเรา

ที่พึงตระหนักคือ การที่เราพัฒนาชีวิตของตนให้เจริญเติบโต (สนใจแต่ตนเอง) แต่ไม่สนในการเจริญเติบโตในชีวิตคู่ “ของเรา” (ไม่สนใจในความสัมพันธ์) ไม่ว่าครอบครัว เพื่อนฝูง หรือ ใครคนอื่น นี่เป็นเส้นทางชีวิตคู่ที่อันตรายอย่างยิ่ง การเจริญเติบโตของชีวิตที่ดีแข็งแรงคือการเจริญเติบโตจากชีวิตด้านหนึ่งหรือจุดหนึ่งไปสู่ด้านอื่น ๆ จุดอื่น ๆ ที่มีบนเส้นทางชีวิต ซึ่งหมายความว่าเราต้องสนใจใส่ใจการเจริญเติบโตในความสัมพันธ์ของชีวิตด้วย

ดังนั้น การที่เราจะเริ่มจัดการพัฒนาชีวิตคู่ คงไม่ใช่มาเจาะจงเฉพาะว่า เราจะเริ่มต้นที่ตนเอง หรือ เราจะเริ่มต้นที่ “เรา” (สองคน) แต่ในที่สุด ทั้งสองชีวิตต้องเป็นชีวิตที่ไปด้วยกัน เป็นชีวิตเดียวกัน ชีวิตคู่มี 3 มิติ ที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ การเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตน (เพื่อเป็นคนที่ดีกว่าที่เป็นอยู่) และร่วมกันเสริมสร้างเส้นทางชีวิตคู่ที่เราจะต้องไปด้วยกัน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในชีวิต

ให้เรามาเสริมสร้างชีวิตคู่ที่พัฒนาตัวตนของตนเองให้ดีกว่าเดิม และพัฒนาความสัมพันธ์ชีวิตคู่ของเรา ที่นำสู่การพัฒนาเส้นทางชีวิตคู่ที่เราจะเดินไปด้วยกัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



27 มกราคม 2563

คริสตชนจะทำงานกับเจ้านายยอดแย่ได้อย่างไร?

ในยุคนี้ ไปที่ไหนมักได้ยินแต่เสียงบ่นถึงเรื่อง “เจ้านาย” ที่แย่ ๆ ตั้งแต่เจ้านายที่ด้อยประสิทธิภาพ ด่างพร้อยในด้านคุณธรรม ความสัตย์ซื่อพร่องหาย วุฒิภาวะตกต่ำ และ ฯลฯ แล้วเราจะทำงานกับเจ้านาย/หัวหน้าแบบนี้อย่างไรดี?

จงรับใช้นายด้วยความกระตือรือร้น อย่างที่ทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทำต่อมนุษย์ เพราะพวกท่านรู้ว่าใครทำความดีอะไรไว้ ก็จะได้รับอย่างนั้นจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าทาสหรือไท (เอเฟซัส 6:7-8 มตฐ.)

1) การทำงานเป็นการทรงเรียกที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นแกนกลาง

โดยปกติแล้วเราไม่ได้มีความคิดอย่างที่เปาโลกกล่าวในพระธรรมตอนนี้ เปาโลบอกให้คริสตชนทำงานทุกอย่างด้วยความกระตือรือร้น “อย่างทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ทำต่อมนุษย์” ไม่ว่าเจ้านาย หรือ หัวหน้าคนนั้นจะเป็นคนอย่างไร

นั่นหมายความว่า ในขณะที่เรากำลังทำงานนั้น ความคิดจิตใจของเรามุ่งมองอยู่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้า เราจะถามความนึกคิดจิตใจของตนเองว่า

1) ทำไมพระเจ้าถึงต้องการให้เราทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ?
2) พระองค์ต้องการให้เราทำงานนี้ให้สำเร็จอย่างไร?
3) พระเจ้าต้องการให้งานนี้สำเร็จเมื่อใด?
4) องค์พระผู้เป็นเจ้าจะช่วยฉันในการทำงานนี้หรือไม่?
5) เมื่อทำงานนี้สำเร็จจะเป็นการถวายเกียรติแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไร?

กล่าวอีกนัยหนึ่งในการทำอาชีพการงานในชีวิตประจำวันของคริสตชน หมายถึงการมีชีวิตและการทำงานโดยมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง

2) การทำงานเป็นการทรงเรียกให้เป็นคนดี

การดำเนินชีวิตที่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลาง หมายถึงการที่เป็นคนดีตามพระประสงค์ของพระเจ้า เปาโลกล่าวว่า “...รับใช้ด้วยความกระตือรือร้น” ซึ่งเป็นการทำดี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อใครก็ตาม พระคริสต์กล่าวไว้ว่า “...พวกท่านจงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาทั้งหลายได้เห็นความดีที่ท่านทำ พวกเขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์” (มัทธิว 5:16 มตฐ.)

3) ทำความดีโดยไม่สนใจว่าหัวหน้า หรือ เจ้านายเป็นคนอย่างไร

เป้าหมายของพระธรรมตอนนี้เปาโลต้องการที่เสริมเพิ่มพลังแก่คริสตชน ด้วยการมีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิตและการทำงาน เพื่อทำสิ่งที่ดีแก่ผู้บังคับบัญชาไม่ว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร เช่น เจ้านายที่เอาแต่ใจตนเอง แล้วเราจะยังคงทำดีต่อไปได้อย่างไรเมื่อผู้บังคับบัญชาของเราเอารัดเอาเปรียบเรา ใส่ร้าย วิพากษ์วิจารณ์เราให้เสีย ๆ หาย ๆ? เปาโลตอบคำถามนี้ว่า หยุดคิดถึงผู้บังคับบัญชาของเรา แล้วเริ่มทำงานที่เราต้องทำนั้นเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ทำเช่นนี้ในทุกงานที่เราได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

4) ไม่มีการดีใดที่เราทำแล้วจะไร้ประโยชน์

ประโยคที่น่าประหลาดใจที่สุดในพระธรรมตอนนี้คือ “...ใครทำความดีอะไรไว้ ก็จะได้รับอย่างนั้นจากองค์พระผู้เป็นเจ้า” นี่น่าอัศจรรย์มาก! ความดีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความดีต่อใคร ทุกสิ่งดีที่กระทำ ไม่ว่าจะเป็นความดีที่เล็กน้อยปานใดที่เรากระทำ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเห็น และให้คุณค่า เราจะได้รับการตอบแทนจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่จากเจ้านายของเรา

ที่พระเจ้าทรงตอบแทนเรานั้น มิใช่เพราะพระองค์เป็นหนี้บุญคุณเราในเรื่องอะไร แต่ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกที่ตอบแทนเราด้วยความเมตตาเพราะสิ่งดีที่เรากระทำด้วยความเชื่อศรัทธาต่างหาก

5) การตอบแทนจากเบื้องบนไม่ขึ้นอยู่กับสถานภาพของเราบนโลกนี้

องค์พระผู้เป็นเจ้าจะตอบแทนเราทุกสิ่งดีที่เรากระทำ “ไม่ว่าเราจะเป็นทาสหรือไท” ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่า เราไม่สำคัญอะไร แค่คนทำงานคนหนึ่ง หรือ เขาอาจจะมองข้ามหัวเราไป นี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่พระเจ้ารู้เห็นและรู้ว่าเราเป็นอยู่อย่างไร และรู้ถึงสิ่งดีที่เราได้กระทำ ความสัตย์ซื่อใด ๆ ที่เรากระทำจะไม่ไร้ค่าในสายพระเนตรของพระเจ้า

การทำงานในวันนี้ และ วันต่อ ๆ ไปทุกวันของเรา ให้เราตระหนักชัดเสมอว่า เราทำงานถวายองค์พระผู้เป็นเจ้า ทุกการกระทำของเราอยู่ในสายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เห็นคุณค่าความตั้งใจในการกระทำของเรา และผู้ที่ตอบแทนสิ่งที่เรากระทำในอาชีพการงานคือ องค์พระผู้เป็นเจ้า และการทำงานแต่ละวันของเราจะเป็นที่ถวายพระเกียรติ และ เป็นการนมัสการพระองค์ (to work is to prayer)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


26 มกราคม 2563

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ (4) เศรษฐศาสตร์องค์รวมเพื่อชีวิต

Shel Silverstein นักเขียนนิทานสำหรับเด็กที่ให้ความหมายลุ่มลึกต่อชีวิตของผู้อ่านทุกวัย นิทานยอดนิยมเรื่องหนึ่งของเขาก็คือ “ต้นไม้ผู้ให้” เป็นเรื่องราวของต้นไม้ต้นหนึ่งกับเด็กน้อยคนหนึ่ง ต้นไม้พยายามค้นหาว่าอะไรที่จะทำให้เด็กน้อยคนนี้มีความสุข

ในช่วงต้นสิ่งที่ให้ความสุขแก่เด็กน้อยคนนั้นคือการที่หนูน้อยได้ปีนป่ายเล่นไปตามกิ่งก้านของต้นไม้ เก็บกินผลจากต้นไม้ต้นนั้น และนอนพักใต้ร่มเงาต้นไม้ หลังจากกลับจากโรงเรียน

เมื่อเด็กคนนี้เติบโตขึ้น ความปรารถนาต้องการของเขาเปลี่ยนไป ต้นไม้ต้นนี้ได้ให้ผลจากต้นของตนแก่ชายหนุ่มคนนี้ให้นำไปขายเพื่อจะได้เงินมาใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความปรารถนาของเขา

เมื่อเติบใหญ่มีครอบครัว ต้นไม้ให้ชายคนนี้ตัดกิ่งก้านของตนเอาไปสร้างบ้านสำหรับภรรยาและครอบครัวของเขา

และเมื่อชายหนุ่มคนนี้ต้องมีอาชีพทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัว ต้นไม้ให้เขาตัดเอาลำต้นของตนไปขุดเป็นเรือออกหาปลาเพื่อจะมีรายได้มาเลี้ยงคนในครอบครัว

วันหนึ่ง ชายคนเดิมนี้กลับมาหาต้นไม้ ด้วยหน้าตาทุกข์โศกเศร้า ส่วนต้นไม้ก็ได้ให้ตนเองทุกอย่างแก่ชายคนนี้ไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่ก็เป็นเพียงตอไม้ ส่วนชายคนนั้นตอนนี้ก็แก่เฒ่าชราแล้ว เขาแสวงหาเพียงที่ที่สงบที่จะนั่งและพักพิง ตอไม้เชิญชวนชวนคนแก่คนนั้นให้นั่งพักพิงบนตนเอง (ตอไม้ที่เหลืออยู่)

ท่านสามารถชมเรื่องราวนี้ได้ที่
https://www.youtube.com/watch?v=8VZvoFkJ0eA
ซึ่งมีอรรถรสมากกว่าที่เล่าข้างบนนี้

(1) เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงเลียนแบบของพระเจ้าให้สมกับเป็นบุตรที่รัก (2) และจงดำเนินชีวิตในความรักเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงรักเรา และประทานพระองค์เองเพื่อเรา ให้เป็นเครื่องถวายและเครื่องบูชาที่ทรงโปรดปรานแด่พระเจ้า (เอเฟซัส 5:1-2 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์ให้ทุกอย่างในชีวิตที่พระองค์มีอยู่แก่มนุษย์และโลกที่พระเจ้าทรงสร้าง และสิ่งที่พระองค์ให้นั้นอยู่บนรากฐานของการให้ชีวิตของพระองค์ เพื่อมนุษย์และสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างจะได้มีโอกาสใหม่ มีชีวิตใหม่ เป็นชีวิตที่มีความสงบสุขสันติอย่างแท้จริง

เราเป็นเด็กน้อยคนนั้น ที่พระคริสต์ทุ่มเทความรักเมตตาทั้งชีวิตของพระองค์แก่เรา พระองค์ประสงค์ที่จะเป็นคำตอบของความจำเป็นต้องการของเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตเรา พระองค์ให้ชีวิต เวลา โอกาส ความรักเมตตา ความใส่ใจ การยกโทษ ความสัมพันธ์ และเสริมสร้างคุณค่าและความหมายแก่เราในชีวิต

นี่คือเรื่องราวของ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณของพระเจ้า” “เศรษฐศาสตร์แห่งการให้ชีวิต” ที่มิใช่เอาทุกอย่างที่มีในชีวิตของเราไปแลกเอา “เงินทอง” ไปซื้อชีวิตและความสุขตามใจปรารถนาของเรา แต่พระเยซูคริสต์ให้ทุกอย่างในชีวิต เพื่อเราจะได้ชีวิตใหม่ ชีวิตที่มีความสงบ สันติ และความสุขในชีวิต

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ เป็นเศรษฐศาสตร์แห่งชีวิต ที่มิใช่ชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นชีวิตแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า และเป็นชีวิตทั้งกายภาพ ความนึกคิด จิตวิญญาณ และ ความสัมพันธ์ที่แสดงออกในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้า เรากับเพื่อนมนุษย์ และเรากับสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง

ความสุขไม่ได้เกิดจากการได้อะไรตามที่ต้องการ ตามที่ปรารถนา ได้มาก ๆ สะสมเยอะ ๆ แต่ความสุขกลับได้จากการให้ ให้ทุกอย่างเพื่อคนรอบข้างของเราจะมีชีวิตที่มีความสุข ให้สิ่งที่มีในชีวิตของเราเพื่อเขาจะมีโอกาสใหม่ และในที่สุดให้ทั้งชีวิตของเราเพื่อเขาจะมีชีวิตใหม่

และชีวิตที่มี่ค่าที่สุดคือชีวิตที่กลับมาพักพิงในองค์พระผู้เป็นเจ้า

นี่คือ...เศรษฐศาสตร์ที่เป็นองค์รวมเพื่อชีวิต!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



24 มกราคม 2563

ตำแหน่งเอา...แต่ไม่นำ หรือ นำไม่เป็น?

ถ้าคนนั้นถูกเรียกว่า “ผู้นำ”

แต่...
ต้องการรู้ทุกเรื่องเสมอ
ต้องการให้คนอื่นเอาอกเอาใจเสมอ
ไม่เคยหนุนเสริมเพิ่มพลังคนอื่น
ไม่เคยยอมรับผิด
ไม่เคยเสี่ยง
ปล้นเอาความดีความชอบเป็นของตนเท่านั้น
คน ๆ นั้นก็ไม่ใช่ผู้นำ...

เขาอาจจะมี “ตำแหน่ง”
เขาอาจจะเป็น “เจ้านาย”
เขาอาจจะมี “อำนาจ”
เขาอาจจะได้ “เงินเดือนมาก”
แต่คน ๆ นั้นไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง

สำหรับผมแล้ว
คน ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้น
แล้วหลีกทางให้คนอื่นเป็นผู้นำ

ท่านเคยพบ
คนที่มีตำแหน่ง “ผู้นำ”
แต่ไม่เคยนำ หรือ นำไม่เป็นไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


23 มกราคม 2563

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ (3) ทำไมคริสตชนทำพันธกิจ? ทำพันธกิจเพื่ออะไร?

การทำโดยไม่หวังผลตอบแทน แต่ทำเพราะพระเจ้าพอพระทัย

จากพระกิตติคุณลูกา 14:12-14 เมื่อพระเยซูเสด็จไปร่วมรับประทานอาหารในบ้านของฟาริสีระดับผู้นำคนหนึ่งในวันสะบาโต พระองค์พูดกับฟาริสีเจ้าบ้านว่า ในการเชิญคนมาในงานเลี้ยงอย่าเชิญคนสนิท คนร่ำรวย ที่พวกเขาสามารถเลี้ยงตอบแทนได้ แต่ให้เชิญคนจน แม่ม่าย เด็กกำพร้า ขอทาน คนพิการ คนง่อย และคนตาบอด ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะตอบแทนเจ้าบ้านที่จัดงานเลี้ยงได้ แต่เจ้าภาพจะได้รับผลตอบแทนเมื่อผู้ชอบธรรมเป็นขึ้นจากความตาย

กรอบคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ในการจัดงานเลี้ยง เรามุ่งเน้นเชิญคนที่มีเกียรติ มีชื่อเสียง มีฐานะตำแหน่งสูง ในด้านหนึ่งเป็นการเสริมสร้างความสำคัญแก่ตนเอง คือผู้เชิญได้รับผลประโยชน์เชิงสังคม ความภาคภูมิใจ และความรู้สึกมีค่าในตนเอง และในเวลาเดียวกันคนระดับชนชั้นสูงในสังคมย่อมจะเอื้อประโยชน์ในบางประการที่เราต้องการในภายภาคหน้าได้ ในกรณีนี้มิใช่งานเลี้ยงเท่านั้น ศิษยาภิบาลบางท่านมักโอ้อวดว่า ผู้บริหารสภาฯ ต่างก็มาเทศนาในโบสถ์ของตน เป็นการโอ้อวดถึงความเก่งกาจสามารถ ความสำคัญของตนที่เอาคนสำคัญ ๆ มาเทศน์ได้ใช่ไหม? แสดงว่า ศิษยาภิบาลเหล่านี้ตกใต้การครอบงำวิธีคิดแบบทุนนิยม

แต่การคิดเชิงเศรษฐศาสตร์แบบพระคริสต์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ให้เชิญคนยากจน ต่ำต้อย พิการ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถตอบแทนบุญคุณจากการเลี้ยงของเราได้ และก็ไม่ทำให้เราได้รับเกียรติเชิงสังคม หรือได้รับหน้าตาทางสังคม แต่กลับเป็นวิถีที่พอพระทัยพระเจ้า และผู้ที่จะตอบแทนเจ้าภาพคือพระคริสต์เอง เฉกเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ตรัสว่า “คนที่ทำกับผู้เล็กน้อยอย่างไรก็เหมือนกระทำแก่พระองค์ด้วย”

และนี่ควรจะเป็นลักษณะการทำพันธกิจของคริสตจักรในปัจจุบัน ที่ทำพันธกิจบนรากฐานเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ หรือ เศรษฐศาสตร์แบบพระเยซูคริสต์

ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณคือรากฐานปฏิบัติของคริสตจักรสมัยเริ่มแรก

ในพระธรรมกิจการ 2:45; 4:32-36 เป็นความเชื่อเชิงปฏิบัติที่มีฐานเชื่อกรอบคิดบนรากฐาน “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” หรือ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้” ของพระคริสต์ และด้วยฐานรากเศรษฐกิจแห่งพระคุณนี้เองที่พวกเขาได้ร่วมกันรวมตัวเป็นชุมชนคริสตจักรแห่งแรกที่เป็นรูปธรรมขึ้นในสมัยคริสตจักรเริ่มแรก

ผู้เชื่อ หรือ สาวกพระคริสต์ดำเนินชีวิตประจำวันบนระบบเศรษฐกิจแห่งพระคุณ และ ทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ด้วยฐานเชื่อกรอบคิดเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณของพระเยซูคริสต์ คริสตจักรเริ่มแรกมิได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม (อย่างเอ็นจีโอในปัจจุบันคิด) หรือ ที่มีคนนำมาแปลงหรือกล่าวอ้างว่าเป็นการทำ “ธุรกิจเพื่อพันธกิจ” ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดผิดเพี้ยนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างเรื่องของ อานาเนียและสัปฟีรา (กิจการ 5:1-11)

คริสตจักรในสมัยเริ่มแรกทำพันธกิจเพื่อสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่บัญชาให้พวกเขากระทำ กล่าวคือ เขาสานต่อพระราชกิจของพระองค์ด้วยชีวิต (ไม่ใช่ด้วยเงินทองงบประมาณ) ในปัจจุบันนี้ เราในฐานะสาวกของพระคริสต์ ไม่ว่าเราจะทำพันธกิจในชีวิตประจำวัน ในครอบครับ ในงานอาชีพ หรือ ในสังคม เราจะต้องสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ด้วย “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” คือการทำพันธกิจด้วยการให้ชีวิตแบบพระคริสต์

ส่วนในงานพันธกิจที่เป็นองค์กรคริสตชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือองค์กรงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เราต้องระวังที่จะไม่ทำพันธกิจให้เป็นงานอาชีพ หรือ ทำพันธกิจให้เป็นงานรับจ้าง หรือ ทำพันธกิจเพื่อหารายได้ หรือทำพันธกิจเพื่อหาเลี้ยงชีพ หรือทำพันธกิจแบบธุรกิจทุนนิยม หรือทำพันธกิจบนรากฐานระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เพราะพันธกิจที่คริสตจักรรับผิดชอบในปัจจุบันนี้เป็นการสานต่อพระราชกิจแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่พระเยซูคริสต์ได้สถาปนาขึ้นไว้ เราทำพันธกิจเพื่อบรรลุเป้าหมาย และ พระประสงค์ของพระคริสต์ มิใช่บรรลุเป้าหมาย และ วัตถุประสงค์ของธุรกิจในด้านนั้น ๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล องค์กรเอกชนคริสตชนเพื่อสาธารณประโยชน์

คงไม่ถูกต้องนักที่คริสตชนจะทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์โดยหวังรายได้ ผลประโยชน์ จากคนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับบริการจากงานพันธกิจที่เราทำ (เช่น คนไข้และญาติ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนชาวบ้าน) คนกลุ่มเป้าหมายที่เราทำพันธกิจด้วยไม่ควรจะตกในฐานะ “ลูกค้า” ของเราผู้ทำพันธกิจ? ยิ่งกว่านั้น ในฐานะ “ลูกค้าที่เราทำกำไรจากเขา”?

เราพูดว่าเราทำพันธกิจ แต่เรากลับห่วงกังวลที่จะต้องแข่งขันกับหน่วยงานที่ทำงานอาชีพเหมือนกับงานพันธกิจที่เราทำ? ทำไมเราต้องดิ้นรนวิ่งตามกระแสงานธุรกิจที่เราใช้ทำพันธกิจจนหน้าดำคร่ำเครียด ในเมื่อเราคริสตชนทำพันธกิจที่มีเป้าหมายตามพระประสงค์ของพระเยซูคริสต์?

ฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของคริสตชนไทยเรามีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือเปล่า? เราทำพันธกิจบนรากฐานเศรษฐกิจแห่งพระคุณหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


21 มกราคม 2563

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ (2) คุณลักษณะเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ

พระเยซูคริสต์มิได้สอน และ พระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับก็มิได้บันทึกเรื่อง “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ไว้ตรง ๆ ยิ่งกว่านั้น ในพระกิตติคุณยังไม่มีคำว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ปรากฏที่ไหนเลย แต่ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” เป็นการสังเคราะห์จากคำสอน และ การกระทำของพระเยซูคริสต์ที่ได้บันทึกในพระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะค้นหาสิ่งที่เป็น “กรอบคิดฐานเชื่อ” (หรือ mindset) ในเรื่องนี้ของพระเยซูคริสต์ เพื่อคริสตชนจะรู้ชัดและมีหลักยึด ที่ส่งผลต่อมุมมอง วิธีคิด การตัดสินใจ และ การดำเนินชีวิตในด้านเศรษฐศาสตร์ของชีวิตที่ปัจจุบันมีอิทธิพลครอบงำทุกด้าน/ทุกมิติในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา

(1) ชีวิตของทุกคนมีคุณค่า

จากคำอุปมาเรื่องการทำงานและค่าจ้าง (มัทธิว 20:1-16) ที่มีกลุ่มแรงงานมาทำงานตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย และตอนเย็น แต่เมื่อเสร็จการทำงานนายจ้างให้ค่าแรงแก่ทุกคนเท่ากับค่าแรงหนึ่งวันแก่ทุกคน คนที่มาก่อนคิดในใจว่า ตนน่าจะได้เงินค่าจ้างมากกว่า เพราะตนมาทำงานนานกว่า แต่เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างทุกคนได้เท่ากัน คนที่มาก่อนก็โวยวายว่า นี่มัน “ไม่ยุติธรรม” ทำไมคนทำงานงานน้อยชั่วโมงจึงได้เงินค่าจ้างเท่ากับคนที่ทำงานหลายชั่วโมง หรือ ทำงานทั้งวัน?

แต่นายจ้างชี้แจงว่า ทุกคนได้เงินค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ นายจ้างไม่ได้โกงค่าแรงของใครเลย แต่การที่นายจ้างเต็มใจให้ค่าจ้างแก่คนที่มาทำงานทีหลังด้วยค่าแรงเต็มวัน ก็เพื่อช่วยให้ครอบครัวแรงงานทุกคนมีรายได้ที่จะอยู่รอดได้ เพราะนายจ้างให้เงินค่าจ้างเต็มวันมิใช่เพราะเขาทำงานให้มาก แต่เพราะเขาและครอบครัวควรที่จะอยู่รอดในวันนี้ และนี่เป็น “พระคุณ” ของนายจ้าง

ดังนั้น ในระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ จึงมิใช่เน้นทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย แต่เน้นคุณค่าชีวิตที่ทุกคนจะต้องอยู่รอดได้วันนี้ (ขอประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายในวันนี้) ความยุติธรรมของ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความยุติธรรมใน “ระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” เพราะสิ่งต่าง ๆ ในระบบทุนนิยมเป็นเรื่องการแลกเปลี่ยน และในเรื่องนี้เขาเอาแรงงานมาแลกเปลี่ยนกับค่าจ้าง ดังนั้น คนที่ทำงานมาก ต้องได้รับค่าแรงมากตามกรอบคิดของระบบทุนนิยม แต่สำหรับระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณเน้นเรื่องคุณค่าและความสำคัญของชีวิตและความสัมพันธ์เป็นสำคัญ ในที่นี้ชีวิตสำคัญมากกว่า “ค่าแรงงาน” และ “จำนวนแรงงานที่ได้ทุ่มเททำลงไป” หรือ “ใครมาทำงานก่อน ใครมาทำงานทีหลัง” แต่ความสำคัญอยู่ที่แต่ละคนควรมีโอกาสที่จะอยู่รอด และ อยู่อย่างมีคุณค่าและความหมายในชีวิต

(2) เศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตสำคัญกว่าทรัพย์สิน

เรื่องบุตรคนเล็กที่ใช้จ่ายทรัพย์สินจนหมดเนื้อหมดตัว (ลูกา 15:11-32) โทรมกลับมาหาพ่อ ขอสมัครเป็นคนงานในบ้านพ่อ แต่พ่อกลับกอด จูบ และต้อนรับเขาในฐานะลูกที่รัก มิหนำซ้ำยังจัดงานเลี้ยงใหญ่เฉลิมฉลองการกลับมาของลูก แต่พี่ชายไม่พอใจที่พ่อทำเช่นนั้น เพราะน้องผลาญทรัพย์ที่เอาไปจากบ้านจนหมดสิ้น แต่พ่อพูดกับลูกคนโตว่า “น้องของเจ้าเหมือนตายไปแล้ว และกลับมามีชีวิตใหม่” พ่อมิได้ให้ความสำคัญที่ทรัพย์สินเงินทอง แต่พ่อกลับมองว่า การมีชีวิตกลับมายังบ้านสำคัญกว่าทรัพย์สินมากมายที่สะสมไว้ในบ้าน และทรัพย์สินที่สูญเสียไป

ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ ให้ความสำคัญที่สุดที่ “ชีวิต” เป็นชีวิตนิยม มิใช่อยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง หรือ การมีทุนสะสมมาก ๆ ที่เป็น “ทุนนิยม” “วัตถุนิยม”

(3) เศรษฐศาสตร์แห่งการให้: การให้ชีวิตเพื่อคนอื่นจะได้ชีวิตใหม่ และ โอกาสใหม่

พ่อค้าชาวสะมาเรียที่เดินทางไปยังเมืองเยริโค ตัดสินใจรีบลงไปช่วยชาวยิวที่ถูกโจรปล้นและทำร้ายชีวิต เขาให้ชีวิตด้วยการให้ทุกอย่างที่เขามีในตอนนั้น เช่น ยอมให้เวลาที่ลงไปช่วยชาวยิวที่บาดเจ็บ ใช้เหล้าองุ่น ผ้าพันแผลที่มีติดตัวมารักษาคนเจ็บ เอาคนยิวที่บาดเจ็บขึ้นบนหลังลาบรรทุกเขาจนไปถึงในเมือง ใช้เงินเช่าห้องพัก และ จ้างคนดูแลในโรงแรมใช้ดูแลอย่างดี ตนจะกลับมาเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด เขายอมเสี่ยงที่จะถูกโจรทำร้ายที่ลงไปช่วยคนยิว และที่สำคัญคือ ในความสัมพันธ์ เขามองข้ามความเกลียดชังและการเหยียดหยามดูถูกที่คนยิวมีต่อคนสะมาเรีย และ มองข้ามพรมแดนความเป็นมิตรและศัตรู

ระบบเศรษฐกิจแห่งพระคุณ ที่ให้ชีวิตคือให้ทุกอย่างที่ตนมีในเวลานั้นของชีวิต เพื่อที่จะช่วยให้คนที่เราสัมพันธ์สัมผัสนั้นรอดมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง

(4) ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ เป็นเส้นทางนำสู่ความรอด

เศรษฐีหนุ่มมาถามพระเยซูคริสต์ว่า เขาต้องทำอย่างไรถึงจะได้ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ พระเยซูบอกเขาว่า ให้เอาทรัพย์สมบัติที่เขามีขายแล้วนำเงินไปช่วยคนยากคนจน เขาออกจากวงสนทนาไปด้วยความทุกข์ใจโศกเศร้า ชีวิตนิรันดร์ก็อยากได้ ทรัพย์สมบัติเงินทองก็ต้องการเก็บสะสมไว้ให้มีมาก ๆ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ตกลงระหว่างชีวิตนิรันดร์ กับ ทรัพย์สมบัติเงินทองมากมายที่เขามีอยู่อะไรที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐีหนุ่มคนนั้น?

พระเยซูคริสต์ได้เล่าคำอุปมาเรื่องเศรษฐีโง่ ที่ต้องการสะสมทรัพย์สินเงินทองเก็บไว้เพื่อตนเอง แต่เขากลับไม่ใส่ใจว่า ชีวิตของเขาจะต้องจบสิ้นลง แล้วทรัพย์สินเงินทองที่สะสมไว้มากมายมหาศาลจะเป็นประโยชน์อะไรสำหรับเขา

แต่ “ระบบเศรษฐกิจแห่งการให้” ที่พระเยซูคริสต์บอกเขา เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ ชีวิตที่ไปถึงความรอด ชีวิตที่สานต่อแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกนี้

***อ่านต่อตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้***


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499




19 มกราคม 2563

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ (1) ทำไมต้องเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ?

ในฐานะคริสตชนในยุคปัจจุบัน เราดำรงชีวิตภายใต้พลังกระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มีพลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการมีชีวิตในด้านต่าง ๆ ทุกมิติ ในที่นี้รวมถึงมิติทางจิตวิญญาณด้วย อีกทั้งเห็นชัดว่า มีอิทธิพลที่สร้างผลกระทบต่อวิธีคิด การตัดสินใจ และการทำพันธกิจชีวิตและพันธกิจคริสตจักรอย่างไม่เห็นทางหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าชีวิตประจำวันของคริสตชนจำนวนมาก องค์กร (สถาบัน) ทำพันธกิจคริสตชน หน่วยงานเสริมพันธกิจคริสตจักร คริสตจักรท้องถิ่น และองค์กรคริสตจักรระดับชาติ ต่างหยั่งรากเกาะยึดฐานเชื่อกรอบคิดของตนบนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเกือบทั้งสิ้น

ความจริงที่น่าตกใจ (สำหรับบางคน) และน่าเสียใจอย่างยิ่งคือ ฐานเชื่อกรอบคิดเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมดังกล่าวไม่ใช่ฐานเชื่อและกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ของพระเยซูคริสต์ และมิใช่ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พระคริสต์ต้องการให้สาวกและคริสตจักรของพระองค์มีชีวิตแบบทุนนิยม

ถ้าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมิใช่ “ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์” ที่พระคริสต์ประสงค์ แล้วคริสตจักร และ สาวกของพระองค์จะต้องดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร? มีฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐกิจ/เศรษฐศาสตร์แบบไหน?

ในพระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับ ทั้งคำสอน และ ตัวอย่างการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้ชี้ชัดถึงระบบเศรษฐศาสตร์ที่พระองค์ใช้เป็น “ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์” ของพระองค์ และเมื่อรวบรวมประมวลเป็นภาพใหญ่แล้วคงไม่ผิดเพี้ยนที่เราสามารถเรียกระบบเศรษฐศาสตร์ของพระคริสต์ว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” หรือ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์” ซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงกับระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม และนี่คือโลกทัศน์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่มีความแตกต่างอย่างสวนทางกันของ “ระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” กับ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระกิตติคุณ”

เศรษฐกิจระบบทุนนิยม

“ระบบทุนนิยม” เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กรอบคิดกรอบเชื่อ (mindset) ในเรื่องความเสมอภาค กรอบคิดการให้รางวัล กับ การลงโทษ และกรอบคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม (ที่เน้นผลประโยชน์ที่ตนได้รับ + สิทธิส่วนบุคคลที่ตนไม่ควรสูญเสีย) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในสังคมเราได้แผ่อิทธิพลครอบงำทั้งระบบชีวิตของเราทุกด้าน ลงลึกถึงก้นบึ้งแห่งรากฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์เราที่มีต่อกัน และปัจจุบันนี้ยังเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งเป็น “สงครามเศรษฐกิจ” และ ขยายแพร่เชื้อเป็น “สงครามแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ” และส่งผลกระทบต่อประเทศน้อยใหญ่อื่น ๆ อีกกว้างขวาง ที่เรากำลังเห็นผลชัดเจนขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามต่อไป

นอกจากนั้นแล้วยังแผ่อิทธิพลแทรกซึมเข้าในฐานเชื่อกรอบคิดของแต่ละคน ให้มีฐานเชื่อกรอบคิดว่าตนสำคัญที่สุด หรือ ตนสำคัญกว่าคนอื่น ความสำคัญของตนต้องมาก่อน ตนสมควรจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และที่น่ากลัวที่เกิดขึ้นกับคริสตชนในปัจจุบันคือ ตัวเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำฐานเชื่อกรอบคิดของคริสตชนต่อความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อพระเจ้าให้บิดเบี้ยวไปด้วย? ...

เราคงต้องยอมรับว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับและยึดเป็นหลัก และลึก ๆ เราส่วนตัวก็ยอมรับมิใช่หรือ? เพราะเราถูกครอบให้คิดว่าเป็นระบบที่เท่าเทียม เสมอภาค ยุติธรรม แต่ที่เราน่าจะไม่สบายใจคือ พระเยซูคริสต์ไม่มีฐานเชื่อกรอบคิดแบบทุนนิยมนี้เลย แบบอย่างชีวิตและคำสอนของพระองค์ดูสวนทางกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้เอง คริสตชนในยุคปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “กลับใจใหม่” เปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิดจาก "เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม" ไปเป็น “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” หรือเป็นระบบ “เศรษฐศาสตร์แห่งการให้ชีวิต” อย่างไม่มีเงื่อนไขตามแบบพระเยซูคริสต์ และไม่พยายามบิดเบือนจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปเป็นระบบประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม ระบบเสรีนิยม หรือ การค้าแบบเสรีนิยมอะไรทำนองนั้น เพราะสำหรับพระคริสต์แล้ว ระบบที่พระคริสต์ยืนหยัดและเป็นแบบอย่างคือ “ระบบพระคุณ” หรือ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้ชีวิต” เพื่อคนอื่นจะได้โอกาสใหม่ และ ได้ชีวิตใหม่ เป็นระบบที่มีรากฐานในความรักเมตตาที่เสียสละ และ ไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์

ดังนั้น ถ้าใครก็ตามที่เรียกตนเองว่าเป็นคริสตชน หรือ สาวกของพระเยซูคริสต์ เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวนพิจารณาการมีชีวิตของเราว่า เรามีชีวิตที่เป็นไปตามความจริงของพระกิตติคุณหรือไม่ และการมีระบบเศรษฐศาสตร์แบบพระคริสต์ เป็นระบบการให้โดยไม่หวังการตอบแทน ตัวอย่างที่ชัดเจนในระบบนี้คือ “การให้อภัยแบบพระคริสต์” เป็นการให้อภัยบนรากฐานความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไข เป็นการให้ที่ไม่คาดหวังการตอบแทน ที่ยกโทษ มิใช่เพราะเขากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่เป็นการได้รับการยกโทษโดยมิได้เกิดจากการลงทุนลงแรงชีวิตของเรา แต่พระคริสต์ให้การอภัยแก่เราเพราะพระองค์รักเมตตาเราให้ชีวิตของพระองค์แก่เรา เพื่อเราจะได้รับชีวิตใหม่ โอกาสใหม่

สิ่งที่ต้องการตั้งข้อสังเกต และ ประเด็นเน้นย้ำที่สำคัญมากคือ ระบบเศรษฐศาสตร์ของพระเยซูคริสต์เป็นเรื่องของ “ชีวิตและความสัมพันธ์” ที่นำมาซึ่งคุณค่าของชีวิตมิใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าและความหมายของคนที่เราสัมผัสสัมพันธ์ด้วยกัน เมื่อคน ๆ นั้นได้สัมผัสกับ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้แบบพระคริสต์” เขาได้รับประสบการณ์ตรงจึงเกิดการสำนึกในคุณค่า สำนึกในพระคุณของพระเยซูคริสต์ เขาจึงตัดสินใจใช้ชีวิตตนตาม “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้” หรือ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ของพระเยซูคริสต์ ที่สำนึกในความรักเมตตาของพระคริสต์ ด้วยการตอบสนองพระคุณของพระองค์โดยการทำตามอย่างที่พระคริสต์เป็นและทำ และ ที่ได้บัญชาแก่สาวกของพระองค์แต่ละคนให้กระทำ

***อ่านต่อตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้***

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



16 มกราคม 2563

มุมมองของพระคัมภีร์ในเรื่อง “เงิน” (3) คุณค่าไม่ขึ้นอยู่กับจำนวน แต่อยู่ที่การเสียสละในชีวิต

แปลกไหมครับ คนที่มีมากกลับให้น้อย แต่คนที่มีน้อยกลับให้มาก เมื่อเปรียบตามอัตราส่วน จำนวนความมั่งคั่งที่มี:จำนวนเงินที่เขาเสียสละหรือให้คนอื่น

พระเยซูประทับตรงหน้าตู้เก็บเงินถวาย ได้สังเกตฝูงชนเอาเงินมาใส่ไว้ในตู้นั้น และมีคนมั่งมีหลายคนเอาเงินมากมายมาใส่ในตู้ถวาย แต่มีหญิงม่ายยากจนคนหนึ่งเดินมา นางเอาเหรียญทองแดงสองอันมีมูลค่าแค่เศษเสี้ยวสตางค์มาถวาย (มูลค่าเศษหนึ่งส่วนหกสิบสี่เดนาริอัน ภาษากรีกบอกว่า 2 โคแดรนเทส) แต่พระเยซูคริสต์บอกกับพวกสาวกว่า “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า หญิงม่ายยากจนคนนี้ใส่ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าทุกคนที่ใส่ไว้นั้น เพราะว่าทุกคนได้เอาเงินเหลือใช้ของพวกเขามาใส่ แต่หญิงคนนี้ในสภาพที่ยากจน เอาเงินเลี้ยงชีพ(ชีวิต)ทั้งสิ้นของนางใส่ลงไปจนหมด” (มาระโก 12:41-44 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์มิได้ใช้จำนวนเงินมากน้อยเป็นตัวกำหนดคุณค่า แต่พระองค์ใช้ความไว้วางใจพระเจ้า และการเสียสละเป็นตัวกำหนดคุณค่า พระองค์มิได้มองว่า ใครถวายมากถวายน้อย แต่พระองค์มองว่าคนนั้นถวายด้วยชีวิตและไว้วางใจในพระเจ้าหรือไม่ เช่น หญิงคนนั้นที่ให้ทั้งหมดที่เธอมีอยู่สำหรับเลี้ยงชีพ แต่คนที่มั่งมีและคนอื่น ๆ ได้เอาเงินเหลือใช้ของพวกเขามาใส่ลงในตู้ถวาย

ในมุมมองคริสตชน เรามิได้ให้คุณค่าทรัพย์สินเงินทองที่จำนวน หรือ ความมากมาย ความยิ่งใหญ่ แต่เรามองคุณค่าเงินทองที่ “การให้” คนอื่นจากสิ่งที่ตนมีตนต้องใช้ในชีวิต เพื่อคนอื่นที่มีความจำเป็นต้องการจะมีโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



15 มกราคม 2563

มุมมองของพระคัมภีร์ในเรื่อง “เงิน” (2) พระเยซูคริสต์มิได้ต่อต้านคนมั่งมี?

พระเยซูคริสต์มิได้ต่อต้าน หรือ อยู่คนละขั้วกับคนมั่งคั่งร่ำรวย พระองค์รักเมตตา และ ต้องการปลดปล่อยกอบกู้คนมั่งมีด้วย พระองค์คบหาคนมั่งคั่งร่ำรวยหลายคน พระองค์ไปรับประทานอาหารในบ้านของคนมั่งมี พระองค์ทรงเรียกคนมั่งมีอย่างศักเคียส ถ้าเช่นนั้น พระเยซูคริสต์มีฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) แบบไหนเกี่ยวกับเรื่องเงินทองความร่ำรวยมั่งคั่ง?

คนมั่งมีคนหนึ่งมาถามพระเยซูว่า เขาจะต้องทำความดีอะไรบ้างถึงจะได้เข้าในแผ่นดินของพระเจ้า (มัทธิว 19:16) พระเยซูบอกชายมั่งมีคนนี้ว่า “ถ้าท่านต้องการจะเป็นคนดีพร้อม จงไปขายทรัพย์สิ่งของที่ท่านมีอยู่แจกจ่ายให้คนยากจน แล้วท่านจะมีทรัพย์สมบัติในสวรรค์ และจงตามเรามา” (ข้อ 21 มตฐ.) สำหรับพระเยซูแล้ว ฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของการที่จะมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าคือ

(1) เชื่อฟังและทำตามพระบัญญัติของพระเจ้า (ข้อ 17)
(2) ให้สิ่งที่ตนมีอยู่แก่คนที่จำเป็นและขัดสน (ข้อ 21)
(3) ตามพระเยซูไป (ข้อ 21ข., ยอมตนเป็นสาวกพระคริสต์ เรียนรู้ และ รับการเปลี่ยนแปลง รับการเสริมสร้างชีวิตใหม่จากพระคริสต์)

ชีวิตที่ดีพร้อมในแผ่นดินของพระเจ้าคือ การที่มีชีวิตที่เชื่อฟังและดำเนินตามพระบัญญัติของพระเจ้า เป็นชีวิตที่ “ให้” ทุกอย่างในชีวิตของตนแก่คนอื่นที่ยากจน ขัดสน และจำเป็น เพื่อคนเหล่านั้นจะมีโอกาสใหม่ และ ชีวิตใหม่

กล่าวคือชีวิตคนในแผ่นดินของพระเจ้าคือชีวิตที่ “ให้” เพื่อคนอื่นจะ “ได้”

มิใช่ชีวิตที่ไขว่คว้า ฉกฉวยที่จะได้แล้วค่อยคิดที่จะให้เมื่อมีมากพอแล้ว?

พระเยซูคริสต์กล่าวถึงปมปัญหาที่คนมั่งมีจะเข้าแผ่นดินของพระเจ้าได้ยากเย็นยิ่งกว่าอูฐจะลอดรูเข็ม หรือพูดกลับกันคือ การที่อูฐจะลอดรูเข็ม (ดูจะเป็นไปไม่ได้เลย) ก็ง่ายกว่าที่คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าเสียอีก (มัทธิว 19:24) ในที่นี้พระเยซูคริสต์มิได้กล่าวว่าคนมั่งมีไม่สามารถที่จะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า แต่เป็นการยากยิ่งที่คนมั่งมีจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้า

ทำไมพระเยซูคริสต์ถึงกล่าวเช่นนั้น?

เพราะคนที่มั่งมี และ คนที่คิดว่าตนมั่งมีมักคิดและรู้สึกว่า ตนสามารถพึ่งตนเอง ความต้องการที่จะพึ่งพิงในพระเจ้าลดน้อย หรือไม่มีเลย ลึก ๆ เขากลับมีเงินทองเป็นพระเจ้า เป็นที่พึ่งพิงในชีวิตประจำวันของเขามากกว่า

คนกลุ่มนี้มีเงินทองเป็นพระเจ้าที่ตนจะใช้ได้ตามใจปรารถนา และยังสามารถใช้เพื่อตนจะ “ได้” มีอำนาจ และ ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เขา “ให้” เพื่อจะ “ได้” มากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ชีวิตของคนมั่งมียิ่งออกห่างถ่างไกลจากพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

ปัญญาจารย์ 5:10 กล่าวว่า “คนรักเงินย่อมไม่อิ่มเงิน และคนรักสมบัติก็ไม่อิ่มกับผลตอบแทน...” (มตฐ.)

ปมปัญหาที่สำคัญอยู่ที่ ฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) แบบคนมั่งมี ที่ไม่รู้จักพอ ไม่เคยอิ่ม เป็นพวก “เงินต่อเงิน เงินต่ออำนาจ อำนาจต่อเงิน” mindset อุบาทว์นี้ ไม่เคยรู้จักความพอเพียง”

พระเยซูคริสต์เสนอ “ยาแก้” ทางออก หรือ แนวทางปลดปล่อยคนมั่งมีออกจากวงจรอุบาทว์ดังกล่าวข้างต้น ด้วยการให้เปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) แบบคนมั่งมี ไปเป็นฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) แบบ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” Grace Economic หรือ “เศรษฐศาสตร์แบบพระคริสต์” Jesus Economic ซึ่งมีชีวิตอยู่บนรากฐานของการ “ให้” ที่ไม่คาดหวัง “ผลตอบแทน” หรือ “การให้กลับ” แต่ต้องการที่จะเสริมสร้างโอกาสใหม่ ชีวิตใหม่แก่คนอื่นรอบข้างที่มีความจำเป็นต้องการ

***อ่านต่อตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้***

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



13 มกราคม 2563

มุมมองของพระคัมภีร์ในเรื่อง “เงิน” (1) “เงิน” มิใช่ตัวรากเหง้าแห่งความบาปชั่ว?

พระเยซูคริสต์ได้สรุปประมวลธรรมบัญญัติทั้งหมดเป็นสองข้อใหญ่ ๆ คือ รักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่าน... และ รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง... แต่ ณ วันนี้ ในชีวิตจริงของคริสตชนเราพบมากมายหลายคนว่า เขารักเงินทองเหนือสิ่งอื่นใด เขารักเงินทองมากกว่ารักเพื่อนบ้าน แย่กว่านั้น เขารักเงินทองมากกว่ารักพระเจ้า?

ในฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของพระเยซูคริสต์ เงิน ทอง ทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่ตัวการของความบาปผิด มิใช่รากเหง้าของอำนาจความบาปชั่ว และก็ไม่ได้ขึ้นกับจำนวนเงินที่เรามีมากหรือน้อยที่ทำให้เราห่างไกลจากความเชื่อ หรือ ที่ทำให้เราเกิดความเจ็บปวดตรอมตรมด้วยความทุกข์

แต่ “รากเหง้าของอำนาจชั่วทั้งปวงเกิดจากภายในชีวิตของเราเองที่ “รักเงินทอง” “โลภเงินทอง” (มตฐ., 1971) ทำทุกอย่างในชีวิตด้วยการ “เห็นแก่เงิน” (อมธ.) “ความอยากรวย” (ขจง. ฉบับอ่านเข้าใจง่าย) พลังเหล่านี้ในตัวเราต่างหากที่เป็น “รากเหง้า” ความชั่วทุกชนิด

แล้วฤทธิ์เดชของอำนาจความชั่วร้ายเหล่านี้ที่ทำให้เราต้องรับผลในรูปของความทุกข์ตรอมตรมทั้งกาย ใจ ความสัมพันธ์ และ จิตวิญญาณ ชีวิตของเราออกห่างจากพระเจ้า หลงเตลิดจากความเชื่อ จนกระทั่งทิ้งความเชื่อ

เปาโลกล่าวว่า เพราะว่าการรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทุกชนิด ความโลภเงินทองนี้ที่ทำให้บางคนหลง (ทิ้ง – ห่างไกล - เตลิด) ไปจากความเชื่อ และตรอมตรม (ปวดร้าว, ทุกข์โศก) ด้วยความทุกข์มากมาย (1ทิโมธี 6:10 มตฐ.)

***อ่านต่อตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้***

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499