19 มกราคม 2563

เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ (1) ทำไมต้องเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ?

ในฐานะคริสตชนในยุคปัจจุบัน เราดำรงชีวิตภายใต้พลังกระแสเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มีพลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการมีชีวิตในด้านต่าง ๆ ทุกมิติ ในที่นี้รวมถึงมิติทางจิตวิญญาณด้วย อีกทั้งเห็นชัดว่า มีอิทธิพลที่สร้างผลกระทบต่อวิธีคิด การตัดสินใจ และการทำพันธกิจชีวิตและพันธกิจคริสตจักรอย่างไม่เห็นทางหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าชีวิตประจำวันของคริสตชนจำนวนมาก องค์กร (สถาบัน) ทำพันธกิจคริสตชน หน่วยงานเสริมพันธกิจคริสตจักร คริสตจักรท้องถิ่น และองค์กรคริสตจักรระดับชาติ ต่างหยั่งรากเกาะยึดฐานเชื่อกรอบคิดของตนบนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเกือบทั้งสิ้น

ความจริงที่น่าตกใจ (สำหรับบางคน) และน่าเสียใจอย่างยิ่งคือ ฐานเชื่อกรอบคิดเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมดังกล่าวไม่ใช่ฐานเชื่อและกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ของพระเยซูคริสต์ และมิใช่ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่พระคริสต์ต้องการให้สาวกและคริสตจักรของพระองค์มีชีวิตแบบทุนนิยม

ถ้าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมิใช่ “ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์” ที่พระคริสต์ประสงค์ แล้วคริสตจักร และ สาวกของพระองค์จะต้องดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร? มีฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐกิจ/เศรษฐศาสตร์แบบไหน?

ในพระกิตติคุณทั้ง 4 ฉบับ ทั้งคำสอน และ ตัวอย่างการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสต์ได้ชี้ชัดถึงระบบเศรษฐศาสตร์ที่พระองค์ใช้เป็น “ฐานเชื่อกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์” ของพระองค์ และเมื่อรวบรวมประมวลเป็นภาพใหญ่แล้วคงไม่ผิดเพี้ยนที่เราสามารถเรียกระบบเศรษฐศาสตร์ของพระคริสต์ว่า “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” หรือ “เศรษฐศาสตร์แห่งพระกิตติคุณของพระคริสต์” ซึ่งแตกต่างสิ้นเชิงกับระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม และนี่คือโลกทัศน์เชิงเศรษฐศาสตร์ที่มีความแตกต่างอย่างสวนทางกันของ “ระบบเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” กับ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระกิตติคุณ”

เศรษฐกิจระบบทุนนิยม

“ระบบทุนนิยม” เป็นระบบเศรษฐกิจที่ใช้กรอบคิดกรอบเชื่อ (mindset) ในเรื่องความเสมอภาค กรอบคิดการให้รางวัล กับ การลงโทษ และกรอบคิดเกี่ยวกับความยุติธรรม (ที่เน้นผลประโยชน์ที่ตนได้รับ + สิทธิส่วนบุคคลที่ตนไม่ควรสูญเสีย) ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในสังคมเราได้แผ่อิทธิพลครอบงำทั้งระบบชีวิตของเราทุกด้าน ลงลึกถึงก้นบึ้งแห่งรากฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์เราที่มีต่อกัน และปัจจุบันนี้ยังเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งเป็น “สงครามเศรษฐกิจ” และ ขยายแพร่เชื้อเป็น “สงครามแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจ” และส่งผลกระทบต่อประเทศน้อยใหญ่อื่น ๆ อีกกว้างขวาง ที่เรากำลังเห็นผลชัดเจนขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามต่อไป

นอกจากนั้นแล้วยังแผ่อิทธิพลแทรกซึมเข้าในฐานเชื่อกรอบคิดของแต่ละคน ให้มีฐานเชื่อกรอบคิดว่าตนสำคัญที่สุด หรือ ตนสำคัญกว่าคนอื่น ความสำคัญของตนต้องมาก่อน ตนสมควรจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ และที่น่ากลัวที่เกิดขึ้นกับคริสตชนในปัจจุบันคือ ตัวเศรษฐกิจระบบทุนนิยมเข้ามาครอบงำฐานเชื่อกรอบคิดของคริสตชนต่อความสัมพันธ์ที่ตนมีต่อพระเจ้าให้บิดเบี้ยวไปด้วย? ...

เราคงต้องยอมรับว่า การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดูเหมือนคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันยอมรับและยึดเป็นหลัก และลึก ๆ เราส่วนตัวก็ยอมรับมิใช่หรือ? เพราะเราถูกครอบให้คิดว่าเป็นระบบที่เท่าเทียม เสมอภาค ยุติธรรม แต่ที่เราน่าจะไม่สบายใจคือ พระเยซูคริสต์ไม่มีฐานเชื่อกรอบคิดแบบทุนนิยมนี้เลย แบบอย่างชีวิตและคำสอนของพระองค์ดูสวนทางกับกระแสเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้เอง คริสตชนในยุคปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “กลับใจใหม่” เปลี่ยนฐานเชื่อกรอบคิดจาก "เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม" ไปเป็น “เศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” หรือเป็นระบบ “เศรษฐศาสตร์แห่งการให้ชีวิต” อย่างไม่มีเงื่อนไขตามแบบพระเยซูคริสต์ และไม่พยายามบิดเบือนจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปเป็นระบบประชาธิปไตย ระบบทุนนิยม ระบบเสรีนิยม หรือ การค้าแบบเสรีนิยมอะไรทำนองนั้น เพราะสำหรับพระคริสต์แล้ว ระบบที่พระคริสต์ยืนหยัดและเป็นแบบอย่างคือ “ระบบพระคุณ” หรือ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้ชีวิต” เพื่อคนอื่นจะได้โอกาสใหม่ และ ได้ชีวิตใหม่ เป็นระบบที่มีรากฐานในความรักเมตตาที่เสียสละ และ ไร้เงื่อนไขแบบพระคริสต์

ดังนั้น ถ้าใครก็ตามที่เรียกตนเองว่าเป็นคริสตชน หรือ สาวกของพระเยซูคริสต์ เราจำเป็นต้องกลับมาทบทวนพิจารณาการมีชีวิตของเราว่า เรามีชีวิตที่เป็นไปตามความจริงของพระกิตติคุณหรือไม่ และการมีระบบเศรษฐศาสตร์แบบพระคริสต์ เป็นระบบการให้โดยไม่หวังการตอบแทน ตัวอย่างที่ชัดเจนในระบบนี้คือ “การให้อภัยแบบพระคริสต์” เป็นการให้อภัยบนรากฐานความรักเมตตาที่ไร้เงื่อนไข เป็นการให้ที่ไม่คาดหวังการตอบแทน ที่ยกโทษ มิใช่เพราะเขากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่เป็นการได้รับการยกโทษโดยมิได้เกิดจากการลงทุนลงแรงชีวิตของเรา แต่พระคริสต์ให้การอภัยแก่เราเพราะพระองค์รักเมตตาเราให้ชีวิตของพระองค์แก่เรา เพื่อเราจะได้รับชีวิตใหม่ โอกาสใหม่

สิ่งที่ต้องการตั้งข้อสังเกต และ ประเด็นเน้นย้ำที่สำคัญมากคือ ระบบเศรษฐศาสตร์ของพระเยซูคริสต์เป็นเรื่องของ “ชีวิตและความสัมพันธ์” ที่นำมาซึ่งคุณค่าของชีวิตมิใช่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่เป็นคุณค่าและความหมายของคนที่เราสัมผัสสัมพันธ์ด้วยกัน เมื่อคน ๆ นั้นได้สัมผัสกับ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้แบบพระคริสต์” เขาได้รับประสบการณ์ตรงจึงเกิดการสำนึกในคุณค่า สำนึกในพระคุณของพระเยซูคริสต์ เขาจึงตัดสินใจใช้ชีวิตตนตาม “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งการให้” หรือ “ระบบเศรษฐศาสตร์แห่งพระคุณ” ของพระเยซูคริสต์ ที่สำนึกในความรักเมตตาของพระคริสต์ ด้วยการตอบสนองพระคุณของพระองค์โดยการทำตามอย่างที่พระคริสต์เป็นและทำ และ ที่ได้บัญชาแก่สาวกของพระองค์แต่ละคนให้กระทำ

***อ่านต่อตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้***

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น