31 ธันวาคม 2553

เมื่อดาวิดต้องเป็น “มนุษย์ถ้ำ”

จากการเป็นนักรบที่มิใช่ชนะคู่ต่อสู้พันธุ์ยักษ์เท่านั้น แต่ได้ชนะข้าศึกรอบด้าน สามารถปราบปรามอริราช สังหารศัตรูจำนวนหมื่นจนได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมวลชน แต่นั่นก็เป็นสาเหตุให้กษัตริย์ซาอูลอิจฉาและเริ่มหวั่นไหว ไม่ไว้วางใจดาวิดผู้เป็นลูกเขย จนเหตุการณ์เลวร้ายถึงขนาดกษัตริย์ซาอูลหาทางกำจัดดาวิดที่ตนมองว่าเป็นเสี้ยนหนามของตน ในที่สุดดาวิดเองต้องหนีหัวซุกหัวซุนเอาตัวเกือบไม่รอด

1ดาวิดก็จากที่นั่นหนีไปอยู่ที่ถ้ำอดุลลัม เมื่อพี่ชายของท่านและพงศ์พันธุ์บิดาของท่านทั้งสิ้นได้ยินเรื่องเขาก็ลงไปหาท่านที่นั่น 2นอกนั้นทุกคนที่มีความทุกข์ยาก และทุกคนที่มีหนี้สิน และทุกคนที่ไม่มีความพอใจก็พากันมาหาท่าน และท่านก็เป็นหัวหน้าของเขาทั้งหลาย มีคนมามั่วสุมอยู่กับท่านประมาณสี่ร้อยคน

3ดาวิดก็ออกจากที่นั่นไปยังเมืองมิสปาห์ในแผ่นดินโมอับ และท่านทูลพระราชาเมือง โมอับว่า “ขอโปรดให้บิดามารดาของข้าพเจ้ามาอยู่กับพระองค์เถิด จนกว่าข้าพเจ้าจะทราบว่าพระเจ้าจะทรงกระทำประการ ใดเพื่อข้าพเจ้า” 4และท่านก็นำบิดามารดามาฝากไว้กับพระราชาแห่งโมอับ และท่านทั้งสองก็อาศัยอยู่กับพระราชาตลอดเวลาที่ดาวิดอยู่ในที่กำบังเข้มแข็ง
(1ซามูเอล 22:1-4)

จากการออกศึกในพระนามของพระเจ้า ปกป้องแผ่นดินที่ทรงประทานและประชากรของพระเจ้าด้วยการทรงนำขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดำเนินชีวิตเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า แต่ตอนนี้ ดาวิดกลับต้องหนีและซ่อนตัวอยู่ในถ้ำอดุลลัม เรียกว่าต้องมีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ หนึ่ง ถูกห้อมล้อมด้วยความทุกข์ยากลำบาก ประสบการณ์ของดาวิดเป็นกระจกเงาสะท้อนถึงชีวิตของผู้คนจำนวนมากมายในโลกนี้ ที่มีชีวิตให้อยู่รอดไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น

การมีชีวิตอยู่รอดไปวันๆ หนึ่งนั้น คือการที่มีชีวิตที่ตระหนักรู้ว่าชีวิตต้องก้าวต่อไป แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องก้าวไปสู่สภาพเช่นที่ประสบพบเจออยู่นี้ มีแต่ความเลวร้าย ความชั่วร้าย คอยวนเวียนจ้องที่จะกระโดดเข้าตระครุบ ไม่ว่าในที่ทำงาน ในบ้าน ทำให้ชีวิตต้องหมดแรงทิ้งตัวลงนอนอย่างสิ้นหวังในแต่ละค่ำคืน

ยิ่งกว่านั้น ดาวิดได้พบว่าตลอดเดือนที่ผ่านมาชีวิตของเขาต้องอยู่ล้าหลังคนอื่นแทนที่ควรจะก้าวล้ำหน้าคนอื่นไป ชีวิตแบบนี้แหละที่เป็นชีวิตที่สู้เพื่อที่จะอยู่รอดไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น และนี่ก็เป็นชีวิตที่เป็นจริงในชีวิตของอีกหลายๆ คนในปัจจุบัน เรารู้สึกว่าชีวิตเราเหมือนสภาพนี้ก็ต่อเมื่อชีวิตของเราต้องตกลงในหลุมพรางหรือถูกกับดักมัดตัวอยู่ใน “ถ้ำ” แห่งความทุกข์ยากลำบาก เป็นความทุกข์ยากลำบากที่เราไม่สามารถสลัดให้หลุดรอดออกมาได้

ครั้งเมื่อดาวิดหนีออกมาจากเมืองกัทมาซ่อนตัวอยู่ที่ถ้ำอดุลลัมนั้น เขามิเพียงแต่ต้อง “เลียแผลชีวิต” ที่เกิดจากความเลวร้ายและอันตรายรอบด้านในชีวิตของเขาเท่านั้น เขาต้องดูแลคนอีก 400 คน ทั้งคนที่มีความทุกข์ร้อน คนที่มีหนี้สิ้นล้นพ้นตัว คนที่ไม่พอใจกับเหตุการณ์ในชีวิตของเขา คนที่ได้รับความไม่ยุติธรรม คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกจากดาวิดต้องประสบพบกับมรสุมชีวิตอย่างหนักแล้วในที่สุดเขาต้องเป็นหัวหน้าคนที่มีปัญหาสารพัดเหล่านี้ด้วย

แต่การใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับคนเหล่านี้ที่ชีวิต “ตกอยู่ในกับดักแห่งความทุกข์ยากลำบาก” เป็นแผนการอันดีเลิศขององค์พระเป็นเจ้า ที่ให้ประสบการณ์และสร้างเสริมบทเรียนชีวิตแก่ดาวิด ซึ่งเป็นบทเรียนชีวิตที่สามารถเรียนรู้ได้เมื่อชีวิตต้องจมดิ่งลงในความทุกข์ยากเท่านั้น ท่านสามารถสืบค้นจนพบว่า บทเรียนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมดาวิดในการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าในการเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของอิสราเอล

จากประสบการณ์การตกอยู่ในถ้ำกับดักความทุกข์ยากแห่งชีวิตนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งประสบการณ์ชีวิตที่ดาวิดได้เขียนบทเพลงสุดดีจากประสบการณ์และบทเรียนชีวิตได้มากกว่าประสบการณ์ครั้งอื่นใดในชีวิตของเขา เราขอเรียกว่าชุดบทเพลงสดุดีจาก “ถ้ำแห่งความทุกข์ยาก” นี้ประกอบด้วยสดุดีบทที่ 4, 13, 40, 57, 70, 141 และ 142 เป็นบทเพลงสดุดีที่กล่าวถึงบทเรียนชีวิตในการเอาชนะความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ความรู้สึกที่ถูกทอดทิ้งเมื่อเราไม่สามารถจะไขว่คว้าหาความช่วยเหลือจากแหล่งใดเลย หรือเมื่อต้องอยู่ห่างไกลจากบ้านและครอบครัว และความรู้สึกที่ว่าไม่รู้ชีวิตจะก้าวอย่างไรได้ต่อไป ตัวอย่างเช่น

สดุดี บทที่ 4
1ข้าแต่พระเจ้าผู้ทรงให้ประจักษ์ว่า ข้าพระองค์เป็นฝ่ายชอบธรรม
ขอทรงโปรดตอบเมื่อข้าพระองค์ร้องทูล
เมื่อข้าพระองค์จนตรอก ขอพระองค์ประทานช่องทางให้
ขอทรงเมตตาแก่ข้าพระองค์ และทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพระองค์
2ท่านผู้ดีเอ๋ย ข้าพเจ้าจะต้องเสื่อมเกียรติไปอีกนานเท่าใด
ท่านจะรักคำไร้ค่า และแสวงการมุสาอีกนานเท่าใด
3จงทราบเถิดว่า พระเจ้าทรงแยกธรรมิกชนไว้สำหรับพระองค์
พระเจ้าทรงสดับฟังเมื่อข้าพเจ้าทูลพระองค์
4โกรธก็โกรธเถิด แต่(หรือ จงเกรงกลัว และ) อย่า ทำบาป
จงคำนึงในใจเวลาอยู่บนที่นอนและสงบอยู่

สดุดี บทที่ 13
1ข้าแต่พระเจ้า อีกนานเท่าใด(ที่)พระองค์จะทรงลืมข้าพระองค์เสียเป็นนิตย์
หรือพระองค์จะเบือนพระพักตร์จากข้าพระองค์นานเท่าใด
2ข้าพระองค์จะต้องตรึกตรองในใจของข้าพระองค์
และมีความทุกข์โศกอยู่ในใจตลอดไปนานเท่าใด
ศัตรูของข้าพระองค์จะเหนือข้าพระองค์นานเท่าใด
4เกรงว่าศัตรูของข้าพระองค์จะว่า “เราชนะเขาแล้ว”
เกรงว่าคู่อริของข้าพระองค์จะเปรมปรีดิ์เพราะ ข้าพระองค์กำลังหวั่นไหว
5แต่ข้าพระองค์วางใจในความรักมั่นคงของพระองค์
จิตใจของข้าพระองค์จะเปรมปรีดิ์ในความรอดของพระองค์
6ข้าพเจ้าจะร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า
เพราะว่าพระองค์ทรงกระทำแก่ข้าพเจ้าอย่างดี

สดุดี บทที่ 142
1ข้าพเจ้าร้องทูลพระเจ้า ด้วยเสียงของข้าพเจ้า
ด้วยเสียงของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนต่อพระเจ้า
2ข้าพเจ้าหลั่งคำคร่ำครวญของข้าพเจ้าออกมาต่อเบื้องพระพักตร์พระองค์
ข้าพเจ้าทูลเรื่องความลำบากยากเย็นของข้าพเจ้าต่อพระองค์
3เมื่อใจของข้าพระองค์อ่อนระอา พระองค์ทรงทราบทางของข้าพระองค์
ในวิถีที่ข้าพระองค์เดินไป เขาซ่อนกับไว้ดักข้าพระองค์
4ขอพระองค์ทรงมองทางขวาและทอดพระเนตร เพราะไม่มีใครสังเกตดูข้าพระองค์
ข้าพระองค์ไม่มีที่หลบภัย ไม่มีใครเอาใจใส่ข้าพระองค์
5ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ร้องทูลต่อพระองค์
ข้าพระองค์ว่า พระองค์ทรงเป็นที่ลี้ภัยของข้าพระองค์
เป็นส่วนของข้าพระองค์ในแผ่นดินของคนเป็น
6ขอทรงฟังคำร้องทูลของข้าพระองค์
เพราะข้าพระองค์ตกต่ำมากนัก
ขอทรงช่วยกู้ข้าพระองค์ให้พ้นจากผู้ข่มเหงข้าพระองค์
เพราะเขาแข็งแรงเกินกำลังข้าพระองค์
7ขอทรงพาข้าพระองค์ออกจากคุก
เพื่อข้าพระองค์จะโมทนาพระคุณแด่พระนามของพระองค์
คนชอบธรรมจะล้อมข้าพระองค์ไว้
เพราะพระองค์จะทรงกระทำอย่างดีแก่ข้าพระองค์

ในสภาพชีวิตที่ทุกข์ยากลำเค็ญในวันนี้ พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะเตรียมและสร้างเราให้พร้อมสำหรับพระราชกิจอันยิ่งใหญ่สำคัญของพระองค์ในอนาคต เพื่อเราจะสามารถดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติสรรเสริญพระองค์

29 ธันวาคม 2553

แหล่งพลังแห่งความแกร่งกล้า

อ่าน 1ซามูเอล 17:20-26; 28; 31-47 (สำนวนแปล อมตธรรมร่วมสมัย)

20ดาวิดทิ้งฝูงแกะไว้กับคนเลี้ยงอีกคนหนึ่ง แล้วออกเดินทางตามคำสั่งของเจสซีตั้งแต่เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยของฝาก เขามาถึงค่ายพอดีกับที่กองทัพอิสราเอลกำลังจะยกออกไปสนามรบ มีเสียงตะโกนเสียงโห่ร้องออกศึก 21กองพลอิสราเอลและฟีลิสเตียก็มาตั้งกระบวนประจันหน้ากัน 22ดาวิดทิ้งข้าวของไว้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสัมภาระ แล้ววิ่งออกไปที่แนวรบและทักทายพวกพี่ๆ 23ขณะกำลังคุยกับพวกพี่ๆ โกลิอัทยอดนักรบชาวฟีลิสเตียจากเมืองกัทก้าวออกจากแถวมายืนร้องท้าเช่นเคย และดาวิดก็ได้ยิน 24ทันทีที่เห็นโกลิอัท คนอิสราเอลก็พากันวิ่งหนีด้วยความกลัวยิ่งนัก
25คนอิสราเอลพูดกันว่า “เจ้าเห็นคนนี้ไหม? เขาออกมาสบประมาทอิสราเอลอยู่เป็นประจำ กษัตริย์จะประทานทรัพย์สินมากมายให้แก่คนที่ฆ่าเขาได้ และจะยกธิดาให้เป็นภรรยา ยิ่งกว่านั้นครอบครัวของบิดาของเขาจะได้รับการยกเว้นภาษีด้วย”
26ดาวิดถามคนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ ว่า “ผู้ที่ฆ่าฟีลิสเตียคนนี้และกู้หน้าให้อิสราเอลจะได้รับบำเหน็จอะไรบ้าง? ชาวฟีลิสเตียผู้ไม่ได้เข้าสุหนัตคนนี้เป็นใครกันถึงบังอาจมาร้องท้ากองทัพของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่?”...
28เมื่อเอลีอับ พี่ชายคนโตของดาวิดได้ยินดาวิดพูดกับคนนั้นก็โกรธ และถามว่า “เจ้ามาทำอะไรที่นี่ แล้วเจ้าทิ้งแกะไม่กี่ตัวในถิ่นทุรกันดารไว้ให้ใครดูแล? ข้ารู้ว่าเจ้าชอบคุยโวและรู้จักใจชั่วช้าของเจ้านึกอยากจะมาดูเขารบกันล่ะสิ”...
31มีผู้ได้ยินคำพูดของดาวิดจึงไปทูลรายงานซาอูล พระองค์จึงให้คนไปตามตัวดาวิดมาเข้าเฝ้า 32ดาวิดทูลซาอูลว่า “อย่าให้ผู้ใดเสียขวัญเพราะชาวฟีลิสเตียคนนี้เลย ผู้รับใช้ของฝ่าพระบาทจะไปรบกับเขา”
33ซาอูลตรัสว่า “เจ้าออกไปสู้กับชาวฟีลิสเตียคนนั้นไม่ได้หรอก เจ้าเป็นเพียงเด็ก ส่วนเขาเป็นนักรบมาตั้งแต่หนุ่ม”
34แต่ดาวิดทูลซาอูลว่า “ข้าพระบาทดูแลแกะของบิดา เมื่อมีสิงโตหรือหมีมาคาบแกะไปจากฝูง 35ข้าพระบาทจะไล่ตามฟาดฟันช่วยแกะนั้นออกมาจากปากของสิงโต หากมันหันมาเล่นงาน ข้าพระบาทก็จะกระชากขนของมัน ฟาดมัน และฆ่าเสีย 36ผู้รับใช้ของฝ่าพระบาทได้ฆ่าทั้งสิงโตและหมีมาแล้ว ชาวฟีลิสเตียผู้ไม่ได้เข้าสุหนัตคนนี้จะเป็นเหมือนสัตว์เหล่านั้น เพราะเขามาสบประมาทกองทัพของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ 37องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงช่วยข้าพระบาทจากเขี้ยวเล็บของสิงโตและหมี จะช่วยข้าพระบาทจากมือชาวฟีลิสเตียผู้นี้” ซาอูลตรัสกับดาวิดว่า “ไปเถิด ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตกับเจ้า”
38จากนั้นซาอูลก็ให้ดาวิดสวมเครื่องทรงของซาอูลเอง มีเสื้อเกราะและหมวกเกราะทองสัมฤทธิ์ 39ดาวิดสะพายดาบทับเสื้อเกราะ ลองเดินไปรอบๆ เพราะไม่คุ้นเคยกับชุดแบบนี้มาก่อน
ดาวิดทูลซาอูลว่า “ข้าพระบาทออกไปอย่างนี้ไม่ได้เพราะไม่เคยชิน” แล้วดาวิดก็ถอดชุดนั้นออก 40จากนั้นเขาหยิบไม้เท้าและไปเก็บหินเกลี้ยงห้าก้อนจากลำธารใส่ไว้ในย่ามของเขา ในมือถือสลิง เดินเข้าไปหาชาวฟีลิสเตียคนนั้น
41ขณะนั้น โกลิอัทเดินเข้ามาหาดาวิด มีคนแบกโล่เดินนำหน้า 42เมื่อเห็นดาวิดซึ่งเป็นเพียงเด็กหนุ่ม รูปหล่อผิวพรรณดี ก็นึกดูหมิ่น 43 และกล่าวว่า “เห็นข้าเป็นหมาหรือไง ถึงได้ถือไม้เท้าออกมาหา” แล้วก็แช่งด่าดาวิดโดยอ้างนามเทพเจ้าต่างๆ ของตน 44โกลิอัทพูดว่า “มาสิ เดี๋ยวข้าจะแล่เนื้อเจ้าให้นกกาและสัตว์ป่ากิน!”
45ดาวิดพูดว่า “ท่านถือดาบ ถือหอก และหอกซัดมาสู้กับเรา ส่วนเราจะสู้กับท่านในพระนามของพระยาเวห์ผู้ทรงฤทธิ์ พระเจ้าของกองทัพอิสราเอลซึ่งท่านลบหลู่ 46วันนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงมอบท่านแก่เรา เราจะฆ่าและตัดหัวท่าน... แล้วทั้งโลกจะได้รู้ว่ามีพระเจ้าในอิสราเอล 47คนทั้งปวงที่ชุมนุมกันอยู่ที่นี่จะได้รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงช่วยให้รอดด้วยดาบหรือหอก การศึกครั้งนี้เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมอบเจ้าทุกคนไว้ในมือของพวกเรา”

โกลิอัทนักรบพันธุ์ยักษ์ ยืนท้าทายกองทัพ และ พระเจ้าของอิสราเอลอย่างอหังการ และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีคนส่วนหนึ่งที่ไม่สนใจใยดีกับคำกล่าวเย้ยหยันที่ทำร้ายทำลายจิตใจของอิสราเอล ไม่มีใครต้องการที่จะยืนขึ้นต่อปากต่อกรกับคนหยาบคายป่าเถื่อนและคนพาลอย่างโกลิอัท นอกจากชายหนุ่มเลี้ยงแกะที่ชื่อดาวิดที่สนใจถามไถ่ถึงความเป็นไปของเหตุการณ์นี้ด้วยความห่วงใย

ดาวิดสนใจในรายละเอียดของเหตุการณ์วิกฤติ เพื่อประมวลให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์นั้น จะได้เผชิญหน้ากับความเลวร้ายนั้นด้วยความพร้อมรอบคอบ และสามารถเห็นถึงแผนการของพระเจ้าแล้วจะรู้ว่าตนมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้เช่นไรบ้าง

ดาวิดกับโกลิอัท! มวยคู่ต่อสู้ที่ผิดรุ่นผิดขนาด จนกลายเป็นเรื่องกล่าวขานกันมิใช่ในพระคัมภีร์เท่านั้นแต่ในวรรณกรรมของโลกด้วย แต่คำถามที่มักถามกันเป็นประจำคือ อะไรที่ทำให้ดาวิดมีความกล้าหาญยืนหยัดต่อสู้กับมวยข้ามรุ่น อะไรที่ทำให้ดาวิดกล้าหาญต่อสู้กับสิ่งที่ดูแล้วไม่มีทางที่จะเอาชนะได้?

อะไรที่ทำให้ดาวิดเกิดความกล้าหาญ? อะไรที่เสริมหนุนให้เขาก้าวไปข้างหน้าในขณะที่คนอื่นๆในกองทัพอิสราเอลถอยหนี? สิ่งที่ทำให้ดาวิดกล้าหาญและมีพลังเดินไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็งมั่นใจคือการที่เขารู้ชัดแน่ใจว่า สิ่งนั้นยิ่งใหญ่และมีพลังมากกว่าการรอดพ้นปลอดภัยของอิสราเอล, งานนี้ยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ ทรัพย์สินเงินทอง สถานภาพใหม่ที่ตนจะได้รับ, สิ่งนั้นยิ่งใหญ่และมีพลังอำนาจยิ่งกว่ามนุษย์พันธุ์ยักษ์โกลิอัท, และสิ่งนั้นยิ่งใหญ่และสูงส่งกว่าชีวิตของตน สิ่งที่ทำให้ดาวิดมีพลังก้าวไปข้างหน้าคือ ชีวิตที่มีเป้าหมายให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า

ท่านพร้อมและเต็มใจที่จะยืนขึ้นลุกก้าวไปข้างหน้าอย่างชายหนุ่มดาวิด เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายที่น่าสยอง กับการกล่าวหา คำพูดที่ทำให้อ่อนอกอ่อนใจ การไม่เห็นด้วย หรือคำทำนายว่าแพ้ตั้งแต่ในมุ้ง และการกดดันจากคนพวกเดียวกันเอง หรือการที่ทำให้ท่านต้องรู้สึกโดดเดี่ยวตัวคนเดียว ในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจถึงการถวายเกียรติแด่พระเจ้าเลย

ในสภาพการวิกฤติเช่นนั้น พระเจ้าได้ใช้สร้างให้เราแกร่งกล้าขึ้นอย่างดาวิด สถานการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ในชั้นเรียน ในที่ทำงาน ในโรงงาน ในสำนักงาน ในตลาด ในท้องทุ่งท้องนา ในชุมชน ในบ้าน หรือแม้กระทั่งในคริสตจักร พระเจ้าจะทรงใช้เหตุการณ์เหล่านั้นสร้างท่านให้แกร่งกล้าขึ้นเช่นกัน

ผู้คนในแต่ละกลุ่มแต่ละช่วงวัย แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างมีจุดอ่อนข้อบกพร่อง และความไม่สมบูรณ์ในชีวิตแห่งการอุทิศตนแด่พระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง แต่ถ้าแต่ละคนเปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อเหตุการณ์รอบด้าน และรู้ชัดว่าเป้าหมายของการเผชิญหน้ากับความเลวร้ายที่รายรอบในชีวิตเป็นโอกาสที่จะสรรเสริญพระเจ้า และพระเจ้าการทรงสร้างชีวิตเราขึ้นใหม่แล้ว ท่าที ความมั่นใจ ความกล้าหาญ และกำลังชีวิตย่อมเปลี่ยนไปให้เห็นอย่างเด่นชัด

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การมุ่งมองสู่การดำเนินชีวิตที่ถวายเกียรติและพระสิริแด่พระเจ้าในทุกสถานการณ์และทุกบริบทชีวิตนั้นสำคัญใหญ่ยิ่งที่สุด เพราะสิ่งนี้นี่เองที่จะทำให้ท่านสามารถยืนหยัดมั่นคง ก้าวออกไปข้างหน้าอย่างดาวิด แทนที่ท่านจะมีชีวิตที่หลอมละลายถูกกลืนเข้าไปในฝูงชนส่วนใหญ่

ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทำให้เราลืมตัวและหลงกับความทันสมัยในเทคโนโลยีด้านต่างๆ พอเราไม่สามารถไล่ตามทันเทคโนโลยีเหล่านั้นเราก็จะท้อถอย อ่อนใจ และยอมแพ้ ในปีใหม่นี้อย่าลืมสิ่งสำคัญกว่าเทคโนโลยีที่พระเจ้าทรงสะสมเสริมสร้างไว้ในตัวท่านคือ ศักยภาพ ความสามารถ ของประทานพิเศษ ความชำนาญช่ำชองและสิ่งคุ้นชินที่มีอยู่ในตัวท่าน ท่านสามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีที่ต้องการ เมื่อท่านใช้ศักยภาพความสามารถที่พระเจ้าประทานให้ ท่านตระหนักรู้ชัดเจนทันทีว่า การเผชิญหน้าวิกฤตินั้นๆ พระเจ้าทรงเป็นผู้ขับเคลื่อนจัดการและท่านเป็นเพื่อนร่วมในแผนงานของพระองค์ อย่างที่ดาวิดประกาศก้องว่า การศึกครั้งนี้เป็นของพระเจ้า

ดาวิดต้องปฏิเสธในการสวมชุดออกศึกที่สามารถปกป้องคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตของเขาเมื่อมีการต่อสู้ เพราะดาวิดไม่ “คุ้นชิน” กับความทันสมัยเหล่านั้น แต่ดาวิดเลือกใช้สลิงและหินเกลี้ยงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เพราะเป็นสิ่งที่ดาวิดคุ้นชิน เป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงเสริมสร้างสะสมในชีวิตของ ดาวิด เขานำมาใช้ยามเมื่อวิกฤติดาหน้าเข้าหาชีวิตของตน แต่สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ท่านต้องมั่นใจว่าการเผชิญหน้ากับทุกปัญหา เหตุการณ์ยากลำบาก และวิกฤติที่เลวร้าย ผู้ที่นำหน้าท่านคือองค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยเป้าหมายและแผนการของพระองค์ ภารกิจหลักของท่านคือการเรียนรู้ถึงเป้าประสงค์และแผนงานเฉพาะของพระเจ้า เพื่อท่านจะเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์อย่างเหมาะสมตามพระประสงค์ของพระองค์

ในการมุ่งหน้าก้าวเข้าสู่ปีใหม่นี้
ให้ท่านยืนมั่นก้าวเข้าสู่ปีใหม่ด้วยพลังที่มาจากมุมมองใหม่
มุมมองที่มุ่งมั่นมีชีวิตที่ทำทุกอย่างเพื่อถวายพระเกียรติและพระสิริแด่พระเจ้า
มุมมอง ที่ท่านมิได้เป็นผู้จัดการกับ “ปัญหาพันธุ์ยักษ์” ที่ท้าทายข้างหน้าท่าน
มุมมอง ที่พระเจ้าทรงเป็นผู้ลงมือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ตามพระประสงค์
มุมมอง ที่ท่านเป็นผู้ร่วมในพระราชกิจของพระองค์ และ ร่วมในชัยชนะของพระองค์
มุมมอง ที่ท่านกำลังรับการฝึกฝนและเพิ่มพูนความแข็งแกร่งจากพระองค์มากยิ่งขึ้น
มุมมอง ที่ท่านกำลังทำสิ่งที่ถวายเกียรติและพระสิริแด่พระเจ้า

16 ธันวาคม 2553

ชีวิตคริสเตียน

20(เปาโลกล่าวว่า) ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า ชีวิตซึ่งข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินอยู่โดยความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้าผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้า และได้ทรงสละพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า (กาลาเทีย 2:20)


เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าตายแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่” ที่เปาโลกล่าวว่าท่าน “ตายแล้ว” ท่านหมายความว่า ธรรมชาติชีวิตเดิมของท่านได้ถูกตรึงพร้อมกับพระคริสต์ที่กางเขน แต่ที่ท่าน “มีชีวิต” ที่ชีวิตขับเคลื่อนอยู่ในทุกวันนี้ได้ และมีชีวิตชีวาก็ด้วยพลังแห่งการทรงเป็นขึ้นใหม่ของพระคริสต์

ข้อความในพระธรรมตอนนี้เปาโลเขียนถึงผู้เชื่อในคริสตจักรเมืองกาลาเทีย เพราะสมาชิกในคริสตจักรเมืองนี้ถูกรบกวนด้วยคำสอนที่ว่า ที่คริสเตียนรอดได้นั้นเพราะกระทำความดีคือการกระทำตามพระบัญญัติ แทนที่ คริสเตียนได้รับความรอดโดยพระคุณของพระเจ้า สมาชิกคริสตจักรดังกล่าวถูกผลักดันให้เป็นคริสเตียนที่พึ่งในการเป็นคนดี ด้วยการกระทำดีตามบทบัญญัติ ความเชื่อของคริสเตียนกลุ่มนี้จึงไม่ต่างจากพวกยิวเพียงแต่เขาเชื่อนับถือพระเยซูที่ยิวไม่ยอมรับนับถือเท่านั้น

ในที่นี้จุดที่น่าสนใจคือ เปาโลมิได้แยกชีวิตที่กระทำตามพระบัญญัติของพระเจ้าออกจากชีวิตในความรอด แต่ท่านอธิบายกลับตาลปัตรไปในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่แตกต่างจากคริสเตียนปัจจุบันหลายคนเข้าใจกัน คือท่านเปาโลยืนยันอย่างแข็งขันว่าท่านมิได้รอดเพราะท่านกระทำดี กระทำตามพระบัญญัติ แต่ท่านกลับเน้นว่า ที่ท่านกระทำดีได้ กระทำตามพระบัญญัติได้เพราะเป็นผลและพลังจากการที่ชีวิตของท่านได้รับความรอด เป็นชีวิตที่มีเป้าหมายและดำเนินชีวิตด้วยการได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ และ พลังการดำเนินชีวิตใหม่จากพระเยซูคริสต์ “...ชีวิตซึ่งข้าพเจ้าดำเนินอยู่ในร่างกายขณะนี้ ข้าพเจ้าดำเนินอยู่โดยความเชื่อในพระบุตรของพระเจ้า...”

บทบัญญัติมิได้เป็นหัวใจหรือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคริสเตียนที่เราพยายามอุตสาห์ทุ่มเทกระทำตาม ด้วยธรรมชาติแห่งความเป็นมนุษย์ ด้วยกำลังความสามารถของตนเอง และด้วยกำลังที่จำกัดในตัวเรา แต่หัวใจของชีวิตคริสเตียนคือพระคริสต์ทรงรักเราแต่ละคนและมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเรา พระองค์ยอมถูกตรึงเพราะความบาปผิดของเรา พระองค์ทรงไถ่ ทรงปลดปล่อยเราให้หลุดออกจากกงเล็บแห่งอำนาจชั่วด้วยพระชนม์ชีพของพระองค์ และให้เราอยู่ในที่ที่พระองค์ทรงปกป้องเรา เพื่อเราจะปลอดภัย มีโอกาสใหม่ และมีชีวิตใหม่ที่เป็นชีวิตที่ได้รับจากพระคริสต์ แล้วทรงบ่มเพาะเราให้เติบโตและแข็งแรงขึ้น

ด้วยเหตุนี้เราจึงรักพระองค์ (เพราะเราสัมผัสแล้วว่าพระองค์ทรงรักเราก่อน) เราจึงสำนึกในพระคุณของพระเยซูคริสต์ที่มีในชีวิตของเราแต่ละคน ด้วยความสำนึกในพระคุณแห่งความรักของพระองค์ เราจึงเต็มใจและตั้งใจดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระคริสต์ แน่นอนว่า การดำเนินชีวิตดังกล่าวสอดคล้องตามพระบัญญัติของพระเจ้า แต่ที่เราสามารถดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้าได้เช่นนี้มิใช่เพราะกำลังของเราเอง แต่เพราะกำลังชีวิตของพระคริสต์ที่มีอยู่ในชีวิตของเราต่างหาก เพราะที่เรามีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพราะ “พระคริสต์ต่างหากที่มีชีวิตในข้าพเจ้า”

12 ธันวาคม 2553

คริสต์มาส: ข่าวร้ายที่คนมองข้าม

รางหญ้า... “ข่าวร้าย” ที่เป็นข่าวแห่งพระคุณ

ครั้งนั้น ซีซาร์ออกัสตัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ทำทะเบียนสำมะโนประชากรทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน นี่เป็นการทำทะเบียนสำมะโนประชากรครั้งแรก ในสมัยคีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย ทุกคนต่างไปยังเมืองของตนเพื่อขึ้นทะเบียน

ดังนั้น โยเซฟจึงเดินทางจากนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีขึ้นไปยังเบธเลเฮม นครแห่งดาวิดในแคว้นยูเดีย เพราะเขาสืบเชื้อสายจากดาวิด เขาไปที่นั่นกับมารีย์คู่หมั้นซึ่งกำลังตั้งครรภ์เพื่อขึ้นทะเบียน
ขณะพวกเขาอยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดที่มารีย์จะคลอดบุตร นางให้กำเนิดบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพัน(ทารกนั้น) แล้ววางไว้ในรางหญ้า เพราะไม่มีที่ว่างสำหรับเขาในนครดาวิด
(ลูกา 2:1-7, อมตธรรม, อักษรเอนสำนวนของผู้เขียน)

เมื่อเราคิดถึงการบังเกิดของพระคริสต์ที่บ้านเบธเลเฮม เราต้องตระหนักว่านี่เป็นเรื่องจริง มิใช่เรื่องที่เขาเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หมอลูกาอ้างอิงหลักฐานการปกครองในเวลานั้นเพื่อยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

แต่คริสต์มาสได้รับการบอกกล่าวเล่าต่อกันมายาวนานว่า เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี เราท่านจะเห็นบัตรอวยพรคริสต์มาส หรือ ภาพวาดฉากการบังเกิดของพระคริสต์ดูยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งทูตสวรรค์อยู่หลังฉาก คนเลี้ยงแกะก้มกราบนมัสการพระกุมาร เหล่านักปราชญ์นำของมีค่ามาถวายบรรณาการ บางครั้งก็มีเด็กน้อยเล่นกลองให้พระกุมารฟัง ภาพเช่นนี้เป็นเรื่องจริงผสมปนเปต่างกรรมต่างวาระไว้ในภาพเดียวกัน

ในพระคัมภีร์ที่หมอลูกาบันทึกไว้ว่า เวลานั้นเป็น “ข่าวร้าย” อย่างยิ่งว่า ในบ้านเบธเลเฮม นครแห่งดาวิด (ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มเพียง 8 กิโลเมตร) ไม่มีห้องว่างสำหรับมารีย์ที่จะให้กำเนิดทารกในครรภ์ของเธอ จากบันทึกของหมอลูกาท่านบอกไว้ว่า มารีย์ให้กำเนิดทารกเพศชาย เอาผ้าอ้อมพันทารกนั้น แล้ววางไว้ใน “รางหญ้า” ทำให้เราจินตนาการว่า มารีย์น่าจะคลอดบุตรหัวปีของเธอในคอกสัตว์ ซึ่งโดยปกติทั่วไปในเวลานั้นน่าจะเป็นถ้ำ

“ข่าวร้าย” ประการถัดมาคือ มารีย์ต้องคลอดทารกด้วยตนเอง ไม่มี “หมอตำแย” หรือเรียกให้เพราะหน่อยคือ “นางผดุงครรภ์” แม้แต่หมอลูกาก็ไม่ได้บันทึกว่า โยเซฟได้ช่วยอย่างไรบ้างในการทำคลอด ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า โยเซฟเป็นคุณพ่อ “มือใหม่หัดขับ” ก็เป็นไปได้

สภาพแวดล้อมในที่ทารกน้อยบังเกิดนั้นจึงมืดสลัว มากที่สุดก็คงมีตะเกียงสักอันหนึ่ง มีกลิ่นของคอกสัตว์ และรางหญ้าที่รองรับทารกน้อยก็คงคละคลุ้งด้วยกลิ่นหญ้าคละเคล้าด้วยน้ำลายสัตว์

มารีย์รู้ว่านี่เป็นการมาบังเกิดของพระคริสต์ที่ผู้คนรอคอย
เธอเต็มใจที่จะเป็น “ทาสี” แห่งพระเป็นเจ้า
เธอเองก็ภูมิใจที่มีส่วนในพระราชกิจครั้งสำคัญของพระเจ้า
แม้เธอจะยังไม่เข้าใจรู้แจ้งแทงทะลุในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
เธอรำพึง ใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ในใจ ในห้วงความนึกคิดของเธอ
ทำไมแผนการของพระเจ้าดูจะมีอุปสรรคปัญหามากมายร้ายกาจเช่นนี้
พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับเธอ

บ่อยครั้ง เมื่อชีวิตของเราต้องเผชิญหน้ากับ “ข่าวร้าย”
เรามักคิดว่า นี่เราทำอะไรบางอย่างผิดแน่

นี่คงมิใช่แผนการของพระเจ้า หรือ
นี่เป็นการลงโทษจากพระเจ้า

แต่ “ข่าวร้าย” “เหตุร้าย” ที่เกิดขึ้นกับเราในชีวิต ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้อง “เลวร้าย”
“ข่าวร้าย” สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเจ้า
ในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “ข่าวร้าย” ในสายตาของเรา แต่เป็นพระกิตติคุณ หรือ
“ข่าวที่ทรงคุณค่าความหมาย” จากพระเจ้า

สำหรับมารีย์แล้ว นี่มิใช่ข่าวร้าย หรือ เหตุการณ์ที่เลวร้าย
เธอนำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รำพึง ภาวนา และใคร่ครวญ
ถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

บ่อยครั้ง เรามีกรอบคิด กรอบคาดหวัง ในแต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์
เมื่อเรื่องใด เหตุการณ์ใดมิได้เกิดขึ้นตามที่คาดหวัง เรามักเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ข่าวร้าย”

แต่ถ้าเราเปิดชีวิต เปิดความนึกคิด เปิดความคาดหวังของเรา รับการทรงเปิดเผยจากพระเจ้า
เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในชีวิตของเราขณะนั้น แม้จะเลวร้ายแค่ไหน

เราจะสงบ รำพึง ภาวนา และ ใคร่ครวญถึงพระประสงค์ของพระองค์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เราจะเห็นและได้รับ “ข่าวที่ทรงคุณค่าความหมาย” จากพระเจ้า

ผู้นำศาสนา มหาปุโรหิต ฟาริสี ธรรมมาจารย์ ไม่สามารถรับว่า พระเยซูเป็นพระคริสต์ที่เขารอคอย
เพราะพระเยซูคริสต์มิได้เกิดมาตาม “สเปค” “กรอบคิด” “มาตรฐาน” และตามที่เขาคาดหวัง

ผู้นำศาสนากำลังสร้าง “กรอบ” ขีดวงจำกัด การทำพระราชกิจของพระเจ้า
พระเยซูคริสต์จึงเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับพวกเขา

ในช่วงเวลาของการเตรียมรับเสด็จ
เป็นช่วงเวลาของการใคร่ครวญ รำพึง ภาวนา ถึงชีวิตของเรากับพระประสงค์ของพระเจ้า
โปรดระวังที่จะไม่พยายาม “ตีกรอบคิด” “กำหนดมาตรฐาน” และสร้างความคาดหวัง
....ว่าพระเจ้าจะต้องกระทำตามกรอบเหล่านั้น
ถ้าเช่นนั้น คริสต์มาสปีนี้ท่านคงจะมีแต่ “ข่าวร้าย”

09 ธันวาคม 2553

กฎเกณฑ์ของการให้

44ฝ่ายเราบอกท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน
45ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เพราะว่าพระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม 46แม้ว่าท่านรักผู้ที่รักท่าน จะได้บำเหน็จอะไร ถึงพวกเก็บภาษีก็ยังกระทำอย่างนั้นมิใช่หรือ 47ถ้าท่านทักทายแต่พี่น้องของตนฝ่ายเดียว ท่านได้กระทำอะไรเป็นพิเศษยิ่งกว่าคนทั้งปวงเล่า
ถึงคนต่างชาติก็กระทำอย่างนั้นมิใช่หรือ 48เหตุฉะนี้ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์เป็นผู้ดีรอบคอบ
(มัทธิว 5:44-48)

การให้ เป็นกฎแห่งจิตวิญญาณ
จงให้แก่ทุกคนที่ท่านพบ หรือ ทุกคนที่สัมผัสกับชีวิตของเจ้า
ให้ด้วยการ...
ให้การอธิษฐานเพื่อเขา
ให้เวลาของท่าน
ให้ตัวของท่าน
ให้ความรักของท่าน
ให้ความคิดของท่าน
ท่านจะต้องฝึกวินัยการให้ในสิ่งเหล่านี้ก่อน
จากนั้น ท่านถึงให้ทรัพย์สิ่งของแห่งโลกนี้

การให้เงินทองและทรัพย์สิ่งของก่อน
โดยมิได้ฝึกวินัยในการให้ของท่านตามกฎแห่งจิตวิญญาณข้างต้นก่อน
ในแต่ละวัน
แต่ละชั่วโมง และมากกว่านั้น
เป็นการให้ที่ผิด

จงให้...ให้...และ ให้สิ่งที่ดีที่สุดของท่านแก่ทุกคนที่มีความจำเป็น
จงเป็นนักให้ผู้ยิ่งใหญ่
จงให้อย่างที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้บอกท่าน
คือให้อย่างพระบิดาในสวรรค์
“พระองค์ทรงให้ดวงอาทิตย์ของพระองค์ ขึ้นส่องสว่างแก่คนดีและคนชั่วเสมอกัน
และให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม”

จงจำสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้บอกท่านแล้วว่า
จงให้ตามความต้องการที่จำเป็นของผู้คน
มิใช่ตามความน่าจะให้
ด้วยการให้อย่างไตร่ตรองที่ท่านให้แก่ผู้ที่จำเป็นจริงๆ
ท่านก็กำลังทำตามแบบพระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงเป็นนักให้ผู้ยิ่งใหญ่

เมื่อท่านได้รับแล้ว
ท่านจะต้องให้แก่คนที่มีความจำเป็น ที่องค์พระผู้เป็นเจ้านำเขามาพบท่าน
ท่านต้องไม่สงสัย หรือ
ไม่มีคำถามมากมาย
ไม่ต้องจำกัดการให้ของท่าน
อย่าให้ตามความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับคนที่ท่านจะให้
แต่จงให้ตามความจำเป็นในชีวิตของคนนั้นเป็นบรรทัดฐานการให้ของท่าน

จงอธิษฐาน...เพื่อท่านจะเป็นนักให้ผู้ยิ่งใหญ่

พระธรรมภาวนา

สดุดี 82:3
จงให้ความยุติธรรมแก่คนอ่อนเปลี้ยและกำพร้าบิดา
จงดำรงสิทธิของผู้ที่ทุกข์ยาก และคนสิ้นเนื้อประดาตัว

อาโมส 5:24
แต่จงให้ความยุติธรรมหลั่งไหลลงอย่างน้ำ
และให้ความชอบธรรมเป็นอย่างลำธารที่ไหลอยู่เป็นนิตย์

ลูกา 11:41
แต่จงให้ทานตามซึ่งเจ้ามีอยู่ข้างใน และดูเถิดสิ่งสารพัดก็บริสุทธิ์แก่เจ้าทั้งหลาย

โรม 12:14
จงอวยพรแก่คนที่เคี่ยวเข็ญท่าน จงให้พร อย่าแช่งด่าเลย

Romans 13:7:
ท่านจงให้แก่ทุกคนตามที่เขาควรจะได้รับ...

07 ธันวาคม 2553

ท่านสวม “แว่นตา”(ความเชื่อ) ผิดอันหรือเปล่า?

พระธรรมฮีบรู 11:1 กล่าวไว้ว่า
1ความเชื่อคือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้ เป็นความรู้สึกมั่นใจว่า สิ่งที่ยังไม่ได้เห็นนั้นมีจริง

เมื่ออ่านพระธรรมข้อนี้เกิดคำถามว่า
แล้วคริสเตียนคาดหวังอะไรในความเชื่อของเขา?

ที่ท่านมาร่วมกันในคริสตจักร ที่ท่านมาเป็นสมาชิกคริสตจักร ท่านคาดหวังอะไรบ้าง?
สมาชิกคริสตจักรเกือบทุกคนต่างคาดหวังว่า การเป็นสมาชิกในชุมชนคริสตจักรเพื่อ...
เราจะได้รับพระพรจากพระเจ้า มิใช่ภาระที่หนักอึ้งในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน
บางคนก็คิดว่า พระเจ้าและ คริสตจักรเป็นเหมือน “ศูนย์อาหาร” (ทางจิตวิญญาณ) ที่เราแต่ละคนมาโบสถ์โดยคาดหวังว่า ที่ในโบสถ์จะมี “อาหารหลากหลาย” ที่เราจะเลือกซื้อเลือกกินอาหารที่ตนเองชอบ ถูกปาก ต้องการ ให้หายหิว แต่ที่สำคัญเพื่อจะอิ่มและต้องอร่อยด้วย
เรามาโบสถ์เพื่อเกิดความพึงพอใจที่ได้ “บริโภค” ในสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่ชอบตามรสนิยมและความต้องการของเราในเวลานั้น

หลายคนและหลายครั้งที่เราต้องผิดหวัง ผิดคาด จากสิ่งที่ต้องการคาดว่าจะได้ต้องการจะรับ
เมื่อไม่ได้รับ เมื่อไม่ได้ตามความคาดหวัง เราก็ผิดหวัง เราก็ไม่อยากมาโบสถ์ จนบ่อยครั้งที่เรา “โดด” โบสถ์ (เหมือนกับที่นักเรียน “โดดเรียน” นั่นแหละ) เพราะไม่ได้ประโยชน์ต้องการตามที่เราคาดหวัง การมาโบสถ์จึงมีคุณค่าลดน้อยถอยลง... มีสิ่งอื่นมีคุณค่ามากกว่าการมาโบสถ์ เราจึงให้เวลาและใช้ชีวิตกับสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าการมาโบสถ์ และบ่อยครั้งที่การนอนหลับที่บ้าน หรือ การดูโทรทัศน์ดูมันมีคุณค่ากว่าการมาโบสถ์

เมื่อเกิดปรากฎการณ์เช่นนี้ในชีวิตคริสตจักร
เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ในชีวิตของสมาชิกคริสตจักร
จุดแรกที่จะต้องกลับมาเอาใจใส่คือ คริสตจักร คณะธรรมกิจคริสตจักร ผู้ใหญ่ในคริสตจักรต้องกลับมาทบทวน ใคร่ครวญว่า...
ที่ผ่านมาคริสตจักรของเราตั้งอยู่เพื่ออะไรกันแน่?
ที่ผ่านมาเราได้สอน เสริมสร้าง ความเชื่อความเข้าใจแบบไหนแก่สมาชิกที่เข้ามาร่วมกันในโบสถ์?
ที่ผ่านมาพวกเราได้มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างเช่นไรแก่สมาชิกคริสตจักร ลูกหลาน และชนรุ่นใหม่ในคริสตจักร?
ที่ผ่านมาสมาชิกแต่ละคนที่มาร่วมในคริสตจักรคาดหวังอะไรจากการเป็นคริสเตียน และจากการที่เข้ามาร่วมชีวิตในคริสตจักร?
ที่ผ่านมาธรรมกิจคริสตจักร ศิษยาภิบาล ผู้ใหญ่ในคริสตจักรคาดหวังต้องการให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในการมีชีวิตร่วมกัน และ การขับเคลื่อนพันธกิจคริสตจักรในรูปแบบต่างๆ
ที่ผ่านมาคริสตจักรของเราได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในเรื่องอะไร? โดยคาดหวังที่จะให้เกิดผลอะไรบ้าง?
ในวันนี้ท่านรู้สึกและคิดเห็นอย่างไรกับชีวิตและพันธกิจในคริสตจักรของท่าน?

ทุกวันนี้ท่านสวมแว่นตาจิตวิญญาณอันไหน?
ท่านมองชีวิตและพันธกิจคริสตจักรผ่านแว่นตาแห่งความต้องการของท่านเอง? หรือ
ท่านมองชีวิตและพันธกิจคริสตจักรผ่านแว่นตาแห่งพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
มิใช่ด้วยความไว้วางใจพระเจ้าว่า พระองค์จะประทานสิ่งต่างๆ ตามที่ท่านต้องการ
แต่ด้วยความไว้วางใจในพระองค์ว่า พระเจ้าจะทรงจัดเตรียมและประทานสิ่งที่สำคัญจำเป็นในชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ในความเชื่อของท่าน...ท่านคาดหวังอะไรจากความเชื่อของท่าน?
ท่านคาดหวังในสิ่งที่ท่านเห็นว่า สิ่งที่ท่านต้องการและจำเป็นเกิดเป็นจริง? หรือ
ท่านคาดหวังและไว้วางใจในพระเจ้าว่า
พระเจ้าทรงมีแผนการในชีวิตของเรา และ ในชีวิตคริสตจักรของพระองค์
พระองค์ทรงเปิดเผยและเปิดทางให้เราและคริสตจักรของเราเข้าร่วมในพระราชกิจของพระองค์
เราต่างร่วมกันมุ่งมองเพื่อเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์ และรับการปรับแก้และพัฒนาให้เป็นคนตามที่พระองค์ประสงค์
เพื่อพระเจ้าจะทรงนำและกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านชีวิตของเราแต่ละคน และชีวิตคริสตจักรของเรา
เพื่อเราแต่ละคนจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ เป็นคนที่พระองค์จะทรงใช้ได้
เพื่อความคาดหวังในความเชื่อของเราที่ยังมองไม่เห็นในขณะนี้ จะเกิดเป็นจริงเป็นรูปธรรมและการกระทำในอนาคต
นี่คือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้ เป็นความรู้สึกมั่นใจว่า สิ่งที่ยังไม่เห็นนั้นมีจริง

แต่ต้องย้ำว่า
สิ่งที่เราคาดหวังให้เกิดขึ้นในความเชื่อคือ
การที่จะเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคน และในชีวิตของคริสตจักร
มิใช่ให้ความคาดหวังให้ความต้องการของเราเป็นจริง

ความเชื่อที่แท้จริงนั้น มิใช่การที่ท่านคาดหวังว่าพระเจ้าจะประทานสิ่งที่ท่านต้องการในชีวิต
แต่ความเชื่อที่แท้จริงคือการที่เรายอมรับทุกสิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราตามพระประสงค์ของพระองค์

05 ธันวาคม 2553

ความรุนแรงแห่งโลกนี้

เราได้บอกเรื่องนี้แก่ท่าน
เพื่อท่านจะได้มีสันติสุขในเรา
ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก
แต่จงชื่นใจเถิด เพราะว่าเราได้ชนะโลกแล้ว
ยอห์น 16:33

ท่านที่รัก
ท่านคงมีคำถามคาใจว่า
ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้าชนะโลกแล้ว
ทำไมท่านยังจะต้องได้รับความทุกข์ยากลำบาก

ท่านรู้แล้วว่า
ชัยชนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า มิใช่เพื่อพระองค์เอง
แต่เป็นชัยชนะสำหรับท่านและข้าพเจ้า
สำหรับลูกๆของพระองค์
องค์พระผู้เป็นเจ้าชนะการทดลองในทุกเรื่อง
องค์พระผู้เป็นเจ้าชนะในทุกความทุกข์ยาก ในทุกสถานการณ์

พลังแห่งความชั่วร้ายแผลงสุดฤทธิ์สุดเดชทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำลายองค์พระผู้เป็นเจ้า
แต่มันประสบความล้มเหลว
ไม่มีใครรู้หรอกว่ามันล้มเหลวอย่างไรนอกจากองค์พระผู้เป็นเจ้า และ พระบิดาเท่านั้นที่รู้
จิตวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าไม่ยอมท้อถอย

ในสายตาของโลกนี้
แม้แต่สาวกที่ติดตามองค์พระผู้เป็นเจ้ายังมองว่าพระองค์พ่ายแพ้
พระองค์ถูกด่า
พระองค์ถูกถ่มน้ำลายรด
พระองค์ถูกเฆี่ยนตี

พวกสาวกเห็นว่าพระองค์สู้พวกศัตรูไม่ได้
แต่พวกสาวกไม่รู้ได้หรอกว่า จิตวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นไท
ไม่แตกสลาย และไม่มีใครจะทำอันตรายได้

เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเข้ามาในโลกนี้
เพื่อสำแดงพระเจ้าให้แก่มนุษย์
พระองค์ต้องการสำแดงให้พวกสาวกเห็นถึงพระเจ้า
พระเจ้าที่ความชั่วร้าย และ อำนาจแห่งความเลวร้าย
เอาชนะไม่ได้
ทำอันตรายไม่ได้ และ
ไม่สามารถแตะต้องพระองค์ได้

มนุษย์ไม่สามารถที่จะเห็นถึงพระวิญญาณขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ไม่มีใครแตะต้องได้
พระวิญญาณของพระองค์ที่อยู่เหนือความรุนแรง และ
พระวิญญาณของพระองค์ที่อยู่เหนือความเกลียดชังแห่งโลกนี้ และ
พระวิญญาณของพระองค์ที่สถิตอยู่ในที่ลับลี้แห่งพระบิดา
แต่มนุษย์สามารถที่จะมองเห็นร่างกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เป็นขึ้นจากความตาย และ
มนุษย์สามารถเรียนรู้ว่า
แม้การที่มนุษย์พยายามที่จะล้างผลาญชีวิตขององค์พระผู้เป็นเจ้าในครั้งหลังสุด
ก็ไม่มีอำนาจและความสามารถที่จะแตะต้องพระองค์ได้

แต่ท่านจงมีจิตใจที่มั่นคงเถิด
เพราะท่านจะต้องมีส่วนร่วมในความยากลำบากขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ถ้าความชั่วร้ายปล่อยปละละเลย และไม่เผชิญหน้าท้าทายท่าน ก็แสดงว่าท่านเป็นพวกของมัน
แต่ถ้าความชั่วร้ายท้ายทายและเผชิญหน้าท่าน ทดลอง และ ทรมานบีบคั้นจนท่านต้องบาดเจ็บ
นั่นก็เพราะท่านอยู่ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้า และ เป็นมิตรสหายของพระองค์
จึงเป็นที่จงเกลียดจงชังของอำนาจแห่งความชั่วร้าย

แต่จงชื่นใจเถิด
ท่านเดินเคียงข้างไปกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
พระองค์มีชัยเหนือความชั่วร้ายในทุกจุด
มนุษย์จะสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้เหนือความสงสัย
เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นขึ้นจากความตายเท่านั้น และ
ในอำนาจแห่งชัยชนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ในวันนี้ท่านจึงเดินไปอย่างปลอดภัย
จึงไม่มีอันตรายใดที่จะมาแตะต้องชีวิตของท่านได้

02 ธันวาคม 2553

พระเจ้าตอบคำอธิษฐานเสมอ

3จงทูลเรา และเราจะตอบเจ้า และจะบอกสิ่งที่ใหญ่ยิ่งและที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเจ้าไม่รู้นั้นให้แก่เจ้า
(เยเรมีย์ 33:3)

ในชั้นเรียนรวีวารศึกษาในคริสตจักรแห่งหนึ่ง คุณครูให้เด็กในชั้นเรียนนั้นเขียนจดหมายถึงมิชชันนารีของคริสตจักรที่ไปทำงานในประเทศกัมพูชา เพื่อจะเป็นการให้กำลังใจแก่มิชชันนารีของเขา และบอกมิชชันนารีว่าชั้นเรียนของเขาอธิษฐานเผื่อมิชชันนารีเสมอ และในเวลาเดียวกันคุณครูของชั้นเรียนรวีวารศึกษาแห่งนี้ก็บอกกับเด็กที่เขียนจดหมายว่า “นักเรียนคะ มิชชันนารีของเราจะต้องมีงานทำมากมายในประเทศกัมพูชา ดังนั้น ไม่ต้องคาดหวังว่ามิชชันนารีจะตอบจดหมายของเรานะคะ เพราะท่านไม่มีเวลาพอที่จะตอบจดหมาย...”

เด็กหญิงคนหนึ่งได้เขียนในจดหมายที่ส่งถึงมิชชันนารีตอนหนึ่งว่า “...อาจารย์ค่ะ พวกหนูอธิษฐานเผื่ออาจารย์เสมอ หนูไม่คาดหวังว่าอาจารย์จะตอบจดหมายของหนู เพราะอาจารย์มีงานมากมายที่ต้องทำ...”

ถ้าท่านเป็นมิชชันนารีคนนั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร?
แต่อย่าแปลกใจครับ เราก็เป็นเหมือนเด็กหญิงคนนี้เมื่อเราอธิษฐานต่อพระเจ้า
ในแต่ละวันเราอธิษฐาน เราอธิษฐานเป็นประจำทุกวัน
แต่เราไม่คาดหวังว่า พระเจ้าจะมีเวลาตอบทุกคำอธิษฐานของเรา!
เราไม่คาดหวังว่าพระเจ้าจะตอบคำอธิษฐานของเรา!
เราอธิษฐานโดยไม่คาดหวังคำตอบจากพระเจ้าของเรา!

พระธรรมสดุดี 91:15 ได้บอกเราว่า
15เมื่อเขาร้องทูลเรา เราจะตอบเขา
เราจะอยู่กับเขาในยามลำบาก
เราจะช่วยเขาให้พ้นและให้เกียรติเขา

  • ในวันนี้ท่านอธิษฐานเรื่องอะไรต่อพระเจ้า?
  • ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพระเจ้าสามารถตอบคำอธิษฐานของท่าน?
  • ท่านเชื่อหรือไม่ว่าพระองค์จะตอบคำอธิษฐานของท่าน?
  • ท่านจงขอบพระคุณพระเจ้าล่วงหน้าสำหรับคำตอบของพระองค์ต่อคำอธิษฐานของท่าน

30 พฤศจิกายน 2553

ทนทุกข์เพื่อการทรงกอบกู้

27สิเมโอนเข้าไปในบริเวณพระวิหาร โดยพระวิญญาณทรงนำ และเมื่อบิดามารดาได้นำพระ
กุมารเยซูเข้าไป เพื่อจะกระทำแก่พระกุมารตามธรรมเนียมแห่งธรรมบัญญัติ
28สิเมโอนจึงอุ้มพระกุมาร และสรรเสริญพระเจ้าว่า
29“ข้าแต่พระเจ้า บัดนี้พระองค์ทรงให้ทาสของพระองค์ไปเป็นสุข ตามพระดำรัสของพระองค์
30เพราะว่าตาของข้าพระองค์ได้เห็นความรอดของพระองค์แล้ว
31ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดเตรียมไว้ต่อหน้าบรรดาชนชาติทั้งหลาย
32เป็นสว่างส่องแสงแก่คนต่างชาติ และเป็นศักดิ์ศรีของพวกอิสราเอลชนชาติของพระองค์”
33ฝ่ายบิดามารดาของพระกุมารก็ประหลาดใจ เพราะถ้อยคำซึ่งท่านได้กล่าวถึงพระกุมารนั้น
34แล้วสิเมโอนก็อวยพรแก่เขา แล้วกล่าวแก่นางมารีย์มารดาพระกุมารนั้นว่า
“ดูก่อน ท่านทรงตั้งพระกุมารนี้ไว้ เป็นเหตุให้หลายคนในพวกอิสราเอลล้มลงหรือยกตั้งขึ้น
และจะเป็นหมายสำคัญซึ่งคนปฏิเสธ 35เพื่อความคิดในใจของคนเป็นอันมากจะได้ปรากฏแจ้ง
ถึงหัวใจของท่านเองก็ยังจะถูกดาบแทงทะลุด้วย” (ลูกา 2:27-35)

จงให้ความสุข-ทุกข์ในแต่ละวันเป็นงานที่ท่านทำเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
ด้วยเหตุนี้พระวิญญาณแห่งพระพรก็จะบังเกิดขึ้นในทุกงานที่ท่านทำ
จงมอบถวายทุกวันแห่งการบริการรับใช้ของท่านแด่พระองค์
ท่านก็จะมีส่วนร่วมในชีวิตแห่งพระราชกิจของพระองค์
อันเป็นการมีส่วนร่วมการช่วยพระองค์ในการกอบกู้โลกนี้

มาเรีย และ โยเซฟ ได้ใช้ชีวิตประจำวันในการเลี้ยงดูพระกุมาร
ทั้งสองอาจจะไม่สามารถมองเห็นว่า งานนี้เป็นการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าอย่างไร
แต่มาเรียได้เอาคำเล่าของผู้เลี้ยงแกะ และ คำกล่าวของสิเมโอน รำพึงภาวนาอยู่ในใจ(2:19, 33-35)

การทำงานในชีวิตประจำวันของท่าน
ท่านอาจจะมองไม่เห็นว่านี่เป็นการช่วยกอบกู้โลกได้เช่นใด
แต่พลังอำนาจของผู้ทำงานด้วยความอุทิศถวายเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้านั้น
เป็นพลังร่วมในการกอบกู้ที่อยู่เหนือความสามารถที่จะเข้าใจได้ของมนุษย์ในโลกนี้

28 พฤศจิกายน 2553

ขอทานแห่งสวรรค์

นี่แน่ะ เรายืนเคาะอยู่ที่ประตู… วิวรณ์ 3:20

โอ จงไตร่ตรองข้อความนี้อีกครั้งหนึ่ง และ
เรียนรู้ถึงความถ่อมขององค์พระผู้เป็นเจ้าจากข้อพระคัมภีร์ข้างต้น

28บรรดาผู้ทำงานเหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายหายเหนื่อยเป็นสุข 29จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพและใจอ่อนน้อม และจิตใจท่านทั้งหลายจะได้พัก 30ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28-30)

นี่คือคำเชิญด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
สำหรับผู้ที่ปรารถนาที่จะประสบกับศานติสุข
ต้องการหายเหนื่อย และ ความรู้สึกพึงพอใจที่แท้จริงในชีวิต
ซึ่งไม่สามารถแสวงหาพบจากโลกนี้
คำตอบต่อสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายปรารถนาต้องการ
เป็นคำตอบวิงวอนจากองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ว่า
“จงมาหาเรา และ เราจะให้เจ้าหายเหนื่อยเป็นสุข”

แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้สึกที่ต้องการองค์พระผู้เป็นเจ้า
ผู้ที่ปฏิเสธพระองค์ด้วยความดื้อรั้น
ผู้ที่ปิดประตูชีวิตของเขา เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะเข้าไปไม่ได้
พระองค์จะรอคอยด้วยใจถ่อมและห่วงใย
จนกว่าคนเหล่านี้จะยอม “เปิดชีวิตของตน” แด่พระองค์
แม้องค์พระผู้เป็นเจ้าจะพบว่าประตูหัวใจทั้งหมดเหล่านั้นจะปิดแน่นและมีสิ่งที่ กีดกัน ขวางกั้น
องค์พระผู้เป็นเจ้ายืนหน้าประตูเฉกเช่นขอทาน
เคาะประตูนั้น ครั้งแล้วครั้งเล่า
ขอทานผู้ยิ่งใหญ่แห่งสวรรค์ที่เปี่ยมล้นด้วยใจถ่อม

สำหรับคนที่ “ปิดประตู” ชีวิตของเขาต่อท่าน หรือ
คนที่ลืมท่าน หรือ คนที่ปฏิเสธท่าน
ท่านจงอย่าคิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นสำหรับท่าน หรือ
ปล่อยให้คนพวกนี้คอยอยู่ที่นั่น อยู่อย่างนั้น
ท่านจะคิดเช่นนั้นไม่ได้
ท่านจงระลึกเสมอถึง “ขอทานแห่งสวรรค์” และ
เรียนรู้จากใจที่ถ่อมขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ท่านจงเรียนรู้ถึงคุณค่าแห่งความสุข ศานติ และ
การผ่อนพักจากพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และ
เรียนรู้ที่จะอธิษฐานอย่างไม่หยุดยั้งอย่างองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าแห่งเบื้องบน
จนกว่าจิตวิญญาณของท่านจะได้ผ่อนพักและพบศานติสุขในพระองค์

23 พฤศจิกายน 2553

ลำแสงแห่งความชื่นชมยินดี

14“ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก นครซึ่งอยู่บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้ 15เมื่อจุดตะเกียงแล้ว ไม่มีผู้ใดเอาถังครอบไว้ ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนที่อยู่ในเรือนนั้น 16ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่าน ผู้ทรงอยู่ในสวรรค์ (มัทธิว 5:14-16)

ท่านมิเพียงแต่จะมีความชื่นชมยินดีเท่านั้น
แต่ท่านจะต้องสำแดงความชื่นชมยินดีนั้นให้คนทั้งหลายได้รู้ได้เห็นด้วย
เทียนไขควรจุดไว้บนเชิงตะเกียง
ไม่ควรเอาถังครอบไว้
เพื่อเทียนนั้นจะส่องสว่างแก่ทุกคนที่อยู่ในเรือนนั้น

คนทั้งหลายจะต้องเห็นและรู้ถึงความชื่นชมยินดีของท่าน และ
พวกเขาได้เห็นและรู้อย่างไม่มีข้อสงสัยถึงความชื่นชมยินดีของท่าน
ว่าเป็นความชื่นชมยินดีที่เกิดจากการที่ท่านไว้วางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า และ
เกิดจากการที่ท่านมีชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์

วิถีที่มิใช่ทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า และ เป็นทางที่ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง
คือการละทิ้งหลีกหนีที่จะเดินไปบนเส้นทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า

เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเดินทางเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
พระองค์รู้แล้วว่าเสียงร้องว่าโฮซันนา และ
ขบวนที่เต็มไปด้วยเสียงแห่งความยินดีมีชัย
บนเส้นทางนั้นพระองค์กลับต้องถูกปฏิเสธ
ถูกหมิ่นประมาท
ถูกถากถางด่าทอ
ถูกกระทำด้วยความหยาบคาย และ
ถูกคนศรัทธา ใกล้ชิด และสนิททอดทิ้ง
ความตายรอองค์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ข้างหน้า

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดตามองค์พระผู้เป็นเจ้าเข้าสู่มหานครเยรูซาเล็ม
แต่พวกเขามิได้สังเกตเห็นถึงความเศร้า
ที่องค์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวแก่สาวกของพระองค์ในอาหารมื้อสุดท้าย

แต่เมื่อพระองค์ร้องเพลงสรรเสริญแล้ว
องค์พระผู้เป็นเจ้าเดินทางต่อไปยังภูเขามะกอกเทศ
พระองค์ทุ่มเทแรงทั้งชีวิตในการอธิษฐานต่อพระบิดา
เพื่อพระองค์จะมีกำลังเพียงพอที่จะกล้าหาญมั่นคงเดินไปบนเส้นทางแห่งพระประสงค์
แม้รู้อยู่เต็มอกว่าความตายยืนตระหง่านรอคอยอยู่ข้างหน้าก็ตาม
เพื่อพระองค์จะทอแสงแห่งความชื่นชมยินดีบนเส้นทางชีวิตที่ขรุขระ ทุกข์ยาก และความตาย
เพื่อพระองค์จะไม่หนี ละทิ้งพระราชกิจที่พระบิดาทรงมอบหมาย

บนเส้นทางชีวิตที่ขรุขระ ทุกข์ยาก ลำบาก และความมืดมน ในวันนี้
องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเดินเคียงข้างไปกับท่านอย่างสงบ มั่นคง
บนเส้นทางชีวิตสายนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ให้ท่านส่องสว่างแห่งความปีติยินดี
เพื่อคนรอบข้างจะได้รับ “ความสว่างและไออุ่น” จากแสงแห่งความปีติชื่นชม

พระธรรมภาวนา

ยอห์น 16:22
ฉันใดก็ดี ขณะนี้ท่านทั้งหลายมีความทุกข์ แต่เราจะมาหาท่านอีก และใจท่านจะชื่นชมยินดี และไม่มีผู้ใดจะช่วงชิงความชื่นชมยินดีไปจากท่านได้

โรม 12:12
จงชื่นชมยินดีในความหวัง จงอดทนต่อความยากลำบาก จงขะมักเขม้นอธิษฐาน

ฟิลิปปี 4:4
จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด

1 เปโตร 1:6
ในความรอดนั้นท่านทั้งหลายชื่นชมยินดี ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้ จำเป็นที่ท่านจะต้องทนทุกข์ทรมานชั่วขณะหนึ่งในการถูกทดลองต่างๆ

1 เปโตร 4:13
แต่ว่าท่านทั้งหลายจงชื่นชมยินดีในการที่ท่านได้มีส่วนร่วมในความทุกข์ยากของพระคริสต์ เพื่อว่าเมื่อพระสิริของพระเจ้าปรากฏขึ้น ท่านทั้งหลายก็จะได้ชื่นชมยินดีเป็นอันมากด้วย

21 พฤศจิกายน 2553

ความล้ำลึกของพระเจ้า

ความหวังของท่านอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า
ท่านจงตั้งความหวังของท่านในพระองค์
มากขึ้นและมากขึ้น

จงรู้เถิดว่า
ไม่ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น
อนาคตจะสำแดงถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าชัดเจน
มากขึ้นและมากขึ้น

แม้ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้
แต่ท่านจงชื่นชมยินดีอย่างเต็มเปี่ยมเถิด
ดังนั้น
ไม่ว่าในสวรรค์หรือในโลกนี้
ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด
วิถีทางที่ท่านเดินไปนั้นจะเป็นทางที่น่ายินดีพอใจยิ่ง

อย่าพยายามที่จะหาคำตอบต่อความลึกลับแห่งโลกนี้
แต่ท่านจะเรียนรู้ถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า
มากขึ้นและมากขึ้น และ
ในการเรียนรู้ดังกล่าว
ท่านจะพบคำตอบต่อทุกคำถามที่ท่านต้องการรู้ และ
เมื่อท่านพบกับองค์พระผู้เป็นเจ้าหน้าต่อหน้าในโลกแห่งจิตวิญญาณ
ท่านจะพบว่าท่านไม่จำเป็นที่จะต้องถามอะไรอีกต่อไป
ขอย้ำว่าคำตอบที่ท่านต้องการทั้งสิ้นนั้นอยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า

จงจำไว้ว่า
องค์พระผู้เป็นเจ้าคือคำตอบสำหรับคำถามทั้งหลายของมนุษย์
เกี่ยวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า
เกี่ยวกับพระบิดา และ
เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ และ
เกี่ยวกับพระบัญญัติของพระองค์

ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องรู้เรื่องศาสนศาสตร์
แต่ท่านจงเรียนรู้ถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า
องค์พระผู้เป็นเจ้าคือพระวาทะ(พระวจนะ)ของพระเจ้า
ทั้งสิ้นทั้งปวงที่ท่านต้องการรู้เกี่ยวกับพระเจ้า
ท่านเรียนรู้ได้ในองค์พระผู้เป็นเจ้า
ถ้าคนใดที่ไม่รู้จักองค์พระผู้เป็นเจ้า
คำอธิบายทั้งหมดของเขาก็ไม่สามารถตอบคำถามจากหัวใจของมนุษย์ได้เลย

พระธรรมภาวนา

พระวาทะทรงบังเกิดเป็นมนุษย์และประทับอยู่ท่ามกลางเรา พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณและความจริง เราได้เห็นพระสิริของพระองค์ คือพระสิริของพระบุตรองค์เดียวผู้ทรงมาจากพระบิดา
ยอห์นเป็นพยานเกี่ยวกับพระองค์ ท่านร้องประกาศว่า
“นี่คือผู้ซึ่งเราได้บอกไว้ว่า พระองค์ผู้ทรงเสด็จมาภายหลังเราทรงยิ่งใหญ่กว่าเรา เพราะพระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนเรา จากความบริบูรณ์แห่งพระคุณของพระองค์ เราทั้งปวงได้รับพระพรครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะบทบัญญัติประทานมาทางโมเสส ส่วนพระคุณและความจริงมาทางพระเยซูคริสต์ แต่พระบุตรองค์เดียวผู้ทรงอยู่เคียงข้างพระบิดาได้ทรงทำให้พระองค์เป็นที่ประจักษ์แล้ว” (ยอห์น 1:14-18 สำนวนแปลอมตธรรมร่วมสมัย)

18 พฤศจิกายน 2553

ภูเขาขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ข้าพเจ้าเงยหน้าดูภูเขา
ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาจากไหน
ความอุปถัมภ์ของข้าพเจ้ามาจากพระเจ้า
ผู้ทรงสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก
สดุดี 121:1-2

ใช่แล้ว
จงเงยหน้าของท่านขึ้นจากความโสมมแห่งโลกนี้
จากความเห็นแก่ตัว
จากสิ่งที่ไร้ค่า และ
จากสิ่งหลอกลวงและความไม่ถูกต้อง
แล้วมุ่งมองไปยังภูเขาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า

จงเงยหน้าขึ้นจากความยากจนข้นแค้น
แล้วมุ่งมองไปยังความช่วยเหลือขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ในเวลาแห่งความอ่อนแอ
จงมุ่งมองไปยังภูเขาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า
จงมุ่งมองไปยังแหล่งแห่งพลัง

จงฝึกสายตาของท่านมองออกไปให้ไกลเสมอ
เพื่อสายตาของท่านจะสามารถมองเห็นสิ่งที่ไกลออกไป และ
ยิ่งไกลออกไป
จนสายตาของท่านคุ้นชินกับการมองออกไปยังที่ไกลโพ้น

ภูเขาขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เป็นที่แหล่งแห่งความช่วยเหลือสำหรับท่าน
แผ่นดินที่แห้งผากจับจ้องไปยังภูเขาแห่งองค์พระเป็นเจ้า
เพื่อจะได้ธารน้ำที่ไหลล้นมา
เพื่อจะได้ชีวิต
ดังนั้น ท่านจงมุ่งมองไปยังภูเขาแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า
ความช่วยเหลือของท่านมาจากภูเขานั้น
เป็นความช่วยเหลือจากองค์พระผู้เป็นเจ้า
ผู้ทรงสร้างสวรรค์และโลก

ดังนั้น
เพื่อความจำเป็นต้องการต่างๆ สำหรับชีวิตและจิตวิญญาณของท่าน
ท่านจงมุ่งมองไปยังองค์พระผู้เป็นเจ้า
ผู้ทรงสร้างสวรรค์ และ
สำหรับความจำเป็นต้องการแห่งโลกนี้
จงมุ่งมองไปยังองค์พระผู้เป็นเจ้า
องค์พระผู้เป็นเจ้าของสิ่งทั้งหลายแห่งโลกนี้
พระเจ้าผู้ทรงสร้างแผ่นดินโลก

16 พฤศจิกายน 2553

ความเปรมปรีดิ์ที่สงบเงียบ

ดีแล้ว เจ้าเป็นทาสดีและสัตย์ซื่อ…เจ้าจงเปรมปรีดิ์ร่วมสุขกับนายของเจ้าเถิด
มัทธิว 25:21

เสียงกระซิบของคำเหล่านี้ก้องอยู่ในโสตประสาทของหลายคนที่โลกมิได้รู้จัก
เขามิใช่คนใหญ่คนโต หรือ คนมีชื่อเสียงแห่งโลกนี้
คำกล่าวเหล่านี้มักกระซิบกับคนที่ติดตามและรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า
อย่างเงียบๆ
อย่างสงบเสงี่ยม
ด้วยความสัตย์ซื่อ
เป็นคนแบกกางเขนของตนด้วยความกล้าหาญ
ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มต่อโลกนี้
จงขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ท่านมีชีวิตที่สงบเงียบ

คำกล่าวนี้มิได้มีแก่ผู้ที่มีชีวิตเต็มเปี่ยมด้วยพระวิญญาณเท่านั้น
แต่ผู้ที่กระทำหน้าที่ด้วยความสัตย์ซื่อเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
คนๆ นั้นก็จะได้ดำเนินเข้าสู่ชีวิตแห่งความเปรมปรีดิ์
เป็นความเปรมปรีดิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

โลกนี้อาจจะมองไม่เห็นถึงการรับใช้
ที่ถ่อม
ที่อดทน
อย่างสงบเสงี่ยม
แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าเห็น
ส่วนรางวัลของพระองค์มิใช่
ชื่อเสียงแห่งโลกนี้
ความร่ำรวยแห่งสังคมนี้ หรือ
ความปรารถนาแบบกระแสนิยมในยุคนี้
แต่เป็นความปีติเปรมปรีดิ์กับองค์พระผู้เป็นเจ้า

ความปีติเปรมปรีดิ์!
นี่คือรางวัลที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้
ไม่ว่าที่นี่หรือที่ไหน
ในโลกนี้ หรือในโลกแห่งจิตวิญญาณ
ความยินดีเปรมปรีดิ์ที่มีความปลาบปลื้มอย่างสุดๆ
ท่ามกลางความเจ็บปวด
ท่ามกลางความยากจน และ
ท่ามกลางการทนทุกข์

ความปีติเปรมปรีดิ์ที่องค์พระผู้เป็นเจ้ากล่าวถึงนี้ไม่มีใครจะช่วงชิงจากท่านได้เลย
โลกนี้ไม่ปรารถนาความปีติเปรมปรีดิ์อย่างที่กล่าว และ
โลกก็ไม่สามารถจะให้ความปีติเปรมปรีดิ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน
คนที่องค์พระผู้เป็นเจ้ารัก และ สหายของพระองค์เท่านั้นที่จะรู้จักความปีติเปรมปรีดิ์ที่ว่านี้

ความปีติเปรมปรีดิ์นี้อาจจะมิได้เกิดแก่ท่านเพราะเป็นรางวัลในการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า
แต่ความปีติเปรมปรีดิ์นี้อาจจะเกิดแก่ท่าน
จากการอดทน
จากการทนทุกข์ ด้วยความกล้าหาญ

การทนทุกข์ที่เกิดจากการรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้านั้นจะนำมาซึ่งความปีติเปรมปรีดิ์
เฉกเช่นความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในรูปแบบอื่นๆ
ดังนั้น การที่ท่านมีชีวิตกับองค์พระผู้เป็นเจ้าในแผ่นดินของพระองค์
แผ่นดินแห่งความปีติเปรมปรีดิ์
เป็นประตูที่นำสู่การรับใช้อันอาจจะนำมาซึ่งความทุกข์ยากด้วย

14 พฤศจิกายน 2553

เวลาที่มีความต้องการ

องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดเสด็จมารักษาข้าพระองค์ด้วยเถิด

องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นแพทย์ของท่าน
พระองค์เป็นความชื่นชมยินดีของท่าน
พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน
ท่านได้ทูลให้พระองค์มาหาท่าน
ท่านไม่รู้หรือว่าพระองค์ทรงอยู่ที่นี่แล้ว?
พระองค์เสด็จเข้าใกล้ท่านอย่างเงียบเชียบ

ในเวลาที่ท่านต้องการองค์พระผู้เป็นเจ้า
ก็เป็นเวลาที่พระองค์เสด็จมาหาท่าน

ท่านไม่รู้จักความรักของพระองค์
ท่านไม่รู้หรือว่าพระองค์ปรารถนาจะช่วยท่าน

ท่านควรจะรู้ว่า...
ไม่จำเป็นท่านจะต้องทูลอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร
แล้วพระองค์ถึงจะเสด็จมาหาท่าน

ในเวลาที่ท่านมีความจำเป็นต้องการคือ...เวลาแห่งการทรงเรียกขององค์พระผู้เป็นเจ้า
เวลาที่ท่านต้องการองค์พระผู้เป็นเจ้า เป็นโอกาสที่พระองค์ที่จะสำแดงพระองค์แก่ท่าน

พระธรรมสำหรับการภาวนา

1จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า
และทั้งสิ้นที่อยู่ภายในข้า จงถวายสาธุการแด่พระนามบริสุทธิ์ของพระองค์
2จิตใจของข้าเอ๋ย จงถวายสาธุการแด่พระเจ้า
และอย่าลืมพระราชกิจอันมีพระคุณทั้งสิ้นของพระองค์
3ผู้ทรงอภัยความบาปผิดทั้งสิ้นของท่าน
ผู้ทรงรักษาโรคทั้งสิ้นของท่าน
4ผู้ทรงไถ่ชีวิตของท่านมาจากปากแดนผู้ตาย
ผู้ทรงสวมความรักมั่นคงและพระกรุณาให้ท่าน
5ผู้ทรงให้ท่านอิ่มด้วยของดี ตลอดชีวิตของท่าน
วัยหนุ่มของท่านจึงกลับคืนมาใหม่อย่างวัยนกอินทรี
(สดุดี 103:1-5)

จงบอกชาวศิโยนว่า
กษัตริย์ของท่านเสด็จมาหาท่าน
โดยพระทัยอ่อนสุภาพ
ทรงลา ทรงลูกลา (มัทธิว 21:5)

11 พฤศจิกายน 2553

ให้ทุกขณะจิต

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
จิตใจที่พระองค์ปรารถนาคือ จิตใจที่มุ่งมั่นว่า...
ทุกการกระทำ
ทุกคำพูด
ทุกความคิด และ
ทุกขณะจิตมอบไว้ให้เป็นของพระองค์

น่าสมเพชต่อความเข้าใจของผู้ที่คิดว่า
เขาจะใช้เงินเพื่อให้ทดแทนสิ่งดีมีค่าเหล่านั้นได้
การให้ที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่
เหนือสิ่งอื่นใดองค์พระผู้เป็นเจ้าปรารถนา...
ความรัก
ความจริง
ไมตรีจิต
ความรักแบบเด็ก ที่เป็นความรักที่เข้าใจด้วยความไว้วางใจ

สิ่งที่ท่านมอบให้องค์พระผู้เป็นเจ้าที่มีค่ารองลงมาคือ
การที่ท่านให้ เวลา แก่องค์พระผู้เป็นเจ้า
คือการที่ท่านยอมมอบ “ทุกขณะจิตที่เจ้ามี” แด่พระองค์

บางท่านที่รักองค์พระผู้เป็นเจ้า ที่คิดจะรับใช้พระองค์ทั้งชีวิต
ทุกวัน
ทุกชั่วโมง
แต่ขาดการไตร่ตรอง

ท่านที่รัก เรายังมีบทเรียนอีกมากมายที่เราจะต้องเรียนรู้ และ เป็นบทเรียนที่ไม่ง่าย
เราต้องไตร่ตรองว่า “การมอบทุกขณะจิตแก่องค์พระผู้เป็นเจ้า” นั้นหมายความอะไรกันแน่

เรื่องเล็กๆ ที่เราแต่ละคนวางแผนที่จะกระทำ
จงพร้อมที่จะรับข้อเสนอแนะและการชี้นำจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยความยินดี
การบริการเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านจะกระทำ จงกระทำด้วยความชื่นชมยินดี และ
ให้มองเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในทุกสิ่งที่ท่านคิด ท่านทำ
เช่นนั้นแล้วสิ่งที่ท่านจะกระทำจะเป็นภารกิจที่ง่ายสำหรับท่าน

นี่เป็นการเริ่มต้นที่คิดค่าหาราคาไม่ได้
แต่โปรดระลึกว่า
วิถีแห่งการริเริ่มนี้มิใช่สำหรับทุกคน
แต่สำหรับคนที่รู้สึกถึงการร้องคร่ำครวญโศกเศร้าของโลกที่ต้องการพระผู้ช่วยให้รอด
ที่ร้องหาพระผู้ช่วยให้รอด
เป็นผู้ซึ่งที่ต้องการติดตาม “ผู้ที่ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ”
ในงานแห่งความรอดที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาด้วยความชื่นชมยินดี

พระธรรมสำหรับภาวนา

1พี่น้องทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้โดยเห็นแก่ความเมตตากรุณาของพระเจ้า ข้าพเจ้าจึงวิงวอนท่านทั้งหลายให้ถวายตัวของท่านแด่พระองค์ เพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอันบริสุทธิ์และเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า ซึ่งเป็นการนมัสการโดยวิญญาณจิตของท่านทั้งหลาย 2อย่าประพฤติตามอย่างคนในยุคนี้ แต่จงรับการเปลี่ยนแปลงจิตใจ แล้วอุปนิสัยของท่านจึงจะเปลี่ยนใหม่ เพื่อท่านจะได้ทราบน้ำพระทัยของพระเจ้า จะได้รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นที่ชอบพระทัยและอะไรดียอดเยี่ยม (โรม 12:1-2)

5จงมอบทางของท่านไว้กับพระเจ้า
วางใจในพระองค์ และพระองค์จะทรงกระทำให้สำเร็จ (สดุดี 37:5)

07 พฤศจิกายน 2553

ทนทุกข์เพื่อพระสิริของพระเจ้า

3ยิ่งกว่านั้น ให้เราชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วย
เพราะเรารู้ว่าความทุกข์ยากนั้นทำให้เกิดความอดทน (ความบากบั่น IBS)
4และความอดทนทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้
และการที่เราเห็นเช่นนั้นทำให้เกิดมีความหวังใจ
5และความหวังใจมิได้ทำให้เกิดความเสียใจเพราะผิดหวัง
เพราะเหตุว่าความรักของพระเจ้าได้หลั่งเข้าสู่จิตใจของเรา
โดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้แก่เราแล้ว
(โรม 5:-5)

คำถามที่เรามักได้ยินบ่อยๆ ทั้งจากคนที่มีความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า และ ผู้ที่ไม่เชื่อก็คือ “ถ้าพระเจ้าทรงฤทธิ์จริงๆ แล้วทำไมพระองค์ยอมให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับคนดีๆ?” และก็เป็นความจริงว่า คนดีจริงมักต้องประสบกับความทุกข์ยาก และ เหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต!

ยิ่งกว่านั้น เราเห็นอย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ว่า พระเจ้าทรงทรงอนุญาตให้ความทุกข์ยากลำบากและเหตุเลวร้ายเกิดขึ้นในชีวิตของคนดี ตัวอย่างเช่นในกรณีของโยบ ซาตานคัดค้านพระเจ้าที่ทรงเห็นว่าโยบเป็นคนดี ซาตานเห็นว่าที่โยบเป็นคนดีเพราะการทรงปกป้องคุ้มครองของพระเจ้าและเพราะความมั่งคั่งที่พระเจ้าทรงอวยพระพร ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เขาคงไม่เป็นคนดีแน่นอน (โยบ 1:8)

แต่ในความทุกข์ยากและเหตุการณ์เลวร้ายของโยบ ถ้าเป็นคนปกติธรรมดาก็จะเลิกเชื่อศรัทธาในพระเจ้า หรือไม่ก็ต่อว่าและสาปแช่งพระเจ้า แต่สำหรับโยบนั้น ในความทุกข์ยากและเกิดเหตุเลวร้ายของชีวิต จุดยืนที่มั่นคงคือการที่เขาแสวงหาความเข้าใจ และ การเรียนรู้จากพระเจ้า ดังนั้น ความทุกข์ยากและเหตุเลวร้ายซึ่งเป็นการทดลองของซาตานไม่สามารถมีชัยเหนือความเชื่อศรัทธาของโยบ แต่โยบกลับมีความแข็งแกร่งในความเชื่อ เกิดความอดทนและความบากบั่น และในความทุกข์ยากลำบากนั้นเสริมสร้างวินัยชีวิตแก่เรา จนชีวิตของเรามีคุณภาพมากขึ้นจนเป็นคนที่พระเจ้าจะทรงใช้ได้ และการที่เป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้นั้นเป็นทั้งความหวังและความชื่นชมยินดีในชีวิตของคนๆ นั้น

สำหรับเปาโล ท่านมีประสบการณ์ว่า ในความทุกข์ยากและเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เป็นการที่พระเจ้าทรงแก้ไขเปลี่ยนแปลงการที่ท่านชอบยกตัวเอง และทรงเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยใหม่ให้ท่านเป็นคนที่ถ่อม และเชื่อมั่นในพระคุณของพระเจ้าว่ามีมากเพียงพอสำหรับชีวิตของท่าน และมีมากเพียงพอสำหรับชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากนานาประการ และเปาโลได้เรียนรู้ถึงฤทธิ์เดชของพระเจ้าก็ตอนที่ท่านตกในที่นั่งลำบาก เมื่อชีวิตของท่านอ่อนแอลง

7และเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวจนเกินไป เนื่องจากที่ได้เห็นการสำแดงมากมายนั้น ก็ทรงให้มีหนามใหญ่ในเนื้อของข้าพเจ้า หนามนั้นเป็นทูตของซาตานคอยทุบตีข้าพเจ้าเพื่อไม่ให้ข้าพเจ้ายกตัวเกินไป 8เรื่องหนามใหญ่นั้น ข้าพเจ้าวิงวอนองค์พระผู้เป็นเจ้าถึงสามครั้ง เพื่อขอให้มันหลุดไปจากข้าพเจ้า 9แต่พระองค์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “การที่มีคุณของเราก็พอแก่เจ้าแล้ว เพราะความอ่อนแอมีที่ไหน เดชของเราก็มีฤทธิ์ขึ้นเต็มขนาดที่นั่น” เหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงภูมิใจในบรรดาความอ่อนแอของข้าพเจ้า เพื่อฤทธิ์เดชของพระคริสต์จะได้อยู่ในข้าพเจ้า
(2โครินธ์ 12:7-10, TBS1971)

บ่อยครั้งที่ผมมีโอกาสฟังคำพยานชีวิตของคนต่างๆ มักมีรูปแบบการเป็นพยานชีวิตที่คล้ายๆ กันดังนี้ “เมื่อก่อนผมเป็นคนเลว ไม่ดี มีความทุกข์ยาก... พระเจ้าทรงช่วยให้ข้าพเจ้ารอดพ้นจาก.. และเดี๋ยวนี้ชีวิตของข้าพเจ้าสุขสบาย...” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใครก็ตามที่ตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางชีวิตคริสเตียนที่แท้จริงแล้ว ชีวิตคนๆ นั้นจะต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้เพราะ เหตุผลหนึ่งคือมารซาตานจะไม่ยอมปล่อยให้คนๆ นั้นกลับใจเดินบนเส้นทางชีวิตคริสเตียนง่ายๆ มันจะต้องฉุดกระชากลากถูอย่างถึงที่สุดที่จะได้ชีวิตคนๆ นั้นกลับคืนไปสวามิภักดิ์อยู่ใต้การครอบครองของมันต่อไป แต่ในเหตุการณ์นั้น พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของคนๆ นั้นด้วย พระราชกิจของพระองค์มิได้เอาความทุกข์ยากลำบาก หรือ เหตุการณ์เลวร้ายออกจากชีวิตของเขา แต่พระองค์ทรงใช้เหตุการณ์เลวร้ายและความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นสร้างเขาให้มีความเชื่อและความไว้วางใจในพระองค์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อเขาจะเติบโตและแข็งแรงขึ้นในการต่อกรกับเหตุร้ายและความทุกข์ยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ความทุกข์ยากของชีวิตเราจึงได้เห็นพระคุณของพระเจ้า ที่มิได้ทรงทอดทิ้งเราให้ต้องทนทุกข์ยากลำบากเพียงลำพัง แต่ทรงอยู่ด้วยและใช้ความทุกข์ยากในการสร้างเราให้เป็นคนใหม่ที่แข็งแกร่งและที่พระองค์จะทรงใช้ได้ในอนาคต พระเจ้าทรงปรับเปลี่ยนสิ่งเลวร้ายเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างสิ่งดีในชีวิตของเราแต่ละคน ดังนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา พระเจ้าทรงสามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือและโอกาสในการเสริมสร้างเราให้เป็นคนที่พระองค์จะทรงใช้ได้ตามพระประสงค์ของพระองค์ และนี่คือพระคุณของพระเจ้าที่ทรงมีในชีวิตของเราแต่ละคน

แต่บ่อยครั้งที่เรามักบ่น ต่อว่า และสงสัยพระเจ้า ว่าทำไมถึงอนุญาตให้เหตุการณ์ที่เลวร้าย และ ความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ทั้งๆ ที่เรารักสัตย์ซื่อต่อพระองค์ เรามักไม่ได้มองว่า พระเจ้ากำลังจะประทานพระคุณแก่เราในชีวิตมากยิ่งขึ้น พระองค์กำลังสร้างเราให้เป็นคนที่พระเจ้าใช้ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น เปาโลจึงกระตุ้นให้เราชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าทุกเวลา ทุกสถานการณ์ (ฟิลิปปี 4:4)

เมื่อคริสเตียนต้องพบกับความทุกข์ยากและเหตุการณ์ที่เลวร้าย โปรดรู้เถิดว่า โอกาสที่เราจะได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับความรักและพระคุณของพระองค์กำลังเป็นของเรา
เลิกที่รู้สึกขมขื่นใจ แต่จงชื่นชมยินดี
เลิกที่จะบ่นและต่อว่าพระเจ้า แต่จงขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระคุณอันใหม่สดที่กำลังหลั่งไหลมา
เลิกที่จะหาทางต่อรองหรือหลีกลี้หนีจากเหตุการณ์เลวร้ายนั้น แต่จงถ่อมใจน้อมรับการทรงนำและการสร้างใหม่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา
เพราะในเหตุการณ์นั้นเราจะได้ยินเสียงตรัสในจิตใจของเราอย่างที่พระเจ้าตรัสกับเปาโลว่า “พระคุณของเรามีเพียงพอสำหรับเจ้า...”(2โครินธ์ 7:8, IBS)

ในวันนี้ เมื่อท่านต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากและเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต จงสงบใจฟังจนได้ยินพระดำรัสที่มีสำหรับท่านโดยตรงท่ามกลางเหตุการณ์เหล่านั้น พระองค์จะทรงนำ ทรงจูงแขนในชีวิตของท่าน และที่สำคัญคือท่านจะสนิทใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้น ท่านจะมีสัมพันธภาพที่ลุ่มลึกกับพระองค์ยิ่งกว่าเดิม

เมื่อต้องประสบพบกับความทุกข์ยากลำบากในวันนี้
จงเผชิญกับความทุกข์ยากนั้นเพื่อให้นำมาซึ่งการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า

04 พฤศจิกายน 2553

ไม่หันเหและเบี่ยงเบน

ครั้งนั้นพวกฟาริสีมาทูลพระองค์ว่า “ท่านจงออกจากที่นี่ไปที่อื่นเถิด เฮโรดต้องการจะฆ่าท่าน” พระองค์ตรัสว่า “จงไปบอกเจ้าสุนัขจิ้งจอกนั้นว่า “เราจะขับผีและรักษาโรคให้ผู้คนในวันนี้ และในวันพรุ่งนี้ และในวันที่สามเราจะบรรลุเป้าหมายของเรา อย่างไรก็ตามเราต้องดำเนินต่อไปในวันนี้ วันพรุ่งนี้ และวันถัดไป เพราะย่อมไม่มีผู้เผยพระวจนะคนใดตายนอกกรุงเยรูซาเล็ม (ลูกา 13:31-33 IBS)

พวกฟาริสีจงเกลียดจงชังพระเยซู แล้วทำไมถึงมาเตือนพระองค์ให้รู้ตัวว่าเฮโรด อันติพาส ต้องการจะฆ่าพระองค์? พวกเขาน่าจะดีใจที่จะมีคนช่วยกำจัดพระเยซูเสียอย่างที่พวกเขาปรารถนา โดยไม่ต้องถูกการกล่าวหาและต่อต้านจากประชาชนในกาลิลี แต่พวกเขาต้องการที่จะข่มขู่ให้พระเยซูเกิดความกลัวแล้วหันเหการทำงานของพระองค์ออกไปทำในพื้นที่อื่นแทนที่จะเป็นกาลิลี

แล้วทำไมพวกฟาริสีถึงต้องการให้พระเยซูออกจากกาลิลีไปทำงานของพระองค์ในพื้นที่อื่น?
ด้วยเหตุผลใหญ่ๆ สองประการด้วยกัน

ประการแรก ถ้าพระเยซูคริสต์ออกจากพื้นที่กาลิลี พวกเขาจะได้หมดคู่แข่งที่น่าเกรงขาม เพราะตอนนี้ประชาชนให้ความสนใจ นิยมชมชอบพระเยซูคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน พวกเขาต้องการให้ประชาชนกลับมาเชื่อฟังพวกเขา พวกเขาต้องการมีอำนาจเหนือประชาชนเฉกเช่นในอดีต

ประการที่สอง ถ้ายังปล่อยให้พระเยซูคริสต์ทำพันธกิจในกาลิลี คำสอนที่พระองค์สอนว่า มีเพียงพระเจ้าท่านนั้นที่มีอำนาจครอบครองเหนือชีวิตของเรา เป็นคำสอนที่ขัดกับกฎหมายของโรมัน อีกทั้งยังขัดแย้งกับการที่เฮโรดเป็นกษัตริย์ที่ปกครองกาลิลีในเวลานั้น พวกฟาริสีเกรงว่ากาลิลีอาจจะถูกปราบให้ราบคาบเพราะคำสอนที่เป็นกบฏของพระเยซูคริสต์ และพวกตนก็จะหมดอำนาจในฐานะผู้นำทางศาสนาด้วย ในประเด็นนี้เราต้องมองลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ลับๆ ที่พวกฟาริสีมีกับทางการเมืองในเวลานั้น และเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลในการรักษาอำนาจของกันและกัน

ดังนั้น คำตอบของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “จงไปบอกเจ้าสุนัขจิ้งจอกนั้นว่า...” มิใช่เป็นการเปรียบเปรยเฮโรดว่าเป็นคนมีนิสัยและพฤติกรรมที่เหมือนสุนัขจิ้งจอกเท่านั้น แต่เป็นการเปรียบเปรยกล่าวว่าพวกฟาริสีด้วย
พระเยซูคริสต์มองทะลุในอุบายหลอกลวงของพวกฟาริสี และการที่พวกเขาลดตัวเองลงเป็นเพียงคนส่งสารของเฮโรดเท่านั้น ดังนั้น พระเยซูคริสต์จึงไม่หลงกลกับดักในการเปลี่ยนที่ทำพันธกิจ หรือ ลดบทบาทของตนในการทำพันธกิจตามที่พวกนี้ข่มขู่ที่จะเอาชีวิตของพระองค์
สิ่งที่สำคัญคือ พระเยซูคริสต์ไม่เกรงกลัวที่ถูกข่มขู่จะถูกปลิดชีพ
ทำไมพระองค์ถึงไม่กลัวความตายที่กำลังจู่โจมเข้ามา?
เพราะพระองค์รู้อยู่แล้วว่า พระองค์จะต้องตาย ยิ่งกว่านั้น รู้ว่าจะตายที่ไหน และตายเมื่อใด
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การตายของพระองค์มีเป้าหมายและจุดประสงค์ที่ชัดเจน

พระองค์รู้อยู่เต็มอกว่า เฮโรดมิใช่อันตรายตัวจริง
ฟาริสี ผู้นำศาสนายิวชนชาติเดียวกันกับพระองค์ต่างหากที่เป็น “ตัวแสบ” ที่แท้จริง

พระเยซูคริสต์ชัดเจนถึงแผนการที่พระองค์จะต้องกระทำให้สำเร็จในแต่ละวัน พระองค์ทรงขับไล่อำนาจชั่วในรูปแบบต่างๆ ที่มาสิงสถิต ครอบครองชีวิตของผู้คนประชาชน พระองค์ทรงปลดปล่อยผู้คนให้ออกจากอำนาจร้ายเหล่านี้ เสริมสร้างชีวิตของพวกเขาขึ้นใหม่เป็นชีวิตที่มีความหวัง กำลัง และรู้จักทางเดินแห่งชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า พระองค์ทรงเพ่งมองและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายของการเสด็จมาของพระองค์ คือการไถ่ถอนผู้คนให้หลุดรอดออกจากอำนาจชั่วเหล่านั้น และพระองค์ทรงมุ่งหน้ากระทำทุกวันให้บรรลุสำเร็จตามเป้าประสงค์นั้น พระองค์ทรงทราบถึงเวลาที่กำหนดคือในช่วง “ปัสกา” และ พระองค์ทรงรู้ว่าสถานที่ที่พระองค์จะบรรลุพระราชกิจที่ยิ่งใหญ่คือที่กรุงเยรูซาเล็ม มิใช่ที่กาลิลีแห่งนี้

เราท่านมิได้มีความรับผิดชอบในการไถ่ถอนชีวิตมนุษย์ให้รอดจากอำนาจของความชั่วร้ายในรูปแบบต่างๆ ดั่งเช่นพระคริสต์ แต่สิ่งที่เราควรจะมีเยี่ยงพระเยซูคริสต์คือ การมุ่งมั่นตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวและชัดเจน ที่จะดำเนินชีวิตแต่ละวันไปพร้อมกับพระองค์ และยอมตนกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในแต่ละวันในฐานะสาวกที่รักและสัตย์ซื่อของพระองค์ และยืนหยัดอย่างพระคริสต์ที่ว่า เราจะกระทำงานต่างๆ ตามพระประสงค์ของพระองค์ในวันนี้ และวันพรุ่ง และในวันที่สามเราจะบรรลุตามเป้าประสงค์แห่งพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเรา

แน่นอนอยู่แล้วว่า การทดลอง การทำให้เราเฉื่อยชา ล่าช้า หรือ ทำให้เราเบี่ยงเบน หลงออกจากทางที่เราควรจะเดินไปในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นงานของซาตาน ผู้รับใช้พระเจ้าที่มีสติปัญญาจะต้องรู้เท่าทันการล่อลวงข่มขู่ของอำนาจชั่วเหล่านี้ ผู้รับใช้จะต้องยึดมั่นในพระวจนะ ฟังเสียงของการทรงนำ และมั่นคงด้วยพระกำลังจากเบื้องบน ไม่เอนเอียง หันเหออกนอกทางของพระองค์ และจะไม่ยอมสิ้นหวังไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

เราต้องชัดเจนว่า พระเจ้าทรงครอบครอง คุ้มครอง ปกป้อง และทรงขับเคลื่อนชีวิตของเราแต่ละวัน
พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่ทรงใช้ในชีวิตของเราแต่ละคน
เมื่อพระคริสต์ไม่ยอมที่จะหันเห เบี่ยงเบน ตามการบิดเบือน และการหลอกล่อ
พระองค์จึงบรรลุเป้าประสงค์ของพระบิดาที่พระองค์ทรงรับใช้มาในโลกนี้
เราจึงได้รับการทรงช่วยให้หลุดรอดจากอำนาจชั่วในรูปแบบต่างๆ
เราจึงได้รับชีวิตใหม่ ความหวังใหม่ และ คุณค่าใหม่ในชีวิต
เพราะพระองค์เลือกที่จะฟังเสียงของพระบิดา แทนการยอมฟังเสียงของ “สุนัขจิ้งจอก”
ฝูงแกะของพระเจ้าจึงรอดพ้นจากการถูกทำร้ายทำลาย ฝูงแกะจึงได้รับชีวิตรอด
ขอให้เราเลือกที่จะฟังเสียงของพระองค์ เพื่อเราจะสามารถบรรลุตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในตัวเรา
ด้วยความรัก สัตย์ซื่อ และด้วยพระกำลัง
ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน คริสตจักร และในชุมชน

02 พฤศจิกายน 2553

วางใจแผนการของพระเจ้าในชีวิตของคุณ

5จงวางใจในพระเจ้าด้วยสุดใจของเจ้า
และอย่าพึ่งพาความรอบรู้ของตนเอง
6จงยอมรับรู้พระองค์ในทุกทางของเจ้า
และพระองค์จะทรงกระทำให้วิถีของเจ้าราบรื่น
(สุภาษิต 3:5-6)


การไว้วางใจนั้นเป็นเรื่องยาก... คุณเห็นด้วยไหม?
เพราะผมเคยไว้วางใจคนมาแล้ว และสิ่งที่ประสบคือไม่เป็นไปอย่างที่ไว้วางใจ
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทำให้ผมไว้วางใจคนอื่นยากยิ่งขึ้น

แต่คนอาจจะทำให้คุณผิดหวัง และไว้วางใจเขายากยิ่งขึ้น
แต่พระเจ้าจะไม่ทำให้คุณผิดหวังในการไว้วางใจพระองค์

พระเจ้าทรงมีแผนแม่บทสำหรับแต่ละชีวิต
พระเจ้าทรงมีพิมพ์เขียวสำหรับแต่ละคน
คุณจะพบกับความประหลาดอัศจรรย์ใจในชีวิตอย่างที่หลายคนไปพบมาแล้ว
ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพพ่อค้า ชาวนา คนทำขนม หรือ ศิษยาภิบาล
พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของคุณ
เรามั่นใจได้เลยว่า ชีวิตของเราอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์
เราจึงมิใช่คนที่ไร้เป้าหมาย และ ไม่มีความหมายในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน
เราพบคำยืนยันสัจจะความจริงนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าจากพระคัมภีร์

ขอเพียงคุณไว้วางใจในพระองค์
เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
อย่าพึ่งพาความรอบรู้และความเข้าใจของตัวคุณเองว่าสิ่งต่างๆ ควรจะเป็นเช่นไร

ถ้าคุณยังให้พระเจ้าเป็นนักบินผู้ช่วย
ผมขอเสนอว่า.... ให้คุณรีบสลับตำแหน่งนักบินกับพระองค์เดี๋ยวนี้

เมื่อคุณเริ่มไว้วางใจในพระเจ้าในทุกเรื่องในทุกสิ่ง
พระองค์จะทำสิ่งอัศจรรย์ในชีวิตของคุณ
ชีวิตของคุณจะเป็นชีวิตที่ถวายเกียรติแด่พระองค์

จงวางใจในแผนการของพระเจ้าสำหรับชีวิตของคุณ และ
ให้พระองค์กระทำให้ทางชีวิตของคุณราบรื่น

31 ตุลาคม 2553

อะไรคือพลังขับเคลื่อนความกระตือรือร้น

พลังแห่งหวังและความใฝ่ฝันในการทำพันธกิจ

เมื่อผมมีโอกาสมองย้อนพิจารณาถึงบางคนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนในวิทยาลัยพระคริสต์ธรรม หรือ ตัดสินใจทุ่มเทชีวิตในการทำพันธกิจในคริสตจักร ดูแล้วเป็นคนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมได้เคยเห็นชายหนุ่มคนหนึ่งเป็นนักบิน เจ้าตัวตัดสินใจใช้เวลาวันพักของตนจากการบินมาทำงานของพระเจ้าในที่ต่างๆ

ผมยังได้อ่านถึงเรื่องราวของนักบินอีกคนหนึ่ง ที่มีเงินเดือนที่สูง ชีวิตอยู่อย่างหรูหราสะดวกสบายแต่ตัดสินใจลาออกจากงานนักบินไปเรียนพระคริสต์ธรรม ผมมีโอกาสได้รู้จักนักธุรกิจหญิงที่เป็นทั้งเจ้าของและบริหารงานด้านอสังหาริมทรัพย์ตัดสินใจมาเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลาด้วยทุนรอนของตนเอง และใช้เวลาส่วนที่เหลือในการบริหารจัดการธุรกิจ

ผมเคยได้ยินเรื่องราวของนักธุรกิจลาวที่เจริญก้าวหน้าในแคนาดา ที่อุทิศกำลังในการอธิษฐาน เวลา และทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนพระคริสต์ธรรมต่างๆ รวมทั้งผู้คนด้อยโอกาสต่างๆ ด้วย

มีวิศวกรอีกคนหนึ่งลาออกจากงานที่มีรายได้สูง แล้วย้ายครอบครัวไปอีกเมืองหนึ่งเพื่อเรียนพระคริสต์ธรรมเต็มเวลา เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยเขาจึงไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในเวลากลางคืน ผมยังสงสัยว่าแล้วเขาเอาเวลาที่ไหนไปพักผ่อนหลับนอน

ชีวิตของคนเหล่านี้เป็นคนที่น่ายกย่องนับถือ เขามีพลังที่ขับเคลื่อนความกระตือรือร้น ความมุ่งมั่นตั้งใจในชีวิตของเขา

ศิษยาภิบาล และ ผู้อภิบาลชีวิตมนุษย์โลกในลักษณะต่างๆ เป็นตัวอย่างของผู้ที่มีพลังความกระตือรือร้นที่ดี เราเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกผู้คนเหล่านี้ให้มีความปรารถนาและมุ่งมั่นใช้ชีวิตรับใช้พระราชกิจของพระองค์ท่ามกลางสถานการณ์ชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ และนี่คือพลังที่ทำให้ชีวิตของผู้อภิบาลเหล่านี้ขับเคลื่อนไปอย่างน่าสนใจ น่าชื่นชม ยกย่อง ด้วยชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและอุทิศถวายแด่พระเจ้า

ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมบางแห่งได้พบ “จุดบอด” ของพลังในความกระตือรือร้นของนักศึกษาบางคน เมื่อเราพูดคุยแบ่งปันกันว่า อะไรคือแรงผลักดันให้เรามาเรียนในสถาบันแห่งนี้? ผมได้รับคำตอบหลายอย่าง มีคนหนึ่งตอบว่า “ข้าพเจ้าต้องการที่จะเป็น บิลลี่ เกรย์แฮม ของเมืองไทย” เกิดเสียงผุดขึ้นในความนึกคิดของผมว่า “แล้วความฝันของคุณจะเป็นอย่างที่คุณต้องการหรือ?”

นักศึกษาหญิงท่านหนึ่ง พูดจาฉะฉาน บอกกับพวกเราว่า “ปู่ของหนูเป็นศาสนาจารย์ พ่อหนูก็เป็นศาสนาจารย์ หนูต้องเป็นศาสนาจารย์ด้วย ดังนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาเรียนพระคริสต์ธรรม...” ผมคิดในใจ เอ...นี่ การรับใช้พระเจ้าตามสายเลือดหรือเปล่า?

นักศึกษาอีกท่านหนึ่งได้บอกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่ท่านมาเรียนในพระคริสต์ธรรมว่า “ผมกลับมาเรียนต่อ M.Div. (คริสต์ศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต) เพื่อผมจะได้กลับไปพัฒนาคริสตจักรที่ผมเป็นศิษยาภิบาลให้เป็นคริสตจักรที่มีสมาชิกมากขึ้นเป็นคริสตจักรขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย...” ผมคิดว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่น่าเศร้า!

ผมได้พบและพูดคุยกับนักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นคริสเตียนท่านหนึ่ง ท่านทุ่มเท กายใจ เวลา และทรัพย์สินเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนของท่าน ท่านบอกกับคนทั้งหลายว่า ที่ทำเช่นนี้เพราะอิทธิพลคำสอนของพระคัมภีร์ที่ว่า ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง และท่านก็เคยบอกว่า ท่านจะต้องเป็น ส.ว. หรือ ส.ส. คริสเตียนให้ได้ เพื่อเราจะได้มีนักการเมืองคริสเตียนในรัฐสภา...

ตอนนี้ในประเทศไทยของเรามีองค์กรรวมคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ที่รู้จักกันดีอย่างน้อย 2 องค์กรด้วยกัน มีอาการแปลกๆ อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรรวมของคริสเตียนคือ เรื่องการทรงเรียกกับการเสนอตัว(ตามระบบการเลือกตั้งแบบนักการเมืองปัจจุบัน)เป็นเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งบริหารองค์กร เป็นประเด็นที่คริสเตียนต้องชัดเจนถึงจุดยืนจุดเชื่อของตนว่า เรายืนอยู่บนจุดยืนของ “การทรงเรียก” หรือ “การเสนอตัวเอง” ในตำแหน่งเหล่านั้น หรือ ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อกำหนดการทรงเลือกจากเบื้องบน? น่าหนักใจครับ

คำถามที่เราแต่ละคนจำเป็นต้องถามตนเองคือ อะไรคือพลังกระตุ้นความกระตือรือร้นของเรา ในการงานรับใช้ในคริสตจักร ในชุมชน ในองค์กรคริสเตียน เพราะพลังความกระตือรือร้นด้วยความตั้งใจที่ดีไม่ได้หมายความว่าเป็นการทรงเรียกเสมอไป บางครั้งบางคนอาจจะสำคัญผิดทึกทักเอาว่า ความใฝ่ฝันปรารถนาของตนเองเป็นเสียงแห่งการทรงเรียก แต่นั่นจะต้องระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่อ้างการทรงเรียกที่เคลือบแฝงด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจส่วนตนเป็นที่ตั้ง

พลังแห่งความกระตือรือร้น มุ่งมั่นตั้งใจของเรา สามารถที่จะเป็นทั้งการมุ่งมั่นตั้งใจที่อุทิศถวายชีวิตแต่พระราชกิจของพระเจ้าด้วยน้ำใสใจจริง แต่ก็ต้องระมัดระวังอีกเช่นกันว่า อย่าพลั้งเผลอที่เคลือบแฝง “สอดไส้” แรงกระตุ้นเพื่อประโยชน์และความปรารถนาแห่งตนเอง

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าในพระคัมภีร์ เมื่อพระเจ้าทรงเรียกหลายๆ คน หลายครั้งที่ผู้รับการทรงเรียกผงะ ถอย และปฏิเสธการทรงเรียกของพระเจ้า เยเรมีย์บอกว่าตนยังเป็นเด็กตนทำไม่ได้, โมเสสปฏิเสธการทรงเรียกเพราะเข็ดหลาบครั้งเมื่อพยายามช่วยแรงงานทาสอิสราเอลในอียิปต์, อิสยาห์ตกใจและปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าตนเป็นคนไม่สะอาด คนเหล่านี้เข้าใจว่าการทรงเรียกของพระเจ้าเป็นการที่พระเจ้าต้องการใช้ชีวิตของเขาตามพระประสงค์ของพระองค์ เขาต้องเดินไปบนเส้นทางที่เขามิได้ขีดคิดกำหนดด้วยตนเอง และทุกครั้งที่พระเจ้าทรงเรียกใคร พระองค์แจ้งพระประสงค์ของการทรงเรียกแก่แต่ละคน แต่ในที่สุดคนเหล่านี้ยอมตนแด่พระเจ้าเพราะ พระเจ้าจะทรงสร้างเขาใหม่ และสิ่งที่จะต้องรับใช้นั้นมิใช่อาศัยสติปัญญาและกำลังของพระเอง แต่พระเจ้าจะทรงนำและประทานพละกำลังให้ และที่สำคัญคือ เขาไม่ใช่หัวหน้า หรือ เจ้าของงานนี้แต่เป็นผู้ร่วมงานในพระราชกิจของพระองค์

ดังนั้น การทรงเรียกจึงเป็นพระคุณของพระเจ้า มิใช่เป็นความสามารถและความปรารถนาของตนเอง เมื่อการทรงเรียกเป็น “พระคุณ” ของพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดหรือใครที่จะหยุดขัดขวางการทำพระราชกิจนั้นได้ และจะไม่มีวันล้มเหลวเพราะอ่อนแรงหรือหมดแรง ตรงกันข้าม การทรงเรียกที่เป็น “พระคุณ” ของพระเจ้าจะเตือนย้ำให้เราเป็นผู้นำที่ถ่อมตน รับใช้พระเจ้าท่ามกลางการรับใช้ประชาชนของพระองค์ แต่มิใช่การรับใช้ที่เคลือบแฝงด้วยความเห็นแก่ตัว

จดหมายของเปโตรฉบับแรก บทที่ 5 ข้อ 2 บอกว่า ผู้นำคริสตจักรมิใช่ร่วมพระราชกิจของพระเจ้า “ด้วยความฝืนใจ” และ “ด้วยในโลภในทรัพย์สิ่งของ”

2จงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกท่าน [โดยเอาใจใส่ดูแล]
ไม่ใช่ด้วยความฝืนใจ แต่ด้วยความเต็มใจ [ตามพระประสงค์ของพระเจ้า]
ไม่ใช่ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ แต่ด้วยใจกระตือรือร้น (TBS02b)

เปโตรเตือนเราให้ระมัดระวังว่า มีท่าทีการรับใช้อยู่สองลักษณะที่พึงหลีกเลี่ยงคือ “การรับใช้ด้วยความฝืนใจ” เพราะการรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้านั้นแตกต่างจากความปรารถนาของตนเองที่ซ่อนอยู่ในใจ เมื่อต้องทำต่อหน้าผู้คนจึงกระทำอย่างฝืนใจ คนอื่นอาจจะไม่รู้ว่าเราทำด้วยความฝืนใจ แต่ตนเองรู้ และพระเจ้ารู้ ลักษณะที่สองคือ “การรับใช้ด้วยใจโลภในทรัพย์สิ่งของ” สิ่งนี้มักกระทำในที่ลับ อย่างลับๆ บางครั้งเป็นการกระทำอย่างถูกต้องตามหลักการ แต่มีเสียงฟ้องในจิตใจนานเท่านาน

แต่ถ้าใครก็ตาม ในที่สุดยอมตน อุทิศถวายชีวิตของตน ที่จะกระทำตามการทรงเรียก กระทำตามพระประสงค์ เป็นคนร่วมงานในพระราชกิจของพระเจ้า ถ่อมตนลงรับใช้พระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ คนๆ นั้นจะทำงานที่พระเจ้าทรงเรียกและมอบหมายด้วย “ความกระตือรือร้น” เพราะนี่คือพระเจ้าคุณของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเรียกใช้ ที่พระองค์ทรงไว้วางใจเรา ที่พระองค์ทำงานผ่านชีวิตของเรา ที่พระองค์ใส่พระปัญญา และ พระกำลังเข้าในชีวิตของเรา และในที่สุดเพื่อพระเจ้าจะเป็นที่สรรเสริญ ผู้ที่ได้รับการทรงเรียกและรับใช้เช่นนี้ เปาโลบอกว่า “คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ”

1คำกล่าวนี้สัตย์จริง คือว่าถ้าใครปรารถนาหน้าที่ผู้ปกครองดูแลคริสตจักร
คนนั้นก็ปรารถนากิจการงานที่ประเสริฐ (1เปโตร 5:2, TBS02b)

ประการสำคัญคือ ความปรารถนาและความกระตือรือร้นของเรา มีจุดเริ่มต้น หรือได้รับการจุดประกายขึ้นจากอะไร? กล่าวคือถูกจุดประกายขึ้นจากความปรารถนาเพื่อตนเอง หรือ ถูกจุดประกายขึ้นจากสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระเจ้า จากการที่พระองค์ไว้วางใจเราทรงเรียกเรา และสัญญาว่าจะทรงทำงานผ่านชีวิตของเรา เราเกิดความเชื่อมั่นในพระองค์ เราถวายอุทิศชีวิตให้พระองค์ใช้ตามพระประสงค์

ประการที่จะต้องระมัดระวังเป็นที่สุดคือ ถ้าเรากระทำงานในคราบของงานรับใช้แต่ด้วยใจปรารถนาเพื่อตนเองแล้ว จะต้องระวังว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่ง “เครื่องจะตีกลับ” คือสิ่งที่เรากระทำลงไปด้วยความปรารถนาที่แอบแฝงจะตีกลับทำลายและเป็นอันตรายต่อชีวิตของเรา ต่อครอบครัว และ ต่อคริสตจักรที่เราเกี่ยวข้องก็ได้

28 ตุลาคม 2553

การทำงานเป็นการนมัสการพระเจ้า

ทุกวันนี้เราทำงานไปทำไม? เป็นคำถามที่ผมชอบถามผู้คนในหลายอาชีพ หลายฐานะเศรษฐกิจ และหลายฐานะในสังคม แม้แต่ในวงสนทนาในคริสตจักรก็ไม่ละเว้นที่ถามคำถามนี้เช่นกัน คุณเชื่อไหม! พอผมโยนคำถามนี้เข้าในวงสนทนา อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกันแม้จะมีสภาพชีวิตที่แตกต่างหลากหลายกันก็ตามคือ คนทั้งวงสนทนาเงียบ อึกอัก เอ... คนถามกำลังต้องการอะไรกันนี่?

จากนั้น ก็จะมีบางคนตอบแบบหยั่งเชิงว่า “เราทำงานเพื่อที่จะหาปัจจัยมาเลี้ยงดูครอบครัวของเรา”
อีกคนหนึ่งโพล่งออกมาตรงๆ ว่า “ก็เพื่อหาเงิน”
อีกคนหนึ่งตะโตนตอบมาจากด้านหลังว่า “เพื่อเราจะเป็นคนผู้รับใช้ที่รับผิดชอบ” หยุดไปสักพักหนึ่ง แล้วย้ำหนักแน่นในคำตอบนี้ด้วยการยืนยันหลักฐานว่า “อาจารย์ก็เทศน์ในเรื่องนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา”

อาจารย์ท่านหนึ่งที่ร่วมในวงสนทนาเลยรีบรวบรัดตัดความก่อนที่การสนทนาจะเลยเถิดออกนอกประเด็นว่า “จุดประสงค์ของการที่เราทำงานในชีวิตประจำวันของเราก็เพื่อที่จะเป็นที่สรรเสริญพระเจ้า”

จุดประสงค์การทำงานในชีวิตประจำวันของเราเพื่อสรรเสริญพระเจ้าหรือ? คำตอบนี้กระตุกต่อมความคิดความเชื่อของเราได้แรงทีเดียว คนหนึ่งในกลุ่มพูดออกมาเลยว่า “ใช่ ดิฉันก็เคยคิดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่เช้านี้ลืมไป” หลายคนมาพูดกับผมหลังเสร็จสิ้นการสนทนากลุ่มว่า ความคิดนี้กระตุ้นให้เขาต้องกลับมาคิดทบทวนในเรื่องนี้

สำหรับผมแล้ว การทบทวนถึงจุดเชื่อจุดยืน และ มุมมองเกี่ยวกับการทำงานในชีวิตประจำวันของเรานี้มีอิทธิพลต่อชีวิต วิธีคิด ความเชื่อ และการกระทำของเราอย่างมาก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งความเชื่อ การดำเนินชีวิต และการงานที่เราทำและความรับผิดชอบในชีวิต เพราะช่วยให้เราได้ตระหนักชัดว่า การงานต่างๆ ที่เราทำและรับผิดชอบมิใช่มิติของฝ่ายร่างกายเท่านั้น แต่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องและประสานเป็นเนื้อเดียวกับจิตวิญญาณด้วย

บนรากฐานความเชื่อศรัทธาเช่นนี้ได้เชื่อมโยงให้งานธุรกิจ การบริหารจัดการ การศึกษา การพัฒนาชุมชน การทำงานกับชาวบ้าน การทำอาหาร การทำความสะอาด การเป็นยามหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เกษตรกร พ่อค้า นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น กรรมกร คนรับจ้าง ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา ครู หมอ พยาบาล และ ฯลฯ อาชีพการงานทั้งสิ้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับจิตวิญญาณของเรา

การทำงานในแต่ละวันแต่ละอาชีพแต่ละหน้าที่การงานเป็นการทำงานที่รับผิดชอบต่อผู้คนที่เกี่ยวข้อง และ ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นการกระทำที่รับผิดชอบด้วยความสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าของเราด้วย

ถ้าเราจะเอาจริงเอาจังในความรักและสัตย์ซื่อต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน เราต้องกระตุ้นย้ำเตือนตนเองทุกวันว่า

“วันนี้ฉันจะเป็นครู/อาจารย์ ที่ทำให้เกิดการยกย่องสรรเสริญพระเจ้าอย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะเป็นนักเรียน นักศึกษา เช่นไรที่จะทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้า?”
“วันนี้ฉันจะบริหารโรงเรียน, บริหารโรงพยาบาล, บริหารองค์กรที่ฉันรับผิดชอบ, ที่ทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้าได้อย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะตรวจและรักษาผู้ป่วย และบริการรับใช้คนไข้และญาติ จนเกิดการสรรเสริญพระเจ้าอย่างไร?”
“วันนี้ฉันจะทำธุรกิจอย่างไรที่ทำให้เกิดการสรรเสริญพระเจ้า?”
“วันนี้ฉันจะบริหารบ้านเมือง ปกครองประเทศ ดูแลประชาชนในท้องถิ่นอย่างไรที่ทำให้พระเจ้าได้รับการสรรเสริญ?” ... ฯลฯ ...

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการงานในแต่ละวัน ให้เรามีเวลาที่จะสนทนากับพระเจ้า มีเวลาที่จะประเมินผลชีวิตวันนี้ร่วมกับพระองค์ ว่าชีวิตของเราเป็นที่สรรเสริญพระเจ้ามากน้อยแค่ไหน? ทำอะไรอย่างไรที่นำมาซึ่งการสรรเสริญพระเจ้าอย่างชื่นชมยินดี ทำอะไรอย่างไรที่ทำให้พระเจ้าถูกลบหลู่ดูถูก หรือ สบประมาท มีอะไรที่เราเสียใจที่ได้ทำลงไป ขอพระเจ้าชี้นำว่าควรจะทำอย่างไรในวันใหม่ เราต้องการกำลังในด้านใดเพื่อชีวิตการงานที่ทำจะนำไปสู่การสรรเสริญพระเจ้า

มาร์ค รุสเซล (Mark Russell) ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “Our Souls at Work” ขออนุญาตแปลตามใจคิดว่า “จิตวิญญาณของเราในสนามงาน” ที่ให้มุมมองและสติปัญญามากมายสำหรับ “ผู้เชื่อในสนามงานธุรกิจ” และเป็นบทความที่นำเสนอในงานสัมมนาของนักธุรกิจคริสเตียน ที่จัดโดย วิทยาลัยบริหารและการจัดการเยล

Dave Gibbons ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้และนักกิจกรรมสังคม ได้เขียนในบทนำพอสังเขปได้ว่า ...เมื่อเราทำการงานในชีวิตประจำวันอย่างดี ด้วยความรับผิดชอบนั้นเป็นการสะท้อนพระลักษณะของพระเจ้าผ่านการงานที่เรากระทำ สะท้อนถึงความดีและพระเมตตาของพระองค์ให้คนรอบข้างได้เห็นและสัมผัสถึงคุณค่าอันแท้จริง ดังนั้นงานที่เราทำจึงเป็นการนมัสการพระองค์ ไม่มีเส้นแบ่งเขตระหว่างความเชื่อศรัทธาและการทำงาน การทำงานคือการสำแดงออกถึงชีวิตของเราในพระเยซูคริสต์ การที่พยายามแบ่งแยกความเชื่อศรัทธาอออกจากภารกิจการงานที่เราทำ ก็เป็นเหมือนเราพยายามแยก “ชีวิต” ออกจาก “การกระทำ” ผู้คนจะรู้ว่าเราเป็นคนเช่นไรได้อย่างไร ถ้ามิได้พิจารณาจากการกระทำของเรา?

ดังนั้น ชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธาของเรา กับ การกระทำกิจการงานของเรา ต้องเป็นเนื้อเดียวกันที่มุ่งไปสู่แผ่นดินของพระเจ้าอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และอุทิศทั้งชีวิต

พระธรรมภาวนา

สดุดี 104:23-24
23มนุษย์ก็ออกไปทำงานของเขา ไปทำภารกิจของเขาจนเวลาเย็น 24ข้าแต่พระเจ้า พระราชกิจของพระองค์มากมายจริงๆ พระองค์ทรงสร้างการงานนั้นทั้งสิ้นด้วยพระปัญญา แผ่นดินโลกมีสิ่งที่ทรงสร้างเต็มหมด

สุภาษิต 16:3
จงมอบงานของเจ้าไว้กับพระเจ้า และแผนงานของเจ้าจะได้รับการสถาปนาไว้

สุภาษิต 16:9
ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา แต่พระเจ้าทรงนำย่างเท้าของเขา

สุภาษิต 19:21
ในใจของมนุษย์มีแผนงานเป็นอันมาก แต่พระประสงค์ของพระเจ้านั่นแหละจะดำรงอยู่ได้

มัทธิว 9:8
เมื่อประชาชนเห็นดังนั้นเขาก็ตระหนกตกใจ แล้วพากันสรรเสริญพระเจ้า ผู้ได้ทรงประทานสิทธิ อำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์

มัทธิว 5:16
ท่านทั้งหลายก็เหมือนกับตะเกียง จงส่องสว่างแก่คนทั้งปวง เพื่อว่าเมื่อเขาได้เห็นความดีที่ท่านทำ เขาจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้ทรงอยู่ในสวรรค์

24 ตุลาคม 2553

เส้นทางที่คนอื่นไม่เดิน

3พระองค์จึงเสด็จออกจากแคว้นยูเดียและกลับไปยังแคว้นกาลิลีอีก
4พระองค์จำต้องเสด็จผ่านแคว้นสะมาเรีย
(ยอห์น 4:3-4)

ชาวยิวที่เคร่งครัดเวลาจะเดินทางจากแคว้นยูเดียไปยังกาลิลีพวกเขาจะไม่เดินผ่านสะมาเรีย เพราะแคว้นสะมาเรียเป็นที่อยู่อาศัยของชาวสะมาเรียที่พวกยิวรังเกียจ นอกจากพวกยิวจะไม่ชอบคนต่างชาติแล้วพวกเขายังรังเกียจคนสะมาเรีย ทั้งๆ ที่ชาวสะมาเรียนเดิมมีเชื้อชาติยิวแต่ไปแต่งงานกับคนต่างชาติจึงกลายเป็นชาวยิวเลือดผสม และถือว่านี่เป็นการกระทำผิดต่อพระบัญญัติของพระเจ้า ถ้าชาวยิวที่เคร่งครัดจะต้องเดินทางจากยูเดียไปกาลิลีหรือ เดินทางจากกาลิลีไปยูเดียเขาจะเลี่ยงที่จะเดินผ่านแคว้นสะมาเรียโดยเด็ดขาด แต่อุตส่าห์เดินข้ามแม่น้ำจอร์แดนไปฝั่งขวา แล้วเดินทางเรียบชายฝั่งจนถึงจุดที่ตนต้องการจะข้ามมาฝั่งซ้ายของจอร์แดนที่เป็นดินแดนของแค้วนกาลิลีหรือยูเดีย ทั้งนี้เพราะพวกเขาไม่ต้องการมีส่วนเกี่ยวข้อง สัมพันธ์ หรือสัมผัสกับพวกสะมาเรียคนยิวที่เลือดไม่บริสุทธิ์อันเป็นพวกที่พึงรังเกียจ (ดูความเป็นมาได้จาก อพยพ 34:15-16; เฉลยธรรมบัญญัติ 7:1-4)

ในพระธรรมยอห์นตอนนี้ ได้บันทึกไว้ว่า “พระองค์จำต้องเสด็จผ่าน” ในที่นี้ผู้บันทึกพระกิตติคุณยอห์นมิได้บอกถึงสาเหตุ หรือ เหตุผลว่าทำไมพระเยซูคริสต์และสาวกต้องเสด็จผ่านสะมาเรีย แต่พระองค์ได้เดินไปในเส้นทางที่ “คนยิวเคร่งครัดปกติ” จะไม่ทำกันเช่นนี้ ถ้ามองเพียงผิวเผินพระเยซูคริสต์และสาวกไม่ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติของพวกยิวในเวลานั้น กลายเป็นพวก “แหกกฎ” “ไม่ทำตามระเบียบ” ทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำกัน

มุมมองในเวลานั้นจะมองดูพระเยซูและสาวกว่า พระองค์สอนและกระทำที่สวนทางกับธรรมเนียมปฏิบัติของยิวในเรื่องคนต่างชาติ และ เรื่องของคนยิวเลือดผสม เพราะพระองค์กลับยอมรับคนสะมาเรีย เราได้เห็นว่า เมื่อทรงสอนด้วยอุปมาพระองค์ทรงให้คนสะมาเรียเป็น “ตัวเอก ตัวดี” ในคำอุปมานั้น เช่น อุปมาเรื่อง “สะมาเรียผู้มีใจเมตตา” (ลูกา 10:25-37) และเราสามารถพิจารณาจากพฤติกรรมของพระองค์ เช่น เรื่องราวที่พระองค์สนทนากับหญิงสะมาเรียที่ข้างบ่อน้ำ (ที่เมืองสิคาร์ แค้วนสะมาเรีย: ยอห์น 4:6-7) พระองค์ทรงรักษาโรคให้แก่คนต่างชาติเหล่านี้ ทรงเรียกให้ลูกของหญิงต่างชาติฟื้นจากความตาย(ลูกา 7:11-17) พระองค์กลับมีมุมมองคนสะมาเรียที่แตกต่างกันคนละมุมมองพวกพวกยิวทั่วไป พระองค์ทรงมองว่านอกจากพวกสะมาเรียเป็นคนที่พระเจ้าทรงสร้าง เป็นคนที่คุณค่า ศักดิ์ศรี และเป็นลูกของพระเจ้าด้วยแล้ว พระองค์ยังมีจุดประสงค์แน่วแน่คือนำ ข่าวดี และ ความรอด จากพระเจ้ามาถึงชีวิตของชาวสะมาเรียและคนต่างชาติด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด ยอห์นบันทึกไว้ว่า พระเยซู “จำต้อง” เดินทางแคว้นสะมาเรียในครั้งนี้อย่างจงใจ

พระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระเจ้าในสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น ทรงหยุดข้างถนนและทักทายกับศักเคียสคนเก็บภาษี แล้วขอไปกินข้าวในบ้านของเขา พระองค์กินและดื่มกับคนที่สังคมตีตราว่า “บาปสกปรก” ที่ผู้นำศาสนาไม่พึงที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ (มาระโก 2:15-17) พระองค์เปิดโอกาสให้กับหญิง “ชั่ว” เอาน้ำตาล้างเท้าของพระองค์ แล้วเช็ดด้วยผมของนาง และจูบเท้าของพระเยซู แล้วชโลมด้วยน้ำหอมราคาแพง (ลูก 7:37-38) พระองค์เสี่ยงต่อการถูกตีตราว่าเป็นคนสกปรกเพราะทรงยื่นพระหัตถ์แตะต้องคนโรคเรื้อนเพื่อรักษาพวกเขาให้หายจากโรคเรื้อน (มัทธิว 8:2-4) และที่สำคัญกว่านั้นอีกคือพวกเขาจะสามารถกลับสู่บ้านและสังคมของเขาอย่างไม่ถูกต้องห้าม กีดกัน ตำหนิต่อไป เราจะเห็นชัดเจนว่าพระเจ้ามีพระประสงค์ให้พระเยซูคริสต์กระทำพระราชกิจของพระองค์ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมและความเชื่อถือคนในและสังคมในเวลานั้น

การเป็นคริสเตียนต้องไม่ยอมให้ธรรมเนียมปฏิบัติมาครอบงำความคิดความเชื่อและการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา การเป็นคริสเตียนไม่ควรให้กฎระเบียบที่มนุษย์สร้างขึ้นมีอำนาจเหนือการคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตประจำวันของเรา

กฎธรรมเนียมปฏิบัติที่มนุษย์สร้างขึ้นต้องไม่ขัดแย้ง ขัดขวาง หรือมีอำนาจเหนือการทรงนำ พระประสงค์และน้ำพระทัยของพระเจ้า เมื่อคริสเตียนต้องเลือกควรตัดสินใจเลือกพระประสงค์ของพระเจ้าในแต่ละวันก่อนแม้ว่าจะขัดกับสิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพราะบ่อยครั้งที่ผู้นำศาสนาบางคนจะอ้างการทำตามธรรมเนียมปฏิบัติเพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญพระเจ้า (ถ้ากระทำตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เขาตีตราหรือกำหนดขึ้น) แต่ละเลยความสนใจว่าในเหตุการณ์นั้น หรือ สถานการณ์นั้นพระเจ้าจะทรงกระทำพระราชกิจอะไร หรือ พระเจ้าจะทรงใช้เราแต่ละคนในการทำอะไรตามพระประสงค์ของพระองค์

อย่าให้กฎระเบียบ หรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของคริสตจักร องค์กรคริสเตียน ลัทธินิกาย ยิ่งใหญ่กว่าพระประสงค์ของพระเจ้า และ พระราชกิจของพระองค์ในเวลานั้น แต่ให้กฎระเบียบ ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือ แนวทางปฏิบัติสอดคล้องและรับใช้พระประสงค์และพระราชกิจของพระเจ้าในสถานการณ์นั้นๆ

คริสเตียนต้องกล้าที่จะคิดและปฏิบัติออกนอกกรอบที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้น และคริสเตียนกล้าที่จะคิด ตัดสินใจ และกระทำในสิ่งต่างๆ โอกาสต่างๆ และสถานการณ์การต่างๆ ที่สอดคล้องตามพระประสงค์และพระราชกิจของพระเจ้าในเวลานั้นๆ

ถ้าเรายอมให้พระประสงค์และพระราชกิจทรงนำและทรงใช้เราแต่ละวันในชีวิตของเรา เราจะเห็นพระหัตถ์ของพระเจ้า พระพรของพระองค์ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในชีวิตของเราแต่ละคน และในชุมชนที่คนๆ นั้นดำเนินชีวิตด้วย

ยอห์น บันทึกต่อไปว่า ทำไมพระเยซูคริสต์จึงจำเป็นต้องเดินทางผ่านแคว้นสะมาเรีย เพราะที่นั่นพระองค์จะพบกับหญิงสะมาเรียคนหนึ่งที่คนยิวไม่พึงพบพูดคุยด้วย นอกจากเป็นคน “เลือดผสม ไม่บริสุทธิ์” แล้ว ยังเป็นสตรีที่พวกผู้ชายดูถูก ยิ่งกว่านั้น สตรีคนที่พระเยซูพบและสนทนาด้วยเป็นคนที่ล้มเหลวในชีวิตครอบครัวเพราะเธอแต่งงานมาครั้งแล้วครั้งเล่า ล้มเหลวในชีวิตแต่งรวมถึงผู้ชายคนปัจจุบันที่เธออยู่ด้วย มิใช่ชายยิวรังเกียจเท่านั้น แต่ชาวเมืองสะมาเรียก็ยังดูถูกเธออีกด้วย แต่พระเยซูคริสต์ต้องการเดินผ่านแคว้นสะมาเรีย เพื่อนำข่าวดีมาถึงเธอ และเธอยังนำข่าวดีไปยังชาวสะมาเรียคนอื่นๆ อีกด้วย (ยอห์น 4:39-42)

พระเจ้าทรงมีพระประสงค์ในชีวิตของเราแต่ละคน พระองค์ต้องการที่จะให้ชีวิตประจำวันของเราเข้าถึงชีวิตของคนอื่นๆ เพื่อนำข่าวดีและพระพรเข้าสู่ชีวิตของคนเหล่านั้น เพื่อนำคำตอบเข้าถึงชีวิตของคนที่มีชีวิตสับสนวุ่นวายและสิ้นหวัง นำกำลังใหม่เข้าในชีวิตของคนอ่อนเปลี้ย นำชีวิตที่มีความหวังเข้าถึงชีวิตที่สิ้นหวัง เพื่อยื่นชีวิตของเราเข้าไปยังกลุ่มคนที่ถูกทอดทิ้ง รังเกียจ ไร้ค่าในสายตาของคนทั่วไปและสังคม เฉกเช่นที่พระคริสต์ที่ทรงดำเนินเข้าไปในชีวิตของหญิงสะมาเรียคนนั้น

พระเยซูคริสต์ทรงไปในที่ที่ผู้คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเช่นใดก็ตาม พระเยซูคริสต์มิเคยสอนว่าให้นำคนมาในคริสตจักร แต่พระองค์ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้คริสตจักรเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่ในโลกนี้ เพื่อนำข่าวดี พระพร เข้าไปผู้คนเหล่านั้น เพื่อที่แต่ละคนจะมีชีวิตใหม่ คนใหม่ ที่ได้รับการทรงเปลี่ยนแปลงจากพระองค์

ตอนนี้น่าจะกลับไปอ่านยอห์น บทที่ 4 อีกครั้งหนึ่ง

19 ตุลาคม 2553

พระกิตติคุณกับการแตกแยก

“...51ท่านทั้งหลายคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดสันติภาพในโลกหรือ เราบอกท่านว่า มิใช่ แต่จะให้แตกแยกกันต่างหาก 52ด้วยว่าตั้งแต่นี้ไปห้าคนในเรือนหนึ่งก็จะแตกแยกกัน คือสามต่อสองและสองต่อสาม 53พ่อจะแตกแยกจากลูกชาย และลูกชายจะแตกแยกจากพ่อ แม่จากลูกสาว และลูกสาวจากแม่ แม่ผัวจากลูกสะใภ้และลูกสะใภ้จากแม่ผัว”
(ลูกา 12:51-53)

บางคนคิดว่า พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจที่ดีต่อทุกคน ดังนั้น หลายคนเมื่อคิดถึงพระเจ้าก็คิดถึงการได้พระพรจากพระองค์ หรือเมื่อมีความต้องการความช่วยเหลือก็จะร้องทูลต่อพระองค์ เวลาใดที่ทุกอย่างในชีวิตเป็นไปด้วยดีก็ไม่จำเป็นที่จะรบกวนพระองค์ จนลืมพระองค์ไปชั่วเวลาหนึ่ง แต่นั่นมิใช่แนวทางความสัมพันธ์กับพระเจ้าในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ พระเจ้าทรงเป็นความรัก ทรงเมตตา และทรงเอาใจใส่ แต่ในเวลาเดียวกันพระองค์ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ถูกต้อง เกลียดชังสิ่งที่ชั่ว สำหรับคนที่แสวงหาแผ่นดินของพระองค์จะรักพระองค์ แต่คนอื่นๆ จะต่อต้านและไม่ยอมรับการครอบครองของพระองค์ และยังเกลียดชังคนที่รักพระองค์อีกด้วย ทั้งนี้ไม่ยกเว้นคนในครอบครัวของคนที่รักพระเจ้าด้วย

ดังนั้น พระเยซูคริสต์ทรงเตรียมตัวเตรียมใจเหล่าสาวกของพระองค์ให้พร้อมรับสถานการณ์การข่มเหงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนที่จะมีคริสตจักรด้วยซ้ำ และสิ่งนี้จะเกิดชัดเจนและรุนแรงในครอบครัว แต่พระเจ้าทรงเป็นพระบิดาผู้ยิ่งใหญ่ และพระองค์ทรงเป็นผู้ตั้งสถาบันครอบครัว และเมื่อมีคนที่กบฏต่อต้านกระทั่งต่อสู้ความรักของพระองค์ ปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ เขาก็จะปฏิเสธ/ตัดขาดแม้แต่ญาติตามสายเลือดของตนเองที่รักพระเยซูคริสต์ ในที่นี้มิได้หมายความว่าพระเยซูคริสต์เป็นตัวปัญหา แท้ที่จริงแล้วพระองค์ประสงค์ที่จะนำศานติสุขของพระองค์ให้มาถึงทุกคน

ก่อนพระคริสต์จะเข้าไปในครอบครัว ผู้คนในครอบครัวต่างผสมปนเปอยู่ด้วยกัน ทุกคนดูเหมือนกัน ไม่มีใครที่จะคิดจะต่อต้านกัน แต่เมื่อพระคริสต์เสด็จเข้ามาในครอบครัว พระองค์เป็นแสงสว่างที่สาดส่องเข้าไปในชีวิตผู้คนในครอบครัว แสงสว่างของพระคริสต์ส่องเข้าในจิตใจความคิดของผู้คน แสงสว่างนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อชีวิตของผู้คนในครอบครัวอย่างที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ต่างมองเห็นความมืด จุดบอดในชีวิตและในความสัมพันธ์ และจะมีบางคนที่ปกป้องตนเอง ปฏิเสธความจริงที่มองเห็นเพราะแสงสว่างนั้น ในขณะที่บางคนยอมรับและเปิดใจเปิดชีวิตรับการเปลี่ยนแปลง คนสองกลุ่มนี้ตอบสนองต่อสิ่งท้าทายด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้น กลุ่มที่ปฏิเสธความจริงที่แสงสว่างเปิดเผยนอกจากจะต่อต้านแสงสว่างแล้ว เขายังตั้งตนเป็นปรปักษ์กับผู้เปิดชีวิตยอมรับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย

เหตุการณ์ในทำนองเดียวกันยังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ หลายคนที่ตัดสินใจรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ต้องเผชิญหน้าต่อการท้าทายของครอบครัว หลายคนไม่มีทางเลือกอื่น พวกเขายืนหยัดความเชื่อในพระคริสต์ เขาไม่ต้องที่จะ “หันกลับ” หรือ “ถอยหลัง” เพราะเขาได้พบสัจจะความจริงในชีวิต พวกเขาได้รับประสบการณ์กับความเป็นไทในชีวิต หน้าที่ของพวกเขาคือการสำแดงชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเยซูคริสต์ หาโอกาสที่จะสื่อสารข่าวดีของพระเยซูคริสต์ต่อผู้ที่ต่อต้านหรือข่มเหง อดทนด้วยรักและถ่อม ถ้าเป็นไปได้แล้ว พวกเขาจะอยู่ร่วมและทำตัวด้วยสงบสันติกับทุกคนและในทุกเหตุการณ์ และที่สำคัญแล้วเขาจะไม่ทำการแก้แค้น และกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายตอบสนองการกระทำที่ชั่ว(โรม 12:18-19) อย่างไรก็ตาม ให้เราอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเรา(ลูกา 6:27-28) ที่สำคัญคือให้มีชีวิตที่เป็นแสงสว่างแห่งพระคริสต์(มัทธิว 5:16) เพื่อคนเหล่านั้นจะได้เห็นพระคริสต์ผ่านชีวิตของเรา และเราไม่ควรคำสอนบนภูเขาของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “เมื่อเขาติเตียน ข่มเหง และว่าร้ายท่านทั้งหลายเป็นความเท็จเพราะเราท่านก็เป็นสุข”(มัทธิว 5:11-12) ทั้งนี้เพราะว่าเราไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ และคนเหล่านั้นมิได้ต่อสู้เรา แต่เขากำลังต่อสู้กับพระคริสต์ ดังนั้น สงครามชีวิตครั้งนี้พวกเหล่านั้นกำลังทำสงครามกับพระองค์

เหตุการณ์เช่นนี้มิได้เกิดขึ้นในกรณีของผู้เชื่อใหม่เท่านั้น แต่อาจจะเกิดการต่อต้านขัดขวางท่านในที่ทำงาน ในสังคมชุมชน หรือแม้แต่ในคริสตจักร ทั้งนี้เพราะความคิดความเห็นหรือการดำเนินชีวิตของท่านบนวิถีแห่งกางเขนของพระเยซูคริสต์ ได้สาดส่องสว่างเข้าไปในความมืด ทำให้เห็นความจริง ความยุ่งเหยิง และ ฯลฯ ที่ทำให้บางคนที่นี้นั้นไม่พอใจ ไม่ต้องการให้ความจริงเป็นที่ประจักษ์ ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องการเป็นคนผิด ไม่ต้องการเสียหน้า ไม่ต้องการต้องเจ็บปวดในชีวิต ไม่ต้องการเสียโอกาส ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ ในสถานการณ์เช่นนั้นท่านต้องเผชิญหน้ากับการท้าทาย การต่อต้าน การสำแดงพระคริสต์บางครั้งแทนที่จะสร้างสุขศานติ แต่นำมาซึ่งความขัดแย้ง การต่อต้านต่อสู้ ถึงขนาดการทำลายทำร้ายกัน

ในเวลาเช่นนี้เราต้องการความรักเมตตาของพระคริสต์อย่างมาก เราไม่มีความประสงค์จะทำร้าย ทำลายใคร แต่อำนาจแห่งความชั่วจะไม่ยอมให้แสงสว่างของพระคริสต์มาแย่งพื้นที่ชีวิตของผู้คนไปจากมัน มันจึงประกาศสงคราม จึงเกิดการต่อต้าน ต่อสู้ และในที่สุดทำร้ายและทำลาย เราควรมีความอดทน เชื่อและไว้วางใจในพระคริสต์ และการสำแดงแสงสว่างของพระคริสต์อย่างต่อเนื่องคือสิ่งที่เราสามารถกระทำได้ ส่วนการศึกสงครามแห่งชีวิตจิตวิญญาณในครอบครัว ในที่ทำงาน ในคริสตจักร ในชุมชน/สังคม เป็นพระราชกิจของพระคริสต์เจ้า พลังแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เท่านั้นที่จะต่อสู้กับอำนาจแห่งความชั่วร้ายเหล่านี้ได้

เราทุกคนต้องการที่จะให้ผู้คนรายรอบชอบและรักเรา
เราจะรู้สึกไม่สบายใจ หรือ เจ็บปวด เมื่อคนข้างเคียงไม่ยอมรับเรา หรือ บางครั้งเราได้รับการต่อต้าน
เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น
บางคนตอบโต้กลับเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า “ใครผิดใครถูก”
บางคนเปลี่ยน “จุดยืน” เพื่อประนีประนอมกับผู้ต่อต้าน
บางคนยืนหยัด “ความเชื่อศรัทธา” ในชีวิตด้วยความถ่อม ศานติ รัก อดทน และเสียสละ

ท่ามกลางความขัดแย้ง การต่อต้าน และการต่อสู้
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายมิได้อยู่ที่การแพ้การชนะ
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายมิได้อยู่ที่ใครผิดใครถูก
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อผู้คนจะได้เห็นและสัมผัสสัจจะ ความจริง ความรักของพระคริสต์
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อทุกคนจะได้เป็นไทในพระคริสต์ และ รอดในพระคุณของพระองค์
ทั้งสิ้นนี้เป้าหมายอยู่ที่ เพื่อแผ่นดินของพระเจ้าจะมาตั้งอยู่
น้ำพระทัยเป็นอย่างไรในสวรรค์ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก