29 เมษายน 2563

สงครามทางจิตวิญญาณในอาชีพการงาน

ท่านเคยประสบพบเจอกับ “สงครามในอาชีพการงานที่ทำ” ไหม? ผมพบอยู่บ่อยครับ!

ในฐานะคริสตชนคนทำงานเราเชื่อว่า “สงครามในอาชีพการงาน” มันไม่ใช่การสู้รบปรบมือระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือ คนในทีมงานเท่านั้น แต่เรามองลึกถึงผู้ที่ “ชักใย” อยู่เบื้องหลังในความขัดแย้งหรือสงครามนั้นคือใครกันแน่?

ซาตาน คือคนชักใยเบื้องหลังที่สำคัญ ที่ว่าสำคัญเพราะมันไม่ได้ลงมือจัดการหรือปรากฏตัวของมันชัดเจน แต่มันคือผู้สร้างความขัดแย้งตัวจริง สร้างความท้อแท้ หมดกำลังใจ จนถึงกับยอมแพ้ มารทำงานของมันผ่านผู้คนรอบข้างในชีวิตของเรา ทำให้เรามองเป็นว่า เรากำลังขัดแย้งกับบางคนที่ทำงานด้วยกัน เช่น กับเจ้านายกับลูกน้อง...   ซาตานมันทำงานผ่านคนต่าง ๆ โดยใช้ความอ่อนด้อย ความเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบ และ ฯลฯ ของผู้คนเหล่านั้น เพื่อทำให้เราสิ้นหวัง หมดกำลังใจในชีวิตการงานของเรา

ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องรู้เท่าทัน และ ตระหนักชัดถึงความจริงของสงครามทางจิตวิญญาณในอาชีพการงานของเรา  ให้เราถอดบทเรียนรู้จากเรื่องราวของโยบในพระคัมภีร์ ซึ่งมีบทเรียนรู้สำคัญในเรื่องนี้ 7 ประการด้วยกันคือ ...

1. การครอบครองของพระเจ้ามีอำนาจเหนือกว่ามารซาตานในสงครามทางจิตวิญญาณ

ในเรื่องนี้ ผู้ที่นำเรื่องของโยบขึ้นมาคือพระเจ้ามิใช่ซาตาน พระเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระปัญญา พระองค์จะต้องมีเหตุผลที่นำเรื่องนี้สู่ความขัดแย้ง

2. แม้แต่คนชอบธรรมก็ยังต้องเผชิญหน้ากับการต่อสู้ (สงคราม) ที่น่ากลัว  

ปัจจุบันนี้หลายธรรมมาสน์เทศนาที่ปฏิเสธสัจจะประการนี้ พระคัมภีร์มิได้เปิดเผยความจริงเบื้องหลังที่พระเจ้ายอมให้ซาตานกระหน่ำโจมตีคนของพระองค์จนต้องได้รับความเจ็บปวดอย่างมากในชีวิต เพียงกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของโยบเท่านั้น

3. ซาตานลงมือทำร้ายทำลายอย่างล้างผลาญ 

เราเห็นสิ่งนี้ในบทนำของเรื่อง ซาตานทำลายล้างฝูงสัตว์ทั้งสิ้นของโยบ ทำลายคนรับใช้ของโยบ และคนในครอบครัวของโยบ ซาตานทำการทำลายล้างทุกอย่าง

4. ซาตานสามารถทำได้แค่ในขอบเขตที่พระเจ้าอนุญาตเท่านั้น  

ซึ่งถ้าพระเจ้ายอมให้ซาตานเอาชีวิตของโยบ มันก็คงฆ่าทำลายชีวิตของโยบอย่างแน่นอน แต่ซาตานไม่สามารถทำนอกขอบเขตที่พระเจ้าได้จำกัดไว้  

5. ซาตานรู้ถึงความจำกัดของมันเอง  

ซาตานรู้ว่ามันไม่สามารถที่จะทำนอกเหนือที่พระเจ้ายอมให้มันทำ มันรู้เขตแดนกำหนดว่ามันทำได้แค่ไหน  “พระองค์ทรงล้อมรั้วป้องกันเขา(โยบ)และครอบครัวกับทรัพย์สินทุกอย่างของเขาไม่ใช่หรือ? (โยบ 1:10 อมธ.)   

6. ซาตานท้าทายในเรื่องการรู้ลึกซึ้งถึงจิตใจของมนุษย์ของพระเจ้า 

เมื่อพระเจ้าพูดถึงโยบว่า “ทั่วโลกนี้ไม่มีใครเหมือนเขา(โยบ) เขาเป็นคนดีเพียบพร้อม เที่ยงธรรม ยำเกรงพระเจ้า และหลีกห่างจากความชั่ว” (1:8 อมธ.) ซาตานพูดย้อนกลับพระเจ้าว่า “โยบยำเกรงพระเจ้าโดยไม่หวังผลประโยชน์อะไรเลยหรือ?” (ข้อ 9) “พระองค์ทรงล้อมรั้วป้องกันเขาและครอบครัวกับทรัพย์สินทุกอย่างของเขาไม่ใช่หรือ? พระองค์ทรงอวยพรกิจการทุกอย่างที่เขาทำ ดังนั้นฝูงสัตว์ทั้งหลายของเขาจึงขยายทั่วแผ่นดิน ลองพระองค์ยื่นพระหัตถ์ออกทำลายทรัพย์สินทุกอย่างของเขาสิ รับรองว่าเขาจะแช่งด่าพระองค์ต่อหน้าเลยทีเดียว” (ข้อ 10-11) ซาตานมันท้าทายพระเจ้าว่า พระเจ้าไม่รู้ถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจที่แท้จริงของโยบ แต่มันรู้ได้อย่างลุ่มลึกกว่าพระเจ้า

7. ซาตานทำงานของมันผ่านคนอื่นที่พยายามทำให้คนที่สัตย์ซื่อของพระเจ้าท้อแท้ ผิดหวัง หมดกำลังใจ จนยอมพ่ายแพ้  

ในเรื่องราวของโยบ บุคคลแรกที่ซาตานทำงานของมันคือทำผ่านภรรยาของโยบ ภรรยาของโยบกล่าวกับโยบว่า “ท่านยังจะซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้าอยู่อีกหรือ? จงแช่งด่าพระเจ้าแล้วก็ตายเสียเถอะ!” (2:9 อมธ.) จากนั้น ซาตานก็ทำงานผ่านกลุ่มเพื่อนที่มีปัญหา(ที่ภายนอกมีภาพลักษณ์ว่ามีปัญญา)ของโยบ  

บางทีประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับเราท่านทุกคน ชัยชนะในสงครามทางจิตวิญญาณไม่สามารถที่จะปฏิเสธ “ความเจ็บปวด” ในชีวิตจากการทำสงครามการงาน แต่ความเจ็บปวดในชีวิตดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการยกย่อง สรรเสริญ และนมัสการพระเจ้า เป็นการที่เราไว้วางใจในพระเจ้าทุกหนทางอย่างไร้เงื่อนไขท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จงสรรเสริญพระเจ้าทั้งในยามทุกข์ทรมานที่ได้รับจากการต่อสู้ และ ปฏิเสธที่จะกล่าวร้ายต่อพระเจ้า  “ในเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ โยบไม่ได้ทำบาปโดยกล่าวโทษพระเจ้าเลย” (1:22)

ให้เรารู้เท่าทันว่า องค์สูงสุดที่ยอมให้ศัตรูจู่โจมทำร้ายเรา พระองค์คือองค์สูงสุดที่สู้ร่วมกับเรา จงไว้วางใจและเชื่อฟังพระองค์ จงก้าวทุกย่างก้าวในการต่อสู้ศัตรู ที่ต้องการทำให้เราสิ้นหวัง หมดกำลังใจในชีวิต จนต้องพ่ายแพ้ในชีวิต แล้วยุให้เราหันกลับไปต่อสู้กับพระผู้ทรงสร้างเราในที่สุด

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


27 เมษายน 2563

ในช่วงวิกฤติ...ทีมงานคาดหวังอะไรจากผู้นำ

เมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 ทีมงานคาดหวัง 3 สิ่งจากผู้นำของเขา..

1. ให้ “มุมมอง” ต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

คนส่วนมากในตอนนี้บริโภคข่าวสารได้ทั้งวัน และรู้สึกทุกข์ใจ ห่วงกังวลจากข่าวร้ายที่ตนเสพมา ผู้นำที่ดีจะไม่ปล่อยให้ทีมงานเสพข่าวจำนวนมากเท่านั้น แต่จะช่วยให้มุมมองต่อสถานการณ์ของปัญหาเหล่านั้นว่าเราจะมองด้วย “มุมมอง” ใด

แม้ว่า วิกฤติโควิด 19 มิใช่วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยผ่านพบมา แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องใส่ใจ เราต้องมีมุมมองที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นก็นำข้อมูล ความรู้ รายละเอียดที่ได้รับมาประกอบหนุนเสริมเป็นแหล่งปัญญาสำหรับคนในทีมงาน ไม่ว่าบางคนจะโน้มหนักไปทางสุดขั้วด้านไหนก็ตาม   เช่น บางคนที่รู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เรื่องใหญ่อะไรมากมาย หรือ บางคนที่รู้สึกเหมือนว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟ้ากำลังถล่มทลายทับลงมาทีเดียว ผู้นำควรให้มุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเผชิญ

2. การประยุกต์ใช้ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ชัดเจน

ทีมงานส่วนมากในภาวะวิกฤติเช่นนี้ คาดหวังวิธีการ และ ขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนจากผู้นำของเขา ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนกำลังสับสน วุ่นวายใจ เกิดความไม่มั่นใจ สั่นคลอน หวั่นไหว การช่วยทบทวนถึงสิ่งพื้นฐานของวิธีการ ขั้นตอนต้องปฏิบัติในวิกฤตินั้น ๆ มีอะไรบ้าง เช่น

ในกรณีของวิกฤติโควิด 19 ที่ทีมงานแต่ละคนต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ ในการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งเพื่อที่ตนจะไม่รับเชื้อ หรือ แพร่กระจายเชื้อแก่คนอื่น เช่น  “กินร้อน ช้อนตัว ล้างมือเป็นประจำ” ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ชุมชนพบคนอื่นให้สวมหน้ากากอนามัย วางระยะห่างจากกันและกัน 1-2 เมตร เป็นต้น ความจริงก็คือว่า ความชัดเจนเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สุดที่ผู้นำให้กับทีมงานในภาวะวิกฤติเช่นนี้

3. ให้ความเชื่อและความหวัง ...ต่ออนาคตที่ดีกว่า

นโปเลียน โบนาปาร์ต กล่าวไว้ว่า “ผู้นำคือผู้ให้ความหวัง”

บ่อยครั้ง เราในฐานะผู้นำไม่ได้ให้ความเชื่อและความหวังที่ดีกว่าในอนาคตแก่ทีมงานของเราในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังประสบพบเจอชัดเจนเพียงพอ วิกฤติที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง   สิ่งที่เป็นวิกฤติกลับคลี่คลายเปลี่ยนไปสู่ “วิถีการดำเนินชีวิตปกติใหม่ในทางสังคม” (หรือ ชุดพฤติกรรมใหม่ทางสังคม new normal) ที่ต้องปฏิบัติของสังคมก็ งเป็นสถานการณ์ปกติที่ดีกว่าวันนี้

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวิกฤติประเทศไทยคือ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ในตอนต้นอาจจะตระหนกกลัวไปสักชั่วครู่หนึ่ง แต่หลังจากนั้น คนทุกภาคส่วนเริ่มทยอยเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือกอบกู้สถานการณ์เลวร้ายนั้น ในครั้งนี้เราต้องปรบมือให้ความชื่นชมแก่ทีมงานแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข  ทางสุขภาพ รวมถึง อสม. ทั้งฝ่ายความมั่นคง การปกครอง ภาคธุรกิจ ประชาชนที่ให้ความร่วมมือเก็บกักตนเอง และ การวางระยะห่างทางสังคม   และ ฯลฯ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละความสะดวกสบายชีวิตส่วนตัวเพื่อส่วนรวมที่จะมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้

ผู้นำจะนำการประชุมปรึกษางานออนไลน์อย่างไรดี?

ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่เราต้องวางระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการพบปะชุมนุมทำกิจกรรมใด ๆ รวมถึงการประชุมปรึกษางาน ในหลายแห่งทีมงานจะประชุมปรึกษาพบปะกันทางออนไลน์ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ในฐานะผู้นำทีมงานจะนำการพบปะพูดคุยปรึกษางานกันทางออนไลน์อย่างไร? ข้างล่างนี้เป็นประเด็นหลักปฏิบัติสำคัญสำหรับผู้นำทีมคือ...

1. เริ่มต้นด้วยการใส่ใจในประเด็นส่วนตัวของทีมงานแต่ละคน

เมื่อทีมงานสัมผัสได้ว่าผู้นำใส่ใจ ห่วงใย เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ทีมงานจะรู้สึกมั่นคงในการที่จะมุ่งใส่ใจเกี่ยวกับงานที่ทีมงานจะต้องทำและรับผิดชอบ ให้เริ่มต้นพูดคุยจากเรื่องที่เกี่ยวกับ “สุขภาวะในชีวิตส่วนตัว” ของทีมงานแต่ละคนก่อน แล้วจึงตามด้วย “สุขภาวะในทีมงาน” แล้วจึงลงรายละเอียดในเรื่องภาระการงานของทีม

2. เริ่มเรื่องที่ยาก หนัก ลำบากก่อนเรื่องที่ง่าย

จากประสบการณ์ผมพบว่าการที่เริ่มต้นจากเรื่องที่ยากก่อน หรือเริ่มต้นจากข่าวร้ายก่อน แล้วค่อยไปพิจารณาเรื่องที่ง่าย และ ข่าวดีภายหลังน่าจะช่วยการพูดคุยปรึกษาเป็นไปได้ดีกว่า...เริ่มจากเรื่องยากไปหาง่ายครับ

3. ให้ภาพใหญ่ก่อนลงในรายละเอียดของแต่ละเรื่องแต่ละงาน

ในการพูดคุยปรึกษางานกัน ผู้นำควรช่วยให้ทีมงานเห็น “ภาพใหญ่” ของงานที่ปรึกษาในวันนั้นก่อน เพราะเมื่อทุกคนได้เห็นและเข้าใจภาพใหญ่แล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องแต่ละเรื่องในภาพใหญ่ทุกคนก็จะสามารถช่วยกันใส่รายละเอียดที่เหมาะตามมุมมองนั้น แล้วผู้นำจึงนำข้อเสนอในรายละเอียดของแต่ละคนปรากฏขึ้นบนจอภาพให้ทุกคนได้เห็น   จากนั้นให้เชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นกระบวนการที่จะใช้ดำเนินการ-ปฏิบัติด้วยกันในทีมงานต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


23 เมษายน 2563

เสียงร้องคร่ำครวญ...ในเวลาที่ชีวิตยากลำบาก

เราท่านต่างมีวันที่ยากลำบาก วันที่ชีวิตและความเชื่อถูกท้าทาย ถูกเขย่า สั่นคลอน บางครั้งมันหนักหนาเกินกว่าที่เราจะทนรับมือไว้ได้

วันที่ทุกข์ยากลำบากในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันไป บางครั้งเราพบความเลวร้ายในวันนั้นเรื่องแล้วเรื่องเล่า ดูเหมือนจะไม่จบสิ้น เป็นวันที่เลวร้ายสำหรับเรา

บางครั้งเป็นวันที่เรามีจิตใจที่วอกแวก ไม่สงบ ไม่นิ่ง พบแต่ความสับสนวุ่นวาย แก้ปัญหาจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งไม่หมดไม่สิ้น ในวันนั้น ดูอะไร ๆ มันผิดพลาดไปทั้งหมด หรือไม่ก็เป็นความคิดความรู้สึกที่ถูกครอบงำจากเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็พยายามทำเป็นไม่สนใจที่จะคิดหรือสู้กับความรู้สึกนึกคิดนั้น โดยหวังว่าอาจจะทำให้ความคิดของเราจะได้ไม่วนเวียนติดจั่นในความคิดเหล่านั้น แล้วมันอาจจะไม่เข้ามารบกวนเรา?

แทนที่จะพยายามตอบสนองในวันที่ยากลำบากด้วยวิธีการที่ว่านั้น เราควรใช้เวลาที่ยากลำบากนั้นในการเข้าใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้า เป็นโอกาสที่เราจะพึ่งพิงในพระองค์ และรับพระคุณจากพระองค์มากยิ่งขึ้น ในวันที่ยากลำบากเหล่านั้นเตือนให้เรารู้เท่าทันว่า ในเวลาเช่นนี้เรามีแต่พบกับความสิ้นหวัง และเราตระหนักมากยิ่งขึ้นว่า เราต้องการพึ่งพิงในพระเจ้ามากเพียงใด

และนี่คือคำอธิษฐานในยามที่ยากลำบากในชีวิต

พระบิดาช่วยลูกด้วย ช่วงนี้ลูกเหนื่อยล้า หมดแรง หลาย ๆ สิ่งเกิดขึ้นพร้อมกันจนลูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ลูกถูกเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ท่วมทับ ปั่นจนชีวิตต้องป่วน เหมือนลูกยืนอยู่ท่ามกลางพายุที่พัดโหมรุนแรง ที่พัดกระแทกเข้ามารอบด้านของชีวิต จนลูกไม่สามารถที่จะขยับขับเคลื่อนชีวิตของตนเองได้ แรงกระแทกมันแรงเหลือเกินและเลวร้ายน่ากลัว และถ้าลูกไม่สามารถลุกขึ้นพลิกฟื้นชีวิตลูกจะทำอย่างไรดี?

พระบิดา ลูกแทบจะไม่ได้ละสายตาของลูกจากพระองค์ ลูกทำได้เพียงการร้องทูลขอพระองค์ให้ช่วยลูกด้วย ในวันนี้ขอพระองค์โปรดยื่นพระหัตถ์แห่งพระคุณของพระองค์มายังลูกด้วย โปรดช่วยให้ลูกสามารถเห็นถึงพระหัตถ์ของพระองค์ที่อยู่เหนือลูกในวันนี้ โปรดช่วยให้ลูกตระหนักชัดและระลึกถึงสัจจะความจริงว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้มันจะไม่สามารถเอาชนะการควบคุมและครอบครองของพระองค์ได้  

เมื่อลูกเข้าใกล้และใคร่ครวญว่าพระองค์คือผู้ใด ลูกเกิดความอบอุ่นใจอย่างแปลกประหลาดที่ได้สัมผัสกับความรักเมตตา และ การเอาใจใส่จากพระองค์ พระองค์เท่านั้นที่ลูกมั่นใจถึงความรักอันมั่นคงมิใช่ต่อลูกเท่านั้น แต่ต่อมวลมนุษย์ทั้งหลายที่พระองค์ทรงสร้าง พระองค์ใส่ใจฟังลูก ๆ ของพระองค์ เมื่อลูก ๆ ร้องทูลขอต่อพระองค์ด้วยสุดจิตใจ พระองค์ได้ถ่อมพระองค์ลงยอมลงมาช่วยกอบกู้ไถ่ถอนลูก ๆ ออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่ว พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่รับใช้ช่วยเหลือลูกทุกคนที่พระองค์ทรงสร้าง

พระองค์เท่านั้น ที่เป็นพระเจ้าของลูก พระวจนะของพระองค์บอกว่า พระองค์ทรงเลือกสรรลูกก่อนที่จะสร้างโลกนี้  โดยทางพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ (เอเฟซัส 1:4) และพระองค์ทรงกำหนดให้ลูกได้เป็นลูกของพระองค์ ด้วยความรักของพระองค์ (ข้อ 5) และในพระวจนะเอเฟซัสยืนยันว่า ลูกได้รับการยกโทษจากการล่วงละเมิดต่าง ๆ   ได้รับการกอบกูไถ่ถอนให้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปผิด ด้วยพระคุณอันอุดมของพระองค์ (ข้อ 7)

พระบิดาเจ้า โปรดเมตตาและยกโทษ ในช่วงนี้ลูกตกอยู่ในความตระหนกกลัว และ ว้าวุ่นใจ เพราะขาดความเชื่อ   โปรดเมตตายกโทษลูกด้วยที่ได้แต่บ่นคร่ำครวญถึงความเหนื่อยยาก ขอเมตตายกโทษลูกด้วยที่ไม่ตระหนักชัดว่าพระองค์ทรงอยู่เคียงข้างลูกตลอดเวลา และโปรดเมตตายกโทษลูกด้วยที่มิได้สำนึกถึงฐานะว่าเป็นลูกของพระองค์   และที่แย่กว่านั้น ในช่วงนี้ลูกไปเอาใจจดจ่ออยู่แต่ปัญหาจนมิได้ใคร่ครวญตระหนักถึงสิ่งสำคัญที่มีค่ายิ่งที่พระเยซูคริสต์พระบุตรองค์เดียวของพระองค์ที่ได้กระทำเพื่อลูก

เป็นความจริงที่ทุกวันนี้ที่ลูกมัวเอาเอาใจจดจ่อถึงความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้น และขออธิษฐานทูลขอตามคำกล่าวของเปาโลที่ว่า 

“...ขอพระเจ้าของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราคือพระบิดาผู้ทรงพระสิริทรงให้ลูกทั้งหลายมีจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญาและการสำแดง เพื่อลูกจะรู้จักพระองค์ ขอให้ตาใจของลูกๆสว่างขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าพระองค์ประทานความหวังอะไรแก่ลูกในการทรงเรียกลูกนั้น และรู้ว่ามรดกที่มีศักดิ์ศรีของพระองค์สำหรับพวกธรรมิกชนนั้นบริบูรณ์เพียงไร และรู้ว่าฤทธานุภาพของพระองค์ยิ่งใหญ่มากมายเพียงไรสำหรับลูก ๆ ที่เชื่อนั้น เป็นฤทธิ์เดชเดียวกับการทำกิจอันทรงอานุภาพและทรงพลังของพระองค์” (เอเฟซัส 1:17-19)

ขอพระบิดาโปรดฟังคำทูลขอของลูก โปรดประทานความหวังในข่าวดีของพระเยซูคริสต์แก่ลูกในวันที่ยากลำบากเช่นนี้ โปรดช่วยลูกให้มีกำลังยึดมั่นในพระคุณของพระองค์ ในพลังแห่งฤทธิ์อำนาจของพระองค์ และในพระกำลังของพระองค์

อธิษฐานทูลขอในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



21 เมษายน 2563

วิกฤติ...ชีวิตและพันธกิจคริสตจักร หลังโควิด 19

คำถามหลังโควิด 19 ที่เราต้องช่วยกันตอบ 

จากประสบการณ์ช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด 19 บนโลกใบนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิต รวมถึงชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในประเทศไทยด้วย

ในด้านชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่น ความรู้สึกของผู้นำและสมาชิกคริสตจักรต่อผลกระทบดังกล่าวมักมุ่งมองเน้นไปทางการไม่สามารถที่จะพบปะชุมชนกันในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันทางกายภาพ เพราะการประกาศ พ.ร.ก. ภาวะฉุกเฉิน คริสตจักรท้องถิ่นได้เรียนรู้เข้าใจชีวิตและพันธกิจคริสต์ที่แท้จริงหรือไม่จากวิกฤตินี้เรียนรู้ว่าอะไร? แล้วเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นใหม่อะไร หรือไม่? เป็นประการแรก  

ประการที่สอง เริ่มเกิดความวิตกกังวลถึงเงินถวายที่ลดน้อยลงในหลายคริสตจักร เกรงว่าจะกระทบต่อรายจ่ายประจำของคริสตจักร ในวิกฤติที่ผ่านมาคริสตจักรของท่านได้เรียนรู้อะไรบ้าง? และท่านเห็นว่า คริสตจักรหลังวิกฤตินี้ควรมีมุมมอง และ ทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และ ปัจจัยต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร?

ประการที่สาม มีประเด็นคำถามที่แสวงหาคำตอบคือ แล้วคริสตจักรของเราจะยังคงใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ในการนมัสการพระเจ้าต่อไปหรือไม่ นานแค่ไหน? เพราะอะไร? มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง? และจะทำอย่างไรต่อไป และถ้าใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในคริสตจักรหรือไม่? แล้วคริสตจักรจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรหลังโควิด 19?

ประการที่สี่ แล้วพันธกิจการเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์จะได้รับผลกระทบหรือไม่? แล้วพันธกิจการสร้างคุณภาพชีวิตสมาชิกด้านอื่น ๆ ล่ะ เช่น รวีฯ อนุชน สตรี บ้านและครอบครัวคริสเตียน การประกาศพระกิตติคุณ การเยี่ยมเยียน การให้การปรึกษาแก่สมาชิก การเข้าถึงชีวิตชุมชนและ ฯลฯ จะทำอย่างไรหลังโควิด 19?

ประการที่ห้า บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของศิษยาภิบาล ผู้ปกครองคริสตจักร  มัคนายก และกรรมการต่าง ๆ ในคริสตจักรท้องถิ่นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อย่างไร? และจะเกิดผลกระทบทั้งทางบวกและลบอย่างไรบ้าง?

ประการที่หก แล้วเราจะมีตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตคริสตจักร การทำพันธกิจ อะไรบ้าง? แล้วจะใช้วัดอย่างไร? ทำไมถึงกำหนดตัวชี้วัดเช่นนั้น?

ประการที่เจ็ด อะไรคือสถานการณ์ปกติใหม่ (Church new normal) ของชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในประเทศไทย? แล้วเราจะรับมืออย่างไร? ใครบ้างที่จะต้องการมามีส่วนร่วมในการหนุนเสริมการรับมือ "สถานการณ์ใหม่" นี้ด้วยกัน? และการตอบสนอง "สถานการณ์ใหม่" ดังกล่าวสอดคล้องกับความเชื่อในพระคัมภีร์ของเราหรือไม่ อย่างไร?

ประการที่แปด ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดกับคริสตจักรในเมืองใหญ่และชานเมืองแน่ แล้วคริสตจักรในชนบท และคริสตจักรบนพื้นที่สูง จะแตกต่าง และ เหมือนกันอย่างไรบ้างหรือไม่? และคริสตจักรท้องถิ่นจะรับมืออย่างไรในแต่ละสถานการณ์ดังกล่าว?

ประการที่เก้า หลังโควิด 19 ยังจะคาดหวังเงินช่วยเหลือจาก "ส่วนกลาง" หรือจริง ๆ คือผลกำไรจากสถาบัน การศึกษา และ การแพทย์และพยาบาล อย่างที่เคยพึ่งพิงอยู่หรือไม่? อย่างไร? ทำไม?

ที่จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้เพราะที่ผ่านมางบประมาณ   "ก้อนโต"   มาจากผลกำไรประจำปีของสถาบันต่าง ๆ (ในกรณีของสภาคริสตจักรในประเทศไทย) และเมื่อสถาบันต่าง ๆ ที่มีผลกำไรที่จำกัดและเริ่มลดน้อยถอยลง  

ประจวบกับการได้รับผลกระทบอย่างแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ และ การกระหน่ำซ้ำเติมของวิกฤติโควิด 19 คำถามที่ต้องถามคือ มีผลกระทบต่อรายได้ของสถาบันเหล่านี้มากน้อย อย่างไรบ้าง? และในปีงบประมาณใหม่นี้ กำลังเงินที่สถาบันเหล่านี้จะหนุนเสริมคริสตจักรท้องถิ่น และ การบริหารส่วนกลางของสภาฯจะเกิดความจำกัดและกระทบกระเทือนอย่างแรง แล้วคริสตจักรภาค และ คริสตจักรท้องถิ่นจะรับมือกับวิกฤติการเงินนี้อย่างไร? (กรุณาอย่าโยนความรับผิดชอบไปที่ผู้บริหารสภาคริสตจักรฯ และ ผู้บริหารสถาบัน นี่เป็นความรับผิดชอบเต็ม ๆ ของคริสตจักรท้องถิ่นร่วมกัน)

ประการที่สิบ หลังโควิด 19 สถานการณ์ปกติใหม่ "Church new normal" ที่เราจะพบด้วยกันคือ วิกฤติใหม่ของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประการที่เก้า คำถามคือ สถาบันเหล่านี้และผู้บริหารสภาคริสตจักรฯ จะมีกระบวนทัศน์การรับมืออย่างไร? อะไรคือเป้าหมายของการรับมือครั้งนี้? และจะมีวิธีการขั้นตอนในการรับมืออย่างไร?

คริสตจักรท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการรับมือ วิกฤติใหม่หลังโควิด 19 หรือไม่อย่างไร? และในเวลาเดียวกันคงต้องถามว่า ทางผู้บริหารสถาบันเห็นว่าคริสตจักรมีศักยภาพเช่นไรหรือไม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤตินี้ของสถาบัน?  

ประการที่สิบเอ็ด วิกฤติหลังโควิด 19 ซึ่งเป็น "สถานการณ์ปกติใหม่" ของเราจะช่วยให้คริสตจักรท้องถิ่นของเราพบกระบวนทัศน์ใหม่ในการมีชีวิตและทำพันธกิจในรูปแบบใหม่ ในกระบวนขับเคลื่อนใหม่หรือไม่ อย่างไร? ทำไมจะต้องมีกระบวนขับเคลื่อนใหม่ดังกล่าว? และใครคือผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนกระบวนการชีวิตและพันธกิจคริสตจักรท้องถิ่นที่ว่านี้?

ประการที่สิบสอง เป็นคำถามแรกที่เราจะต้องถามตนเองคือ เราได้เห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในวิกฤติโควิด 19  หรือไม่? อย่างไร? และเราเชื่อว่า พระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน ในชีวิตคริสตจักร และในชุมชนล้อมรอบเราหรือไม่? พระองค์กำลังทำอะไรอยู่? และเราได้เข้าร่วมในพระราชกิจดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร?

ขอท่านกรุณาช่วยเพิ่มประเด็นคำถามที่สำคัญด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



19 เมษายน 2563

หลังโควิด 19... เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานพันธกิจหรือไม่?

ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ผมได้ยินมาว่าศิษยาภิบาลหลายท่านที่ได้พึ่งพิงสมาชิกคริสตจักรของตนที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารทางดิจิตัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนมัสการพระเจ้า และ ในการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ที่ผ่านมา และตัวศิษยาภิบาลเองก็ได้เห็นแล้วว่าเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่เหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในพันธกิจของคริสตจักร และได้เรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าในของประทานด้านนี้ของสมาชิกเหล่านั้น ผมเองหวังว่า หลังโควิด 19 ศิษยาภิบาลจะเชิญคนเหล่านี้เข้ามาร่วมในพันธกิจคริสตจักร การเสริมสร้างและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่สมาชิกที่มีของประทานในทางนั้น ๆ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่า ศิษยาภิบาลทุกท่านจะทำเช่นว่านี้ ทั้งนี้เพราะศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งมีความจำกัด-ติดขัด (ส่วนตัว) ในการสร้างเสริมสมาชิกให้ร่วมในการทำงานพันธกิจ ดังนี้

1. ศิษยาภิบาลให้คุณค่าของตนอยู่ที่ผลของงานที่ทำ  

ในเมื่อเราให้คุณค่าของตนอยู่ที่ความสำเร็จในองค์กรที่ตนเป็นผู้นำ เราจึงมักจะไม่มอบหมายงานความรับผิดชอบให้คนอื่นทำ เพราะมองว่านั่นเป็นวิธีการที่เสี่ยงเกินไปที่จะทำเช่นนั้น เพราะคุณค่าความสำคัญจากความสำเร็จจะตกไปอยู่กับคนอื่น เรื่องนี้ติดขัดที่มุมมองของศิษยาภิบาลครับ

2. เพราะเรามิได้ใส่ใจกับภาพของ (คริสตจักรเปรียบเหมือน) การทำงานในพระกายพระคริสต์ตามใน 1 โครินธ์ บทที่ 12  

ถ้าเราเลือกที่จะทำทุกอย่างในคริสตจักรด้วยตัวของเราเอง เราก็กำลังปฏิเสธภาพการทำงานของพระกายพระคริสต์ จึงไม่แปลกที่ศิษยาภิบาลบางท่านบ่นว่าตนต้องทำหน้าที่เป็นภารโรง ถึง นักเทศน์ เพราะศิษยาภิบาลมีความอ่อนด้อยในการมอบหมายงานพันธกิจด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมแก่สมาชิกแต่ละคน มักจะมีคำถามว่า “แล้วเขาจะทำได้หรือ?”

3. เราไม่เคยเห็นรูปแบบตัวอย่างของการมอบหมายงานที่ดี 

ศิษยาภิบาลหลายท่านได้รับเอารูปแบบการทำงานจากศิษยาภิบาลเดิมของตนที่มีจุดอ่อนในการมอบหมายงานเช่นกัน หรือไม่ก็มักคิดว่าเราต้องทำเองทุกอย่างเพื่อเราจะมีคุณค่าในสายตาของคณะธรรมกิจ ผู้ใหญ่ในคริสตจักร และ สมาชิก ศิษยาภิบาลขาดประสบการณ์ตรงที่สำคัญ และหลายท่านไม่ได้รับสิ่งนี้จากพระคริสต์ธรรม

4. เราต้องปล้ำสู้กับการที่ “ตนเองเป็นรูปเคารพ” ในใจของตน

ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้จะมีความคิดความเชื่อว่า ในคริสตจักรนี้ไม่มีใครที่สามารถทำได้ดีกว่าตน ดังนั้นจึงสรุปว่า ไม่มีใครที่สมควรจะทำสิ่งเหล่านี้ หรือไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้ นอกจากตนเอง

5. เราไม่มีเวลา หรือ มีกำลังที่จะฝึกสอนให้คนอื่นทำ 

การฝึกฝนคนอื่นให้ทำงานพันธกิจใด ๆ ต้องใช้เวลา ต้องลงทุนลงแรงมาก อีกทั้งเป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อน ถ้าเราทำเองมันง่ายกว่าเยอะ อีกทั้งทำให้คนรอบข้างเห็นว่าตนมีงานที่ต้องทำที่เร่งรีบและล้นมือ ศบ.กลุ่มนี้คิดว่านี่คือวิธีสร้างคุณค่าในตนเอง?

6. เราชอบการควบคุมและเราต้องการควบคุม  

พูดตรงไปตรงมา ลึก ๆ เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราฝึกใครสักคนจนทำเป็นดีและมีความสามารถ เมื่อเราให้เขาออกไปทำงานที่เราฝึกให้นั้น เขาก็เริ่มจะออกห่างจากการควบคุมของเรา เพราะเขาสามารถทำด้วยตนเองได้ เขาจะอยู่ใต้การควบคุมของเราน้อยลง เรารู้สึกสูญเสียอำนาจในการควบคุม?

7. เราเคยมีประสบการที่ไม่ดีกับการมอบหมายงาน  

ประสบการณ์ที่แย่ ๆ ของอดีตมันคอยหลอกหลอนเรา ทำให้เรามัวใส่ใจคอยขจัดความผิดพลาดในอดีตในงานใหม่ที่กำลังมอบหมาย (ซึ่งสถานการณ์ครั้งใหม่ไม่จำเป็นจะต้องมีสถานการณ์เหมือนซ้ำกับอดีตที่ผ่านมา)  

8. เราไม่มีวิธีการและกระบวนการที่จะช่วยให้สมาชิกคริสตจักรในการค้นหาของประทานที่มีอยู่ในตัวของสมาชิกแต่ละคน

เราจะมอบหมายงานและพันธกิจได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้ว่าแต่ละคนที่เราจะมอบหมายนั้นมีของประทานอะไรบ้างในตัวเขา แย่กว่านั้นอีก ถ้าเจ้าตัวไม่รู้ว่าตนเองมีของประทานอะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ช่วยให้สมาชิกในการค้นพบของประทานจากพระเจ้าในตัวของเขา  

9. คริสตจักรไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนสมาชิกในการทำงานและพันธกิจของคริสตจักร

ทั้งนี้เพราะคริสตจักรมีมุมมองว่า เขาจ้างศิษยาภิบาลมาก็เพื่อที่จะให้ทำงานและพันธกิจเหล่านี้ของคริสตจักรอยู่แล้ว

10. เรากลัวว่าคนอื่นจะทำดีกว่าตัวเราเอง (และอาจจะได้รับเกียรติจากงานที่เขาทำ) 

ไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยหรอกว่าเราคิดเช่นนั้น แต่ศิษยาภิบาลกลุ่มหนึ่งที่ต้องปล้ำสู้กับความคิดนี้ในตนเอง

11. เรามองไม่เห็นว่าพันธกิจที่ทำนั้นมีความสำคัญจำเป็นต่อชุมชนสังคมโลก  

เรามักมองว่าพันธกิจที่เราทำนั้นเป็นเพียงสิ่งที่สำคัญจำเป็นในคริสตจักร และ บางเรื่องในชุมชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นความสำคัญจำเป็นอะไรมากมายต่อสังคมโลกโดยส่วนรวม ดังนั้นไม่น่าจะต้องทุ่มเทฝึกฝนคนมากมายถึงขนาดนั้น

12. เราไม่ได้อธิษฐานทูลขอเพียงพอสำหรับขอคนทำงานและพันธกิจเพิ่มมากขึ้น  

ถ้าเราอธิษฐานอย่างที่พระคริสต์สอนในลูกา 10:1-2 ทูลขอคนทำงานเพิ่มมากขึ้นแล้ว เราจำเป็นจะต้องเตรียมและฝึกฝนคนอื่น ๆ ในคริสตจักรและเต็มใจแบ่งปันภาระงานกับคนเหล่านี้

การเปลี่ยนแปลง พัฒนาการทำพันธกิจของคริสตจักรหลังโควิด 19 คงไม่ใช่คริสตจักรท้องถิ่นทุกแห่งที่จะทำให้เกิดขึ้นเองได้ แต่มีคำถามว่า แล้วหน่วยงานเสริมพันธกิจคริสตจักร หน่วยงานศิษยาภิบาล สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการหนุนเสริมศิษยาภิบาลในเรื่องข้างต้นนี้ หลังโควิด 19 หรือไม่ อย่างไร? อาจจะเป็นประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาร่วมกันกับคริสตจักรท้องถิ่นทั้งหลาย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


16 เมษายน 2563

“ศิษยาภิบาลเปลี่ยนไป...” หลังวิกฤติโควิด 19

จากการเกิดวิกฤติโควิด 19 คริสตจักรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ได้รับกระทบที่รุนแรง และมีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งชีวิต และ พันธกิจคริสตจักร และอีกส่วนหนึ่งที่กระทบอย่างมาก คือศิษยาภิบาลในคริสตจักรท้องถิ่น จนอาจจะสามารถกล่าวได้ว่า “ศิษยาภิบาลเปลี่ยนไป...” หลังวิกฤติโควิด 19

จากการสังเกตและการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร และ การทำงานของศิษยาภิบาลคริสตจักรท้องถิ่นต่าง ๆ ในขั้นต้นที่สถานการณ์วิกฤติยังไม่ลงตัว พอประมาณการคร่าว ๆ ได้ว่า ตัวของศิษยาภิบาล และ การทำหน้าที่อภิบาลได้รับผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1) ศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งจะเติบโตแข็งแรงขึ้นจากสถานการณ์โควิด 19 และอีกส่วนหนึ่งจะท้อถอยเพราะตนเองไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ในสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 ศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งปรับตัวได้อย่างไม่น่าเชื่อ ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้มีฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ว่า พระเจ้าทรงประทานสิ่งจำเป็นมากมายแม้ในภาวะวิกฤติที่ขาดแคลน ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้มีมุมมองอนาคตอย่างสร้างสรรค์  

ในขณะที่ศิษยาภิบาลอีกกลุ่มหนึ่งรอเวลาที่คริสตจักรและชุมชนจะกลับไปสู่สภาพเดิมที่เคยเป็น แต่น่าเสียดายทั้งคริสตจักรและสังคมจะไม่กลับไปสู่สภาพอย่างในอดีตอีกแล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ศิษยาภิบาลกลุ่มหลังจะอยู่ยากรับใช้ลำบาก

2) ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นเริ่มจะมองว่าอาคารโบสถ์เป็นเพียงเครื่องมือมิใช่เป้าหมายในการทำพันธกิจคริสตจักร
ศิษยาภิบาลได้แบ่งปันประสบการณ์ถึงคริสตจักรที่เขารับใช้สามารถขับเคลื่อนไปอย่างน่าทึ่งแม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตินี้ก็ตาม แม้ว่าสมาชิกจะไม่มีการพบปะกันทางกายภาพ และอาคารโบสถ์มิใช่ศูนย์กลางของชีวิตคริสตจักรอีกต่อไป

ดังนั้นสิ่งที่บ่งชี้ความสำเร็จของชีวิตและพันธกิจคริสตจักรจึงมิใช่มีคนมาร่วมกันในคริสตจักรอาทิตย์ละกี่คน ได้รับเงินถวายเท่าใด และที่คริสตจักรทำกิจกรรมอะไรบ้าง

แต่ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้กลับมอง “คริสตจักรที่เป็นชีวิตของผู้เชื่อ และ กลุ่มคนผู้เชื่อ” เป็นที่สถิตของพระเจ้า   คริสตจักร (ที่เป็นชีวิตผู้เชื่อ) เป็นพระวรกายที่ขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเยซูในชีวิตประจำวันท่ามกลางคนในชุมชนที่สมาชิกคน ๆ นั้นเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย พวกเขาสื่อสารสัมพันธ์กันใกล้ชิด “ในอากาศ” (สื่อออนไลน์) และ ทางกายภาพด้วยเมื่อมีโอกาสอำนวย เป็นความสัมพันธ์หนุนเสริมกันและกันด้วยพลังแห่ง “พระวิญญาณบริสุทธิ์”

คริสตจักรแบบหลังนี้เองที่จะ “เขย่า และ พลิกคว่ำ” สังคมโลกนี้ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันเป็นคริสตจักรให้เปลี่ยนแปลงเป็น “แผ่นดินของพระเจ้า”

3) ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นที่จะมองว่าโลกของการสื่อสารออนไลน์เป็นโอกาสสำหรับพระกิตติคุณ มากกว่าที่จะมองว่าเครื่องมือสื่อออนไลน์ทันสมัยเป็นเครื่องมือของซาตานที่ล่อลวงให้ทำชั่ว

แน่นอนว่าที่ผ่านมา เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ได้สร้างความชั่วความเสียหายมากมายหลายด้านในผู้คนวัยต่าง ๆ ถ้วนหน้า แต่ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ศิษยาภิบาลหลายท่านได้เห็นและมีประสบการณ์ว่า เครื่องมือสื่อสารทันสมัยตัวนี้มิได้ดีชั่วในตัวของมันเอง แต่อยู่ที่ผู้ใช้ ดังนั้น เครื่องมือสื่อสารดิจิตัลทันสมัยที่นำมาใช้ในพระราชกิจของพระเจ้าก็จะเกิดผลดีเกินกว่าที่คาดคิด

จากประสบการณ์ในวิกฤติโควิด 19 ทำให้ศิษยาภิบาลหลายท่าน “คิดใหม่ มองใหม่” ต่อการใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ทันสมัยเหล่านี้ และพระเจ้าสามารถอวยพระพรผ่านการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ผ่านการใช้เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้ด้วย แน่นอนว่า ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้ต้องการการหนุนเสริมให้ศิษยาภิบาล ผู้นำ และสมาชิกคริสตจักรมีทักษะความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อทันสมัยนี้ในพระราชกิจของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ศิษยาภิบาลอีกกลุ่มหนึ่งเฝ้ารอให้สถานการณ์โควิด 19 กลับสู่สภาพเดิมแล้วทำพันธกิจอย่างที่คริสตจักรและที่ตนเคยทำมาก่อนหน้านี้ ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้ไม่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพ ความสามารถ หรือของประทานจากพระเจ้าในการใช้เครื่องมือสื่อสารทันสมัยนี้ในการรับใช้พระเจ้าในโลกนี้

4) ศิษยาภิบาลจำนวนมากขึ้นได้ค้นพบ และ เข้าไปมีส่วนร่วมชีวิตในชุมชนมากขึ้น

ที่ผ่านมา ทั้งศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักรบางกลุ่มมักวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะให้คนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมในคริสตจักร แต่วิกฤติโควิด 19 กดดันให้การทำพันธกิจของคริสตจักรต้องออกไปติดต่อ สื่อสารสัมพันธ์ และเข้าถึงคนในชุมชน อาคารโบสถ์-บริเวณคริสตจักรเป็นพื้นที่หนึ่งที่พวกเขาอาจจะใช้เป็นที่พบปะ เพื่อเตรียมการทำพันธกิจของพระเจ้า แต่มิใช่เป้าหมายปลายทางของพื้นที่ในการทำพันธกิจของเขา

ผู้นำที่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าวจึงพยายามแสวงหาแนวทางในการทำพันธกิจที่สร้างสรรค์ที่มีอิทธิพล มีพลังที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของชุมชน ดังนั้น คริสตจักรจึงมุ่งที่จะเข้าไปถึงคนในชุมชน มากกว่าการที่จะเชิญชวนคนในชุมชนมาในตัวอาคารหรือบริเวณคริสตจักรอย่างที่เคยทำกันในอดีต

5) ศิษยาภิบาลจำนวนหนึ่งมองเรื่องการชี้วัดความสำเร็จงานคริสตจักรแตกต่างไปจากเดิม

จากการเก็บข้อมูลของหลายคริสตจักรพบว่า ครั้งเมื่อมีการนมัสการพระเจ้าที่รวมศูนย์ในคริสตจักรมีคนมาร่วมนมัสการ 100 คน แต่เมื่อมีการถ่ายทอดการนมัสการออนไลน์ออกไป มีคนเข้าชม/ร่วมนมัสการค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนในสัปดาห์ที่ 3 มีผู้เข้าร่วม/ชม 250 คน อะไรที่ทำให้เกิดผลที่แตกต่างกันมากมายเพียงนี้? และยังพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม/ชมการนมัสการเกือบทั้งหมดเป็นคนในพื้นที่ ที่คริสตจักรสามารถเข้าถึงและติดต่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งติดต่อผ่านกลุ่มเล็กของคริสตจักรในชุมชนต่าง ๆ และ ครอบครัวสมาชิกในพื้นที่ต่าง ๆ และจากจุดนี้เองที่คริสตจักรสามารถที่จะรับใช้ตามบริบทชีวิตของคนเหล่านี้ในชุมชน จากวิกฤตโควิด 19 ช่วยให้ศิษยาภิบาลมองเห็นช่องทางต่าง ๆ ที่สามารถทำพันธกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ปัญหาคือ ศิษยาภิบาลจะต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานพันธกิจคริสตจักรของตน และจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ และ กระบวนการการอภิบาลชีวิตสมาชิก และ อภิบาลชีวิตชุมชนด้วย

ให้เรามองไปที่ทางเปิดกว้างของพระเจ้าสำหรับเราในการทำพระราชกิจของพระองค์ มากกว่าการมุ่งมองไปที่อุปสรรคที่กีดขวางการทำพันธกิจที่เกิดจากโควิด 19


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


14 เมษายน 2563

เกิดอะไรขึ้นในวัน “เสาร์เงียบเชียบแต่ศักดิ์สิทธิ์”

การสะท้อนย้อนคิดถึงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ 2020

ข้างนอกยังมืด แต่ข้างในอุโมงค์สว่าง ในอุโมงค์นั้นว่างเปล่า สิ่งที่สาวกวางแผนในใจที่จะทำ แต่กลับไม่ได้ทำและทำไม่ได้ และในความว่างเปล่านั้นเอง ทำให้สาวกต้องงงงวย แต่แล้วมาพบว่า พระเจ้ามีแผนการของพระองค์เพื่อพวกสาวก และ เพื่อพวกเราตอนนี้ด้วย!

พระเจ้าทรงสร้างโลกและในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันที่เจ็ด พระองค์กำหนดให้เป็นวันสะบาโต เป็นวันที่หยุดพักจากพระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระองค์ แต่น่าเสียดายและเสียใจอย่างยิ่งที่มารได้ทำลายพระราชกิจแห่งการทรงสร้างของพระเจ้า จนพระเยซูคริสต์ต้องเข้ามาในโลกนี้เพื่อกอบกู้ไถ่ถอนโลกที่พระองค์ทรงสร้างจากอำนาจครอบงำของมาร และในเช้าวันอาทิตย์พระองค์ทรงมีชัยเหนือความตาย ที่มารหลอกล่อหยิบยื่นยัดเยียดแก่มนุษย์ และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการทรงสร้างใหม่ของพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์

ดังนั้น สำหรับคริสตชนวันอาทิตย์จึงเป็นวันแรกของสัปดาห์ (วันต้นสัปดาห์) วันเริ่มต้นของการร่วมสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน และคริสตชนเริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์ด้วยการนมัสการ รับการทรงนำ และ รับพลังชีวิตจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

วันเสาร์ของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมากมักเข้าใจกันว่าวันนี้เป็น “วันเงียบ” บางคริสตจักรก็จัดให้สมาชิกมีโอกาสเงียบเพื่อทบทวน และ ใคร่ครวญถึงชีวิต คำสอน และพระราชกิจที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำบนแผ่นดินโลกนี้

มีคนถามว่าแล้วในวันเสาร์ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลยหรือ? ทำไม ถึงให้วันนี้เป็นวันที่ “เงียบเชียบ”? แล้วสำหรับคริสตชน ในวันเสาร์นี้เราทำอะไรกัน? (แต่ที่แน่ ๆ คือ ไม่มีจุดประสงค์เพื่อให้คริสตชนไปเยี่ยมสุสานที่ฝังญาติสนิทมิตรสหายที่ล่วงหลับไปแล้ว หรือการไปทำการกำจัดความรกแล้วทำสะอาดปีละครั้ง และบ้างก็นำแจกันดอกไม้ไปไว้หน้าอุโมงค์ฝังศพแสดงถึงการคิดถึง... สิ่งเหล่านี้มิใช่จุดประสงค์ของวันเสาร์ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ตามพระคัมภีร์แน่!)

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นด้วยวันอาทิตย์ทางปาล์มที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่า กษัตริย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่จะช่วยกู้พวกเขาทางการเมืองให้หลุดรอดออกจากการครอบครองของโรมันได้เริ่มต้นแล้ว จึงมีการโห่ร้องต้อนรับพระเยซูคริสต์ที่ทรงลาเข้ามาในกรุงเยรูซาเล็มด้วยการโบกกิ่งไม้ และปูเสื้อผ้าของตนเองบนถนนที่พระเยซูจะเสด็จผ่าน พร้อมกับร้องว่า โฮซันนา (ยอห์น 12:13)  

แล้วตามมาด้วยวันพฤหัสฯ แห่งการสถาปนาความหมายใหม่แห่งแผ่นดินของพระเจ้า ในอดีตที่ผ่านมาพระเจ้าทรงกอบกู้และไถ่ถอนชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ และพวกยิวทำพิธีปัสกาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญนั้น แต่ในค่ำคืนวันพฤหัสฯ นั้นพระเยซูคริสต์ได้สถาปนาพิธีมหาสนิท ซึ่งเป็นความหมายใหม่ของแผ่นดินของพระเจ้าที่พระองค์จะทรงกอบกู้ไถ่ถอนออกจากการตกอยู่ใต้อำนาจของมารและความตายเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า ซึ่งในแผ่นดินใหม่ของพระเจ้าแตกต่างจากเดิม ทุกคนได้รับการทรงเรียกและบัญชาให้เข้าร่วมในพระราชกิจของพระคริสต์ ดังนั้น จำเป็นที่ทุกคนจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างใหม่ และรับพระกำลังจากเบื้องบนโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ 

มากกว่านั้น ลักษณะกษัตริย์ หรือ ผู้นำชุมชนแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่แต่ละคนจะเข้าร่วมนั้น เป็นผู้นำที่ต้องรับใช้คนอื่น “ต้องล้างเท้าสาวกของตน” ผู้ใหญ่ผู้นำต้องลดตัวลงรับใช้ลูกน้อง สาวก สมาชิกของตน ผู้นำต้องล้างเท้าคนที่ต่ำต้อยยากจนกว่าตน ผู้นำไม่ใช่เจ้านาย แต่เป็นคนใช้ของคนอื่น และ การที่ได้เป็นผู้นำมิใช่เพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ ได้ตำแหน่ง ได้อำนาจ แต่การเป็นผู้นำในแผ่นดินของพระเจ้าคือการให้ ให้กระทั่งชีวิตของตนเพื่อคนอื่นจะมีชีวิตอยู่ ก่อนที่จะสถาปนาพิธีมหาสนิทพระเยซูคริสต์ทรงล้างเท้าสาวกทีละคน เพื่อให้สาวกได้สัมผัสกับสัจจะความจริงและพระประสงค์ของพระองค์ด้วยการล้างเท้าสาวกของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น ยังทรงเรียกร้องให้สาวกทุกคนให้สานต่อพระราชกิจของพระองค์ด้วย “ชีวิตที่ให้ชีวิต” เพื่อให้คนรอบข้างจะได้ชีวิตใหม่ 

แต่สิ่งที่กล่าวในข้างต้นนี้มิได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนเท่านั้น แต่เป็นประสบการณ์ตรงในชีวิตกับพระคริสต์ ที่จะค่อย ๆ หล่อหลอม บ่มเพาะ ฐานเชื่อกรอบคิด (mindset) ของสาวกแต่ละคน ให้เป็นฐานเชื่อกรอบคิดในการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวันต่อไป  

แล้ววันเสาร์ที่เงียบเชียบไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยหรือ

พระกิตติคุณลูกา ได้เล่าถึงเหตุการณ์คร่าว ๆ โดยสังเขปไว้ดังนี้ “วันนั้นเป็นวันจัดเตรียม และใกล้จะถึงวันสะบาโตแล้ว พวกผู้หญิงที่ตามพระองค์มาจากแคว้นกาลิลีก็ตามไปและเห็นอุโมงค์นั้น ทั้งเห็นว่าเขาวางพระศพของพระองค์ไว้อย่างไรด้วย  แล้วพวกนางก็กลับไปจัดแจงเครื่องหอมกับน้ำมันหอม ในวันสะบาโตนั้นพวกเขาก็หยุดพักตามบัญญัติ” (ลูกา 23:54-56 มตฐ.) 

ดังนั้น วันศุกร์บ่ายใกล้เย็นที่เขาเอาพระศพพระเยซูลงจากกางเขน แล้วโยเซฟแห่งอริมาเธีย (ซึ่งเป็นสมาชิกสภาศาสนาของยิว เป็นคนดีและชอบธรรม และไม่เห็นด้วยกับมติและการกระทำของสภาฯ นั้น เป็นคนที่รอคอยแผ่นดินของพระเจ้า และมีบางข้อมูลบอกว่าเขาเป็นคนที่ติดตามพระเยซูคริสต์) ได้ขอพระศพจากปิลาต เอาพระศพลงจากกางเขน เอาผ้าป่านพันหุ้มพระศพ แล้วรีบนำไปฝังในอุโมงค์ที่เจาะเข้าในศิลา เป็นอุโมงค์ใหม่ที่เขาทำไว้ยังไม่มีใครใช้มาก่อน ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้กระทำกันอย่างรีบเร่งเพื่อให้เสร็จก่อนจะถึงเวลาเริ่มต้นของวันสะบาโต อย่างไรก็ตามสาวกสตรีที่ติดตามพระเยซูคริสต์เห็นการนำพระศพลง การนำพระศพไปอุโมงค์ และการวางพระศพในอุโมงค์   

แต่พวกเธอไม่มีโอกาสที่จะชโลมพระศพของพระเยซูคริสต์ด้วยเครื่องหอมกับน้ำมันหอมตามประเพณีปฏิบัติ   เพราะไม่มีการเตรียมสิ่งเหล่านี้ล่วงหน้า ประจวบกับความรีบเร่งเพราะกำลังจะเริ่มวันสะบาโต เมื่อเขาเห็นที่ฝังพระศพ และ การฝังพระศพเสร็จแล้ว พวกเธอรีบกลับไปที่พักเพื่อเตรียมเครื่องหอมและน้ำมันหอม เพื่อเมื่อผ่านวันสะบาโตไปแล้วจะได้นำสิ่งเหล่านั้นที่เตรียมไปชโลมพระศพพระเยซูคริสต์  

เมื่อวันสะบาโตสิ้นสุดลง และเริ่มต้นรุ่งอรุณวันใหม่ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ พวกเธอก็ได้นำน้ำมันและเครื่องหอมที่ได้เตรียมไว้เพื่อหวังที่จะชโลมพระศพของพระอาจารย์ของพวกเธอ แต่เช้านั้นเองที่พวกเธอได้พบเจอกับเหตุการณ์การอัศจรรย์พันลึก เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลง “ฐานเชื่อกรอบคิด” (mindset) ของพวกเธออย่างสิ้นเชิงและตลอดไป (ดูรายละเอียดในลูกา บทที่ 24)  

ในวันสะบาโต หลายคนคงคิดว่าพวกสาวกโดยเฉพาะกลุ่มสาวกสตรีคงร้องไห้โศกเศร้า และ เกิดความสงสัยในสิ่งที่เคยหวัง คือความหวังของการกอบกู้ดูริบหรี่ลง ไม่รู้ว่าพวกตนจะเดินต่อไปอย่างไร และอาจจะมีความกลัวที่พวกผู้นำศาสนาจะมาจับพวกตนที่เคยติดตามพระเยซูคริสต์

ในวันสะบาโตพระองค์ยังทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ และเมื่อถึงเวลาที่ทรงกำหนดของพระองค์ ในเช้าวันอาทิตย์นั้นเอง พระราชกิจแห่งความมหัศจรรย์ที่ไม่เคยเชื่อและไม่คิดมาก่อน ได้เกิดขึ้นเป็นจริง เป็นรูปธรรม   ตามที่พระองค์เคยบอกสาวกก่อนหน้านี้แล้ว แต่พวกเขามิได้เชื่อ จึงมิได้เข้าใจ เพราะเกินความสามารถที่เขาจะเข้าใจได้ แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้าง “ฐานเชื่อ และ กรอบคิด” ของสาวกใหม่ด้วยการให้พวกเขาได้มีประสบการณ์กับการเป็นขึ้นใหม่ของพระองค์อย่างเป็นรูปธรรม ประสบการณ์ตรงที่เขาได้รับจากพระคริสต์ต่างหากที่ทำให้สาวกเกิดความเชื่อศรัทธาที่แท้จริงที่หยั่งรากลึกในสัจจะความจริง มิใช่เพียงข้อมูล คำสอนเท่านั้น 

ใช่สินะ ความเชื่อศรัทธาที่เกิดจากประสบการณ์ตรงเชิงประจักษ์ต่างหากที่ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่ออย่างทุ่มเททั้งชีวิต เช่น สาวกสองคนที่กำลังเดินทางไปที่เอมมาอุส เปาโลบนเส้นทางไปดามัสกัส โธมัสที่รับคำท้าทายจากพระเยซูคริสต์ให้พิสูจน์ความจริงด้วยการเอานิ้วแยงเข้าไปที่บาดแผลที่มือ เท้า และสีข้างของพระองค์ เปโตรที่พระเยซูตามหาเขาเมื่อคืนพระชนม์และได้ยกโทษพร้อมกับให้โอกาสใหม่ และบัญชาเขาให้เลี้ยงแกะของพระองค์ และ ฯลฯ  

ในวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา คริสตจักรของเราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงอะไรบ้างจากพระคริสต์ในเหตุการณ์นี้   ที่ทำให้ “ฐานเชื่อ กรอบคิด” ของเราในเรื่องการเป็นสาวกของพระคริสต์ และ คริสตจักรที่สานต่อพระราชกิจของพระองค์บนแผ่นดินโลกนี้ได้หยั่งรากลงลึกในพระวจนะและพระประสงค์ของพระองค์


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499