09 เมษายน 2563

หลังโควิด 19...คริสตจักรท้องถิ่นไทยจะไม่เหมือนเดิม!?

3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รับบทเรียนจากเหตุการณ์โควิด 19 มวลมนุษยชาติไม่สามารถที่จะคาดการณ์อะไรได้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างรวดเร็วและรุนแรง จนมวลมนุษย์ประสบความมึนงง แต่พบว่า...พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในสถานการณ์นี้อยู่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว  ธุรกิจ หรือแม้แต่คริสตจักรเอง ต่างก็กำลังต่อสู้ดิ้นรนควานหาข้อมูลความจริงที่ผุดโผล่ขึ้นมาใหม่ ๆ ในแต่ละวัน เพื่อจะปรับแผนไล่ให้ทันกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ที่ไม่เคยมีในความคาดคิดมาก่อนหน้านี้เลย

ในภาวะที่ไม่แน่นอน-มั่นคงผสมกับความตื่นตระหนกกลัว จากรายงานทั่วโลกของการแพร่ระบาดทำให้รู้สึกว่า “มันเหนือความสามารถควบคุมของมนุษย์” ความรู้สึกเช่นนี้ง่ายที่จะทำให้เรามีมุมมองต่อสถานการณ์ดังกล่าวในแง่ร้าย   ในฐานะที่เราเป็นผู้นำในการอภิบาลชีวิต และ ในการทำพันธกิจทำให้เกิดคำถามมากมายขึ้นในความคิดจิตใจของเรา เช่น...

  • จากการที่สมาชิกคริสตจักรต้องปฏิบัติ “การอยู่ระยะห่างจากกัน” (Physical Distancing) และการวางระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) ถ้ายิ่งนานออกไปที่ไม่ได้มาร่วมกันที่คริสตจักร (อาคารโบสถ์) จะกลายเป็นความเคยชินและอาจจะมีผลทำให้สมาชิกมาร่วมในคริสตจักรลดน้อยลงไปไหมในอนาคตเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว?
  • ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยและยากลำบาก จะต้องมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของคริสตจักรแน่   และยิ่งถ้าไม่มีการพบกันในโบสถ์การถวายจะเป็นอย่างไรในอนาคต? สถานะทางการเงินของคริสตจักรจะอยู่รอดไหม?
  • การที่สมาชิกไม่ได้มาพบปะกันที่โบสถ์สร้างผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสาวกพระคริสต์ในคริสตจักร และ มีผลกระทบต่อความเป็นหนึ่งเป็นเอกภาพในคริสตจักรหรือไม่?


ผมได้เฝ้าดูการตอบสนองของผู้อภิบาลและผู้นำคริสตจักรท้องถิ่นต่อสถานการณ์ที่วุ่นวายสับสนนี้  ขอแบ่งการตอบสนองออกเป็น 3 ภาพใหญ่คือ

ภาพแรก 
กลุ่มคริสตจักรที่ทำตามคำขอร้องของรัฐบาล ที่หยุดการรวมตัวทำกิจกรรมของคนกลุ่มใหญ่ (ตามหลักการของ Social Distancing เพื่อการหยุดและป้องกันการแพร่กระจายของ โควิด 19) แต่ผู้อภิบาลกลุ่มนี้ไม่มีความสามารถ และ ประสบการณ์การ “อภิบาลด้วยกระบวนการทางไกล” จึงไม่รู้จะทำอะไร ได้แต่ตามข่าวว่าสมาชิกคนไหนเจ็บป่วยแล้วก็โทรศัพท์ไปอธิษฐานเผื่อ สำหรับการนมัสการในวันอาทิตย์ ผู้อภิบาลและผู้นำคริสตจักรกลุ่มนี้ขาดความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ หรือ เครื่องมือสื่อสารทันสมัย พวกเขาอาจจะส่งข้อพระคัมภีร์ไปให้สมาชิกในกลุ่มไลน์ หรือ ลงในเฟสบุ๊คบัญชีของตน คาดหวังว่าสมาชิกจะเปิดอ่าน นอกนั้นก็อธิษฐานเผื่อรอเวลาที่สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติดังเดิม

ภาพที่สอง  
กลุ่มที่สองนี้เป็นคริสตจักรท้องถิ่นที่ผู้อภิบาลหรือ ผู้นำคริสตจักรบางท่านที่ไม่รู้หรือเข้าใจ หรือ ไม่เชื่อเรื่อง “การอยู่ระยะห่างทางสังคม” ตามมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 ดังนั้น จึงยังเปิดอาคารคริสตจักร หรือ การพบปะตามบ้านสมาชิกในการนมัสการ ซึ่งถูกมองว่า เป็นกลุ่มชนที่ไม่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการของทางราชการ

ภาพที่สาม  
กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นคริสตจักรที่ให้ความร่วมมือตามมาตรการของทางราชการเพื่อเป็นการป้องกัน และ พยายามหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 แต่ผู้อภิบาลและผู้นำคริสตจักรกลับมีมุมมองว่า ในภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจในตัวเขา ในคริสตจักร และในชุมชนรอบข้างของพวกเขา ดังนั้น พวกเขาจึงแสวงหาทางที่จะเข้าร่วมมีส่วนในกระบวนการพระราชกิจของพระเจ้าในวิกฤติโควิด 19 ทั้งในระดับส่วนตน ในชุมชนสมาชิกคริสตจักร และในชุมชนสังคมรอบข้างของตน

ขอตั้งข้อสังเกตว่า คริสตจักรในภาพที่สามนี้ส่วนใหญ่เป็นคริสตจักรที่มีประสบการณ์ในการทำพันธกิจอภิบาลชีวิตคนในชุมชน และมีการสร้างสมาชิกคริสตจักรของตนให้มีชีวิตสาวกพระคริสต์ที่เข้าร่วมสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในชุมชนอยู่ก่อนที่จะเกิดภาวะวิกฤติโควิด 19 แล้ว เมื่อเกิดภาวะวิกฤตินี้ คริสตจักรเหล่านี้สามารถใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการปรับใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ คริสตจักรกลุ่มนี้ตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการร่วมพระราชกิจของพระเจ้าในวิกฤตกาลนี้  

ยิ่งกว่านั้นเกิดการเรียนรู้และมีประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายพวกเขาให้ใช้สถานการณ์นี้ให้เป็นโอกาสที่จะสร้างสมาชิกให้เป็นสาวกพระคริสต์มากยิ่งขึ้นผ่านการรับใช้พระคริสต์ในสถานการณ์โควิด 19 นี้ คริสตจักรกลุ่มนี้กำลังพบว่า  หลังความสูญเสีย เจ็บปวด ในวิกฤติโควิด 19 นี้คริสตจักรท้องถิ่นในประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บ้างพูดถึงขนาดที่ว่า “ไม่โตก็ตาย” (เอ๊ะ! พูดอย่างงี้ไม่แรงไปหน่อยหรือพี่?)  

ท่ามกลางสถานการณ์ที่คริสตจักรกลุ่มนี้มีความหวาดกลัวต่อ โควิด 19 เช่นกัน แต่คริสตจักรก็พร้อมที่จะเจริญเติบโตและแข็งแรงขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ครั้งนี้ และเรากำลังมองเห็นถึงความเข้มแข็งและเติบโตขึ้นของคริสตจักรด้วย ดังนี้     

แล้วคริสตจักรของท่านเป็นกลุ่มไหนครับ?

แต่ที่แน่นอนคือ ไม่ว่าท่านจะเป็นคริสตจักรในภาพใดก็ตาม หลังวิกฤติโควิด 19 คริสตจักรจะไม่เหมือนเดิม ดังนี้

1. ช่วงนี้ผู้ทำพันธกิจ และ ผู้อภิบาล มีโอกาสที่จะแยกตัวเอง “เก็บตัวอยู่เงียบ”

ที่ผ่านมาเนื่องจากคริสตจักรท้องถิ่นมีบุคลากรที่จำกัดในการทำพันธกิจด้านต่าง ๆ ต้องทำงานมากทำงานหนักเพราะคนน้อย ในเวลาช่วงนี้มีโอกาสที่จะต้องอยู่ห่างทางสังคม หรือ บางท่านต้องเก็บกักตนเอง ในเวลาช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะได้อยู่เงียบใคร่ครวญ ภาวนา ติดสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น และบางคนมีโอกาสแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของตนอย่างจริงจัง บางคนอาจจะมีโอกาสมองไปข้างหน้าเมื่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงเริ่มอยู่ตัว   เพื่อจะดูว่าตนจะมีชีวิตและทำพันธกิจอย่างไรในสถานการณ์ใหม่

2. เปิดประตูใหม่แห่งข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในชุมชน

ในภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ผู้คนถูกบีบให้ต้องขับเคลื่อนชีวิตให้ช้าลง ด้วยความระมัดระวัง มีเวลาที่จะสนใจถึงข่าวคราวความเป็นไปของสถานการณ์ และสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน

ถ้าคริสตจักรใดมีโอกาสที่จะใช้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หรือ ข่าวดีแห่งชีวิตของพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาวิกฤติในชีวิตของผู้คน และหนุนเสริมให้สมาชิกแต่ละคนหาทางติดต่อ สื่อสารสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ผ่านเครื่องมือสื่อสารออนไลน์ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำข่าวดีของพระเยซูคริสต์เข้าไปเป็นคำตอบในชีวิตของคนที่สมาชิกคริสตจักรได้ติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ด้วย และเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสใหม่สำหรับการทำพันธกิจของพระเยซูคริสต์ในชุมชนของตน

มิติใหม่ของการสื่อสัมพันธ์พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพันธกิจชีวิตของสมาชิกแต่ละคนที่ทำและขับเคลื่อนในชีวิตประจำวัน และ ในผู้คนชุมชนที่ตนรู้จัก ด้วยศักยภาพความสามารถ หรือ ของประทานที่พระเจ้าประทานที่มีและเป็นอยู่จริงในแต่ละตัวคน ตามสถานการณ์หรือบริบทที่เป็นจริงในชุมชนนั้น ๆ

3. การทำพันธกิจมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องต่อความเป็นอยู่จริง และ บริบทในชุมชนตนมากยิ่งขึ้น

หลังสถานการณ์ โควิด 19 การทำพันธกิจนคริสตจักรจะมีประสบการณ์ใหม่ แทนที่จะลอกเลียนรูปแบบการทำพันธกิจตาม “สูตร” ต่าง ๆ แต่คริสตจักรจะค้นพบว่า ตนเองสามารถทำพันธกิจตามประสบการณ์ในช่วง “โควิด 19” ที่ผ่านมา

แต่ละคริสตจักรท้องถิ่นจะแสวงหากระบวนการทำพันธกิจบนฐานความเป็นจริงบนศักยภาพและความสามารถตามของประทานของสมาชิกแต่ละคน ที่จะตอบสนองต่อความเป็นจริงในชีวิตของผู้คนในชุมชนตามที่เป็นอยู่ และจะเป็นโอกาสของการค้นพบวิธีการ กระบวนการ และขั้นตอนใหม่ ๆ ในการทำพันธกิจของตน

ในเวลาเดียวกัน พันธกิจชีวิตในคริสตจักรก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะเน้นที่ชั้นเรียนรวีฯ ในวันอาทิตย์ตามขั้นอายุ แต่อาจจะเปลี่ยนมาหนุนเสริมให้แต่ละครอบครัวเอาใจใส่ความเติบโตในชีวิตและความเชื่อของบุตรหลานและคนในครอบครัวของตน การสร้างสาวกพระคริสต์อาจจะต้องเปลี่ยนจากชั้นเรียนในโบสถ์ ไปสู่การสร้างสาวกในกลุ่มเล็กผ่านสื่อออนไลน์ตามเวลาสะดวกของแต่ละกลุ่ม และให้นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งเป็นการสร้างสาวกเชิงปฏิบัติ ในพื้นที่ชุมชนชีวิตประจำวันของสมาชิกในกลุ่มเล็กแต่ละคน และมีการติดตามหนุนเสริมในกลุ่มเล็กออนไลน์ โดยเน้นการเสริมสร้างสาวกพระคริสต์ในครอบครัว ในที่ทำงาน ในกลุ่มเพื่อนใกล้ชิด และ ในชุมชนท้องถิ่นของตน

4. คริสตจักรเรียนรู้และเกิดความกล้าขึ้นในการจัดการด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ

ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 บางคริสตจักรได้ริเริ่มใช้สื่อออนไลน์ทันสมัยในการนมัสการพระเจ้า และ ในพันธกิจบางด้านของคริสตจักรก่อนแล้ว บางคริสตจักรยังกล้า ๆ กลัว ๆ ในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านั้น บางคริสตจักรกลับมองว่าการทำเช่นนั้นเป็นการสร้างความเด่นดังแก่คริสตจักรของตน จึงต่อต้าน

แต่จากประสบการณ์ และ สถานการณ์ที่บีบบังคับจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายคริสตจักรได้รับประสบการณ์ใหม่จากการใช้สื่อออนไลน์ทันสมัยในพันธกิจการนมัสการพระเจ้าออนไลน์ และการใช้สื่อออนไลน์ในพันธกิจด้านอื่น ๆ ทำให้มีนิมิตถึงการทำพันธกิจคริสตจักรด้วยสื่อออนไลน์ในลักษณะต่าง ๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับตนและสภาพบริบทที่เป็นอยู่ของคริสตจักร

ทั้งนี้รวมถึงผู้นำและศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งที่ตั้งใจที่จะแสวงหาความรู้และทักษะในการใช้สื่อออนไลน์ทันสมัยเพื่อสามารถนำมาใช้ในงานพันธกิจด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานกลางเสริมพันธกิจคริสตจักรจะต้องเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องนี้บนความเป็นจริงของคริสตจักร

5. เลิกถกเถียงกันในบางเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ กลับมาสนทนากันที่เรื่องที่หนุนเสริมเพิ่มพลังกันและกันของคริสตจักร

สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การถกเถียงกันในความแตกต่างของคริสตจักรเอง ไม่ว่าเรื่องลัทธินิกาย   พิธีกรรมปฏิบัติ กลับเงียบเสียงลงแต่เสียงขอการปรึกษาแสวงหาว่า คริสตจักรจะตอบสนอง และ ทำพันธกิจด้านต่าง ๆ อย่างไรที่จะสามารถทะลุอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ค่อย ๆ เกิดขึ้น

และนี่อาจจะเป็นการเริ่มต้นนำสู่ความสำเร็จตามพระดำรัสของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ถ้าท่านรักกันและกัน ดังนี้แหละทุกคนก็จะรู้ว่าท่านเป็นสาวกของเรา” (ยอห์น 13:35 มตฐ.) ดูเหมือนว่าในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานของโควิด 19  คริสตจักรที่เคยมีแต่ถกเถียงเอาแพ้เอาชนะกันกลับหันหน้าเข้าหากันด้วยท่าทีที่รักเมตตาต่อกัน

และถ้านี่ควรเป็นมุมมองใหม่ของคริสตจักรท้องถิ่นที่มีต่อกัน เอกภาพความเป็นหนึ่งของคริสตจักรในพระคริสต์ก็จะชัดเจน และ สังคมโลกจะมีมุมมองต่อคริสตจักรในเชิงบวกและเกิดความสนใจแน่นอน

6. มองให้เห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19

ให้เราคริสตชนอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างร้อนรนจริงใจในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 และในเวลาเดียวกันให้เรารับใช้คนในชุมชนด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ตามศักยภาพ ความสามารถ ตามของประทานที่มีในแต่ละตัวคน ตามบริบทของสังคม 

ในเวลาเดียวกันให้เรารักและใส่ใจทุกคนในพระกายของพระคริสต์คือสมาชิกคริสตจักรในภาวะที่เราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม แม้ว่าแต่ละคนแต่ละบ้านสมาชิกต่างต้องอยู่ในพื้นที่ของตนเอง แต่เราต้องตระหนักเสมอว่าพระเจ้าสถิตเคียงข้างเราเสมอไม่ว่าเราจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตามในสถานการณ์นี้

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ แม้จะเป็นสถานการณ์ที่เราเห็นว่าเลวร้าย ทำร้าย และ ทำลาย เราคริสตชนแต่ละคนต้องนิ่ง และ สงบแล้วมองให้เห็นในแต่ละวันถึง “พระหัตถ์ของพระเจ้า” ว่าพระองค์กำลังกระทำพระราชกิจอะไรในภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงเวลานี้ และเราจะมีส่วนเข้าร่วมในพระราชกิจนี้อย่างไรในชุมชนของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น