27 เมษายน 2563

ในช่วงวิกฤติ...ทีมงานคาดหวังอะไรจากผู้นำ

เมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 ทีมงานคาดหวัง 3 สิ่งจากผู้นำของเขา..

1. ให้ “มุมมอง” ต่อปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

คนส่วนมากในตอนนี้บริโภคข่าวสารได้ทั้งวัน และรู้สึกทุกข์ใจ ห่วงกังวลจากข่าวร้ายที่ตนเสพมา ผู้นำที่ดีจะไม่ปล่อยให้ทีมงานเสพข่าวจำนวนมากเท่านั้น แต่จะช่วยให้มุมมองต่อสถานการณ์ของปัญหาเหล่านั้นว่าเราจะมองด้วย “มุมมอง” ใด

แม้ว่า วิกฤติโควิด 19 มิใช่วิกฤติที่เลวร้ายที่สุดที่เราเคยผ่านพบมา แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่เราจำเป็นต้องใส่ใจ เราต้องมีมุมมองที่ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นก็นำข้อมูล ความรู้ รายละเอียดที่ได้รับมาประกอบหนุนเสริมเป็นแหล่งปัญญาสำหรับคนในทีมงาน ไม่ว่าบางคนจะโน้มหนักไปทางสุดขั้วด้านไหนก็ตาม   เช่น บางคนที่รู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้มิใช่เรื่องใหญ่อะไรมากมาย หรือ บางคนที่รู้สึกเหมือนว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟ้ากำลังถล่มทลายทับลงมาทีเดียว ผู้นำควรให้มุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเผชิญ

2. การประยุกต์ใช้ด้วยวิธีการและขั้นตอนที่ชัดเจน

ทีมงานส่วนมากในภาวะวิกฤติเช่นนี้ คาดหวังวิธีการ และ ขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนจากผู้นำของเขา ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนกำลังสับสน วุ่นวายใจ เกิดความไม่มั่นใจ สั่นคลอน หวั่นไหว การช่วยทบทวนถึงสิ่งพื้นฐานของวิธีการ ขั้นตอนต้องปฏิบัติในวิกฤตินั้น ๆ มีอะไรบ้าง เช่น

ในกรณีของวิกฤติโควิด 19 ที่ทีมงานแต่ละคนต้องปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบ ในการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งเพื่อที่ตนจะไม่รับเชื้อ หรือ แพร่กระจายเชื้อแก่คนอื่น เช่น  “กินร้อน ช้อนตัว ล้างมือเป็นประจำ” ทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ชุมชนพบคนอื่นให้สวมหน้ากากอนามัย วางระยะห่างจากกันและกัน 1-2 เมตร เป็นต้น ความจริงก็คือว่า ความชัดเจนเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สุดที่ผู้นำให้กับทีมงานในภาวะวิกฤติเช่นนี้

3. ให้ความเชื่อและความหวัง ...ต่ออนาคตที่ดีกว่า

นโปเลียน โบนาปาร์ต กล่าวไว้ว่า “ผู้นำคือผู้ให้ความหวัง”

บ่อยครั้ง เราในฐานะผู้นำไม่ได้ให้ความเชื่อและความหวังที่ดีกว่าในอนาคตแก่ทีมงานของเราในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กำลังประสบพบเจอชัดเจนเพียงพอ วิกฤติที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง   สิ่งที่เป็นวิกฤติกลับคลี่คลายเปลี่ยนไปสู่ “วิถีการดำเนินชีวิตปกติใหม่ในทางสังคม” (หรือ ชุดพฤติกรรมใหม่ทางสังคม new normal) ที่ต้องปฏิบัติของสังคมก็ งเป็นสถานการณ์ปกติที่ดีกว่าวันนี้

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในวิกฤติประเทศไทยคือ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ในตอนต้นอาจจะตระหนกกลัวไปสักชั่วครู่หนึ่ง แต่หลังจากนั้น คนทุกภาคส่วนเริ่มทยอยเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือกอบกู้สถานการณ์เลวร้ายนั้น ในครั้งนี้เราต้องปรบมือให้ความชื่นชมแก่ทีมงานแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุข  ทางสุขภาพ รวมถึง อสม. ทั้งฝ่ายความมั่นคง การปกครอง ภาคธุรกิจ ประชาชนที่ให้ความร่วมมือเก็บกักตนเอง และ การวางระยะห่างทางสังคม   และ ฯลฯ ที่ได้ทุ่มเทเสียสละความสะดวกสบายชีวิตส่วนตัวเพื่อส่วนรวมที่จะมุ่งไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้

ผู้นำจะนำการประชุมปรึกษางานออนไลน์อย่างไรดี?

ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่เราต้องวางระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการพบปะชุมนุมทำกิจกรรมใด ๆ รวมถึงการประชุมปรึกษางาน ในหลายแห่งทีมงานจะประชุมปรึกษาพบปะกันทางออนไลน์ ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ในฐานะผู้นำทีมงานจะนำการพบปะพูดคุยปรึกษางานกันทางออนไลน์อย่างไร? ข้างล่างนี้เป็นประเด็นหลักปฏิบัติสำคัญสำหรับผู้นำทีมคือ...

1. เริ่มต้นด้วยการใส่ใจในประเด็นส่วนตัวของทีมงานแต่ละคน

เมื่อทีมงานสัมผัสได้ว่าผู้นำใส่ใจ ห่วงใย เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตส่วนตัวของพวกเขา ทีมงานจะรู้สึกมั่นคงในการที่จะมุ่งใส่ใจเกี่ยวกับงานที่ทีมงานจะต้องทำและรับผิดชอบ ให้เริ่มต้นพูดคุยจากเรื่องที่เกี่ยวกับ “สุขภาวะในชีวิตส่วนตัว” ของทีมงานแต่ละคนก่อน แล้วจึงตามด้วย “สุขภาวะในทีมงาน” แล้วจึงลงรายละเอียดในเรื่องภาระการงานของทีม

2. เริ่มเรื่องที่ยาก หนัก ลำบากก่อนเรื่องที่ง่าย

จากประสบการณ์ผมพบว่าการที่เริ่มต้นจากเรื่องที่ยากก่อน หรือเริ่มต้นจากข่าวร้ายก่อน แล้วค่อยไปพิจารณาเรื่องที่ง่าย และ ข่าวดีภายหลังน่าจะช่วยการพูดคุยปรึกษาเป็นไปได้ดีกว่า...เริ่มจากเรื่องยากไปหาง่ายครับ

3. ให้ภาพใหญ่ก่อนลงในรายละเอียดของแต่ละเรื่องแต่ละงาน

ในการพูดคุยปรึกษางานกัน ผู้นำควรช่วยให้ทีมงานเห็น “ภาพใหญ่” ของงานที่ปรึกษาในวันนั้นก่อน เพราะเมื่อทุกคนได้เห็นและเข้าใจภาพใหญ่แล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องแต่ละเรื่องในภาพใหญ่ทุกคนก็จะสามารถช่วยกันใส่รายละเอียดที่เหมาะตามมุมมองนั้น แล้วผู้นำจึงนำข้อเสนอในรายละเอียดของแต่ละคนปรากฏขึ้นบนจอภาพให้ทุกคนได้เห็น   จากนั้นให้เชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นกระบวนการที่จะใช้ดำเนินการ-ปฏิบัติด้วยกันในทีมงานต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น