19 เมษายน 2563

หลังโควิด 19... เราจะต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานพันธกิจหรือไม่?

ในช่วงวิกฤตโควิด 19 ผมได้ยินมาว่าศิษยาภิบาลหลายท่านที่ได้พึ่งพิงสมาชิกคริสตจักรของตนที่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่อสารทางดิจิตัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนมัสการพระเจ้า และ ในการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ที่ผ่านมา และตัวศิษยาภิบาลเองก็ได้เห็นแล้วว่าเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่เหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในพันธกิจของคริสตจักร และได้เรียนรู้และเห็นถึงคุณค่าในของประทานด้านนี้ของสมาชิกเหล่านั้น ผมเองหวังว่า หลังโควิด 19 ศิษยาภิบาลจะเชิญคนเหล่านี้เข้ามาร่วมในพันธกิจคริสตจักร การเสริมสร้างและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบแก่สมาชิกที่มีของประทานในทางนั้น ๆ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่า ศิษยาภิบาลทุกท่านจะทำเช่นว่านี้ ทั้งนี้เพราะศิษยาภิบาลส่วนหนึ่งมีความจำกัด-ติดขัด (ส่วนตัว) ในการสร้างเสริมสมาชิกให้ร่วมในการทำงานพันธกิจ ดังนี้

1. ศิษยาภิบาลให้คุณค่าของตนอยู่ที่ผลของงานที่ทำ  

ในเมื่อเราให้คุณค่าของตนอยู่ที่ความสำเร็จในองค์กรที่ตนเป็นผู้นำ เราจึงมักจะไม่มอบหมายงานความรับผิดชอบให้คนอื่นทำ เพราะมองว่านั่นเป็นวิธีการที่เสี่ยงเกินไปที่จะทำเช่นนั้น เพราะคุณค่าความสำคัญจากความสำเร็จจะตกไปอยู่กับคนอื่น เรื่องนี้ติดขัดที่มุมมองของศิษยาภิบาลครับ

2. เพราะเรามิได้ใส่ใจกับภาพของ (คริสตจักรเปรียบเหมือน) การทำงานในพระกายพระคริสต์ตามใน 1 โครินธ์ บทที่ 12  

ถ้าเราเลือกที่จะทำทุกอย่างในคริสตจักรด้วยตัวของเราเอง เราก็กำลังปฏิเสธภาพการทำงานของพระกายพระคริสต์ จึงไม่แปลกที่ศิษยาภิบาลบางท่านบ่นว่าตนต้องทำหน้าที่เป็นภารโรง ถึง นักเทศน์ เพราะศิษยาภิบาลมีความอ่อนด้อยในการมอบหมายงานพันธกิจด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมแก่สมาชิกแต่ละคน มักจะมีคำถามว่า “แล้วเขาจะทำได้หรือ?”

3. เราไม่เคยเห็นรูปแบบตัวอย่างของการมอบหมายงานที่ดี 

ศิษยาภิบาลหลายท่านได้รับเอารูปแบบการทำงานจากศิษยาภิบาลเดิมของตนที่มีจุดอ่อนในการมอบหมายงานเช่นกัน หรือไม่ก็มักคิดว่าเราต้องทำเองทุกอย่างเพื่อเราจะมีคุณค่าในสายตาของคณะธรรมกิจ ผู้ใหญ่ในคริสตจักร และ สมาชิก ศิษยาภิบาลขาดประสบการณ์ตรงที่สำคัญ และหลายท่านไม่ได้รับสิ่งนี้จากพระคริสต์ธรรม

4. เราต้องปล้ำสู้กับการที่ “ตนเองเป็นรูปเคารพ” ในใจของตน

ศิษยาภิบาลกลุ่มนี้จะมีความคิดความเชื่อว่า ในคริสตจักรนี้ไม่มีใครที่สามารถทำได้ดีกว่าตน ดังนั้นจึงสรุปว่า ไม่มีใครที่สมควรจะทำสิ่งเหล่านี้ หรือไม่มีใครทำสิ่งนี้ได้ นอกจากตนเอง

5. เราไม่มีเวลา หรือ มีกำลังที่จะฝึกสอนให้คนอื่นทำ 

การฝึกฝนคนอื่นให้ทำงานพันธกิจใด ๆ ต้องใช้เวลา ต้องลงทุนลงแรงมาก อีกทั้งเป็นงานที่ยุ่งยากซับซ้อน ถ้าเราทำเองมันง่ายกว่าเยอะ อีกทั้งทำให้คนรอบข้างเห็นว่าตนมีงานที่ต้องทำที่เร่งรีบและล้นมือ ศบ.กลุ่มนี้คิดว่านี่คือวิธีสร้างคุณค่าในตนเอง?

6. เราชอบการควบคุมและเราต้องการควบคุม  

พูดตรงไปตรงมา ลึก ๆ เรามีความรู้สึกว่า ถ้าเราฝึกใครสักคนจนทำเป็นดีและมีความสามารถ เมื่อเราให้เขาออกไปทำงานที่เราฝึกให้นั้น เขาก็เริ่มจะออกห่างจากการควบคุมของเรา เพราะเขาสามารถทำด้วยตนเองได้ เขาจะอยู่ใต้การควบคุมของเราน้อยลง เรารู้สึกสูญเสียอำนาจในการควบคุม?

7. เราเคยมีประสบการที่ไม่ดีกับการมอบหมายงาน  

ประสบการณ์ที่แย่ ๆ ของอดีตมันคอยหลอกหลอนเรา ทำให้เรามัวใส่ใจคอยขจัดความผิดพลาดในอดีตในงานใหม่ที่กำลังมอบหมาย (ซึ่งสถานการณ์ครั้งใหม่ไม่จำเป็นจะต้องมีสถานการณ์เหมือนซ้ำกับอดีตที่ผ่านมา)  

8. เราไม่มีวิธีการและกระบวนการที่จะช่วยให้สมาชิกคริสตจักรในการค้นหาของประทานที่มีอยู่ในตัวของสมาชิกแต่ละคน

เราจะมอบหมายงานและพันธกิจได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้ว่าแต่ละคนที่เราจะมอบหมายนั้นมีของประทานอะไรบ้างในตัวเขา แย่กว่านั้นอีก ถ้าเจ้าตัวไม่รู้ว่าตนเองมีของประทานอะไรบ้าง ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ช่วยให้สมาชิกในการค้นพบของประทานจากพระเจ้าในตัวของเขา  

9. คริสตจักรไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนสมาชิกในการทำงานและพันธกิจของคริสตจักร

ทั้งนี้เพราะคริสตจักรมีมุมมองว่า เขาจ้างศิษยาภิบาลมาก็เพื่อที่จะให้ทำงานและพันธกิจเหล่านี้ของคริสตจักรอยู่แล้ว

10. เรากลัวว่าคนอื่นจะทำดีกว่าตัวเราเอง (และอาจจะได้รับเกียรติจากงานที่เขาทำ) 

ไม่มีใครยอมรับอย่างเปิดเผยหรอกว่าเราคิดเช่นนั้น แต่ศิษยาภิบาลกลุ่มหนึ่งที่ต้องปล้ำสู้กับความคิดนี้ในตนเอง

11. เรามองไม่เห็นว่าพันธกิจที่ทำนั้นมีความสำคัญจำเป็นต่อชุมชนสังคมโลก  

เรามักมองว่าพันธกิจที่เราทำนั้นเป็นเพียงสิ่งที่สำคัญจำเป็นในคริสตจักร และ บางเรื่องในชุมชนเท่านั้น ไม่ได้เป็นความสำคัญจำเป็นอะไรมากมายต่อสังคมโลกโดยส่วนรวม ดังนั้นไม่น่าจะต้องทุ่มเทฝึกฝนคนมากมายถึงขนาดนั้น

12. เราไม่ได้อธิษฐานทูลขอเพียงพอสำหรับขอคนทำงานและพันธกิจเพิ่มมากขึ้น  

ถ้าเราอธิษฐานอย่างที่พระคริสต์สอนในลูกา 10:1-2 ทูลขอคนทำงานเพิ่มมากขึ้นแล้ว เราจำเป็นจะต้องเตรียมและฝึกฝนคนอื่น ๆ ในคริสตจักรและเต็มใจแบ่งปันภาระงานกับคนเหล่านี้

การเปลี่ยนแปลง พัฒนาการทำพันธกิจของคริสตจักรหลังโควิด 19 คงไม่ใช่คริสตจักรท้องถิ่นทุกแห่งที่จะทำให้เกิดขึ้นเองได้ แต่มีคำถามว่า แล้วหน่วยงานเสริมพันธกิจคริสตจักร หน่วยงานศิษยาภิบาล สภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการหนุนเสริมศิษยาภิบาลในเรื่องข้างต้นนี้ หลังโควิด 19 หรือไม่ อย่างไร? อาจจะเป็นประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาร่วมกันกับคริสตจักรท้องถิ่นทั้งหลาย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น