13 เมษายน 2563

สงครามทางจิตวิญญาณ...ในวิกฤติ “โควิด 19”

ผมไม่เคยคิดเลยว่า แผนยุทธศาสตร์สงครามทางจิตวิญญาณที่ซาตานมันกำหนดและใช้ขับเคลื่อน “ยุทธศาสตร์แพร่เชื้อโควิด 19” มันกลายเป็นแผนยุทธศาสตร์ถล่มทลายสังคมทั้งโลก และยุทธศาสตร์นี้ยังทะลุทะลวงเข้าไปในใจกลางของครอบครัวด้วย และสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อจิตวิญญาณของผู้คน ซึ่งแสดงออกชัดทางพฤติกรรม  ดังนี้

1. เกิดความวิตกกังวลที่ตระหนกกลัว   

ความกลัวสามารถทำให้เกิดความความมึนชาทั้งชีวิตจิตวิญญาณ ความตื่นตระหนกกลัวต่อสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจย่อมสร้างความสับสนงุนงงเช่นเดียวกับความตระหนกกลัวในสิ่งที่รู้  

แต่พระเจ้า มิได้ให้จิตวิญญาณที่ขลาดประหม่ากลัว (2 ทิโมธี 1:7)  ดังนั้น ในภาวะวิกฤตที่เราเผชิญอยู่เราจะต้องตัดสินใจอย่างเท่าทันชาญฉลาด อย่าตกลงในกับดักแห่งความว้าวุ่น สับสน วิตกกังวลที่มารวางดักไว้

ระวัง...อย่าถลำตัวไปสู้กับมารด้วยกำลังของตนเอง โดยลืมไปว่า พระเจ้าต่างหากที่จะเป็นกำลังสู้เพื่อเรา

2. กลับไปพึ่ง “นิสัยเสพติด”  

ความเครียดจะทำให้เราเลือกเส้นทางเดินที่ผิดพลาดเบี่ยงเบน บางคนเมื่อเกิดความเครียดจะหันเข้าหาพวกสื่อลามกอนาจารเพื่อ “คลายเครียด” โดยเฉพาะเมื่อตนเองต้องเก็บกักตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือ แต่ในห้องของตนเอง   ในช่วงเวลาที่แยกตัวเองออกจากคนอื่น ๆ

ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ (แต่เต็มไปด้วยพิษร้าย) ที่มารหยิบยื่นให้ เพื่อให้เราตกเป็นเชลยสงครามทางจิตวิญญาณ

3. ความขัดแย้งในชีวิตแต่งงาน  

เจ้าศัตรูตัวเดียวกันที่เคยทำให้ชีวิตของอาดัมและอีวาเกิดวิกฤติขัดแย้ง ตามที่ปรากฏในปฐมกาล บทที่ 3  มารก็ยังใช้วิธีการหลอกล่อเช่นเดียวกันกับคู่สมรสในปัจจุบัน และเมื่อสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 กดดันให้คู่สมรสต้องใช้ชีวิตแยกห่างทางสังคมให้อยู่แต่ในบ้าน มักก่อให้เกิดเรื่องความขัดแย้งมากขึ้นได้ และที่น่าเศร้าคือ ลูกที่อยู่ด้วยต้องรับผลของความขัดแย้งนี้เต็ม ๆ

อย่าตกเป็นเครื่องมือของมารในสงครามจิตวิญญาณครั้งนี้

4. ความท้อแท้สิ้นหวังในการอภิบาล   

ในภาวะวิกฤติโควิด 19 ทำให้ผู้อภิบาลหลายท่านต้องพบกับความยากลำบากในการอภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักร   เมื่อสมาชิกต้องพบกับวิกฤติในชีวิตตน ยิ่งในครั้งนี้ครอบครัวสมาชิกและผู้อภิบาลต้องพบกับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ทำให้เกิดความมึนงง สับสน ตระหนกกลัว นำไปสู่ความสิ้นหวัง เช่นในกรณีต้องยกเลิกการนมัสการพระเจ้าร่วมกันที่โบสถ์ หรือ ตามบ้าน  และเลวร้ายอย่างยิ่งก็คือ ในการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ปีนี้   เราต้องฉลองอีสเตอร์อยู่แต่ในบ้านของแต่ละครอบครัว ดูมันประหลาด? ผู้อภิบาลเกิดคำถามว่า ตนจะจัดให้มีการเฉลิมฉลองอีสเตอร์อย่างไร รูปแบบไหนดี? และนี่เป็นความวิตกกังวลลึก ๆ ของผู้อภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรแต่ละท่าน ผู้อภิบาลหลายท่านสิ้นหวังหมดกำลังใจ  

ระวัง...มารกำลังโจมตีจิตวิญญาณของผู้อภิบาลในขณะที่เราเผลอ!

5. ความอหังการที่เห็นแก่ตัว   

การที่มีบางคนที่เห็นแก่ตัว ทำตามใจตนเอง ไม่ยอมที่จะเว้นระยะห่างทางสังคม และ เก็บกักตนอยู่แต่ในบ้านตามคำแนะทางทางการแพทย์และสังคม เพื่อเป็นการลดและจำกัดการแพร่ขยายของเชื้อไวรัสโควิด 19 คนกลุ่มนี้เห็นแก่ตัวเอาแต่ใจตนเอง ซึ่งเขาไม่น่าจะเรียกตนเองว่าเป็นคริสตชน เพราะคุณลักษณะหนึ่งของสาวกพระคริสต์คือ  ปฏิเสธตนเอง (ปฏิเสธที่จะทำตามใจตนเอง) แล้วแบกกางเขน (ร่วมในความทุกข์ยากกับพระคริสต์และสาวกคนอื่น ๆ) แล้วดำเนินชีวิตตามพระองค์ไป

ระวัง...หน้าที่ความรับผิดชอบของคริสตชนต่อพระคริสต์ และ ส่วนรวมสำคัญกว่า “สิทธิเสรีภาพของตนเอง” ที่มารเอามาหลอกล่อเราในนามของ “ประชาธิปไตย”

6. เมื่อคริสตชนมองว่า“การต้องวางระยะห่างทางสังคม”จะทำให้คริสตจักรพ่ายแพ้

คริสตจักรไทยที่ผ่านมา เราเป็นคริสตจักรที่มาพบปะ และ ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ แต่เมื่อต้องพบกับสถานการณ์ที่ให้แต่ละคนแต่ละครอบครัวต้องเว้นระยะห่างทางสังคม บ้างต้องเก็บกักตัวในบ้านในครอบครัว และที่สำคัญคือเมื่อเราไม่สามารถที่จะนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ด้วยกัน หลายคนเกิดคำถามว่า นี่เป็นชัยชนะของซาตานในการทำลายชุมชนคริสตจักรใช่ไหม? สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้จะเป็นไปอีกยาวนานแค่ไหน? และเมื่อเปิดให้มานมัสการร่วมกันใหม่เราจะเหลือสมาชิกมาร่วมนมัสการกันสักกี่คน? จะมีสมาชิกที่หายไปไหม? และที่ผู้อภิบาลห่วงใยคือมีสมาชิกบางคนถ้าต้องแยกอยู่ห่างจากเพื่อนสมาชิกในคริสตจักร เขาอาจจะถูกโจมตีกระหน่ำทางความเชื่อแล้วใครจะให้การอภิบาล? อภิบาลอย่างไร?

ระวัง...อย่าให้มารมันปิดหูปิดตาทางจิตวิญญาณของเรา ให้มองว่า...นี่เป็นการทำงานของมารที่กำลังมีชัย แต่ในวิกฤติเช่นนี้อย่าลืมว่า พระเจ้าก็กระทำพระราชกิจของพระองค์มิใช่เอาชนะมารเท่านั้น แต่ทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของพวกเราด้วย พระองค์ทรงเปิดแนวทางที่เหมาะสมสำหรับคริสตจักรและคริสตชน

7. มารทำให้เรามองพลาด-สำคัญผิดในเรื่องการประกาศพระกิตติคุณ

แท้จริงแล้วเราคงยอมรับกันว่า การที่สมาชิกของเราเมินเฉยในการประกาศพระกิตติคุณนั้นมีก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด 19 แล้ว ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด 19 ที่หลายคนคิดว่าเป็นโอกาสที่จะประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะคริสตชนไม่พร้อมที่จะทำ 

การเห็นโอกาส กับ การนำพระกิตติคุณเข้าไปถึงชีวิตของผู้ที่ยังไม่เชื่อ ย่อมแตกต่างกันอย่างชัดเจน ศัตรูทำให้คริสตชนสบายใจในสถานการณ์เลวร้ายนี้ว่า นี่เป็นโอกาสในการประกาศพระกิตติคุณ...แต่ไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้   ถ้าคริสตชนพยายามนำพระกิตติคุณเข้าถึงชีวิตของคนที่ยังไม่เชื่อมันเตรียมแผนขัดขวางอย่างเต็มที่...

ในวันนี้แม้เราจะอยู่ในภาวะที่ยังไม่พร้อมที่จะนำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เข้าถึงชีวิตผู้ที่ยังไม่เชื่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำอะไรไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะเริ่มต้นอธิษฐานอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง โดยการอธิษฐานเผื่อคนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • อธิษฐานเผื่อศิษยาภิบาล และ ผู้นำในคริสตจักรของท่าน
  • เลือกอธิษฐานเจาะจงเผื่อผู้ที่ยังไม่เชื่อ 1 คน ที่ท่านรู้จักและอยู่ใกล้เคียงในพื้นที่ที่ท่านอยู่
  • อธิษฐานเผื่อผู้สูงอายุที่มีสภาพชีวิตที่ยากลำบากมากในเวลานี้ที่อยู่ในชุมชนของท่าน
  • อธิษฐานเผื่อบุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และ สาธารณสุขในชุมชนของท่าน และที่โรงพยาบาลอำเภอของท่าน และอย่าลืม อสม. ในชุมชนของท่าน
  • อธิษฐานเผื่อนักการเมืองท้องถิ่น เทศบาล อบต. ผู้นำชุมชน


ศึกสงครามทางจิตวิญญาณครั้งนี้ใหญ่หนักหนา แต่อย่าสิ้นหวัง และก็ต้องไม่ทำผิดพลาดคิดว่าตนจะสู้กับมารร้ายด้วยกำลังของเราที่มีอยู่ สงครามครั้งนี้เป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่สู้เพื่อเราและอยู่เคียงข้างเราในยามที่มารโหมกระหน่ำซ้ำเติมเราอยู่ทุกเวลา กางเขนและการเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์ยืนยันชัยชนะในพระราชกิจของพระเจ้าในสถานการณ์โควิด 19 ครั้งนี้


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น