29 กันยายน 2563

รับมือกับความหลงลืมในชีวิตประจำวัน

บทใคร่ครวญประจำวันสำหรับผู้สูงวัย+ญาติ และ ผู้เขียนเอง

คนที่มีญาติมิตรคนสนิทที่เป็นผู้สูงอายุที่เกิดอาการหลงลืม ท่านเคยพบไหมว่า ผู้สูงอายุท่านนั้นทานอาหารไปแล้ว  แต่บอกลูกหลานหรือคนดูแลว่า ยังไม่ได้รับประทาน ขอกินข้าวหน่อยซิ! แล้วคนรอบข้างจะตอบสนองหรือมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อผู้สูงอายุท่านนั้น? 

ดร. แฮโรลด์ ซี. อูเรย์ (Dr. Harold C. Urey) ศาตราจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีกำลังเดินไปบนทางเท้าในมหาวิทยาลัย ท่านเห็นเพื่อนอาจารย์ ท่านรีบวิ่งข้ามถนนมาหาเพื่อนคนนั้น เขาหยุดเดินเพื่อพูดคุยกันสักพักหนึ่ง หลังจากนั้น ดร. อูเรย์ ถามเพื่อนคนนั้นว่า “เอ...เมื่อกี้ก่อนที่เราจะพบกัน ผมกำลังเดินไปทางไหน?” เพื่อนอาจารย์ท่านนั้นมองศาสตราจารย์ อูเรย์ ด้วยความงงโงย พร้อมกับชี้ไปถนนข้างหน้าเขาว่า “ไปทางนั้น ดร.อูเรย์”

ดร. อูเรย์ ร้องอุทานออกมาว่า “ขอบคุณมากครับ...นั่นแสดงว่าผมไปรับประทานอาหารกลางวันมาแล้ว”

ไม่ว่าเราจะเก่งกาจฉลาดแค่ไหน อาการหลงลืมก็มักคืบคลานเข้ามาในวัยสูงอายุนี้ บางครั้งเราอาจจะลืมวันเกิด ลืมการนัดหมาย และบางสิ่งบางเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญมาก แต่ถึงแม้สิ่งนั้นจะสำคัญแค่ไหนเราก็อาจจะลืมได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่แท้จริงมิใช่การที่เราจะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่การที่เราสามารถจดจำสิ่งที่สำคัญจริงแท้ที่สุดได้ต่างหากที่จำเป็น

เมื่อเราเกิดหลงลืมในบางสิ่งบางเรื่อง ทำให้เรารู้สึกแย่ ขอให้เราตระหนักเสมอว่า สิ่งที่สำคัญจริงแท้สำหรับเราคืออะไร? สำหรับคริสตชนสิ่งที่สำคัญจริงแท้ที่สุดคือ รักพระเจ้าและรักคนอื่น

เมื่อเราท่านคริสตชนตระหนักชัดเจนเช่นนั้น เราจะสำแดงความรักเมตตาต่อคนอื่นเมื่อเขาเกิดอาการหลงลืม เมตตาต่อตนเองเมื่อมารู้ตัวว่าตนเองลืมอีกแล้ว แทนที่จะหัวเราะและมองว่าคนนั้น “หลงลืมอีกแล้ว” ว่าเป็นคนผิดปกติ เป็นคนที่กำลังเป็นความจำเสื่อม หรือ ผู้สูงอายุเครียดกับตนเองที่หลงลืมอีกแล้ว ให้เรารักเมตตาต่อตนเอง รักเมตตาต่อคนอื่น รักเมตตาต่อคนที่หลงลืมเป็นความจำเป็นสำคัญยิ่ง

บางครั้ง ความหลงลืมเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย อย่าให้ความหลงลืมทำให้ท่านรู้สึกหงุดหงิด โกรธตนเอง  อับอาย หรือ สิ้นหวังในชีวิต สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักชัดว่า ให้เรารักษาความจำในความจริงที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ รักพระเจ้า และ รักเพื่อนมนุษย์ ส่วนรายละเอียดของความจำในส่วนอื่น ๆ ค่อย ๆ ว่ากันไปทีหลัง เพราะถึงแม้เราเป็นคนที่มักหลงลืมอะไรต่อมิอะไร แต่เรารักพระเจ้าสุดชีวิต และรักเมตตาคนรอบข้างด้วยชีวิตที่เรามีอยู่   นั่นก็เป็นการเพียงพอที่จะเป็นผู้ที่มีคุณค่าแล้ว

[5] ท่านจงรักพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านด้วยสุดจิตสุดใจและสุดกำลังของท่าน [6] และจงให้ถ้อยคำเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าบัญชาท่านในวันนี้อยู่ในใจของท่าน [7] และท่านจงสอนถ้อยคำเหล่านั้นแก่บุตรหลานของท่าน และจงพูดถึงถ้อยคำเหล่านั้นเมื่อท่านนั่งอยู่ในบ้าน เดินอยู่ตามทาง นอนลงหรือลุกขึ้น [8] จงเอาถ้อยคำเหล่านี้ผูกไว้ที่มือของท่านเป็นหมายสำคัญ และคาดไว้ที่หน้าผากของท่านเป็นสัญลักษณ์ [9] และจงเขียนถ้อยคำเหล่านี้ไว้ที่เสาประตูบ้าน และที่ประตูของท่าน (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5-9 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



28 กันยายน 2563

ผู้อภิบาลประเมินตนเองในประเด็นอะไรบ้าง?

การประเมินตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้นำทุกคน ยิ่งสำหรับผู้อภิบาลแล้ว การประเมินตนเองมีความสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ผู้อภิบาลรู้เท่าทันตนเอง เป็นโอกาสที่เจ้าตัวจะได้ปรับแก้ และ พัฒนาชีวิตในการรับใช้การอภิบาลของตน  

โดยทั่วไปแล้วมีแบบการประเมินตนเองของผู้อภิบาลที่เป็นทางการที่มีผู้ออกแบบประเมินไว้ แต่ในคริสตจักรไทยดูเหมือนผู้อภิบาลจะไม่คุ้นชินในสิ่งนี้ จึงไม่ค่อยมีการประเมินตนเองอย่างเป็นระบบ หลักการ และประจำ

แต่อย่างไรก็ตาม ผมทราบว่าผู้อภิบาลแต่ละท่านมีการประเมินชีวิตและการทำงานรับใช้ของตนเองอย่างไม่เป็นทางการ อย่างไม่เป็นระบบ แต่มีการประเมินตนเองเป็นการส่วนบุคคล จึงไม่รู้ว่าเมื่อประเมินแล้วผลเป็นอย่างไร? มีการใช้ในการปรับแก้พัฒนาตนเองและการรับใช้ไหม? และส่วนตัวผมอยากรู้ว่า ผู้อภิบาลของเราประเมินตนเองในด้านอะไรและเรื่องไหนบ้าง?

ครั้งหนึ่งเมื่อมีการพูดคุยในกลุ่มผู้อภิบาล ได้มีการถามขึ้นมาว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้อภิบาลเรามีโอกาสในการประเมินชีวิตของตนเองหรือไม่? โดยไม่ใช้แบบประเมินที่คนอื่นสร้างขึ้นมาให้เราประเมินตนเอง หรือแบบประเมินตนเองของผู้อภิบาลที่เป็นแบบทางการ แต่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นในความนึกคิด สำนึกของเรา ที่ถามตัวเราเองมีบ้างไหม? คำถามเหล่านั้นมีอะไรบ้างสำหรับแต่ละคน?

ยากครับ เพราะนี่เป็นเรื่องส่วนตัว...ของแต่ละคน กว่าจะแคะออกมาได้ก็ใช้เวลาพอประมาณ ซึ่งน่าสนใจครับ  รวบรวมได้เพียง 9 ข้อ เมื่ออ่านแล้วท่านอาจจะช่วยเพิ่มเติมให้มากขึ้นก็ขอน้อมรับด้วยความยินดีครับ นี่คือคำถามประเมินตนเองที่ผมได้จากศิษยาภิบาลกลุ่มหนึ่งครับ

1. ถ้ามีคนที่มาอยู่ใกล้ชิดฉันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาจะเห็นชีวิตการอธิษฐานของฉันอย่างที่ฉันสอนสมาชิกหรือไม่?

2. ถ้าพระคัมภีร์ที่เขียนเป็นเล่ม หรือ ที่มีเป็นไฟล์ในคอมพิวเตอร์ไม่อยู่กับตัวฉัน ฉันจะรู้สึกว่าขาดและคิดถึงอย่างมากไหม?

3. ฉันพูดถึงเรื่องของพระเจ้า หรือ ฉันได้พูดกับพระเจ้า อันไหนมากกว่ากัน?

4. มีใครบ้างไหมในวันนี้ที่เขาได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าเพราะฉันได้แบ่งปันพระกิตติคุณแก่เขา?

5. ฉันขาดการดูแลสุขภาพกายของตนเองหรือไม่? (แล้วอาจจะแก้ตัวว่าเพราะฉันต้องยุ่งอยู่กับการทำงานพันธกิจมากมาย)

6. รูปเคารพแบบไหนที่ฉันเคารพบูชาในทุกวันนี้? (เช่น อาหาร โทรทัศน์/โทรศัพท์มือถือ ชื่อเสียง หรือ ...)

7. ฉันได้ช่วยคนอื่นทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระเจ้ามากกว่าที่เขาเคยทำมาก่อนหรือไม่?

8. ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ฉันได้พูดสิ่งที่น่าอับอายให้ลูกศิษย์ลูกหาได้ยินหรือไม่? ทำไมฉันถึงพูดเช่นนั้น?

9. ถ้าพระเจ้าเรียกฉันให้จากโลกนี้ไปในวันนี้ฉันจะได้ผ่อนพักในอ้อมแขนของพระองค์หรือไม่? ทำไมฉันถึงคิดและรู้สึกเช่นนั้น?

ส่วนตัวเห็นว่านี่เป็นการเริ่มต้นที่เราจะช่วยการพัฒนาเครื่องมือในการประเมินตนเองของผู้อภิบาลในคริสตจักรไทย   ที่ประเมินในเชิงคุณภาพเพื่อการพัฒนาตนเองเป็นสำคัญ และเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการรับใช้อภิบาลของศิษยาภิบาลแต่ละคน

ถ้าท่านใดมีคำถามประเมินตนเองนอกเหนือจากนี้ กรุณาแบ่งปันกับผมเพื่อรวบรวมจัดทำเป็นชุดเครื่องมือประเมินตนเองเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตการอภิบาลในอนาคตจักเป็นพระคุณอย่างมากครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



25 กันยายน 2563

“มิเรียม”...วีรสตรีน้อย

วีรบุรุษ และ วีรสตรี ทุกคนต่างมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่บอกเล่าถึงพลังจากการต่อสู้การทำร้ายทำลายที่พวกเขาต้องเผชิญหน้าต่อสถานการณ์ภัยร้ายในเวลานั้น ทำให้เราคิดถึงเรื่องราวของโมเสส ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่โมเสสพบกับ “ต้นไม้ที่ไฟไม่ไหม้” หรือ “ภาพของโมเสสชูไม้เท้าเหลือทะเลแดงที่น้ำแยกออก”

แต่สำหรับผมแล้ว ผมสนใจเรื่องราวเล็ก ๆ แต่เป็นที่มาของ “ไม้ซีกที่งัดกับไม้ซุงแห่งอำนาจล้นฟ้าของฟาโรห์” จนมหาอำนาจโลกในเวลานั้นต้องยอมปล่อยชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในแผ่นดินอียิปต์ และเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ว่านี้คือเรื่องของเด็กหญิงมิเรียมที่เดินตามตะกร้าที่ลอยไปตามแม่น้ำไนล์ ข้างในมีทารกน้อยโมเสสซึ่งเป็นน้องชายของเธอเอง

หลังจากแม่คลอดทารกน้อยโมเสส และพยายามเลี้ยงดูเด็กชายคนนี้จนไม่สามารถที่จะซ่อนต่อไปได้อีกแล้ว จึงวางแผนสานตะกร้าเอาทารกชายของตนใส่ในตะกร้านั้น ปล่อยให้ลอยไปตามแม่น้ำไนล์ แต่มีพี่สาวซึ่งเป็นเด็กหญิงมิเรียมเดิมตามตะกร้านั้นห่าง ๆ พระคัมภีร์ไม่ได้บอกว่า แม่ของมิเรียมสั่งให้เธอทำเช่นนั้น หรือเพราะเธอห่วงและรักน้องชายจึงเดิมตามตะกร้านั้นไป เพราะเธอคงต้องการรู้ว่าจะมีอะไรเกิดกับน้องชายของเธอ ในที่นี้คงเดาไม่ได้ว่า  แม่ของโมเสสรู้หรือไม่ว่า มิเรียมเดินลุยน้ำตามตะกร้าไปห่าง ๆ หรือไม่? หรือเป็นความคิดของเด็กเล็ก ๆ คนหนึ่ง?   แต่ที่ผมรู้แน่ชัดว่า เด็กหญิงมิเรียมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชกิจแห่งการกอบกู้ช่วยให้ชนชาติอิสราเอลหลุดรอดออกจากการเป็นทาสแรงงานในอียิปต์

เมื่อพระธิดาของฟาโรห์เสด็จมาสรงน้ำที่แม่น้ำไนล์ และบรรดานางกำนัลกำลังเดินเลียบตลิ่ง พระนางทรงสังเกตเห็นตะกร้าในกอปรือจึงรับสั่งให้ทาสสาวไปนำมา เมื่อทรงเปิดดูก็เห็นทารกเพศชายกำลังร้องไห้ พระนางจึงรู้สึกสงสารและตรัสว่า “นี่ต้องเป็นทารกชาวฮีบรูแน่ ๆ” พี่สาวของทารกนั้นจึงทูลถามพระธิดาว่า “ให้หม่อมฉันไปหาแม่นมชาวฮีบรูมาเลี้ยงเด็กให้ไหม?” (อพยพ 2:5-7 อมธ.)

ในมีคาห์ 6:4 พระเจ้าทรงทบทวนให้อิสราเอลระลึกถึงพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำแก่ชนชาติของพวกเขาที่ผ่านมาว่า “...เราได้นำเจ้าขึ้นมาจากแผ่นดินอียิปต์ และไถ่เจ้ามาจากเรือนทาส และเราใช้ให้โมเสส อาโรน และ มิเรียมนำหน้าเจ้าไป” (มตฐ.) 

ในที่นี้พระเจ้าทรงกล่าวถึงมิเรียมในสถานะความสำคัญเท่ากับ โมเสส และ อาโรน ในการนำการปลดปล่อยประชาอิสราเอลสู่ดินแดนเสรีแห่งแผ่นดินพระสัญญาตามแผนการของพระเจ้า นั่นหมายความว่า แผนการที่เรามักมองข้ามกันที่พระเจ้าทรงมอบหมายและประทานสติปัญญาแก่มิเรียม ที่เสนอตัวต่อธิดาฟาโรห์ว่า เธอจะหาแม่นมชาวฮีบรูให้มาเลี้ยงทารกคนนี้ ที่เป็นการรู้เท่าทันปัญหาที่ธิดาฟาโรห์ต้องการหาทางออก และคำถามของมิเรียมกลับกลายเป็นคำตอบที่เหมาะเจาะตามที่ธิดาฟาโรห์ต้องการ แต่ไม่สำคัญเท่ากับเป็นไปตามแผนการของพระเจ้าผ่านความกล้าหาญ และ ความรักน้องของเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้

เมื่อเราพูดว่า เราร่วมสานต่อในพระราชกิจของพระเจ้าที่พระองค์ทรงเรียก เรามักคิดถึงงานใหญ่งานโตที่อยู่ข้างหน้า บางครั้งจนทำให้เกิดความกลัว ความไม่กล้าสานต่อพระราชกิจ เพราะกลัวว่าจะล้มเหลว แต่หญิงน้อยมิเรียมทำในสิ่งที่เล็กน้อย ด้วยความรัก เอื้ออาทร แต่ด้วยความกล้าเพราะตัดสินใจทำในสิ่งที่ตนทำได้ ตอนนั้นเธอไม่รู้ตัวหรอกว่า นี่เธอเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อพระราชกิจแห่งการทรงสร้างที่นำไปสู่การปลดปล่อยกอบกู้ครั้งยิ่งใหญ่ในพระราชกิจของพระเจ้า แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่น่ารัก แต่นี่เป็นพระราชกิจมหัศจรรย์ที่ผ่านชีวิตของหญิงน้อยมิเรียม เพราะผมถามในใจว่า “เธอเรียนรู้ได้อย่างไรว่า เธอจะเดินตามตะกร้าน้องชายไปห่าง ๆ เธอเอาสติปัญญาที่เฉียดแหลมฉับไวอย่างไรที่เสนอทางออกแก่ธิดาฟาโรห์ว่า จะให้เธอหาแม่นมชาวฮีบรูมาช่วยเลี้ยงไหม? นี่เป็นพระราชกิจของพระวิญญาณพระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเธอทั้งสิ้นมิใช่หรือ?  

น่าสนใจว่า สตรีที่เป็นแม่ของทารกโมเสส นางผดุงครรภ์ และหญิงน้อยมิเรียม ที่พระเจ้าทรงใช้ให้เป็น “หัวหอก” เริ่มต้นของกระบวนแห่งการช่วยกู้และปลดปล่อยที่พระเจ้าช่วยให้ชนชาติอิสราเอลหลุดรอดออกจากการเป็นแรงงานทาสในอียิปต์

บางทีพลังอำนาจของมิเรียมก็คือ ความรักเมตตาเพียงเล็กน้อย ความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ของเธอที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า พระองค์ได้ใช้ร่วมสร้างสานในพระราชกิจที่นำชนชาติอิสราเอลไปสู่อิสรภาพและการฟื้นฟูชีวิตใหม่ในแผ่นดินของพระเจ้า และความยิ่งใหญ่เช่นนี้ท่านสามารถมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าในปัจจุบันได้ เมื่อความรักเมตตา ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าหาญของท่านที่อาจจะดูน้อยนิด เมื่ออยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้าย่อมจะเกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่แม้แต่ตัวท่านเองก็คาดไม่ถึง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



23 กันยายน 2563

จะรณรงค์การถวาย...อย่างไร?

ถ้าท่านต้องการรณรงค์การถวายทรัพย์ในคริสตจักร ที่ผ่านมาท่านและคริสตจักรทำอะไรบ้าง? ทำอย่างไรบ้าง? รณรงค์จากใคร? และ ใครเป็นผู้รณรงค์บ้าง? ทำไมถึงทำเช่นนั้น?

เมื่อเรารณรงค์การถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักร เรารณรงค์ขอให้สมาชิกถวายเงิน ๆ ทอง ๆ ใช่ไหม? หรือ เรารณรงค์เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ อะไรบ้าง?

มุมมองรณรงค์การถวายทรัพย์ในคริสตจักร
ต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้เรียนมา!

ศิษยาภิบาลหลายท่านมีความรู้สึก “ลำบากใจ” ที่จะต้องบอกหรือกระตุ้นให้สมาชิกช่วยกันถวายทรัพย์เพื่อใช้ในการทำพันธกิจของพระเจ้าในคริสตจักร และศิษยาภิบาลหลายท่านพูดว่า เขาเรียนในพระคริสต์ธรรม 4 ปี 7 ปี ไม่เคยเรียนเรื่องการรณรงค์การถวายทรัพย์ในคริสตจักร แต่เป็นเรื่องที่ศิษยาภิบาลทุกคนต้องทำจริงในการทำงานในคริสตจักรท้องถิ่น

รากฐานการถวายของสมาชิกอยู่ที่ไหน?

เมื่อคริสตจักร หรือ ศิษยาภิบาล และ ธรรมกิจคริสตจักรต้องการรณรงค์ให้สมาชิกถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจที่คริสตจักรต้องทำ เรามักเริ่มต้นจากคำถามว่า “เราจะรณรงค์การถวายทรัพย์อย่างไร?” เรามักเริ่มต้นด้วยการรณรงค์ขอให้สมาชิกถวายเงิน ๆ ทอง ๆ ใช่ไหม?

เรามักมองข้ามมุมมองที่สำคัญกว่านี้คือ อะไรที่ทำให้สมาชิกแต่ละคนสำนึกและเต็มใจถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจของคริสตจักร? นี่เป็นประการแรก และมุมมองที่สำคัญเท่า ๆ กันนี้ประการที่สองคือ “ทำไมสมาชิกแต่ละคนจะต้องถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจของคริสตจักร?”

ทั้งสองประการที่สำคัญนี้ มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การที่สมาชิกแต่ละคนจะถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักรนั้น   มี 4 สิ่งที่สำคัญคือ

     (1) สมาชิกจะต้องมีรากฐานทางความเชื่อที่แข็งแรงมั่นคง

     (2) สมาชิกจะต้องเติบโตขึ้นในการดำเนินชีวิตสาวกพระคริสต์

     (3) สมาชิกในคริสตจักรต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

     (4) สมาชิกต้องมีจิตสำนึกในพระคุณของพระเจ้าต้องการที่จะขอบพระคุณพระองค์

ทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้เป็นเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหัวและด้านก้อย ที่มีความสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบต่อกันและกัน ตัวอย่างเช่น การที่สมาชิกคนใดคนหนึ่งที่จะถวายทรัพย์เขาต้องมีรากฐานทางความเชื่อศรัทธาว่าชีวิตที่เขาเป็นอยู่นี้เพราะพระเจ้าประทานให้ ดังนั้น เขาจึงถวายเพราะสำนึกในพระคุณของพระเจ้า แต่เมื่อเขาถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจแล้ว การที่เขามีส่วนร่วมในการทำพันธกิจคริสตจักร ทำให้เขาเกิดประสบการณ์ และ การเรียนรู้ถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่เขามีส่วนร่วม ทำให้เขาหยั่งรากความเชื่อลึกลงกว่าเดิมอีก

ดังนั้นการรณรงค์การถวายทรัพย์จึงต้องอาศัยรากฐานทางความเชื่อ และ การมีชีวิตที่เติบโตขึ้นของสมาชิกแต่ละคน แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการสร้างเสริมความเชื่อของสมาชิกให้หยั่งรากลึกลงไปกว่าเดิมด้วย

[1] การรณรงค์การถวายทรัพย์กับฐานรากทางความเชื่อ

ตามที่กล่าวแล้วว่า การที่สมาชิกคนใดจะถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักร สมาชิกคนนั้นต้องมีความเชื่อที่หยั่งรากลึกในระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้าคริสตจักรคาดหวังจะรณรงค์ให้สมาชิกถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักรจะต้องใส่ใจในการเสริมสร้างความเชื่อในสมาชิกก่อน

ส่วนการรณรงค์การถวายทรัพย์มิใช่เพื่อเราจะได้รับเงินถวายตามที่เราต้องการเท่านั้น แต่การรณรงค์ให้สมาชิกถวายเพื่อที่จะหนุนเสริมให้สมาชิกแต่ละคนหยั่งรากความเชื่อของตนลึกลงไปกว่าเดิมที่เป็นอยู่ เมื่อเราเชิญชวนท้าทายให้สมาชิกถวายทรัพย์ พระเจ้าจะยืดขยายพื้นที่ชีวิตความเชื่อของเขาออก และ หยั่งรากความรักเมตตาของเขาให้กว้างไกลและลึกลงกว่าเดิม

[2] รณรงค์การถวาย รณรงค์การเติบโตในชีวิตสาวกพระคริสต์

การที่คริสตจักรรณรงค์การถวายทรัพย์เพื่อทำพันธกิจ พันธกิจที่คริสตจักรจะทำต้องเป็นพันธกิจที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ประสงค์ทำผ่านคริสตจักรของเราในเวลานั้น ๆ สิ่งนี้เราเรียกว่า “นิมิตของคริสตจักร” สุภาษิต 29:18 กล่าวชัดเจนว่า “ที่ใด ๆ ที่ไม่มีนิมิต (หมายถึงการสำแดงจากพระเจ้า) ประชาชนก็พินาศ...” (ไทย KJV)

เราท่านต่างตระหนักชัดว่า เรารณรงค์ถวายทรัพย์เพื่อสร้างอาคารโบสถ์ เพื่อใช้เป็นที่เสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ให้เติบโตขึ้น เราไม่ได้คาดหวังที่จะให้อาคารเติบโตขึ้น แต่เราคาดหวังสมาชิกแต่ละคนจะต้องเติบโตขึ้นในชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์

หลายคริสตจักรเมื่อเริ่มต้นไม่มีอาคารโบสถ์แต่มีผู้เชื่อเพิ่มมากขึ้นและแต่ละคนเติบโตขึ้นในชีวิตสาวกพระคริสต์   และสมาชิกที่เติบโตขึ้นนั้นเองที่จะเป็นผู้สร้างอาคารโบสถ์ให้ขยายพื้นที่ขึ้นถ้าเป็นความจำเป็น

ดังนั้น การรณรงค์ถวายทรัพย์เพื่อทำพันธกิจคริสตจักรเป็นกระบวนการเสริมสร้างให้ชีวิตของสมาชิกเติบโตขึ้นในการเป็นสาวกของพระคริสต์เป็นเป้าหมายแรก ส่วนการจะได้ทรัพย์สินเงินทองที่ถวายใช้ทำพันธกิจเป็นเป้าหมายรองที่มีตามมา

[3] รณรงค์การถวายทรัพย์ เพื่อเสริมสร้างสามัคคีธรรมและเอกภาพของชุมชนคริสตจักร

การรณรงค์การถวายทรัพย์กับสามัคคีธรรมเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเคียงคู่กันไป พระเยซูคริสต์สอนว่า “ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน ใจของท่านก็อยู่ที่นั่น” (มัทธิว 6:21) เมื่อสมาชิกคริสตจักรร่วมสามัคคีธรรมในการถวายทรัพย์ เขากำลังเอาจิตใจของเขามารวมในที่เดียวกัน ทำให้เขาทุ่มเทชีวิตในพันธกิจที่เขาร่วมกันถวายและร่วมกันทำ และการรณรงค์การถวายทรัพย์คือเครื่องมือที่รณรงค์ให้เกิดสามัคคีธรรมและความเป็นเอกภาพในชีวิตคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

เคล็ดลับประการหนึ่งของการรณรงค์การถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักรคือการรณรงค์ในกลุ่มเล็ก คนในกลุ่มเล็กที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาปรึกษาพูดคุยและวางแผนว่าแต่ละคนจะมีส่วนร่วมในสามัคคีธรรม และ เป็นหนึ่งเดียวกันในการรณรงค์การถวายทรัพย์เพื่อพันธกิจคริสตจักรอย่างไร

[4] การรณรงค์เป็นการสำนึกถึงพระคุณของพระเจ้า และ ขอบพระคุณพระองค์

ให้การรณรงค์การถวายของเราเป็นการรณรงค์ในการขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่มีตลอดชีวิตที่ผ่านมา และการรณรงค์การถวายทรัพย์เป็นการสร้างเสริมความเชื่อและความไว้วางใจในพระคุณความรักเมตตาของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ 

จากความสำนึกในพระคุณของพระเจ้า ให้เราเติบโตขึ้นก้าวไปสู่การมีส่วนร่วมในพระราชกิจแห่งพระเมตตาคุณของพระเจ้าที่มีต่อคนอื่น ๆ มิใช่เพียงคริสตจักรมี “นิมิต” ในการร่วมสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์เท่านั้น แต่คริสตจักรของพระคริสต์จะต้อง “ให้ชีวิตของตน” เพื่อสังคมโลกจะได้มีชีวิตใหม่ในพระเยซูคริสต์ อย่างที่พระองค์ได้ทำเป็นเยี่ยงอย่าง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



21 กันยายน 2563

เมื่อ...สมาชิกไม่สนใจฟังเทศน์

ท่านเคยรู้สึกว่า เมื่อท่านเทศนาคนไม่ได้สนใจฟังสิ่งที่ท่านเทศน์หรือไม่? แต่สนใจอย่างอื่นมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้สึกว่า ในการเทศน์ครั้งนี้ท่านเตรียมมาอย่างดี แต่คนฟังไม่เห็นมีใครสนใจหรือใส่ใจฟังเทศน์เลย วันนั้น ท่านอยากจะรีบจบคำเทศน์เร็ว ๆ แล้วกลับบ้านไปนอนดีกว่า!  

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้กับท่าน ท่านมีทางเลือกที่จะทำดังนี้ครับ

1. ให้ท่านเชื่อว่า มีใครบางคนอาจจะตั้งใจฟังอยู่  

แม้ว่าคนนั้นอาจจะไม่เงยหน้ามาสบตา หรือ มุ่งมองมาที่ท่าน เขามองแต่จอสมาร์ทโฟนของเขา เขาอาจจะกำลังอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ท่านใช้เทศน์ในวันนั้นอยู่ก็ได้ หรือแม้ว่าเขาไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ในมือถือ แต่เขาเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันก็ได้ เขาอาจกำลังฟังเทศน์ของท่านและค้นหาบางอย่างในมือถือไปด้วย?

2. ท่านต้องแน่ใจว่า เนื้อหาคำเทศนาของท่านดีพอ เหมาะสม มีตัวอย่างที่ช่วยทำให้เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง  

เป็นคำเทศน์ที่มีเนื้อหา “พระคริสต์เป็นแก่กลางในชีวิต” และเป็นคำเทศน์ที่กระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้ฟังทำตามพระวจนะในคำเทศน์ในชีวิตประจำวันของเขา และให้เน้นย้ำให้ชัดเจนว่า “พระวจนะของพระเจ้าที่จะต้องกระทำในชีวิตในวันนี้คือ...” แล้วท่านอาจจะยกตัวอย่างเรื่องราวผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำตามพระวจนะนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม

3. ใช้ถามคำถามในคำเทศนาของท่าน  

ปกติแล้วนักเทศน์ทั่วไปมักจะเทศน์ “คำตอบ” แล้วคาดหวังให้ผู้ฟังจดจำ แต่ถ้าท่านต้องการให้ผู้ฟังคิดตามสิ่งท่านกำลังเทศน์ ท่านต้องตั้งคำถาม การตั้งคำถามกระตุ้นให้เขาต้องคิด เขาคิดตามคำเทศน์ของท่าน ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเทศนาเรื่องบุตรหลงหายในลูกาบทที่ 15 ท่านอาจจะใช้คำถามต่อไปนี้ในคำเทศน์ของท่าน

 [1] ใครในพวกเราที่เคย “เสียเวลาชีวิต” ใช้ชีวิตจนประสบกับความล้มเหลว และในที่สุดท่านต้องหันกลับมาหาพระเจ้า?

 [2] ในทุกวันนี้ พวกเราแต่ละท่านได้รู้จักใครบางคนที่ดูเหมือนว่าชีวิตของเขากำลังประสบกับความล้มเหลวไหม?  ในฐานะคริสตชนเราจะคุยกับเขาอย่างไรดี?

 [3] มีใครบ้างในพวกเรามีชีวิตเป็นเหมือนพ่อในคำอุปมานี้ ที่อธิษฐานเผื่อลูกของตน หรือ หลานของตนให้กลับบ้าน?

 [4] คำถามนี้ขอท่านถามตนเองด้วยความจริงใจว่า มีใครบ้างในพวกเราคิดว่ารู้สึกไม่พอใจ หรือ โกรธที่คนทำไม่ดีแล้วกลับได้รับการยอมรับ และ รับผลที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเองผู้ทำดีควรจะได้รับมากกว่า?

4. อย่ากลัว หรือ เกรงใจที่จะกระตุ้นให้ผู้ฟังเทศน์สนใจฟัง  

ถ้าผู้ฟังรู้และมั่นใจว่าท่านรักพวกเขา พวกเขาจะไม่โกรธคนที่รักและจริงใจต่อเขา “พี่น้องที่รักครับ รู้สึกว่านี้พวกเราหลายคนที่เหนื่อยล้า ขอเราหายใจเข้าลึก ๆ นั่งตัวตรงขึ้น เราจะเข้าสู่สิ่งสำคัญของคำเทศน์ในส่วนที่เหลือไปพร้อม ๆ กัน” ขอให้พูดแบบนิ่มนวลสุภาพ แต่เป็นการพูดที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง สักพักหนึ่งความสนใจจะกลับมาในการฟังเทศน์

5. อย่าลืมที่ท่านจะมีผู้ที่ช่วยประเมินการเทศนาของท่านทุกครั้งหลังการเทศน์  

ท่านศิษยาภิบาลที่เคารพครับ ขอพูดด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจว่า บางครั้งที่สมาชิกไม่ฟังการเทศนาของเราอย่างใส่ใจเพราะการเทศนาของเราน่าเบื่อ บางครั้งเรื่องราวที่เทศน์ไม่ประติดปะต่อ “เอานี่ผสมโน่น เอาคนละเรื่องมาอยู่ในคำเทศน์เดียวกัน” บางครั้งคำเทศน์ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง ถ้าเราจะมีการเทศนาที่มีพลัง ตอบโจทย์ในชีวิตของผู้ฟัง เราอาจจะต้องมีคนบางคนที่ช่วยเราประเมินการเทศนาของเราในแต่ละครั้ง เพื่อเราจะนำไปสะท้อนคิดว่า เราจะมีวิธีการขั้นตอนเปลี่ยนแปลง พัฒนา แก้ไขการเทศนาของเราด้วยใจถ่อมอย่างไร เพื่อให้การเทศนาของเราเกิดผลมีพลังต่อชีวิตของผู้ฟัง

ท่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?

ท่านมีข้อคิดข้อเสนออะไรบ้างไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



18 กันยายน 2563

“ทำงานให้เสร็จ” หรือ “ทำงานให้สำเร็จ” ?

บ่อยครั้งองค์กรและคริสตจักรของเราทำงานให้เสร็จมากกว่าการทำงานให้สำเร็จหรือไม่? การที่เราทำงานจนสำเร็จ  งานที่เราทำควรจะเกิดผลตามที่วางไว้ และเอื้อให้คนทำงานร่วมกันเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน แล้วเราจะทำอย่างไร?

ถ้าเช่นนั้น ในฐานะผู้นำองค์กร สิ่งหนึ่งที่ดีและสำคัญที่ควรทำคือ การหาเวลาที่จะให้ทีมงานได้มีโอกาสค้นหาและฉลองชื่นชมในสิ่งดีดีที่ทีมงานได้จากการทำงานร่วมกัน

ภายหลังที่ได้ทำงานชิ้นหนึ่ง กิจกรรมหนึ่งผ่านไป ถ้าเป็นคริสตจักรอาจจะภายหลังงานค่าย (ต่าง ๆ) งานคริสต์มาส  งานอีสเตอร์ การประกาศฯ และ ฯลฯ ควรจัดให้ทีมงานมีโอกาสที่จะมาร่วมกันขอบพระคุณพระเจ้า และชื่นชมยินดีในสิ่งดีดีที่ได้ทำร่วมกัน และ ชื่นชมในบทเรียนที่ได้เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ที่ทำงาน และเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพลังหนุนเสริมทีมงานที่จะมองไปข้างหน้าและก้าวต่อไปด้วยความมั่นใจในการทรงนำของพระเจ้า และ ในความไว้เนื้อเชื่อใจ และ หนุนเสริมกันและกันในทีมงาน

แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “มาเถิด จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง” เพราะว่ามีคนไปมามากมายจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรับประทานอาหาร พระองค์จึงเสด็จลงเรือกับพวกสาวกไปยังที่สงบตามลำพัง” (มาระโก 6:31-32 มตฐ.)

ภายหลังการทำงานเสร็จในแต่ละช่วง เราต้องการเวลาที่จะอยู่เฉพาะด้วยกันกับทีมงาน พัก สงบ เพื่อที่ชีวิตจิตใจจะได้มีโอกาสทบทวนในสิ่งที่ทำไปแล้ว ประมวลในสิ่งที่เกิดขึ้น ไตร่ตรองว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดผลทั้งที่ดี และ ที่ไม่พึงประสงค์ แล้วร่วมกันสะท้อนคิดว่า ถ้าจะให้การทำงานทำพันธกิจในเรื่องนี้ให้เกิดผลดีเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ายิ่งกว่านี้ เราน่าจะมีการปรับแก้ พัฒนากระบวนการทำงานด้วยกันอย่างไรบ้าง และที่สำคัญเราจะหนุนเสริมการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ จากประสบการณ์การทำงานครั้งนี้เราได้เห็นว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไร/อย่างไรบ้าง ทั้งก่อน และ ขณะที่เราทำ? และพระองค์ทรงให้เราร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในด้านไหน? และ เราแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้ ทั้งส่วนตัว และ ส่วนรวมในฐานะทีมงาน

1. การทบทวนและสะท้อนคิด

เพื่อใช้เวลาสงบร่วมกันสะท้อนคิด ให้ทีมงานช่วยกันทบทวน ประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ร่วมกันถึงสิ่งที่ทำ  ผลที่เกิด สาเหตุ เงื่อนไข และร่วมกันกำหนดกระบวนการทำงานร่วมกันของทีมในอนาคต

1) ให้ทีมงานได้ร่วมกันทบทวนว่า ในการทำงานชิ้นนี้ ทีมงานได้กำหนดเป้าหมาย และ คาดหวังให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? (นี่หมายความว่า ทุกครั้งที่จะดำเนินงานชิ้นไหนก็ตาม ต้องมีการสื่อสารให้ทีมงานรู้และเข้าใจถึงจุดประสงค์ และ ความคาดหวังในสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น)

2) มีอะไรที่เกิดขึ้นตามเป้าหมาย และผลที่คาดหวังไว้?  

มีอะไรบ้างที่ยืนยันว่าสิ่งที่คาดหวังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริง? แล้วช่วยกันวิเคราะห์เจาะลึกลงไปว่า ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดผลตามที่คาดหวัง? พร้อมกับช่วยกันยกตัวอย่างว่าเพราะใคร ทำอะไร  อย่างไรจึงเกิดผลตามนั้น?

3) มีอะไรบ้างที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามจุดประสงค์ และ เป็นไปตามความคาดหวัง?  

มีอะไรที่ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น? ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สิ่งที่คาดหวังไม่สามารถเกิดขึ้น? อะไรคือปัญหา อะไรคืออุปสรรค มีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดหวังไว้? และถ้าจะให้ความคาดหวังที่ไม่เกิดขึ้นเป็นจริงในครั้งนี้ ให้สามารถเกิดขึ้นเป็นจริงในครั้งใหม่ ทีมงานเห็นว่า เราจะต้องปรับปรุง แก้ไข หรือ พัฒนาในด้านไหนบ้าง?

4) มีอะไรบ้างที่ไม่ได้คาดหวังแต่เกิดขึ้นในการดำเนินการครั้งนี้?  

ทำไมสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น? สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหวัง มีอะไรบ้างเป็นผลดีต่อองค์กรและงานที่ทำ? เป็นผลดีอย่างไร? แล้วมีอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์กร หรือ งานที่ทำ? เป็นผลเสียอย่างไร? และทีมงานจะใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานในครั้งนี้เพื่อการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปได้อย่างไรบ้าง?

5) ให้ทีมงานช่วยกันประมวลและสังเคราะห์ว่า จากการทำงานครั้งนี้ทีมงานได้เรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง? และจะใช้สิ่งที่เรียนรู้นี้ในการทำงานในอนาคตได้อย่างไรบ้าง? และถ้าจะนำสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดในครั้งนี้สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ขององค์กรได้อย่างไรบ้าง?

จากนั้น นำสิ่งที่ค้นหาและเรียนรู้ร่วมกันข้างต้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานครั้งต่อไป ดังนี้

2. ปรับเป้าหมายและจุดมุ่งเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์การทำงานครั้งที่ผ่านมา และ การที่ทีมงานมีโอกาสมาร่วมกันสะท้อนคิดและถอดบทเรียนรู้ร่วมกัน(ตามข้างต้น) ซึ่งมีประโยชน์ต่อทั้งกระบวนการทำงานและการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน และที่สำคัญ จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยกันทำให้เป้าหมายและจุดมุ่งเน้นของงานที่ทำชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าในการใช้พลังในการขับเคลื่อนงาน “หัวใจ” ที่จะทุ่มให้กับงาน/พันธกิจที่ทำนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการที่ทีมงานมีเวลาเฉพาะร่วมกัน และ สะท้อนคิดตลอดจนการถอดบทเรียนรู้ด้วยกัน เราทำมากกว่าการ “บ้างาน” แต่ในกระบวนการนี้เป็นเวลาที่เรา...

1) ใส่ใจกันและกัน  

ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารมิได้สนใจแต่ความสำเร็จของการงานที่มอบหมายให้ทำ แต่ใส่ใจถึงชีวิตของแต่ละคน ทั้งที่อยู่ร่วมกันในทีมงาน และ ใส่ใจในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนด้วย

ผู้นำ หรือ ผู้บริหารขององค์กร/คริสตจักรควรจะใส่ใจทีมงานแต่ละคนมิใช่ที่ตำแหน่ง หน้าที่การงาน หรือ อาวุโส(ทั้งเก่าและเก๋า) แต่ผู้นำ/บริหารใส่ใจทีมงานแต่ละคนเพราะเขาเป็นคนหนึ่งในทีมงานแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ ควรมีโอกาสให้ทีมงานได้มีการพบปะกันเป็นการส่วนตัวเพื่อที่จะเรียนรู้จักกันมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้เข้าใจถึงสภาพชีวิตของกันและกัน ที่จะช่วยให้เข้าใจเพื่อนคนนั้น ๆ ว่าทำไมเขาถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเขาถึงขัดแย้งกันในที่ทำงาน หรือถูกมองว่าเป็น “ตัวปัญหา” มีโอกาสฟังถึงสภาพชีวิตความรู้สึกในการทำงานว่ายังมีพลังอยู่ดี หรือ กำลังหมดไฟ(หมดเฝ่า) มีอะไรที่คาอกคาใจในการทำงานที่แก้ไม่ตกสักทีไหม? เขาต้องการมีเวลาที่จะพักผ่อนบ้างหรือเปล่า? หรือ เขากำลังมีเสียงการทรงเรียกใหม่ ๆ จากพระเจ้าสำหรับชีวิตของเขา?

2) พันธกิจและและค่านิยมหลัก  

เป็นโอกาสที่ดีมากในการที่ทีมงานจะมีโอกาสในการเสริมสร้างย้ำเตือนถึงหลักการ คุณธรรม หรือ ค่านิยมขององค์กรที่พวกเขาทำงานร่วมกัน เป็นโอกาส ที่จะแบ่งปันและชี้แนะอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทีมงานแต่ละคนจะสามารถสำแดงคุณธรรมในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง และมีโอกาสสื่อสารว่าทำไมคนทำงานในองค์กรของเราจะต้องสำแดงคุณธรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม

3) เป้าหมายขององค์กร  

ในการทบทวน สะท้อนคิด และถอดบทเรียนรู้ในทุกครั้งที่งานแต่ละชิ้นทำเสร็จ เป็นโอกาสที่ทีมงานได้ทบทวน พิจารณาถึงเป้าหมายขององค์กร ของงานชิ้นนั้น ทำให้เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการกลับมาคิดพิจารณาทบทวนถึงเป้าหมายและสิ่งคาดหวังของการทำงานนี้ว่า ในครั้งต่อไปงานนี้/พันธกิจนี้ควรมีการปรับปรุงพัฒนาจุดประสงค์ และ ความคาดหวังสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อให้การทำงาน/พันธกิจของทีมงานสอดคล้องและตอบโจทย์ของบริบท สถานการณ์ และ วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนการแสวงหาแนวทางและวิธีการที่จะให้พระกิตติคุณสามารถตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนและสังคมที่งานนี้เกี่ยวข้องด้วย

เลิกการรีทรีตที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือเหมาะสม หรือ การไปสรุปงานที่แฝงเพื่อการเที่ยว กิน พักผ่อน แต่การที่มีเวลาสงบร่วมกันของทีมงานในการทบทวน สะท้อนคิด และ การถอดบทเรียนเรียนจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานเป็นกระบวนการที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาการทำงานและบุคลากรขององค์กร

ที่ผ่านมาองค์กรของเรา ได้มีโอกาสในการทบทวน และ สะท้อนคิดหลังการทำงานหรือไม่? องค์กรของเราเป็นองค์กรที่...“ทำงานให้เสร็จ” หรือ “ทำงานให้สำเร็จ” ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



16 กันยายน 2563

คำตรัสที่รบกวนจิตใจ?

บางครั้งคำตรัสของพระเยซูให้การประโลมใจเป็นพิเศษ และ ให้แรงบันดาลแก่เราเป็นอย่างมาก เช่น พระองค์เชิญชวนคนทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อย หมดแรง และ ต้องแบกภาระหนักให้มาหาพระองค์ เพื่อพระองค์จะประทานการผ่อนพักในชีวิตของเขา (มัทธิว 11:28) คำตรัสของพระเยซูสร้างความมั่นใจแก่เราถึงความรักเมตตาของพระเจ้าสำหรับคนที่หลงทางชีวิต เฉกเช่นท่านและผม (ลูกา 15:3-7)

แต่บางครั้งคำตรัสของพระเยซูก็ฟังไม่ง่ายนัก ยิ่งกว่านั้นยังรบกวนจิตใจของเราอย่างมาก ตัวอย่างเช่นใน ลูกา 6:20-25 ในที่นี้พระองค์ตรัสว่า คนที่ยากจน คนที่หิวโหย คนที่ร้องไห้ ว่าเป็น “ผู้ที่มีความสุข” คำตรัสเช่นนี้ทำให้คนที่ยากจน หิวโหย ร้องไห้ มีความมั่นใจว่าเขาจะได้รับความสุข แต่ถ้าเราไม่เป็นคนที่ขัดสน หิวโหย หรือ ร้องไห้ล่ะชีวิตจะเป็นเช่นไร? คำพูดต่อจากนี้ยิ่งรบกวนจิตใจของเรามากขึ้นว่า คนที่มั่งมี คนที่อิ่มท้อง คนที่หัวเราะ พระเยซูบอกว่า “วิบัติ” จะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มหลังนี้

[20] พระองค์ทอดพระเนตรดูพวกสาวกของพระองค์แล้วตรัสว่า
ท่านทั้งหลายที่ยากจนก็เป็นสุข เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของท่าน
[21] ท่านทั้งหลายที่อดอยากเวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้อิ่มท้อง 
ท่านทั้งหลายที่ร้องไห้เวลานี้ก็เป็นสุข เพราะว่าท่านจะได้หัวเราะ

[24] แต่วิบัติแก่พวกท่านที่ร่ำรวย เพราะว่าท่านได้รับความสะดวกสบายแล้ว
[25] วิบัติแก่พวกท่านที่อิ่มท้องในเวลานี้ เพราะว่าท่านจะอดอยาก วิบัติแก่พวกที่หัวเราะในเวลานี้ เพราะว่าท่านจะเป็นทุกข์และร้องไห้ (ลูกา 6:20-21, 24-25 มตฐ.)

คำตรัสเช่นนี้ของพระเยซูรบกวนจิตใจของเราอย่างแน่นอน เพราะเป็นการ “เขย่า” รากฐานความคิดความเชื่อของคนในยุคของพระองค์และในยุดปัจจุบันของเราด้วย เพราะเราเข้าใจว่า ความมั่งคั่ง การมีอาหารการกินอย่างสมบูรณ์   และการมีชีวิตที่สุขสะดวกสบายเป็นเครื่องชี้ถึงพระพรของพระเจ้าในคนที่มีชีวิตเช่นนั้น เป็นสิ่งที่คนในโลกนี้โหยหาชีวิตแบบนี้

แต่พระเยซูคริสต์กลับมีฐานเชื่อกรอบคิดที่กลับหัวกลับหาง กลับตาลปัตร เป็นคำตรัสที่ “คว่ำค่านิยม” ของสังคมโลก เป็นคำตรัสที่ “พลิกฟ้า คว่ำแผ่นดิน”

คำตรัสของพระเยซูคริสต์เป็นข่าวดีสำหรับคนกลุ่มแรก เพราะโอกาสดีดีรออยู่ข้างหน้า แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่มั่งคั่ง ร่ำรวย มั่งมี ศรีสุขแน่

ผมเชื่อว่า คริสตชนเราโดยเฉพาะคนที่เป็นคริสตชนมาแต่อ้อนแต่ออดเราควรใคร่ครวญถึงคำตรัสของพระเยซูที่รบกวนจิตใจของเรา เพราะเราเติบโตในครอบครัวคริสตชน เรามีความสุขสะดวกสบายในความเชื่อของเรา เวลาอ่านพระคัมภีร์ก็มักเลือกเอาข้อพระคัมภีร์ที่ให้ความมั่นใจในวิถีการดำเนินชีวิตของเราที่เป็นอยู่ และมักเมินข้ามคำตรัสสอนของพระคริสต์ที่ท้าทายวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเราที่เข้าใจยาก เราจึงไม่ได้ใคร่ครวญคำตรัสของพระเยซูคริสต์ที่รบกวนใจของเรา และนี่จะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ชีวิตการเป็นสาวกพระคริสต์ของเราสะดุด ติดขัด หรือล้มลง ทำให้การติดตามพระคริสต์ของเราเชื่องช้าลง และ อาจจะนำไปถึงการย่างก้าวติดตามอย่างเชื่องช้าไปเป็นการ “คลาน” ตามพระเยซูคริสต์อย่างห่างไกล

ในวันนี้ เมื่อเราอ่านคำตรัสของพระคริสต์ที่รบกวนใจของเราอย่างที่เราอ่านจากพระกิตติคุณลูกา ให้เราเปิดชีวิตรับการรบกวนจากคำตรัสของพระองค์ ให้เราใคร่ครวญใส่ใจพิจารณาคำตรัสที่รบกวนนี้ เป็นคำตรัสที่ท้าทายต่อชีวิตวันนี้ของเรา

ให้เราบอกกับจิตใจของตนเองว่า ให้เปิดชีวิตจิตใจของเรารับเอาคำตรัสที่ท้าทายของพระเยซูคริสต์ และเราอาจจะถามพระองค์ว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์ได้ยินอะไรจากคำตรัสของพระองค์ในวันนี้?”  พระองค์กำลังตรัสอะไรกับข้าพระองค์?” 

บางครั้ง คำตรัสของพระเยซูให้การปลอบประโลมใจ หรือ สร้างแรงบันดาลใจเป็นพิเศษแก่เรา แต่บางครั้งกลับเป็นคำพูดที่รบกวนจิตใจของเรา เป็นคำตรัสที่ท้าทายความสุขสะดวกสบายในชีวิตของเรา และ การพึ่งตนเองของเรา   คำตรัสของพระเยซูดึงความสนใจของเราให้กลับมาพิจารณาถึงวิถีการดำเนินชีวิตของเรา ฐานคิดการมีชีวิตที่รับใช้ตนเอง การที่พระองค์ตรัสรบกวนจิตใจของเราเพราะพระองค์ต้องการให้เรามีประสบการณ์ชีวิตกับความสุขที่แท้จริง และ พบกับความหมายที่แท้จริงที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ที่มิใช่มีชีวิตอยู่เพื่อนตนเอง แต่มีชีวิตเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า

ใคร่ครวญอธิษฐาน

องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์รู้แน่แก่ใจว่า พระองค์ประสงค์ให้เกิดสิ่งดีดีในชีวิตของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เชื่อว่าพระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์มีชีวิตที่ชื่นชมยินดีในแผ่นดินของพระองค์ คำตรัสที่รบกวนจิตใจและชีวิตของข้าพระองค์ พระองค์ไม่ได้ประสงค์เพื่อสร้างความวุ่นวายสับสนในชีวิต แต่พระองค์ประสงค์นำข้าพระองค์ก้าวเดินในวิถีชีวิตใหม่ โปรดช่วยข้าพระองค์ ที่จะไม่เมินห่างคำตรัสที่รบกวนจิตใจจากพระองค์ แต่กลับช่วยให้ข้าพระองค์ไว้วางใจว่า โดยพระคุณของพระองค์ พระองค์ประสงค์ที่จะสร้างชีวิตข้าพระองค์ขึ้นใหม่ อาเมน”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



14 กันยายน 2563

เมื่อเผชิญความขัดแย้ง...อย่าลืม 8 สิ่งที่สำคัญ

ความขัดแย้งเป็นด้านหนึ่งในความสัมพันธ์ อยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองเช่นไรต่อความขัดแย้ง และจะใช้ความขัดแย้งในทางสร้างสรรค์ หรือ ในทางเอาแพ้เอาชนะ หรือ ในการทำร้ายทำลาย หรือ หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

ดูเหมือนความขัดแย้งมันมาในชีวิตทุกช่วงวัย ตลอดชีวิตการงานของผมที่วนเวียนเกี่ยวข้องกับชีวิตและการงานคริสตจักร แต่ละช่วงตอนในชีวิตพบกับความขัดแย้งที่แตกต่างกัน และเมื่อมาใคร่ครวญสะท้อนคิดพบอีกว่าผมเองก็มีวิธีการรับมือหรือเผชิญกับความขัดแย้งในช่วงตอนนั้น ๆ ของชีวิตที่แตกต่างจากช่วงตอนอื่น แต่ก็พบว่า บทเรียนรู้ที่ได้จากช่วงตอนช่วงก่อนสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในช่วงตอนชีวิตหลัง ๆ ได้อย่างเกิดผล

บทสะท้อนเรียนรู้สั้น ๆ นี้เป็นการถอดบทเรียนรู้ชีวิตการงานของตนเองก่อนที่จะขึ้นแท่นวัย 70 ปี ที่เขียนแบ่งปันนี้ผมตระหนักชัดว่าประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น บทเรียนชีวิตการงานก็แตกต่างกันไป และบางบทเรียนชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตวัยปัจจุบันนี้ได้ที่ค่อนข้างเป็นประโยชน์

นี่คือ 8 สิ่งสำคัญเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง

1. ความขัดแย้งไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตนคิดเสมอไป  

ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งรอบด้านในชีวิต ผมย้อนสะท้อนคิดไป หลายครั้งที่พบว่า ผมคาดการณ์ความขัดแย้งว่าจะสาหัสรุนแรงกว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น การคาดการณ์ล่วงหน้าอย่าตกลงในอิทธิพลของการคิดเชิงลบมากเกินไป เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์ที่ดูเลวร้ายนี้ พระเจ้ายังทรงปกป้องควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิตของเรา

2. ถ้าพระเจ้ายังประทานให้เรามีชีวิตอยู่ต่ออีกวัน พรุ่งนี้ดวงอาทิตย์ก็จะยังขึ้นสู่ฟ้าส่องสว่างต่อไป  

นั่นหมายความว่า พระเจ้ายังทรงทำพระราชกิจของพระองค์ พระองค์ยังประทานความหวัง ประทานวันใหม่ และให้เราตระหนักชัดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะดีขึ้น

3. การที่ได้หลับนอนสนิทเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่เป็นพระคุณในชีวิต

บ่อยครั้ง ความขัดแย้งที่เราเผชิญได้ปล้นชิง “คุณภาพในการนอนหลับ” ของเรา ในภาวการณ์เช่นนั้น ผมจะทูลขอพระเจ้าโปรดเมตตาประทานการพักผ่อนหลับนอนที่สงบ หลับสนิท ได้รับการผ่อนพักอย่างสันติในพระองค์ เพื่อจะตื่นขึ้นมีอารมณ์ที่สดชื่น สมองที่ปลอดโปร่ง มองในมุมใหม่ที่พระองค์ประสงค์ และนี่คือของประทานแห่งพระคุณของพระเจ้า

4. ในคริสตจักร หรือ ในที่ทำงานของเรามีทั้งคนที่ “สร้างความขัดแย้ง” แต่ก็มีคนสัตย์ซื่อ ที่สร้างสรรค์ และรักพระเจ้าด้วย

ผู้สร้างความขัดแย้งและความยากลำบากมักจะ “เสียงดัง” และ “ขี้โอ่” ที่มักทำให้จิตใจของเราวอกแวกมองข้ามสิ่งดีดีที่พระเจ้าประทานให้แก่คนของพระองค์ ตระหนักชัดเสมอว่า ในภาวะเช่นนี้ยังมีคนของพระเจ้ายืนเคียงข้างเราอยู่ และจะมีส่วนช่วยในการรับมือกับความขัดแย้งนั้นไปที่ละก้าวตอน

5. คงเป็นการไม่ฉลาดสักเท่าใดนักที่จะสู้กับความขัดแย้งนั้นด้วยตัวของเราเอง

อย่างที่กล่าวก่อนนี้แล้วว่า พระเจ้าทรงประทานพี่น้องที่อยู่เคียงข้างเรา พระองค์ประทานคนที่จะเคียงข้าง และช่วยเรา และนี่คือวิธีการหนึ่งในพระราชกิจของพระเจ้าที่กระทำในชีวิตของเรา ถ้าเราเลือกที่จะ “ลุยเดี่ยว” กับความขัดแย้งนั้นเอง ก็เป็นการที่เราตัดสินใจที่จะไม่สนใจพระราชกิจของพระเจ้าที่จะกระทำในชีวิตประจำวันของเรา

6. การสร้างสาวกที่ด้อยคุณภาพอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในคริสตจักร

สมาชิกที่ยังเป็น “ทารกในความเชื่อ” มักไม่รู้ว่าจะรับมือและจัดการอย่างไรกับความขัดแย้ง ต่างกับคนที่มี “จิตวิญญาณที่เป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ” และถ้าเราประกาศให้คนมารับเชื่อแล้วไม่ได้เลี้ยงดู บ่มเพาะ ให้เขาเติบโตเป็นสาวกของพระคริสต์ที่ต่อเนื่องเพียงพอ ชีวิตของผู้เชื่อคนนั้นจะไม่เติบโตขึ้นและกลับจะเป็นเหตุของการสร้างความขัดแย้งในคริสตจักรขึ้นได้

7. การที่รีบเร่งตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ เร็วเกินไปมักก่อให้เกิดความขัดแย้ง

บ่อยครั้ง เรามักใจร้อนรีบเร่งตอบสนองใน “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นเร็วเกินไป อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงตามมา เช่น ครั้งหนึ่งมีธรรมกิจท่านหนึ่งอภิปรายความคิดเห็นที่รุนแรงในที่ประชุม หลังการประชุม ประธานธรรมกิจคริสตจักรเขียนจดหมายทางอีเมล์ถึงธรรมกิจท่านนั้น แนะนำธรรมกิจท่านนั้นว่า ไม่ควรกระทำพฤติกรรมที่รุนแรงเช่นนั้น ทำให้เขาไม่พอใจ เขียนอีเมล์ตอบโต้ประธานธรรมกิจ และส่งเวียนไปถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ด้วย

8. พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ และ ทรงใช้ความขัดแย้งที่จะสร้างเสริมให้เราเติบโตขึ้นในพระองค์

มันไม่สนุกเลยครับเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในคริสตจักร หรือ ในที่ทำงาน หรือ ความขัดแย้งในการทำพันธกิจ แต่จากประสบการณ์ผมได้เรียนรู้ว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งสิ่งแรกและทันทีคือ การหันหน้าเข้าหาพระเจ้า และเวลานั้นเองที่พระเจ้าจะเริ่มทำงานในจิตใจชีวิตของเรา และพระองค์จะประทานมุมมองของพระองค์แก่เรา และประทานกำลังการขับเคลื่อนแก่เรา และพลังการขับเคลื่อนแรกที่ได้รับเสมอคือ “พลังแห่งความอดทน” “พลังที่จะนิ่ง สงบ”  “พลังที่จะฟังอย่างใส่ใจ” และผมพบว่า สิ่งดีดีที่ผมเรียนรู้และได้รับการเสริมสร้างจากพระเจ้ามากที่สุดคือ ชีวิตในภาวะที่ไม่ปกติ ภาวะในความขัดแย้ง ต่อต้าน และในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งเช่นนี้คือโรงเรียนของพระเยซูคริสต์ที่สร้างเสริมผมให้เติบโตขึ้นในพระองค์ได้อย่างดีที่สุด อย่างโรงเรียนในทะเลทรายมีเดียที่สร้างโมเสส โรงเรียนในถ้ำร้างที่สร้างกษัตริย์ดาวิด และ โรงเรียนในทะเลทรายอาระเบียที่สร้างเปาโลขึ้นใหม่

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



12 กันยายน 2563

“จิ๋วแต่แจ๋ว” ในแผ่นดินของพระเจ้า

ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับขนาดใหญ่ หรือ จำนวนมาก เช่น โบสถ์นี้มีคนมานมัสการครั้งละ 5,000 คน โบสถ์หลังนี้ใหญ่ที่สุดในประเทศนี้ เขาเป็นนักเขียนมืออาชีพ สามารถขายได้ทั่วโลก 200 ล้านเล่ม ถูกแปลเป็น 32 ภาษา...

หลายคนถึงกับหมดใจว่า ฉันจะเป็นคนสำคัญและประสบความสำเร็จไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่ผมจะทำอย่างเขาได้  ขอบอกว่า สำหรับพระเยซูคริสต์พระองค์ไม่มีมุมมองเช่นนั้น และพระองค์ไม่ต้องการให้สาวกของพระองค์แม้แต่คนเดียวที่มีมุมมองเช่นนั้นด้วย อยากจะบอกว่า การกระทำที่เล็กน้อย เรียบง่าย ธรรมดาทั่วไปที่ท่านกระทำสามารถสร้างผลกระทบที่สำคัญยิ่งในแผ่นดินของพระเจ้า

ในลูกา 13:18-21 พระเยซูคริสต์ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึง สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สร้างผลกระทบที่สำคัญยิ่งใหญ่ต่อ “แผ่นดินของพระเจ้า” เช่น เมล็ดมัสตาร์ด และ เชื้อ (ผงฟู หรือ ยีสต์) ที่แม่บ้านใส่ลงในแป้งที่ทำขนม จนเกิดการฟูขึ้นมากมาย

พระเยซูคริสต์ได้เปรียบเทียบ “สิ่งเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว” สองสิ่งที่ดูมีค่าเพียงน้อยนิดในตัวของมัน แต่มีสมรรถนะ ประสิทธิภาพในชีวิตของมันที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นแผ่นดินของพระเจ้า และทุกวันนี้ในแต่ละตัวคนจะมี “สิ่งเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว” ในตัวของตน ที่เมื่อทำแล้วจะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินของพระเจ้า “สิ่งเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว” ของท่านมีอะไรบ้าง? 

เราสามารถทำ “สิ่งเล็กจิ๋วแต่แจ๋ว” ที่สร้างผลกระทบต่อแผ่นดินของพระเจ้า ด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอนคือ “ใส่ใจสักนิด รักเมตตาสักหน่อย  รับใช้ตามความจำเป็นต้องการ” ดังนี้

ใส่ใจสักนิด

ในยอห์น บทที่ 9 เกี่ยวกับเรื่องของคนตาบอดแต่กำเนิด เมื่อพระเยซูรักษาชายที่ตาบอดแต่กำเนิดให้เขาสามารถมองเห็นได้ เขาเข้าไปในธรรมศาลาไปเล่าเรื่องที่พระเยซูรักษาเขาจนเห็นได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชายคนนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีนัก เขาถูกขับไล่ออกจากธรรมศาลาหลังจากที่เล่าเรื่องการรักษาของพระเยซู  “[35] พระเยซูทรงได้ยินว่าพวกยิวไล่คนนั้นออกไปแล้ว เมื่อพระองค์ทรงพบเขาจึงตรัสว่า “ท่านวางใจในบุตรมนุษย์หรือ?...” (ยอห์น 9:35 มตฐ.)

ชายที่เคยตาบอดคนนี้ในสายตาของบรรดาผู้นำศาสนายิวมองว่า เป็นคนไร้ค่าไม่สำคัญ เพราะมองว่า “เขาเป็นคนตาบอด ที่นั่งขอทาน” ไม่มีใครสนใจเขา ขนาดที่เขากลับมามองเห็นได้อีกแล้วเข้าไปในสถานนมัสการพระเจ้ากลับถูกผู้นำศาสนาไล่ออกมา เพราะถูกมองว่าเป็นคนบาปจึงตาบอดแต่กำเนิด เขากลายเป็นคนที่ “สังคมไม่ต้อนรับไม่ต้องการ” เขาเป็นผู้ที่ไร้คุณค่า แม้แต่ในสายตาของคนในศาสนา

แต่ใน ยอห์น 9:35 พระเยซูคริสต์ใส่ใจคนเล็กน้อยด้อยค่าเช่นนี้ พระองค์ตามไปหาและพูดคุยกับเขา

ชายคนนี้ไม่ได้เป็นคนสำคัญอะไรเลย ไม่ใช่คนที่ยิ่งใหญ่ในเมืองนั้น เขาไม่สามารถทำอะไรนอกจากนั่งขอทานเพราะตาบอด ที่ผู้นำยิวมองว่าคนนี้เป็นคนบาปถึงเกิดมาเป็นเช่นนี้ แต่พระเยซูคริสต์กลับเข้าไปหาเขา พูดคุย และรักษาให้เขาสามารถมองเห็นได้ พระองค์ให้เวลาแก่เขา ให้ความใส่ใจเยียวยารักษาเขา ให้ชีวิตใหม่แก่เขา พระองค์ให้คุณค่าในตัวเขา

คนทั่วไปคิดไม่ถึงว่า คนอย่างพระเยซูจะเข้าถึง ใส่ใจ และทำอะไรกับชีวิตของคนที่ไร้ค่า แต่นี่ คือการวางรากฐาน และเสริมสร้าง “แผ่นดินของพระเจ้า” บนโลกใบนี้ และนี่คือแบบอย่างที่พระคริสต์วางไว้ให้สาวกพระคริสต์ทุกคนกระทำตาม

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนให้เวลาชีวิตเข้าถึง ใส่ใจ เยียวยา พัฒนาชีวิตใครบางคนที่สังคมไม่เห็นคุณค่า ที่คนอื่นไม่สนใจ อาจจะเป็นคนในครอบครัวของตนเอง คนในชุมชนรอบบ้าน หรือ คนในที่ทำงาน/ในสถานศึกษา หรือในชุมชนสังคมที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ชีวิตคริสตจักรของเราคงแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก

ผลกระทบที่เกิดจากการกระทำที่ “จิ๋ว” จะสร้างผลกระทบที่ “เจ๋ง” อย่างมีพลังกระทบต่อเนื่อง กล่าวคือ “พลังที่เจ๋ง”

ประการแรกคือ คนเล็กน้อยคนนั้นเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในชีวิตของเขา ทำให้เขามี “มุมมอง” ที่เห็นคุณค่าของคนเล็กน้อยด้อยค่าในคนอื่นว่า เป็นคนมีคุณค่าเช่นเดียวกับเขา และ ให้เวลาชีวิต ทักษะ ความสามารถ ทรัพยากรเท่าที่มีแก่คนเล็กน้อยคนอื่นที่เขาพบเห็น เพื่อเสริมสร้างคุณค่าชีวิตในคนเล็กน้อยเหล่านั้นขยายวงกว้างต่อไป   การกระทำที่ “จิ๋วแต่แจ๋ง” นี้ได้สร้าง “พลังกระทบที่ต่อเนื่องและทวีคูณ”  

ประการที่สอง เกิดพลังนี้ในผู้กระทำที่ “จิ๋วแต่เจ๋ง” เองด้วย เมื่อการกระทำที่จิ๋วแต่เจ๋งเกิดผลเป็นรูปธรรมย่อมทำให้ผู้กระทำเกิดความมั่นใจ รู้สึกถึงคุณค่าในการกระทำและชีวิตของตน เป็นแรงกระตุ้นให้แสวงการกระทำที่ “จิ๋วแต่เจ๋ง” ต่อ ๆ ไป และการเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมยังทำให้สมาชิกคริสตจักรคนอื่น ๆ ที่เห็นเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำในสิ่งที่มีคุณค่าเช่นนี้บ้าง

รักเมตตาสักหน่อย

เราเริ่มต้นจากขั้น “จิ๋วแต่เจ๋ง” ด้วยการเป็นฝ่าย “เข้าไปหา” ด้วยความใส่ใจ และเข้าถึงชีวิตของผู้เล็กน้อยที่เราใส่ใจ ทำให้เราสามารถรู้ถึงสิ่งที่เป็นวิกฤติ หรือ ความจำเป็นต้องการที่แท้จริงในชีวิตของเขา ซึ่งเป็นการเปิดทางให้เรา “สำแดงความรักเมตตา” ต่อเขา

สตรีในคริสตจักรท่านหนึ่งจะใช้เวลาของตนเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรัง หรือ ผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ออกจากบ้านของตน เธอได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ทำให้เธอรู้ว่า “คนติดบ้าน” คนนั้นมีความจำเป็นต้องการอะไร และ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขา “ติดบ้าน” (ไม่ไปไหนมาไหน) และมีความจำเป็นต้องการอะไรในชีวิตประจำวันของเขา และหาทางที่จะตอบสนองความจำเป็นต้องการนั้นตามความเหมาะสม

ด้วยการสำแดงความรักเมตตาเช่นนี้เป็นการเสริมสร้างความไว้วางใจ และ เกิดความสนใจของคนที่เธอไปเยี่ยม จนครั้งหนึ่งเจ้าบ้านที่ “ติดบ้าน” เอ่ยถามเธอเมื่อเธอขอตัวที่จะไปเยี่ยมอีกบ้านหนึ่ง เขาถามว่าจะไปเยี่ยมใครต่อไปหรือ? เธอบอกชื่อ... เจ้าของบ้านก็เอ่ยขึ้นว่า เขาก็รู้จักคนนั้น ได้ข่าวว่าเขาเดินลำบาก ตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง?   สตรีผู้มาเยี่ยมเล่าให้เขาฟัง เขาถามสตรีผู้มาเยี่ยมว่า เขาจะขอไปด้วยได้ไหม? สตรีจากคริสตจักรตอบรับด้วยรอยยิ้มและดีใจ เหตุการณ์เช่นนี้ได้ขยายออกเป็นวงกว้าง ดำเนินเช่นนี้ไปหลายเดือนจนเกิดการไปมาหาสู่กันในกลุ่ม “คนติดบ้าน” และให้ความใส่ใจและช่วยเหลือกันและกัน

จากความรักและใส่ใจของสตรีคริสตจักรคนหนึ่ง เชื่อมสัมพันธ์ให้ “คนติดบ้าน” เกิดการออกบ้านไปมาหาสู่พูดคุย และใส่ใจช่วยเหลือกันด้วยความรักเมตตา เกิดการเปลี่ยนจาก “คนติดบ้าน” ไปเป็นการไปมาหาสู่กัน ความรักของคน ๆ หนึ่ง ทำให้เกิดความรักเกี่ยวพันขึ้นในอีกหลาย ๆ คน เกิดการผูกพันเอาใส่ใจกันและกันในกลุ่ม

ความรักเพียง “กระจิ๋วหลิว” แต่ก่อเกิด “ชีวิตร่วมที่เจ๋ง” เกินกว่าที่จะคาดคิด
รักเมตตาสักนิด...ชีวิตพบคุณค่าเกินกว่าที่จินตนาการ

อย่าเพียงแต่คิด หรือ มัววางแผนการใหญ่ คิดเล็ก ๆ แต่เริ่มลงมือทำตอนนี้เลยครับ! เริ่มต้นที่ตัวเรา แล้วเราจะพบว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป และนี่คือการทรงนำของพระเจ้ามิใช่หรือ? ก้าวต่อก้าว วันต่อวัน เดินไปกับองค์พระเยซูคริสต์ครับ

รับใช้ตามความจำเป็นต้องการ

จากทีมเยี่ยมเยียน “คนติดบ้าน” ของชุมชน ที่เอาใจใส่ และ แบ่งปันความรักเมตตาแก่กันและกัน ต่อมาพบว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาหนึ่งที่เป็นปัญหาร่วมของพวกเขาคือ การไปพบแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาลอำเภอ บ่อยครั้งที่ไม่ได้ไปตามแพทย์นัด ทำให้ขาดยา พบว่าปัญหาคือ ค่ารถจากหมู่บ้านไปที่โรงพยาบาลอำเภอไป-กลับครั้งละ 200 บาทต่อคน ถ้าตรงกับเวลาที่เขาไม่มีเงิน เขาก็ไม่ได้ไป เดือนนั้นก็ขาดยา

สตรีคริสตจักรท่านนี้เธอได้นำเรื่องนี้มาปรึกษาในคริสตจักรของเธอ ในที่สุดคณะธรรมกิจคริสตจักรให้ใช้รถมอเตอร์ไซด์พ่วงของคริสตจักรรับ-ส่งสมาชิกกลุ่มคนติดบ้าน เรื่องนี้เมื่อผู้อำนวยการโรงพยาบาลทราบเรื่อง จึงขอพบกับสตรีคริสตจักรท่านนั้น ถามถึงความเป็นมาทั้งหมด ผู้อำนวยการได้ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสำรวจว่าในหมู่บ้านนี้และข้างเคียงมีผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์และรับยาประจำจำนวนเท่าใด

ในที่สุด เนื่องจากพบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์จำนวนมาก และเป็นหมู่บ้านที่ผู้ป่วยมักขาดยา ผู้อำนวยการจึงปรึกษากับทางคริสตจักร ขอใช้อาคารโบสถ์เป็นที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยเรื้อรังในหมู่บ้านนั้นและข้างเคียง จึงนำไปถึงการที่คริสตจักรกลายเป็นพื้นที่บริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเรื่องรังในหมู่บ้าน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสตรีคริสตจักรเพียงคนเดียวที่ “กระทำสิ่งที่จิ๋ว” ในชุมชน แต่เกิด “ผลที่แจ๋ว” ที่ก่อเกิดคุณภาพชีวิตในคนติดบ้าน สู่ สุขภาพผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชน พื้นที่คริสตจักรกลายเป็นพื้นที่บริการสุขภาพคนในชุมชน

คิดถึงคำอธิษฐานที่พระเยซูคริสต์ที่ทรงสอนที่ว่า “...ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ น้ำพระทัยของพระองค์เป็นเช่นไรในสวรรค์ ขอให้เป็นเช่นนั้นบนแผ่นดินโลกนี้...”

รับใช้คนละเล็กคนละน้อย

นี่เป็นเพียงสมาชิกคนเดียว แต่ถ้าสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักร (หมายถึงทุกคน) ต่างยอมรับใช้ในงานพันธกิจของคริสตจักรคนละเล็กละน้อยล่ะ อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักร และอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตและวุฒิภาวะทางความเชื่อของสมาชิกแต่ละคน? ชีวิตสมาชิกแต่ละคนจะเกิดผลขนาดไหน? แน่นอนครับ การที่แต่ละคนร่วมกันรับใช้ตามพระมหาบัญชาของพระเยซูคริสต์คนละเล็กคนละน้อยสามารถสร้างให้เกิดผลมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ มีผลต่อคุณภาพชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกนี้อย่างชัดเจน  

เมื่อแต่ละคนมีประสบการณ์ที่รับใช้คนละเล็กคนละน้อยแต่พบว่าเกิดผลมากมายเมื่อรวมกันเข้า ขอท้าทายว่า ขอแต่ละท่านลองพิจารณาดูว่า ถ้าตนเองจะรับใช้ในคริสตจักรของตน จะรับใช้ในงานไหนพันธกิจอะไร ที่ตนทำได้ดี และทำจนเกิดผลมาก ด้วยการรับใช้ที่ทำไม่มากแล้วยังสนุกอีกด้วย และนั่นจะเกิดผลกระทบที่มีพลังในชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร และในชีวิตประจำวันของตนเองด้วย

พระเจ้าแสวงหาคนที่เต็มใจที่จะทำให้พื้นที่สังคมชุมชนที่ตนมีชีวิตอยู่เกิดคุณค่าอย่างแตกต่าง เราเพียงเต็มใจที่จะรับใช้พระองค์ท่ามกลางชุมชนผู้คนที่เล็กน้อย ด้วยจิตใจที่ชื่นชมยินดี และพระองค์จะทำให้เกิดผลมากมายเกินกว่าที่เราท่านคาดคิด อีกทั้งกระทบต่อคุณภาพในแผ่นดินของพระเจ้าบนโลกนี้

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



09 กันยายน 2563

อธิษฐานในยามวิกฤติชีวิต

เมื่ออธิษฐานในยามชีวิตวิกฤติ เราแนะนำพระเจ้า หรือ ขอพระเจ้าทรงนำและชี้นำ?

“ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์  
ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก” (มัทธิว 6:10 มตฐ.)

อธิษฐาน...เราขอตามใจใคร?

เราท่านคริสตชนต่างรู้ว่า เมื่อเราอธิษฐานเราทูลขอให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้นในบนแผ่นดินโลกนี้ แต่เราคงต้องยอมรับว่าบางครั้งหรือบ่อยครั้งเราอธิษฐานทูลขอให้พระเจ้าทำให้สำเร็จและเป็นไปตาม “ใจปรารถนาของเรา” แต่กลับมิใช่ตามน้ำพระทัยของพระองค์ เราต่างรู้ว่า น้ำพระทัยของพระเจ้าคือ ให้พระนามของพระเยซูคริสต์ได้รับการยกย่อง ให้ชีวิตของเราเติบโตขึ้นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   เพื่อเราจะนำเอาข่าวดี(พระกิตติคุณ)ของพระเยซูคริสต์ไปถึงทั้งโลก (มัทธิว 28:19-20; กิจการ 1:8) และร่วมในพระราชกิจแห่งการสร้างโลกใหม่ที่พระคริสต์ได้เริ่มต้นไว้ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า บางครั้งเราอธิษฐานขอให้พระเจ้าทำให้สำเร็จตามความต้องการของเรา มิใช่สำเร็จตามพระประสงค์ของพระองค์  

เราทูลขอต่อพระเจ้า เหมือนอธิษฐานขอต่อผู้วิเศษที่จะทำตามสิ่งที่เราขอหรือเปล่า? เรามักลืมตัวอธิษฐานให้พระเจ้าทำตามสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า? แทนที่เราจะอธิษฐานแสวงหาน้ำพระทัย/พระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเราบนโลกใบนี้

พระเยซูคริสต์เป็นส่วนหนึ่งในพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดา

อย่างน้อยในพระคัมภีร์เราพบสองครั้งว่า พระเยซูคริสต์อธิษฐานทูลขอให้พระบิดาเลื่อนถ้วย(แห่งการทนทุกข์และความตายบนกางเขน)ออกไปจากพระองค์ (ดู มัทธิว 26:39, 42) แต่เราเห็นชัดเจนว่า พระเยซูยังยืนหยัดให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดา

การที่เราทูลขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์มิได้หมายความว่า เราไม่ต้องทำอะไร ให้พระบิดาทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ในเหตุการณ์นี้พระเยซูคริสต์ต้อง “ดื่มจากถ้วย” แห่งความทุกข์และความตาย   พระเยซูยังต้องรับการเยาะเย้ย สบประมาท ดูหมิ่น ทำให้ขายหน้า ทำให้เสียเกียรติ ถูกทรมาน ถูกตรึงบนกางเขน   และในที่สุดถูกฆ่าจนสิ้นชีวิต

พระเยซูรู้ว่าพระองค์จะต้องได้รับการกระทำอย่างไร และนั่นมิใช่สิ่งที่จะรับได้ง่าย ๆ ดังนั้นพระองค์จึงอธิษฐานทูลขอต่อพระบิดาว่า “ถ้าเป็นไปได้ขอให้...” “ถ้วยแห่งความทุกข์และความตาย” เลื่อนไปจากพระองค์ พระองค์ทูลอธิษฐานเช่นนี้อย่างน้อยสองครั้ง แต่สิ่งสำคัญยิ่งคือ พระเยซูคริสต์ยังคงยืนหยัดให้ทุกอย่างต้องสำเร็จไปตามพระประสงค์ของพระองค์ มิใช่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง (มัทธิว 26:39, 42)

หลังจากที่พระเยซูอธิษฐานเช่นนั้น พระองค์ก็ยังต้องถูกตรึงที่กางเขน แสดงให้เห็นถึงพระประสงค์ของพระบิดาในเรื่องนี้แน่ชัดขึ้น ถ้าเช่นนั้นหมายความว่าเมื่อเราอธิษฐานพระเจ้าทรงเสริมพลังชีวิตของเราให้ก้าวไปตามแผนการของพระองค์อย่างมั่นคง เด็ดเดี่ยวตามพระประสงค์ของพระเจ้า และนั่นคือชีวิตของเราที่มีส่วนร่วมในแผนการของพระเจ้า  

อธิษฐานและปฏิบัติการ

เรารู้ว่า เราต้องอธิษฐานให้ทุกสิ่งให้สำเร็จตามพระประสงค์ของพระเจ้า นั่นมิได้ทำให้เราไม่ต้องทำหรือรับผิดชอบอะไรต่อไป ตัวอย่างเช่น เรากำลังหางาน เราอธิษฐานทูลขอให้พระเจ้าช่วยให้เรามีงานทำและเป็นงานที่เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์ แต่เรายังต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการการหางานนั้น เราต้องลุกขึ้นแต่เช้า อาบน้ำแต่งตัว  เตรียมเอกสารประวัติของตนสำหรับสมัครงาน ดูโฆษณาเกี่ยวกับงานที่ต้องการคนทำ แล้วก็ออกไปสมัครงาน

เราจะไม่เอาแต่อธิษฐานทูลขอให้พระเจ้าช่วยหางานสำหรับเรา และในเวลาเดียวกันเราก็จะไม่พึ่งความสามารถของตนเองในการหางานด้วยตนเองเท่านั้น

เมื่อเราอธิษฐาน เราทูลขอหรือขอให้(แนะนำ)พระเจ้าทำในสิ่งต่าง ๆ หรือเปล่า? หรือเราอธิษฐานทูลขอพระเจ้าว่า ขอทรงช่วยให้เราสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้คำอธิษฐานของเราได้รับคำตอบตามพระประสงค์จากพระเจ้า?

ภาวนาธิษฐาน

พระเจ้าพระบิดา โปรดยกโทษข้าพระองค์ที่บ่อยครั้งอธิษฐานต่อพระองค์อย่างเห็นแก่ตัว ที่มุ่งเน้นที่ความปรารถนา และ ความต้องการของข้าพระองค์เอง มิใช่การอธิษฐานเพื่อแสวงหาพระประสงค์ของพระองค์ ข้าพระองค์ตระหนักชัดว่า ข้าพระองค์ต้องรับผิดชอบและกระทำในส่วนของข้าพระองค์ ด้วยความไว้วางใจพระองค์ต่อผลที่จะเกิดขึ้น   ข้าพระองค์อธิษฐานในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499