07 กันยายน 2563

ประโยคที่ศิษยาภิบาลไม่อยากได้ยิน?

ประโยคที่ศิษยาภิบาลไม่อยากได้ยินเลยคงมีหลายประโยค หลายวลี แต่ประโยคหนึ่งที่ไม่อยากได้ยินเลยคือ... “วันนี้ไม่เห็นได้อะไรจากคำเทศนา” แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า ไม่มีใครที่จะไปพูดประโยคนี้ตรง ๆ กับศิษยาภิบาล ศิษยาภิบาลมักจะไปได้ยินมาโดยบังเอิญมากกว่า

ผมเคยเทศนามาก่อน และ ก็เคยเป็นคนฟังเทศน์มาก็มาก ผมเคยได้ยินการวิจารณ์ในทำนองนี้ และเคยวิจารณ์นักเทศน์คนอื่นด้วยประโยคดังกล่าว แท้จริงแล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ และคุณภาพของการเทศน์ แต่ในเวลาเดียวกันเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและการใส่ใจของผู้ฟังเทศน์ด้วยเช่นกัน

ผมเองต้องสารภาพว่า ผมเคยเทศนาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีพลังกระตุ้นดลใจ

แต่ก็อยากจะบอกความจริงอีกด้านด้วยว่า ตลอดทุก ๆ อาทิตย์ การเป็นศิษยาภิบาลต้องปล้ำสู้กับการเลือกประเด็นที่จะเทศน์ และเนื้อหาในคำเทศน์ รวมถึงกระบวนการวิธีการสื่อสารคำเทศน์ในแต่ละสัปดาห์ เป็นงานหนักมาก เป็นภาระหนักอึ้ง หนักใจด้วยครับ

อยากจะบอกท่านผู้ฟังเทศน์ว่า ผู้เทศน์ไม่ได้พออกภูมิใจในคำเทศน์ของตนเสียทุกครั้งไป บางครั้งก็พบจุดบกพร่องในคำเทศน์ของตน แล้วต้องนั่งวิพากษ์วิจารณ์ตนเองในจิตใจ

แต่ในเวลาเดียวกันเรามักไม่ค่อยมีการพูดถึง “อีกด้านหนึ่งของเหรียญการเทศนา” คือตัวผู้ฟัง มิใช่ผู้เทศนาที่มีความรับผิดชอบในการเตรียมเทศน์เท่านั้น แต่ผู้ฟังเทศน์ก็ต้องเตรียมจิตใจชีวิตของตนเพื่อฟังเทศนาด้วยเช่นกัน และนี่เป็นงานใหญ่สำหรับผู้ฟังเทศน์แต่ละคนมักละเลย  

แล้วผู้ฟังเทศน์มีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบอะไรบ้างครับ?

1. ท่านได้เตรียม จิตใจ จิตวิญญาณ และร่างกายของท่านสำหรับวันอาทิตย์หรือไม่?

“วันอาทิตย์ของท่านเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในคืนวันเสาร์ของท่าน” เราต้องตัดสินใจว่าพรุ่งนี้จะไปร่วมนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักร แล้วเราได้มีการเตรียมจิตใจของเราในค่ำคืนวันเสาร์เพื่อที่จะรับพระวจนะของพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์หรือไม่?

เราตัดสินใจเข้านอนเช้าหน่อยหรือไม่? เราได้วางแผนเตรียมตัวเราสำหรับวันอาทิตย์ที่จะได้เป็นเวลาที่เราเข้าส่วนใกล้ชิดกับพระเจ้าหรือเปล่า? และร่วมสามัคคีธรรมกับเพื่อนสมาชิกคริสตจักรหรือไม่? ในบางอาทิตย์เราอาจจะไม่ได้อะไรจากคำเทศนา เพราะการเทศน์ไม่มีประสิทธิภาพ

แต่ในเวลาเดียวกันอาจจะมีสาเหตุอื่น ๆ ก็ได้ เช่น คืนวันเสาร์เราไปนอนเอาตีหนึ่งเพราะดูรายการโทรทัศน์ที่เป็นรายการโปรดของเรา แล้วไปง่วงซึมในเช้าวันอาทิตย์ ถึงกาแฟดำเข้มแก่แค่ไหนก็ไม่สามารถปลุกให้เราตื่นได้! แล้วเราจะฟังเทศน์รู้เรื่องได้หรือครับ?

2. เราเปรียบเทียบศิษยาภิบาลของเรากับนักเทศน์คนอื่นหรือเปล่า?

ท่านเป็น “นักฟังเทศน์” ใช่ไหม? มีความชำนาญในการฟังเทศน์ รู้ว่านักเทศน์ดัง ๆ ในสื่อทีวี สื่อออนไลน์มีใครบ้าง   แล้วท่านมักเปรียบเทียบลีลา เนื้อหา และการสื่อสารคำเทศน์ของศิษยาภิบาลของท่านกับนักเทศน์เหล่านั้น

แต่ส่วนใหญ่มักจะคิดและรู้สึกว่า นักเทศน์ทางสื่อ ต่างเทศน์ดีกว่าศิษยาภิบาลของตน และมักคิดว่าตนเองรู้เรื่องการเทศนามากมาย(ชำนาญ) จึงมักตั้งตัวเป็นอาจารย์ให้คะแนนการเทศนาของศิษยาภิบาล (ไม่ตั้งใจ บ้างก็โดยไม่รู้ตัว)

ในกรณีนี้เราต้องตระหนักชัดว่า นักเทศน์ดัง ๆ ที่เราฟังเหล่านั้นไม่มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการ “เลี้ยงดู/อภิบาล” สมาชิก (หรือ ลูกแกะ) คือผู้ฟัง พวกเขา “เทศน์ทิ้ง” (ให้พระเจ้ารับผิดชอบจัดการต่อ???) แต่ศิษยาภิบาลเมื่อเทศนาแล้วยังต้องตามไปอภิบาลชีวิต และ เลี้ยงดูจิตวิญญาณของผู้ฟังเทศน์

เราไม่เคยจดไม่เคยนับดูว่า ศิษยาภิบาลของเราต้องเดินทางไปเยี่ยมเยียนอภิบาลชีวิตสมาชิกคริสตจักรปีละกี่กิโลเมตร? ไม่น้อยเลยครับ ศิษยาภิบาลไม่ใช่มีหน้าที่ตั้งหน้าตั้งตาเทศนาเท่านั้น ไปเยี่ยมเราที่บ้าน บางครั้งที่ทำงาน หรือที่โรงพยาบาลเมื่อเราเจ็บป่วย อธิษฐานเผื่อสมาชิกที่กำลังเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต   และลงท้ายด้วยการประกอบพิธีศพของเราเมื่อตายไป นักเทศน์ดัง ๆ เก่ง ๆ ทั้งหลาย เขาไม่ต้องทำเช่นนี้ในคริสตจักรของเรา

3. เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับจุดประสงค์ของวันอาทิตย์หรือไม่?

ในพระคัมภีร์มักเปรียบเทียบการรับพระวจนะของพระเจ้าเป็นเหมือนการรับประทานอาหารของชีวิตจิตวิญญาณของเรา

เรามักจะมีความเข้าใจผิดพลาดเกี่ยวกับการเติบโตขึ้นในความเป็นคริสตชนของเรา

เรามักเข้าใจผิดว่า ถ้าจะให้จิตวิญญาณที่ซึมเหงาเฉื่อยชาของเราตื่นขึ้น เราต้องเข้าไปร่วมในการฟื้นฟูใหญ่ เข้าไปร่วมรายการของค่ายพลิกฟื้นชีวิต ที่จะกระตุ้นปลุกเร้าจิตวิญญาณที่เฉื่อยชาง่วงเหงาหาวนอนในจิตวิญญาณของเราให้กลับไปหาพระคริสต์ แต่เรามักลืมไปว่าเราได้ฟังเทศนาอาทิตย์แล้วอาทิตย์เล่าที่มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงพัฒนาความเชื่อ ความคิด ชีวิตจิตวิญญาณของเราทีละเล็กทีละน้อย และอย่างต่อเนื่องด้วย

ในชีวิตจริงของเรา เราไม่ได้กินเลี้ยงใหญ่ทุกมื้อทุกวัน แต่เรารับประทานอาหารทุกวัน มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น   บางมื้อเรารับประทานแบบรีบเร่ง บางมื้อเป็นอาหารแบบง่าย ๆ และเมื่อทำงานดึกดื่นบางครั้งมีมื้อดึก เป็นการรับประทานตามสิ่งที่มีเหลือในตู้เย็น แต่ที่สำคัญคือ เราทานอาหารทุกมื้อไม่ลืมที่จะรับประทานอาหาร แล้วอาทิตย์หนึ่งเราก็จะรับประทานอาหารมื้อพิเศษที่ศิษยาภิบาลเตรียมไว้อย่างดีเพื่อสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน แต่อาจจะถูกปากบางคนแต่ไม่ถูกใจอีกบางคน แต่ที่สำคัญทุกคนได้รับประทานอาหารเพื่อมีร่างกายที่แข็งแรง เติบโตขึ้น

ที่ชีวิตคริสตชนเติบโตขึ้นมิได้เพราะรับประทานอาหารอย่างดีที่ถูกปากถูกใจปีละครั้งที่ค่าย หรือ ที่การฟื้นฟูคริสตจักร อาหารมื้อพิเศษนี้เป็นประโยชน์และถูกใจ แต่เราเติบโตเพราะอาหาร 3 มื้อในแต่ละวันที่รับประทานอย่างสม่ำเสมอมากกว่างานเลี้ยงใหญ่ปีละครั้งสองครั้ง?

4. เราคิดถึง “คนนั้นคนนี้” น่าจะได้ฟังเทศน์นี้หรือเปล่า?

บางครั้งเราฟังเทศนา แล้วบอกกับตนเองว่า คนนั้นคนนี้น่าจะได้ยินคำเทศนานี้เพื่อเขาจะได้เห็นบาปผิดของตนได้ชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้เพราะนี่เป็นการที่เรากำลังกลบเกลื่อนความรู้สึกว่าคำเทศนาของศิษยาภิบาลกำลังชี้ชัดถึงความบาปผิดของตน หรือ คนในครอบครัวของเราเอง

บางครั้งเราคิดว่า คำเทศนาของศิษยาภิบาลไม่แหลมคมพอเพราะไม่สามารถที่จะทำให้เพื่อนคนนั้นของเราสำนึกผิดในเรื่องที่ศิษยาภิบาลเทศน์ หรือกล่าวหาว่าคำเทศนาของศิษยาภิบาลมิได้ชี้ชัดถึงพระวจนะของพระเจ้าที่จะทำให้ผู้หญิงคนนั้นหยุดนินทาว่าร้ายคนอื่น หรือ คำเทศน์น่าจะกล่าวชัด ๆ ว่าเธอจะต้องได้รับการลงโทษ

แต่เป็นไปได้ไหมว่า คำเทศนาในวันนั้นพระเจ้าประสงค์ขจัดบางสิ่งบางอย่างจากชีวิตภายในของเราเอง (ที่เราไม่อยากได้ยินได้ฟัง) เป็นไปได้ไหมเมื่อพระเจ้าต้องการเอาบางสิ่งบางอย่างที่ชั่วออกจากชีวิตของเรา แต่เรากลับไม่ยอมให้สิ่งนั้นถูกขจัดออกไป เราจึงรู้สึกว่า คำเทศนาในวันนั้นไม่มีพลังอะไรต่อชีวิตของเรา

5. เราแสวงหาความบันเทิงพอใจมากกว่าการสั่งสอนเสริมสร้างหรือไม่?

บางครั้งอาจจะเป็นเพราะเราปรารถนาให้ศิษยาภิบาลเทศนาด้วยภาษา ท่าที หรืออารมณ์ที่เราต้องการในเวลานั้น   โดยเราลืมไปว่า เมื่อพระเจ้าตรัสพระองค์ตรัสกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในการนมัสการครั้งนั้นด้วย และมองข้ามไปว่าพระเจ้าอาจกำลังตรัสกับชุมชนคริสตจักรในฐานะอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมกันในพระกายของพระคริสต์ด้วย

ในเวลาเดียวกัน คนที่มานมัสการพระเจ้าใจวันอาทิตย์หลายต่อหลายคนมาพร้อมด้วยบาดแผลในชีวิต มาด้วยความเหนื่อยล้าหมดกำลัง ถูกสถานการณ์ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาบดขยี้ชีวิตของตน ดังนั้น การนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์บ่อยครั้งจึงเป็นที่ลี้ภัยจากสถานการณ์เลวร้ายในชีวิตของบางคน และเป็นการเยียวยารักษาบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตของอีกหลายคน

จุดประสงค์ของการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ที่กล่าวข้างต้นมิได้อยู่ที่คำพูดคำเทศน์ของศิษยาภิบาลเท่านั้น   แต่อยู่ในการนมัสการเทิดทูนพระเจ้าร่วมกัน การได้ยินได้ฟังพระวจนะของพระเจ้า และสามัคคีธรรมในความสัมพันธ์ของสมาชิกคริสตจักรที่มีร่วมกันด้วย

แต่บ่อยครั้งเรามาร่วมนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ด้วยท่าทีความคาดหวังว่า “เราจะได้อะไรจากการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์?” เป็นท่าทีความคิดแบบบริโภคนิยม และเป็นความเชื่อแบบประโยชน์นิยมเพื่อส่วนตัว ไม่สนใจถึงความต้องการจำเป็นของคนอื่น ๆ ในคริสตจักร และไม่ใส่ใจต่อสมาชิกคริสตจักรในพระกายพระคริสต์คนอื่น ๆ ด้วย

นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่ได้อะไรจากการฟังเทศน์ในวันอาทิตย์ก็ได้!?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น