21 กันยายน 2563

เมื่อ...สมาชิกไม่สนใจฟังเทศน์

ท่านเคยรู้สึกว่า เมื่อท่านเทศนาคนไม่ได้สนใจฟังสิ่งที่ท่านเทศน์หรือไม่? แต่สนใจอย่างอื่นมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ท่านรู้สึกว่า ในการเทศน์ครั้งนี้ท่านเตรียมมาอย่างดี แต่คนฟังไม่เห็นมีใครสนใจหรือใส่ใจฟังเทศน์เลย วันนั้น ท่านอยากจะรีบจบคำเทศน์เร็ว ๆ แล้วกลับบ้านไปนอนดีกว่า!  

เมื่อเกิดเหตุการณ์ในทำนองนี้กับท่าน ท่านมีทางเลือกที่จะทำดังนี้ครับ

1. ให้ท่านเชื่อว่า มีใครบางคนอาจจะตั้งใจฟังอยู่  

แม้ว่าคนนั้นอาจจะไม่เงยหน้ามาสบตา หรือ มุ่งมองมาที่ท่าน เขามองแต่จอสมาร์ทโฟนของเขา เขาอาจจะกำลังอ่านข้อพระคัมภีร์ที่ท่านใช้เทศน์ในวันนั้นอยู่ก็ได้ หรือแม้ว่าเขาไม่ได้อ่านพระคัมภีร์ในมือถือ แต่เขาเป็นคนที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันก็ได้ เขาอาจกำลังฟังเทศน์ของท่านและค้นหาบางอย่างในมือถือไปด้วย?

2. ท่านต้องแน่ใจว่า เนื้อหาคำเทศนาของท่านดีพอ เหมาะสม มีตัวอย่างที่ช่วยทำให้เข้าใจง่าย ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง  

เป็นคำเทศน์ที่มีเนื้อหา “พระคริสต์เป็นแก่กลางในชีวิต” และเป็นคำเทศน์ที่กระตุ้นหนุนเสริมให้ผู้ฟังทำตามพระวจนะในคำเทศน์ในชีวิตประจำวันของเขา และให้เน้นย้ำให้ชัดเจนว่า “พระวจนะของพระเจ้าที่จะต้องกระทำในชีวิตในวันนี้คือ...” แล้วท่านอาจจะยกตัวอย่างเรื่องราวผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำตามพระวจนะนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม

3. ใช้ถามคำถามในคำเทศนาของท่าน  

ปกติแล้วนักเทศน์ทั่วไปมักจะเทศน์ “คำตอบ” แล้วคาดหวังให้ผู้ฟังจดจำ แต่ถ้าท่านต้องการให้ผู้ฟังคิดตามสิ่งท่านกำลังเทศน์ ท่านต้องตั้งคำถาม การตั้งคำถามกระตุ้นให้เขาต้องคิด เขาคิดตามคำเทศน์ของท่าน ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านเทศนาเรื่องบุตรหลงหายในลูกาบทที่ 15 ท่านอาจจะใช้คำถามต่อไปนี้ในคำเทศน์ของท่าน

 [1] ใครในพวกเราที่เคย “เสียเวลาชีวิต” ใช้ชีวิตจนประสบกับความล้มเหลว และในที่สุดท่านต้องหันกลับมาหาพระเจ้า?

 [2] ในทุกวันนี้ พวกเราแต่ละท่านได้รู้จักใครบางคนที่ดูเหมือนว่าชีวิตของเขากำลังประสบกับความล้มเหลวไหม?  ในฐานะคริสตชนเราจะคุยกับเขาอย่างไรดี?

 [3] มีใครบ้างในพวกเรามีชีวิตเป็นเหมือนพ่อในคำอุปมานี้ ที่อธิษฐานเผื่อลูกของตน หรือ หลานของตนให้กลับบ้าน?

 [4] คำถามนี้ขอท่านถามตนเองด้วยความจริงใจว่า มีใครบ้างในพวกเราคิดว่ารู้สึกไม่พอใจ หรือ โกรธที่คนทำไม่ดีแล้วกลับได้รับการยอมรับ และ รับผลที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเองผู้ทำดีควรจะได้รับมากกว่า?

4. อย่ากลัว หรือ เกรงใจที่จะกระตุ้นให้ผู้ฟังเทศน์สนใจฟัง  

ถ้าผู้ฟังรู้และมั่นใจว่าท่านรักพวกเขา พวกเขาจะไม่โกรธคนที่รักและจริงใจต่อเขา “พี่น้องที่รักครับ รู้สึกว่านี้พวกเราหลายคนที่เหนื่อยล้า ขอเราหายใจเข้าลึก ๆ นั่งตัวตรงขึ้น เราจะเข้าสู่สิ่งสำคัญของคำเทศน์ในส่วนที่เหลือไปพร้อม ๆ กัน” ขอให้พูดแบบนิ่มนวลสุภาพ แต่เป็นการพูดที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง สักพักหนึ่งความสนใจจะกลับมาในการฟังเทศน์

5. อย่าลืมที่ท่านจะมีผู้ที่ช่วยประเมินการเทศนาของท่านทุกครั้งหลังการเทศน์  

ท่านศิษยาภิบาลที่เคารพครับ ขอพูดด้วยความสัตย์ซื่อจริงใจว่า บางครั้งที่สมาชิกไม่ฟังการเทศนาของเราอย่างใส่ใจเพราะการเทศนาของเราน่าเบื่อ บางครั้งเรื่องราวที่เทศน์ไม่ประติดปะต่อ “เอานี่ผสมโน่น เอาคนละเรื่องมาอยู่ในคำเทศน์เดียวกัน” บางครั้งคำเทศน์ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของผู้ฟัง ถ้าเราจะมีการเทศนาที่มีพลัง ตอบโจทย์ในชีวิตของผู้ฟัง เราอาจจะต้องมีคนบางคนที่ช่วยเราประเมินการเทศนาของเราในแต่ละครั้ง เพื่อเราจะนำไปสะท้อนคิดว่า เราจะมีวิธีการขั้นตอนเปลี่ยนแปลง พัฒนา แก้ไขการเทศนาของเราด้วยใจถ่อมอย่างไร เพื่อให้การเทศนาของเราเกิดผลมีพลังต่อชีวิตของผู้ฟัง

ท่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้ครับ?

ท่านมีข้อคิดข้อเสนออะไรบ้างไหมครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น