18 กันยายน 2563

“ทำงานให้เสร็จ” หรือ “ทำงานให้สำเร็จ” ?

บ่อยครั้งองค์กรและคริสตจักรของเราทำงานให้เสร็จมากกว่าการทำงานให้สำเร็จหรือไม่? การที่เราทำงานจนสำเร็จ  งานที่เราทำควรจะเกิดผลตามที่วางไว้ และเอื้อให้คนทำงานร่วมกันเรียนรู้บทเรียนจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน แล้วเราจะทำอย่างไร?

ถ้าเช่นนั้น ในฐานะผู้นำองค์กร สิ่งหนึ่งที่ดีและสำคัญที่ควรทำคือ การหาเวลาที่จะให้ทีมงานได้มีโอกาสค้นหาและฉลองชื่นชมในสิ่งดีดีที่ทีมงานได้จากการทำงานร่วมกัน

ภายหลังที่ได้ทำงานชิ้นหนึ่ง กิจกรรมหนึ่งผ่านไป ถ้าเป็นคริสตจักรอาจจะภายหลังงานค่าย (ต่าง ๆ) งานคริสต์มาส  งานอีสเตอร์ การประกาศฯ และ ฯลฯ ควรจัดให้ทีมงานมีโอกาสที่จะมาร่วมกันขอบพระคุณพระเจ้า และชื่นชมยินดีในสิ่งดีดีที่ได้ทำร่วมกัน และ ชื่นชมในบทเรียนที่ได้เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ที่ทำงาน และเรียนรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นพลังหนุนเสริมทีมงานที่จะมองไปข้างหน้าและก้าวต่อไปด้วยความมั่นใจในการทรงนำของพระเจ้า และ ในความไว้เนื้อเชื่อใจ และ หนุนเสริมกันและกันในทีมงาน

แล้วพระองค์ตรัสกับพวกเขาว่า “มาเถิด จงปลีกตัวออกมาหาที่สงบเพื่อหยุดพักสักหน่อยหนึ่ง” เพราะว่ามีคนไปมามากมายจนไม่มีเวลาแม้แต่จะรับประทานอาหาร พระองค์จึงเสด็จลงเรือกับพวกสาวกไปยังที่สงบตามลำพัง” (มาระโก 6:31-32 มตฐ.)

ภายหลังการทำงานเสร็จในแต่ละช่วง เราต้องการเวลาที่จะอยู่เฉพาะด้วยกันกับทีมงาน พัก สงบ เพื่อที่ชีวิตจิตใจจะได้มีโอกาสทบทวนในสิ่งที่ทำไปแล้ว ประมวลในสิ่งที่เกิดขึ้น ไตร่ตรองว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดผลทั้งที่ดี และ ที่ไม่พึงประสงค์ แล้วร่วมกันสะท้อนคิดว่า ถ้าจะให้การทำงานทำพันธกิจในเรื่องนี้ให้เกิดผลดีเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้ายิ่งกว่านี้ เราน่าจะมีการปรับแก้ พัฒนากระบวนการทำงานด้วยกันอย่างไรบ้าง และที่สำคัญเราจะหนุนเสริมการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้อย่างไร สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ จากประสบการณ์การทำงานครั้งนี้เราได้เห็นว่าพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจอะไร/อย่างไรบ้าง ทั้งก่อน และ ขณะที่เราทำ? และพระองค์ทรงให้เราร่วมในพระราชกิจของพระองค์ในด้านไหน? และ เราแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการร่วมในพระราชกิจของพระเจ้าครั้งนี้ ทั้งส่วนตัว และ ส่วนรวมในฐานะทีมงาน

1. การทบทวนและสะท้อนคิด

เพื่อใช้เวลาสงบร่วมกันสะท้อนคิด ให้ทีมงานช่วยกันทบทวน ประมวล วิเคราะห์ และสังเคราะห์ร่วมกันถึงสิ่งที่ทำ  ผลที่เกิด สาเหตุ เงื่อนไข และร่วมกันกำหนดกระบวนการทำงานร่วมกันของทีมในอนาคต

1) ให้ทีมงานได้ร่วมกันทบทวนว่า ในการทำงานชิ้นนี้ ทีมงานได้กำหนดเป้าหมาย และ คาดหวังให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? (นี่หมายความว่า ทุกครั้งที่จะดำเนินงานชิ้นไหนก็ตาม ต้องมีการสื่อสารให้ทีมงานรู้และเข้าใจถึงจุดประสงค์ และ ความคาดหวังในสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น)

2) มีอะไรที่เกิดขึ้นตามเป้าหมาย และผลที่คาดหวังไว้?  

มีอะไรบ้างที่ยืนยันว่าสิ่งที่คาดหวังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริง? แล้วช่วยกันวิเคราะห์เจาะลึกลงไปว่า ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เกิดผลตามที่คาดหวัง? พร้อมกับช่วยกันยกตัวอย่างว่าเพราะใคร ทำอะไร  อย่างไรจึงเกิดผลตามนั้น?

3) มีอะไรบ้างที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามจุดประสงค์ และ เป็นไปตามความคาดหวัง?  

มีอะไรที่ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น? ทำไม หรือ มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้สิ่งที่คาดหวังไม่สามารถเกิดขึ้น? อะไรคือปัญหา อะไรคืออุปสรรค มีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดหวังไว้? และถ้าจะให้ความคาดหวังที่ไม่เกิดขึ้นเป็นจริงในครั้งนี้ ให้สามารถเกิดขึ้นเป็นจริงในครั้งใหม่ ทีมงานเห็นว่า เราจะต้องปรับปรุง แก้ไข หรือ พัฒนาในด้านไหนบ้าง?

4) มีอะไรบ้างที่ไม่ได้คาดหวังแต่เกิดขึ้นในการดำเนินการครั้งนี้?  

ทำไมสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังเหล่านี้ถึงเกิดขึ้น? สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหวัง มีอะไรบ้างเป็นผลดีต่อองค์กรและงานที่ทำ? เป็นผลดีอย่างไร? แล้วมีอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อองค์กร หรือ งานที่ทำ? เป็นผลเสียอย่างไร? และทีมงานจะใช้สิ่งที่เรียนรู้จากการทำงานในครั้งนี้เพื่อการทำงานครั้งต่อ ๆ ไปได้อย่างไรบ้าง?

5) ให้ทีมงานช่วยกันประมวลและสังเคราะห์ว่า จากการทำงานครั้งนี้ทีมงานได้เรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง? และจะใช้สิ่งที่เรียนรู้นี้ในการทำงานในอนาคตได้อย่างไรบ้าง? และถ้าจะนำสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดในครั้งนี้สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ขององค์กรได้อย่างไรบ้าง?

จากนั้น นำสิ่งที่ค้นหาและเรียนรู้ร่วมกันข้างต้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานครั้งต่อไป ดังนี้

2. ปรับเป้าหมายและจุดมุ่งเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จากประสบการณ์การทำงานครั้งที่ผ่านมา และ การที่ทีมงานมีโอกาสมาร่วมกันสะท้อนคิดและถอดบทเรียนรู้ร่วมกัน(ตามข้างต้น) ซึ่งมีประโยชน์ต่อทั้งกระบวนการทำงานและการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน และที่สำคัญ จะเป็นประโยชน์อย่างมากที่จะช่วยกันทำให้เป้าหมายและจุดมุ่งเน้นของงานที่ทำชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าในการใช้พลังในการขับเคลื่อนงาน “หัวใจ” ที่จะทุ่มให้กับงาน/พันธกิจที่ทำนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในการที่ทีมงานมีเวลาเฉพาะร่วมกัน และ สะท้อนคิดตลอดจนการถอดบทเรียนรู้ด้วยกัน เราทำมากกว่าการ “บ้างาน” แต่ในกระบวนการนี้เป็นเวลาที่เรา...

1) ใส่ใจกันและกัน  

ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารมิได้สนใจแต่ความสำเร็จของการงานที่มอบหมายให้ทำ แต่ใส่ใจถึงชีวิตของแต่ละคน ทั้งที่อยู่ร่วมกันในทีมงาน และ ใส่ใจในชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนด้วย

ผู้นำ หรือ ผู้บริหารขององค์กร/คริสตจักรควรจะใส่ใจทีมงานแต่ละคนมิใช่ที่ตำแหน่ง หน้าที่การงาน หรือ อาวุโส(ทั้งเก่าและเก๋า) แต่ผู้นำ/บริหารใส่ใจทีมงานแต่ละคนเพราะเขาเป็นคนหนึ่งในทีมงานแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ ควรมีโอกาสให้ทีมงานได้มีการพบปะกันเป็นการส่วนตัวเพื่อที่จะเรียนรู้จักกันมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้เข้าใจถึงสภาพชีวิตของกันและกัน ที่จะช่วยให้เข้าใจเพื่อนคนนั้น ๆ ว่าทำไมเขาถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมเขาถึงขัดแย้งกันในที่ทำงาน หรือถูกมองว่าเป็น “ตัวปัญหา” มีโอกาสฟังถึงสภาพชีวิตความรู้สึกในการทำงานว่ายังมีพลังอยู่ดี หรือ กำลังหมดไฟ(หมดเฝ่า) มีอะไรที่คาอกคาใจในการทำงานที่แก้ไม่ตกสักทีไหม? เขาต้องการมีเวลาที่จะพักผ่อนบ้างหรือเปล่า? หรือ เขากำลังมีเสียงการทรงเรียกใหม่ ๆ จากพระเจ้าสำหรับชีวิตของเขา?

2) พันธกิจและและค่านิยมหลัก  

เป็นโอกาสที่ดีมากในการที่ทีมงานจะมีโอกาสในการเสริมสร้างย้ำเตือนถึงหลักการ คุณธรรม หรือ ค่านิยมขององค์กรที่พวกเขาทำงานร่วมกัน เป็นโอกาส ที่จะแบ่งปันและชี้แนะอย่างเป็นรูปธรรมว่า ทีมงานแต่ละคนจะสามารถสำแดงคุณธรรมในที่ทำงานอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไรบ้าง และมีโอกาสสื่อสารว่าทำไมคนทำงานในองค์กรของเราจะต้องสำแดงคุณธรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม

3) เป้าหมายขององค์กร  

ในการทบทวน สะท้อนคิด และถอดบทเรียนรู้ในทุกครั้งที่งานแต่ละชิ้นทำเสร็จ เป็นโอกาสที่ทีมงานได้ทบทวน พิจารณาถึงเป้าหมายขององค์กร ของงานชิ้นนั้น ทำให้เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการกลับมาคิดพิจารณาทบทวนถึงเป้าหมายและสิ่งคาดหวังของการทำงานนี้ว่า ในครั้งต่อไปงานนี้/พันธกิจนี้ควรมีการปรับปรุงพัฒนาจุดประสงค์ และ ความคาดหวังสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นหรือไม่ เพื่อให้การทำงาน/พันธกิจของทีมงานสอดคล้องและตอบโจทย์ของบริบท สถานการณ์ และ วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนการแสวงหาแนวทางและวิธีการที่จะให้พระกิตติคุณสามารถตอบโจทย์ชีวิตของผู้คนและสังคมที่งานนี้เกี่ยวข้องด้วย

เลิกการรีทรีตที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนหรือเหมาะสม หรือ การไปสรุปงานที่แฝงเพื่อการเที่ยว กิน พักผ่อน แต่การที่มีเวลาสงบร่วมกันของทีมงานในการทบทวน สะท้อนคิด และ การถอดบทเรียนเรียนจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานเป็นกระบวนการที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาการทำงานและบุคลากรขององค์กร

ที่ผ่านมาองค์กรของเรา ได้มีโอกาสในการทบทวน และ สะท้อนคิดหลังการทำงานหรือไม่? องค์กรของเราเป็นองค์กรที่...“ทำงานให้เสร็จ” หรือ “ทำงานให้สำเร็จ” ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น