29 ธันวาคม 2557

พระราชกิจพระคริสต์...ข้างทางชีวิตของเรา

อ่านลูกา 8:40-56

มุมมองพระคริสต์?

บนเส้นทางชีวิต  ฝูงชนกลุ่มใหญ่มุ่งเดินไปบ้านของนายธรรมศาลาท่านหนึ่งพร้อมกับพระเยซูคริสต์และเหล่าสาวก   ทันใดนั้น  พระเยซูหยุดการเดินทางและถามหาคนที่มาสัมผัสพระองค์ด้วยความจงใจ   เพื่อพระองค์จะทรงอวยพระพรแก่ชีวิตหญิงคนนั้นที่ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคโลหิตตกเป็นเวลานานถึง 12 ปีที่เธอทุ่มเททุกอย่างเพื่อรักษาโรคนี้ให้หายจนหมดเนื้อสิ้นตัว  หมดทุกอย่างในชีวิต

แต่การหยุดเพื่ออวยพระพรแก่หญิงคนนี้   ทำให้การเดินทางของพระองค์ล่าช้า   และที่สำคัญเด็กหญิงที่มีอายุบนโลกนี้ด้วยความรักและทะนุถนอมมา 12 ปีของพ่อแม่ได้เสียชีวิตก่อนพระคริสต์จะไปถึงที่บ้านนั้น

แผนงานที่กำหนดไว้ไม่ประสบความสำเร็จ?

เกิดคำถามว่า   พระเยซูคริสต์มองสองเหตุการณ์และความต้องการนี้อย่างไร?

บางท่านอาจจะเกิดคำถาม  เกิดความคิดที่คัดค้านภายในใจว่า  นี่คือมุมมองของพระคริสต์หรือที่ยอมปล่อยให้เด็กหญิงอายุ 12 ปีที่พระองค์ตั้งใจจะไปรักษาต้องตายไป?  

หญิงที่ทรมานมา 12 ปี จนหมดตัวมีคุณค่าและสำคัญกว่าเด็กหญิงที่มีชีวิตในความรักแค่ 12 ปีหรือ?

พระเยซูคริสต์ทรงรู้ว่าทุกโอกาสย่อมมีพระพรสำหรับโอกาสนั้น ๆ   ทุก ๆ โอกาสในชีวิตเป็นของประทานจากพระเจ้าและในของประทานนั้นมีพระพร   และในเหตุการณ์นี้พระคริสต์ทรงตระหนักชัดว่า ชีวิตและความตายอยู่ในพระหัตถ์ของพระเจ้า   พระองค์ทรงรู้ว่าพระราชกิจที่พระองค์กระทำเป็นโอกาสหนึ่งที่พระเจ้าประทานให้   และทรงรู้ด้วยว่าเมื่อกระทำพระราชกิจในโอกาสนั้นจะส่งผลให้เกิดอะไรขึ้น

ลักษณะพิเศษของพระคริสต์ในที่นี้คือ  

พระองค์พร้อมเสมอสำหรับ “โอกาสที่พระเจ้าประทานให้ที่ไม่ได้อยู่ในแผนการในแต่ละวัน”  ให้เกิดพระพรของพระเจ้าในโอกาสนั้น   และในเวลาเดียวกันแผนงานที่ทรงวางไว้ก็ยังได้รับการทรงกระทำและเกิดพระพรในชีวิตของเด็กหญิงคนนั้น  ครอบครัว และชุมชนด้วย

เมื่อพระเยซูคริสต์มาถึงบ้านของเด็กหญิงคนนั้น  พบว่าเต็มไปด้วยผู้คน “กำ​ลัง​ร้อง​ไห้​ทุกข์​โศก​เพราะ​เด็ก​คน​นั้น” (ลูกา 8:52 มตฐ.)   พระเยซูคริสต์ทรงบอกฝูงชนหน้าบ้านที่กำลังแสดงความโศกเศร้าว่า  เด็กหญิงยังไม่ตายแต่หลับไป  

ทันที พวกเขาเปลี่ยนจากร้องไห้กลายเป็นหัวเราะเยาะพระเยซูที่พูดอะไรโง่ ๆ  

แต่พระคริสต์ไม่หยุดติดแหงกอยู่กับมุมมองที่แตกต่าง การเยาะเย้ยดูถูก   แต่พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้าน  เข้าไปในห้องนอนของเด็กหญิงคนนั้น  แล้วจับมือของเธอแล้วตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ลุกขึ้นเถิด”  แล้ว​วิญ​ญาณ​ก็​กลับ​เข้า​ไป​ใน​ตัว​เด็ก เขา​ก็​ลุก​ขึ้น​ทัน​ที (8:55 มตฐ.)   แน่นอนครับ เหตุการณ์นี้เปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างของฝูงชนหน้าบ้านให้ต้องฉงนสนเท่ห์ในพระพรของพระเจ้าผ่านพระราชกิจที่พระคริสต์ทรงกระทำ

นี่คือมุมมองของพระเยซูคริสต์ในการดำเนินชีวิตและในการกระทำพระราชกิจของพระองค์บนโลกใบนี้   ที่คริสตชนจะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต   ซึ่งจะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ความคิด และ มุมมองก่อน   มุมมองแบบพระคริสต์นี้เปาโลเรียกว่า มุมมองจากเบื้องบน หรือ การมุ่งมองไปที่เบื้องบน (โคโลสี 3:1-2 มตฐ.)   เป็นมุมมองชีวิตและการทำพันธกิจด้วยความเชื่อศรัทธาที่ไม่ท้อแท้สิ้นแรง   แต่ตระหนักชัดว่าในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างหน้าและรอบ ๆ ตัวเราอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้าด้วยพระคุณเมตตาและพระพรของพระองค์  ให้คริสตชนมีชีวิตที่พร้อมเสมอสำหรับทุกโอกาสที่พระเจ้าประทานให้เกิดขึ้นบนเส้นทางชีวิตที่เราดำเนินไปแต่ละวัน   แม้เหตุการณ์นั้น  โอกาสนั้นจะมิได้อยู่ในแผนงานชีวิตในวันนั้นของเราก็ตาม

ถ้าเราเป็นตัวแทน หรือ เป็นทูตของพระเยซูคริสต์ในโลกนี้   เราจะต้องมีวิธีคิดและมุมมองชีวิตเช่นเดียวกับพระคริสต์   ที่เราจะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสถานการณ์รอบข้างตัวเราด้วยวิธีคิดและมุมมองของพระองค์  

โคโลสี 3:1-2 บอกกับเราว่า...เมื่อเราได้รับการกอบกู้และสร้างใหม่จากพระคริสต์แล้ว   เราจึงควรดำเนินชีวิตเยี่ยงพระองค์   ที่ไม่มัวมองแคบเฉพาะความสนใจต้องการของตนเอง   แต่เงยหน้าขึ้นมองไปข้างหน้าแล้วตื่นตัวเสมอว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในขณะที่พระคริสต์ทรงเคียงข้างไปกับชีวิตของเราในแต่ละวัน   แล้วให้เรามีมุมมองอย่างพระคริสต์  หรือให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราด้วย “มุมมองของพระคริสต์”  

มีคำถามว่า   แล้วเราจะได้รับการหล่อหลอม บ่มเพาะ ความคิด  มุมมอง  ความเข้าใจ  การตัดสินใจ  การดำเนินชีวิต  และทำพันธกิจอย่างพระคริสต์ได้อย่างไร?    เราจะรักประชาชนเฉกเช่นที่พระเยซูคริสต์ทรงรักเมตตาได้อย่างไร?   และเมื่อมีงานความรับผิดชอบมากมายในชีวิตประจำวัน  แล้วยังให้ความสนใจใส่ใจกับผู้คนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “ตามรายทางชีวิต” อย่างพระคริสต์ได้อย่างไร?

มุมมองคริสตชน?

เราจะมีความคิด มุมมอง และชีวิตที่นำผู้คนเข้ามาอยู่ในแผ่นดินของพระเจ้า อย่างที่พระเยซูคริสต์ทำได้อย่างไร?

รากฐานอันสำคัญแห่งแผ่นดินของพระเจ้าคือความสัมพันธ์!

แผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้เป็นเรื่องของโปรแกรม  หลักสูตร  ระบบ  หรือทำงานเกิดผลแค่ไหนตามตัวชี้วัดที่กำหนด   แต่แผ่นดินของพระเจ้าเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์   ซึ่งอาจจะเป็นความสัมพันธ์ที่สร้างความรู้สึกอึดอัดไม่สะดวกสบาย   เป็นความสัมพันธ์ที่ดูดใช้เวลาชีวิตของเรา   เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องรับผิดชอบมากกว่าที่คิด

แผ่นดินของพระเจ้าเกิดจากการที่คริสตชนยอมเข้าไปเกี่ยวข้อง สัมพันธ์  ใส่ใจ  รับผิดชอบในเหตุการณ์และบุคคลที่เกิดขึ้น “บนเส้นทางชีวิตประจำวัน” ที่เราไม่คิดคาดฝัน หรือไม่อยู่ในแผนงานของเรา   เมื่อเราตัดสินใจเข้าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลด้วยการสานต่อจากพระราชกิจแห่งการกอบกู้ไถ่ถอนของพระคริสต์   เราต้องใช้เวลาและพลังชีวิตของเราอย่างมากสำหรับการสานต่อพระราชกิจที่ไม่ได้อยู่ในแผนงานของเรา   ส่งผลกระทบต่อผลิตผลตามใจปรารถนาที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้   นอกจากนั้นแล้วยังต้องให้พลัง เวลา เงินทอง หรือสิ่งของในงานนั้นเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ถ้าจะพูดแบบหยาบ ๆ กล่าวได้ว่า “ความสัมพันธ์ที่นำไปถึงแผ่นดินของพระเจ้าเป็นตัวอุปสรรคขัดขวางประสิทธิภาพในการทำงานประจำของเรา  เป็นตัวก่อกวนหรือทำลายงานประจำของเราหรือไม่?   เหมือนกับที่ไยรัสมองการทำพันธกิจของพระคริสต์ระหว่างทางนั้นเป็นอุปสรรคต่อการไปรักษาบุตรสาวของตน   เป็นต้นเหตุให้ลูกสาวของตนต้องเสียชีวิตหรือไม่?

มุมมองเช่นนี้มีไหมในมุมมองของผู้บริหารองค์กร หน่วยงาน และคริสตจักรในสภาคริสตจักร?

เมื่อคริสตชนมีมุมมองแบบพระคริสต์ที่ให้ความสนใจผู้คนและเหตุการณ์ “ข้างทางชีวิตประจำวัน”  “ข้างทางแผนงานที่องค์กรกำหนดไว้”  แน่นอน คริสตชนและองค์กรคริสเตียนต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างสัมพันธภาพกับผู้คนรอบข้างเหล่านั้น   นั่นหมายความ เราต้องใช้เวลา  พลังชีวิต  ทรัพย์สินเงินทอง  ความมุ่งมั่นตั้งใจ จากที่เรามีอยู่สำหรับแผนงานที่กำหนดไว้แล้วแก่ “พันธกิจข้างทางชีวิตประจำวัน” ที่โผล่ขึ้นใหม่

แต่พระคริสต์ชี้ชัดแก่เราแต่ละคนว่า  สิ่งแรกในวันนี้ มิใช่มุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้งานสำเร็จตามแผนที่วางไว้   สำหรับคริสตชนแล้วสิ่งแรกสำหรับแต่ละวันคือ  มุ่งมองและใช้ทุกอย่างที่พระเจ้าประทานแก่เรารวมถึงชีวิตของเราในการเสริมสร้างและนำผู้คนรอบข้างให้เข้าไปมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า คืออยู่ในการปกป้องคุ้มครองด้วยความรักเมตตาแห่งพระคุณของพระองค์

ที่สำคัญอย่างมากคือ  ในทุกขณะชีวิตที่กำลังดำเนินไป   เราจะต้องใส่ใจว่าพระคริสต์กำลังทำพระราชกิจอะไรอยู่  และพระองค์ชวนให้เราเข้าไปร่วมในพระราชกิจใดของพระองค์บ้าง   บ่อยครั้งเราต้องละเลยในพระราชกิจที่พระคริสต์ชวนให้เราเข้าไปร่วม   เพราะเราเป็นห่วงกังวลว่า   ถ้าไม่ได้ทำตามแผนที่กำหนดในวันนี้   แล้วพรุ่งนี้จะดำเนินงานที่ต้องรับผิดชอบต่อไปได้อย่างไร   แต่พระคริสต์ชี้ชัดว่า   งานสำหรับพรุ่งนี้ของเราก็อยู่ในแผนการของพระองค์ด้วย (มัทธิว 6:33-34)

แต่​พวก​ท่าน​จง​แสวง​หา​แผ่น​ดิน​ของ​พระ​เจ้า และ​ความ​ชอบ​ธรรม​ของ​พระ​องค์​ก่อน แล้ว​พระ​องค์​จะ​ทรง​เพิ่ม​เติม​สิ่ง​ทั้งปวง​นี้​ให้  เพราะ​ฉะนั้น อย่า​กระ​วน​กระ​วาย​ถึง​วัน​พรุ่งนี้ เพราะ​ว่า​พรุ่ง​นี้​ก็​มี​เรื่อง​กระ​วน​กระ​วาย​ของ​มัน​เอง แต่​ละ​วัน​ก็​มี​ทุกข์​พอ​อยู่​แล้ว...”

คริสตชนจะต้องดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความไว้วางใจในน้ำพระทัยของพระเจ้า   พระองค์ทรงจัดเตรียมและประทานสิ่งจำเป็นประจำวันแก่ทุกคนที่เชื่อและวางใจในพระองค์   เราเชื่อและไว้วางใจในการทรงปกป้อง  ครอบครอง  และการอวยพระพรของพระองค์ในชีวิตประจำวันของเรามิใช่หรือ?  

สิ่งสำคัญประการแรกในวันนี้คือสัมพันธภาพของเรากับพระองค์  และต่อมาประการที่สองคือ สัมพันธภาพกับโอกาสที่พระองค์ให้แก่เราที่จะมีกับคนรอบข้างที่เข้ามา “ในเส้นทางชีวิตของเรา” ในวันนี้

แต่ก็ต้องตระหนักด้วยว่างานนี้ไม่ใช่เรื่องกล้วย ๆ

การที่คริสตชนตัดสินใจที่จะมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้า  และมีชีวิตเพื่อแผ่นดินของพระเจ้า   สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความคิดและมมุมมองมุ่งไปที่พระประสงค์ของพระคริสต์ในชีวิตของเรา   เราต้องมุ่งมองไปที่แบบอย่างชีวิตของพระองค์   เราต้องใส่ใจทุ่มเทชีวิตกับพระวจนะของพระเจ้า   มีชีวิตที่ติดสนิทกับพระองค์   และมีพระองค์เป็นเอกเป็นต้นในชีวิตประจำวันของเรา  และที่สำคัญเราต้องใส่ใจและไวต่อการทรงเปิดเผยของพระคริสต์ท่ามกลางสังคมชุมชนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรา  

เตรียมตัวให้พร้อมเสมอที่จะเข้าร่วมใน “พระราชกิจพระคริสต์ข้างทางชีวิตประจำวัน” ของเรา   และเข้าร่วมในพระราชกิจนั้นอย่างทุ่มเทและใส่ใจ   ประสบการณ์ในการร่วมพระราชกิจเช่นนี้ในแต่ละวัน   เราจะเห็นพระคริสต์ชัดเจนขึ้นในเส้นทางชีวิตประจำวันของเรา   และ ความคิด มุมมองในชีวิตของเราจะได้รับการทรงปรับเปลี่ยนและเสริมเพิ่มให้เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นทุกวัน   และการที่เรามีความคิด มุมมองชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเท่าใด   ย่อมส่งผลและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเราให้มีชีวิตเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้นเท่านั้น

ปีใหม่นี้ท่านจะรับเอาพระราชกิจของพระคริสต์ข้างถนนชีวิตประจำวันของเรา เป็นพระชกิจอันดับต้น ๆ ที่พระองค์เชิญชวนเราให้เข้าไปร่วมและสานต่อพระราชกิจนั้นในวันนี้  และในแต่ละวัน!   ได้ไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

บอกเล่าข่าวดี...อย่างคนเลี้ยงแกะ

...บรรดา​คน​เลี้ยง​แกะ​ก็​พูด​กัน​ว่า ให้​เรา​ไป​ยัง​เมือง​เบธ​เล​เฮม​ดู​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ตาม​ที่​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​แจ้ง​กับ​เรา   เขา​ก็​รีบ​ไป แล้ว​พบ​นาง​มา​รีย์​กับ​โย​เซฟ และ​พบ​พระ​กุมาร​นั้น​นอน​อยู่​ใน​ราง​หญ้า  

เมื่อ​พวก​เขา​เห็น​แล้ว​จึง​เล่า​เรื่อง​ที่​เขา​ได้​ยิน​ถึง​พระ​กุมาร​นั้น   คน​ทั้ง​หลาย​ที่​ได้​ยิน​ก็​ประ​หลาด​ใจ​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​คน​เลี้ยง​แกะ​บอก​กับ​เขา  (ลูกา 2:15-18 มตฐ.)

ผู้เลี้ยงแกะประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์จากประสบการณ์ตรงที่พวกเขาได้ประสบแก่ผู้คนที่พวกเขาพบเห็น   แต่ไม่ใช่ประกาศข่าวดีตามหลักการความเชื่อที่ขาดประสบการณ์ตรงของคนที่ประกาศฯ   ที่ขาดน้ำหนักหลักฐานความน่าเชื่อถือ   คนเลี้ยงแกะสามารถชี้ประจักษ์เหตุการณ์ที่พวกเขาพบเห็นในเวลานั้น   จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจริงในเวลานั้น   และทุกคนที่ต้องการรู้จริงสามารถมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์เช่นนั้นได้   การประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์จึงเป็นการประกาศจากปากต่อปาก จากชีวิตถึงชีวิต

การประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์  มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง หรือ พันธกิจหนึ่งที่คริสตชนพึงกระทำเท่านั้น   แต่เป็นเหตุการณ์ในชีวิตจริงของเราที่ได้สัมผัสมีประสบการณ์กับพระเยซูคริสต์   แล้วพบสิ่งดี ๆ มีคุณค่าที่ต้องการจะแบ่งปันบอกต่อคนรอบข้างที่เราพบประสบ   เป็นการประกาศข่าวดีของพระคริสต์ที่มาจากประสบการณ์ตรงและแรงบันดาลใจจากก้นบึ้งจิตใจของเรา   จากความปรารถนาที่ต้องการให้คนอื่น ๆ ได้สิ่งดี ๆ ที่เราได้รับในชีวิต   การประกาศข่าวดีเช่นนี้จึงเกิดจากจิตใจรักเมตตา   การประกาศข่าวดีฯ เช่นนี้กระทำได้ในทุกสถานการณ์และทุกบริบทชีวิตจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคริสตชนของเราแต่ละคน

คนเลี้ยงแกะมิได้ “ประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์เป็นอาชีพ”  เพราะอาชีพของเขาคือเลี้ยงดูแลรักษาฝูงแกะ   แต่เขาประกาศข่าวดีที่เป็นประสบการณ์ตรงในวิถีการดำเนินชีวิตของเขา   เมื่อเขามาพบเหตุการณ์ความจริงที่ยิ่งใหญ่ตามที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่เขาแล้ว   เมื่อเดินทางกลับไปที่ฝูงแกะเขาบอกกล่าวเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เขาพบเห็นแก่ผู้คนรอบข้าง   คนเลี้ยงแกะประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในวิถีชีวิตประจำวันของเขา

สิ่งที่น่าสังเกตคือ   คนเลี้ยงแกะประสบพบเจอกับเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่อัศจรรย์ในชีวิตของพวกเขา   พวกเขาตื่นเต้น ชื่นชมยินดี  มีจิตใจที่ขอบพระคุณและสรรเสริญพระเจ้าจนไม่สามารถเก็บงำเก็บเงียบไว้คนเดียวได้   พวกเขาจึงป่าวประกาศถึงข่าวดีที่กำลังเกิดขึ้น   คนเลี้ยงแกะประกาศข่าวดีเพราะเขาประสบพบเจอมีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น   เขาจึงประกาศบอกเล่าให้คนอื่นเพื่อจะได้มีประสบการณ์ชีวิตอย่างพวกเขา   แต่คริสตชนปัจจุบันบางพวกคนบางกลุ่มทุ่มเทการประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์  ด้วยการสร้างเหตุการณ์ หรือ “อิเวนต์ใหญ่ ๆ ” เพื่อเป็นเครื่องดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาร่วมใน “อิเวนต์” นั้น  

ดูเป็นกระบวนการที่สวนทางกัน   คนเลี้ยงแกะประกาศข่าวดีจากประสบการณ์ตรงที่พวกเขาได้รับจากพระราชกิจของพระเจ้า   แล้วบอกเล่าข่าวดีเหล่านั้นให้ผู้คนรับรู้และให้ไปพบเจอพระราชกิจที่น่าอัศจรรย์ของพระเจ้าด้วยชีวิตของแต่ละคนเอง   คนเลี้ยงแกะไม่ได้สร้างแรงดึงดูดให้ผู้คนสนใจที่ตัวพวกเขา   แต่เขาบอกเล่าให้ผู้คนสนใจพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำตามที่ทูตสวรรค์แจ้งแก่เขา    และทุกคนสามารถเข้าถึงเหตุการณ์แห่งพระราชกิจของพระเจ้าได้ตามสถานการณ์และสภาพชีวิตของตน

คนส่วนใหญ่จะสนใจหาแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตต่อเมื่อเขาประสบกับ “วิกฤติชีวิต”   และถ้าเขาพบว่า ข่าวดีของพระเยซูคริสต์สามารถช่วยเขาให้เผชิญหน้าฝ่าฟันผ่านทะลุวิกฤตินั้นไปได้   ประสบการณ์กับพระราชกิจของพระเจ้าในครั้งนั้นจะกลับกลายเป็น “ข่าวดีแห่งพระราชกิจของพระเจ้าในชีวิตของเขา” และนี่คือข่าวดีที่เขาจะบอกเล่าแก่คนอื่น ๆ ต่อไป  (ดังตัวอย่างที่ผู้ประพันธ์ สดุดี บทที่ 103 กล่าวไว้)

ในคริสต์มาสและปีใหม่นี้   เรามีข่าวดีของพระคริสต์ในชีวิตของเราแล้วหรือยัง?   เรามีประสบการณ์ตรงกับพระราชกิจของพระคริสต์ในชีวิตของเราในเรื่องอะไร?   เป็นข่าวดีแห่งพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่เราจะบอกเล่าแก่ใครได้บ้าง?   คริสต์มาสและปีใหม่นี้ท่านปรารถนาให้ใครบ้างที่จะมีประสบการณ์ข่าวดีในชีวิตกับพระคริสต์?   ท่านรู้หรือยังว่า พระคริสต์ทรงเรียกท่านให้ทำอะไร? และ ทำอย่างไรในเรื่องนี้?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

22 ธันวาคม 2557

พระพรที่รอคอย...จนเลิกรอ...จนลืมไปแล้ว!

“นี่​แน่ะ เพราะ​ท่าน​ไม่​ได้​เชื่อ​ถ้อย​คำ​ของ​เรา​ที่​จะ​สำเร็จ​ตาม​กำหนด
ท่าน​จะ​เป็น​ใบ้ พูด​ไม่​ได้​จน​กว่า​เหตุ​การณ์​เหล่า​นี้​จะ​เกิด​ขึ้น
(ลูกา 1:20 มตฐ.)

หมอลูกา ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า เศคาริยาห์และเอลีซาเบธภรรยา  “ท่าน​ทั้ง​สอง​เป็น​คน​ชอบ​ธรรม​ต่อ​พระ​เจ้า​และ​ดำ​เนิน​ตาม​บัญ​ญัติ​และ​กฎ​หมาย​ทั้ง​ปวง​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​มี​ที่​ติ​เลย...” (ข้อ 6)   ทั้งสองไม่มีบุตร   ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาทั้งสองทูลขอบุตรจากพระเจ้ามาตลอดชีวิต   แม้จะรู้ว่าตนเองเป็นหมัน

ทั้งสองรอคอยพระพรจากพระเจ้า...จนเขาเลิกรอ   และยอมรับความเป็นจริงของชีวิตที่ว่า  “​ท่าน​ทั้ง​สอง​ไม่​มี​บุตร เพราะ​ว่า​นาง​เอลี​ซา​เบธ​เป็น​หมัน และ​ท่าน​ทั้ง​สอง​ก็​ชรา​แล้ว” (ข้อ 7) (ยอมจำนนต่อเหตุผลยกกำลังสอง)

เราท่านบางคนคงเคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาแล้วใช่ไหมครับ?   เราทูลขอเรื่องบางเรื่องต่อพระเจ้า   แต่ดูเหมือนพระเจ้าทรงเงียบ   ไม่ตอบไม่ว่าอะไร   จนเราเข้าใจว่า สิ่งนี้คงไม่ใช่น้ำพระทัยของพระเจ้า  

เรารอคอยคำตอบจากพระเจ้า...จนเลิกรอ!

แต่แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง   ทูตของพระเจ้าปรากฏแก่เศคาริยาห์   เขาตกใจมาก   เพราะนี่มิใช่เหตุการณ์ปกติ

แต่เศคาริยาห์ต้องถึงกับตะลึงงงวยอย่างมาก   เมื่อได้ยินว่า ภรรยาของเขาจะมีบุตรชาย   แล้วก็ไม่ใช่บุตรชายธรรมดา   แต่เป็นคนที่พระเจ้าทรงส่งมาเตรียมงานล่วงหน้าแก่พระเมสสิยาห์   กษัตริย์ที่ประชาชนอิสราเอลรอคอยมาหลายชั่วอายุคน   เป็นเรื่องที่ “เหลือเชื่อ” จริง ๆ   จนเศคาริยาห์พูดออกมาจากใจจริงว่า  ผมจะรู้แน่ได้อย่างไร (ข้อ 18)  ว่าเรื่องประหลาดอัศจรรย์พันหลวงพันลึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริง?   ถ้าเป็นผมคงบอกกับทูตกาเบรียลตรง ๆ ว่า...  นี่ท่านอย่าล้อผมเล่นนะ!

แต่เศคาริยห์ถามอย่างสุภาพกว่าผม  แบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม  “...จะรู้แน่ได้อย่างไร?...”   ในความหมายหนึ่ง เหมือนเศคาริยาห์ไม่เชื่อ(เพราะ “เหลือเชื่อ”) และจะแน่ใจว่าที่ทูตบอกมานี้จะเป็นจริงได้อย่างไร   และในอีกความหมายหนึ่งเป็นเหมือนเศคาริยาห์กำลังขอหมายสำคัญถ้าเรื่องที่ได้ยินนั้นเป็นจริง

เพราะเศคาริยาห์ยังไม่เชื่อจึงขอหมายสำคัญในเรื่องที่กาเบรียลนำข่าวดีมาแจ้งแก่เขา    หมายสำคัญที่  เศคาริยาห์ได้รับคือ   เขาจะเป็นใบ้พูดไม่ได้จนกว่าเรื่องนี้ถึงเวลาที่บังเกิดเป็นจริง   หมายสำคัญนี้ เมื่อคนอื่น ๆ เห็นก็จะเข้าใจว่าเกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นในชีวิตของเศคาริยาห์ที่ยากจะอธิบาย และ อันตรายทางการเมืองที่จะอธิบาย   การที่เศคาริยาห์เป็นใบ้จึงอาจเป็นหนึ่งในแผนการของพระเจ้า   และที่สำคัญคือ  เหตุการณ์นี้เป็นพะราชกิจของพระเจ้าที่เกิดขึ้นเหนือความสามารถที่มนุษย์จะกะเกณฑ์และกระทำได้  

แต่มนุษย์สามารถน้อมรับใช้พระประสงค์ของพระเจ้าได้!

ช่วงเวลาที่เป็นหมายสำคัญเก้าเดือน   เป็นช่วงเวลาที่เศคาริยาห์เงียบเสียงที่จะพูดคุยกับมนุษย์   แต่เขามีเวลาที่จะสนทนาเรียนรู้จากพระเจ้ามากยิ่งขึ้น  เป็นช่วงเวลาแห่งการใคร่ครวญครุ่นคิดภาวนาในชีวิต  พระเจ้าเตรียม และ กำลังสร้างเศคาริยาห์ขึ้นใหม่!   ที่พระองค์ทรงใช้และทำงานในชีวิตของเขา   แม้ในช่วงอัสดงแห่งชีวิตก็ตาม

สำหรับผมแล้ว   ผมได้เรียนรู้ว่า   เมื่อมนุษย์ทูลขอสิ่งใดจากพระเจ้า   พระองค์ทรงใส่ใจและรอเวลาของพระองค์ที่จะตอบสนอง   สำหรับพระเจ้าแล้วพระองค์ไม่เคยลืมสิ่งที่มนุษย์ทูลขอ   แต่มนุษย์อาจจะรอคอยสิ่งที่ทูลขอจากพระเจ้า   จนเลิกรอ  และที่ลืมไปแล้วก็หลายเรื่อง

เมื่อพระเจ้าทรงตอบสิ่งที่มนุษย์ทูลขอ   พระองค์มิได้ตอบสิ่งที่ทูลขอตามใจปรารถนาของมนุษย์   แต่พระองค์ตอบสนองสิ่งที่ทูลขอให้อยู่ในแผนพระราชกิจของพระองค์สำหรับชีวิตของผู้ที่ทูลขอนั้น   ดังนั้น เวลาตอบสนองคำทูลขอ  พระเจ้าทรงตอบสนองตามกำหนดเวลาที่สอดคล้องตามแผนงานของพระองค์

พระพรที่พระเจ้าทรงตอบสนองการทูลขอของมนุษย์แต่ละคน   พระพรที่ประทานให้มิได้ขึ้นอยู่กับความดีความถูกต้องเหมาะสมในชีวิตของคน ๆ นั้น   แต่พระเจ้าประทานพระพรนั้นเพราะเป็นแผนการของพระเจ้า   ที่จะให้คนนั้นเป็นเครื่องส่งผ่านพระพรของพระองค์ไปยังคนอื่น ๆ เป็นอันมาก   แม้จะเป็นคนที่ “ยังไม่เชื่อ” หรือ “ยังสงสัย” อย่างเศคาริยาห์ก็ตาม!

เหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง   เป็นการง่ายและเป็นการล่อแหลมอย่างยิ่งที่จะไปตัดสินว่า   สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการลงโทษจากพระเจ้า   เพราะนั่นอาจจะเป็นพระพรจากพระเจ้าก็ได้   อย่างกรณีของเศคาริยาห์ที่เป็นใบ้พูดไม่ได้นั้นเป็นหมายสำคัญยืนยันว่า   พระเจ้าทรงกำลังทำสิ่งที่อัศจรรย์ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขาและภรรยา  มากกว่าเป็นการ “ลงโทษ”

อาจจะมีหลายเรื่องที่เราเคยทูลขอต่อพระเจ้า  จนเราเลิกทูลขอ  เราเลิกรอคอย  และเราอาจจะลืมไปแล้ว   ในปีใหม่ที่พระเจ้าประทานแก่เราที่กำลังมาถึงนี้   ขอให้เราตระหนักและสำนึกว่า   ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ดีหรือเลวร้าย   ที่สุขหรือทุกข์มหันต์เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา    หรือ  เกิดอาการงงสับสนไม่รู้จะเข้าใจอย่างไรดี   ขอให้เราสงบเงียบอย่างเศคาริยาห์ต่อหน้าพระเจ้า   แล้วมองให้เห็นถึงพระหัตถ์อันทรงพระคุณของพระเจ้าที่กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในเหตุการณ์ชีวิตเหล่านั้นของเรา   ท่ามกลางความเงียบสงบของชีวิตในเวลาเช่นนั้น   เราจะเปี่ยมด้วยความมั่นใจและจิตใจที่ชื่นชมยินดีในพระเจ้า

ทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตปีข้างหน้านี้ของเราเป็นพระพรของพระเจ้าที่ทรงอวยพระพรเราตามแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของเราแต่ละคนครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

คริสต์มาสเพื่อใคร?

ด้วย​มี​เด็ก​คน​หนึ่ง​เกิด​มา​เพื่อ​เรา...
(อิสยาห์ 9:6 มตฐ.)

ใครผู้ใดที่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง   มักจะต้องเลือกแนวทางในการตอบสนองทางใดทางหนึ่งใน 3 ทางด้วยกันคือ

แนวทางแรก   เลือกที่จะหาทางหลีกหนีเลี่ยงออกจากความขัดแย้ง   แสวงหาที่ที่ตนจะอยู่อย่าง “สงบสุข”  ที่ตนสะดวกสบาย  ปลอดภัย  ไม่น่ากลัว   คนที่เลือกแนวทางนี้จะมุ่งมองไปที่ “ตนเอง”   แนวทางนี้เพื่อตนเองครับ   แนวทางที่หาสุข สงบ สันติเพื่อตนเองครับ

แนวทางที่สอง   เมื่อเกิดความขัดแย้งคนกลุ่มนี้จะต้องหาทางที่จะ “ปัดสวะ” ออกจากตัว   เป็นพวกที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ผิด   แล้วชี้ไปที่คู่กรณี หรือ ปรปักษ์ว่า “คุณ” นั่นแหละผิด   คุณคือต้นเหตุของความขัดแย้ง   คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะต้องหา “แพะ” ที่มารับความผิดให้ได้   แนวทางนี้เป็นการหาทางที่จะสู้พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า “ฉันไม่ผิด”  แต่  “คุณนั่นแหละที่ผิด”   แล้วคิดว่า การที่สามารถชี้ว่าใครทำผิดจะทำให้ความขัดแย้งยุติลงได้?   แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่!

แนวทางที่สาม   เป็นกลุ่มที่เมื่อเกิดความขัดแย้งกันรุนแรงแค่ไหน   เขาจะสุขุมแสวงหาทางที่จะสร้างสันติ   และเขามีมุมมองว่า   สันติสุขจะเกิดขึ้นนั้น “เพื่อเรา” ร่วมกัน   ดังนั้น สันติจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราหันมาร่วมมือในการรับผิดชอบ และ การแก้ไขจัดการปัญหา “ของเรา” ที่เกิดขึ้นด้วยกัน

การมาบังเกิดของพระคริสต์นั้น “มิใช่เพื่อฉัน”  “มิใช่เพราะเธอเป็นต้นเหตุ”   แต่  พระคริสต์บังเกิดมา “เพื่อเรา”   “ด้วยว่ามีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา...” (อิสยาห์ 9:6 มตฐ.)

พระคริสต์คือผู้สร้าง “สันติสุข” ให้กลับมีใหม่ท่ามกลางบรรดาสรรพสัตว์และสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง

และพระคริสต์ทรงประกาศก้องในปฐมเทศนาของพระองค์   ท่ามกลางฝูงชนคนยากไร้กลางแจ้งบนเขาว่า  บุคคลผู้ใดสร้างสันติผู้นั้นเป็นสุข   เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า

พระราชกิจข้างถนนของพระคริสต์   คือการเยียวยารักษา  ร่างกาย  จิตใจ  จิตวิญญาณ  และทำให้เกิดสัมพันธภาพขึ้นใหม่   เพื่อนำไปสู่การมีชีวิตที่มีสันติสุขร่วมกัน

พระเยซูคริสต์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์เยี่ยงพระบิดาที่ประทานแสงอาทิตย์ และ สายฝนแก่ทั้งคนดีและคนชั่ว   พระองค์บอกกับผู้นำศาสนาว่า  งานของพระองค์คือการที่มาตามหาคนบาปหลงผิดให้กลับไปมีสัมพันธ์ที่มีสันติกับพระเจ้า   และ มีชุมชนที่อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข

พระเยซูคริสต์สอนผู้นำในสังคมและศาสนาว่า  พระเจ้ามีพระประสงค์ให้เราใส่ใจคนที่กำลังประสบกับความทุกข์ยากลำบาก   คนที่สร้างแผลที่บาดลึกลงในชีวิตจิตใจของเรา   คนที่บรรพบุรุษบอกว่าคนพวกนี้คือ “ศัตรู” ของเรา   พระองค์ต้องการให้เรามีจิตใจเมตตาเดินทะลุข้ามกำแพงที่กีดกันนั้น   และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นร่วมกัน

และนี่คือพระประสงค์ที่พระบิดาส่งพระคริสต์มาในโลกนี้

และนี่คือ  “คริสต์มาส”  ที่เราพึงเฉลิมฉลอง

พระองค์ส่งพระคริสต์มาเพื่อ “เรา”

แล้วที่คริสตชนวันนี้กำลังฉลองคริสต์มาสทุกวันนี้...

คริสตชนฉลองคริสต์มาสเพื่อใคร?   “เพื่อฉัน”  หรือ  “เพราะคุณเป็นบาป”  หรือ  “เพื่อเรา”?

แน่นอนครับ   การที่เราจะเลือกที่จะเดินบนวิถีชีวิตตามพระกิตติคุณของพระคริสต์นั้นมิใช่เส้นทางชีวิตที่เรียบง่าย  สะดวกสบาย  ปลอดภัย   อบอุ่น  มั่นใจ....!

แต่ “พระกิตติคุณ” เป็นเหมือนดาบสองคมที่แทงทะลุจิตใจที่ดื้อรั้น  หัวแข็ง  และ คนประเภทหัวชนฝาอย่างผมและใครบางคนครับ

คริสต์มาสปีนี้   เราน่าจะเฉลิมฉลองคริสต์มาสตามพระประสงค์ของพระเจ้าดีไหม?

แทนที่จะจัดเฉลิมฉลองคริสต์มาสในบ้านร่วมกันกับคนในครอบครัว  หรือ เพื่อนสนิทชิดเชื้อของเราอย่างอบอุ่น  สบายใจ   แต่ให้เราไปหาเด็กข้างถนน   คนใต้สะพาน  ขอทานที่สะพายลอย  คนแก่ที่ไม่มีใครดูแลในหมู่บ้าน   ญาติของเราที่ไม่มีใครอยากไปหา   ลูกของแรงงานข้ามชาติที่กำลังป่วยโทรมในห้องพัก   คนพิการที่ท้ายสวนปลายหมู่บ้าน   คนที่ไม่เต็มเต็งที่พักอาศัยที่สุสาน.... 

พระคริสต์กำลังอยู่ที่นั่น...ให้เราไปเฉลิมฉลองคริสต์มาสกับพระองค์ไม่ดีกว่าหรือ?   แทนที่จะเฉลิมฉลองแต่พระกุมารที่เป็นตุ๊กตา และ มารีย์โยเซฟที่ทำมาจากฟาง  หรือ ภาพวาด

คริสต์มาสปีนี้ให้เราไปพบกับ “เพื่อนบ้าน” ตามความหมายที่พระเยซูสอนดีไหม? ให้เราโทรศัพท์ถึงคนที่เราห่างหายไม่ได้โทรไปตั้งนานโข เพราะเราไม่อยากพูดด้วย ให้เราไปหาคนที่เคยสร้าง “หนาม” ตำใจแก่เราที่ตอนนี้ก็ยังเป็นหนามที่ปักกลัดหนองในชีวิตของเรา ฯลฯ

ตกลงปีนี้ท่านจะไปเฉลิมฉลองคริสต์มาสที่ไหน? กับใคร?
เป็นที่ที่ท่านรู้สึกสุข สงบ ปลอดภัย  สะดวกสบาย  ไร้ภัยคุกคามหรือ?
หรือท่านจะเฉลิมฉลองคริสต์มาสปีนี้กับคนที่ท่านรัก?

แต่ระวังนะครับ   เสียงของพระคริสต์จะดังกังวานในจิตใจนึกคิดของเราท่านที่ว่า
“แม้แต่คนทั่วไปในสังคม(ต่างชาติ)ก็ทำเช่นนั้นมิใช่หรือ?” (มัทธิว 5:47)

สุขสันต์วันคริสต์มาส  ที่งดงามแต่เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยง  ไม่มั่นคง  ที่ท้าทายแต่เป็นเส้นทางที่นำสันติสุขมายัง “เรา” บนแผ่นดินโลกนี้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เวลาที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนแปลง

เราไม่สามารถที่แก้ปัญหาระยะยาวได้เสมอไป  และก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถแก้การดำเนินการขององค์กร/คริสตจักรได้ทุกเรื่อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องที่กระทำผิดนั้นฝังรากลึกในองค์กรและคริสตจักรเป็นเวลานาน   จนเป็นความคุ้นชินของคนในชุมชนนั้นไปแล้ว

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่องในองค์กรหรือในคริสตจักรจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงเวลาที่เหมาะในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่อง   หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าในเวลานั้น ๆ ควรทำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไรก่อน   จากประสบการณ์เราอาจจะประมวลสรุปเป็นหลักการง่าย ๆ ว่า  มีอยู่ 3 โอกาสที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนแปลง   

1.   ทันทีที่เห็นปัญหา

เวลาที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ หนัก ๆ คือเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นแต่ยังไม่บานปลายใหญ่โต

การผัดผ่อน รีรอ หรือเฉื่อยชาในการแก้ปัญหามิได้ช่วยให้ปัญหานั้นหมดสิ้นไป  แต่มันยิ่งจะเลวร้ายมากขึ้น   และเพราะเรามองข้ามจนเรามองไม่เห็นปัญหานั้น   สถานการณ์ในเรื่องนั้นก็จะเลวร้ายลง   และความเลวร้ายนั้นจะไม่หายไปไหนแต่จะอยู่ที่นั่น   เมื่อเป็นอย่างนี้เราบางคนก็เลือกที่จะออกจากองค์กรหรือคริสตจักรแห่งนั้น   เพื่อไม่ต้องไปเจอะเจอ หรือ เผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าว

เราไม่ควรหลีกเลี่ยงปัญหา  หรือหาทางหลบลี้หลีกหนีจากปัญหา   แต่ให้เราเผชิญหน้าและหาทางแก้ปัญหานั้น

องค์กรและคริสตจักรที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้   ที่มีอาการที่ติดขัดเนื่องจากปัญหามิได้รับการแก้ไข  แม้จะมีสมาชิกเข้ามาใหม่มากเท่าใดก็จะมีอาการเป็นคริสตจักรถุงก้นรั่วที่สมาชิกใหม่เหล่านั้นต่างออกไปจากคริสตจักรในที่สุด   เพราะตัวปัญหาที่ถูกมองข้าม จนสมาชิกเก่า ๆ มองไม่เห็นปัญหา   หรือคุ้นชินกับมันจนไม่รู้สึกว่านั่นเป็นปัญหา   จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้สมาชิกใหม่ ๆ หรือคนทำงานดี ๆ ตัดสินใจออกจากองค์กรของตนไป

บางครั้ง คนที่มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนจริง ๆ คือแขกหรือคนที่เข้ามาใหม่ในองค์กร/คริสตจักร   สมาชิก/คนทำงานดั้งเดิมจะต้องไม่ทำตนว่าตนเองอยู่คริสตจักรนี้ก่อนย่อมรู้จักคริสตจักรนี้มากกว่าคนอื่น ๆ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่   สายตาใหม่ ๆ สามารถมีมุมมองใหม่ ๆ ทำให้สามารถเห็นปัญหาที่หมักหมมหรือที่สมาชิก/คนทำงานเก่า ๆ มองข้ามและชาชินได้ชัดเจนกว่า   ผู้นำคริสตจักรที่ฉลาดเฉียบแหลมต้องฟังเสียงใหม่ ๆ เหล่านั้น   แล้วรู้เท่าทันปัญหาที่มีมาเนิ่นนานจนชาชินและหาทางแก้ปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลาเนิ่นนานเหล่านั้น

ถ้าคริสตจักร/องค์กรแห่งนั้นมีศิษยาภิบาล/ผู้บริหารท่านใหม่   การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมเนิ่นนานและมีอาการหนักหนาเหล่านั้นจะต้องใช้ปัญญา   และถ้าศิษยาภิบาล/ผู้บริหารได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง   ต้องไม่ยอมแพ้เลิกรา   แต่ให้ท่านเขียนบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้   เพื่อหาเวลา หรือ โอกาสที่เหมาะสมที่จะลงไปจัดการกับปัญหานั้นอีกครั้งหนึ่ง

2.   หลังจากที่เกิดวิกฤติปัญหานั้นทันที

ทันทีหลังวิกฤติที่เกิดขึ้น  ผู้คนส่วนมากจะสำนึกและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง   ผู้นำที่ดีจะประคับประคองให้ “พายุร้าย” นั้นไม่ทำร้ายทำลายชีวิตผู้คนในชุมชน   แต่เขาจะต้องฉวยโอกาสหลัง “พายุร้าย” นั้น แก้ไข เปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสองขึ้นอีก

เมื่อเกิดเหตุวิกฤติขึ้นในคริสตจักร   ผู้นำคริสตจักรจะต้องชวนให้ชุมชนคริสตจักรเริ่มรู้จักการประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทันทีที่เกิดสถานการณ์ที่ใหญ่ใหม่ ๆ ขึ้น   และหลังจากสถานการณ์นั้น ให้ร่วมกันสะท้อนคิดทันที ว่า   ถ้าสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้เกิดในคริสตจักรอีก  ชุมชนคริสตจักรจะรับมือและจัดการอย่างไร   เพื่อจะสามารถรับมือและจัดการสถานการณ์วิกฤตินั้นได้ดีกว่าที่ผ่านมา   แล้วให้ช่วยกันเตรียมการรับมือและจัดการไว้อย่างเป็นขั้นตอน ชัดเจน  และเป็นรูปธรรม

ในเชิงจิตวิทยา   เมื่อคนเรากำลังตื่นตระหนกกับวิกฤติที่เกิดขึ้น  และในช่วงที่วิกฤติผ่านไปเนิ่นนานแล้ว  ทั้งสองช่วงเวลานี้ผู้คนไม่มีเวลาที่จะคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ   เพราะขณะที่กำลังตื่นตระหนกเขามีแต่อารมณ์ที่ต้องการหาทางเอาตัวรอด   และหลายคนอยู่ในอารมณ์สับสนุวุ่นวาย   ไม่สามารถใช้ความคิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล    และประสบการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นที่ผ่านไปเนิ่นนานแล้วจนบางครั้งผู้คนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นลืม หรือ เฉยเมยกับเหตุการณ์นั้น   ทั้งสองสถานการณ์ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะให้คนในชุมชนนั้นมาช่วยกันคิดและวางแผนรับมือจัดการกับสถานการณ์วิกฤติดังกล่าว

แต่ถ้าสถานการณ์วิกฤตินั้น ๆ เพิ่งเสร็จและผ่านพ้นจากการรับมือของผู้คน   ทุกคนยังมีภาพประทับใจจากเหตุการณ์นั้นอย่างชัดเจน   พร้อมทั้งยังตรึงตาตรึงใจและจำอารมณ์ความรู้สึกในวิกฤตินั้น   และยังจำได้ว่า ได้ช่วยกันจัดการรับมืออย่างไร   และเกิดผลอย่างไรบ้างจากการรับมือและการจัดการของตน   บรรยากาศเช่นนั้นเป็นเวลาที่คนกลุ่มนี้จะนั่งลงและสะท้อนคิดร่วมกัน   ทบทวนสรุปและประเมินผลการจัดการวิกฤตินั้น  พร้อมทั้งสามารถมองหาวิธีการจัดการอย่างไรที่จะทำให้เกิดผลดีในการแก้ปัญหา   การจัดการแบบไหนที่ทำให้เกิดผลเสีย หรือผลร้ายตามมา   การจัดการแบบไหนที่ไม่ได้ผลเลย   และร่วมกันพิจารณาว่า  ถ้าเกิดวิกฤติเช่นนี้ในคริสตจักรอีกคริสตจักรจะมีวิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการจัดการกับวิกฤติเช่นนี้อย่างไร   และบันทึกแผนการจัดการเหล่านั้นไว้

3.   เมื่อทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี

แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาคิดวางแผนการแก้ปัญหา   แต่ให้เราจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา   คริสตจักรที่แข็งแรงย่อมมุ่งมองที่จะทำในสิ่งที่ทำดีแล้วให้ดียิ่งขึ้น   คริสตจักรนั้นจะไม่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาทางแก้ปัญหา   คริสตจักรนั้นจะสนใจตรวจสอบตลอดเวลาที่จะทำการแก้ไข  ป้องกัน หรือ ทำให้ดีกว่าเดิมก่อนที่จะปล่อยให้คริสตจักรเกิดปัญหา

อะไรที่สามารถจัดการและป้องกันเป็นสิ่งที่คริสตจักรพึงกระทำล่วงหน้า

อะไรที่คริสตจักรเห็นแนวโน้มจะทำให้เกิดปัญหา หรือ เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยให้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทันที

และในเวลาที่คริสตจักรกำลังขับเคลื่อนไปได้อย่างดี   ไม่ได้หมายความว่าคริสตจักรไม่มีปัญหา   แต่คนในคริสตจักรมุ่งมองและให้ความสนใจไปที่ผลงานและความสำเร็จ   จึงทำให้ไม่สามารถมองปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้น   แต่กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อปัญหาเหล่านั้นทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายเสียหายแก่ชุมชนผู้คนในคริสตจักรแล้ว

คริสตจักรเปรียบได้กับร่างกายของคนเรา    ในเวลาที่ร่างกายของเราแข็งแรงนั้นไม่ได้หมายความว่า  ไม่มีเชื้อโรค หรือ โรคร้ายที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา หรือ ที่กำลังแทรกเข้าร่างกายของเรา   ดังนั้น  เมื่อร่างกายที่ยังแข็งแรงอยู่เราต้องทำให้เรามีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง   ที่จะป้องกันและกำจัดเชื้อโรคที่แทรกซึมเข้าในร่างกายของเรา   และหาทุกหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเราได้สำเร็จ    เราจะต้องไม่รอให้เราเจ็บป่วยเพราะการทำร้ายและทำลายของเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายของเราแล้วค่อยมารักษา   เพราะในเวลานั้น  ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้อ่อนแอลงไปแล้ว   ร่างกายของเรากำลังอ่อนกำลังเพราะพิษร้ายจากเชื้อโรค   ให้เราเลือกที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงที่สุด   และจัดการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคสามารถแทรกตัวเข้าในร่างกายของเรา   หรือถ้ามันเข้าไปแล้วให้จัดการกับมันทันที

คริสตจักรก็เช่นเดียวกับร่างกายของคนเราครับ   ให้เรารับมือและจัดการเมื่อร่างกายของเรายังแข็งแรงอยู่จะเป็นการง่ายกว่า และ เกิดผลกว่ารอให้เกิดสิ่งเร็วร้ายแล้วค่อยมาหาทางแก้ครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

15 ธันวาคม 2557

คริสตมาส: เวลาที่พระเจ้าบอกให้มนุษย์เปลี่ยนมุมมอง...ใหม่

นักคิดนักปรัชญา และ นักจิตวิทยาหลายคนลงความเห็นว่า   ที่มนุษย์เราต้องมีศาสนาเพราะความกลัวในชีวิตของมนุษย์   เพราะมนุษย์กลัว   มนุษย์จึงพยายามที่จะเรียนรู้ในการกระทำตนให้ “พระเจ้า” ที่มีพลังอำนาจเหนือเขาพึงพอใจ   ไม่ว่าด้วยการกระทำศาสนพิธีต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมา   หรือพยายามทำตามบทบัญญัติและศีลธรรมที่มีในคัมภีร์   ทั้งสิ้นนี้สร้างกรอบคิด กรอบเชื่อ และมุมมองให้มนุษย์ “กลัว” พระองค์

มนุษย์จึงเชื่อในศาสนาที่ตนยึดถือด้วย “ความกลัว”  ทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ศาสนา ตามที่ “พระเจ้า” ต้องการ

ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ศาสนพิธี และ คำสอนกฏบัญญัติ ไม่สำคัญ!
แต่ในเวลาเดียวกัน  เราก็ไม่ได้เชื่อวางใจพระเจ้า เพราะเรามีมุมมองต่อพระเจ้าด้วย “ความกลัว”?

เมื่อมนุษย์มี “มุมมองพระเจ้า” ด้วยความกลัว   พระเจ้าจึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์  แยกตัวออกเฉพาะ(เพื่อที่พระองค์จะไม่ได้เกลือกกลั้ว แปดเปื้อนด้วยความบาปผิดของมนุษย์) มนุษย์จึงทำศาสนพิธีเพื่อที่จะ “ชำระตนให้บริสุทธิ์”  ทำตนให้พระเจ้า “พึงพอใจ” พยายามสร้างตนเองให้เป็นที่ยอมรับของพระเจ้า?   ด้วยมุมมองเช่นนี้  คริสตชนจึงอยู่ห่างไกลจากพระเจ้า

จึงไม่แปลกที่ว่า คริสตชนส่วนมากยังมองว่าพระเจ้าอยู่ในสวรรค์อันไกลโพ้น   ที่ต้องแยกออกจากโลกนี้   แล้วพยายามทำตนด้วยมุมมองและความเชื่อว่า  “ตายแล้วตนจะได้ไปสวรรค์”   พระเจ้าของคริสตชนกลุ่มใหญ่นี้ช่างอยู่ห่างไกล   เขามีความหวังเมื่อชีวิตตายไปเท่านั้น?

แต่คริสต์มาสเป็นเรื่องราว เมื่อพระเจ้าทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระเจ้าลงมาจากสวรรค์สละบัลลังก์ของพระองค์ในสวรรค์ มาเป็นมนุษย์คนหนึ่งท่ามกลางคนยากไร้ ต่ำต้อย เล็กน้อย   ขอให้สังเกตว่า  ในเรื่องราวการมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์   เป็นการที่บอกมนุษย์โลกนี้ให้เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อพระเจ้า

ทูตสวรรค์บอกมนุษย์เหล่านี้ว่า ให้เลิกมีมุมมองความเชื่อพระเจ้าแบบเดิม ๆ เสียใหม่ พระเจ้าที่สร้างแต่ความกลัว ห่างไกล  คอยมองเพื่อจะตัดสินจับผิดเรา   พระเจ้าที่อยู่ห่างไกลจากมนุษย์   มนุษย์จะเข้าใกล้พระเจ้าได้เพราะความพยายาม และ การทำตนให้บริสุทธิ์ สอดคล้องกับบทบัญญัติ และสภาพของพระเจ้า

ทูตสวรรค์บอกให้มนุษย์เปลี่ยนมุมมองใหม่   ให้มีมุมมองความเชื่อว่า   พระเจ้าทรงรักมนุษย์  พระองค์ต้องการอยู่ใกล้ชิดและมีชีวิตท่ามกลางมนุษย์   และพระองค์ไม่ได้รอมนุษย์ทำตนหรือพยายามที่จะดำเนินชีวิตเข้ากับพระองค์ได้  

แต่พระเจ้าคือผู้ที่ทำตนเองให้เข้ามาใกล้ชิด  ทนทุกข์ร่วมสุขกับมนุษย์  อยู่เคียงข้างมนุษย์อย่างไร้เงื่อนไข   แต่เปี่ยมด้วยพระประสงค์ที่ต้องการ หนุนเสริม เพิ่มพลัง และทรงช่วยกอบกู้ให้มนุษย์หลุดรอดออกจากอำนาจบาปชั่วที่ตะครุบ ครอบงำ และฉุดกระชากชีวิตมนุษย์ไว้   แล้วเคียงข้างมนุษย์เสริมสร้างชีวิตมนุษย์ขึ้นใหม่   เป็นมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์   เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า  และมีชีวิตที่มีความหมาย

ดังนั้น  เราจึงพบว่า คำที่กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในเหตุการณ์การมาบังเกิดของพระเยซูคริสต์คือ  “อย่ากลัวเลย” (กล่าวแก่ เศคาริยาห์  มารีย์ โยเซฟ และคนเลี้ยงแกะ)  ให้มนุษย์เลิกมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าด้วยความกลัว
  
เมื่อทูตสวรรค์มาปรากฏแก่มารีย์ที่เป็นสาวอยู่   คำทักทายแรกคือ เธอ​ผู้​ที่​พระ​เจ้า​โปรด​ปราน​มาก จง​ชื่น​ชม​ยินดี​เถิด องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​สถิต​อยู่​กับ​เธอ...” แต่คำทักทายนี้ทำให้มารีย์ “ตกใจ” ทำให้มารีย์เกิดความกลัว   เป็นไปได้อย่างไรที่เธอจะเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า  และยังสถิตอยู่กับเธอ  แล้วบอกให้เธอชื่นชมยินดี

มุมมองใหม่ที่ทูตสวรรค์นำมาทำให้มารีย์ตกใจ  และคิดในใจว่าเป็นไปได้อย่างไร!

ทูตสวรรค์จึงกล่าวแก่เธอต่อไปว่า  มา​รีย์​เอ๋ย อย่า​กลัว​เลย เพราะ​เธอ​เป็น​ผู้​ที่​พระ​เจ้า​โปรด​ปราน...”   ทูตสวรรค์บอกให้มารีย์เปลี่ยนมุมมองที่ตนมองพระเจ้าใหม่   พระเจ้ามิได้เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่น่ากลัว น่าเกรงขาม  อยู่ห่างไกล   แต่พระเจ้าทรงมาอยู่ใกล้ชิดและโปรดปรานเธอ   และมีแผนการและพระประสงค์ในชีวิตของเธอ (ลูกา 1:28-33  มตฐ.)   พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจให้สำเร็จในชีวิตของมารีย์

มุมมองความเชื่อใหม่ที่ทูตสวรรค์นำมาในคริสต์มาสคือ  พระเจ้าทรงลงมาจากสวรรค์อยู่ในชีวิตของมนุษย์  เพื่อที่จะกระทำพระราชกิจให้สำเร็จในชีวิตของมนุษย์คน ๆ นั้น!

สำหรับคริสตชนแล้วมีมุมมองต่อพระเจ้าว่า  ทรงอยู่เคียงข้าง ทรงอยู่ในชีวิต  และทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเราแต่ละคน  และในแต่ละสังคมชุมชน

สำหรับคริสตชนแล้วมีมุมมองความสำเร็จในชีวิตว่า   พระเจ้ามีแผนการและพระประสงค์ในชีวิตของเราแต่ละคน   พระองค์จะทรงเปิดเผย  ทรงเป็นกำลังหนุนเสริม  และทรงกระทำพระราชกิของพระองค์ในชีวิต และ ผ่านชีวิตของเรา

เลิกเถิดครับ...ที่จะพยายามช่วยตนเอง  กระทำตนเองเพื่อพยายามจะขึ้นไปสวรรค์อยู่กับพระเจ้า!

แต่ถ้ายัง “ดันทุรัง” ทำตนเองให้ได้ไปสวรรค์   โปรดระวังเราอาจจะต้องสวนทางกับพระองค์   สวนทางพระประสงค์ของพระองค์ไงครับ?

เพราะพระเจ้าเสด็จมาในโลกนี้   ทรงอยู่ท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวง   และทรงกำลังกระทำงานของพระองค์ในแผ่นดินโลกนี้   เพื่อนำการครอบครองและแผ่นดินของพระองค์ให้สำเร็จเสร็จครบในสังคมมนุษย์โลก

เมื่อทูตสวรรค์ไปบอกข่าวการบังเกิดของพระเยซูคริสต์แก่คนเลี้ยงแกะ   สิ่งแรกที่ทูตสวรรค์บอกคนเลี้ยงแกะคือ “อย่ากลัวเลย  เพราะเรามีข่าวดีมายังท่าน”   และในที่สุดทูตสวรรค์ให้มุมมองเกี่ยวกับพระเจ้าว่า พระ​สิริ​จง​มี​แด่​พระ​เจ้า​ใน​ที่​สูง​สุด   ส่วน​บน​แผ่น​ดิน​โลก สันติ​สุข​จง​มี​ท่าม​กลาง​มนุษย์​ทั้ง​หลาย​ที่​พระ​องค์​โปรด​ปราน​นั้น (ลูกา 2:8-14 มตฐ.)

ข่าวดีของคริสต์มาสคือ  วันนี้พระเจ้าอยู่เคียงข้างท่าน   อยู่ในชีวิตท่าน   พระองค์ประสงค์จะกระทำความสำเร็จในชีวิตท่านตามพระประสงค์ของพระองค์ครับ!

วันนี้ท่านพร้อมจะเปลี่ยนมุมมองของท่านเกี่ยวกับพระเจ้าหรือไม่ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

08 ธันวาคม 2557

คนละเรื่องกับ “คุณประยุทธ์”?

ปีนี้ผมได้พบหลายคนที่กำลังเตรียมรายชื่อ และ รายการของขวัญคริสต์มาสที่เขาจะมอบให้คนต่าง ๆ

หนีไม่พ้นที่จะต้องออกไป “ช็อปปิ้ง” จ่ายเงิน   บางคนวางแผนล่วงหน้าว่าจะใช้เงินเดือนที่สิบสาม  บางคนก็วางแผนว่าจะใช้เงินเดือนที่ 12.5  เขาหมายความว่า เศรษฐกิจปีนี้ไม่ค่อยดี   เจ้านายให้โบนัสเพียงครึ่งเดือนเท่านั้น  

คิดใช้เงินล่วงหน้าแล้วครับ?

นอกจากเศรษฐกิจปีนี้มันตกสะเก็ดแล้ว   เราเริ่มตัดรายชื่อบางคนที่เราเคยให้ออกไป   เหตุผลหลักเพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ “แย่ลง” ในสายตาและความคิดความรู้สึกของเรา   คนพวกนี้กลายเป็นคนละพวก คนละพรรค  คนละสี   หรือไม่ก็เป็นคนที่ไม่ยอมเข้าใจเราเสียแล้ว   ยังมักขัดแข้งขัดขา  และขัดความคิดจิตใจและความรู้สึกของเรา   (นี่ยังไม่รวมถึงขัดคำสั่งของเราด้วย)

แต่วันนี้ผมขอได้ไหมครับ?

ขอท่านช่วยใส่ชื่อของ “เขา” คนนั้นลงในรายการให้ของขวัญคริสต์มาสของท่านเป็นคนแรก   และ ของขวัญที่ให้เขาคนนั้น   ไม่ต้องเจียดเงินเดือนที่สิบสามของท่านไปซื้อให้เปลืองเงินครับ

ของขวัญที่ขอท่านให้แก่เขาคือ  “รักศัตรูคู่ปรปักษ์ของท่าน”   แท้จริงผมไม่กล้าขอร้องท่านในเรื่องนี้หรอกครับ   แต่ผู้ที่ขอร้องท่านคือ “พระเยซูคริสต์”  เจ้าของวันคริสต์มาสครับ!   ท่านเปาโลแห่งเมืองทาร์ซัส  ก็กล่าวย้ำซ้ำคำขอร้องของพระคริสต์ในเชิงปฏิบัติว่า

ถ้า​ศัตรู​ของ​ท่าน​หิว จง​ให้​อา​หาร​เขา​รับ​ประ​ทาน
ถ้า​เขา​กระ​หาย​น้ำ​ก็​จง​ให้​น้ำ​เขา​ดื่ม
เพราะ​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นั้น จะ​ทำ​ให้​เขา​รู้สึก​ตัว​และ​กลับ​มา​คืน​ดี” 
“อย่า​ให้​ความ​ชั่ว​ชนะ​เรา​ได้
แต่​จง​ชนะ​ความ​ชั่ว​ด้วย​ความ​ดี”
                                                             (โรม 12:20-21 มตฐ.)
                                                                          

ของขวัญที่ท่านสามารถให้แก่เขาคนนั้นคือความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์   และนี่คือคริสต์มาสแท้ที่แตกต่างจาก “คริสต์มาสบริโภคนิยม”   ที่เราต้องการหลุดรอดออกจากกรอบคิด มุมมอง ที่ทำกันมาอย่างซ้ำซากทุกปี

การที่เรามอบความรักแก่ “ศัตรูคู่ปรับ” ของเราเช่นนี้  อำนาจแห่งความบาปชั่วก็ไม่สามารถที่จะชนะและมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา   แต่เราจะสามารถชนะอำนาจแห่งความบาปชั่วด้วยความรักเมตตาของพระคริสต์   อย่าเข้าใจผิดนะครับ   การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่ “การคืนความสุขแก่ศัตรูของท่าน”  อย่างที่พูด ๆ กันในทีวีนะครับ   แต่การที่ท่านทำเช่นนี้เป็น “การคืนดี” กันครับ  

ความรักเมตตาและเสียสละแบบพระคริสต์  และ “การคืนดี” คือต้นตอที่มาของการคืนความสุขแก่กันครับ   แต่ความสุขที่ได้จากการคืนดีนี้แตกต่างจากความสุขตามความหมายของคุณประยุทธอย่างมากครับ   เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นการที่พระคริสต์ประทานสันติสุขแก่ทั้งคนนั้น(ของท่าน) และ แก่ท่านด้วย  

เป็นสันติสุขที่ไม่เหมือนโลกให้ครับ!   แน่นอนครับ เป็นสันติสุขที่แตกต่างจากความสุขที่ คสช. สัญญาว่าจะคืนให้แก่ประชาชนครับ

ใครคือ ศัตรูคู่ปรปักษ์ของท่าน?
ขอให้ท่านช่วยเพิ่มรายชื่อ “คนนั้น” เป็นรายการแรกที่ท่านจะให้ของขวัญคริสต์มาสปีนี้ด้วยครับ!
ส่วนของขวัญที่จะให้เขา   พระเยซูคริสต์เตรียมไว้พร้อมแล้ว
พระองค์รอท่านนำไปให้ “คนนั้น” ของท่าน
เพื่อท่านและเพื่อนคนนั้นจะได้รับ “สันติสุข” ของพระคริสต์ร่วมกัน
“สันติ​สุข​จง​มี​ท่าม​กลาง​มนุษย์​ทั้ง​ปวง​ที่​พระ​องค์ทรง​โปรด​ปราน​นั้น”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

03 ธันวาคม 2557

พระเจ้าทำงานในจิตใจของเราอย่างไร?

อ่านสดุดี 119:65-72

...ทรงสอนข้าพระองค์ให้มีความรู้และดุลยพินิจ(วิจารณญาณ)...
ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก
ข้าพระองค์จะได้เรียนรู้กฏหมายของพระองค์...
บทบัญญัติจากพระโอษฐ์...ล้ำค่า...ยิ่งกว่าทองนับพันนับหมื่น(แท่ง)
(สดุดี 119:66, 67, 71 และ 72  อมต. ในวงเล็บจากฉบับมาตรฐาน)

พระเจ้ามิเพียงแต่ สอนข้อมูลความรู้พระบัญญัติที่เป็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตของเราเท่านั้น   แต่พระองค์ทรงเสริมสร้างเราให้รู้จักที่จะคิด พิจารณา มีมุมมอง  ใคร่ครวญ และ การสะท้อนคิด ที่ฉบับอมตธรรม (อมต.) ได้ใช้คำว่า “สอนให้มีความรู้และมีดุลยพินิจที่ดี (ข้อ 66)  จนก่อร่างเป็นจิตสำนึก แล้วตกตะกอนเป็น "หลักคิดหลักเชื่อในการปฏิบัติ" ตามพระบัญญัตินั้น 

ที่คริสตชนมักใช้คำว่า พระเจ้าทรงทำงานในจิตใจของเรา’! 

ผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีบทนี้ ได้หวลระลึกถึงประสบการณ์ชีวิตของตนที่ได้รับ "พระคุณ" ของพระเจ้าที่ทรง "สอนและสร้าง" เขาบนรากฐานพระวจนะ หรือ พระบัญญัติของพระองค์

จากประสบการณ์ชีวิตของเขาพบว่า   ชีวิตของเขา "หลงเจิ่น" (ข้อ 67) หรือในฉบับอมตธรรมใช้คำว่า "หลงเตลิดไป" นั้นเพราะในตอนนั้นชีวิตของเขาไม่ได้รับ "การสอนและสร้างจนเกิดความคิด  ความตระหนักสำนึกในการดำเนินชีวิต  และไม่ได้ปฏิบัติตามพระดำรัสของพระเจ้า

ดังนั้น ชีวิตของเขาจึงถูกอิทธิพลแห่งสังคมโลกในตอนนั้นพัดไปตามแรงกระแสสังคม จนหลงเจิ่น ชีวิตเตลิดไป และสิ่งที่เขาได้รับคือ "การตกทุกข์ได้ยาก" (อมต.)  

เมื่อชีวิตของผู้ประพันธ์จมปลักลงในความทุกข์ยากเพราะชีวิตมิได้รับการ "สอนและสร้างด้วยพระวจนะของพระเจ้า" นั้น   พระเจ้าใช้โอกาสที่ชีวิตกำลัง "จนตรอกชีวิตที่กำลัง "ติดกับดัก" ในการ "สอนและเสริมสร้างชีวิต" ของเขาขึ้นใหม่ ด้วยพระบัญญัติและพระวจนะที่เป็นน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเขา   เพื่อช่วยให้เกิดการ "คิดได้" มีวิจารณญาน และ ดุลยพินิจ (ข้อ 66) ในการคิดและตัดสินใจ จนมีหลักคิดหลักปฏิบัติตามพระวจนะนั้น

ด้วยพระราชกิจแห่ง "การสอนและสร้าง" ชีวิตเขาขึ้นใหม่  และโอกาสใหม่ในชีวิตที่เขาได้รับ  ผู้ประพันธ์สดุดีจึงซาบซึ้งใน "พระคุณ" ของพระเจ้า   ถึงกับยกย่องและสรรเสริญพระเจ้าว่า  "พระองค์ประเสริฐ" (ตฐ.)  พระเจ้านั้น "แสนดี" และสิ่งที่พระองค์กระทำนั้น "ดีเลิศ" (อมต.)  และเขายังแสดงออกอีกว่า  ยังปรารถนาที่จะรับการ "สอนและสร้าง" จากพระเจ้าตลอดไป (ข้อ 68)

การ "สอนและสร้าง" จากพระเจ้าด้วยพระวจนะ หรือ พระบัญญัติของพระองค์เป็นระบบ "ภูมิคุ้มกัน" ชีวิตจิตวิญญาณของเราจากอิทธิพลแห่งอำนาจชั่วของสังคมในรูปแบบต่าง ๆ  ในที่นี้ผู้ประพันธ์สดุดียกตัวอย่างจากประสบการณ์ชีวิตของเขาว่า   เมื่อชีวิตประจำวันของเขาถูกโจมตีจากอิทธิพลอำนาจชั่วที่แวดล้อมชีวิตของเขา  ด้วยการ "ใส่ร้ายป้ายสี" (อมต.) "ด้วยความเท็จ" (มตฐ.)  "หลักคิดและหลักปฏิบัติ" ที่พระเจ้าได้ "สอนและสร้าง" ในชีวิตจิตใจของเขาจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้สิ่งร้าย ๆ เหล่านี้สามารถแทรกเข้าทำลายทำร้ายชีวิตจิตใจของเขา   ทำให้เขาสามารถยืนมั่นคงในชีวิตบนพระวจนะ   และสิ่งร้ายแห่งอำนาจชั่วเหล่านั้นไม่สามารถเข้ามาครอบงำความคิดจิตใจของเขา   ยิ่งกว่านั้น   จากประสบการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประพันธ์สดุดีมีชีวิตจิตใจที่ผูกพันกับพระบัญญัติ หรือ พระวจนะของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น   เขาต้องการที่จะคิดและปฏิบัติตามพระวจนะ "ด้วยสุดใจ" (ข้อ 69)

จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ประพันธ์สดุดีเขาได้ชี้ชัดว่า   ความแตกต่างระหว่างคนที่ได้รับและไม่ได้รับการ "สอนและสร้าง" จากพระเจ้าด้วยพระวจนะและพระประสงค์ของพระองค์นั้น  แตกต่างกันที่ "จิตใจ" กล่าวคือ ผู้ที่ไม่ได้รับการสอนและสร้างจากพระเจ้าด้วยพระวจนะจิตใจของเขาจะ "เฉื่อยชา" (มตฐ.)  "ดื้อด้านและไม่รู้จักสำนึก" (อมต.)   ดังนั้น  จิตใจที่ไม่ได้รับการ "สอนและสร้าง" จากพระเจ้าด้วยพระวจนะจึงเป็นจิตใจที่ขาดสำนึกตระหนักชัด (ข้อ 70) ถึงคุณค่าและความหมายแห่งชีวิต   จึงปราศจากหลักคิดหลักปฏิบัติที่มั่นคงในการดำเนินชีวิต   ด้วยเหตุนี้ความคิด จิตใจ และการกระทำของเขาจึงถูกครอบงำจากอำนาจชั่วร้ายที่รายล้อมชีวิตประจำวันของเขา

เมื่อผู้ประพันธ์เห็นถึงความสัตย์จริงในประเด็นนี้แล้ว  เขาจึงยืนยันว่าเขา "ปีติยินดี" (ข้อ 70) ในพระบัญญัติ ในพระวจนะของพระเจ้า   นั่นหมายความว่า เขาเต็มใจที่จะมีชีวิตจิตใจที่แสวงหาและรับการสอนและสร้างให้มี "หลักคิดหลักเชื่อและหลักปฏิบัติ" บนรากฐานแห่งพระวจนะของพระเจ้าในชีวิตของตน

จากประสบการณ์ชีวิตของผู้ประพันธ์สดุดีในตอนนี้   เขาได้สะท้อนคิดถึงประสบการณ์ในชีวิตของตนที่ผ่านมา   ช่วยให้เขาเกิดมุมมองชีวิตและมุมมองต่อความทุกข์ยากในชีวิตบนรากฐานแห่งพระวจนะ  และ "การสอนและการสร้าง" ของพระเจ้าในชีวิตของตนว่า  "ดีแล้วที่ข้าพระองค์ทุกข์ยาก" (ข้อ 71)  ด้วยจิตใจที่ได้รับการเสริมสร้างจากพระวจนะของพระเจ้าได้เปลี่ยนมุมมองของเขาต่อความทุกข์ยากที่เขาได้รับในชีวิต   เขามองความทุกข์ยากที่ได้รับว่าเป็น "โอกาส" ที่เขาจะได้ "เรียนรู้" ถึงกฏเกณฑ์และพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเขา   ทำให้เขาได้รับการทรงสร้างให้มี "หลักคิด หลักเชื่อ และหลักปฏิบัติ" ใหม่ในชีวิตประจำวันของเขา   ซึ่งทำให้เขามีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย   ไม่ว่าชีวิตจะต้องตกลงในสถานการณ์ใดก็ตาม   เพราะทุกสถานการณ์คือโอกาสที่พระเจ้าจะ "สอนและสร้าง" ชีวิตจิตใจของเขาให้เติบโตขึ้นได้

ด้วยเหตุนี้   ผู้ประพันธ์สดุดีตอนนี้จึงกล่าวยืนยันว่า   สำหรับเขาแล้ว  ธรรมบัญญัติจากพระโอษฐ์ของพระเจ้ามีค่ายิ่งกว่าเงิน และ ทองเป็นพันเป็นหมื่นแท่ง (ข้อ 72 อมต.)

พระเจ้าทรงทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตจิตใจของเราแต่ละคน   พระองค์มิได้ให้เรารู้และจำพระวจนะของพระองค์ในจิตใจของเรา  แล้วพยายามที่จะปฏิบัติตามเท่านั้น   แต่พระองค์ทรง “สอนและสร้าง”  ให้เรามีหลักคิด หลักเชื่อ   สร้างให้เราเกิดความตระหนักรู้   มีสำนึกตามพระวจนะ   เพื่อเราจะสามารถที่จะคิดพิจารณาอย่างมีวิจารณญาน และ ดุลยพินิจ ในการตัดสินใจในแต่ละเรื่องในชีวิตบนรากฐานพระวจนะ  แล้วจึงเชื่อฟังด้วยการปฏิบัติตามพระวจนะนั้น   เพื่อเราจะดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา

การ “สอนและสร้าง” ชีวิตจิตใจจากพระเจ้าเป็นกระบวนการสอนและสร้างอย่างต่อเนื่องจากพระเจ้า   ที่ต้องใช้เวลา   และที่สำคัญพระองค์ทรงสอนและสร้างเราได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต   ในทุกวิกฤติที่เราเผชิญ ในทุกความชื่นชมที่เราประสบ  เราจึงมีชีวิตที่เติบโต เข้มแข็ง  และเกิดผลมากขึ้น

อยู่ที่ว่า   เราจะยอมให้พระองค์ทรงสอนและสร้างเราในทุกสถานการณ์หรือไม่?   หรือเราต้องการตัดสินใจและจัดการสถานการณ์ชีวิตเหล่านั้นตามใจปรารถนาของเราเอง?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499