เราไม่สามารถที่แก้ปัญหาระยะยาวได้เสมอไป และก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถแก้การดำเนินการขององค์กร/คริสตจักรได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องที่กระทำผิดนั้นฝังรากลึกในองค์กรและคริสตจักรเป็นเวลานาน จนเป็นความคุ้นชินของคนในชุมชนนั้นไปแล้ว
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่ละเรื่องในองค์กรหรือในคริสตจักรจำเป็นจะต้องพิจารณาถึงเวลาที่เหมาะในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่อง หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าในเวลานั้น ๆ
ควรทำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอะไรก่อน
จากประสบการณ์เราอาจจะประมวลสรุปเป็นหลักการง่าย ๆ ว่า มีอยู่ 3
โอกาสที่เหมาะสำหรับการเปลี่ยนแปลง
1. ทันทีที่เห็นปัญหา
เวลาที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ หนัก ๆ คือเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นแต่ยังไม่บานปลายใหญ่โต
การผัดผ่อน รีรอ
หรือเฉื่อยชาในการแก้ปัญหามิได้ช่วยให้ปัญหานั้นหมดสิ้นไป แต่มันยิ่งจะเลวร้ายมากขึ้น
และเพราะเรามองข้ามจนเรามองไม่เห็นปัญหานั้น สถานการณ์ในเรื่องนั้นก็จะเลวร้ายลง และความเลวร้ายนั้นจะไม่หายไปไหนแต่จะอยู่ที่นั่น
เมื่อเป็นอย่างนี้เราบางคนก็เลือกที่จะออกจากองค์กรหรือคริสตจักรแห่งนั้น เพื่อไม่ต้องไปเจอะเจอ หรือ เผชิญหน้ากับปัญหาดังกล่าว
เราไม่ควรหลีกเลี่ยงปัญหา หรือหาทางหลบลี้หลีกหนีจากปัญหา แต่ให้เราเผชิญหน้าและหาทางแก้ปัญหานั้น
องค์กรและคริสตจักรที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
ที่มีอาการที่ติดขัดเนื่องจากปัญหามิได้รับการแก้ไข แม้จะมีสมาชิกเข้ามาใหม่มากเท่าใดก็จะมีอาการเป็นคริสตจักรถุงก้นรั่วที่สมาชิกใหม่เหล่านั้นต่างออกไปจากคริสตจักรในที่สุด เพราะตัวปัญหาที่ถูกมองข้าม จนสมาชิกเก่า ๆ มองไม่เห็นปัญหา หรือคุ้นชินกับมันจนไม่รู้สึกว่านั่นเป็นปัญหา จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้สมาชิกใหม่ ๆ
หรือคนทำงานดี ๆ ตัดสินใจออกจากองค์กรของตนไป
บางครั้ง คนที่มองเห็นปัญหาได้ชัดเจนจริง ๆ คือแขกหรือคนที่เข้ามาใหม่ในองค์กร/คริสตจักร สมาชิก/คนทำงานดั้งเดิมจะต้องไม่ทำตนว่าตนเองอยู่คริสตจักรนี้ก่อนย่อมรู้จักคริสตจักรนี้มากกว่าคนอื่น
ๆ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ สายตาใหม่ ๆ สามารถมีมุมมองใหม่
ๆ ทำให้สามารถเห็นปัญหาที่หมักหมมหรือที่สมาชิก/คนทำงานเก่า ๆ มองข้ามและชาชินได้ชัดเจนกว่า ผู้นำคริสตจักรที่ฉลาดเฉียบแหลมต้องฟังเสียงใหม่
ๆ เหล่านั้น
แล้วรู้เท่าทันปัญหาที่มีมาเนิ่นนานจนชาชินและหาทางแก้ปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลาเนิ่นนานเหล่านั้น
ถ้าคริสตจักร/องค์กรแห่งนั้นมีศิษยาภิบาล/ผู้บริหารท่านใหม่
การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมเนิ่นนานและมีอาการหนักหนาเหล่านั้นจะต้องใช้ปัญญา และถ้าศิษยาภิบาล/ผู้บริหารได้รับการต่อต้านหรือขัดขวาง ต้องไม่ยอมแพ้เลิกรา แต่ให้ท่านเขียนบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ เพื่อหาเวลา หรือ
โอกาสที่เหมาะสมที่จะลงไปจัดการกับปัญหานั้นอีกครั้งหนึ่ง
2. หลังจากที่เกิดวิกฤติปัญหานั้นทันที
ทันทีหลังวิกฤติที่เกิดขึ้น
ผู้คนส่วนมากจะสำนึกและตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ดีจะประคับประคองให้ “พายุร้าย”
นั้นไม่ทำร้ายทำลายชีวิตผู้คนในชุมชน
แต่เขาจะต้องฉวยโอกาสหลัง “พายุร้าย” นั้น แก้ไข เปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสองขึ้นอีก
เมื่อเกิดเหตุวิกฤติขึ้นในคริสตจักร
ผู้นำคริสตจักรจะต้องชวนให้ชุมชนคริสตจักรเริ่มรู้จักการประเมินสถานการณ์ต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทันทีที่เกิดสถานการณ์ที่ใหญ่ใหม่ ๆ ขึ้น และหลังจากสถานการณ์นั้น ให้ร่วมกันสะท้อนคิดทันที
ว่า
ถ้าสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้เกิดในคริสตจักรอีก ชุมชนคริสตจักรจะรับมือและจัดการอย่างไร เพื่อจะสามารถรับมือและจัดการสถานการณ์วิกฤตินั้นได้ดีกว่าที่ผ่านมา
แล้วให้ช่วยกันเตรียมการรับมือและจัดการไว้อย่างเป็นขั้นตอน ชัดเจน และเป็นรูปธรรม
ในเชิงจิตวิทยา
เมื่อคนเรากำลังตื่นตระหนกกับวิกฤติที่เกิดขึ้น และในช่วงที่วิกฤติผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ทั้งสองช่วงเวลานี้ผู้คนไม่มีเวลาที่จะคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ
เพราะขณะที่กำลังตื่นตระหนกเขามีแต่อารมณ์ที่ต้องการหาทางเอาตัวรอด และหลายคนอยู่ในอารมณ์สับสนุวุ่นวาย ไม่สามารถใช้ความคิดอย่างรอบคอบมีเหตุผล
และประสบการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นที่ผ่านไปเนิ่นนานแล้วจนบางครั้งผู้คนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์นั้นลืม
หรือ เฉยเมยกับเหตุการณ์นั้น
ทั้งสองสถานการณ์ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะให้คนในชุมชนนั้นมาช่วยกันคิดและวางแผนรับมือจัดการกับสถานการณ์วิกฤติดังกล่าว
แต่ถ้าสถานการณ์วิกฤตินั้น ๆ เพิ่งเสร็จและผ่านพ้นจากการรับมือของผู้คน ทุกคนยังมีภาพประทับใจจากเหตุการณ์นั้นอย่างชัดเจน
พร้อมทั้งยังตรึงตาตรึงใจและจำอารมณ์ความรู้สึกในวิกฤตินั้น และยังจำได้ว่า
ได้ช่วยกันจัดการรับมืออย่างไร
และเกิดผลอย่างไรบ้างจากการรับมือและการจัดการของตน บรรยากาศเช่นนั้นเป็นเวลาที่คนกลุ่มนี้จะนั่งลงและสะท้อนคิดร่วมกัน ทบทวนสรุปและประเมินผลการจัดการวิกฤตินั้น พร้อมทั้งสามารถมองหาวิธีการจัดการอย่างไรที่จะทำให้เกิดผลดีในการแก้ปัญหา การจัดการแบบไหนที่ทำให้เกิดผลเสีย
หรือผลร้ายตามมา
การจัดการแบบไหนที่ไม่ได้ผลเลย
และร่วมกันพิจารณาว่า
ถ้าเกิดวิกฤติเช่นนี้ในคริสตจักรอีกคริสตจักรจะมีวิธีการ ขั้นตอน
และกระบวนการจัดการกับวิกฤติเช่นนี้อย่างไร
และบันทึกแผนการจัดการเหล่านั้นไว้
3. เมื่อทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี
แทนที่จะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาคิดวางแผนการแก้ปัญหา
แต่ให้เราจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา คริสตจักรที่แข็งแรงย่อมมุ่งมองที่จะทำในสิ่งที่ทำดีแล้วให้ดียิ่งขึ้น
คริสตจักรนั้นจะไม่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาทางแก้ปัญหา
คริสตจักรนั้นจะสนใจตรวจสอบตลอดเวลาที่จะทำการแก้ไข ป้องกัน หรือ ทำให้ดีกว่าเดิมก่อนที่จะปล่อยให้คริสตจักรเกิดปัญหา
อะไรที่สามารถจัดการและป้องกันเป็นสิ่งที่คริสตจักรพึงกระทำล่วงหน้า
อะไรที่คริสตจักรเห็นแนวโน้มจะทำให้เกิดปัญหา หรือ
เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อยให้จัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทันที
และในเวลาที่คริสตจักรกำลังขับเคลื่อนไปได้อย่างดี ไม่ได้หมายความว่าคริสตจักรไม่มีปัญหา แต่คนในคริสตจักรมุ่งมองและให้ความสนใจไปที่ผลงานและความสำเร็จ จึงทำให้ไม่สามารถมองปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้น แต่กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อปัญหาเหล่านั้นทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายเสียหายแก่ชุมชนผู้คนในคริสตจักรแล้ว
คริสตจักรเปรียบได้กับร่างกายของคนเรา ในเวลาที่ร่างกายของเราแข็งแรงนั้นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเชื้อโรค หรือ
โรคร้ายที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา หรือ ที่กำลังแทรกเข้าร่างกายของเรา ดังนั้น
เมื่อร่างกายที่ยังแข็งแรงอยู่เราต้องทำให้เรามีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ที่จะป้องกันและกำจัดเชื้อโรคที่แทรกซึมเข้าในร่างกายของเรา และหาทุกหนทางที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายของเราได้สำเร็จ
เราจะต้องไม่รอให้เราเจ็บป่วยเพราะการทำร้ายและทำลายของเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายของเราแล้วค่อยมารักษา เพราะในเวลานั้น ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้อ่อนแอลงไปแล้ว ร่างกายของเรากำลังอ่อนกำลังเพราะพิษร้ายจากเชื้อโรค
ให้เราเลือกที่จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงที่สุด และจัดการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคสามารถแทรกตัวเข้าในร่างกายของเรา หรือถ้ามันเข้าไปแล้วให้จัดการกับมันทันที
คริสตจักรก็เช่นเดียวกับร่างกายของคนเราครับ ให้เรารับมือและจัดการเมื่อร่างกายของเรายังแข็งแรงอยู่จะเป็นการง่ายกว่า
และ เกิดผลกว่ารอให้เกิดสิ่งเร็วร้ายแล้วค่อยมาหาทางแก้ครับ
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น