28 ตุลาคม 2562

ผู้นำที่เยี่ยมยอดในองค์กรของเรา?

1.   เราไม่เคยมีผู้นำที่เยี่ยมยอดเพียงพอ สำหรับแต่ละยุคที่เพิ่มการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วมากขึ้นในสังคมชุมชนโลก ดังนั้น ผู้นำที่เยี่ยมยอดจะเป็นผู้นำที่สร้างผู้นำที่เยี่ยมยอดสำหรับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงใหม่คนต่อ ๆ ไป และไม่สามารถสร้างด้วยการเลียนแบบผู้นำแบบเดิม ๆ

2.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดย่อมยอมรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงก้าวล้ำเกินยุคเกินวัยของตน เขาเป็นผู้นำที่สามารถใช้ประโยชน์และสื่อสารกับคนเจนใหม่/รุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีของชนรุ่นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ 

3.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดมีชุดทักษะที่ไม่เหมือนใครในตนเอง การค้นพบและรู้เท่าทันว่าตนมีชุดทักษะที่ไม่เหมือนใครเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ที่ทำให้ผู้นำคนนั้นเยี่ยมยอดได้ต่อเมื่อเขาใช้ชุดทักษะที่ไม่เหมือนใครในตัวเขาอย่างเกิดผลเป็นรูปธรรม และก่อเกิดประโยชน์แก่คนรอบข้าง  

4.   ทุกคนมีชุดทักษะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครในตนเอง ที่มีค่ามากและเป็นที่ต้องการสูง ไม่มีอะไรที่น่าเสียใจและสิ้นหวังไปกว่า การเป็นผู้นำที่ปล่อยปละละเลยทักษะความสามารถที่ไม่เหมือนใครที่มีในตนเองไปอย่างเปล่าประโยชน์ ผู้นำที่เยี่ยมยอดคือผู้ที่หนุนเสริมให้ชนรุ่นใหม่ และ เพื่อนร่วมงานค้นหาและค้นพบทักษะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครออกมาจากคลังทักษะในชีวิตของแต่ละคน แล้วนำออกมาพัฒนาเป็นความสามารถที่เขาสามารถใช้เพื่อก่อเกิดคุณค่าและประโยชน์แก่ผู้คนรอบข้างและแก่สังคมโลก

5.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดเป็นผู้นำที่แสวงหาชีวิตที่ สงบ สันติ สมถะ ผู้นำที่เยี่ยมยอดมิใช่ผู้นำที่แสวงหาความยิ่งใหญ่เพื่อตนเอง มิใช่ผู้นำที่แสวงหาชัยชนะเหนือคนอื่น หรือ  มิใช่ผู้นำที่แสวงหาความมั่งคั่ง มั่นคงสำหรับตนเอง ครอบครัว และพรรคพวก แต่เป็นผู้นำที่สร้าง สงบ สันติ สมถะ ในตนเองและในชุมชน  

6.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดมิใช่ผู้นำที่ถูกครอบงำด้วยความกลัว แต่เป็นผู้นำที่ตื่นรู้อยู่  เตรียมพร้อม ระมัดระวัง เป็นผู้นำที่ไม่ตกเป็นทาสของความกลัว แต่ก็ไม่ใช่ผู้นำที่ประมาท เขาเป็นผู้นำที่ตื่นรู้อยู่เสมอ

7.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดคือผู้นำที่เห็นถึงคุณค่าอันเหลือเชื่อของแต่ละประสบการณ์ชีวิตของตน ดังนั้น ผู้นำที่เยี่ยมยอดจึงใส่ใจในการขุดค้นบทเรียนอันมีค่าจากทุกประสบการณ์ที่ตนประสบ เพื่อใช้ในการพัฒนาทัศนะมุมมองของตนให้ก้าวไกลลุ่มลึกกว่าเดิม

8.   ไม่มีอะไรที่น่าเสียใจและสิ้นหวังไปกว่า การเป็นผู้นำที่ปล่อยปละละเลยทักษะความสามารถที่มีในตนเองไปอย่างเปล่าประโยชน์

9.   ผู้นำที่เยี่ยมยอดคือผู้นำที่หนุนเสริมเพิ่มพลังแก่ผู้ร่วมงานให้สามารถตัดสินใจด้วยตนเองในแต่ละสถานการณ์ แต่ละงาน และแต่ละวิกฤติชีวิต ผู้นำที่เยี่ยมยอดจะไม่ตัดสินใจแทนคนอื่น หรือ แทนทีมงาน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


25 ตุลาคม 2562

เมื่อชีวิตย้อนแย้งกับความเชื่อศรัทธา!

“พระองค์ทรงทำให้ทุกสิ่งงดงามตามเวลาของมัน...” 
(ปัญญาจารย์ 3:11 อมธ.)

ชีวิตของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ดูย้อนแย้งแตกต่างกัน ชีวิตเราบางครั้งต้องปีนป่ายขึ้นเขาที่สูงชัน  บางครั้งต้องเดินลงในหุบเหวที่ดิ่งลึก ชีวิตเดินไปทั้งบนเส้นทางแห่งความสำเร็จ และเส้นทางที่ไปสู่ความล้มเหลว ไปสู่สิ่งที่ชื่นชม ไปสู่สิ่งที่ไม่ต้องการ

ในบ้านเรา ภูมิอากาศมี 3 ฤดู แต่ในชีวิตจริงของคนเรามันมีมากกว่านั้น เป็นฤดูกาลแห่งชีวิตที่แตกต่างห่างไกลกัน ในชีวิตของเรามีฤดูกาลที่เราเห็นว่าดี และ ที่เรารู้สึกว่าเลวร้าย

ผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์ได้กล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างหลากหลายไว้ว่า...
มีเวลาสำหรับทุกสิ่ง   มีกำหนดเวลาสำหรับกิจกรรมทุกอย่าง ภายใต้ฟ้าสวรรค์นี้


มีเวลาเกิด เวลาตาย
เวลาปลูก เวลาถอน
เวลาฆ่า เวลาเยียวยารักษา
เวลารื้อถอน เวลาสร้างขึ้นใหม่
เวลาร้องไห้ เวลาหัวเราะ
เวลาไว้ทุกข์ เวลาเต้นรำ
เวลาโยนก้อนหิน เวลาเก็บรวบรวมก้อนหิน
เวลาโอบกอด เวลาหันหนี
เวลาค้นหา เวลาเลิกรา
เวลาทะนุถนอม เวลาเหวี่ยงทิ้งไป
เวลาฉีกขาด เวลาซ่อมแซม
เวลานิ่งเงียบ เวลาพูดจา
เวลารัก เวลาเกลียด
เวลาสงคราม เวลาสันติ  (ปัญญาจารย์ 3:1-8 อมธ.)

ชีวิตมีการผสมผสานฤดูกาลแห่งชีวิตที่แปลกแยกแตกต่างเข้าด้วยกัน ถ้ามีแต่แสงแดดจ้าแต่ไร้ฝนทำให้ชีวิตแห้งแล้งดั่งทะเลทราย ถ้าเราดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า แสวงหาเส้นทางชีวิตตามที่พระเจ้าประสงค์ให้เราดำเนินไป จากประสบการณ์ดังกล่าว ในที่สุดเราจะเข้าใจว่า ทุกกาลเวลา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต่างมีจุดมุ่งหมายและคุณค่าต่อชีวิตของเรา

เราอาจจะคิดว่า ชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้ามีได้เมื่อเราอยู่ร่วมกันในคริสตจักร ในเวลาส่วนตัวของเรากับพระเจ้า หรือเมื่อเราออกไปประกาศ แต่มีได้มากกว่านั้น เรามีชีวิตในพระประสงค์ของพระเจ้าทั้งในเวลาที่เราทำความสะอาดบ้าน ในเวลาที่เราตัดหญ้าที่บ้าน เราอยู่ในพระประสงค์ของพระเจ้าเมื่อต้องย้ายบ้าน เราอยู่ในพระประสงค์ของพระเจ้าในฤดูกาลทุกช่วงตอนในชีวิตของเรา

เราหลายคนยังตะขิดตะขวงใจว่า ไม่ใช่ทุกช่วงตอนทุกฤดูกาลแห่งชีวิตของเราจะเกิดสิ่งดีมีความสวยงามเสมอไป การเป็นมะเร็งไม่ใช่สิ่งสวยงามในชีวิต เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศมิใช่สิ่งที่สวยงามในชีวิต ผู้นำประเทศที่สร้างแต่ความขัดแย้งสูญเสียชีวิตไม่ใช่สิ่งที่งดงามในฤดูกาลชีวิตของเรา

แต่ผู้เขียนพระธรรมปัญญาจารย์มองในมุมใหม่ว่า “พระองค์ทรงทำให้ทุกสิ่งงดงามตามเวลาของมัน...” (ปัญญาจารย์ 3:11 อมธ.) ความงามในทุกฤดูกาลแห่งชีวิตของเรามิใช่ความงามที่เกิดขึ้นเองตามกาลเวลานั้น ๆ แต่พระคัมภีร์บอกแก่เราว่า พระเจ้าสามารถที่จะใช้สถานการณ์ที่เลวร้ายในชีวิตเวลานั้น ๆ ให้เกิดสิ่งดีมีผลที่สวยงามได้  พระเจ้าเปลี่ยนสถานการณ์เลวร้ายให้เกิดผลในทางที่ดี สวยงาม สำหรับฤดูกาลแห่งชีวิตในช่วงนั้น ๆ

ตอนนี้เราอาจจะกำลังจาริกไปในฤดูกาลแห่งชีวิตที่ไม่สวยงาม ยิ่งกว่านั้นเป็นฤดูกาลที่น่าเกลียดขยาดกลัว ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ แต่พระเจ้าสามารถกระทำให้เกิดสิ่งดีจากสถานการณ์ฤดูกาลที่เลวร้ายน่าเกลียดนั้น ถ้าเราเชื่อและไว้วางใจในพระองค์อย่างจริงใจ อย่างสุดจิตสุดใจ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



22 ตุลาคม 2562

จัดการความเครียด…จัดการที่ความคิด!

ในยุคนี้ สังคมของเราพูดถึงบ่อยและมากคือเรื่อง “ความเครียด” แต่พระคัมภีร์พูดถึงเรื่องชีวิตที่ “ชื่นชมยินดี”  ในชีวิตประจำวันของผู้ที่เชื่อมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า

ฟีลิปปี บทที่ 4 ข้อ 4 เปาโล กล่าวถึงชีวิตที่ “ชื่นชมยินดี”  ชีวิตที่ “ไม่กระวนกระวาย” (ข้อที่ 6) ชีวิตที่มี “ความเครียด” ซึ่งเป็นสภาพชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เคล็ดลับสำคัญของชีวิตที่ชื่นชมยินดีที่เปาโล กล่าวถึงนี้ เป็นชีวิตชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้า มิใช่ชีวิตที่ชื่นชมยินดีตามใจปรารถนาของเราเอง ตามเป้าหมายชีวิตที่เราต้องการไปให้ถึง

ความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เกิดขึ้นจากพลังที่สู้กัน ในสมอง ในจิตใจ ในความนึกคิดของเรา ในที่สุดสงครามในสมองนั้นก็มีอิทธิพลต่อการ “เลือก และ ตัดสินใจ” ของเราในครั้งนั้น และความเครียดมากเครียดน้อยเครียดระดับไหนเป็นผลจากการ “เลือกและตัดสินใจ” ของเราในตอนนั้น

เปาโล กล่าวว่า  ให้เราคิดใคร่ครวญในสิ่งที่ดี สิ่งที่น่ายกย่องสรรเสริญ สิ่งที่จริง สิ่งที่น่านับถือ  สิ่งที่ถูกต้อง  สิ่งที่น่ารัก ขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการนึกคิดใคร่ครวญในทางบวกสร้างสรรค์   ยิ่งกว่านั้น เป็นการนึกคิดใคร่ครวญที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นฐานราก แก่นหลัก ในการคิดการตัดสินใจ ในการเลือกของเราในชีวิต มิใช่ตามใจปรารถนาของเรา ตามเป้าหมายของเรา (ดู ฟีลิปปี 4:8 อมธ.)

จากพระคัมภีร์ตอนนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า ถ้าเราจะลด หรือ จัดการความเครียดของเรา เราต้องเปลี่ยนกระบวนการนึกคิดของเรา โดยใช้ 7 ประเด็นในการตรวจสอบความนึกคิด เพื่อเราจะตัดสินใจว่า สมองและจิตใจของเราควรที่จะนึกคิดในเรื่องนั้น ๆ หรือไม่ อย่างไร ขอให้เราถามตนเองว่า... 
1.    เรื่องนั้นดีมีคุณค่าไหม?
2.    เป็นเรื่องที่น่ายกย่องสรรเสริญไหม?
3.    เรื่องนั้นมีความจริงไหม?
4.    เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องไหม?
5.    เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่น่านับถือไหม?
6.    เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์ไหม?
7.  เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่?

ซึ่งทั้ง 7 ประเด็นดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีพระเจ้าทรงเป็นรากฐานหรือแก่นกลางทั้งสิ้น และเมื่อเรานึกคิดเรื่องใด ๆ ก็ตามที่อยู่บนรากฐาน 7 ประการนี้ เราจะมีความมั่นใจเพราะเราตัดสินใจบนหลักเกณฑ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์กล่าวว่า “พระองค์จะทรงพิทักษ์ผู้มีใจแน่วแน่ไว้ในสวัสดิ์ภาพ (สันติภาพ: อมธ.) ที่สมบูรณ์ เพราะเขาวางใจในพระองค์” (อิสยาห์ 26:3 มตฐ.)   

หากเรามีความนึกคิดเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราด้วยการยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้า และ ตามหลักเกณฑ์ของพระองค์ พระเจ้าจะปกป้องรักษาให้ชีวิตของเรามีศานติสุขในพระองค์   แทนชีวิตที่เครียดอย่างในยุดปัจจุบัน
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


18 ตุลาคม 2562

ความอ่อนแอของระบบผู้นำ “ตามสายเลือด”

ถอดบทเรียนการสืบราชบัลลังก์ราชวงศ์ดาวิด(ตอนต้น)

ระบบผู้นำแบบอนุรักษ์นิยม ที่ผู้เป็นพ่อแม่จะพยายาม “ดัน” หรือ “รักษา” ตำแหน่งผู้นำไว้ให้ลูกของตนสืบต่อการเป็นผู้นำต่อจากตน เป็นเหมือนมรดกของตระกูลที่ส่งทอดจากพ่อสู่ลูก  บ่อยครั้ง ที่เราพบว่าเป็นระบบการกำหนดผู้นำที่อ่อนแอ เป็นพิษร้าย และ สร้างความแตกแยกฉีกขาดในองค์กร อีกทั้งเป็นการทำลายให้เกิดหายนะแก่ผู้สืบทอดอำนาจเองด้วย

บทเรียนอันล้ำค่าที่แสนเจ็บปวดยิ่งเกี่ยวกับราชบัลลังก์ราชวงศ์ดาวิดที่เราท่านปัจจุบันควรเรียนรู้   เพื่อใช้เป็นบทเรียนสำหรับการปกครอง บริหารจัดการ ครอบครัว คริสตจักรในระดับต่าง ๆ และ องค์กรคริสตชนของเรา

เมื่อโซโลมอน เป็นผู้ปกครองในราชวงศ์ดาวิดรุ่นที่สอง เขาเริ่มต้นความรับผิดชอบในการปกครองด้วยการ “รับตำแหน่ง” การเป็นกษัตริย์ ที่กษัตริย์ดาวิดใช้เกือบทั้งชีวิตในการต่อสู้  ปลุกปล้ำให้ได้มาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย ใจ และจิตวิญญาณ เรียกว่าต้องเอาชีวิตเข้าแลกด้วยความยากลำบากและอันตรายยิ่ง น่าสังเกตว่า โซโลมอนไม่มีประสบการณ์เหล่านั้นในการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ แต่กลับมีสิทธิอำนาจจากตำแหน่งที่เป็นอำนาจอยู่ในมือของเขา

ใช่ครับ โซโลมอนเถลิงอำนาจและราชสมบัติด้วยการมี “อภิสิทธิ์” หรือ “สิทธิพิเศษ” ที่สืบต่อสันตติวงศ์ราชวงศ์ดาวิด และนี่คือสิ่งที่หอมหวานยั่วยวนสำหรับหลายต่อหลายคนที่อยากได้ “สิทธิพิเศษ” นี้ แต่คนอื่นไม่ได้ เพราะดาวิดบ่งชี้คนที่จะสืบราชอำนาจของตนคือโซโลมอน

กษัตริย์ดาวิดทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตเพื่อสร้างชุมชนชาติประชากรของพระเจ้า ในทุกวิกฤติที่ผ่านมา  ดาวิดเกือบเอาชีวิตตนไม่รอด ถ้ามิใช่เพราะพระคุณของพระเจ้าที่ทรงหนุนนำเขาในการปกครอง และ ทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย ก็จะไม่ประสบความเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดนี้

แต่โซโลมอน ขึ้นมาครองราชย์ด้วยอำนาจส่งต่อมาจากพ่อ(ดาวิด) แต่น่าเสียดาย เขาใช้สิทธิพิเศษที่เขาได้รับจากพ่อ เพื่อเสริมสร้างอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความยิ่งใหญ่ของตนเอง   โซโลมอนแสวงหาชื่อเสียงท่ามกลางนานาประเทศ  เขาอวดวัง อวดสมบัติกับผู้นำชาติอื่น เขาไม่ได้มีชีวิตที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยจริงใจ

เพราะการสร้างชื่อเสียง เกียรติยศ และความยิ่งใหญ่ของตนเองต้องใช้ทรัพย์สินและแรงงานจำนวนมหาศาล การรีดภาษีจากประชาชนจึงรุนแรงขึ้น การเกณฑ์แรงงานจากบางเผ่ากระทำอย่างอคติและเห็นแก่ตัว ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับความทุกข์อย่างมากจากการกระทำที่เห็นแก่ตัวของโซโลมอน

เมื่อสิ้นโซโลมอน คนในครอบครัว คนในตระกูลที่มาสืบต่ออำนาจคือ เรโหโบอัม (รุ่นที่สามในราชวงศ์ดาวิด) ก็ขึ้นครองอำนาจต่อจากโซโลมอน ประชาชนกลุ่มที่ถูกกดขี่จากการปกครองของโซโลมอน ยกพวกมาร้องเรียน เรโหโบอัม ขอให้ลดการกดขี่ทั้งด้านภาษี และ เกณฑ์แรงงาน (ดู พงศ์กษัตริย์ บทที่ 12 โดยเฉพาะข้อ 8 และ 14)

เรโหโบอัม ที่ขึ้นมาเสวยอำนาจ และใช้สิทธิพิเศษในฐานะลูกกษัตริย์ที่สืบต่ออำนาจที่ไม่รู้รสชาติความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของการช่วยกันสร้างชาติ คนที่ไม่รู้รสชาติความเจ็บปวดขมขื่นของการถูกกดขี่ แทนที่จะเรียนรู้จากคำแนะนำของผู้มีปัญญา แต่เขากลับไปฟังคำแนะนำจากพวกที่ “เชลียร์”  “สอพลอ” เอาใจเขา คือพวกคนหนุ่มที่กำลังฮึกเหิมกับการใช้สิทธิอำนาจพิเศษของคนสืบสันตติวงศ์อย่างเรโหโบอัม

ผลที่เกิดขึ้นคือ ประเทศนี้แตกหัก แยกการปกครองออกเป็นสองอาณาจักร อาณาจักรเหนือเป็นอาณาจักรอิสราเอล ซึ่งก็คือกลุ่มที่แยกตัวออกไปจากการปกครองของเรโหโบอัม อาณาจักรใต้ ซึ่งเรียกว่าอาณาจักรยูดาห์  มีเรโหโบอัมเป็นกษัตริย์ปกครอง  

และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะเสื่อมทรามล่มสลายลงของแผ่นดินอิสราเอลและยูดาห์และอิสราเอล จนต้องตกไปเป็นเชลยศึกในบาบิโลนในที่สุด

ในวงการคริสตจักรเรา ไม่ควรมีการสืบทอดอำนาจ หรือ การปกครองโดยระบบตระกูล พรรคพวก  เพราะระบบผู้นำแบบนี้ไม่มีการเสริมสร้างภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่จะขึ้นไปนำและพัฒนาองค์กร แต่เป็นผู้นำที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามใจปรารถนามากกว่า

ผู้นำที่เถลิงขึ้นมามีอำนาจในระบบนี้ เขาสนใจแต่การยึดครองตำแหน่งเพื่อมีอำนาจ แต่มิได้ใส่ใจเสริมสร้างภาวะผู้นำและประสิทธิภาพในการนำแก่ผู้สืบทอดอำนาจ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


16 ตุลาคม 2562

เกิดมาเพื่อรับใช้

“เกิดมาเพื่อรับใช้” เป็นฐานเชื่อกรอบคิด(Mindset) ของพระเยซูคริสต์  ที่สาวกของพระองค์ทุกคนจะต้องยอมรับการเสริมสร้างให้มีฐานเชื่อกรอบคิดเฉกเช่นเดียวกับพระองค์   และมีอิทธิพลต่อ มุมมอง การคิด/ตัดสินใจ  การกระทำในชีวิตประจำวันของตน   อาจารย์เปาโลได้เขียนถึงพี่น้องคริสตชนในเมืองฟีลิปปีว่า...

“ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์
ผู้ทรงสภาพพระเจ้า
แต่ไม่ได้ทรงยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า
พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง
มารับสภาพทาส
บังเกิดเป็นมนุษย์
และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์
พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง
และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!”
(ฟีลิปปี 2:5-8 อมธ.)

ถ้าจะพูดไปแล้ว ฟีลิปปีบทที่สอง เป็นบทเพลงเกี่ยวกับพระคริสต์ก็ไม่ผิด เปาโลได้พรรณนาถึงพระลักษณะของพระเยซูคริสต์ และยังขยายพาดพิงถึงพระลักษณะของพระเจ้า อีกทั้งยังกล่าวว่า  แล้วคริสตชน สาวกของพระคริสต์ควรมีชีวิตประจำวันลักษณะใดบ้าง

แล้วเปาโลอธิบายถึงพระคริสต์ว่ามีลักษณะเช่นใด? ท่านบอกเราว่าพระคริสต์มีพระลักษณะของพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อพระองค์มาเกิดในโลกนี้พระองค์มีลักษณะความเป็นมนุษย์ที่แท้ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม พระคริสต์มิได้ดำเนินชีวิตในลักษณะ “พระ หรือ เทพเจ้า” ตามที่ผู้คนคาดคิด  ในศตวรรษแรกพวกเขาคุ้นเคยกับเทพเจ้าที่โกรธง่ายและเกรี้ยวกราดอย่างเทพเจ้าแพนธีออน ของกรีกซึ่งใช้พลังเพื่อทำให้ตนเองเหนือกว่าผู้อื่น แล้วปราบผู้อื่นให้ด้อยต่ำลง

พระ หรือ เทพเจ้าในเวลานั้นไม่มีชีวิตที่ถ่อม พระ/เทพเจ้าไม่ได้อยู่เพื่อรับใช้ประชาชน และพวกพระ/เทพเจ้าเหล่านั้นจะไม่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อมวลชน

แต่พระคริสต์ในมุมมอง/ข้อเขียนของเปาโลมีลักษณะของคนรับใช้ เปาโลใช้ภาษากรีกคำว่า doulos  (ดูโลส) ซึ่งแปลตามบริบทในเวลานั้นได้ว่า “ทาส”  ทาสมีภาวะจำยอมต่อผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข  ไม่มีข้อต่อรอง สิทธิ ข้อได้เปรียบ หรือ เอกสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

พระคริสต์ในเวลานั้นเป็นคนที่ไม่มีคุณค่าอะไร พระองค์ยอมสละทุกอย่างในความเป็นพระเจ้าด้วยการทำตนทุกหนทางให้เป็น “พระคุณ” ต่อคนอื่น ๆ พระองค์ถ่อมพระองค์ลงจนต่ำสุดเพื่อเข้าถึงและมีสัมพันธภาพกับคนที่ต่ำต้อยด้อยสุดในความเป็นมนุษย์ พระคริสต์ยอมเชื่อฟังกระทั่งความตาย พระองค์ให้ชีวิตของพระองค์แก่คนทั้งหลายโดยไม่คิดค่าราคา

แล้วพระเจ้าเป็นใคร? ความเข้มแข็งของพระเจ้าไม่ได้อยู่ที่พระองค์สามารถที่จะจัดการหรือปราบศัตรูของพระองค์ แต่ด้วยความสมัครใจและเต็มใจของพระองค์ที่จะลดพระองค์ลงเคียงข้างกับผู้คนในเป้าหมายของพระองค์ มิเพียงแต่ที่พระเจ้าถ่อมพระองค์ลงมาอยู่ในสภาพของมนุษย์   แต่พระองค์เลือกที่จะไม่มาเป็นผู้มีอำนาจปกครอง หรือ กษัตริย์ในเวลานั้น แต่พระองค์เลือกที่จะเป็น “ทาสรับใช้”

ถ้าเช่นนั้นเราควรจะเป็นใคร? มีลักษณะชีวิตอย่างไร? เปาโลบอกเราว่า “เราควรมีฐานเชื่อกรอบคิดแบบพระคริสต์ (ซึ่งในฉบับแปลภาษาไทยฉบับอมตะธรรมใช้คำว่า “ท่าที”  ส่วนใน ฉบับมาตรฐาน แปลว่า “จิตใจ...ความคิด” เหมือนอย่างที่มีในพระเยซูคริสต์) แต่นี่มิใช่แบบอย่างของพระคริสต์ที่เปาโลต้องการบอกและต้องการให้เราเป็น แต่เปาโลต้องการที่จะบอกเราว่า พระคริสต์เป็นตัวแทนของพระเจ้าอย่างเต็มที่ และพระองค์ยังเป็นตัวแทนอย่างเต็มตัวในความเป็นมนุษย์ ที่มีชีวิตในโลกนี้เพื่อการรับใช้คนอื่นด้วยการให้ชีวิต

พระคริสต์เกิดมาเพื่อรับใช้ด้วยการให้ชีวิต!

แล้วเราคริสตชนทุกวันนี้ มี “ฐานเชื่อกรอบคิด” (Mindset) แบบพระคริสต์ไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



15 ตุลาคม 2562

กำลังคิดอะไรอยู่? ถวายเกียรติพระเจ้าไหม?

ปกติ เรามักมุ่งสนใจการกระทำของเราในชีวิตประจำวันว่า เรากระทำความบาปผิดหรือเปล่า? แต่สำหรับคริสตชนแล้ว พระคริสต์สอนเราว่า เรามิได้ใส่ใจเพียงกระทำด้วยร่างกายเราเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจในอิทธิพลจากความนึกคิดจิตใจของเรา ที่นึกคิดจินตนาการในสิ่งที่บาปชั่วด้วย

ในความนึกคิดประจำวันของเรา เรานึกคิดตามอิทธิพลของอำนาจแห่งบาปชั่ว หรือ เรารับอิทธิพลจากพระวจนะของพระเจ้าที่มีพลังต่อความนึกคิดในประจำวันของเรา?

เพราะว่าพระดำรัสของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงอานุภาพ คมยิ่งกว่าดาบสองคมใด ๆ แทงทะลุแม้กระทั่งจิตและวิญญาณ ข้อต่อและไขกระดูก วินิจฉัยความคิดและท่าทีในใจ (ฮีบรู 4:12 อมธ.)

เราไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดอยากจะเป็น แต่เราเป็นอย่างที่เราคิดอยู่ในขณะนี้

ขณะนี้ท่านกำลังคิดอะไรอยู่?

พระเจ้าทรงล่วงรู้ลงลึกในความนึกคิดของเราทุกคน และถ้าความนึกคิดของเราไม่ได้เป็นที่ถวายพระเกียรติพระเจ้า ถ้าเช่นนั้นความนึกคิดของเราต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ (โรม 12:2) เมื่อเราอ่านศึกษาพระวจนะของพระเจ้า พระวจนะนั้นมีพลัง อำนาจ ต่อชีวิตของเรา  ยิ่งกว่านั้นพระวจนะสามารถล่วงรู้และลงลึกเข้าไปในความนึกคิดและใจปรารถนาของเรา และสามารถแทงทะลุเข้าในส่วนลึกสุดของจิตใจและจิตวิญญาณของเรา (ฮีบรู 4:12) ยิ่งเราให้ความนึกคิดของเราดูดซับในพระวจนะมากเท่าใด อิทธิพลของพระวจนะยิ่งจะแทรกซึมเข้าในความนึกคิดของเรามากแค่นั้น และนี่คือสิ่งที่เยี่ยมยอดของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของเรามิใช่หรือ? ถ้าความคิดของเราพระเจ้ารู้จักอย่างลุ่มลึก เราต้องตระหนักมั่นใจว่า ความนึกคิดของเราได้รับอิทธิพลจากพระวจนะของพระเจ้า เพื่อเราจะมีความคิดที่ถวายพระเกียรติแด่พระองค์

อิทธิพลของอำนาจบาปในความนึกคิดของเรา
เราอาจจะไม่ได้กระทำความผิดบาปด้วยร่างกายที่กระทำออกเป็นรูปธรรม แต่พระคริสต์เคยสอนไว้ว่า เราสามารถกระทำความบาปผิดในเรื่องล่วงประเวณีในจิตนึกคิดของเรา ซึ่งก็เป็นความบาปผิดเหมือนกับคนที่กระทำการล่วงประเวณีที่เป็นรูปธรรม (มัทธิว 5:28) ในที่นี้มิได้หมายความเพียงว่า การนึกคิดที่เต็มไปด้วยตัณหาในจิตใจของเรา บาปชั่วเหมือนกับการกระทำที่ล่วงประเวณีอย่างรูปธรรม แต่สำหรับพระคัมภีร์ ความบาปผิดที่กระทำในความนึกคิดของเราผิดบาปเพราะเราเอาชีวิตร่างกายจิตใจของเราทั้งสิ้นเข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับหญิงหรือชายที่มิใช่คู่สมรสของเรา (1โครินธ์ 6:16)

แน่นอนว่า เราท่านคงไม่ต้องการเป็นชีวิตหนึ่งเดียวกับคนที่ถูกตราว่าเป็น “โสเภณี” ใช่ไหม? ถ้าเรามีจิตใจที่เกลียดชังพี่น้องชายหญิงของเรา แล้วเราจะอ้างว่าเราเป็นคนที่รักพระเจ้าไม่ได้ (1ยอห์น 4:20

วันนี้  ผมเกิดคำถาม ที่ถามทั้งตนเองและท่านผู้อ่านว่า  ความนึกคิดในจิตใจในหัวของเราท่านเป็นอย่างไรบ้าง? ความนึกคิดที่มีอยู่ เป็นอยู่ในความนึกคิดของเรา เป็นความนึกคิดที่ถวายเกียรติแด่พระเจ้าหรือไม่?

ภาวนาธิษฐาน
พระบิดา พระองค์เป็นพระเจ้าที่บริสุทธิ์ และพระองค์ทรงล่วงรู้ลึกลงในความนึกคิดของข้าพระองค์ที่มิได้เป็นตามความชอบธรรมที่พระองค์ประสงค์ (โรม 3:23) โปรดเมตตาอภัยในความบาปผิดของข้าพระองค์ที่นึกคิดในสิ่งที่บาปชั่ว และโปรดประทานพระวิญญาณของพระองค์เปิดเผยสำแดงความนึกคิดที่ถูกต้องสอดคล้องตามพระประสงค์ของพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะได้กลับใจใหม่ เพื่อความนึกคิดจิตใจของข้าพระองค์จะได้รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ด้วยฤทธิ์เดชแห่งพระวิญญาณของพระองค์ เพื่อชีวิตประจำวันของข้าพระองค์จะได้เป็นที่ถวายเกียรติแด่พระองค์เสมอ ในพระนามอันบริสุทธิ์ของพระเยซูคริสต์ อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



11 ตุลาคม 2562

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คริสตจักรไหนเติบโตเข้มแข็ง

วันอาทิตย์นี้เมื่อเราไปคริสตจักร
ให้เราถามตนเองว่า คริสตจักรของเราเติบโต เข้มแข็ง หรือ อ่อนแอ
แล้วเรารู้ได้อย่างไร?

คริสตจักรที่เติบโต เข้มแข็ง...
มิใช่เพราะมีคนมาร่วมในวันอาทิตย์มาก
แต่เป็นเรื่องของศักยภาพของคริสตจักรใน “การส่งสาวกเข้าไปในชุมชน”
ไม่เกี่ยวกับเครื่องอำนวยความสะดวก และ เทคโนโลยีที่ทันสมัย
แต่เป็นคริสตจักรที่มีเป้าหมายของพระคริสต์ที่ชัดเจนในชีวิต

คริสตจักรมีชีวิตอยู่เพื่อช่วยผู้คนให้...
รู้จักพระเจ้า
พบความเป็นไทและมีเสรีในชีวิต
ค้นพบวัตถุประสงค์ในชีวิตของตน(แต่ละคน) และ
มีชีวิตที่แตกต่างจากเดิมเพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า

คริสตจักรของเรามีชีวิตอยู่เพื่อ...
เป็นคริสตจักรที่มีสุขภาพแข็งแรง
ด้วยการมุ่งเน้นในการเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคน...
ให้เติบโต แข็งแรง มีสุขภาพที่สมบูรณ์ และเกิดผลในชีวิต
ด้วยการสร้างคุณภาพชีวิตเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของสมาชิกแต่ละคน

บทบาทในฐานะศิษยาภิบาลเป็นทั้ง “ผู้นำและผู้เลี้ยง” เป็นผู้ดูแล กำกับ จัดการคริสตจักรที่พระคริสต์ทรงมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบ การบ่มเพาะขยายนิมิต/วิสัยทัศน์ และริเริ่มหนุนเสริมให้ขับเคลื่อนตามย่างก้าวที่กำหนดให้บรรลุนิมิต ด้วยการเสริมสร้างสมาชิกคริสตจักรแต่ละคนให้มีชีวิตที่เติบโตขึ้นในพระคริสต์ และเสริมสร้างให้เรียนรู้และมีทักษะความสามารถในการสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์ในโลกนี้

ทีมงาน คณะธรรมกิจ ทีมผู้นำผู้รับใช้จะร่วมการบริหารจัดการขั้นตอนก้าวเดินมุ่งสู่ความสำเร็จตามนิมิตหมายตามที่ได้ร่วมกันกำหนด พวกเขามิเพียงทำพันธกิจร่วมกันเท่านั้น แต่ทุกคนในทีมงานร่วมกันเสริมสร้าง และ หนุนเสริมทุกคนในคริสตจักรรักกันและกัน และขับเคลื่อนพระราชกิจของพระคริสต์อย่างรับผิดชอบตามแผนงานพันธกิจที่ได้กำหนดร่วมกัน

สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนรู้ว่า ตนมีวัตถุประสงค์อะไรในชีวิตประจำวัน?
แล้วดำเนินชีวิตประจำวันที่รับผิดชอบสานต่อพระราชกิจของพระคริสต์หรือไม่?

เมื่อพระเจ้ามีพระประสงค์ในชีวิตของสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน
พระองค์ประทานสิ่งจำเป็นสำหรับการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตแต่ละคนดังนี้

1. พระเจ้าประทานเป้าหมายปลายทางสำหรับท่านให้มุ่งไป

2. พระเจ้าประทานวิถีชีวิตของท่านที่จะต้องจาริกไป (มิใช่ใครคนอื่นที่เป็นผู้กำหนด)

3. พระเจ้าประทานผู้ที่ปกป้อง/พิทักษ์ท่านบนเส้นทางชีวิตดังกล่าว

4. พระเจ้าประทานให้มีผู้ที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต คือพระเยซูคริสต์

5. พระเจ้าประทานพรสวรรค์ ศักยภาพ ความสามารถแก่ท่านเพื่อจะใช้ในการดำเนินชีวิตตามแผนการนั้น

6. พระเจ้าประทาน “ความหิวกระหาย” ที่จะกระตุ้นให้ท่านมุ่งไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

7. พระเจ้าประทานการเยียวยารักษาเมื่อชีวิตของท่านได้รับบาดแผลและความเจ็บปวด

8. พระเจ้าประทานพลังอำนาจ ความสามารถ พลังชีวิตที่จะขับเคลื่อนจาริกไปข้างหน้า

9. พระเจ้าอยู่และดำเนินเคียงข้างท่านเสมอ

10. พระเจ้าประทานคนที่จะจาริกขับเคลื่อนชีวิตไปกับท่าน

โปรดใคร่ครวญ-ไตร่ตรอง ฟีลิปปี 3:10-14

10ข้าพเจ้าต้องการรู้จักพระคริสต์และมีประสบการณ์ในฤทธิ์อำนาจแห่งการคืนพระชนม์ของพระองค์และร่วมสามัคคีธรรมในการทนทุกข์ของพระองค์ เป็นเหมือนพระองค์ในการสิ้นพระชนม์ 11เพื่อจะได้เป็นขึ้นจากตาย(อย่างพระองค์)... 13พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ถือว่าตนเองฉวยสิ่งนี้มาได้แล้ว แต่ข้าพเจ้าทำอย่างหนึ่ง คือลืมสิ่งที่ผ่านมาและโน้มตัวไปหาสิ่งที่อยู่ข้างหน้า 14...สู่หลักชัยเพื่อคว้ารางวัลซึ่งพระเจ้าได้ทรงเรียกข้าพเจ้าจากสวรรค์ผ่านทางพระเยซูคริสต์ให้ไปรับ”

และนี่มิใช่หรือ ที่ทำให้สาวกแต่ละคนแข็งแรง คริสตจักรแห่งนั้น ๆ เติบโต และพระราชกิจของพระคริสต์เกิดผล?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


06 ตุลาคม 2562

สิ่งแรกที่เราทำเมื่อเผชิญวิกฤติ...(?)

ทุกวิกฤติชีวิตคือ โอกาสสำหรับการเสริมสร้างภาวะผู้นำของแต่ละคน

ในฐานะสาวกของพระคริสต์ เราท่านต่างต้อง “อภิบาลชีวิต” ผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าคู่ชีวิต คนในครัวเรือน คนในคริสตจักร เพื่อนฝูงคนสนิท และเพื่อนร่วมงาน ตลอดไปจนถึงผู้ที่รับบริการจากเรา

ชีวิตประจำวันเราต่างต้องเผชิญกับวิกฤติรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติด้านสุขภาพ วิกฤติด้านสัมพันธภาพ หรือวิกฤติในที่ทำงาน หรือ ในงานที่ทำ วิกฤติเศรษฐกิจของตน รวมไปถึงวิกฤติจากภัยธรรมชาติ เมื่อผู้คนต้องประสบพบเจอกับวิกฤติชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่างต้องการคนที่จะอยู่กับเขา ช่วยเขา เป็นกำลังใจ เป็นสติปัญญา และชี้ทางในเวลาเช่นนั้น พวกเขาต้องการ “ผู้อภิบาลครับ”

เราควรทำอย่างไรเมื่อเผชิญกับ “วิกฤติชีวิต” ไม่ว่าวิกฤติชีวิตของเราเอง หรือ ของผู้คนที่เผชิญวิกฤติชีวิตแล้วหันหน้ามาหาเรา?

สิ่งแรกของสิ่งแรกใน “การอภิบาลชีวิตในยามวิกฤติ” คือ “อธิษฐาน” ซึ่งบ่อยครั้งผู้คนจะเลือกทำสิ่งอื่นก่อน การอธิษฐานเป็นเรื่องสุดท้าย แย่กว่านั้น เราอธิษฐานเมื่อสิ้นทางเลือกหมดทางสู้แล้ว!

การอธิษฐานเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะเปิดเผยและสัมผัสชีวิตของเรา เราจะรู้จักพระองค์มากยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น รู้จักน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระองค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้เราเริ่มเห็นว่า อะไรคือพระประสงค์ของพระองค์ในวิกฤติชีวิตดังกล่าว ยิ่งกว่านั้น เราก็จะเริ่มเห็นทางออก ทางรับมือและจัดการ ที่พระปัญญาของพระเจ้าเปิดเผยและชี้ทางแก่เรา เราจะเห็นเส้นทางตามพระประสงค์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มากกว่านั้น เราเริ่มเห็นว่าพระเจ้าทรงใช้ผู้คนอีกหลายคนที่เขามาหนุนเสริมเราให้เราสามารถเดินตามเส้นทางที่พระเจ้าได้เปิดเผยนั้น

ดาเนียล เป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องนี้ เมื่อเขาต้องเผชิญกับวิกฤติในช่วงปลายชีวิต จากการตกเป็นเชลยศึกในกรุงบาบิโลน 70 ปี ในช่วงปลายชีวิตเขาต้องการมีโอกาสกลับสู่ “มาตุภูมิ” (แผ่นดินแม่ แผ่นดินเกิด แผ่นดินแห่งพระสัญญา)

ดาเนียลรู้ถึงคำเผยพระวจนะของเยเรมีย์ ที่พระเจ้ามีพระสัญญาว่า พระองค์จะพาเชลยศึกอิสราเอลกลับไปแผ่นดินเกิดหลังจากที่ตกเป็นเชลยแล้ว 70 ปี ซึ่งตรงกับช่วงปลายชีวิตของดาเนียลในตอนนั้น สิ่งที่ดาเนียลทำในเรื่องนี้คือ เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า ในวิกฤติชีวิตครั้งนี้ (ทำอย่างไรเขาถึงจะได้กลับไปยัง “แผ่นดินเกิด” แผ่นดินแห่งพระสัญญา)

ดาเนียลอธิษฐานอย่างไร?

1. ดาเนียล “ฟัง” พระเจ้า

แล้วเราจะฟังพระเจ้าอย่างไร? สำหรับดาเนียล เขาอ่านและศึกษาพระวจนะของพระเจ้า โดยเฉพาะ “พระสัญญาของพระเจ้า” ซึ่งเขาได้พบคำเผยพระวจนะเของเยเรมีย์ ที่กล่าวถึงพระเจ้าจะนำเชลยศึกอิสราเอลในบาบิโลนกลับสู่แผ่นดินเกิดแผ่นดินแห่งพระสัญญา (พบในดาเนียลบทที่ 9)

ในฐานะผู้อภิบาลชีวิต เมื่อผู้คนตกอยู่ในภาวะวิกฤติชีวิต เราต้องนำพวกเขาให้จดจ่อที่พระสัญญาของพระเจ้า พระสัญญาเหล่านี้จะเป็นรากฐานความเชื่อและกรอบคิดของเราในภาวะวิกฤติชีวิต

2. ดาเนียลพุ่งความสนใจมุ่งจดจ่อไปที่พระเจ้า

ดาเนียล 9:3 กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจึงขะมักเขม้นอธิษฐานวิงวอนต่อพระเจ้า...” (มตฐ.) สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเราต้องตกอยู่วิกฤติก็เพราะเราหันหน้าออกไปจากพระเจ้า มุ่งสนใจเอาจริงเอาจังกับสิ่งอื่นในชีวิต ชีวิตของเราจึงประสบกับความทุกข์ยากลำบาก ความเจ็บปวด ตกอับในชีวิต ดังนั้นในยามวิกฤติชีวิตจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องหันกลับมาหาพระเจ้า แล้วขะมักเขม้นอธิษฐานมีชีวิตที่จริงจังกับพระองค์ มิใช่มุ่งที่จะหาทางแก้ปัญหาแก้วิกฤติ หรือพยายามหาทางว่าตนจะจัดการอย่างไรกับชีวิตของตนเอง

3. ดาเนียลอธิษฐานจากก้นบึ้งแห่งจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึก

พระคัมภีร์ตอนนี้ใช้ 3 คำที่บ่งชี้ถึงลักษณะการอธิษฐานของดาเนียล คืออธิษฐานอย่าง “ขะมักเขม้น” “ทูล” และ “วิงวอน” (คิดถึงภาพของขอทานที่มีดวงตาวิงวอนขอความช่วยเหลือ) โดยปกติทั่วไปแล้ว เมื่อมีอะไรเราจะ “ทูล” ต่อพระเจ้า บอกกับพระองค์ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้สำคัญต่อเราอย่างไร แล้วก็ขอพระองค์ช่วย ในการอธิษฐานยามวิกฤตินี้ อาจจะเป็นการอธิษฐานที่ “ไม่เป็นคำ” แต่พรั่งพรูออกมาด้วย จิตใจ อารมณ์ และ ความรู้สึกจากส่วนลึกแห่งจิตวิญญาณ

4. สามพฤติกรรมที่ดาเนียลทุ่มเทจริงจังในการอธิษฐานต่อพระเจ้า

ภาพพฤติกรรมอีก 3 อย่างที่แสดงถึงการอธิษฐานที่ทุ่มเทจริงจังของดาเนียลในครั้งนี้คือ อดอาหาร สวมเสื้อผ้ากระสอบ และ คลุกขี้เถ้า

พระเยซูคริสต์กล่าวว่า การอัศจรรย์บางอย่างจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการอธิษฐานและอดอาหารเท่านั้น การอดอาหารเป็นการแสดงถึงความจริงจังในการทูลขอต่อพระเจ้า ในการอภิบาลชีวิตผู้คน เราจะต้องช่วยให้ผู้คนเหล่านั้นทูลขอต่อพระเจ้าด้วยการทุ่มเททั้งชีวิต จิตใจ ความคิด อารมณ์ และจิตวิญญาณ ส่วนเรื่องการนุ่งผ้ากระสอบและคลุกขี้เถ้าเราไม่เห็นการกระทำนี้ในปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องที่คุ้นชินในตะวันออกกลางในอดีต

5. ดาเนียลขอบพระคุณสำหรับความรักเมตตาและพระสัญญาของพระเจ้า

ดาเนียลทูลต่อพระเจ้าว่า เขารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้า ที่พระองค์ทรงสัตย์ซื่อและกระทำให้พระสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นรูปธรรม (9:4 มตฐ.) เมื่อเราอภิบาลชีวิตผู้คนในยามวิกฤติ เราจำเป็นที่จะหนุนเสริมให้พวกเขาสำนึกและแสดงออกถึงการที่เขารู้สึกขอบพระคุณพระเจ้า เรามักจะเลยข้ามส่วนนี้เมื่อเราอธิษฐาน การที่เรามีความสำนึกในพระคุณของพระเจ้า ช่วยเรามองเหนือวิกฤติปัญญาที่เรากำลังเผชิญ แต่เรามุ่งมองที่ความสัตย์ซื่อ พระคุณ และพระสัญญาของพระเจ้า

6. ดาเนียลถ่อมชีวิตจิตใจลง สารภาพถึงความบาปผิดของตน

“ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทำผิดทำบาป ทำชั่วและกบฏต่อพระองค์ หันหนีจากบทบัญญัติและพระบัญชาของพระองค์” พระเจ้าสดับฟังเสียงของคนเล็กน้อยต่ำต้อยที่ถ่อมจิตใจลง แต่ไม่ต้องการฟังเสียงของคนที่หยิ่งยโสโอหัง พระเจ้าไม่เคยที่จะลงโทษคนที่สารภาพผิดต่อพระองค์ แต่พระองค์ทรงอวยพระพรแก่ผู้จริงใจสัตย์ซื่อสารภาพบาปผิดในชีวิตของเขา

ในฐานะที่เราเป็น “ผู้อภิบาลชีวิต” ของผู้คน ที่แต่ละคนต้องเผชิญผ่านพบกับวิกฤติชีวิตมากมาย สิ่งแรกที่เราจะอภิบาลชีวิตของผู้คนที่ต้องพบกับวิกฤติชีวิตคือ การนหนุนเสริมให้เขาอธิษฐานต่อพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


03 ตุลาคม 2562

ผู้นำคริสตชนเป็นผู้นำแบบไหน?

ผู้นำคริสตชน เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมิได้มาด้วยการแต่งตั้ง หรือ การสถาปนา หรือ ด้วยการยอมรับของผู้คน (เช่น ชนะการเลือกตั้ง) แต่ด้วยการอธิษฐาน การสารภาพความบาปผิด  ด้วยหัวใจแห่งการแสวงหา และด้วยความถ่อมใจต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้า ด้วยการยอมจำนนตนเองต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ยอมเสียสละแม้ต้องตายด้วยความกล้าหาญ ยอมรับกางเขนอย่างไร้เงื่อนไขและไม่บ่น  ด้วยความแน่วแน่ มุ่งมั่นมองไปที่พระคริสต์ผู้ถูกตรึงบนกางเขนนั้น ไม่ใช่การแสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อตนเอง (เยเรมีย์ 45:5) แต่เป็นอย่างเปาโล ที่มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเหมือนเศษขยะ  ยอมสูญเสียสิ่งเหล่านั้นเพื่อจะได้พระคริสต์

ผู้นำทางจิตวิญญาณที่ดีรู้อยู่เต็มอกว่า ตนเป็นเพียง “คนเลี้ยงแกะ” เท่านั้น มิใช่ผู้ช่วยคนอื่นให้รอด รู้ว่าตนเป็นผู้นำ แต่มิใช่เจ้านาย เข้าใจว่าตนเป็นผู้ชี้ทางที่เปี่ยมด้วยทักษะ แต่ตนไม่ใช่พระเจ้า

คุณลักษณะของผู้นำแบบสาวกพระคริสต์ เป็นมรดกส่งต่อจากผู้นำรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง ถ่ายทอดแทรกซึมจากผู้นำไปยังผู้ตาม เป็นผู้นำที่ยืนหยัดยึดมั่นในความรับผิดชอบ เกิดจากการหล่อหลอมผ่านการเจริญเติบโต มีความสัมพันธ์ที่จริงใจต่อพระคริสต์ คุณลักษณะผู้นำแบบสาวกพระคริสต์ หยั่งรากและพัฒนาท่ามกลางวิกฤติชีวิต ที่บ่มเพาะหล่อหลอมคุณลักษณะการรับใช้ และ การให้ชีวิตแบบพระคริสต์ ในการสานต่อพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตประจำวัน



ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499