18 ตุลาคม 2562

ความอ่อนแอของระบบผู้นำ “ตามสายเลือด”

ถอดบทเรียนการสืบราชบัลลังก์ราชวงศ์ดาวิด(ตอนต้น)

ระบบผู้นำแบบอนุรักษ์นิยม ที่ผู้เป็นพ่อแม่จะพยายาม “ดัน” หรือ “รักษา” ตำแหน่งผู้นำไว้ให้ลูกของตนสืบต่อการเป็นผู้นำต่อจากตน เป็นเหมือนมรดกของตระกูลที่ส่งทอดจากพ่อสู่ลูก  บ่อยครั้ง ที่เราพบว่าเป็นระบบการกำหนดผู้นำที่อ่อนแอ เป็นพิษร้าย และ สร้างความแตกแยกฉีกขาดในองค์กร อีกทั้งเป็นการทำลายให้เกิดหายนะแก่ผู้สืบทอดอำนาจเองด้วย

บทเรียนอันล้ำค่าที่แสนเจ็บปวดยิ่งเกี่ยวกับราชบัลลังก์ราชวงศ์ดาวิดที่เราท่านปัจจุบันควรเรียนรู้   เพื่อใช้เป็นบทเรียนสำหรับการปกครอง บริหารจัดการ ครอบครัว คริสตจักรในระดับต่าง ๆ และ องค์กรคริสตชนของเรา

เมื่อโซโลมอน เป็นผู้ปกครองในราชวงศ์ดาวิดรุ่นที่สอง เขาเริ่มต้นความรับผิดชอบในการปกครองด้วยการ “รับตำแหน่ง” การเป็นกษัตริย์ ที่กษัตริย์ดาวิดใช้เกือบทั้งชีวิตในการต่อสู้  ปลุกปล้ำให้ได้มาด้วยหยาดเหงื่อ แรงกาย ใจ และจิตวิญญาณ เรียกว่าต้องเอาชีวิตเข้าแลกด้วยความยากลำบากและอันตรายยิ่ง น่าสังเกตว่า โซโลมอนไม่มีประสบการณ์เหล่านั้นในการที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศ แต่กลับมีสิทธิอำนาจจากตำแหน่งที่เป็นอำนาจอยู่ในมือของเขา

ใช่ครับ โซโลมอนเถลิงอำนาจและราชสมบัติด้วยการมี “อภิสิทธิ์” หรือ “สิทธิพิเศษ” ที่สืบต่อสันตติวงศ์ราชวงศ์ดาวิด และนี่คือสิ่งที่หอมหวานยั่วยวนสำหรับหลายต่อหลายคนที่อยากได้ “สิทธิพิเศษ” นี้ แต่คนอื่นไม่ได้ เพราะดาวิดบ่งชี้คนที่จะสืบราชอำนาจของตนคือโซโลมอน

กษัตริย์ดาวิดทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตเพื่อสร้างชุมชนชาติประชากรของพระเจ้า ในทุกวิกฤติที่ผ่านมา  ดาวิดเกือบเอาชีวิตตนไม่รอด ถ้ามิใช่เพราะพระคุณของพระเจ้าที่ทรงหนุนนำเขาในการปกครอง และ ทำหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย ก็จะไม่ประสบความเจริญรุ่งเรืองถึงขนาดนี้

แต่โซโลมอน ขึ้นมาครองราชย์ด้วยอำนาจส่งต่อมาจากพ่อ(ดาวิด) แต่น่าเสียดาย เขาใช้สิทธิพิเศษที่เขาได้รับจากพ่อ เพื่อเสริมสร้างอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ และความยิ่งใหญ่ของตนเอง   โซโลมอนแสวงหาชื่อเสียงท่ามกลางนานาประเทศ  เขาอวดวัง อวดสมบัติกับผู้นำชาติอื่น เขาไม่ได้มีชีวิตที่ถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าด้วยจริงใจ

เพราะการสร้างชื่อเสียง เกียรติยศ และความยิ่งใหญ่ของตนเองต้องใช้ทรัพย์สินและแรงงานจำนวนมหาศาล การรีดภาษีจากประชาชนจึงรุนแรงขึ้น การเกณฑ์แรงงานจากบางเผ่ากระทำอย่างอคติและเห็นแก่ตัว ประชาชนส่วนหนึ่งได้รับความทุกข์อย่างมากจากการกระทำที่เห็นแก่ตัวของโซโลมอน

เมื่อสิ้นโซโลมอน คนในครอบครัว คนในตระกูลที่มาสืบต่ออำนาจคือ เรโหโบอัม (รุ่นที่สามในราชวงศ์ดาวิด) ก็ขึ้นครองอำนาจต่อจากโซโลมอน ประชาชนกลุ่มที่ถูกกดขี่จากการปกครองของโซโลมอน ยกพวกมาร้องเรียน เรโหโบอัม ขอให้ลดการกดขี่ทั้งด้านภาษี และ เกณฑ์แรงงาน (ดู พงศ์กษัตริย์ บทที่ 12 โดยเฉพาะข้อ 8 และ 14)

เรโหโบอัม ที่ขึ้นมาเสวยอำนาจ และใช้สิทธิพิเศษในฐานะลูกกษัตริย์ที่สืบต่ออำนาจที่ไม่รู้รสชาติความทุกข์ยากลำบากในชีวิตของการช่วยกันสร้างชาติ คนที่ไม่รู้รสชาติความเจ็บปวดขมขื่นของการถูกกดขี่ แทนที่จะเรียนรู้จากคำแนะนำของผู้มีปัญญา แต่เขากลับไปฟังคำแนะนำจากพวกที่ “เชลียร์”  “สอพลอ” เอาใจเขา คือพวกคนหนุ่มที่กำลังฮึกเหิมกับการใช้สิทธิอำนาจพิเศษของคนสืบสันตติวงศ์อย่างเรโหโบอัม

ผลที่เกิดขึ้นคือ ประเทศนี้แตกหัก แยกการปกครองออกเป็นสองอาณาจักร อาณาจักรเหนือเป็นอาณาจักรอิสราเอล ซึ่งก็คือกลุ่มที่แยกตัวออกไปจากการปกครองของเรโหโบอัม อาณาจักรใต้ ซึ่งเรียกว่าอาณาจักรยูดาห์  มีเรโหโบอัมเป็นกษัตริย์ปกครอง  

และนี่คือจุดเริ่มต้นแห่งความหายนะเสื่อมทรามล่มสลายลงของแผ่นดินอิสราเอลและยูดาห์และอิสราเอล จนต้องตกไปเป็นเชลยศึกในบาบิโลนในที่สุด

ในวงการคริสตจักรเรา ไม่ควรมีการสืบทอดอำนาจ หรือ การปกครองโดยระบบตระกูล พรรคพวก  เพราะระบบผู้นำแบบนี้ไม่มีการเสริมสร้างภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพที่จะขึ้นไปนำและพัฒนาองค์กร แต่เป็นผู้นำที่จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตามใจปรารถนามากกว่า

ผู้นำที่เถลิงขึ้นมามีอำนาจในระบบนี้ เขาสนใจแต่การยึดครองตำแหน่งเพื่อมีอำนาจ แต่มิได้ใส่ใจเสริมสร้างภาวะผู้นำและประสิทธิภาพในการนำแก่ผู้สืบทอดอำนาจ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น