30 มีนาคม 2555

มองด้วยสายตาที่ยาวไกลและมุมมองแห่งความรักเมตตา

เพื่อนศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อหลายปีมาแล้วเขาเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนผู้นำในคริสตจักรที่เขาเป็นศิษยาภิบาล เขาพยายามคิดหาทางที่จะให้กลับคืนดีกัน แต่ในที่สุดประสบกับความล้มเหลว แล้วผู้นำคริสตจักรท่านนั้นก็ออกไปจากคริสตจักร ก่อนที่ผู้นำคนนั้นจะออกจากคริสตจักรเขาพยายามทำทุกหนทางที่จะให้ผู้คนในคริสตจักรได้รู้ถึงความบกพร่องของศิษยาภิบาล หรืออย่างน้อยเขาก็ต้องการให้คนทั้งหลายได้รู้ได้เห็นถึงสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความผิดบกพร่องของศิษยาภิบาลท่านนี้ ส่วนตัวศิษยาภิบาลเองก็ต้องการต้อนผู้นำคนนั้นให้จนมุมเพื่อให้ผู้คนในคริสตจักรได้เห็นถึงวาจาสามหาว วิธีการที่ลามกสกปรกที่ผู้นำคนนี้ได้กระทำต่อตน

เพื่อนศิษยาภิบาลท่านนั้นเล่าต่อไปว่า ในเวลานั้นมีเสียงเรียกร้องจากพระวจนะของพระเจ้าในใจของเขาให้กระทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่เขากระทำ แต่ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ยิ่งท่านดิ้นท่านขืนพระวจนะของพระเจ้ามากแค่ไหนก็เหมือนกับคอของท่านถูกผูกและถ่วงด้วยสมอจนเขาไม่สามารถขับเคลื่อนนาวาชีวิตไปในทิศทางที่เขาอยากจะไปได้ สำนึกที่จะต้องดำเนินชีวิตตามพระวจนะและรับผิดชอบต่อการทรงเรียกของพระเจ้าที่ถ่วงไม่ให้ศิษยาภิบาลท่านนี้ดิ้นและขับเคลื่อนอย่างที่ใจของตนพึงปรารถนา

ในเวลานั้นเอง ศิษยาภิบาลคนนี้ตกลงใจที่จะรักผู้นำคนนี้ตามความสามารถที่จำกัดของเขา แต่เหนือกว่านั้น เขาขอกำลังจากพระเจ้าที่จะรักผู้นำคนนี้ ดังนั้น ศิษยาภิบาลระมัดระวังท่าทีคำพูดที่เขามีต่อผู้นำคนนี้ เขาจะแสดงออกในทางที่สร้างสรรค์ ศิษยาภิบาลจะกล่าวถึงชายคนนั้นในส่วนที่ถูกที่จริง ในส่วนที่เป็นด้านลบเขาจะไม่เอ่ยถึงเก็บเงียบรู้แต่ในจิตใจของเขาเท่านั้น(และในเพื่อนที่ไว้วางใจได้จริงเพียงหนึ่งถึงสองคนเท่านั้น) เพื่อนศิษยาภิบาลบอกผมว่าเป็นสิ่งที่คิดง่ายแต่ทำได้ยากแสนสาหัสทีเดียว

ท่านอาจจะคิดว่า ศิษยาภิบาลและผู้นำคนนั้นต่างคืนดีกันและกัน แต่ความจริงเขาไม่ได้คืนดีกัน ถ้าเช่นนั้นท่านอาจจะคิดว่าสมาชิกในคริสตจักรได้เห็นถึงท่าทีชีวิตที่แตกต่างของศิษยาภิบาลและผู้นำคริสตจักรคนนั้น ขอโทษครับดูมันไม่ได้เกิดขึ้นเช่นนั้น มีคนกลุ่มหนึ่งออกไปจากคริสตจักรภายหลังเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้น ถ้าท่านมองเหตุการณ์นี้ด้วยสายตามุมมองเพียงสั้นๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่า ความรักนั้นล้มเหลว ดูเหมือนได้รับสิ่งที่เลวร้ายและความพ่ายแพ้ของความรัก ยิ่งกว่านั้น เหตุการณ์นี้สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดแก่คริสตจักรที่เพื่อนศิษยาภิบาลท่านนั้นตั้งใจที่จะอภิบาล

แต่ถ้าเรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสายตาและมุมมองที่ยาวไกล เพื่อนศิษยาภิบาลคนนั้นยังยืนยันว่าการเลือกที่จะรักยังคงเป็นหนทางที่ถูกต้อง เพราะไม่มีสิ่งใดที่เพื่อนศิษยาภิบาลคนนั้นจะกระทำถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าได้มากกว่าการที่เขาพยายามติดตามพระคริสต์ด้วยใจถ่อมด้วยท่าทีที่สงบ ยิ่งกว่านั้น การที่เขาเลือกที่จะรักแม้จะได้รับความเจ็บปวดก็หนุนเสริมให้เขาเติบโตขึ้นในความเชื่อของเขาและชีวิตในการติดตามพระคริสต์ เขาเติบโตเป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้นในบางด้าน และก็มิได้เติบโตเพียงเฉพาะในเวลานั้นเท่านั้น แต่ตลอดระยะทางและตลอดช่วงเวลาที่เขายังติดตามพระคริสต์ ยิ่งกว่านั้น สำหรับบางคนที่รู้เรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมทั้งผู้นำหลักๆ ในคริสตจักรได้รับบทเรียนและกำลังใจจากตัวอย่างการตัดสินใจและท่าทีชีวิตของเพื่อนศิษยาภิบาลท่านนั้น

เพื่อนศิษยาภิบาลท่านนี้พูดตัดบทว่า เพื่อไม่เป็นการคุยโตโอ้อวด เขาขอบอกว่า เขาพบความล้มเหลวในการติดตามพระเยซูคริสต์บนวิถีแห่งความรักบ่อยครั้ง เขาบอกผมว่า เขาสามารถบอกแก่เพื่อนฝูงของเขาที่จะเป็นพยานเรื่องนี้ได้มากมาย เขาเองมั่นใจว่าความล้มเหลวในสถานการณ์การทดลองอย่างที่เขาเล่านั้น ด้วยพระคุณของพระเจ้าพระองค์ได้ใช้เหตุการณ์เหล่านั้นในการสอนและสัมผัสชีวิตของเขา พระองค์ทรงช่วยและเปลี่ยนแปลงให้ศิษยาภิบาลท่านนี้รักคนที่เขาเองรักไม่ลง ในเวลาที่ความเป็นคนเดิมของศิษยาภิบาลบอกเขาว่า “แก้แค้น” เมื่อความหยิ่งยโสกระซิบข้างหูเขาว่า “เหยียบให้มันแบนราบคาบ” เพื่อนศิษยาภิบาลท่านนั้นยืนยันกับผมว่า พระเจ้าจะช่วยคุณได้ ในเวลาที่เลวร้ายเช่นนั้น

บ่อยครั้งเหลือเกินที่คริสเตียนมี “มุมมองที่คับแคบและสายตาที่สั้นใกล้” เรามองว่าวันนี้คือทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ถ้าเราจะยอมก้าวถอยหลังเราก็จะสามารถมองเห็นสิ่งเดียวกันนั้นที่กว้างและไกลขึ้น แล้วถ้าเรามองชีวิตของเราตามมุมมองและสายพระเนตรของพระเจ้า เราก็จะสามารถเห็นเส้นทางชีวิตที่ยาวไกลและนิรันดร์ และเราก็จะเห็นชีวิตในมุมมองแห่งความรัก

ถ้าเราเชื่อว่าชีวิตนี้มิใช่ของเราแต่เป็นของพระเจ้า ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมองชีวิตนี้ด้วยสายตาที่ยาวไกลของพระองค์ และถ้าเรายืนยันว่าที่ชีวิตขับเคลื่อนไปได้เช่นนี้เป็นเพราะพระกำลังจากพระเจ้า ถ้าเช่นนั้นเรายิ่งจำเป็นต้องมองชีวิตนี้ด้วยมุมมองที่กว้างไกลด้วยรักเมตตาของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

28 มีนาคม 2555

รักอย่างพระคริสต์... พูดง่ายแต่ทำยาก

อ่านพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 13

ในบทใคร่ครวญครั้งก่อน เราได้เอาคำว่า “พระคริสต์” ลงแทนที่คำว่า “ความรัก” ในพระธรรม 1โครินธ์ 13:4-7 ที่เปาโลต้องการสะท้อนภาพความรักเมตตาที่เสียสละแบบพระคริสต์ เพื่อสาวกที่ติดตามพระองค์จะรับการเสริมสร้างปรับเปลี่ยนชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตคริสเตียนตามแบบอย่างของพระคริสต์

พระคริสต์นั้นก็อดทนนานและมีใจปรานี(และกระทำคุณให้, 1971)
พระคริสต์ไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไม่หยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม(กระประพฤติผิด, 1971)
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง(การประพฤติชอบ, 1971)
พระคริสต์ทนได้ทุกอย่าง(แม้ความผิดของผู้อื่น, 1971)
เชื่ออยู่เสมอ(และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ, 1971)
มีความหวัง
และ(มี)ความทรหดอดทนอยู่เสมอ” (ทนต่อทุกอย่าง, 1971)

ในพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 13 เรียกร้องให้เราดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์ ถึงแม้ว่าเปาโลมิได้บ่งบอกชัดเจนว่า ในข้อที่ 4-7 นั้นเป็นแบบอย่างความรักที่พระคริสต์ทรงสำแดง แต่เป็นภาพชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรักเยี่ยงพระคริสต์อยู่เบื้องหลังภาพของพระธรรมตอนนี้ และชีวิตด้วยความรักแบบพระคริสต์ได้สรุปขมวดเป็นภาพรวมที่กางเขนที่สำแดงความรักมนุษย์จึงยอมสละชีวิตของพระองค์เพื่อมนุษย์ที่พระองค์ทรงรักนั้น และพระเยซูคริสต์ทรงเรียกร้องให้ผู้ที่เป็นสาวกติดตามพระองค์ทุกคนมีชีวิตที่รักเมตตาและเสียสละแบบพระองค์ นั่นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก

ถึงแม้เราจะพยายามที่จะดำเนินชีวิตด้วยความรักแบบพระคริสต์เราก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นอย่างพระองค์ได้ ในความเป็นจริงแล้ว บ่อยครั้งที่เราไม่ต้องการที่จะรักแบบพระคริสต์ ท่านเคยตั้งใจที่จะไม่ทำตามความรักของพระคริสต์หรือไม่? สำหรับผมแล้วขอสารภาพว่าหลายครั้งครับ พูดแบบตรงไปตรงมา ผมไม่ต้องการหันหน้าอีกข้างหนึ่งให้คนที่ตบหน้าผมไปก่อนหน้านี้ ผมไม่อยากที่จะยกโทษให้กับคนที่ทำผิดต่อผมครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่การที่เรายอมกระทำตามที่พระคริสต์สอนนั้นนั่นเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ง่ายที่เราจะพูดว่าให้เราดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์ แต่เป็นการยากอย่างยิ่งที่จะทำจริงอย่างที่พูด ยิ่งถ้าต้องตกอยู่ในภาวะที่ทะเลาะถกเถียงขัดแย้งแล้ว ยิ่งเป็นการยากอีกหลายเท่าตัว

อย่างที่ผมเล่าถึงธรรมกิจสตรีท่านหนึ่งในคริสตจักรที่ผมเคยเป็นศิษยาภิบาล ที่แสดงความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดกับเพื่อนสมาชิกในธรรมกิจ ซึ่งในฐานะธรรมกิจของคริสตจักรที่ได้รับการทรงเรียกให้มารับใช้ในพระราชกิจของพระเจ้าไม่ควรมีท่าทีเช่นนี้ ในที่สุด ผมต้องลุกขึ้นและพูดกับคณะธรรมกิจว่า “พี่น้องครับ ผมได้ยินและรับทราบในสิ่งที่เราต้องการกระทำจากการถกเถียงกันนี้ ผมใคร่ขอเราลองใคร่ครวญก่อนว่า ถ้าพระเยซูคริสต์อยู่กับเราในสถานการณ์เช่นนี้ พระองค์จะคิด จะตัดสินใจ และจะทำอย่างไร?” ธรรมกิจสตรีท่านนั้นระเบิดขึ้นมาว่า “ฉันไม่สนใจว่า พระเยซูคริสต์จะทำอย่างไร เพราะฉันไม่ใช่พระเยซู”

ในใจของผมต้องการตอบโต้เธอแบบสวนกลับว่า “เพราะคิดอย่างงี้นี่เอง..ถึงต้องถกเถียงกันอย่างร้อนแรงไม่จบไม่สิ้นเช่นนี้” แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าที่ระงับการตอบโต้ของผมที่จะเหมือนการราดน้ำมันลงบนกองไฟ แต่เมื่อเธอคิดสั้นเพียงว่า เพราะเธอไม่ใช่พระเยซูคริสต์ เธอจึงไม่ต้องทำอย่างพระองค์ และนี่มิใช่มาตรฐานชีวิตคริสเตียนอย่างแน่นอน แต่ถ้าคนที่จริงใจต้องการดำเนินชีวิตตามแบบพระคริสต์ เมื่อตกในภาวะโมโหโกรธาแล้วต้องระเบิดอารมณ์ออกมากลางวงประชุมธรรมกิจ ก็น่าจะตอบโต้ว่า “ฉันรู้แล้ว ว่าพระองค์ทรงเรียกฉันให้เป็นเหมือนพระองค์ แต่ฉันยังทำตามแบบนั้นไม่ได้ องค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดช่วยข้าพระองค์ให้เป็นเหมือนพระองค์ด้วยเถิด”

ผมต้องยอมรับว่า
บ่อยครั้งผมต้องร้องทูลขอพระเจ้าแบบนี้ในใจของผมหลายครั้งเหลือเกิน
เมื่อผมหมดความอดทน
เมื่อเวลาที่ผมหมดใจที่จะเป็นคนที่มีจิตเมตตาปรานีต่อไป
เมื่อจิตใจของผมคุกรุ่นด้วยความผิดที่เขาคนนั้นเคยกระทำมีอะไรบ้าง
เมื่อผมสนใจเพียงแต่สิ่งที่ผมต้องการได้ต้องการทำ

แล้วบ่อยครั้งผมเองก็ต้องเสียใจที่มาสำนึกได้ภายหลังว่า
สิ่งที่ผมได้ทำลงไปแล้วนั้นคือความเห็นแก่ตัวของผมจริงๆ

แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมต้องการให้พระเจ้าได้ช่วยให้ผมมีชีวิตอย่างแบบพระคริสต์
ในเวลานั้น พระองค์ได้เติมเต็มความอดทนลงในชีวิตของผม
พระองค์ช่วยให้ผมดำเนินชีวิตใต้แผนการของพระองค์
พระองค์ทรงเปิดหูของผมให้ได้ยินเสียงของปรปักษ์ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับผม

ที่มิใช่เสียงที่ทำร้ายทำลาย ที่มิใช่เสียงพยายามจะเอาชนะผมในการโต้เถียง
แต่กลับเป็นเสียงของคนๆ หนึ่งที่มีความจำเป็นต้องการในชีวิต
ที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว
ที่มีแผลเจ็บปวดในส่วนลึกของชีวิต
และปรารถนาได้รับความนุ่มนวล ความรักใคร่เข้าใจในชีวิตจากคนรอบข้าง

เมื่อเราคริสเตียนที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ทะเลาะ โต้เถียงกัน
ผมรับรองว่า เกือบทุกครั้งเราไม่ต้องการที่จะเป็นเหมือนพระคริสต์
เพราะเส้นทางชีวิตแบบพระองค์นั้นยากลำบาก
แต่นั่นเป็นวิถีทางแห่งความรักเมตตาปรานี
เป็นเส้นทางแห่งสงบศานติ
และนั่นคือวิถีทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า

ให้เราใช้พระธรรม 1โครินธ์ 13:4-7
เป็นตัวชี้วัดชีวิตคริสเตียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ถกเถียง ทะเลาะ ขัดแย้งกันว่า
ชีวิตคริสเตียนของเรา...

มีความอดทนจริงหรือไม่?
มีจิตใจที่เมตตาปรานีจริงหรือ?
จิตใจที่เมตตาปรานีได้สำแดงออกต่อ “คู่ปรปักษ์” หรือ “ฝ่ายตรงกันข้าม” อย่างไรบ้าง?
ท่านต้องการทำและดำเนินชีวิตไปตามทางที่ท่านพึงพอใจหรือไม่?
ท่านเปิดกรุรักษาความผิดความชั่วที่ฝ่ายตรงกันข้าม แล้วท่านนำมันออกมาทำร้ายทำลายเขาหรือไม่?
ท่านเต็มใจที่จะอดทนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับท่านหรือไม่?

เวลาของการโต้เถียง ขัดแย้ง และทะเลาะกัน
เป็นเวลาที่คริสเตียนจะใคร่ครวญถึงการดำเนินชีวิตตามแบบพระคริสต์
เป็นเวลาที่คริสเตียนจะอธิษฐานต่อพระเจ้า
เป็นเวลาที่คริสเตียนจะเติบโตขึ้นในชีวิตคริสเตียน
และที่แน่ๆ คือ การเติบโตขึ้นในชีวิตแบบพระคริสต์เป็นเส้นทางที่ยาวไกล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

26 มีนาคม 2555

ความรักเป็นเรื่องอะไรกันแน่:(3)

1โครินธ์ 13:4-7

ตามที่เราเคยอ่านมาแล้วใน 1โครินธ์ 13:4-7 ที่เปาโลอธิบายว่า ความรักนั้นมีคุณลักษณะ 7 ประการ และ 8 พฤติกรรมที่ไม่กระทำกันในความรัก

คุณลักษณะ 7 ประการในความรัก

ความรักนั้น....

อดทนนาน
มีใจปรานี(กระทำคุณให้, 1971)
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง(ประพฤติชอบ,1971)
ทนได้ทุกอย่าง(แม้ความผิดของผู้อื่น,1971)
เชื่ออยู่เสมอ(และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ,1971)
มีความหวัง(อยู่เสมอ)
ทรหดอดทนอยู่เสมอ(ทนต่อทุกอย่าง,1971)

พฤติกรรม 8 ประการที่ความรักไม่กระทำ

ความรัก...

ไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไหยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม(การประพฤติผิด, 1971)

ผมขอตั้งข้อสังเกตประการแรก ใน 1โครินธ์ 13:4-7 เปาโลคงมิได้ตั้งใจที่จะเขียนทฤษฎี หรือ คริสต์ศาสนศาสตร์ว่าด้วยความรัก แต่ที่แน่ๆ คือเปาโลกำลังตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ที่พร่องขาดในด้านความรัก แล้วเปาโลได้บ่งชี้ให้ชัดเจนลงไปว่า คุณลักษณะใดที่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ควรเติมเต็ม และพฤติกรรมอะไรบ้างที่ควรขจัดออกไปจากชุมชนคริสตจักรโครินธ์ ซึ่งมีความจริงอยู่มากทีเดียวว่า คำกล่าวของเปาโลตอนนี้ได้ตอบโจทย์ชีวิตของชุมชนคริสตจักรไทยในปัจจุบันด้วย

เปาโลได้ชี้ชัดลงไปว่า...

ในความรักนั้นย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าเปี่ยมด้วย “ความอดทน” และ พฤติกรรมใดๆ ที่แสดงออกมาจากรากฐานของความรักนั้นย่อมนำมาซึ่ง “คุณประโยชน์” แก่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ เพราะที่ยอมอดทนต่อกันและกันได้นั้นเพราะแต่ละคนในชุมชนคริสตจักรโครินธ์มีจิตใจที่ “เมตตาปรานี” ต่อกัน (เฉกเช่นพระคริสต์ที่ทรงมีจิตใจเมตตาปรานีต่อเราแต่ละคนที่เป็นคนบาป) ที่เปาโลกล่าวเช่นนี้ก็เป็นการตำหนิชี้ชัดว่า ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ขาดจิตใจที่เมตตาปรานีต่อกัน ดังนั้น จึงอดรนทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมของคนอื่นๆ ในชุมชนคริสตจักรโครินธ์

นอกจากการที่จิตใจของสมาชิกคริสตจักรในโครินธ์มิได้หยั่งรากลงลึกใน “ความรักเมตตาปรานี” เยี่ยงพระคริสต์แล้ว จิตใจของสมาชิกในคริสตจักรโครินธ์กลับไปหยั่งรากลงในจิตใจที่ขุ่นมัว ขมขื่น ร้อนรุ่ม ด้วยอาการหรือพฤติกรรมที่ “อิจฉา อวดตัว หยิ่งผยอง หยาบคาย เห็นแก่ตัว ฉุนเฉียว ช่างจดจำความผิด(ของคนอื่น) ชื่นชมยินดีในความอธรรมจนนำไปสู่การประพฤติผิดเป็นปรกติธรรมดา” และทั้งสิ้นนี้ก็คือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่องในชุมชนคริสตจักรโครินธ์

ข้อสังเกตประการที่สอง จากตารางคุณลักษณะชีวิตที่หยั่งรากลึกลงในจิตใจที่เมตตาปรานีนั้นนำมาซึ่งคุณลักษณะสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ต้องมีในชุมชนของผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์คือ “ความอดทน” (โปรดสังเกตว่า เปาโลเน้นย้ำคุณลักษณะสำคัญของ “ความอดทน” ในชีวิตชุมชนคริสตจักรถึง 3 ครั้งด้วยกัน) ความอดทนในชีวิตเป็นพลังควบคุม “การเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง” ของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตและชุมชนคริสตจักร ระดับแรก ความอดทนเป็น “ห้ามล้อ” ของความอิจฉา อวดตัว หยิ่งผยอง หยาบคาย เห็นแก่ตัว ฉุนเฉียว อ้างอิงความผิดของคนอื่นในอดีตเก่าเก็บเพื่อความชอบธรรมของตนจะกระทำตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น ระดับที่สอง “ความอดทน” ต่อการกระทำผิดของคนอื่น “ทนได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการกระทำผิดของผู้อื่น” (1971) ดังนั้น เปาโลย้ำอย่างชัดเจนในที่นี้ว่า ชุมชนคริสตจักรจะไม่อ้างการกระทำผิดของคนอื่นมาเป็นความชอบธรรมของตนในการกระทำผิดหรือทำสิ่งที่ไม่สมควรต่อผู้อื่น ระดับที่สาม “อดทนในทุกเรื่อง” ถ้าคิดจะตัดสินใจเป็นสาวกดำเนินชีวิตตามพระเยซูคริสต์ในแต่ละวัน เราจะต้องอดทนในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมาปะทะกับชีวิตของเรา เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ที่ถูกกล่าวร้าย เยาะเย้ย ถูกถ่มน้ำลายรด ถูกล้อเลียน สวมมงกุฎหนาม ถูกเฆี่ยน ถูกตอกและตรึงบนกางเขน การตอบสนองของพระคริสต์ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้คือ “อดทน อดทน และอดทนด้วยจิตใจที่เมตตาปราณี เพื่อกระทำคุณให้แก่คนทั้งหลายที่กระทำร้ายต่อพระองค์ คือให้เขาเหล่านั้นได้รับการยกโทษ เพื่อชีวิตจะมิได้พินาศ แต่จะพบกับคุณค่าแห่งชีวิตนิรันดร์”

ข้อสังเกตประการที่สาม เปาโลเขียนพระธรรมตอนนี้ที่แสดงถึงภาพลักษณ์หรือคุณลักษณะของชีวิตชุมชนคริสตจักรตามภาพลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ เปาโลเรียกร้องให้สมาชิกคริสตจักรโครินธ์ให้สำรวจและรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนใหม่ตามแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่สำแดงให้เห็นเด่นชัด ตามที่เปาโลเคยกล่าวในพระธรรมฟีลิปปี บทที่ 2 ซึ่งในพระธรรม 1โครินธ์ 13:4-7 ถ้าเราเอาคำว่า “พระคริสต์” ไปแทนที่คำว่า “ความรัก” เราจะเห็นความหมายที่กล่าวนี้อย่างชัดเจน

พระคริสต์นั้นก็อดทนนานและมีใจปรานี(และกระทำคุณให้, 1971)
พระคริสต์ไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไม่หยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม(กระประพฤติผิด, 1971)
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง(การประพฤติชอบ, 1971)
พระคริสต์ทนได้ทุกอย่าง(แม้ความผิดของผู้อื่น, 1971)
เชื่ออยู่เสมอ(และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ, 1971)
มีความหวัง
และ(มี)ความทรหดอดทนอยู่เสมอ” (ทนต่อทุกอย่าง, 1971)

ถ้าพูดอย่างฟันธงก็คือ ให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนดำเนินชีวิตตามแบบเยี่ยงพระคริสต์

บางท่านคงพูดในใจว่า ... พูดง่ายแต่ทำยากครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

23 มีนาคม 2555

ความรักเป็นเรื่องอะไรกันแน่: (2) เก่งแค่ไหนแต่ขาดความรักเมตตา ก็ไร้ค่า

พระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 13 เป็นการกล่าวเตือนสมาชิกคริสตจักรบางกลุ่มที่กำลังตื่นเต้นกับการที่ตนได้รับของประทานพิเศษฝ่ายจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพูดภาษาแปลกๆ คงไม่ใช่ความผิดอะไรหรอกที่ตื่นเต้นยินดีกับการพูดภาษาแปลกๆ แต่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในคริสตจักรก็เพราะทัศนคติของคนที่พูดภาษาแปลกๆ อวดตนเองว่าได้รับของประทานพิเศษแล้วมองคริสเตียนคนอื่นในคริสตจักรว่าเป็นคริสเตียนต่ำต้อยด้อยค่ากว่าหรือเป็นคริสเตียนอีกชนชั้นหนึ่งที่ไม่ได้รับของประทานฝ่ายจิตวิญญาณ ทำให้คริสเตียนกลุ่มที่ไม่ได้พูดภาษาแปลกๆ เกิดความสงสัยในคุณค่าความเป็นคริสเตียนของตนเอง

แม้แต่ของประทานฝ่ายพระวิญญาณก็ทำให้คริสตจักรเกิดการแตกแยก ขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวกได้ ถ้ามิได้มีการใช้ของพระประทานเหล่านั้นด้วยความรักที่มาจากจิตใจเมตตากรุณา เสียสละ มุ่งที่จะแบ่งปันให้ชีวิตของตนแก่คนอื่นและชุมชนด้วยความรักเมตตากรุณาเฉกเช่นแบบพระคริสต์

เปาโลพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสมาชิกคริสตจักรในโครินธ์เกี่ยวกับพระราชกิจของพระวิญญาณ โดยเฉพาะเรื่องของประทานฝ่ายพระวิญญาณ เปาโลย้ำเตือนว่า ของประทานฝ่ายจิตวิญญาณที่ประทานให้นั้นมิใช่เพื่อผลประโยชน์(ความเด่นดังมีชื่อเสียง)ของคนใดคนหนึ่ง แต่ที่พระวิญญาณประทานของประทานพิเศษต่างๆ นั้นเพื่อประโยชน์สำหรับทั้งชุมชนผู้เชื่อ ผู้ที่ได้สำแดงของประทานฝ่ายพระวิญญาณไม่ว่าจะด้วยการเผยพระวจนะ การรักษาโรค หรือ การพูดภาษาแปลกๆ ที่กระทำเช่นนั้นได้ก็เพราะเป็นพระราชกิจจากพระวิญญาณเพื่อให้เกิดสิ่งดีร่วมกันในชุมชนคริสตจักร ดังนั้น การแสดงออกด้านของประทานฝ่ายพระวิญญาณจึงมิได้มีไว้เพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งแสดงว่าตนมีความสามารถหรือพลังพิเศษ หรือ เป็นคนที่พระเจ้าใช้เป็นพิเศษเหนือกว่าคนอื่น แต่ตรงกันข้ามกลับให้ใช้ของประทานจากพระวิญญาณเพื่อรับใช้คนอื่นรอบข้างในพระนามของพระเยซูคริสต์

จากนั้นเปาโลได้เปรียบเทียบชีวิตคริสตจักรเป็นเหมือนร่างกายของคนเรา ประเด็นหลักที่เปาโลต้องการอธิบายให้สมาชิกคริสตจักรเข้าใจว่า ชีวิตคริสตจักรประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน และอวัยวะแต่ละส่วนต่างมีคุณค่าในตัวของอวัยวะนั้น อวัยวะแต่ละส่วนมีความสำคัญต่อร่างกายทั้งร่างกาย และเปาโลสรุปว่าคริสตจักรคือพระวรกายของพระคริสต์ แล้วเอาเรื่องนี้ไปเชื่อมต่อกับเรื่องของประทานฝ่ายพระวิญญาณที่มีในสมาชิกแต่ละคนในคริสตจักรที่แตกต่างกันออกไป แล้วท่านทิ้งท้ายในบทที่ 12 ว่า “แต่ท่านทั้งหลายจงขวนขวายของประทานต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่า และข้าพเจ้าจะชี้ให้เห็นถึงทางที่ดีที่สุด(ของประทานฝ่ายจิตวิญญาณ)แก่ท่านทั้งหลาย” (ข้อ 31)

1แม้ข้าพเจ้าจะพูดภาษาแปลกๆ ที่เป็นภาษามนุษย์หรือทูตสวรรค์ได้
แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าเป็นเหมือนฆ้องหรือฉาบที่กำลังส่งเสียง
2แม้ข้าพเจ้าจะเผยพระวจนะได้ จะรู้ความล้ำลึกทุกอย่างและมีความรู้ทั้งสิ้น
และแม้จะมีความเชื่อมากยิ่งที่จะย้ายภูเขาไปได้
แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไรเลย
3แม้ข้าพเจ้าจะบริจาคสิ่งของของข้าพเจ้าทุกอย่างหรือยอมให้เอาตัวไปเผาไฟ
แต่ไม่มีความรัก ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับข้าพเจ้า
4ความรักนั้นก็อดทนนานและมีใจปรานี ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง
5ไม่หยาบคาย ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด
6ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม แต่ชื่นชมยินดีในความจริง
7ความรักทนได้ทุกอย่าง เชื่ออยู่เสมอ มีความหวังและความทรหดอดทนอยู่เสมอ
8ความรักไม่มีวันเสื่อมสูญ
แม้การเผยพระวจนะก็จะเสื่อมสลายไป
แม้การพูดภาษาแปลกๆ ก็จะเลิกพูดกัน แม้วิชาความรู้ก็จะเสื่อมสลายไป
9เพราะว่าเรารู้เพียงบางส่วน และก็เผยพระวจนะเพียงบางส่วน
10แต่เมื่อความสมบูรณ์มาถึงแล้ว ที่เป็นเพียงบางส่วนนั้นก็จะสูญไป
11เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าพูดอย่างเด็ก คิดอย่างเด็ก หาเหตุผลอย่างเด็ก
แต่เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าก็เลิกอาการของเด็ก
12เพราะว่าเวลานี้เราเห็นสลัวๆ เหมือนดูในกระจก แต่ในเวลานั้นจะเห็นแบบหน้าต่อหน้า
เวลานี้ข้าพเจ้ารู้เพียงบางส่วน แต่เวลานั้นข้าพเจ้าจะรู้แจ้งเหมือนพระองค์ทรงรู้จักข้าพเจ้า
13และบัดนี้ ทั้งสามสิ่งนี้ยังดำรงอยู่ คือความเชื่อ ความหวัง และความรัก แต่ความรักนั้นใหญ่ที่สุดในสามสิ่งนี้
(1โครินธ์ 13:1-13 ฉบับมาตรฐาน)

ในข้อแรก เปาโลชี้ถึงการพูดภาษาแปลกๆ ภาษาประหลาดๆ ต่อให้เป็นภาษามนุษย์ หรือภาษาสวรรค์ ถ้าผู้พูดไม่มี “ความรัก” เปาโลกกล่าวว่าการพูดภาษาแปลกๆ นั้นก็เป็นการส่งเสียงที่หนวกหูไร้ความหมาย ถ้าเป็นการเล่นเครื่องดนตรีก็เป็นการเล่นที่ไม่เป็นเพลง เสียงเช่นนี้มิได้ให้คุณประโยชน์อะไรแก่ผู้ได้ยินได้ฟังเลย แต่กลับเป็นเสียงที่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่ผู้ได้ยินมากกว่า

จากนั้นในข้อที่ 2 เปาโลกล่าวว่า “แม้ข้าพเจ้าจะเผยพระวจนะได้ จะรู้ความล้ำลึกทุกอย่างและมีความรู้ทั้งสิ้น และแม้จะมีความเชื่อมากยิ่งที่จะย้ายภูเขาไปได้ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีค่าอะไรเลย” สมาชิกคริสตจักรบางคนชอบอวดว่าตนมีความรู้เรื่องพระคัมภีร์ เรื่องความเชื่อดีมากกว่าคนอื่น แต่มักเป็นการอวดอ้างความรู้ความชาญฉลาดของตนเอง ความรู้เหล่านี้ย่อมมีวันเสื่อมสูญ และที่สำคัญ ความรู้เช่นนี้ที่ปราศจากความรักก็หาคุณค่าอะไรมิได้

วันนี้ เราอาจจะจะอ่าน 1โครินธ์ บทที่ 13 ให้เป็นเรื่องของเราเองได้ว่า

“แม้ข้าพเจ้าจะเป็นฝ่ายที่ถูก ความคิดของข้าพเจ้าเฉลียวฉลาดเฉียบคม การวางแผนต่อสู้ถกเถียงของฉันชนะทุกครั้งเสมอไป แต่ไม่มีความรัก สิ่งที่ดูฉลาด ถูกต้อง และมีชัยก็ไม่มีค่าอะไร”

“แม้ข้าพเจ้าจะรู้ซึ้งถึงความหมายของพระคัมภีร์ทุกตอน แม้ข้าพเจ้าจะทุ่มเทศึกษาอย่างหนัก ขุดค้นรากศัพท์ทั้งภาษากรีกและฮีบรู และข้าพเจ้าได้ค้นพบความหมายของพระคัมภีร์ที่เที่ยงแท้ถูกต้อง แต่ข้าพเจ้าไม่มีความรัก สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีค่าประโยชน์อันใด”

“แม้ข้าพเจ้าจะศึกษาจนได้ปริญญาเอกทางศาสนศาสตร์ ได้ดำรงตำแหน่งศาสนาจารย์ ครูศาสนา ผู้ปกครองคริสตจักร ได้มีตำแหน่งในอาชีพการงานระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร นายก อธิการ ผู้อำนวยการ และ ฯลฯ แต่ไม่มีความรัก ข้าพเจ้าก็ไม่มีความสำคัญอะไรเลย กลับกลายเป็นคนไร้ค่า”

ผมว่าอาจารย์เปาโลท่านพูดแรงแต่ตรงไปตรงมานะครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

21 มีนาคม 2555

ความรักเป็นเรื่องอะไรกันแน่: (1) รักบนความเป็นจริง  มิใช่รักที่ฝันหวาน

ที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมในงานแต่งงานก็หลายครั้ง คู่บ่าวสาวได้จัดงานแต่งงานแบบหวานชื่นตั้งแต่แบบการ์ดแต่งงาน ชุดแต่งงาน ตลอดจนพิธี และงานเลี้ยงแต่งงาน แต่ก็พบหลายคู่ที่แต่งงานอย่างหวานชื่นไปได้ไม่เพียงเท่าใด กลับจบลงด้วยความขมขื่นจากชีวิตคู่ ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยนี้ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่น่าเศร้าและเจ็บปวด

สิ่งหนึ่งทีผมสังเกตเห็นทั้งในชีวิตคู่และชีวิตการเป็นสมาชิกในคริสตจักร ที่หลายครั้งคนเราติดยึดกับภาพอุดมคติมากกว่าภาพของความเป็นจริงในชีวิต เมือตัดสินใจแต่งงานบ่าวสาวมักฝันหวานคิดถึงชีวิตคู่ในอุดมคติ มากกว่าที่จะคิดถึงชีวิตบนความเป็นจริง เมื่อตัดสินใจมาเป็นสมาชิกในคริสตจักรมักฝันหวานว่าจะได้มาอยู่ในคริสตจักรที่อบอุ่น มีคนเอาใจใส่ห่วงใย เปี่ยมด้วยรักและเอื้อเฟื้อ และตนเองเป็นคนที่มีคุณค่าในคริสตจักรแห่งนั้น

เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนศิษยาภิบาลท่านหนึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์ของท่านให้ผมฟังว่า ในคริสตจักรแห่งหนึ่งที่ท่านไปรับใช้ ท่านได้ทำงานกับคณะธรรมกิจคริสตจักรที่ดูเหมือนไม่เห็นด้วยกัน มีแต่ความขัดแย้ง จนธรรมกิจที่เป็นสตรีท่านหนึ่งพูดโพล่งอย่างฉุนเฉียวออกมาว่า “มีอะไรผิดปกติในคณะธรรมกิจของเราแน่! ดิฉันคิดว่า เราน่าจะทำงานอย่างคนในครอบครัวเดียวกันมิใช่หรือ?”

ผมคิดในใจว่า ใช่ครับ และนี่คือปมของปัญหา! ผมขอถามหน่อยเถิด มีสักกี่ครอบครัวที่คุณเห็นว่าไม่เคยมีการขัดแย้งรุนแรงมาก่อน? ธรรมกิจสตรีท่านนี้เผชิญหน้ากับความเป็นจริงในคริสตจักรซึ่งแตกต่างอย่างมากจากคริสตจักรในอุดมคติของเธอ เมื่อเธอต้องตกอยู่ในสภาพความจริงที่ขัดแย้งกับความคิดคาดหวังตามอุดมคติ เธอต้องเลือกว่าเธอจะยังอยู่เผชิญหน้ากับความเป็นจริง/ชีวิตจริงในคริสตจักรแห่งนี้ที่มีแต่ความยุ่งเหยิงสับสน หรือเธอจะเลือกออกจากคริสตจักรนี้แล้วแสวงหาคริสตจักรที่มี “ทุ่งหญ้าที่เขียวขจี” ที่เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์สำหรับจิตวิญญาณของเธอตามอุดมคติ ความฝันคริสตจักรในอุดมคติของเธอจะได้รับการทนุถนอมจนถึงวันที่เธอพบและมีปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริง ชีวิตจริงในคริสตจักรแห่งใหม่

สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชมในพระคัมภีร์ของเราคือ เรื่องราวชีวิตในพระคัมภีร์พูดถึงเรื่องราวความจริงของชีวิต เมื่อเราอ่านพระคัมภีร์เราจะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าชีวิตจริงมันเป็นเช่นไร หลายคนฝันหวานอยากให้คริสตจักรของตนมีชีวิตเฉกเช่นคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกในพระคัมภีร์ ถ้าคาดฝันเช่นนี้คนๆนั้นคงต้องกลับไปอ่านเรื่องราวคริสตจักรในพระคัมภีร์ใหม่อีกสักครั้ง แล้วจะพบว่า พระคัมภีร์บันทึกถึงคริสตจักรตามความเป็นจริงที่เกิดความขัดแย้งและทะเลาะกันในคริสตจักร

แต่ในเวลาเดียวกัน คริสตจักรในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ก็บันทึกถึงเส้นทางบนความเป็นจริงในการแก้ไขและบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักร พระคัมภีร์เต็มไปด้วยคำสอนและชี้แนะถึงวิธีการอย่างชัดเจน เฉพาะเจาะจง และได้ให้หลักการที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงสับสนจากความขัดแย้งในคริสตจักร และหลักการที่สำคัญที่สุดที่พระคัมภีร์ให้แก่เราในการแก้ไขจัดการความสับสนยุ่งเหยิงจากความขัดแย้งในคริสคริสตจักรคือหลักการแห่งความรัก

อย่างที่เราท่านทราบดีกันอยู่แล้วว่า ใน 1โครินธ์ บทที่ 13 เป็นพระคัมภีร์บทที่ว่าด้วยเรื่องความรัก ในพระธรรมบทนี้ใช้คำว่า อากาเป้ (agape) เป็นคำหนึ่งในหลายคำที่มีความหมายถึงความรัก แต่ อากาเป้ เป็นความรักในลักษณะที่ ให้และเสียสละ ซึ่งใช้ถึง 9 ครั้งในพระธรรมบทนี้ เป็นการใช้คำว่า อากาเป้ มากกว่าที่ใช้ในพระกิตติคุณทั้งสี่รวมกันเสียอีก นอกจากในพระธรรม 1ยอห์น บทที่ 4 ที่ใช้คำว่า อากาเป้ บ่อยครั้ง แน่นอนครับถ้าเราต้องการที่จะรู้จักคำว่า “รัก” เราต้องศึกษาจากพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 13

สิ่งที่เราพบบ่อยครั้งที่มีการใช้พระธรรมตอนนี้ในพิธีการแต่งงาน (และบางครั้งก็ใช้จากพระธรรมโคโลสี 3:12-17) ผมถามในใจว่า เมื่อศาสนาจารย์ประกอบพิธีแต่งงานใช้พระธรรม 1โครินธ์ในพิธีแต่งงาน คู่บ่าวสาวได้ให้ความสนใจอย่างแท้จริงในพระธรรมตอนนี้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอนครับ พระธรรมตอนนี้พูดถึงเรื่องความรัก แต่ความรักตามบริบทในพระธรรมตอนนี้มิใช่ความรักแบบฝันหวานชื่นฉ่ำ แต่แท้จริงแล้วพระธรรมตอนนี้กำลังพูดถึงความรักที่ตรงกันข้ามกับความรักที่ฝันหวานหรือความรักแต่ลมปาก แต่กำลังพูดถึงความรักในความเป็นจริง ความรักในชีวิตจริง กำลังพูดถึงความรักที่ติดดิน ในพระธรรม 1โครินธ์บทนี้มิได้พูดถึงความรักที่ที่มีความสุข อัศจรรย์ เต็มด้วยความชื่นมื่น แต่ถ้าเรามีโอกาสศึกษาลงลึกอย่างถ่องแท้ในพระธรรมบทนี้ เราจะเห็นว่า ความรักเป็น เรื่องหนัก เรื่องยาก เป็นยาขมหม้อใหญ่ ความรักไม่ใช่เรื่องสนุกสุขสันติเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสำหรับส่วนตัวแล้วเห็นควรที่จะใช้พระธรรมตอนนี้ในงานแต่งงาน เพราะเป็นการมองทะลุผ่านความรักแบบฝันหวาน ความรักที่พึ่งอิงอยู่กับความรู้สึก แต่พูดถึงความรักในชีวิตจริงนั้นเป็นเช่นไร

เปาโลกล่าวว่า
“ความรักนั้นก็อดทนนาน และ
มีใจปราณี
ความรักไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไม่หยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง
ความรักทนได้ทุกอย่าง
เชื่ออยู่เสมอ
มีความหวัง และ
มีความทรหดอดทนอยู่เสมอ...” (1โครินธ์ 13:4-7 ฉบับมาตรฐาน)

แน่นอนครับ พระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 13 เปาโลมิได้เขียนขึ้นเพื่อใช้ในงานแต่งงาน แต่ท่านเขียนถึงสมาชิกคริสตจักรโครินธ์ที่กำลังถกเถียงเสียงดังท่ามกลางความขัดแย้งและการเอาแพ้เอาชนะกัน ใช่แล้วครับเปาโลเขียนพระธรรมตอนนี้สำหรับคนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง ทะเลาะ ทุ่มถียง คนที่กำลังคิดแผนวางอุบายเอาแพ้เอาชนะกันในคริสตจักรครับ ท่านกำลังพูดถึงความรักท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สามารถที่จะรัก และนี่คือสถานการณ์จริงที่ต้องการความรักในการเยียวยาบาดแผลชีวิตคริสเตียน ชีวิตคริสตจักร และชีวิตองค์กรคริสเตียน

ถ้าคริสเตียนมีคุณลักษณะ 15 ประการตามข้างบนนี้ ท่านคิดว่าคริสเตียนยังจะขัดแย้ง โต้เถียง และทะเลาะกันต่อไปหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่ 081-2894499

19 มีนาคม 2555

วิธีที่ไม่แก้ปัญหา: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(2)

1เมื่อมีใครในพวกท่านเป็นความกัน เขากล้าไปรับการพิพากษาจากคนไม่ชอบธรรม แทนที่จะรับจากธรรมิกชนหรือ? 2ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าธรรมิกชนจะพิพากษาโลก? และถ้าพวกท่านจะพิพากษาโลก ท่านไม่เหมาะจะพิพากษาเรื่องเล็กน้อยหรือ? 3พวกท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเราจะพิพากษาพวกทูตสวรรค์? ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งควรจะพิพากษาเรื่องของชีวิตนี้ 4เมื่อเป็นความกันในเรื่องชีวิตนี้ พวกท่านจะตั้งคนที่คริสตจักรไม่ยอมรับให้ตัดสินหรือ? 5ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้ท่านละอายใจ ในพวกท่านไม่มีสักคนหนึ่งที่มีสติปัญญาสามารถวินิจฉัยเรื่องระหว่างพี่น้องหรือ? 6แต่พี่น้องกับพี่น้องต้องถูกพิพากษาต่อหน้าคนที่ไม่มีความเชื่ออย่างนั้นหรือ? 7อันที่จริง เมื่อไปเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า? ทำไมท่านจึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า? 8แต่พวกท่านกลับทำร้ายกัน และโกงกันแม้กระทั่งพี่น้อง (1โครินธ์ 6:1-8 ฉบับมาตรฐาน)

ครั้งที่แล้ว เราได้ร่วมกันพิจารณาว่า คริสเตียนไม่ควรแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการนำเรื่องไปขึ้นโรงขึ้นศาลให้ผู้ที่มิได้มีความเชื่อในพระเจ้าเป็นผู้ตัดสินคดีความขัดแย้งของคริสเตียน

ในยุคนี้คริสเตียนดำเนินชีวิตไปตามกระแสสังคมวัฒนธรรมมากกว่าดำเนินชีวิตไปตามพลังชีวิตแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เดี๋ยวนี้มีอะไรที่ขัดแย้งกัน หรือ ขัดผลประโยชน์ ขัดอำนาจกันมักนำเรื่องเหล่านั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล และหลายต่อหลายครั้งเรื่องที่ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมักเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยไม่เป็นสาระ และคนในสมัยนี้มักไวต่อความรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนเสียเปรียบ คนอื่นได้เปรียบ แล้วได้รับการหล่อหลอมว่าเมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เรายอมรับไม่ได้ และถูกสอนให้ทำทุกวิถีทางเพื่อเราจะอยู่ในฐานะที่ไม่เสียเปรียบ ใช้หรือปกป้องสิทธิส่วนบุคคล และช่วงชิงความได้เปรียบ และนั่นทำให้บ่อยครั้งที่คริสเตียนด้วยกันก็ลงเอยด้วยการฟ้องร้องกันที่ศาล

เมื่อมีความขัดแย้งและทะเลาะกันในชุมชนคริสเตียน แล้วมีผู้เสนอว่าเราควรกระทำตามพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 คริสเตียนบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย บางรายถึงกับไม่พอใจ บางคนอาจจะคิดในใจว่า วิธีการนี้มันไม่เถรตรง หรือ ขวานผ่าซากมากไปหน่อยไหม?

ขออนุญาตอธิบายว่า มิได้หมายความว่าคริสเตียนไม่ควรฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลในทุกกรณี สำหรับผมแล้วมีกรณีที่จะต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดขืนต่อพระบัญญัติของพระเจ้าแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น พระ หรือ ผู้นำศาสนากระทำผิดต่อการล่วงละเมิดทางเพศ การฉ้อฉลยักยอกทรัพย์สินเงินทอง การหลอกลวงให้คนถวายเงินแล้วตนเองนำไปเป็นของตน และ ฯลฯ เป็นต้น ในลักษณะเช่นนี้ถ้าสามารถตักเตือน แก้ไข ลงโทษกันในคริสตจักรได้ก็ควรกระทำก่อน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ เพราะเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองสังคมอาจจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายเพราะความถูกต้องเหมาะสมต่อสังคม

แต่คริสเตียนจะไม่ใช้กระบวนการฟ้องร้องเอาความกันบนศาลเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคริสเตียนด้วยกัน อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ไขความขัดแย้งด้วยการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลขอเป็นวิธีสุดท้ายเมื่อพยายามวิธีอื่นๆ ทั้งหลายแล้วไม่เกิดผล

ยิ่งกว่านั้นในฐานะคริสเตียน เราควรมีจุดยืนจุดเชื่อว่าบางครั้งจำเป็นที่เราจะยอม “เสีย” มากกว่าที่จะฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ผมมีเพื่อนคริสเตียนคนหนึ่งเขาถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากองค์กรที่เป็นคริสเตียน ซึ่งจากเรื่องราวและเอกสารต่างๆ เขาสามารถฟ้องร้องศาลแรงงานและศาลแพ่งเพื่อขอความเป็นธรรมและเรียกค่าเสียหาย และเขามีโอกาสชนะในคดีความนี้อย่างสูง แต่ในที่สุดเขาตัดสินใจไม่ใช่วิธีการฟ้องร้องแม้จะมีแนวโน้มที่จะชนะก็ตาม เพราะเขายึดมั่นตามหลักการในพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 อย่างจริงจัง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ เขาไม่ต้องการทำร้ายองค์กรคริสเตียนแห่งนั้นที่เขาร่วมสร้างมากับมือให้ได้รับบาดแผลเพราะการสู้กันเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องชอบธรรมของตนเอง ถึงแม้ว่า คณะกรรมการอำนวยการขององค์กรนั้นสร้างความเจ็บปวดมากมายแก่เขาก็ตาม และนี่คือการกระทำที่เสียสละตามแบบอย่างของพระคริสต์

จากตัวอย่างเรื่องของเพื่อนคนนี้ บ่งชี้ให้เห็นถึงการที่เราดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระคริสต์ ตามที่พระองค์ทรงสอนว่า เมื่อเราถูกตบหน้าให้เราหันแก้มอีกข้างหนึ่งให้ ถ้าเราถูกเกณฑ์ให้แบกของไป 1 กิโลก็ให้แบกไป 2 กิโลเมตร (มัทธิว 5:39-41) พระคริสต์ทรงสำแดงแบบอย่างในการสละชีวิตของพระองค์เองด้วยการยอมสิ้นพระชนม์บนกางเขน คำสอนและแบบอย่างชีวิตเช่นนี้ของพระคริสต์ช่างสวนทางกับความปรารถนาในชีวิตของคริสเตียนเราเหลือเกิน เพราะเราถูกครอบงำจนปรารถนาทำตามกระแสวัฒนธรรมแห่งการแก้แค้น แก้เผ็ด เอาชนะให้ได้ ต้องอยู่เหนือกว่า แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนให้เราทั้งด้วยวจนะและแบบอย่างชีวิต ว่าให้เรายอม ให้ยอมเสียชีวิตของเราเพื่อเราจะได้ชีวิตที่แท้จริง ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตที่ครบบริบูรณ์

เมื่อเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้งทะเลาะกับคริสเตียนคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งในอาชีพการงาน หรือความขัดแย้งในชีวิตและพันธกิจคริสตจักร วิธีที่ไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวคือ การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล (แต่นี่ผมไม่ได้หมายความว่า นักกฎหมาย ทนายความไม่มีประโยชน์สำหรับคริสตจักร แต่ทนายความคริสเตียนที่ดีเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างมากที่จะให้คู่กรณีที่ขัดแย้งกันสามารถหาทางออกที่ดีโดยไม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และผมรู้จักทนายความหลายท่านที่ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี)

การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมิใช่ทางเลือกแรก ที่สอง หรือ ทางเลือกที่สาม สำหรับเราที่เป็นคริสเตียน เพราะชุมชนคริสตจักรเป็นผู้ที่จะทำหน้าที่ให้สิ่งที่ถูกหรือผิดสามารถเข้าใจและปรองดองกันบนรากฐานแห่งความรักเมตตาและการให้อภัยตามแบบอย่างของพระคริสต์ แต่ถ้าคริสตจักรละเลย หรือ มิได้ยืนหยัดบนจุดยืนนี้ย่อมเปิดช่องทางให้คริสเตียนฟ้องร้องคริสเตียน และในที่สุดคริสเตียนต้องไปให้คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าเป็นผู้ตัดสินผิดถูกให้คริสเตียน ตัดสินความขัดแย้งตามกฎหมายแต่ขาดรากฐานตามความเชื่อศรัทธา และจุดยืนบนพระกิตติคุณของพระคริสต์

ก่อนที่เราจะไปแจ้งความ หรือ ไปปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความเพื่อนำเรื่องความขัดแย้งขึ้นสู่ศาล เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษากับพระเจ้าว่า พระองค์ประสงค์ให้เราฟ้องร้อง หรือ ให้ยอม “ที่จะเสีย” ผมรู้ว่าความคิดเห็นเช่นนี้มันดูแปลก แต่ถ้าดูตามคำสอนใน 1โครินธ์ บทที่ 6 และคำสอนและตัวอย่างชีวิตของพระคริสต์ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทูลถามพระเจ้าว่า พระองค์ต้องการให้เราสู้ หรือยอมที่จะไม่สู้และดูเหมือนว่าเป็นผู้แพ้ แน่นอนว่าถ้าเราเลือกตามที่พระเจ้าทรงชี้นำ บางครั้งเราจะต้องยอมสูญเสียชื่อเสียง ความพึงพอใจของเรา ใช่ครับเราอาจจะต้องชะงักในความก้าวหน้า หรือ สูญเสียด้านทรัพย์สินเงินทองและเรื่องอื่นๆ แล้วเราจะได้รับผลอย่างไร? คริสตจักรของพระเยซูคริสต์จะได้อะไร? แน่นอนครับ จะเป็นการคุ้มค่าอย่างยิ่งที่เรายอมสูญเสียเช่นนี้ เพราะเรามิได้ปกป้องรักษาตนเอง แต่เราปกป้องคุ้มครององค์กรคริสเตียน และ คริสตจักรไว้ได้ด้วย

ครั้งก่อนเราพูดคุยกันถึงเรื่องของศิษยาภิบาลนามสมมติว่า บารนาบัส ถูกผู้ปกครองคริสตจักรฟ้องร้องต่อศาลที่เขาเปลี่ยนแปลงวิธีการในการนมัสการของพระเจ้าในคริสตจักร เมื่อบารนาบัสรับทราบถูกฟ้องร้องเขามิได้ไปปรึกษาว่าจ้างทนายความต่อสู้คดี แต่เขากลับโทรศัพท์หาผู้ปกครองคริสตจักรท่านนั้นและบอกว่า เขาไม่ต้องการที่จะตอบโต้สู้ในเรื่องนี้ “เพราะผมเป็นพี่น้องในพระคริสต์ของท่าน ให้เราหาทางออกในเรื่องนี้ตามวิถีทางของพระเจ้า” แต่เมื่อผู้ปกครองคริสตจักรท่านนั้นปฏิเสธ บารนาบัสไปปรึกษากับผู้ปกครองคริสตจักรบางท่านเพื่อไปช่วยพูดคุยกับผู้ปกครองที่ฟ้องร้องตน ในการไปพูดคุยกันครั้งนั้น ผู้ปกครองที่ไปเจรจาได้อ้างจุดยืนตามพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 และขอร้องให้ผู้ปกครองท่านนั้นกระทำตามแบบอย่างของพระคริสต์ และพวกผู้ปกครองพร้อมเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดการคืนดีขึ้น ในที่สุดผู้ปกครองท่านนั้นยอมถอนฟ้อง ถึงแม้ว่าบารนาบัสและผู้ปกครองท่านนั้นจะมีความคิดเห็นการนมัสการที่ไม่เหมือนกัน แต่เขาทั้งสองสามารถอยู่ด้วยกันในคริสตจักรเพราะต่างก็เป็นสาวกผู้ติดตามพระคริสต์โดยไม่ต้องใช้การฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลในการตัดสินความขัดแย้ง

ส่วนมากที่เราท่านรู้กันเรื่องความขัดแย้งมักไม่ได้จบลงอย่างหวานชื่นเช่นนี้ บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองในหลายคริสตจักรก็ยังมีความคิดที่จะเอาแพ้เอาชนะในคริสตจักร เมื่อก้าวไปแล้ว...ถอยไม่ได้จะเสียหน้า คริสเตียนจึงกลายเป็นผู้ที่ล้มเหลวในการกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า

เมื่อเกิดความขัดแย้งในคริสตจักรหรือในองค์กรคริสเตียน สิ่งแรกที่เราต้องยึดปฏิบัติคือเราจะกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า เราพยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ไขจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการในคริสตจักรของเรา แต่ถ้าการพูดคุยเจรจาประสบความล้มเหลว คงมีช่วงที่พระเจ้าจะทรงเรียกให้เรายอม “เสีย” และสละตนเอง เพื่อเราจะได้ชุมชนคริสตจักรที่เป็นแผ่นดินของพระเจ้า คือการที่มีชีวิตอยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า และความเจริญเข้มแข็งแห่งจิตวิญญาณของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

16 มีนาคม 2555

วิธีที่ไม่แก้ปัญหา: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(1)

ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งในภาษาอังกฤษที่เล่าถึงศิษยาภิบาลท่านหนึ่ง ผมขอเรียกชื่อของท่านว่าบารนาบัส(นามสมมติ) เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ถ่อม จริงใจ เป็นผู้รับใช้ที่เอาใจใส่และทุ่มเทคนหนึ่ง ผู้รับใช้ท่านนี้เติบโตมาในคริสตจักรอิแวนเจอริเคิล แต่ท่านก็ได้รับเลือกให้มาเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในอเมริกา ท่านพยายามที่จะพัฒนาการนมัสการพระเจ้าให้มีชีวิตชีวาตามประสบการณ์และวัฒนธรรมที่ตนได้รับการหล่อหลอมฟูมฟักมา เพื่อผู้เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าจะได้สัมผัสกับความรักและการเอาใจใส่ของพระเจ้าในการนมัสการร่วมกัน ดังนั้น ท่านเริ่มนำเอาเพลงสรรเสริญที่ไม่ใช่เพลงนมัสการที่สมาชิกคริสตจักรคุ้นชินมาใช้ร้องสรรเสริญพระเจ้าในการนมัสการ ท่านเริ่มพัฒนาดนตรีที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้าที่เคยมีแต่ออร์แกนให้เป็นเครื่องดนตรีที่อนุชนนิยมในสมัยนี้ นอกจากนั้นแล้วอาจารย์บารนาบัสยังเชิญชวนและเปิดโอกาสให้แต่ละคนออกเสียงอธิษฐานพร้อมๆ กันในการนมัสการ ก่อนที่จะมีคนหนึ่งนำในการอธิษฐานอย่างที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำ ปรากฏว่ามีผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านรู้สึกไม่ชอบและไม่สบายใจ เหตุการณ์นี้ถูกนำเข้าในการประชุมของคณะธรรมกิจคริสตจักร ผู้ปกครอง 2-3 ท่านนั้นได้ตำหนิกล่าวว่าบารนาบัสอย่างรุนแรง ด้วยท่าทางที่ไม่ค่อยให้ความเคารพต่อศิษยาภิบาลของตนสักเท่าใดนัก แต่ในการประชุมธรรมกิจครั้งนั้นได้มีมติให้ทดลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในการนมัสการพระเจ้าต่อไป และถ้าจำเป็นก็จะมีการปรับแก้เพื่อความเหมาะสมกับคริสตจักร มติของธรรมกิจครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านนั้น

หลังจากนั้น 2 วัน เมื่อบารนาบัสนั่งลงทำงานในสำนักงานของคริสตจักร ท่านก็พบเอกสารจากสำนักงานทนายความ เมื่ออ่านรายละเอียดในจดหมายทำให้บารนาบัสเครียดและไม่สบายใจอย่างยิ่ง เขาพบว่าหนึ่งในผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านนั้นได้ฟ้องต่อศาลเพราะการเปลี่ยนวิธีการนมัสการพระเจ้าของบารนาบัสโดยมิได้ปรึกษาคณะธรรมกิจและสมาชิกก่อน และการนมัสการด้วยวิธีที่ไม่คุ้นชินเป็นการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและสมาธิในการนมัสการพระเจ้า บารนาบัสไม่เคยคิดเลยว่าตนจะถูกฟ้องร้องในเรื่องการทำพันธกิจการนมัสการ (ผมอ่านเรื่องนี้ก็ยังคงประหลาดใจในพฤติกรรมของผู้ปกครองคริสตจักร แต่ก็คิดถึงคำพูดของเพื่อนคนไทยท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ฝรั่งที่นี่ไม่พอใจอะไรก็จะฟ้องร้องเอาความกันได้เกือบทุกเรื่อง)

แต่คริสตจักรในประเทศไทยเดี๋ยวนี้ก็ไม่น้อยหน้าคริสตจักรในอเมริกา ผู้นำคริสตจักรฟ้องร้องกันอย่างว่าเล่น ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่าคริสตจักรไม่ควรขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสตจักรกับกฎหมายบ้านเมือง หรือเราถูกคนภายนอกฟ้องร้องเราก็จำเป็นพิจารณาดำเนินการรับผิดชอบอย่างเหมาะตามกฎหมายในฐานะคริสเตียน แต่ถ้าเป็นเรื่องความไม่พอใจ ความขัดแย้ง หรือ แม้แต่การขัดผลประโยชน์ หรือ สิทธิ อำนาจในคริสตจักร ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่คริสเตียนควรเจรจาตกลงกันเองบนความเป็นชุมชนที่เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เดียวกัน พึงสร้างความเข้าใจกันและกันบนรากฐานของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ทำไมเราต้องเอาความขัดแย้ง การทะเลาะระหว่างคริสเตียนด้วยกันไปพึ่งพาผู้ที่มิได้เป็นคริสเตียนในการตัดสิน ทำไมเราใช้กฎหมายบ้านเมืองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ อำนาจ ตำแหน่ง ความสัมพันธ์ แทนที่จะใช้คริสต์จริยธรรมบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในการแก้ไขและเยียวยารักษาสัมพันธภาพที่มีต่อกัน?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เราเริ่มใช้กลวิธีทางการเมือง(ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์และอำนาจ) ที่พิกลพิการของไทยมาใช้ในคริสตจักรอย่างเต็มตัว เราเห็นได้ทั้งในสภาคริสตจักร สหกิจคริสเตียน และองค์กรคริสเตียนอื่นๆ ขนาดใหญ่ จนขนาดเล็กในกลุ่มคริสเตียนชาติพันธุ์บางเผ่าพันธุ์ก็ติดเชื้อโรคการเมืองนี้อย่างงอมพระทัย(ขออภัยที่เอ่ยนามเพื่อความชัดเจน) เพราะเมื่ออำนาจแบบการเมือง และวิธีการได้มาซึ่งผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง เข้าถึงคริสตจักรหรือองค์กรคริสเตียนแห่งใด ความรักเมตตา การเอาใจใส่กันและกันบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ก็จะถูกเบียดและบังจนมิด พลังแห่งอำนาจชั่วก็จะยื้อให้เรื่องนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือบนศาลที่จะทำลายชีวิตคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนให้หมดแรงและตายไปในที่สุด

เรื่องราวที่คริสเตียนใช้กฎหมายบ้านเมือง หรือ การใช้การขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อเผชิญหน้าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักร หรือ ระหว่างคริสเตียนด้วยกันนั้นมิใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เรื่องในทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคริสตจักรสมัยเริ่มแรก จากพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 เมื่อสมาชิกคริสตจักรคนหนึ่งในคริสตจักรแห่งนี้เกิดการโต้เถียงทะเลาะขัดแย้งกับคริสเตียนอีกคนหนึ่งในคริสตจักร เขาก็นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องขึ้นศาลของเมืองโครินธ์ แทนที่จะนำเรื่องนี้มาเจรจา พูดคุย สร้างความเข้าใจกัน และตัดสินภายในคริสตจักรโครินธ์ พฤติกรรมเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีฐานะมั่งมี หรือ เป็นผู้มีความรู้ในสังคมโครินธ์ ค่านิยมของคนมั่งมีในโครินธ์คือ ถ้าชนะคดีความในศาลก็เป็นการปกป้องเกียรติยศ เกียรติภูมิ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีของตนในสังคม และอาจจะได้รับค่าเสียหายเป็นเงินเป็นทองด้วย และนี่คือค่านิยมของคนชั้นสูงในเมืองโครินธ์ แต่สำหรับเปาโลแล้วท่านไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเยี่ยงนี้ในคริสตจักร และนี่คือจดหมายที่ท่านเขียนถึงสมาชิกในคริสตจักรโครินธ์ว่า...

1เมื่อมีใครในพวกท่านเป็นความกันเขากล้าไปรับการพิพากษาจากคนไม่ชอบธรรม แทนที่จะรับจากธรรมิกชนหรือ? 2ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าธรรมิกชนจะพิพากษาโลก? และถ้าพวกท่านจะพิพากษาโลก ท่านไม่เหมาะจะพิพากษาเรื่องเล็กน้อยหรือ? 3พวกท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเราจะพิพากษาพวกทูตสวรรค์? ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งควรจะพิพากษาเรื่องของชีวิตนี้ 4เมื่อเป็นความกันในเรื่องชีวิตนี้ พวกท่านจะตั้งคนที่คริสตจักรไม่ยอมรับให้ตัดสินหรือ? 5ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้ท่านละอายใจ ในพวกท่านไม่มีสักคนหนึ่งที่มีสติปัญญาสามารถวินิจฉัยเรื่องระหว่างพี่น้องหรือ? 6แต่พี่น้องกับพี่น้องต้องถูกพิพากษาต่อหน้าคนที่ไม่มีความเชื่ออย่างนั้นหรือ? 7อันที่จริง เมื่อไปเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า? ทำไมท่านจึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า? 8แต่พวกท่านกลับทำร้ายกัน และโกงกันแม้กระทั่งพี่น้อง (1โครินธ์ 6:1-8 ฉบับมาตรฐาน)

เป็นการไม่เหมาะสมอย่างไรเมื่อคริสเตียนนำการทะเลาะขัดแย้งไปขึ้นโรงขึ้นศาล? ประการแรก ในคริสตจักรจะต้องมีคนที่มีความสามารถเหมาะสมในการช่วยแก้ไขในสิ่งที่ทะเลาะขัดแย้ง เปาโลฟันธงชัดว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งกันในคริสตจักรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคริสตจักรที่จะต้องจัดการแก้ไข การที่คริสเตียนคนหนึ่งขัดแย้งกับคริสเตียนอีกคนหนึ่ง นี่มิใช่ความขัดแย้งส่วนตัว เพราะความขัดแย้งของสองคนนี้จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร ดังนั้น คริสตจักรจึงมีความชอบธรรมเหมาะสมที่จะเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้น การที่คริสเตียนไปฟ้องร้องคริสเตียนอีกคนหนึ่งให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจะเป็นที่ดูถูก หรือ สมเพชในสายตาผู้ที่ไม่มีความเชื่อ ถึงแม้ว่าเราไม่พบในคำสอนของพระเยซูที่ห้ามคริสเตียนฟ้องร้องกันบนศาล แต่การที่จะเอาแพ้เอาชนะและพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูกบนศาลก็เป็นชีวิตคริสเตียนที่มิได้สำแดงชี้ชัดถึงชีวิตบนกางเขนของพระคริสต์เลย เปาโลได้ประณามคนที่เอาความขัดแย้งในคริสตจักรไปขึ้นโรงขึ้นศาลว่า “อันที่จริงเมื่อเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า? ทำไมท่านถึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า?” (1โครินธ์ 6:7 ฉบับมาตรฐาน)

เปาโลได้วางเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับความขัดแย้งกันในคริสตจักรว่า มิใช่เพื่อเอาแพ้เอาชนะ มิใช่เพื่อการรักษาปกป้องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ส่วนตัว แต่เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นในคริสตจักร เราจะรักษาชีวิตชุมชนคริสตจักร สัมพันธภาพ สามัคคีธรรมได้อย่างไรเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า ถึงแม้จะต้องเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ขอรักษาชื่อเสียงของคริสตจักรและถวายพระเกียรติแด่พระคริสต์ ถึงแม้จะต้องเจ็บปวด แต่ก็ขอรักษามิให้เกิดบาดแผลในชุมชนคริสตจักร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

14 มีนาคม 2555

เราคิดและเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นผู้นำคริสเตียนอย่างไร?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(2)

เมื่อศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักร หรือองค์กรคริสเตียนต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่มีท่าทีนำสู่ความแตกแยกขององค์กรเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะแสวงทางออกที่ดีที่ควร ที่เป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า ผมมีโอกาสอ่านประสบการณ์ของศิษยาภิบาลท่านหนึ่งที่อยู่ในคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประสบกับความขัดแย้งในคริสตจักรที่เขาเป็นศิษยาภิบาลในเวลานั้น และเป็นความขัดแย้งกับผู้ร่วมทีมอภิบาลของเขาเอง ท่านบอกว่าในเหตุการณ์นั้นได้สร้างความยุ่งยากลำบากมากยิ่งครั้งหนึ่งในชีวิตการเป็นศิษยาภิบาลของท่าน

ท่านเกิดความขัดแย้งอย่างแรงกับสตรีท่านหนึ่งที่ร่วมทีมอภิบาลในคริสตจักร ตามมุมมองของศิษยาภิบาลท่านนี้เห็นว่าเพื่อนสตรีร่วมทีมอภิบาลมิได้ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในหลายๆ เรื่อง แต่ตามมุมมองของเพื่อนสตรีที่ร่วมในทีมอภิบาลมองว่า ศิษยาภิบาลท่านนี้หยิ่งยโสและไม่สนับสนุนเธอในการทำงาน ศิษยาภิบาลท่านนี้พยายามทุกหนทางที่จะหาทางแก้ไขวิกฤติความขัดแย้งนี้ แต่เรื่องกลับเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด

เพื่อเป็นการง่ายในการเล่าเรื่องนี้ผมขอสมมุติชื่อของศิษยาภิบาลท่านนี้ว่า มิคาเอล ส่วนเพื่อนสตรีที่อยู่ในทีมอภิบาลสมมุติชื่อว่า โจเซฟีน ในเวลาที่กำลังขัดแย้งกันนี้ โจเซฟีนพยายามชักชวนผู้คนให้อยู่ข้างเธอและสนับสนุนเธอ เธอไปเล่าและบ่นว่า มิคาเอลกระทำไม่ดีต่อเธอ เธอจะไปหาสมาชิกคริสตจักรที่ค่อนข้างเก็บตัวและบอกพวกเขาว่า มิคาเอลกำลังวางแผนที่จะไล่เธอออกจากงาน เธอพยายามที่จะแบ่งแยกผู้คนในคริสตจักรและดูเหมือนว่าการกระทำของเธอกำลังได้ผล มิคาเอลยอมรับว่าในภาวการณ์เช่นนี้หลอกล่อและกระตุ้นยุยงให้เขากระโดดลงเล่นเกมที่โจเซฟีนเดินเกมไว้ ทำให้มิคาเอลต้องการหาผู้คนสนับสนุนและอยู่ฝ่ายเขาบ้าง เขาต้องการให้คนในคริสตจักรรู้ถึงความจริงเพื่อที่จะได้ช่วยปกป้องเขา คนในคริสตจักรส่วนใหญ่เริ่มเข้าข้างสนับสนุนมิคาเอลผู้เป็นศิษยาภิบาล สถานการณ์ของคริสตจักรแห่งนี้ไม่แตกต่างอะไรกับสถานการณ์คริสตจักรในพระธรรม 1 โครินธ์

ทุกเรื่องทุกอย่างถูกนำเข้าสู่การประชุมคณะธรรมกิจ ในการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่ยากลำบากสุดๆ ในชีวิตของมิคาเอล คณะผู้ปกครองคริสตจักรเสนอให้โจเซฟีนออกจากงาน หลายคนในสัปปุรุษวิจารณ์การบริหารงานของศิษยาภิบาลมิคาเอลตามข้อมูลบอกเล่าจากโจเซฟีน ผู้วิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นต่างยืนยันว่าเป็นการวิพากษ์กล่าวว่าบนฐานข้อมูลความจริง ในตอนนั้นศิษยาภิบาลมิคาเอลเกิดความรู้สึกที่ต้องการจัดการเพื่อที่จะพิสูจน์ชัดเอาชนะเกมของโจเซฟีน แต่โดยพระคุณของพระเจ้า ศิษยาภิบาลได้ปรึกษากับผู้ปกครองคริสตจักรบางท่านเขาจึงไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกระตุ้นให้สู้ มิคาเอลยอมรับคำตำหนิและจะนำไปปรับปรุงการทำงานของตนทั้งๆ ที่เป็นการกล่าวร้ายป้ายสี มิคาเอลเปิดใจยอมรับฟังคำวิจารณ์ของผู้คนถึงความผิดพลาดในการทำงานของตน มิคาเอลบอกว่าพูดกันตรงๆ แล้วในเวลานั้นเป็นเวลาที่เขาได้รับการทรมานสุดแสนสาหัส

แต่เพราะเขาสำนึกได้ว่างานการอภิบาลคือการที่จะช่วยให้คริสตจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์ มิใช่เพื่อแบ่งแยกแล้วนำมาปกป้องตนเอง หรือพิสูจน์ตนเองว่าเป็นฝ่ายถูก หรือมิใช่เพื่อการที่จะเอาแพ้เอาชนะ หลายคนในคริสตจักรที่ยืนเคียงข้างศิษยาภิบาลมิคาเอลก็รู้สึกเช่นนั้น พวกเขาสามารถยืนขึ้นเพื่อพิสูจน์ปกป้องศิษยาภิบาลมิคาเอล แต่เขารู้ว่ามิใช่เวลาที่จะทำเช่นนั้น เขายอมนั่งเงียบอย่างชาญฉลาด และปฏิเสธจะลุกขึ้นสู้และถล่มอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าเขาทำเช่นนี้ก็จะสร้างบาดแผลที่ฉกรรจ์แก่ชีวิตคริสตจักร

ที่สุดของความขัดแย้งนี้ สัปปุรุษลงมติให้โจเซฟีนออกจากงาน ในเวลานั้นศิษยาภิบาลมิคาเอล มิได้ รู้สึกว่าตนเองเป็นฝ่ายชนะ หรือ สามารถแก้เผ็ดคนทำลายเขาได้สาสม แต่มิคาเอลกลับมีความรู้สึกอับอายและหมดแรง เพื่อนๆ หลายคนในคริสตจักรได้เข้ามาให้กำลังใจ แต่เขาก็ยังรู้สึกว่าเหมือนเขาใช้สัปปุรุษบีบให้โจเซฟีนต้องออกจากงาน

สืบเนื่องจากการประชุมสัปปุรุษครั้งยุ่งยากใจที่สุดมีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ออกไปจากชุมชนคริสตจักร มิคาเอลแปลกใจมากเพราะเขาคาดว่าผลที่เกิดขึ้นคงรุนแรงกว่านี้ หลังจากนั้นมีหลายคนที่เคยตำหนิมิคาเอลในที่ประชุมสัปปุรุษได้เข้ามาขอโทษศิษยาภิบาล เพราะพวกเขาเพิ่งมารู้ว่าเรื่องของโจเซฟีนจริงๆ นั้นเป็นเช่นไร

ผลที่เกิดขึ้นจากความโกลาหลครั้งยิ่งใหญ่นี้ มิใช่การที่ผู้คนเคารพนับถือและรักศิษยาภิบาลมากขึ้น แต่ผลดียิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้คือสมาชิกคริสตจักรเกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสต์เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น มิคาเอล เองก็ไม่สามารถอธิบายว่าผลดีเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พูดได้แต่ว่านี่เป็นเพราะพระคุณของพระเจ้า แต่ศิษยาภิบาล มิคาเอลรู้ว่าความมุ่งมั่นพยายามของเขาและคนที่สนับสนุนเขามุ่งไปที่พระเยซูคริสต์ แต่มิใช่ที่ตัวศิษยาภิบาลหรือที่จะช่วยศิษยาภิบาล ด้วยความมุ่งมั่นเช่นนี้เองที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายกลับเกิดผลดีผลบวกแก่ชีวิตคริสตจักร มิคาเอล บอกว่า เมื่อเขาทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับจากสถานการณ์ที่เลวร้ายและยากลำบากที่สุดในชีวิตของเขาครั้งนั้น เขาเรียนรู้ว่าในสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกเช่นนั้น เขาเองต้องยอมตนถ่อมตัวลงอย่างที่สุดกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ในภาวการณ์เช่นนั้นจำเป็นต้องวางใจในพระเจ้ามากกว่าพึ่งพาความสามารถในการชักชวนโน้มน้าวผู้คนให้อยู่ข้างตน หรือใช้ความสามารถในบริหารจัดการวิกฤติยุ่งยากในชีวิต

ถ้าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยก ให้มองไปที่บทบาทของผู้นำในภาวะความขัดแย้งนั้น ถ้ามองเห็นท่าทีที่จะต้องการต่อสู้เอาแพ้เอาชนะ เราไม่ควรเข้าไปร่วมในกระบวนการนั้น และยิ่งเราเป็นศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำองค์กรคริสเตียนก็จะยิ่งยุ่งยากมากกว่า เราจะต้องมุ่งมั่นเลือกเอาบทบาทคนรับใช้ของเจ้านายคือองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ทุ่มเทชีวิตจิตใจและเวลาของเราแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคริสตจักร หรือองค์กรคริสเตียนที่เรารับผิดชอบ แสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวในคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนแทนการแบ่งพวกแตกแยก กระทำทุกหนทางที่จะให้คริสตจักรและองค์กรคริสเตียนเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในพระคริสต์ ให้มุ่งมองไปที่พระคริสต์ในฐานะที่ท่านเป็นคนใช้ของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

12 มีนาคม 2555

เราคิดและเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นผู้นำคริสเตียนอย่างไร?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(1)

ในสมัยที่ผมยังเป็นศิษยาภิบาลคริสตจักร ผมมีโอกาสพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การเป็นศิษยาภิบาลกับเพื่อนศิษยาภิบาลและผู้ปกครองที่เป็นผู้นำคริสตจักรด้วยกัน บ่อยครั้งเราจะได้ยินผู้คนบอกว่า “คริสตจักรอาจารย์ประสิทธิ์” “คริสตจักรอาจารย์อภิเดช” “คริสตจักรอาจารย์พัชรา” “คริสตจักรผู้ปกครองสุเทพ”... ผมเข้าใจได้ครับว่านั่นเป็นการเรียกคริสตจักรแบบสั้นและง่ายและเป็นที่รู้เข้าใจกัน แต่การเรียกคริสตจักรเช่นนี้มีบางสิ่งบางอย่างที่บ่งบอกถึงเบื้องหลังของการเรียกชื่อคริสตจักรเช่นนั้น (ฟังดูคล้ายๆ กับ “รัฐบาลคุณชวน” “รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์” “รัฐบาลปูนิ่ม” หรือ “รัฐบาลคุณทักษิณ”) ทำให้ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า คริสตจักรนั้นเป็นของผู้นำคนนั้นๆ ทั้งๆ ที่หลักคิดหลักเชื่อของเราคือ คริสตจักรเป็นของพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์

บุคลิกลักษณะเฉพาะของศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักรหรือสถาบันคริสเตียนมีความเกาะเกี่ยวประสานสานเข้ากันอย่างยากที่จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดชัดเจนได้ จุดสำคัญในที่นี้คือเราจะยกย่องลักษณะการนำ เรายึดแก่นหลักความเชื่อความคิดของผู้นำคนๆ นั้นเป็นที่ตั้ง หรือการนำของผู้นำที่มุ่งสู่การยกย่องสรรเสริญพระคริสต์ และดำเนินตามพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์ หรือมุ่งที่จะเสริมสร้างสะสมบารมีชื่อเสียงและผลงานความสำเร็จของตัวผู้นำเอง ดังนั้น ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเมื่อมีใครเรียกคริสตจักรที่ผมรับใช้อยู่ว่า “คริสตจักรของอาจารย์ประสิทธิ์” นั่นเป็นเสียงสัญญาณเตือนที่เป็นเหมือนประกายแวบของฟ้าแลบในห้วงสำนึกของผมทันที

ในสังคมวัฒนธรรมไทยบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผู้คนมักจะยึดตัวบุคคล หรือ ผู้นำเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจากในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ตาม เมื่อเรากลับมาพิจารณาในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกจากพระธรรม 1โครินธ์ เปาโลได้พูดตรงเข้าสู่ประเด็นนี้อย่างไม่อ้อมค้อมว่า

“พี่น้องทั้งหลาย
ข้าพเจ้าวิงวอนท่านในพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
ขอให้ปรองดองกัน
อย่ามีความแตกแยกในพวกท่าน
แต่ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความคิดและในความเห็น
พี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้า
คนของนางคะโลเอได้เล่าเรื่องของท่านให้ข้าพเจ้าฟังว่า
มีการทะเลาะวิวาทกันในระหว่างพวกท่าน
พวกท่านต่างกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อปอลโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เคฟัส” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์” (1:10-12)

สาเหตุสำคัญของการแตกแยกขัดแย้งกันในคริสตจักรโครินธ์มาจากการที่ในคริสตจักรมีหลายพรรคหลายพวกที่แตกต่างกัน แล้วสมาชิกคริสเตียนก็เอาตนเองเข้าไปเป็นคนในพรรคนั้น พวกนี้ สีนั้น สีนี้ และนี่คือรากฐานของความแตกแยกขัดแย้งในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ แล้วนำสู่การเกิดปัญหาในชุมชนผู้เชื่อแห่งนี้ การที่มี “ผู้นำของหลากหลายพรรคและพวก” คือตัวตัดตัวหั่นชีวิตคริสตจักรออกเป็นชิ้นเป็นเสี่ยง และเมื่อความรักและการชื่นชมในตัวผู้นำแข่งขันรุนแรงขึ้นกระทั่งสิ่งนี้กลายเป็น “รูปเคารพ” ในชุมชนคริสตจักร หรือ ในสถาบันชุมชนคริสเตียน แล้วสมาชิกในแต่ละพวกแต่ละพรรคต่างแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำของตน พระเอกของตน แทนที่จะจงรักภักดีต่อพระคริสต์ และสำนึกว่าชุมชนคริสตจักรที่เป็นของพระคริสต์

ในพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 3 เปาโลพยายามบ่งชี้มุมมองที่ถูกต้องให้แก่สมาชิกในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ เพื่อพวกเขาจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับผู้นำในชุมชนคริสตจักร และ ชุมชนสถาบันคริสเตียน

“อปอลโลคือใคร? เปาโลคือใคร?
คือผู้ปรนนิบัติที่สอนพวกท่านให้เชื่อ
ตามงานที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้แต่ละคน
ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ แต่พระเจ้าทรงทำให้เติบโต
เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร
แต่พระเจ้าผู้ทรงให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ
คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำก็เป็นพวกเดียวกัน และ
ทุกคนก็ได้บำเหน็จตามการงานของตน
เพราะว่าเราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า
ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า เป็นตึกของพระองค์...” (3:5-9)

จากพระธรรม 1โครินธ์ เราเห็นได้ว่าสมาชิกในชุมชนคริสตจักรโครินธ์เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย บางกลุ่มสนับสนุนความคิดและการทำงานแบบเปาโล บางกลุ่มยืนหยัดเคียงข้างฝ่ายอปอลโล ซึ่งเป็นนักเทศน์ฝีปากดี เป็นคนที่มีฐานะในสังคม มีการศึกษา และมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในเมืองโครินธ์ แล้วยังยอมตนเป็นผู้นำในคริสตจักร การที่สมาชิกในชุมชนคริสตจักรเลือกข้างเลือกฝ่าย หรือ เลือกที่จะอยู่และสนับสนุนผู้นำคริสตจักรคนใดคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่มีความคิดและเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีคิดแบบพระเยซูคริสต์ เพราะผู้นำทั้งสองคนนี้ต่างเป็นคนใช้ของพระเจ้าเหมือนกัน ถึงแม้ว่า ทั้งสองมีบทบาทและความสามารถที่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นผู้นำทั้งสองต่างร่วมในเป้าประสงค์เดียวกันของพระเยซูเจ้าในคริสตจักร ประเด็นที่เปาโลกล่าวได้อย่างชัดเจนในที่นี้คือ การเป็นคนใช้ของพระเจ้ามิใช่คนที่สำคัญเลย แต่พระเจ้าต่างหากที่ทรงเป็นเอกเป็นหลักในชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร เพราะพระเจ้าคือเจ้านายของคนใช้ของพระองค์ พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่สามารถทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าของคริสตจักร ไม่ว่าจะเปรียบเทียบคริสตจักรว่าเป็นไร่นาของพระเจ้า หรือ เปรียบว่าเป็นตึกของพระเจ้าก็ตาม

เปาโลกล่าวอย่างฟันธงในข้อที่ 21 ว่า “เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครยกมนุษย์ขึ้นอวด...” เป็นการดีที่เราจะชื่นชมในตัวผู้นำคริสตจักร แต่การชื่นชมนั้นต้อง ไม่ นำไปสู่การคุยโตโอ้อวดจนก่อเกิดการขัดแย้งแตกแยกในคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียน

ต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้นำในคริสตจักร และ สถาบันคริสเตียน: สมาชิกคริสตจักรหรือสถาบันกล่าวถึงผู้นำคนนั้นอย่างไร? พวกเขาลุกขึ้นเลือกข้างสนับสนุนผู้นำคนใดคนหนึ่ง หรือรวมตัวกันต่อต้านผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือไม่? พวกเขาขุดหลุมพราง หรือ วางกับดักให้ผู้นำคนหนึ่งทะเลาะต่อสู้กับผู้นำอีกคนหนึ่งหรือไม่? หรือพวกเขามองเห็นว่าผู้นำทุกคนในคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนเป็นคนใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่สำคัญสุดขององค์กรหรือไม่?

เมื่อผมมองย้อนถึงในช่วงเวลาที่ผมเป็นศิษยาภิบาล ผมเห็นว่าในการทำงานของผมในชุมชนคริสตจักร ความเชื่อเหล่านั้นง่ายเหลือเกินที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสนขึ้นในคริสตจักรที่ผมรับใช้ มีบ่อยครั้งในตอนนั้นที่ผมมักลืมตัวแล้วคิดว่านั่นเป็นคริสตจักรของผม ดังนั้นผมจึงทุ่มเท แต่เป็นการทุ่มเทที่ผิดพลาด เพราะผมทุ่มเทตามความปรารถนาตามความคิดความเข้าใจของผมเอง ซึ่งมักนำความเสียหายสับสนมาสู่ชุมชนคริสตจักร และสิ่งดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคริสตจักรเหล่านั้นมิใช่ผมที่ควรได้รับการยอมรับยกย่อง เพราะนั่นจะมองว่าเป็นความสำเร็จของผมไม่ได้ พระเจ้าต่างหากที่ทรงเรียกให้ผมไปรับใช้พระองค์ในชุมชนคริสตจักรเหล่านั้น แล้วพระองค์ก็ทรงอวยพระพรชีวิตและคริสตจักรเหล่านั้นให้เข้มแข็งและเกิดผลขึ้น ที่เกิดความสำเร็จมิใช่เพราะความเก่งกาจสามารถของผม เพราะพระเจ้าทรงอวยพระพรคริสตจักรเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผมไปรับใช้(ก็ได้) และสิ่งนี้ผมก็เห็นชัดว่า เมื่อผมออกจากการรับใช้ในคริสตจักรเหล่านั้น พระเจ้าก็ยังทำงานของพระองค์ในชีวิตชุมชนคริสตจักรเหล่านั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลง เติบโต และเกิดผลตามที่พระองค์ทรงอวยพระพร

พูดกันในทางปฏิบัติแล้ว ผู้นำคริสตจักรและสถาบันคริสเตียนมิใช่คนที่สำคัญมากมายอะไร เพราะต่างก็เป็นคนใช้ที่ต้องสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า และพร้อมถ่อมชีวิตลงถึงที่สุดในการรับใช้พี่น้องในชุมชนคริสตจักรในพระนามของพระเยซูคริสต์ พระเจ้ามิได้เรียกผู้นำมาสร้างความสำเร็จแก่คริสตจักร หรือองค์กรของพระองค์ แต่ทรงเรียกให้มารับใช้คริสตจักรและองค์กรเหล่านั้นอย่างสัตย์ซื่อตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

09 มีนาคม 2555

แล้วคริสตจักรเป็นอะไรกันแน่?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน

จากการที่เราได้ร่วมกันค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “คริสตจักรเป็นของใครกันแน่?” เราได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากพระธรรม 1 โครินธ์ว่า ชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้า ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งสร้างขึ้นและพระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เมื่อเราทราบความหมายของชุมชนคริสตจักรเช่นนี้ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราตกในภาวะความขัดแย้งโต้เถียงในคริสตจักรหรือกับคริสเตียนคนอื่นๆ เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งแรกที่เราพึงกระทำคือ เราต้องแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า และ น้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อชีวิตชุมชนคริสตจักรในสถานการณ์นั้น

ครั้งนี้ให้เราร่วมกันแสวงหาคำตอบต่อคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดูจะเป็นคำถามใหญ่คือ “แล้วคริสตจักรคืออะไรกันแน่?” อะไรคือความเป็นคริสตจักรของพระเจ้า?

ความเข้าใจพื้นฐานที่สุด ชุมชนคริสตจักรคือการที่ผู้คนรวมตัวกันแล้วเป็นชุมชนที่เป็นของพระเจ้าผ่านทางความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าเวลาใดหรือเมื่อใดก็ตามที่คริสเตียนมาร่วมกันในพระคริสต์ ชุมนุมชนนั้นเป็นคริสตจักรของพระเจ้า แต่นี่เป็นเพียงขั้นการเริ่มต้น ใน 1โครินธ์ บทที่ 3 เปาโลกล่าวถึง “คริสตจักร” ด้วยภาษาภาพเด่นชัด สะดุดตา และ ใช้ภาษาที่ชวนให้ประหลาดใจ

“ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า พวกท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน? ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น เพราะวิหารของพระเจ้าเป็นที่บริสุทธิ์ และพวกท่านเป็นวิหารนั้น” (3:16-17)

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่ออ่านพระธรรมตอนนี้ผมเองมักเข้าใจว่า พระคัมภีร์ตอนนี้ (3:16-17) มุ่งกล่าวถึงคริสเตียนแต่ละคนเป็นรายบุคคล แต่ถ้าเราพิจารณาพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 ที่กล่าวถึงร่างกายของคริสเตียนแต่ละคนว่าเป็นวิหารสำหรับพระวิญญาณของพระเจ้าที่ว่า

“ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน ผู้ซึ่งพวกท่านได้รับจากพระเจ้า และท่านทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง?” (6:19)

พระธรรม 1โครินธ์ 3:9 กล่าวชัดเจนว่า เมื่อเปาโลกล่าวถึง “วิหารของพระเจ้า” ที่ไม่ได้หมายถึง คริสเตียนผู้เชื่อแต่ละตัวบุคคล ในที่นี้ใช้ภาษาภาพว่า ชุมชนคริสตจักรเป็น “ไร่นา” และเป็น “ตึก” ของพระเจ้า และเปาโลยังใช้ภาพการสร้างตึกของพระเจ้าเพื่ออธิบายชุมชนคริสตจักรว่า ในการก่อตั้งสร้างคริสตจักรนั้น มีหลายคนที่มีส่วนร่วมในการสร้าง(มิใช่คนเดียว) ท่านกล่าวว่า ท่านอาจจะเป็นคนที่วางรากฐานชุมชนคริสตจักรนั้นๆ ในฐานะเป็นเหมือนช่างผู้ชำนาญ แต่ก็จะมีคนอื่นๆ เข้ามาสานงานการสร้าง “ตึกของพระเจ้า” ต่อจากท่าน ที่สำคัญคือการสร้างคริสตจักรต่อจากท่านนั้นแต่ละท่านต้องคำนึกถึงรากฐานของคริสตจักร และ ประสิทธิภาพในการสร้างต่อคริสตจักรนั้น (3:10-15)

จากนั้น เมื่อเราอ่านใน 3:16 เราเห็นทันทีว่า “วิหารของพระเจ้า” เปาโลกล่าวถึงนั้นมิได้หมายถึงคริสเตียนผู้เชื่อแต่ละตัวบุคคล แต่เป็นชุมนุมชนของผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ที่มาร่วมกัน ในพระคัมภีร์ภาษาไทยใช้คำว่า “พวกท่าน” (ซึ่งแปลตามภาษากรีกที่คำนี้เป็นพหูพจน์) เป็นวิหารของพระเจ้า และเป็นที่สถิตของพระวิญญาณ องค์พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตใน(ท่ามกลาง) ชุมนุมชนของผู้เชื่อเหล่านั้น

ใน 1โครินธ์ 3:17 ได้ชี้ชัดถึงความหมายของ “วิหารของพระเจ้า” ที่หมายถึง ชุมนุนมชนของผู้เชื่อ ที่เตือนผู้เชื่อแต่ละคนระวังไม่กลายเป็นผู้ทำลายวิหาร “ชุมนุมชนคริสตจักร ” ของพระเจ้า ในพระธรรม 1โครินธ์ 3 บทแรก มิได้กล่าวถึงเรื่องผู้เชื่อหรือคริสเตียนเป็นรายบุคคล แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดการแตกแยกขัดแย้งในชุมนุมชนคริสตจักรโครินธ์ เปาโลได้กล่าวว่า ถ้าใคร “ทำลายวิหารของพระเจ้า” (หรือถ้าใครทำลายชุมนุมชนผู้เชื่อของพระเจ้า) ท่านเน้นว่า “วิหารของพระเจ้า” คือที่ชุมนุมชนผู้เชื่อของพระเจ้ามิได้หมายถึงผู้แต่ละคน และเปาโลเห็นว่าการแตกแยกขัดแย้งในคริสตจักรเป็นกระบวนการหนึ่งในการบ่อนทำลาย “วิหารของพระเจ้า”

ส่วนสำคัญที่ทำให้คริสตจักรเป็นที่พิเศษที่พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย คือเมื่อผู้เชื่อในพระองค์เข้ามาร่วมกัน และพระเจ้าสถิตกับชุมนุมชนพวกเขาทางพระวิญญาณของพระองค์ ฤทธิ์เดชและพระกำลังของพระองค์มีพร้อมสำหรับชุมนุมชนคริสตจักร พร้อมที่จะทรงเสริมหนุนเพิ่มพลังให้คริสตจักรเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเปาโลได้กล่าวในรายละเอียดในบทที่ 12-14

จากความจริงและเป็นจุดยืนจุดเชื่อที่ว่า ชุมนุมชนของผู้เชื่อในคริสตจักรเป็นวิหารของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เตือนจิตใจและจิตสำนึกของเราว่า การกระทำใดๆ ในชุมชนคริสตจักรจะต้องคิดและกระทำด้วยความยำเกรงในพระเจ้า คำนึงถึงน้ำพระทัยที่พระเจ้าทรงรักเมตตาและเอาใจใส่ต่อชุมนุมชนคริสตจักรของพระองค์ เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น...” (3:17) ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นที่จะถกเถียงกล่าวร้าย หรือ การสร้างความแตกแยกขัดแย้งกันในชุมชนคริสตจักร หรือ ในกลุ่มคริสเตียน เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดว่าตนกำลังทำอะไรอยู่? และควรจะทำอย่างไรในฐานะคริสเตียนที่เป็นส่วนหนึ่งใน“วิหาร”ชุมนุมชนผู้เชื่อในคริสตจักรของพระเจ้า

จากประสบการณ์ของผมได้พบเห็นผู้นำคริสตจักรที่ยอมเสียสละตนเอง ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน ชื่อเสียงเกียรติยศ และศักดิ์ศรีส่วนตัวเพื่อชุมชนผู้เชื่อของพระเจ้า หรือ สถาบันหน่วยงานของพระองค์ เพื่อนของผมท่านหนึ่งท่านเป็นผู้นำผู้บริหารในสถาบันคริสเตียนแห่งหนึ่งที่เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง เรียกว่ารู้จักกันเกือบทั่วโลก แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพวกหนึ่งในสถาบันแห่งนั้นไม่ชอบวิธีการกระทำของท่าน และพยายามหาทางบีบให้ท่านหลุดออกจากการเป็นผู้บริหาร ผู้บริหารท่านนี้ได้พิจารณาสถานการณ์รอบด้านท่านตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนั้นเพื่อรักษาสถาบันของพระเจ้าไว้ แทนที่จะคิดเอาแพ้เอาชนะ แทนที่จะใช้การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก และท่านเห็นแล้วว่าถ้าท่านทำการสู้เช่นนั้นมีแต่ความย่อยยับอับปางจะเกิดขึ้นกับสถาบันของพระเจ้า ท่านกลับมีมุมมองว่า อาชีพของท่าน รายได้ของท่าน ชื่อเสียงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของท่าน มิได้มีความสำคัญเท่ากับความรักสัตย์ซื่อที่ท่านมีต่อพระเจ้า และสถาบันของพระองค์ เขาจึงตัดสินใจลาออก!

ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่า ในทุกความขัดแย้ง ศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักร หรือผู้บริหารสถาบันคริสเตียนต้องจบลงด้วยการลาออกจากตำแหน่งเสมอไป แต่ผมหมายความว่าเราทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเราตกอยู่ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งและแตกแยก เราต้องตระหนักชัดเจนว่า นอกจากคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียน ที่เป็นของพระเจ้าแล้ว แต่ในคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียนแห่งนั้นพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย เป็นเฉกเช่นวิหารที่เป็นที่สถิตของพระเจ้า เป็นที่สถิตอยู่ของพระวิญญาณของพระองค์ ด้วยความสำนึกและความคิดเช่นนี้ เราจะกระทำทุกสิ่งด้วยสุดใจสุดจิตและสุดกำลังความคิดของเราเพื่อให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และในเวลาเดียวกันเพื่อปกป้องคริสตจักร และ สถาบันของพระเจ้า แม้เราจะต้องสละผลประโยชน์ และ สละตนเองก็ตาม

ดังนั้น เมื่อเราตกอยู่ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งแตกแยก ให้เราก้าวถอยหลังห่างจากประเด็นที่กำลังเผชิญหน้าให้ห่างพอประมาณ เพื่อทบทวนความตระหนัก ระลึกถึง และสะท้อนคิดว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้เชื่อคนหนึ่งในชุมนุมชนของพระเจ้า เราควรเกี่ยวข้องจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าวอย่างไร เรายังมองเห็นว่า ชุมชนคริสตจักร หรือ ชุมชนสถาบันคริสเตียนที่เราทำที่เราอยู่เป็นที่สถิตของพระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์หรือไม่? เราได้ทำทุกหนทางที่จะปกป้องและเอาใจใส่ต่อชุมนุมชนคริสตจักร และ ชุมชนสถาบันคริสเตียนที่เราทำงานอยู่ ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

07 มีนาคม 2555

คริสตจักรของใครกันแน่?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน

ในครั้งก่อนเราร่วมกันพิจารณาถึงกระบวนทัศน์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักร และจดหมาย 1โครินธ์ ก็เป็นจดหมายที่อัครทูตเปาโลพยายามหาแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งและการโต้เถียงกันท่ามกลางคริสเตียนในคริสตจักรโครินธ์ ซึ่งเป็นคริสตจักรหนึ่งในสมัยคริสตจักรเริ่มแรก

ก่อนที่จะร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งในคริสตจักรโครินธ์ เราน่าสังเกตว่าอัครทูตเปาโล กล่าวถึงคริสตจักรโครินธ์ในตอนเริ่มต้นจดหมายไว้ว่าอย่างไร ท่านเขียนว่า “เรียน คริสตจักรของพระเจ้าในเมืองโค-รินธ์...” คำว่า “คริสตจักร” ในที่นี้แปลจากภาษากรีกคำว่า “เอเคลเซีย” (ekklesia) ซึ่งมีความหมายว่า “การชุมนุม การรวมตัวกัน” หรือ “การประชุมกัน” ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันในสังคมทั่วไปที่เมืองโครินธ์สมัยนั้นด้วย โดยมีความหมายถึงการที่มาชุมนุมประชุมร่วมกันเพื่อการออกเสียงโหวตเรื่องในเรื่องหนึ่งของประชาชนคนโครินธ์ เปาโลไม่ได้เขียนจดหมายฉบับนี้ถึงการชุมนุมกันของชาวเมืองโครินธ์ ซึ่งในสมัยนั้นง่ายที่ผู้คนจะเข้าใจผิดว่าคริสตจักรก็เป็นเหมือนชุมนุมชนเมืองโครินธ์ที่ร่วมกันเพื่อการออกเสียง ใช้สิทธิ์ทาง “การเมือง” แต่เปาโลเริ่มต้นจดหมายของท่านบ่งชี้ชัดเจนว่า ท่านเขียนจดหมายถึง “คริสตจักร (ชุมนุมชน ekklesia) ของพระเจ้าในเมืองโครินธ์”

เปาโลนอกจากที่บ่งชี้ชัดเจนว่า คริสตจักรโครินธ์นั้นแตกต่างจากชุมชนคนโครินธ์ที่มาใช้สิทธิออกเสียงแล้ว ท่านยังบอกให้คริสเตียนโครินธ์รู้จักว่า “ใครคือเจ้าของ” ชุมนุมคริสตจักรโครินธ์ คำตอบคือ พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของชุมชนคริสตจักรโครินธ์ คริสตจักรมิใช่อีกชุมชนทางศาสนา หรือ อีกชุมชนหนึ่งที่มีมากมายหลากหลายในเมืองโครินธ์สมัยนั้น ที่ตั้งขึ้นและมีสมาชิกแล้วมีคนในชุมชนนั้นนำการขับเคลื่อนชมรมหรือองค์กรที่ตั้งขึ้น แต่ท่านเปาโลเน้นย้ำว่า คริสตจักรเป็นชุมนุมชนที่พระเจ้าทรงเป็นเจ้าของในทุกระดับหรือมิติชีวิตของคริสตจักร และในตอนท้ายของจดหมายของท่านเปาโลยังบ่งชี้ลงชัดว่าแม้แต่ร่างกายของแต่ละคนในชุมนุมชนคริสตจักรก็เป็นของพระเจ้าด้วยเช่นกัน

อัครทูตเปาโลกล่าวย้ำในประเด็นนี้ตอนท้ายของบทนำจดหมายว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้สัตย์ซื่อ พระองค์ทรงเรียกพวกท่านให้สัมพันธ์สนิทกับพระบุตรของพระองค์ คือพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (1:9) ข้อสังเกตประการแรกคือ ในการที่สมาชิกคริสตจักรเข้ามาร่วมสามัคคีธรรมในชุมนุมชนคริสตจักรโครินธ์มิใช่เพราะเขาสมัครเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกด้วยตนเอง แต่เปาโลเน้นย้ำว่าที่เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมนุมชนคริสตจักรโครินธ์เพราะ “พระเจ้าทรงเรียก” ให้เข้ามาร่วมในสามัคคีธรรมในคริสตจักร พวกเขาเข้ามาเป็นสมาชิกของคริสตจักรโครินธ์ “ด้วยการทรงเลือก” ของพระเจ้า ยิ่งกว่านั้น เขาคนนั้นมิได้เป็นเพียงคนๆ หนึ่งขององค์กรนั้น แต่เขาร่วมในสามัคคีธรรมที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระเจ้า และพระองค์ทรงเป็นเจ้าของสามัคคีธรรมนั้น

ในบทนำของจดหมาย 1โครินธ์ เปาโลเน้นย้ำถึงสองครั้งด้วยกันว่า ชุมนุมชนคริสตจักรโครินธ์มิใช่ชุมนุมชนของพวกเขา แต่เป็นชุมนุมชนของพระเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์ และในช่วงท้ายของจดหมายนี้เปาโลได้อธิบายว่า ที่คริสตจักรขับเคลื่อนและมีชีวิตอยู่นี้เพราะเป็นพระราชกิจของพระวิญญาณของพระเจ้า (12:12-13) นี่คือหลักการความจริงรากฐานของคริสตจักร และที่ท่านเปาโลตั้งใจเน้นย้ำเรื้องนี้ก็เพราะมีส่วนที่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาความขัดแย้งท่ามกลางคริสเตียนด้วยกัน

เมื่อเราเชื่อมโยงประเด็นนี้ของอัครทูตเปาโลกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นท่ามกลางคริสเตียนด้วยกันในทุกวันนี้ เมื่อเราเกิดความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกันกับคริสเตียนคนอื่นๆ เวลานั้นเราพึงสำนึกและตระหนักรู้ชัดเจนว่าเราคือใคร เราเป็นของพระเจ้าทางพระเยซูคริสต์ และนี่เป็นความจริงทั้งในระดับชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตที่ร่วมกันเป็นชุมชนคริสตจักรด้วย จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามความจริงก็คือชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้า คริสตจักรก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้า ที่ครอบครองและปกครองโดยพระเจ้า ที่มีพระเจ้าเป็นเจ้าของ

ดังนั้น เมื่อเราเกิดความขัดแย้งสู้กันกับผู้เชื่อคนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกในคริสตจักรเดียวกับท่านหรือในคริสตจักรอื่นๆ สิ่งแรกที่เราพึงระลึกเสมอคือ คริสตจักรไม่ใช่ของเรา หรือ เราไม่ได้เป็นเจ้าของคริสตจักร และคริสตจักรก็ไม่ได้เป็นของคนที่อยู่ฝ่ายเรา หรือ พรรคพวกของเรา แล้วคริสตจักรก็ไม่ได้เป็นของเสียงคนส่วนใหญ่ หรือ เสียงคนข้างมากด้วย และก็ไม่ได้เป็นคริสตจักรของผู้ก่อตั้ง ไม่ได้เป็นคริสตจักรของตระกูลนั้นตระกูลนี้ แล้วคริสตจักรก็ไม่ได้เป็นของตระกูลและลูกหลานของตระกูลที่ถวายที่ดินตั้งคริสตจักรด้วย สำคัญครับ คริสตจักรไม่ได้เป็นของคนที่ถวายเงินจำนวนมากมหาศาลให้แก่คริสตจักรเช่นกัน คริสตจักรไม่ได้เป็นของศิษยาภิบาล ผู้ปกครองคริสตจักรคนนั้นคนนี้ หรือคริสตจักรไม่ได้เป็นของคณะธรรมกิจ หรือแม้แต่คริสตจักรก็ไม่ได้เป็นของภาค ของสภาฯ หรือของคณะนิกายโน้นนิกายนี้ แต่คริสตจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งเป็นของพระเจ้า(เท่านั้น)

รากฐานสัจจะประการนี้ทำให้เราคิดและกระทำแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ทำให้การคิดและการกระทำมุ่งเน้นที่จะแสดงออกถึงการเคารพยำเกรง ยกย่องพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดความขัดแย้งต่อสู้กัน ตัวอย่างเช่น

  • ถ้าเราเชื่อว่าชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้าอย่างจริงใจ เราจะทุ่มเทแสวงหาคำตอบและทางออกในความขัดแย้งตามแนวทางของพระเจ้า มากกว่าที่จะแสวงหาทุกแนวทางที่จะพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูก และเป็นฝ่ายชนะในการขัดแย้งนั้น
  • ถ้าเราเชื่อว่าชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้าอย่างจริงใจ เราจะไม่ยึดแน่นเกาะติดอยู่กับความคิดความปรารถนาของเราที่ต้องการให้เกิดขึ้นในคริสตจักร เพราะนั่นอาจจะเป็นความปรารถนาที่ผิด แต่เราควรมุ่งแสวงหาว่าพระเจ้าที่เป็นเจ้าของคริสตจักร ทรงมีมุมมองและพระประสงค์อะไรในชีวิตและการทำพันธกิจของชุมชนคริสตจักรแห่งนี้
  • ถ้าเราเชื่อว่าชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้าอย่างจริงใจ เราต้องตระหนักชัดว่า คริสตจักรเป็นเครื่องมือของพระเจ้าที่จะทรงใช้ทำพระราชกิจของพระองค์และตามพระประสงค์ของพระองค์ ดังนั้น ที่คริสตจักรมีชีวิตอยู่ก็เพื่อที่จะกระทำตามพระบัญชาของพระองค์ เพื่อเป็นตัวแทนที่จะสำแดงการครอบครองของพระเจ้าบน แผ่นดินโลกนี้ และคริสตจักรคือผู้ที่จะทำให้เกิดการสรรเสริญยกย่องพระเจ้า คริสตจักรมิใช่เครื่องมือของเราหรือของใครทั้งนั้น เพราะคริสตจักรเป็นของพระเจ้า

เมื่อเราตกอยู่ในภาวะของความขัดแย้ง จะเนื่องด้วยความโลภ โกรธ หลง หรือด้วยอารมณ์ร้ายของเรา หรือ เพื่อนคริสเตียนของเราก็ตาม ถ้าเราเชื่อว่า ชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้า ให้เรา “หยุด” แล้ว “อธิษฐาน” เมื่อเราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า เราสำนึกว่าเรากำลังอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ให้เราปลดปล่อย ละทิ้งความปรารถนาและความตั้งใจของเราที่จะเข้าไปควบคุมชุมชนคริสตจักรของพระเจ้า แต่ให้เรามอบกายถวายชีวิตให้เป็นเครื่องมือที่พระองค์จะใช้ตามพระประสงค์ของพระองค์ เมื่อเราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า เราต่างถ่อมจิตถ่อมใจถ่อมชีวิตของเราแต่ละคนลง การที่เราเข้าไปอยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์มิได้ทำให้สิ่งที่เราขัดแย้งเห็นต่างได้รับการแก้โดยอัตโนมัติอย่างอัศจรรย์ แต่เรากลับอยู่ภายใต้แสงสว่างใหม่ ที่จะเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิดของเราใหม่ จากการที่มุ่งเอาแพ้เอาชนะ “คู่ปรับ คู่ปรปักษ์ คู่แข่ง” ที่เราจะได้เป็นผู้ชนะในคริสตจักร แต่เราได้รับการเปลี่ยนแปลงความคิดและมุมมองในความขัดแย้งด้วยแสงสว่างใหม่ เรากลับเห็นว่า แท้จริงแล้วเราต่างเป็นเพื่อนร่วมทางที่จาริกแสวงหาพระประสงค์ของเจ้าของคริสตจักรตัวจริง เรื่องแพ้เรื่องชนะ เรื่องศักดิ์ศรีของฉัน เรื่องชื่อเสียงของฉันกลับกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่มุ่งสู่ชัยชนะของพระเจ้า เพื่อยกย่อง สรรเสริญ ให้เกียรติ และ ศักดิ์ศรีแด่พระเจ้า ผู้เป็นเจ้าของคริสตจักรตัวจริง

แต่จากประสบการณ์จริง ทุกอย่างมิได้รับการเปลี่ยนแปลงแบบราบเรียบ ง่ายดาย รวดเร็วอย่างที่พูดข้างบนนี้ ไม่เป็นไรครับ เพราะที่สำคัญคือการที่เราตระหนักรู้ชัดเจนว่าชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนของพระเจ้าที่เปลี่ยนแปลงจิตใจและความคิดของมนุษย์ ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือ เมื่อเรารู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ท่ามกลางภาวะขัดแย้ง ต่อสู้ ห้ำหั่นกับคริสเตียนด้วยกัน ให้เราหยุด นิ่ง ถอยหลัง แล้วเตือนจิตใจของตนเองว่า คริสตจักรเป็นของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

05 มีนาคม 2555

กระบวนทัศน์ความขัดแย้งของคริสเตียน: จากบทเรียนคริสตจักรโครินธ์

เมื่อพูดถึงประเด็นความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันของคริสเตียนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ส่วนมากก็จะพุ่งเป้ามองไปที่คริสตจักรโครินธ์ ไม่มีคริสตจักรไหนที่พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ได้บันทึกถึงความรุนแรงในการโต้เถียงขัดแย้งกันเท่าคริสตจักรโครินธ์ คริสตจักรแห่งนี้เปาโลได้ไปเยี่ยม และได้เขียนจดหมายถึงหลายครั้งหลายครา แต่ที่ปรากฏในพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่มีสองฉบับด้วยกัน และในเนื้อหาก็เป็นจดหมายที่มุ่งที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในคริสตจักรแห่งนี้

จดหมายที่เรารู้จักฉบับแรกคือ 1โครินธ์ (ซึ่งน่าจะเป็นจดหมายฉบับที่สอง โปรดอ่านใน 1โครินธ์ 5:9) จดหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่กล่าวถึงคนในคริสตจักรที่ไม่กินเส้นกัน ไปด้วยกันไม่ได้ ภายหลังคำนำทักทายของเปาโลในบทที่ 1 แล้ว เปาโลก็ได้เล่าว่าท่านได้ยินเรื่องของคริสตจักรโครินธ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง(เริ่มตั้งแต่ 1:10)

“พี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้า คนของนางคะโลเอได้เล่าเรื่องของท่าน(ทั้งหลาย)ให้ข้าพเจ้าฟังว่า
มีการทะเลาะวิวาทกันในระหว่างพวกท่าน (หลายครั้ง, อมตธรรม) ... พวกท่านต่างกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อปอลโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เคฟัส” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์” (1:11-12 ฉบับมาตรฐาน)

คำภาษากรีกที่ใช้ในพระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายถึง การทะเลาะวิวาทอย่างพาลเกเร กินความหมายถึงการถกเถียงกันอย่างโกลาหล หรือ ด้วยความขัดเคืองใจกันอย่างแรงด้วย และคำๆ นี้เปาโลได้ใช้อีกครั้งหนึ่งใน บทที่ 3 ข้อ 3 ที่ว่า “...เพราะเมื่อ(ท่าน)ยังอิจฉากันและขัดเคืองใจกัน พวกท่านก็อยู่ฝ่ายเนื้อหนังและประพฤติอย่างคนทั่วไปมิใช่หรือ?” (ดู 3:3-4) คริสตจักรโครินธ์ถูกทำให้ฉีกขาดเป็นชิ้นๆ มิใช่เพียงความขัดแย้งเรื่องเดียว แต่เกิดจากความขัดแย้งและความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกันในหลายเรื่อง

เมื่อเราอ่านพระธรรม 1 โครินธ์ เราสามารถประมวลรายการที่ทำให้คริสตจักรโครินธ์แตกออกเป็นเสี่ยงๆ จากความขัดแย้งด้านต่างๆ ดังนี้

• การแบ่งพรรคแบ่งพวกว่าตนเป็นคนของใคร พวกใคร กลุ่มไหน (ปัจจุบันก็จะต้องถามว่าสีอะไร?)
  • แต่ละคนเต็มไปด้วยความอิจฉา
  • ปัญหาวิกฤติจริยธรรมทางด้านเพศ
  • การขายบริการทางเพศ
  • การแต่งงานและการหย่าร้าง
  • ร่วมในการนมัสการรูปเคารพ
  • การแต่งตัวไม่สุภาพในที่ชุมนุมของคริสตจักร
  • ความเห็นแก่ตัวของผู้ที่มาร่วมในคริสตจักร
  • การพูดจาไม่สุภาพและเหมาะสม

เรื่องที่ไม่เหมาะสมถูกต้องที่กล่าวมาทั้งสิ้นนี้เป็นประเด็นท้าทายต่อการเสริมสร้างชีวิตคริสเตียนในวัฒนธรรมสังคมที่ไม่ใช่คริสเตียน บางคนที่เมืองโครินธ์ที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ แต่ก็ยังดำเนินชีวิตตามกระแสวัฒนธรรมและสังคมโครินธ์ และทำตามวัฒนธรรมนอกคริสต์ศาสนาที่พวกเขาเคยเป็นเคยทำมาก่อน ตัวอย่างเช่น การร่วมงานเลี้ยงใหญ่ด้วยอาหารที่ผ่านการถวายบูชาแก่รูปเคารพร่วมกับคนที่ไม่เชื่อในพระคริสต์ อีกทั้งการกระทำนี้เป็นหินสะดุดของพี่น้องคริสเตียนคนอื่นๆ อีกทั้งใช้การเข้าร่วมในงานเลี้ยงดังกล่าวแสดงถึงฐานะที่เหนือกว่าทางเศรษฐกิจ ที่คนจนในคริสตจักรที่ไม่สามารถมีเงินใช้จ่ายในงานเลี้ยงที่ฟุ่มเฟือยเช่นนี้ได้

ในที่นี้ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การเกิดความขัดแย้งไม่เห็นด้วยกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และ เป็นปรากฏการณ์หนึ่งในความสัมพันธ์ และเป็นประสบการณ์หนึ่งในความเป็นคริสเตียนด้วย แน่นอนว่าเราในฐานะคริสเตียนย่อมรู้สึกไม่สบายใจกับความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันในหมู่คริสเตียน ในพระคัมภีร์ก็แสดงให้เราเห็นชัดว่าสิ่งนี้ทำให้พระเจ้าไม่สบายใจด้วยเช่นกัน แต่ความขัดแย้งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของคริสเตียนเช่นกัน

ในที่นี้ขอกล่าวซ้ำเรื่องที่เคยกล่าวมาก่อนนี้ว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งและทะเลาะกันในหมู่คริสตจักรด้วยกันผมเคยคิดว่า “อยากจะย้อนยุคไปอยู่ในสมัยคริสตจักรในพระคัมภีร์ใหม่ หรือ ในสมัยคริสตจักรเริ่มแรกก็คงจะดียิ่ง คริสตจักรก็คงจะไม่ยุ่งยากโกลาหลอย่างที่เป็นอยู่นี้” แต่ถ้าเราอ่านถึงสภาพชีวิตชุมชนคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกทั้งจากจดหมายฝากที่เขียนถึงคริสตจักรต่างๆ โดยเปาโล และ จดหมายในพระธรรมวิวรณ์บทที่ 2-3 ที่เขียนถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดในเอเชีย เราท่านจะพบว่าคริสตจักรพบกับความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้น ข้อมูลความจริงนี้ให้กำลังใจกับเราว่าไม่ต้องประหลาดใจต่อการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งในคริสตจักรหรือในหมู่คริสเตียนด้วยกันในทุกวันนี้ แต่เราควรพร้อมที่จะสังเกตและเรียนรู้ถึงมุมมองของพระเจ้า แล้วติดตามการทรงนำของพระองค์ว่าจะแก้ไขจัดการสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นอย่างไร

ในครั้งต่อไปเราจะมาร่วมกันเรียนรู้ถึงวิธีการตอบสนองของเปาโลต่อประเด็นความขัดแย้งและการทะเลาะที่เกิดขึ้นในคริสตจักรและท่ามกลางชุมชนคริสเตียนในเมืองโครินธ์ เพื่อจะช่วยกันแสวงหาบทสรุปเชิงปฏิบัติ ตามหลักการทางคริสต์ศาสนศาสตร์ บนรากฐานพระวจนะของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

02 มีนาคม 2555

จงมีจิตใจเหมือนอย่างพระเยซูคริสต์...เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน (2)

อ่าน ฟิลิปปี 2:1-11

1ในเมื่อท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์
ได้รับการปลอบโยนจากความรักของพระองค์
ได้สามัคคีธรรมกับพระวิญญาณ
ได้รับความอ่อนโยนและความสงสาร

2ก็จงทำให้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีอย่างบริบูรณ์
โดย มีความคิดอย่างเดียวกัน
มีความรักอย่างเดียวกัน
มีใจเดียวกัน และ
มีเป้าหมายเดียวกัน

3อย่าทำสิ่งใดด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างเห็นแก่ตัว หรือด้วยความถือดี
แต่จงทำด้วยความถ่อมใจ ถือว่าคนอื่นดีกว่าตน

4แต่ละคนไม่ควรมุ่งหาประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว
แต่ควรคิดถึงประโยชน์ของคนอื่นด้วย

5ท่านควรมีท่าทีแบบเดียวกับพระเยซูคริสต์

6ผู้ทรงสภาพพระเจ้า แต่ไม่ได้ยึดติดในความเท่าเทียมกับพระเจ้า

7พระองค์กลับทรงสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส บังเกิดเป็นมนุษย์

8และเมื่อทรงปรากฏเป็นมนุษย์ พระองค์ทรงถ่อมพระองค์ลง และยอมเชื่อฟังแม้ต้องตายบนไม้กางเขน!

9ฉะนั้น พระเจ้าจึงทรงเชิดชูพระองค์ขึ้นสู่ที่สูงสุด และประทานพระนามเหนือนามทั้งปวงแก่พระองค์

10เพื่อทุกชีวิตในสวรรค์ บนแผ่นดินโลก และใต้แผ่นดินโลก จะคุกเข่าลงนมัสการพระนามของพระเยซู

11และทุกลิ้นจะยอมรับว่าพระเยซูคริสต์คือองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระเจ้าพระบิดา
(ฟีลิปปี 2:1-11 อมตธรรม)

เมื่ออ่านพระธรรมฟีลิปปีตอนนี้ ทำให้คิดถึงภาพชีวิตที่พระเยซูคริสต์ที่สำแดงออกอย่างเป็นรูปธรรมตามเนื้อหาในพระธรรมตอนนี้ พระเยซูคริสต์ทรงถ่อมพระองค์ลงเป็นเยี่ยงทาสที่ล้างเท้า(ซึ่งเป็นงานของทาส)ให้สาวก (ยอห์น 13:1-20) ที่พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้เพื่อสาวกจะกระทำตามแบบอย่างของพระองค์ทรง ที่สาวกควรล้างเท้าซึ่งกันและกัน(ข้อ 12-15) เพราะก่อนหน้านี้เกิดถกเถียงและการขัดใจกันว่า ในบรรดาสาวกของพระเยซูใครคือคนที่ใหญ่ที่สุด และยังเกิดความขุ่นข้องหมองใจของบรรดาสาวกที่มารดาของยากอบและยอห์นมาทูลขอตำแหน่งซ้ายขวาของพระเยซูให้กับลูกของตน และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่พระเยซูคริสต์สอนเรื่องการเป็นใหญ่ด้วยการรับใช้ เป็นการสอนด้วยการกระทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเพื่อสาวกจะรู้ซึ้งตรึงใจสัมผัสได้ และนี่ก็เป็นการสอนด้วยการกระทำเพื่อให้เหล่า สาวกรับใช้ซึ่งกันและกัน มิเพียงแต่เป็นแบบอย่างและเป็นการสอนแก่สาวกเท่านั้น แต่ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแต่ละคนด้วย

ในพระธรรม ฟีลิปปี 2:1-11 เปาโลให้ภาพชีวิตของพระคริสต์ที่ทรงถ่อมลงจนถึงที่สุด ไม่มุ่งที่จะแสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตนแต่พระองค์แสวงหาที่จะสร้างประโยชน์แก่คนอื่นๆ มากกว่า พระองค์ยอมสละทุกสิ่งในชีวิต แม้แต่ศักดิ์ศรี สถานภาพความทัดเทียมกับพระเจ้า การมีอำนาจเหนือกว่า แต่พระองค์กลับยอมรับสภาพทาสในการเกิดเป็นมนุษย์ของพระองค์ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วยังสละสถานภาพที่ได้รับจากพระเจ้า แต่ใช้ชีวิตในการรับใช้คนอื่นเยี่ยงทาส แล้วยอมใช้ชีวิตและสละชีวิตของพระองค์เพื่อคนอื่นจะได้รับชีวิตใหม่เพราะการเสียสละพระชนม์ชีพของพระองค์ นี่คือพระลักษณะเฉพาะที่พระคริสต์ทรงสำแดง ซึ่งในสายตาของเราและพฤติกรรมของเราคริสเตียนทุกวันนี้เรามัก “ไม่ยอมเสียศักดิ์ศรี หรือ ให้ใครมาหลู่เกียรติเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของเรา” ทั้งๆ ที่เราไม่มีศักดิ์ศรี เกียรติศักดิ์เท่าพระเยซูคริสต์ นอกจากศักดิ์ศรีจอมปลอมที่มนุษย์สมมติสวมให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ อธิการ นายกสภาฯ และ ฯลฯ แต่คริสเตียนเรากลับหวงศักดิ์ศรี สิทธิ และเกียรติยศจอมปลอมเหล่านี้

เปาโลได้ใช้ภาพชีวิตที่ถ่อมสุดๆ ของพระคริสต์สำแดงให้คริสเตียนในฟีลิปปีได้ตระหนักชัด และ ในเวลาเดียวกันเป็นการสำแดงพระลักษณะถ่อมของพระคริสต์เจ้าแก่คริสเตียนไทยในยุคปัจจุบันนี้ด้วย พระลักษณะถ่อมของพระคริสต์นี้มิใช่เพียงเพื่อให้เราตระหนักถึงสัมพันธภาพของเรากับพระคริสต์เท่านั้น แต่พระลักษณะถ่อมของพระคริสต์มุ่งเน้นที่สำแดงว่าถ้าเรายอมเป็นสาวกที่เอาเยี่ยงแบบอย่างชีวิตของพระคริสต์เราจะต้องมีความสัมพันธ์และปฏิบัติต่อกันอย่างไรกับคนรอบข้าง และกับคริสเตียนด้วยกันที่เราต้องข้องเกี่ยวสัมพันธ์และทำงานด้วย จากพระธรรมตอนนี้เราได้รับการทรงเรียกจากพระเยซูคริสต์ให้เลียนแบบชีวิตถ่อมที่เสียสละของพระองค์ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา แต่มิใช่ดำเนินชีวิตประจำวันตามแนวทางที่เราต้องการและเห็นว่าดีหรือ “ตามใจฉัน” แต่ทรงเรียกให้เรามีใจที่เคารพเทิดทูนพระองค์ด้วยการถ่อมชีวิตลง ยอมสละให้ชีวิตของตน และการปฏิบัติขับเคลื่อนชีวิตการงานที่สำนึกว่าเป็นการถวายพระเกียรติสิริแด่พระองค์

เป็นความจริงว่า การกระทำเช่นนี้มิใช่กระทำได้ง่าย ในฟีลิปปี 2:1 ได้เริ่มบ่งชี้ชัดเจนว่า

“ในเมื่อเราได้รับกำลังใจจากพระคริสต์ เนื่องในการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์
ในเมื่อเราได้รับการปลอบโยนจากความรักของพระคริสต์
ในเมื่อเราได้ติดสนิทสามัคคีธรรมกับพระวิญญาณ
ในเมื่อเราได้รับพระลักษณะที่อ่อนโยน และ จิตใจที่เมตตาสงสารของพระคริสต์”

จากนั้นเปาโลกล่าวต่อไปว่า

“ก็ให้เรามีความคิดอย่างเดียวกัน
มีความรักอย่างเดียวกัน
มีใจอย่างเดียวกัน และ
มีเป้าหมายเดียวกัน”...

การที่เราจะมีมุมมองและการกระทำในชีวิตเช่นนี้ได้ เปาโลได้ชี้ชัดว่ามิใช่เพราะความสามารถของแต่ละคน แต่ที่เราดำเนินชีวิตประจำวันตามที่พระคริสต์ทรงเรียกได้เช่นนี้เพราะ พระองค์ได้เสริมสร้าง และ หนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เรา เราจึงจะสามารถดำเนินชีวิตเช่นนี้ได้ บางท่านอาจจะถามในใจว่า แล้วพระคริสต์ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เราอย่างไร? เปาโลชี้ชัดว่าพระคริสต์ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังผ่านช่องทางต่อไปนี้?

1. พระคริสต์ทรงหนุนเสริมเพิ่มพลังชีวิตแก่เราผ่าน คำสอนและการมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างให้เรากระทำเยี่ยงพระองค์ที่โดยปกติแล้วเราท่านอาจจะกระทำเช่นนั้นไม่ได้

2. พระคริสต์ทรงสำแดงความรักเมตตาของพระองค์ต่อชีวิตของเรา (ซึ่งบ่อยครั้งที่เราไม่ใส่ใจ ไม่สำนึก) เมื่อเราได้ประสบ สัมผัส และมีประสบการณ์ตรงในความรักของพระคริสต์ ประสบการณ์ความรักดังกล่าวจึงเป็นพลังหนุนเสริมให้เราสำแดงความรักเยี่ยงพระคริสต์ที่มีต่อเราไหลล้นแก่คนอื่นรอบข้าง ยิ่งเรามีประสบการณ์ตรงที่ชัดเจนแค่ไหนย่อมเป็นพลังที่เราจะสำแดงความรักแบบพระคริสต์นี้มิใช่แก่เพื่อนบ้านของเราเท่านั้น แต่ต่อคนที่เรามองว่าเป็นศัตรูของเราด้วย

3. โดยการที่เราเป็นเพื่อนร่วมพระราชกิจขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อเรายอมมอบชีวิตความเชื่อศรัทธาของเราในพระคริสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมาสถิตในชีวิตของเรา และหนุนเสริมเพิ่มพลังในชีวิตเช่นเดียวกับพลังที่ให้พระคริสต์เป็นขึ้นจากความตายแก่เรา ด้วยกระบวนการทำงานขององค์พระวิญญาณบริสุทธิ์เช่นนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้ดำเนินชีวิตเยี่ยงแบบพระคริสต์มากๆ ขึ้น

หลายปีมาแล้วเมื่อผมทำหน้าที่ศิษยาภิบาลในคริสตจักรแห่งหนึ่ง เกิดความขัดแย้งอย่างขุ่นเคือง ฉุนเฉียว รุนแรงและบางตอนหยาบคายในกลุ่มผู้นำของคริสตจักรแห่งนั้น มีผู้นำคริสตจักรท่านหนึ่งที่กระทำต่อผู้นำคนอื่นๆ ในกลุ่มอย่างเลวทรามมุ่งร้าย ผมแทรกเข้าเหตุการณ์นั้นแล้วท้าทายอย่างสุภาพว่า ถ้าพระคริสต์อยู่ในวงสนทนาของเราวันนี้พระองค์จะทำอย่างไร ผู้นำคริสตจักรท่านนั้นตอบสวนมาอย่างทันควันว่า “ฉันไม่สนใจว่าพระเยซูจะทำอย่างไร ฉันไม่ใช่พระเยซู” ผมคันปากยิบๆ คิดในใจว่า “เห็นไหมล่ะ เพราะเราคิดอย่างงี้เอง” แต่ดีที่ไม่ได้โพล่งพูดออกมาเช่นนั้นด้วยพระคุณของพระเจ้า แต่ผมขอให้ทุกคนโปรดไม่ลืมพระกิตติคุณของพระคริสต์ว่า ด้วยพระคุณขององค์พระผู้เป็นเจ้าผ่านทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ทรงช่วยเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชีวิตของเราให้มีลักษณะเยี่ยงพระคริสต์มากยิ่งขึ้นถึงแม้ตามธรรมชาติในความเป็นตัวตนของเราที่ไม่มีความสมารถเพียงพอที่จะทำเช่นนั้นได้

คำกล่าวที่ยอมรับว่า “ฉันไม่ใช่พระเยซู” มักเป็นจุดแรกที่คริสเตียนใช้ในการแก้ตัว ตัวผมเองก็เป็นเช่นนั้นด้วย แต่นั่นมิใช่จุดจบ เมื่อใดก็ตามที่เรารู้และสำนึกได้ว่าเราเป็นผู้พกพร่องไม่สมบูรณ์ เราพร้อมที่จะหันกลับมาเชื่อพึ่งและไว้วางใจในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น แล้วเราจะค้นพบสัจจะความจริงว่า โดยทางพระเยซูคริสต์ เราจะสามารถกระทำทุกสิ่งได้ เพราะพระองค์ประทานพลังชีวิตแก่เรา (ฟีลิปปี 4:13)

ดังนั้น เวลาใดที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งกัน สิ่งแรกคงต้องตั้งสติและถามตนเองว่า “ฉันควรจะมีความคิดจิตใจอย่างพระคริสต์ในสถานการณ์นี้อย่างไร?” อย่าเพียงถามแต่ตนเองเท่านั้น แต่ให้ทูลถามพระเยซูคริสต์ด้วยจิตอธิษฐาน “องค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์คิดอย่างไรในสถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้? ข้าพระองค์จะสามารถทำเยี่ยงแบบอย่างของพระองค์ที่ถ่อมและยอมสละตนเองได้อย่างไรบ้าง?”

ยิ่งเรามุ่งมองไปยังพระคริสต์มากเท่าใด เรายิ่งค้นพบว่าเราควรจะกระทำอย่างไรในสถานการณ์ที่ขัดแย้งโต้เถียงกันซึ่งนำสู่การแตกแยกเอาแพ้เอาชนะกัน ยิ่งเราพึ่งพิงในพระเยซูคริสต์มากเท่าใด เรายิ่งจะพบกับพลังชีวิตที่เราไม่เคยคาดฝัน พลังชีวิตที่จะมีความคิดอย่างเดียวกัน มีความรักอย่างเดียวกัน มีใจเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกัน และที่จะถ่อมจิตถ่อมใจถ่อมชีวิตลงที่นำไปสู่การมีชีวิตเยี่ยงพระคริสต์มากยิ่งๆ ขึ้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499