26 มีนาคม 2555

ความรักเป็นเรื่องอะไรกันแน่:(3)

1โครินธ์ 13:4-7

ตามที่เราเคยอ่านมาแล้วใน 1โครินธ์ 13:4-7 ที่เปาโลอธิบายว่า ความรักนั้นมีคุณลักษณะ 7 ประการ และ 8 พฤติกรรมที่ไม่กระทำกันในความรัก

คุณลักษณะ 7 ประการในความรัก

ความรักนั้น....

อดทนนาน
มีใจปรานี(กระทำคุณให้, 1971)
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง(ประพฤติชอบ,1971)
ทนได้ทุกอย่าง(แม้ความผิดของผู้อื่น,1971)
เชื่ออยู่เสมอ(และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ,1971)
มีความหวัง(อยู่เสมอ)
ทรหดอดทนอยู่เสมอ(ทนต่อทุกอย่าง,1971)

พฤติกรรม 8 ประการที่ความรักไม่กระทำ

ความรัก...

ไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไหยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม(การประพฤติผิด, 1971)

ผมขอตั้งข้อสังเกตประการแรก ใน 1โครินธ์ 13:4-7 เปาโลคงมิได้ตั้งใจที่จะเขียนทฤษฎี หรือ คริสต์ศาสนศาสตร์ว่าด้วยความรัก แต่ที่แน่ๆ คือเปาโลกำลังตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ที่พร่องขาดในด้านความรัก แล้วเปาโลได้บ่งชี้ให้ชัดเจนลงไปว่า คุณลักษณะใดที่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ควรเติมเต็ม และพฤติกรรมอะไรบ้างที่ควรขจัดออกไปจากชุมชนคริสตจักรโครินธ์ ซึ่งมีความจริงอยู่มากทีเดียวว่า คำกล่าวของเปาโลตอนนี้ได้ตอบโจทย์ชีวิตของชุมชนคริสตจักรไทยในปัจจุบันด้วย

เปาโลได้ชี้ชัดลงไปว่า...

ในความรักนั้นย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าเปี่ยมด้วย “ความอดทน” และ พฤติกรรมใดๆ ที่แสดงออกมาจากรากฐานของความรักนั้นย่อมนำมาซึ่ง “คุณประโยชน์” แก่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ เพราะที่ยอมอดทนต่อกันและกันได้นั้นเพราะแต่ละคนในชุมชนคริสตจักรโครินธ์มีจิตใจที่ “เมตตาปรานี” ต่อกัน (เฉกเช่นพระคริสต์ที่ทรงมีจิตใจเมตตาปรานีต่อเราแต่ละคนที่เป็นคนบาป) ที่เปาโลกล่าวเช่นนี้ก็เป็นการตำหนิชี้ชัดว่า ชุมชนคริสตจักรโครินธ์ขาดจิตใจที่เมตตาปรานีต่อกัน ดังนั้น จึงอดรนทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมของคนอื่นๆ ในชุมชนคริสตจักรโครินธ์

นอกจากการที่จิตใจของสมาชิกคริสตจักรในโครินธ์มิได้หยั่งรากลงลึกใน “ความรักเมตตาปรานี” เยี่ยงพระคริสต์แล้ว จิตใจของสมาชิกในคริสตจักรโครินธ์กลับไปหยั่งรากลงในจิตใจที่ขุ่นมัว ขมขื่น ร้อนรุ่ม ด้วยอาการหรือพฤติกรรมที่ “อิจฉา อวดตัว หยิ่งผยอง หยาบคาย เห็นแก่ตัว ฉุนเฉียว ช่างจดจำความผิด(ของคนอื่น) ชื่นชมยินดีในความอธรรมจนนำไปสู่การประพฤติผิดเป็นปรกติธรรมดา” และทั้งสิ้นนี้ก็คือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกเรื่องในชุมชนคริสตจักรโครินธ์

ข้อสังเกตประการที่สอง จากตารางคุณลักษณะชีวิตที่หยั่งรากลึกลงในจิตใจที่เมตตาปรานีนั้นนำมาซึ่งคุณลักษณะสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ต้องมีในชุมชนของผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์คือ “ความอดทน” (โปรดสังเกตว่า เปาโลเน้นย้ำคุณลักษณะสำคัญของ “ความอดทน” ในชีวิตชุมชนคริสตจักรถึง 3 ครั้งด้วยกัน) ความอดทนในชีวิตเป็นพลังควบคุม “การเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง” ของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตและชุมชนคริสตจักร ระดับแรก ความอดทนเป็น “ห้ามล้อ” ของความอิจฉา อวดตัว หยิ่งผยอง หยาบคาย เห็นแก่ตัว ฉุนเฉียว อ้างอิงความผิดของคนอื่นในอดีตเก่าเก็บเพื่อความชอบธรรมของตนจะกระทำตอบโต้ที่รุนแรงขึ้น ระดับที่สอง “ความอดทน” ต่อการกระทำผิดของคนอื่น “ทนได้ทุกอย่างแม้กระทั่งการกระทำผิดของผู้อื่น” (1971) ดังนั้น เปาโลย้ำอย่างชัดเจนในที่นี้ว่า ชุมชนคริสตจักรจะไม่อ้างการกระทำผิดของคนอื่นมาเป็นความชอบธรรมของตนในการกระทำผิดหรือทำสิ่งที่ไม่สมควรต่อผู้อื่น ระดับที่สาม “อดทนในทุกเรื่อง” ถ้าคิดจะตัดสินใจเป็นสาวกดำเนินชีวิตตามพระเยซูคริสต์ในแต่ละวัน เราจะต้องอดทนในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นมาปะทะกับชีวิตของเรา เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ที่ถูกกล่าวร้าย เยาะเย้ย ถูกถ่มน้ำลายรด ถูกล้อเลียน สวมมงกุฎหนาม ถูกเฆี่ยน ถูกตอกและตรึงบนกางเขน การตอบสนองของพระคริสต์ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้คือ “อดทน อดทน และอดทนด้วยจิตใจที่เมตตาปราณี เพื่อกระทำคุณให้แก่คนทั้งหลายที่กระทำร้ายต่อพระองค์ คือให้เขาเหล่านั้นได้รับการยกโทษ เพื่อชีวิตจะมิได้พินาศ แต่จะพบกับคุณค่าแห่งชีวิตนิรันดร์”

ข้อสังเกตประการที่สาม เปาโลเขียนพระธรรมตอนนี้ที่แสดงถึงภาพลักษณ์หรือคุณลักษณะของชีวิตชุมชนคริสตจักรตามภาพลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ เปาโลเรียกร้องให้สมาชิกคริสตจักรโครินธ์ให้สำรวจและรับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนใหม่ตามแบบอย่างชีวิตของพระเยซูคริสต์ที่สำแดงให้เห็นเด่นชัด ตามที่เปาโลเคยกล่าวในพระธรรมฟีลิปปี บทที่ 2 ซึ่งในพระธรรม 1โครินธ์ 13:4-7 ถ้าเราเอาคำว่า “พระคริสต์” ไปแทนที่คำว่า “ความรัก” เราจะเห็นความหมายที่กล่าวนี้อย่างชัดเจน

พระคริสต์นั้นก็อดทนนานและมีใจปรานี(และกระทำคุณให้, 1971)
พระคริสต์ไม่อิจฉา
ไม่อวดตัว
ไม่หยิ่งผยอง
ไม่หยาบคาย
ไม่เห็นแก่ตัว
ไม่ฉุนเฉียว
ไม่ช่างจดจำความผิด
ไม่ชื่นชมยินดีในความอธรรม(กระประพฤติผิด, 1971)
แต่ชื่นชมยินดีในความจริง(การประพฤติชอบ, 1971)
พระคริสต์ทนได้ทุกอย่าง(แม้ความผิดของผู้อื่น, 1971)
เชื่ออยู่เสมอ(และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ, 1971)
มีความหวัง
และ(มี)ความทรหดอดทนอยู่เสมอ” (ทนต่อทุกอย่าง, 1971)

ถ้าพูดอย่างฟันธงก็คือ ให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนดำเนินชีวิตตามแบบเยี่ยงพระคริสต์

บางท่านคงพูดในใจว่า ... พูดง่ายแต่ทำยากครับ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น