16 มีนาคม 2555

วิธีที่ไม่แก้ปัญหา: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(1)

ผมได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งในภาษาอังกฤษที่เล่าถึงศิษยาภิบาลท่านหนึ่ง ผมขอเรียกชื่อของท่านว่าบารนาบัส(นามสมมติ) เป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ถ่อม จริงใจ เป็นผู้รับใช้ที่เอาใจใส่และทุ่มเทคนหนึ่ง ผู้รับใช้ท่านนี้เติบโตมาในคริสตจักรอิแวนเจอริเคิล แต่ท่านก็ได้รับเลือกให้มาเป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรเพรสไบทีเรียนในเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในอเมริกา ท่านพยายามที่จะพัฒนาการนมัสการพระเจ้าให้มีชีวิตชีวาตามประสบการณ์และวัฒนธรรมที่ตนได้รับการหล่อหลอมฟูมฟักมา เพื่อผู้เข้าร่วมนมัสการพระเจ้าจะได้สัมผัสกับความรักและการเอาใจใส่ของพระเจ้าในการนมัสการร่วมกัน ดังนั้น ท่านเริ่มนำเอาเพลงสรรเสริญที่ไม่ใช่เพลงนมัสการที่สมาชิกคริสตจักรคุ้นชินมาใช้ร้องสรรเสริญพระเจ้าในการนมัสการ ท่านเริ่มพัฒนาดนตรีที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้าที่เคยมีแต่ออร์แกนให้เป็นเครื่องดนตรีที่อนุชนนิยมในสมัยนี้ นอกจากนั้นแล้วอาจารย์บารนาบัสยังเชิญชวนและเปิดโอกาสให้แต่ละคนออกเสียงอธิษฐานพร้อมๆ กันในการนมัสการ ก่อนที่จะมีคนหนึ่งนำในการอธิษฐานอย่างที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำ ปรากฏว่ามีผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านรู้สึกไม่ชอบและไม่สบายใจ เหตุการณ์นี้ถูกนำเข้าในการประชุมของคณะธรรมกิจคริสตจักร ผู้ปกครอง 2-3 ท่านนั้นได้ตำหนิกล่าวว่าบารนาบัสอย่างรุนแรง ด้วยท่าทางที่ไม่ค่อยให้ความเคารพต่อศิษยาภิบาลของตนสักเท่าใดนัก แต่ในการประชุมธรรมกิจครั้งนั้นได้มีมติให้ทดลองใช้วิธีการใหม่ๆ ในการนมัสการพระเจ้าต่อไป และถ้าจำเป็นก็จะมีการปรับแก้เพื่อความเหมาะสมกับคริสตจักร มติของธรรมกิจครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านนั้น

หลังจากนั้น 2 วัน เมื่อบารนาบัสนั่งลงทำงานในสำนักงานของคริสตจักร ท่านก็พบเอกสารจากสำนักงานทนายความ เมื่ออ่านรายละเอียดในจดหมายทำให้บารนาบัสเครียดและไม่สบายใจอย่างยิ่ง เขาพบว่าหนึ่งในผู้ปกครองคริสตจักร 2-3 ท่านนั้นได้ฟ้องต่อศาลเพราะการเปลี่ยนวิธีการนมัสการพระเจ้าของบารนาบัสโดยมิได้ปรึกษาคณะธรรมกิจและสมาชิกก่อน และการนมัสการด้วยวิธีที่ไม่คุ้นชินเป็นการกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกและสมาธิในการนมัสการพระเจ้า บารนาบัสไม่เคยคิดเลยว่าตนจะถูกฟ้องร้องในเรื่องการทำพันธกิจการนมัสการ (ผมอ่านเรื่องนี้ก็ยังคงประหลาดใจในพฤติกรรมของผู้ปกครองคริสตจักร แต่ก็คิดถึงคำพูดของเพื่อนคนไทยท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า ฝรั่งที่นี่ไม่พอใจอะไรก็จะฟ้องร้องเอาความกันได้เกือบทุกเรื่อง)

แต่คริสตจักรในประเทศไทยเดี๋ยวนี้ก็ไม่น้อยหน้าคริสตจักรในอเมริกา ผู้นำคริสตจักรฟ้องร้องกันอย่างว่าเล่น ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่าคริสตจักรไม่ควรขึ้นโรงขึ้นศาล ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคริสตจักรกับกฎหมายบ้านเมือง หรือเราถูกคนภายนอกฟ้องร้องเราก็จำเป็นพิจารณาดำเนินการรับผิดชอบอย่างเหมาะตามกฎหมายในฐานะคริสเตียน แต่ถ้าเป็นเรื่องความไม่พอใจ ความขัดแย้ง หรือ แม้แต่การขัดผลประโยชน์ หรือ สิทธิ อำนาจในคริสตจักร ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่คริสเตียนควรเจรจาตกลงกันเองบนความเป็นชุมชนที่เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์เดียวกัน พึงสร้างความเข้าใจกันและกันบนรากฐานของพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ทำไมเราต้องเอาความขัดแย้ง การทะเลาะระหว่างคริสเตียนด้วยกันไปพึ่งพาผู้ที่มิได้เป็นคริสเตียนในการตัดสิน ทำไมเราใช้กฎหมายบ้านเมืองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ อำนาจ ตำแหน่ง ความสัมพันธ์ แทนที่จะใช้คริสต์จริยธรรมบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในการแก้ไขและเยียวยารักษาสัมพันธภาพที่มีต่อกัน?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เราเริ่มใช้กลวิธีทางการเมือง(ที่เป็นเรื่องผลประโยชน์และอำนาจ) ที่พิกลพิการของไทยมาใช้ในคริสตจักรอย่างเต็มตัว เราเห็นได้ทั้งในสภาคริสตจักร สหกิจคริสเตียน และองค์กรคริสเตียนอื่นๆ ขนาดใหญ่ จนขนาดเล็กในกลุ่มคริสเตียนชาติพันธุ์บางเผ่าพันธุ์ก็ติดเชื้อโรคการเมืองนี้อย่างงอมพระทัย(ขออภัยที่เอ่ยนามเพื่อความชัดเจน) เพราะเมื่ออำนาจแบบการเมือง และวิธีการได้มาซึ่งผลประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียง เข้าถึงคริสตจักรหรือองค์กรคริสเตียนแห่งใด ความรักเมตตา การเอาใจใส่กันและกันบนรากฐานพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ก็จะถูกเบียดและบังจนมิด พลังแห่งอำนาจชั่วก็จะยื้อให้เรื่องนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือบนศาลที่จะทำลายชีวิตคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนให้หมดแรงและตายไปในที่สุด

เรื่องราวที่คริสเตียนใช้กฎหมายบ้านเมือง หรือ การใช้การขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อเผชิญหน้าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสตจักร หรือ ระหว่างคริสเตียนด้วยกันนั้นมิใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เรื่องในทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคริสตจักรสมัยเริ่มแรก จากพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 เมื่อสมาชิกคริสตจักรคนหนึ่งในคริสตจักรแห่งนี้เกิดการโต้เถียงทะเลาะขัดแย้งกับคริสเตียนอีกคนหนึ่งในคริสตจักร เขาก็นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องขึ้นศาลของเมืองโครินธ์ แทนที่จะนำเรื่องนี้มาเจรจา พูดคุย สร้างความเข้าใจกัน และตัดสินภายในคริสตจักรโครินธ์ พฤติกรรมเช่นนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีฐานะมั่งมี หรือ เป็นผู้มีความรู้ในสังคมโครินธ์ ค่านิยมของคนมั่งมีในโครินธ์คือ ถ้าชนะคดีความในศาลก็เป็นการปกป้องเกียรติยศ เกียรติภูมิ ชื่อเสียง ศักดิ์ศรีของตนในสังคม และอาจจะได้รับค่าเสียหายเป็นเงินเป็นทองด้วย และนี่คือค่านิยมของคนชั้นสูงในเมืองโครินธ์ แต่สำหรับเปาโลแล้วท่านไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมเยี่ยงนี้ในคริสตจักร และนี่คือจดหมายที่ท่านเขียนถึงสมาชิกในคริสตจักรโครินธ์ว่า...

1เมื่อมีใครในพวกท่านเป็นความกันเขากล้าไปรับการพิพากษาจากคนไม่ชอบธรรม แทนที่จะรับจากธรรมิกชนหรือ? 2ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าธรรมิกชนจะพิพากษาโลก? และถ้าพวกท่านจะพิพากษาโลก ท่านไม่เหมาะจะพิพากษาเรื่องเล็กน้อยหรือ? 3พวกท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่าเราจะพิพากษาพวกทูตสวรรค์? ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งควรจะพิพากษาเรื่องของชีวิตนี้ 4เมื่อเป็นความกันในเรื่องชีวิตนี้ พวกท่านจะตั้งคนที่คริสตจักรไม่ยอมรับให้ตัดสินหรือ? 5ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อให้ท่านละอายใจ ในพวกท่านไม่มีสักคนหนึ่งที่มีสติปัญญาสามารถวินิจฉัยเรื่องระหว่างพี่น้องหรือ? 6แต่พี่น้องกับพี่น้องต้องถูกพิพากษาต่อหน้าคนที่ไม่มีความเชื่ออย่างนั้นหรือ? 7อันที่จริง เมื่อไปเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า? ทำไมท่านจึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า? 8แต่พวกท่านกลับทำร้ายกัน และโกงกันแม้กระทั่งพี่น้อง (1โครินธ์ 6:1-8 ฉบับมาตรฐาน)

เป็นการไม่เหมาะสมอย่างไรเมื่อคริสเตียนนำการทะเลาะขัดแย้งไปขึ้นโรงขึ้นศาล? ประการแรก ในคริสตจักรจะต้องมีคนที่มีความสามารถเหมาะสมในการช่วยแก้ไขในสิ่งที่ทะเลาะขัดแย้ง เปาโลฟันธงชัดว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งกันในคริสตจักรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของคริสตจักรที่จะต้องจัดการแก้ไข การที่คริสเตียนคนหนึ่งขัดแย้งกับคริสเตียนอีกคนหนึ่ง นี่มิใช่ความขัดแย้งส่วนตัว เพราะความขัดแย้งของสองคนนี้จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร ดังนั้น คริสตจักรจึงมีความชอบธรรมเหมาะสมที่จะเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้น การที่คริสเตียนไปฟ้องร้องคริสเตียนอีกคนหนึ่งให้ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลจะเป็นที่ดูถูก หรือ สมเพชในสายตาผู้ที่ไม่มีความเชื่อ ถึงแม้ว่าเราไม่พบในคำสอนของพระเยซูที่ห้ามคริสเตียนฟ้องร้องกันบนศาล แต่การที่จะเอาแพ้เอาชนะและพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูกบนศาลก็เป็นชีวิตคริสเตียนที่มิได้สำแดงชี้ชัดถึงชีวิตบนกางเขนของพระคริสต์เลย เปาโลได้ประณามคนที่เอาความขัดแย้งในคริสตจักรไปขึ้นโรงขึ้นศาลว่า “อันที่จริงเมื่อเป็นความกันพวกท่านก็ตกจากระดับที่ควร ทำไมท่านจึงไม่ยอมทนต่อการร้ายเสียดีกว่า? ทำไมท่านถึงไม่ยอมถูกโกงเสียดีกว่า?” (1โครินธ์ 6:7 ฉบับมาตรฐาน)

เปาโลได้วางเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับความขัดแย้งกันในคริสตจักรว่า มิใช่เพื่อเอาแพ้เอาชนะ มิใช่เพื่อการรักษาปกป้องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี ส่วนตัว แต่เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นในคริสตจักร เราจะรักษาชีวิตชุมชนคริสตจักร สัมพันธภาพ สามัคคีธรรมได้อย่างไรเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า ถึงแม้จะต้องเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ก็ขอรักษาชื่อเสียงของคริสตจักรและถวายพระเกียรติแด่พระคริสต์ ถึงแม้จะต้องเจ็บปวด แต่ก็ขอรักษามิให้เกิดบาดแผลในชุมชนคริสตจักร

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น