12 มีนาคม 2555

เราคิดและเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นผู้นำคริสเตียนอย่างไร?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน(1)

ในสมัยที่ผมยังเป็นศิษยาภิบาลคริสตจักร ผมมีโอกาสพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การเป็นศิษยาภิบาลกับเพื่อนศิษยาภิบาลและผู้ปกครองที่เป็นผู้นำคริสตจักรด้วยกัน บ่อยครั้งเราจะได้ยินผู้คนบอกว่า “คริสตจักรอาจารย์ประสิทธิ์” “คริสตจักรอาจารย์อภิเดช” “คริสตจักรอาจารย์พัชรา” “คริสตจักรผู้ปกครองสุเทพ”... ผมเข้าใจได้ครับว่านั่นเป็นการเรียกคริสตจักรแบบสั้นและง่ายและเป็นที่รู้เข้าใจกัน แต่การเรียกคริสตจักรเช่นนี้มีบางสิ่งบางอย่างที่บ่งบอกถึงเบื้องหลังของการเรียกชื่อคริสตจักรเช่นนั้น (ฟังดูคล้ายๆ กับ “รัฐบาลคุณชวน” “รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์” “รัฐบาลปูนิ่ม” หรือ “รัฐบาลคุณทักษิณ”) ทำให้ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า คริสตจักรนั้นเป็นของผู้นำคนนั้นๆ ทั้งๆ ที่หลักคิดหลักเชื่อของเราคือ คริสตจักรเป็นของพระเจ้าผ่านทางพระเยซูคริสต์

บุคลิกลักษณะเฉพาะของศิษยาภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักรหรือสถาบันคริสเตียนมีความเกาะเกี่ยวประสานสานเข้ากันอย่างยากที่จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดชัดเจนได้ จุดสำคัญในที่นี้คือเราจะยกย่องลักษณะการนำ เรายึดแก่นหลักความเชื่อความคิดของผู้นำคนๆ นั้นเป็นที่ตั้ง หรือการนำของผู้นำที่มุ่งสู่การยกย่องสรรเสริญพระคริสต์ และดำเนินตามพระประสงค์และน้ำพระทัยของพระองค์ หรือมุ่งที่จะเสริมสร้างสะสมบารมีชื่อเสียงและผลงานความสำเร็จของตัวผู้นำเอง ดังนั้น ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเมื่อมีใครเรียกคริสตจักรที่ผมรับใช้อยู่ว่า “คริสตจักรของอาจารย์ประสิทธิ์” นั่นเป็นเสียงสัญญาณเตือนที่เป็นเหมือนประกายแวบของฟ้าแลบในห้วงสำนึกของผมทันที

ในสังคมวัฒนธรรมไทยบ่อยครั้งเหลือเกินที่ผู้คนมักจะยึดตัวบุคคล หรือ ผู้นำเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจากในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ตาม เมื่อเรากลับมาพิจารณาในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกจากพระธรรม 1โครินธ์ เปาโลได้พูดตรงเข้าสู่ประเด็นนี้อย่างไม่อ้อมค้อมว่า

“พี่น้องทั้งหลาย
ข้าพเจ้าวิงวอนท่านในพระนามของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา
ขอให้ปรองดองกัน
อย่ามีความแตกแยกในพวกท่าน
แต่ขอให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในความคิดและในความเห็น
พี่น้องทั้งหลายของข้าพเจ้า
คนของนางคะโลเอได้เล่าเรื่องของท่านให้ข้าพเจ้าฟังว่า
มีการทะเลาะวิวาทกันในระหว่างพวกท่าน
พวกท่านต่างกล่าวว่า
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อปอลโล” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เคฟัส” หรือ
“ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์” (1:10-12)

สาเหตุสำคัญของการแตกแยกขัดแย้งกันในคริสตจักรโครินธ์มาจากการที่ในคริสตจักรมีหลายพรรคหลายพวกที่แตกต่างกัน แล้วสมาชิกคริสเตียนก็เอาตนเองเข้าไปเป็นคนในพรรคนั้น พวกนี้ สีนั้น สีนี้ และนี่คือรากฐานของความแตกแยกขัดแย้งในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ แล้วนำสู่การเกิดปัญหาในชุมชนผู้เชื่อแห่งนี้ การที่มี “ผู้นำของหลากหลายพรรคและพวก” คือตัวตัดตัวหั่นชีวิตคริสตจักรออกเป็นชิ้นเป็นเสี่ยง และเมื่อความรักและการชื่นชมในตัวผู้นำแข่งขันรุนแรงขึ้นกระทั่งสิ่งนี้กลายเป็น “รูปเคารพ” ในชุมชนคริสตจักร หรือ ในสถาบันชุมชนคริสเตียน แล้วสมาชิกในแต่ละพวกแต่ละพรรคต่างแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำของตน พระเอกของตน แทนที่จะจงรักภักดีต่อพระคริสต์ และสำนึกว่าชุมชนคริสตจักรที่เป็นของพระคริสต์

ในพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 3 เปาโลพยายามบ่งชี้มุมมองที่ถูกต้องให้แก่สมาชิกในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ เพื่อพวกเขาจะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับผู้นำในชุมชนคริสตจักร และ ชุมชนสถาบันคริสเตียน

“อปอลโลคือใคร? เปาโลคือใคร?
คือผู้ปรนนิบัติที่สอนพวกท่านให้เชื่อ
ตามงานที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้แต่ละคน
ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดน้ำ แต่พระเจ้าทรงทำให้เติบโต
เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดน้ำไม่สำคัญอะไร
แต่พระเจ้าผู้ทรงให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ
คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำก็เป็นพวกเดียวกัน และ
ทุกคนก็ได้บำเหน็จตามการงานของตน
เพราะว่าเราร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า
ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า เป็นตึกของพระองค์...” (3:5-9)

จากพระธรรม 1โครินธ์ เราเห็นได้ว่าสมาชิกในชุมชนคริสตจักรโครินธ์เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย บางกลุ่มสนับสนุนความคิดและการทำงานแบบเปาโล บางกลุ่มยืนหยัดเคียงข้างฝ่ายอปอลโล ซึ่งเป็นนักเทศน์ฝีปากดี เป็นคนที่มีฐานะในสังคม มีการศึกษา และมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในเมืองโครินธ์ แล้วยังยอมตนเป็นผู้นำในคริสตจักร การที่สมาชิกในชุมชนคริสตจักรเลือกข้างเลือกฝ่าย หรือ เลือกที่จะอยู่และสนับสนุนผู้นำคริสตจักรคนใดคนหนึ่งนั้น เป็นการกระทำที่มีความคิดและเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากวิธีคิดแบบพระเยซูคริสต์ เพราะผู้นำทั้งสองคนนี้ต่างเป็นคนใช้ของพระเจ้าเหมือนกัน ถึงแม้ว่า ทั้งสองมีบทบาทและความสามารถที่แตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นผู้นำทั้งสองต่างร่วมในเป้าประสงค์เดียวกันของพระเยซูเจ้าในคริสตจักร ประเด็นที่เปาโลกล่าวได้อย่างชัดเจนในที่นี้คือ การเป็นคนใช้ของพระเจ้ามิใช่คนที่สำคัญเลย แต่พระเจ้าต่างหากที่ทรงเป็นเอกเป็นหลักในชีวิตและพันธกิจของคริสตจักร เพราะพระเจ้าคือเจ้านายของคนใช้ของพระองค์ พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวที่สามารถทำให้คริสตจักรเติบโตขึ้น พระองค์ทรงเป็นเจ้าของคริสตจักร ไม่ว่าจะเปรียบเทียบคริสตจักรว่าเป็นไร่นาของพระเจ้า หรือ เปรียบว่าเป็นตึกของพระเจ้าก็ตาม

เปาโลกล่าวอย่างฟันธงในข้อที่ 21 ว่า “เพราะฉะนั้น อย่าให้ใครยกมนุษย์ขึ้นอวด...” เป็นการดีที่เราจะชื่นชมในตัวผู้นำคริสตจักร แต่การชื่นชมนั้นต้อง ไม่ นำไปสู่การคุยโตโอ้อวดจนก่อเกิดการขัดแย้งแตกแยกในคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียน

ต่อไปนี้เป็นเกณฑ์ที่ใช้เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพและประสิทธิภาพของผู้นำในคริสตจักร และ สถาบันคริสเตียน: สมาชิกคริสตจักรหรือสถาบันกล่าวถึงผู้นำคนนั้นอย่างไร? พวกเขาลุกขึ้นเลือกข้างสนับสนุนผู้นำคนใดคนหนึ่ง หรือรวมตัวกันต่อต้านผู้นำคนใดคนหนึ่งหรือไม่? พวกเขาขุดหลุมพราง หรือ วางกับดักให้ผู้นำคนหนึ่งทะเลาะต่อสู้กับผู้นำอีกคนหนึ่งหรือไม่? หรือพวกเขามองเห็นว่าผู้นำทุกคนในคริสตจักรและองค์กรคริสเตียนเป็นคนใช้องค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่สำคัญสุดขององค์กรหรือไม่?

เมื่อผมมองย้อนถึงในช่วงเวลาที่ผมเป็นศิษยาภิบาล ผมเห็นว่าในการทำงานของผมในชุมชนคริสตจักร ความเชื่อเหล่านั้นง่ายเหลือเกินที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากสับสนขึ้นในคริสตจักรที่ผมรับใช้ มีบ่อยครั้งในตอนนั้นที่ผมมักลืมตัวแล้วคิดว่านั่นเป็นคริสตจักรของผม ดังนั้นผมจึงทุ่มเท แต่เป็นการทุ่มเทที่ผิดพลาด เพราะผมทุ่มเทตามความปรารถนาตามความคิดความเข้าใจของผมเอง ซึ่งมักนำความเสียหายสับสนมาสู่ชุมชนคริสตจักร และสิ่งดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคริสตจักรเหล่านั้นมิใช่ผมที่ควรได้รับการยอมรับยกย่อง เพราะนั่นจะมองว่าเป็นความสำเร็จของผมไม่ได้ พระเจ้าต่างหากที่ทรงเรียกให้ผมไปรับใช้พระองค์ในชุมชนคริสตจักรเหล่านั้น แล้วพระองค์ก็ทรงอวยพระพรชีวิตและคริสตจักรเหล่านั้นให้เข้มแข็งและเกิดผลขึ้น ที่เกิดความสำเร็จมิใช่เพราะความเก่งกาจสามารถของผม เพราะพระเจ้าทรงอวยพระพรคริสตจักรเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผมไปรับใช้(ก็ได้) และสิ่งนี้ผมก็เห็นชัดว่า เมื่อผมออกจากการรับใช้ในคริสตจักรเหล่านั้น พระเจ้าก็ยังทำงานของพระองค์ในชีวิตชุมชนคริสตจักรเหล่านั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลง เติบโต และเกิดผลตามที่พระองค์ทรงอวยพระพร

พูดกันในทางปฏิบัติแล้ว ผู้นำคริสตจักรและสถาบันคริสเตียนมิใช่คนที่สำคัญมากมายอะไร เพราะต่างก็เป็นคนใช้ที่ต้องสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า และพร้อมถ่อมชีวิตลงถึงที่สุดในการรับใช้พี่น้องในชุมชนคริสตจักรในพระนามของพระเยซูคริสต์ พระเจ้ามิได้เรียกผู้นำมาสร้างความสำเร็จแก่คริสตจักร หรือองค์กรของพระองค์ แต่ทรงเรียกให้มารับใช้คริสตจักรและองค์กรเหล่านั้นอย่างสัตย์ซื่อตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น