08 สิงหาคม 2564

ของฝากวันสตรีแห่งชาติ 2021: แนวทางขจัดความเครียดสำหรับสตรีคริสเตียน



มีคนพูดไว้ว่า “สตรีกับความเครียดเป็นของคู่กัน”

ทุกวันนี้ชีวิตของท่านได้รับพระพร หรือ มีแต่ความเครียด?

กล่าวได้ว่า ไม่ว่าชีวิตในบ้านหรือนอกบ้านของสตรีทุกวันนี้  ไม่ว่าจะเป็นแม่ เป็นย่า หรือ ยาย หรือเป็นสตรีทุกวัยต่างต้องรับมือกับความเครียด  สำหรับสตรีคริสเตียนแล้วเรามีแนวทางในการขจัดความเครียด 10 ประการดังนี้

  1. แต่ละวัน มีเวลาที่จะใกล้ชิดกับพระเจ้า  เช่น บางคนเริ่มวันใหม่เมื่อตื่นนอนที่จะมีเวลาสงบอธิษฐาน สนทนา ใกล้ชิดกับพระเจ้า
  2. เตรียมแผนการใช้ชีวิตสำหรับวันพรุ่งนี้ในค่ำคืนนี้  บางคนจะใช้เวลาก่อนนอนในการเตรียมแผนการใช้เวลาชีวิตสำหรับพรุ่งนี้ หรือ แผนงานของตนในวันพรุ่งนี้
  3. ให้จัดลำดับงานที่จะทำในแต่ละวันตามลำดับความสำคัญ
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ
  5. ทำสิ่งที่เอื้อให้ตนเองมีความสุข ชื่นชมยินดี
  6. ให้หว่านเมล็ดแห่งความเมตตาลงในชีวิตของคนอื่นรอบข้าง
  7. ทบทวน รวบรวม รักษา ความทรงจำดี ๆ แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีในชีวิต
  8. ยิ้มและหัวเราะได้ในทุกสถานการณ์ชีวิต
  9. สรรเสริญ ขอบพระคุณพระเจ้าในทุกสิ่งที่พระองค์อวยพระพร
  10. อธิษฐานสม่ำเสมอ ในทุกสถานการณ์ชีวิตตลอดวันที่ประสบพบเจอ

 

พระองค์ทรงเจิมศีรษะข้าพระองค์ด้วยน้ำมัน(พระพร)
จน ถ้วยแห่งชีวิต ของข้าพระองค์เปี่ยมล้น
(สดุดี 23:5 สมช.)

เอมมาอูส

พระคริสต์มาพบแม่ในความวุ่นวายสับสน

 



โดยปกติทั่วไป  เรามักจะหาเวลาที่สงบ  เวลาที่เราอยู่คนเดียวเพื่อจะใกล้ชิดองค์พระผู้เป็นเจ้าในแต่ละวัน 

แต่เมื่อมีโอกาสคุยเรื่องการมีเวลาส่วนตัวกับพระเจ้ากับผู้ที่กำลังเป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกน้อย   คุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกน้อยคนหนึ่งถามโพล่งออกมาว่า  “ตาย  ตาย  ตาย แล้วคนที่เป็นแม่ลูกอ่อนอย่างฉันจะไปหาเวลาอย่างงั้นมาใกล้ชิดพระเจ้าได้ยังไง?   ตอนที่ฉันเป็นสาวยังไม่มีลูกน้อยฉันทำของฉันได้ไม่มีปัญหา   แต่ลองมาเป็นแม่ลูกอ่อนอย่างฉันบ้างซิ   แล้วจะรู้ว่า  ไม่มีเวลาอยู่คนเดียว  เวลาที่เงียบสงบกับพระเจ้าหรอก   ใจ...ฉันก็อยากจะได้ใกล้ชิดพระเจ้า   ฉันจะได้กำลังจากพระองค์   ทุกวันนี้ฉันเหนื่อยจนสายตัวแทบจะขาดอยู่แล้ว   เจ้าของเสียงเงียบไป  ผมเงยหน้าขึ้นพบว่าเธอเอามือข้างหนึ่งปาดน้ำตาอย่างเงียบๆ

อีกเสียงหนึ่งข้างหลังผมเอ่ยขึ้นว่า... ฉันเห็นใจเธอมากนะ   เมื่อตอนฉันต้องเลี้ยงลูกน้อยเป็นอย่างงี้จริง ๆ นอกจากต้องให้ลูกกินนมจนหลับและฉันก็หลับไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน   ในตอนค่ำคืนครั้งแล้วครั้งเล่า  ต้องลุกขึ้นมาให้นม  เปลี่ยนผ้าอ้อม  เช้ามาหลายครั้งที่ลูกน้อยตื่นก่อนแล้วปลุกให้ฉันตื่น   เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังที่จะให้เฝ้าเดี่ยวตอนเช้าค่ะ  “น่าจะบอกว่าเฝ้าเจ้าตัวเล็กนี่มากกว่า”

คุณแม่ลูกสามที่ลูกเริ่มโตแล้ว เธอได้เล่าจากประสบการณ์ตรงของเธอว่า สำหรับฉันแม้ว่าตื่นนอนเช้า ฉันตื่นก่อนลูกน้อย ต้องรีบชงกาแฟ แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กตื่นก็ต้องไปจัดการกับเขา กว่าจะเสร็จกาแฟร้อนบนโต๊ะก็กลายเป็นกาแฟเย็นไปแล้ว จากนั้น แม่ลูกอ่อนก็ต้องจัดการโน่นจัดการนี่ไปทั้งวัน รวมถึงการเตรียมอาหารให้ลูก ๆ สามี  บอกได้เลยค่ะว่าเหนื่อย  เหนื่อยสุด ๆ เลย แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านมาได้หลายปี แต่เมื่อมาเล่าตอนนี้ก็ยังรู้สึกถึงความเหนื่อยนั้นได้อยู่เลย

ผมสรุปด้วยความเห็นใจว่า ถ้าเช่นนั้นคุณแม่ลูกอ่อนเลยไม่มีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าส่วนตัว   แล้วแม่ลูกอ่อนจะได้รับการเสริมกำลังจากพระเจ้าได้อย่างไรครับ?

ผมพูดยังไม่ทันสิ้นประโยคดีก็มีเสียงสตรีเสียงใหญ่วัยกลางคนดังขึ้นมาว่า  “ใครบอก ใครบอกว่าเราแม่ลูกอ่อนไม่มีโอกาสที่จะอยู่ใกล้ชิดส่วนตัวกับพระเยซูคริสต์?   จากประสบการณ์ของฉันที่เลี้ยงลูกน้อยมาสี่คน บอกได้เลยว่า ฉันมีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระเยซูคริสต์มากกว่า  แตกต่างกว่า  พิเศษกว่า  และต้องบอกตรง ๆ ว่า ฉันได้เรียนรู้อย่างมากว่าด้วยการใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม เช่นอยู่คนเดียว สงบ เงียบ ฉันว่าไม่ใช่ แต่ฉันพบว่า เราใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าอย่างแนบแน่นเมื่อเราต้องมีชีวิตที่วุ่นวายและฉันพบพระเยซูคริสต์อยู่ในสถานการณ์นั้นกับฉัน  ร่วมในความวุ่นวายนั้นด้วย  ฉันมีกำลังใจมากขึ้นนะ

เมื่อฉันต้องทำความสะอาดลูกน้อย  ฉันพูดคุยกับพระองค์ขอทรงชำระล้างให้ฉันสะอาดอย่างฉันทำความสะอาดแก่ลูกฉัน   

บางครั้งเมื่อลูกงอแงร้องไห้เพราะไม่สบาย ฉันไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เขาก็บอกฉันไม่ได้  ด้วยความเชื่อฉันอธิษฐานขอพระเยซูโปรดวางมือและรักษาลูกของฉัน หลายครั้งที่ฉันพบว่าพระองค์ได้รักษาลูกฉันให้หาย ทำให้ความเชื่อของฉันมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น  ฉันยังมีเวลามีโอกาสพูดคุยกับพระองค์ในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องในใจของฉัน ไม่ว่าเวลาที่ฉันอาบน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัว หรือเวลาที่ฉันล้างจาน

เมื่อฉันพาลูกน้อยไปเล่นที่สนามเด็กเล่น  ฉันขอบพระคุณพระเจ้าที่ลูกสนุก ลูกพบเพื่อน และฉันได้พบเพื่อนบ้านในชุมชน ฉันขอบพระคุณพระเจ้า ฉันอธิษฐานเผื่อพวกเขา

สำหรับประสบการณ์ของฉัน ฉันอยากเป็นกำลังใจให้แม่ลูกอ่อนว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตาม เราใกล้ชิดติดสนิท พูดคุยปรึกษาพระเจ้าของเราได้ เราฟังพระองค์ได้ และหลายครั้งเมื่อฉันมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่เป็นแม่ลูกอ่อนคนอื่น ๆ มีโอกาสพูดคุย ปรึกษากัน  ฉันพบว่า หลายเรื่องที่ฉันเคยอธิษฐานทูลขอได้รับคำตอบผ่านเพื่อนบ้านเหล่านั้น

อีกเสียงหนึ่งพูดขึ้นว่า ใช่สินะ ถูกของพี่เขา ทุกสถานการณ์ชีวิตเราใกล้ชิดติดสนิทกับพระเจ้าได้ ท่ามกลางปัญหา วิกฤติชีวิตที่เราพบ พระเยซูคริสต์อยู่และร่วมกับเราในสถานการณ์นั้น ให้เรามองให้เห็นพระราชกิจของพระองค์ในแต่ละสถานการณ์ชีวิตของเรา ในเวลาเช่นนี้เองที่เรามีโอกาสใกล้ชิดติดสนิทกับพระองค์   รับกำลังเสริมหนุน รับการทรงนำ รับสติปัญญาความนึกคิดจากพระองค์ ทำให้ชีวิตการเป็นสาวกของเราเติบโตขึ้น   และยังมีโอกาสที่จะรับใช้ซึ่งกันและกันกับเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น

และนี่มิใช่หรือที่เราได้รับพระคุณของพระเยซูคริสต์วันต่อวันเมื่อเราดำเนินชีวิตไปกับพระองค์ในทุกสถานการณ์จริงในชีวิต

ผมอยากจะตะโกนบอกคนทั่วไปว่า เราสามารถใกล้ชิดติดสนิทกับพระเยซูคริสต์ในสถานการณ์ที่ว้าวุ่น สับสน วุ่นวาย อึกทึก และ วิกฤติอย่างแน่นอน  และ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระคริสต์ต่างหากที่เข้ามาหาเราและร่วมชีวิตกับเราในสถานการณ์ที่วุ่นวายสับสน   เราไม่จำเป็นต้องตามหาพระองค์ครับ!

เอมมาอูส

05 สิงหาคม 2564

การเลี้ยงลูกของแม่: เป็นการสร้างสาวกพระคริสต์!

เราเคยคิดและใส่ใจไหมว่า  การเลี้ยงลูกของแม่คือการเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์ทั้งในตัวแม่เอง และ ในชีวิตของลูกด้วย?

ปัจจุบันในวงการคริสตจักรพูดถึงเรื่อง “การสร้างสาวกพระคริสต์”   ส่วนใหญ่เรามักหมายความว่า ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรเสริมสร้างสมาชิกคนอื่นๆให้มีชีวิตประจำวันให้ดำเนินชีวิตอย่างชีวิตและตามคำสอนของพระเยซูคริสต์

แต่โอกาสทอง ของสตรีที่เลี้ยงลูกน้อย จะได้รับการเสริมสร้างให้มีชีวิตที่เป็น “สาวกพระคริสต์” ผ่านกระบวนการเป็นแม่ลูกอ่อน ที่พวกผู้ชายต้องอิจฉา?   เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่ดีเช่นนี้

ที่สำคัญประการต่อมาคือ   การเสริมสร้าง “ชีวิตสาวกพระคริสต์” ในกระบวนการเลี้ยงดูลูกน้อยของแม่ลูกอ่อน   เป็นโอกาสที่ตนจะเสริมสร้าง “ชีวิตสาวกพระคริสต์” ในชีวิตของตนเอง (Personal Discipleship Growth: PDG)   ผ่านเหตุการณ์ หรือ สถานการณ์จริงในชีวิตประจำวันของตน   ที่มีพระคริสต์มาพบและทำพระราชกิจชีวิตในแม่ลูกอ่อนคนๆนั้น

ที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ  การที่คุณแม่มีโอกาสและสิทธิพิเศษในการฟูมฟักเลี้ยงดูลูกน้อยให้เป็นสาวกพระคริสต์ด้วยไปพร้อมๆกับชีวิตสาวกพระคริสต์ในตัวแม่เอง

เลี้ยงลูกน้อยด้วยชีวิต

ในการเลี้ยงดูฟูมฟักลูกอ่อนเป็นงานที่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตด้วยสุดจิตสุดใจ สุดความคิดและชีวิตของตน ทั้งกลางวันกลางคืน  ยิ่งในเวลากลางคืนต้องเลี้ยงดูจนลูกอ่อนหลับ   และต้องตื่นขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้นม  ทำความสะอาดให้ลูก  จนลูกน้อยหลับไปอีกครั้งหนึ่งผู้เป็นแม่ถึงจะมีโอกาสได้งีบหลับอีกครั้ง   แต่ก็ไม่วายจะต้องรีบตื่นขึ้นในรุ่งเช้าเพื่อเตรียมหาอาหารให้ลูกคนอื่นๆ (ถ้ามี) และสามี 

ในความเป็นแม่  เธอได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้า   ที่จะเรียนรู้ถึงชีวิตในการรับใช้ และ รับการเสริมสร้างจากพระองค์ผ่านกระบวนการการเลี้ยงลูกอ่อนของเธอ   ทำให้เธอได้รับการทรงเสริมสร้างและพัฒนาชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์ ในการให้ชีวิตแก่ลูกน้อยของเธออย่างที่พระคริสต์ให้ทั้งชีวิตแก่มนุษย์เราแต่ละคน  

ในความเป็นแม่ได้เรียนรู้ว่าการเป็นแม่จะต้อง “ให้ตนเอง” มากกว่าที่ตนจะให้ได้   เกิดคำถามว่า  แล้วแม่จะได้ทรัพยากร และ แหล่งพลังชีวิต ที่ตนจะมีมากกว่าที่จำกัดนั้นจากที่ไหน?  เช่น เวลาที่เหน็ดเหนื่อยหมดแรงเพราะนอนหลับไม่เพียงพอแล้วจะเอาแรงมาจากไหน?   บ่อยครั้งที่สถานการณ์รุมเร้าทับถมจนเกือบทนไม่ได้  อยากจะยอมแพ้   ในช่วงเวลาเช่นนั้น พระเจ้าใช้ความจริงหลายประการเพื่อช่วยให้คุณแม่เรียนรู้ที่พึ่งพากำลังของพระองค์ เมื่อความเหนื่อยล้าและความกลัวของแม่กำลังคุกคามผู้เป็นแม่

พระเจ้ายินดีต้อนรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องการ

การเลี้ยงลูกน้อยของการเป็นแม่   เป็นโอกาสที่ผู้เป็นแม่คนนั้นได้เรียนรู้ถึงการรับใช้   เมื่อเรากำลังดิ้นรนกับความรับผิดชอบและความต้องการของการเป็นแม่  ตัวปัญหาที่ลึกที่สุดในสถานการณ์นี้ของแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นสามีที่มีงานยุ่งหรืออ่อนไหว  ความจุกจิกถี่ย่อยในการดูแลลูกน้อย หรือมีเศรษฐกิจที่จำกัดจำเขี่ย    ตัวปัญหาที่ลึกที่สุดของเราคือความโน้มเอียงที่จะเอาแต่ใจตัวเอง

เด็กทุกคนมีความจำเป็นต้องการ และสมควรจะได้รับการอุทิศชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไขจากอย่างน้อยผู้ใหญ่สักคนหนึ่งในชีวิตของเขา   การอุทิศชีวิตที่ไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวมีคุณค่าสูงส่งยิ่ง   แต่สิ่งที่มีคุณค่าสูงส่งเช่นที่ว่านี้มันคืออะไร   คือเมื่อแม่เลี้ยงดูลูก นั่นเป็นโอกาสที่แม่กำลังเสริมสร้างพัฒนาภาวะความเป็น “ผู้นำแบบพระคริสต์” ในตัวของแม่  คือ “ผู้นำที่รับใช้”  เริ่มด้วยการอุทิศหมดสิ้นทั้งชีวิตจิตใจเฉกเช่นพระคริสต์  มีชีวิตที่สัตย์ซื่อ  มีความรักที่เสียสละ  และการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กด้วยสุดจิตสุดใจ  ความเป็นแม่เรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราในฐานะผู้หญิง   เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ถึงการรับใช้   มีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น   และนี่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งประการหนึ่งในการเสริมสร้างความเป็นสาวกพระคริสต์ในตัวเรามิใช่หรือ?  

ในความเป็นแม่เธอกำลังมีชีวิตแบบพระคริสต์ที่ “...ทรงสละพระองค์เองและทรงรับสภาพทาส (คนรับใช้)...” (ฟีลิปปี 2:7)

เมื่อแม่รับใช้เจ้าตัวเล็ก   แม่จะเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าที่ได้รับการเชิดชู และ ชื่นชมจากองค์พระผู้เป็นเจ้า จากอิสยาห์ 42:1 “นี่คือผู้รับใช้ของเรา ซึ่งเราเชิดชู   ผู้ที่เราเลือกสรรไว้ ซึ่งเราชื่นชม   เราจะส่งวิญญาณของเราลงมาเหนือเขา...” (อมธ.)   องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงอ้าแขนของพระองค์ออกกว้างสำหรับแม่ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยหมดแรง   ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังทรงโอบกอดลูกอ่อนของเธอไว้ในอ้อมพระกร และโอบอุ้มไว้แนบพระทรวง (อิสยาห์ 40:11) และจะค่อยๆนำแม่ที่มีลูกอ่อนไป   ดังนั้น แม้แม่จะเหน็ดเหนื่อยหมดแรง  พระเจ้าทรงรับรู้และเข้าใจถึงสภาพชีวิตของแม่อย่างดี  ดังนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้าจะฟื้นฟูจิตวิญญาณของผู้เป็นแม่ (สดุดี 23:2-3)   และพระองค์จะทรงหนุนเสริมแม่ให้  “ ...มีกำลังด้วยฤทธานุภาพทั้งสิ้น... เพื่อให้ท่านมีความทรหดอดทน และมีความอดทนในทุกสิ่ง พร้อมทั้งมีความยินดี” (โคโลสี 1:11 มตฐ.)

เมื่อเราในฐานะแม่รู้สึกหมดหนทาง โดดเดี่ยว และท้อแท้ เรามีทางเลือก   เราสามารถเลือกที่จะต่อต้านความคิดความรู้สึกเช่นนั้น หรือยอมปล่อยให้ความรู้สึกนั้นบุกรุกถาโถมเข้ามาในห้วงความนึกคิดความรู้สึกของเรามากขึ้นๆ   แล้วทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองไม่พอใจยึดครองพื้นที่ความนึกคิดและความรู้สึกของเรา    หรือเราจะเลือกต้อนรับเจ้าตัวน้อยของแม่  ที่กำลังมีชีวิตในสภาพที่อ่อนแอและมีความจำเป็นต้องการการปกป้อง เอาใจใส่ เลี้ยงดูอย่างสูงในชีวิต  และได้แสดงให้แม่เห็นถึงความจำเป็นต้องการของตนในเวลานั้น   เรามั่นใจได้ว่า  พระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด จะอ้าแขนต้อนรับ  บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก... และพระองค์จะให้ผู้เป็นแม่ได้รับการพักสงบ (มัทธิว 11:28)  พระคริสต์เคยบอกเราแล้วว่า  คนแข็งแรงไม่ต้องการพระองค์  แต่คนที่สิ้นแรงหมดกำลังพระองค์ทรงต้อนรับ   ให้ผู้เป็นแม่พึ่งพิงในพระองค์ต่อไป

การเป็นแม่เป็นสิทธิพิเศษในการช่วยให้มีชายหนุ่มหรือหญิงสาวที่รักพระคริสต์ที่มีชีวิตชีวาคนใหม่ๆเข้ามาในโลกที่เศร้าโศกนี้ด้วยความชื่นชมยินดี

คุณแม่สามารถที่จะกำหนดและเสริมสร้างลักษณะอารมณ์ในครอบครัว   ผู้เป็นแม่สามารถที่จะเสริมสร้างสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านให้เป็นแหล่งของการค้นพบเรียนรู้และสร้างสรรค์   คุณแม่เป็นผู้ที่จะให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้บุตรหลานของตนต่อต้าน “ระบบประโยชน์นิยมที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง”  ซึ่งกำลังกลืนกินโลกของเราในทุกวันนี้   ในความเป็นแม่เป็นการเตรียมลูกสำหรับสัมพันธภาพในอนาคต   งานหนักที่เปี่ยมด้วยคุณค่าของความเป็นแม่คือการที่แม่พยายามสอนลูกให้ยกย่องนับถือพ่อของลูก รักและผูกพันกับญาติพี่น้อง   สอนลูกให้รู้จักเลือกบริโภคโภชนาการที่ดี   ความบันเทิงที่บริสุทธิ์และเป็นประโยชน์  สอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าของความสะอาดบริสุทธิ์และมีมารยาทที่ดี   และสิ่งสูงสุดคือการต่อสู้เพื่อสิ่งที่มีคุณค่าสมกับแรงพลัง และ ชื่อเสียงของเขา

ใครบางคนอาจจะมีอิทธิพลเหนือชีวิตลูกของท่าน

ลองนึกถึงสิทธิพิเศษของแม่ถึงการชี้นำความคิดและหัวใจของคนหนุ่มสาวในการพัฒนาจิตวิญญาณ สติปัญญา อารมณ์ และสัมพันธภาพทางสังคมของเขา   ลองนึกถึงพระพรของการได้แนะนำให้ลูกรู้จักพระเจ้าแห่งจักรวาล และความจริงนิรันดร์ในพระวจนะของพระองค์   ลองนึกถึงความสุขที่ได้เห็นลูกพูดความจริงแม้ในเวลาที่เขาประสบกับความยากลำบาก  และแสดงความรักแทนความเห็นแก่ตัว  อีกทั้งแสดงความเมตตาด้วยความจริงใจ  

ขอให้แม่ชื่นชมยินดีกับสิทธิพิเศษของการทำหน้าที่ความเป็นแม่  ในการส่งชายหนุ่มหรือหญิงสาวผู้รักพระคริสต์ที่เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา เข้ามาในโลกที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของความชั่วร้ายทำลาย  ให้พวกเขามีชีวิตที่กล้าหาญที่จะดำเนินชีวิตที่ดีเพื่อเห็นแก่พระคริสต์   ชายหนุ่มหญิงสาวที่รักพระคริสต์ที่เข้ามาอยู่ในสังคมโลกที่มีความโศกสลดเพราะความบาปผิดด้วยควากล้าหาญที่ต้องการดำเนินชีวิตที่ดีเพื่อเห็นแก่พระคริสต์  

ผู้เป็นแม่อย่าเพิ่งท้อแท้   เพราะงานชีวิตของแม่นั้นยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่ง

จะมีบางคนที่มีอิทธิพลเหนือชีวิตลูกของท่านในช่วงแรกในชีวิตของลูก  แล้วปลูกฝังระบบค่านิยมและมาตรฐานชีวิตลงบนจิตวิญญาณหนุ่มสาวลูกของแม่อย่างน่าประทับใจ   ขอคุณแม่ยังคงยืนหยัดในความเป็นแม่ของตน   ผมในฐานะที่เป็นผู้สูงวัย  ขอให้ความมั่นใจแก่คุณแม่ในตอนนี้ว่า  เมื่อคุณแม่เห็นลูกของตนเติบโตแข็งแรงขึ้นในพระคริสต์ ความทุกยากลำบากในชีวิตของแม่ที่ทุ่มเทลงไปสำหรับลูกจะอันตรธานหายสิ้น  ยิ่งเมื่อลูกยืนยันความเชื่อของเขาเองที่มีในองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอด “อย่าให้เราอ่อนล้าในการทำดี เพราะถ้าเราไม่ย่อท้อ เราก็จะเก็บเกี่ยวในเวลาอันเหมาะสม” (กาลาเทีย 6:9 อมธ.)

นี่คือสิทธิอันพิเศษและมีคุณค่ายิ่งในการทำหน้าที่แม่   ขอให้เป็นคุณแม่ที่เต็มใจทุ่มเทยอมจ่ายค่าราคาชีวิตของแม่  ที่ยอมอุทิศทั้งชีวิตตามการทรงเรียกให้เป็นแม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า  ขออย่าละเลยสิ่งที่พระเจ้าเรียกให้เราทำ หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่พระองค์ขอให้เราเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ในการเลี้ยงดูฟูมฟักชนรุ่นต่อไป และนี่คือสิ่งที่มีคุณค่ายิ่ง  เพราะสิ่งที่คุณแม่กระทำมิใช่การรับใช้เสริมสร้างชีวิตลูกเท่านั้น  แต่ “...องค์พระคริสต์เจ้านี่แหละคือผู้ที่ท่านกำลังรับใช้อยู่” (โคโลสี 3:24 อมธ.)

27 กรกฎาคม 2564

พระองค์ยิ่งใหญ่กว่า...สิ่งที่ลูกต้องเผชิญในวันนี้!


เช้าวันนี้   เมื่อฉันสงบและถ่อมจิตใจลง
     ภาวนาอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า
เสียงเพลง “พระเจ้ายิ่งใหญ่”
     ได้แว่วดังชัดเจนในโสตประสาทแห่งจิตวิญญาณ
ฉันไม่รู้ว่าวันนี้จะต้องเผชิญกับอะไร
ไม่ว่าฉันจะต้องพบกับอะไรใหญ่โตแค่ไหน  
     ฉันมั่นใจว่า “พระเจ้ายิ่งใหญ่”
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  เศรษฐกิจที่ฉันจำเป็นต้องการในเวลานี้
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  เจ้าเชื้อโรคร้าย
     ที่แพร่กระจายอย่างรุนแรงในเวลานี้
พระเจ้ายิ่งใหญ่กว่า  ภูเขาที่ขวางกั้นในชีวิตฉัน
     ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
ฉันจึงก้มจิตใจของฉันน้อมลงอธิษฐานต่อพระเจ้า...


พระบิดาที่รัก
ไม่มีใครที่เป็นเหมือนพระองค์
พระองค์ยิ่งใหญ่
พระนามของพระองค์เปี่ยมด้วยฤทธานุภาพ
โดยฤทธานุภาพของพระองค์ได้สร้างโลกนี้
โดยพระปัญญาของพระองค์ได้วางรากฐานโลกนี้
ด้วยความเข้าใจของพระองค์  จักรวาลนี้ถูกยืดขยายออกไป

เสียงฟ้าคำรามและสายฝนส่งมาจากเบื้องบน
เหล่าเมฆไหลมาจากที่ต่าง ๆ ตามคำสั่งของพระองค์
แสงแห่งฟ้าแลบส่งแสงแปลบปลาบตามพระบัญชา
เมื่อพระองค์กระซิบกระแสลมก็พัดเคลื่อนตัว
พระองค์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของสรรพสิ่ง
เป็นพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ

อะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นบนเส้นทางชีวิตของลูก
ลูกรู้อย่างมั่นใจว่า พระองค์ทรงยิ่งใหญ่กว่า
ลูกวางใจในแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตลูก
ลูกมั่นใจในพระราชกิจในวันนี้ในชีวิตของลูก
ลูกจึงสามารถ สงบ สุข สันติ ในพระองค์

ขอบพระคุณในพระนามพระเยซูคริสต์   อาเมน

29 มิถุนายน 2564

ขณะเรากำลังรอ พระเจ้ากำลังทำพระราชกิจในตัวเรา

“ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า
ในยามเช้าพระองค์ทรงได้ยินเสียงข้าพระองค์  
ในยามเช้าข้าพระองค์นำคำร้องทูลมาต่อหน้าพระองค์  
และจดจ่อรอคอยคำตอบจากพระองค์” (สดุดี 5:3 อมธ.)

 เมื่อเราทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า   เราจะรอคอยด้วยความคาดหวัง

เราอธิษฐานต่อพระเจ้าผู้ทรงสัตย์ซื่อในพระสัญญาของพระองค์   พระเจ้าเป็นเหมือนพ่อที่ดีผู้สัญญาว่าจะประทานในสิ่งที่เราจำเป็นสำหรับเราเสมอ   เมื่อเรารอคอยด้วยความคาดหวัง   เราได้แสดงออกถึงความเชื่อศรัทธาของเราด้วยความเชื่อว่า พระเจ้าจะทำในสิ่งที่พระองค์ได้สัญญาไว้

ความคาดหวัง เราไม่ได้หวังในสิ่งที่เราพึงมีสิทธิที่จะได้รับ  สิทธิที่พึงจะได้รับบอกว่า  “ฉันควรจะได้รับในสิ่งที่ฉันจำเป็นต้องการจากพระเจ้า  ฉันสมควรจะได้รับเพราะฉันได้อ่านพระคัมภีร์ 5 ครั้งในสัปดาห์นี้  และได้ไปร่วมกิจกรรมที่คริสตจักร 2 ครั้ง  ดังนั้นพระเจ้าจะต้องให้สิ่งที่ฉันต้องการจำเป็น” (??)   แต่ความคาดหวังเป็นการกล่าวว่า “พระเจ้าจะให้สิ่งที่ฉันจำเป็นเพราะพระองค์ประสงค์ที่จะให้สิ่งที่ดีสำหรับฉัน  ตามแผนการชีวิตของพระองค์สำหรับชีวิตฉัน”

การรอคอยสิ่งที่เราคาดหวังไม่ใช่เรื่องง่าย!   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่มีกำลังอำนาจ   เมื่อเราไว้วางใจในพระเจ้ากระทำสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ในชีวิตสมรส หรือในอาชีพการงาน  หรือในความสัมพันธ์   และเวลาของพระเจ้าดูเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า   เป็นการยากที่เราจะยังไว้วางใจในพระองค์

อย่าท้อแท้  ไม่ยอมแพ้   ถึงแม้ว่า  เราไม่รู้ว่าทำไมพระเจ้าถึงยังไม่ตอบคำอธิษฐานของเรา   เรายังสามารถที่จะไว้วางใจว่าพระองค์จะรักษาพระสัญญาของพระองค์   เรายังมั่นใจว่าทุกอย่างยังอยู่ในการควบคุมของพระเจ้า   ไม่มีผู้ใดที่จะมีฤทธิ์อำนาจมากกว่าพระองค์   ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของเราเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยสำหรับพระองค์

ขณะที่เรากำลังรอคอยคำตอบจากพระเจ้า พระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์   พระองค์กำลังเสริมสร้างความเชื่อศรัทธาของเราให้เข้มแข็งมั่นคงขึ้น   ทรงสอนสัจจะความจริงที่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจแก่เรา   ทรงกระทำให้เราใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น   และเสริมสร้างให้เรามีชีวิตที่เป็นเหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น  

พระเจ้าทรงล่วงรู้ถึงความจำเป็นต้องการในชีวิตของท่านยิ่งกว่าที่ท่านรู้จักตนเอง

ให้เราทำอย่างกษัตริย์ดาวิด   ให้เราทูลขอต่อพระเจ้า   และรอคอยคำตอบจากพระองค์ด้วยความคาดหวัง  (ไม่ใช่ด้วยความไม่แน่ใจ หรือ ด้วยความสิ้นหวังที่ซ่อนเร้นในใจ)

02 มิถุนายน 2564

“จงอธิษฐานอยู่เสมอ”...เขาทำกันอย่างไร?

อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:16-18

พระวจนะของพระเจ้าบอกแก่เราว่า “จงอธิษฐานอยู่เสมอ” (1เธสะโลนิกา 5:17 อมธ.) อนุชนคนหนึ่งถามผมตรง ๆ ต่อหน้าเพื่อนฝูงของเขาว่า “การอธิษฐานอยู่เสมอหมายความว่าอย่างไร?....”   อีกคนหนึ่งถามต่อว่า “แล้วเขาทำกันอย่างไร?”

พระเจ้าประสงค์ให้เราบ่นพึมพำกับพระองค์ตลอดเวลาอย่างเช่นคนเคร่งศาสนาที่ท่องมนต์บ่นภาวนาในทุกขณะชีวิตของเขาเช่นนั้นหรือ? ไม่ใช่แน่... พระเจ้าไม่ต้องการให้เราทำเช่นนั้นแน่   เพราะการอธิษฐานมิใช่การท่องมนต์บ่นกับพระเจ้า หรือเป็นเหมือนการท่องคาถาเพื่อตอบสนองความต้องการบางอย่างของเราเอง

แต่การอธิษฐานอยู่เสมอคือ...

(1)  การที่เราตระหนักรู้ว่าเราอยู่กับพระเจ้าเสมอ มั่นใจที่จะปรึกษากับพระองค์ได้ทุกเรื่องในชีวิตของเรา สำนึกในพระคุณของพระองค์ที่มีต่อชีวิตของเราในทุกเวลา และชื่นชมยินดีในพระองค์ในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา เพราะเราเชื่อมั่นในแผนการของพระองค์สำหรับชีวิตของเราในขณะนี้และตลอดวันนี้

(2)  พฤติกรรมความเชื่อในชีวิตของเราจะสำแดงเบ่งบานเมื่อเราเริ่มต้นวันใหม่ทุกวันด้วยการอธิษฐานสนทนากับพระเจ้า และเริ่มต้นวันใหม่ทุกวันด้วยการอ่าน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ขุดค้นเจาะลึกในพระวจนะของพระองค์ และมีเวลาที่จะนิ่ง เงียบ เพื่อฟังเสียงของพระองค์สำหรับเราในวันใหม่แต่ละวัน 

และถ้าเป็นได้ให้บันทึก จดจำ เพื่อสามารถนำมาพิจารณาใคร่ครวญว่า เสียงที่พระเจ้าตรัสและสนทนาในเช้าวันนี้พระองค์ประสงค์ให้เราทำอะไรบ้างในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ ซึ่งเราสามารถพิจารณาใคร่ครวญเสียงของพระองค์ในวันนี้ในทุก ๆ สถานการณ์ชีวิต   ในทุก ๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดวันนี้ของเรา

(3)  เมื่อเวลาใดที่เกิดภาวะวิกฤติ เกิดความขัดข้องขัดแย้ง เกิดภาวะอ่อนแรงท้อแท้ พบทางตัน หาทางออกไม่ได้ ให้เรานิ่ง สงบ ทบทวนถึงเสียงสนทนาของพระเจ้าเมื่อเช้าวันนี้ ใคร่ครวญ ไตร่ตรองเสียงของพระองค์ว่าพระองค์ประสงค์ให้เราทำเช่นไรในวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำตามเสียงของพระองค์ที่ชี้นำแก่เรา หรือพร้อมที่จะรอคอยในการชี้นำของพระองค์ด้วยความอดทน

(4)  ในช่วงเวลาใด ในสถานการณ์ใด ในงานใดที่เราได้ประสบกับความสำเร็จที่ทำให้เราเกิดความชื่นชมยินดีและภูมิอกพอใจ ให้เรานิ่งและสงบ และใคร่ครวญถึงพระคุณของพระองค์ที่ได้ใส่พระทัยเมตตาเรา อวยพระพรแก่เราและคนรอบข้าง ให้เราขอบพระคุณพระองค์  สรรเสริญพระองค์

(5)  เมื่อมาถึงเวลาสิ้นวันนี้ของเรา ให้เรามีเวลาเฉพาะที่จะนิ่งและสงบ และทบทวน สะท้อนคิดถึงถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ได้กระทำในชีวิต ผ่านชีวิต และในสถานการณ์ชีวิตของเราในวันนี้  

1)   แล้วเขียนรายการที่เราสำนึกในพระคุณของพระองค์ที่กระทำแก่เราและคนรอบข้างตลอดวันนี้  

2)   มีสถานการณ์อะไรบ้างที่เราพลั้งเผลอผิดพลาดในวันนี้ ขอโปรดเมตตายกโทษแก่เรา   และทูลขอพระปัญญาและพระกำลังที่จะไม่ก้าวลงไปทำผิดซ้ำอีกในวันต่อ ๆ ไป  

3)   มีใครบ้างที่เราได้พบเจอสัมผัสสัมพันธ์ด้วยในวันนี้ ที่เราต้องการอธิษฐานเผื่อเขา  และอธิษฐานเผื่อเขาในเรื่องอะไร

4)   มีอะไรบ้างที่ไม่สามารถสำเร็จตามความคาดคิดของเรา ทำให้เราวิตกกังวล ให้นิ่งและสงบทูลขอพระเจ้าโปรดเมตตาชี้นำเราว่าควรทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ในวันต่อ ๆ ไป

5)   ขอบพระคุณสำหรับค่ำคืนนี้ เป็นเวลาที่พระองค์ประทานแก่เราให้รับพระพร ในการพักผ่อนหลับนอน ขอน้อมรับพระพรนี้ด้วยสำนึกในพระคุณของพระองค์ เป็นเวลาที่เราจะได้รับการพลิกฟื้นชีวิตทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณของเรา   

จำเป็นที่คริสตชนจะต้องตระหนักชัดว่า การอธิษฐานมิใช่เวลาของการนำเสนอรายการความต้องการของเราต่อพระเจ้า แต่การอธิษฐานเป็นช่วงเวลาและโอกาสแห่งการเสริมสร้างสัมพันธภาพของเรากับองค์พระผู้เป็นเจ้า 

การอธิษฐานเป็นเวลาที่เตือนให้เราตระหนักชัดว่าเราต้องพึ่งพิงในพระเจ้า เราไม่สามารถที่จะพึ่งพาในความสามารถของตนเองเท่านั้น เป็นเวลาที่เตือนสติของเราทุกครั้งว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่พึ่งพิงและลี้ภัยในทุกสถานการณ์ชีวิตของเรา” 

การอธิษฐานเป็นการสื่อสารสองทาง มิใช่การสื่อสารทางเดียวที่พระเจ้าต้องมาฟังเราพูดเราขอเท่านั้น แต่พระองค์พร้อมที่จะตรัสแก่เรา ชี้นำ เสริมหนุนเรา

และทั้งสิ้นนี้เป็นกระบวนการของ “การอธิษฐานอยู่เสมอ”

แล้วเราจะเริ่มต้น “อธิษฐานอยู่เสมอ” อย่างไร

อ้อ...ถ้าใครมีปัญหาใน “การอธิษฐานอยู่เสมอ” ท่านสามารถทูลขอความช่วยเหลือจากพระองค์ได้ในเรื่องนี้ด้วยครับ แต่การอธิษฐานไม่เหมือนการกล่าวท่องเวทมนตร์ สำเร็จรูป ซ้ำซาก เพื่อเราจะได้สิ่งที่เราต้องการ  

การอธิษฐานเป็น “วินัยชีวิตคริสตชน” หรือ ที่เราจะเรียกว่า “นิสัยหนึ่งของชีวิตคริสตชน” ก็ได้  ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ที่จะเสริมสร้างให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราแต่ละคน ซึ่งต้องการส่วนความรับผิดชอบของตัวเราเอง ที่จะต้องมีมานะฝึกฝนด้วยความอดทนในการรับการก่อร่างสร้างตัวสิ่งนี้ในชีวิตจิตวิญญาณของเราจากองค์พระผู้เป็นเจ้า

อีกประการหนึ่งครับ “การอธิษฐานอยู่เสมอ” เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราทั้งหลายแต่ละคนในพระเยซูคริสต์ด้วยครับ  (1เธสะโลนิกา 5:18 อมธ.)

 จงชื่นชมยินดีอยู่เสมอ 
จงอธิษฐานอยู่เสมอ 
จงขอบพระคุณในทุกสถานการณ์
เพราะนี่คือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับท่านทั้งหลายในพระเยซูคริสต์

(1เธสะโลนิกา 5:16-18 อมธ.)




31 พฤษภาคม 2564

เราไม่ได้ห้อย “รูปเคารพ” ที่คอ แต่ห้อยที่ใจหรือเปล่า?

การที่เรามี “รูปเคารพ” ห้อยที่คอ ผูกที่ข้อมือ ผู้คนสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ถ้าเราห้อย “รูปเคารพ” ที่ใจ ใครจะไปมองเห็นได้ง่าย? นอกจากสังเกตลึกลงในพฤติกรรมชีวิตเรา

เรื่อง “รูปเคารพ” เป็นข้อห้ามสำคัญข้อต้น ๆ ของพระบัญญัติสิบประการ

ในชีวิตของคริสตชน เรามีชีวิตอยู่เพื่อให้เป็นที่พอใจของพระเจ้าผู้ทรงสร้างและประทานชีวิตแก่  พระองค์คือผู้สร้างชีวิตของเรา เป็นเจ้าของชีวิตของเรา และมีพระประสงค์ในชีวิตของเราแต่ละคน เราต้องมีชีวิตที่องค์พระผู้เป็นเจ้ายอมรับตามพระประสงค์!

และนี่จะทำให้ชีวิตของเราง่ายขึ้นอย่างมหาศาล

พระเยซูคริสต์กล่าวว่า “...เราไม่ได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของผู้ทรงใช้เรามา” (ยอห์น 5:30 มตฐ.)

ท่านทราบใช่ไหมครับว่า การที่เรามุ่งทำตามใจใคร หรือ ทำให้ใครพอใจ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นที่พระเจ้าพอพระทัย หรือ ตามพระประสงค์หรือไม่ คน ๆ นั้นมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา เป็น “พระเจ้า” ของเรา หรือไม่ก็เป็น “รูปเคารพของเรา”? ซึ่งพระบัญญัติสิบประการข้อแรกก็คือ “อย่ามีพระเจ้าอื่นใดต่อหน้าเรา” (อพยพ 20:3 อมธ.)

อะไรก็ตามที่เราให้อยู่ในที่ที่สูงสุด สำคัญสุดในชีวิตของเรา เรากำลังยกย่องสิ่งนั้นคนนั้นให้เป็น “พระเจ้า” ดังนั้น บ้านหรู รถยนต์รุ่นล่าสุด มือถือรุ่นใหม่สุด คนที่เราอยากได้เป็นคู่ชีวิต และ ตำแหน่งที่อยากไต่ขึ้นไปให้ถึง ความมั่งคั่งมั่นคงที่เราพยายามฉกฉวยมาให้ได้ในชีวิต...  

อะไรที่ขึ้นมาเป็น “หมายเลข 1” ในชีวิตของเรา ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นพระเจ้าของเรา แต่เรากำลังทำให้กลายเป็นพระเจ้าของเรา สิ่งนั้นเราเรียกว่า “รูปเคารพ” ของเราในชีวิต และการมีพฤติกรรมชีวิตเช่นนี้นี่เองที่เรากำลังทำรูปเคารพสำหรับตนเอง ที่นำเราไปสู่พระบัญญัติข้อที่ 2 คือ “ห้ามทำรูปเคารพสำหรับตน...” (อพยพ 20:4 มตฐ.) 

ในที่นี้รวมไปถึง การที่เรายอมให้ “ความคิดเห็น” “อุดมการณ์อื่นใดที่มิใช่พระประสงค์ของพระเจ้า” เข้ามาแทนที่พระประสงค์ของพระองค์ตามพระวจนะ นั่นก็เป็นรูปเคารพด้วยเช่นกัน เช่น ลัทธิประชาธิปไตย สังคมนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม สิทธิมนุษยชน ความคิดอุดมการณ์เหล่านั้นเป็นรูปเคารพ เพราะมันมีอิทธิพลนำการเชื่อ การคิด การตัดสินใจ การดำเนินชีวิตของเรา และความสัมพันธ์ของเราในโลกนี้ แทนที่จะเราจะมีชีวิตเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า

เปาโลกล่าวใน กาลาเทีย 1:10 ว่า “นี่ข้าพเจ้ากำลังมุ่งให้มนุษย์หรือพระเจ้ายอมรับกันแน่? หรือว่าข้าพเจ้ากำลังพยายามทำให้มนุษย์พอใจ? หากข้าพเจ้ากำลังพยายามทำให้มนุษย์พอใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้รับใช้ของพระคริสต์” (กาลาเทีย 1:10 อมธ.)

เราท่านแต่ละคนต่างต้องการให้คนอื่นรอบข้างยอมรับ นิยมชมชอบตนเอง เราพยายามทำให้คนเหล่านี้พึงพอใจตน ทำให้ “ผู้ใหญ่คนนั้น” พอใจตน แทนที่เราจะมีชีวิตและดำเนินชีวิตให้เป็นที่พึงพอใจของพระเจ้า ในฐานะที่เราแต่ละคนเป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ เราพึงมีชีวิตและดำเนินชีวิตให้เป็นที่พึงพอใจของพระเจ้า มิใช่เป็นที่พึงพอใจของคนอื่น หรือ ตนเอง

ถ้าเราทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็นที่พึงพอใจ และรับการยอมรับของคนอื่นรอบข้าง   เราก็ไม่ได้เป็นผู้รับใช้ของพระคริสต์ “การเป็นผู้รับใช้พระคริสต์” ของเราจึงเป็นเพียง “หน้ากาก” หรือ “หัวโขน” เท่านั้น

ระวัง นั่นเป็นการห้อยรูปเคารพที่ “ใจ” (ที่มองเห็นได้ยาก) มิใช่ที่คอที่มองเห็นได้เด่นชัด!

ในทุกวันนี้ ถ้าเราจำเป็นจะต้องดำเนินชีวิตเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจและเป็นที่ยอมรับของใครบางคน   แล้วเราจะมีชีวิตที่พึงพอใจของพระเจ้าได้ไหม? อย่างไร? เราจะต้องมีชีวิตเช่นไรถึงจะเป็นชีวิตที่พึงพอใจของพระเจ้าอย่างแท้จริง?



30 พฤษภาคม 2564

“พระเจ้า! ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้....” (พิมพ์ครั้งที่ 5)

เขาว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

หนังสือ “พระเจ้า! ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” เป็นหนังสือที่ ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ เขียนรวบรวมขึ้นจากประสบการณ์จริงในการรับใช้พระเจ้าในประเทศไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2004 ส่วนเล่มที่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ในเวลาอันใกล้นี้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นโดยผู้เขียนเอง

ได้มีท่านผู้ใหญ่ในวงการคริสตชนในประเทศไทย เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านได้ให้ข้อคิดความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ดังนี้...

“เป็นหนังสือที่น่าอ่านมาก สนุก เพราะเขียนจากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้เขียนเอง แต่แฝงไว้ด้วยข้อคิด คำหนุนใจ และบทเรียนหลายแง่มุมที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประสบการณ์ของผู้เขียนในการเผชิญกับอำนาจผี หรือ วิญญาณชั่วในสังคมไทย รับรองได้ว่าจะไม่ผิดหวัง   หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้”
          ศาสนาจารย์ ธีระ เจนพิริยประยูร

“...คงมีไม่กี่คนที่สามารถพรรณนาถึงประสบการณ์ในการรับใช้พระเจ้าในประเทศไทยอย่างโชกโชน เป็นเวลานานกว่า 60 ปี ได้อย่างออกรสออกชาติ ดุจดั่งที่ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ ได้กระทำ!

ทุกคำพยานและทุกคำสอน ล้วนแตะต้องใจของผมอย่างยิ่ง!

...ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ควรจะอ่าน ทุกคนในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิชชันนารี ต้องไม่พลาด!

...เมื่อคุณได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วคุณจะไม่สงสัยอีกเลยว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่”
           ธงชัย ประดับชนานุรัตน์

“ความคิดเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้   แต่ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ถกเถียงไม่ได้

หนังสือเล่มนี้ได้บันทึกประสบการณ์น่าตื่นเต้นมากมาย  เมื่ออ่านจบแล้วจะพบว่า  พระคริสต์ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด  ทำได้มากกว่าที่ทูลขอ”
           ศาสนาจารย์ ดร. วีรชัย โกแวร์

“...ครอบครัวยูแบงก์ คือครอบครัวแห่งการรับใช้ ได้อุทิศตน อุทิศชีวิต เพื่อการประกาศพระกิตติคุณในประเทศไทย ผู้อ่านสามารถศึกษาถึงรูปแบบต่าง ๆ ในการนำพระกิตติคุณไปสู่ผู้ที่ยังไม่เชื่อ หรือผู้ที่ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจมืด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายอย่างแน่นอน เพราะการทำงานคือการต่อสู้กับเหล่าเทพแห่งความมืดทั้งหลาย ซึ่งต้องอาศัยการติดสนิทกับพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา มีความมานะอดทนไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออำนาจเหล่านั้นในการบุกเบิกแผ่นดินของพระเจ้า เข้าไปในพื้นที่ใหม่ ๆ  

จึงนับว่าครอบครัวยูแบงก์เป็นหนึ่งในจำนวนของผู้ที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์   และสัตย์ซื่อต่อพระมหาบัญชา สมกับพระดำรัสของพระเยซูคริสต์ที่ตรัสว่า “เราแต่งตั้งเจ้าเพื่อเจ้าจะได้เกิดผล” ชีวิตของท่านจึงเป็นดั่งที่อาจารย์เปาโลกล่าวว่า “เขาทั้งหลายได้สรรเสริญพระเจ้าเพราะข้าพเจ้าเป็นเหตุ”
           ศาสนาจารย์ ดร. บุญรัตน์ บัวเย็น

“...กิตติศัพท์ของท่านศาสนาจารย์อรัญ ยูแบงก์ คือนักประกาศและไล่ผี ที่ทราบก็เพราะฟังจากคำเล่าลือของผู้เคยร่วมงานกับท่าน และจากที่ข้าพเจ้ารับฟังเรื่องการประกาศและการขับผีของท่านด้วย นับว่ามีหลายเรื่องที่ตื่นเต้น  

ถ้าพระเจ้ามิได้สถิตกับท่าน อาจารย์คงจะลำบากทีเดียว ผีคงไม่กลัวท่าน แต่เพราะท่านมีความเชื่อที่มั่นคง มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ต้องการให้ทุกคนได้รับพระกิตติคุณของพระเจ้า ท่านอาจารย์จึงยืนหยัดในการประกาศ นำพระกิตติคุณไปประกาศในที่ต่าง ๆ กับคนหลายประเภท ทั้งคนที่ดี และน่ากลัว...

ท่านจะอ่านพบในหนังสือ “พระเจ้า!  ถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” 
          ศาสนาจารย์ ดร. สินธุ์ คิมหะจันทร์




28 พฤษภาคม 2564

ต้องการพบเพื่อน...แต่ได้พบเป้าหมายชีวิตจากพระเจ้าด้วย!

“ถ้าพระเจ้าของครูมีจริง และ มีฤทธิ์อำนาจพอที่จะทำให้ผมพบเพื่อน ผมจะเชื่อถือพระเยซูของครู” นี่คือกึ่งท้าทายกึ่งสัญญาของชายหนุ่มอายุ 20 ปีคนหนึ่งจากจังหวัดนครพนม

คริสตจักรโปรเตสแตนท์ในประเทศไทยรู้จักชื่อของชายคนนี้อย่างดี เพราะท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และ อาจารย์พ่วง ยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ “อาจารย์ผู้ไร้ปริญญา” ตามชื่อหนังสือที่ ศาสนาจารย์สัมฤทธิ์ วงษ์สังข์ ได้รวบรวมและเขียนขึ้น (1970)

ในหนังสือ “พระเจ้าถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” อาจารย์อรัญ ยูแบงก์ ยอมรับว่า อาจารย์พ่วง อรรฆภิญญ์ เป็นแบบอย่างของท่านในการฟื้นฟูและการประกาศพระกิตติคุณที่ทำในสภาคริสตจักรในประเทศไทย (อ่านหน้า 15-18   ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5)

อาจารย์พ่วงไม่ได้เกิดและเติบโตในครอบครัวคริสเตียน มีหลายท่านถามว่า แล้วท่านมาเป็นคริสเตียน ท่านรู้จักพระเจ้า และเชื่อพระเจ้าได้อย่างไร?

เมื่อท่านอายุ 20 ปี ท่านแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีญาติหรือคนรู้จักเลย นอกจากเพื่อนซี้คนหนึ่งและหวังที่จะพบเพื่อนคนนี้เพื่อให้เขาช่วยหางาน แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนคนนี้มีหัวนอนปลายตีนอยู่ที่ไหนในกรุงเทพฯ เขาเดินตามหาเพื่อนอยู่หลายวันจนเหนื่อยกายอ่อนใจ

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อเดินไปบนถนนตรีเพชร ผ่านศาลาประกาศพระกิตติคุณ เห็นคนมุงดูฝรั่งสอนศาสนากำลังพูด เลยเข้าไปมุงดูด้วย เห็นผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่ง (แหม่มมากาเร็ธ ซี. แม็คคอร์ด  Mrs. McCord) ยืนอธิบายเรื่องโยนาห์ ใบหน้าท่าทางแสดงความเป็นมิตร ดึงดูดใจให้ชายหนุ่มคนนี้เข้าไปฟัง โดยซ่อนความเกลียดชังไว้ในใจ แต่ท่านก็ยอมรับว่าคำสอนน่าฟังและจับใจมาก

วันต่อมาท่านเดินผ่านศาลาธรรมตรีเพชรอีก และท่านสังเกตเห็นป้ายเขียนตัวหนังสือตัวโตว่า  “จงขอแล้วจะได้ จงหาแล้วจะพบ จงเคาะแล้วจะเปิดให้แก่ท่าน”  ข้อความนี้จับใจท่านมาก  ท่านจึงเข้าไปในศาลาธรรมและถามผู้สอนในนั้นถึงความหมายของประโยคดังกล่าว จนเข้าใจแล้วท่านกล่าวว่า “ผมต้องการพบเพื่อนคนหนึ่ง ถ้าพระเจ้าของครูมีจริงและมีฤทธิ์อำนาจพอที่จะให้ผมพบเพื่อนได้ ผมจะเชื่อถือพระเยซู” จากนั้น ครูสอนท่านนั้นจึงพาท่านเข้าไปยังห้องอธิษฐานด้วยกัน

สามวันต่อมา ท่านเดินไปตามถนนอย่างไร้จุดหมาย ก้มหน้าก้มตาเดินเรื่อยเปื่อยไป ทันใดนั้นท่านเดินชนชายหนุ่มคนหนึ่งเข้าอย่างจัง เมื่อท่านเงยหน้าขึ้นก็พบว่าเป็นเพื่อนซี้ที่ท่านกำลังตามหา ท่านโผเข้ากอดเพื่อนและอุทานออกมาว่า “พระเจ้าตอบคำอธิษฐานแล้ว” ท่านตัดสินใจเป็นคริสเตียน และรับบัพติสมาในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1915 ที่คริสตจักรสองสามย่าน   จากนั้นท่านได้ทำงานเป็นคนสวนที่บ้านหมอแมคฟาร์แลนด์

เมื่อพบกับพระเจ้า และ รับเชื่อในพระองค์ พระเจ้ามีพระประสงค์และแผนการของพระองค์ในชีวิตของชายคนนี้ อาจารย์พ่วงเริ่มต้นจากการเป็นคนทำสวน เมล็ดแห่งความเชื่อของท่านได้รับการบ่มเพาะจากผู้คนรอบข้างในชุมชนคริสตจักร ต่อมาอาจารย์พ่วง อรรฆภิญญ์ ได้เป็นนักเทศน์   นักประกาศพระกิตติคุณ และนักฟื้นฟูทั้งในคริสตจักร โรงเรียน และโรงพยาบาล ท่านได้จัดให้มีการฟื้นฟูขึ้นครั้งแรกในวันที่ 20-27 กรกฎาคม 1930 ที่คริสตจักรศรีพิมลธรรม เพชรบุรี มีประชาชนมารับเชื่อพระเจ้ามากมาย

ท่านเป็นบิดาแห่งการประกาศพระกิตติคุณของสภาคริสตจักรในประเทศไทย เป็นนักประกาศที่ไม่ได้รอเครื่องฉายหนัง รถยนต์ในการเดินทางออกไปประกาศ แต่ท่านเป็นนักประกาศที่ใช้จักรยานคู่ชีพเดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ ทั่วเมืองไทย และนี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์พ่วงได้รับของประทานตามพระประสงค์ของพระเจ้าคือ “จิตวิญญาณแห่งการประกาศพลิกฟื้นชีวิตคริสตจักร”   ซึ่งจิตวิญญาณนี้ได้ส่งทอดลงมายังรุ่นลูก อาจารย์พิษณุ อรรฆภิญญ์ ได้รับสานต่อพระราชกิจนี้ในสภาคริสตจักรใน “โครงการพัฒนาฟื้นฟูคริสตจักร” (พ.ฟ.ค.)

อาจารย์พ่วง อายุ 70 ปี ท่านได้เทศนาที่คริสตจักรสะพานเหลือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1963  พระเจ้าได้รับท่านจากธรรมาสน์ ขณะที่ท่านกำลังเทศนา

จากเรื่องราวชีวิตของ ศาสนาจารย์ พ่วง อรรฆภิญญ์ เราได้รับบทเรียนชีวิตว่า พระเจ้าพร้อมที่จะตอบคำทูลขอของเราแต่ละคน มิเพียงเพื่อตอบสนองความจำเป็นต้องการในชีวิตของเราเท่านั้น  พระองค์ยังประทานเป้าหมายชีวิตแก่เราตามพระประสงค์ของพระองค์อีกด้วย



26 พฤษภาคม 2564

พระเจ้าเปลี่ยนชีวิต... ความเชื่อคุณละมุดจึงเปลี่ยน!

ศาสนาจารย์ อรัญ ยูแบงก์ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “พระเจ้าถ้าพระองค์มีจริง ขอให้...” ในบทที่ว่า “โจรกลับใจ”...  “ละมุดเป็นโจร! แต่ชีวิตของโจรคนนี้ทำให้ผมเห็นพลังอำนาจของพระคริสต์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนได้” (ยูแบงก์  หน้า 77)

หมู่บ้านที่ละมุดอยู่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหมู่บ้านมือปืนรับจ้าง ผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศในหมู่บ้านว่า “ผมได้สัมผัสกับถิ่นเสือเมืองเถื่อน แต่ละที่แต่ละแห่งพูดถึงเรื่องการลักขโมย การแก้แค้น หรือไม่ก็เรื่องการฆ่าล้างทำลาย”

ละมุดได้ยินเรื่องราวข่าวดีของพระเยซูคริสต์จากหญิงชาวลาวโซ่งคนหนึ่ง เธอเล่าถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ของน้องชาย เธอบอกละมุดว่า น้องชายของเธอได้ฆ่าชายสองคน เมื่อน้องชายมาเป็นคริสเตียนชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงใหม่ มีชีวิตที่ดีขึ้น  

ในใจลึก ๆ ของละมุดก็ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเช่นกัน

ละมุดกังวลถึงความชั่วร้าย ความผิดบาปที่ตนเคยทำไปแล้ว เขาต้องการเปลี่ยนชีวิตใหม่ ละมุดคิดว่าเขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง เลิกทำสิ่งชั่วร้ายที่เคยทำ แล้วเริ่มต้นทำสิ่งดี เขาเชื่อว่าเขาต้องรับหรือชดใช้ “กรรม” หรือการกระทำของเขาที่ได้กระทำลงไปแล้ว และเชื่อว่าไม่มีทางจะหนีพ้นกรรมเวรเหล่านี้ของตนได้  

แต่ละมุดก็เชื่ออีกว่า เขาสามารถที่จะทำกรรมดีเพื่อชดใช้กรรมชั่วที่เคยทำมา ละมุดร่วมกับพวกเพื่อน ๆ หาเงินเข้าพระศาสนาด้วยการจัดหารายได้จากการขายบัตรรำวง แต่ในการทำความดีครั้งนั้นเขาเกือบต้องฆ่าคู่แค้นคู่อาฆาตคนหนึ่งของเขา ในที่สุด ละมุดยอมรับว่า ผมไม่สามารถที่จะเปลี่ยนชีวิตของตนเองได้ ผมไม่สามารถที่จะมีชีวิตใหม่ด้วยตนเองได้ นี่ผมเกือบจะฆ่าคนหนึ่งในงานที่ตั้งใจทำความดีในครั้งนี้

ละมุดไปหาครูใหญ่โรงเรียนคริสเตียน อาจารย์บำรุง อดิพัฒน์ เขาพูดกับครูใหญ่ว่า “ผมมาพบครูใหญ่เพราะเดี๋ยวนี้ผมรู้แล้วว่า ผมเปลี่ยนชีวิตของผมเองไม่ได้ ผมได้ยินมาว่า พระเยซูคริสต์ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนได้ ผมต้องการให้พระเยซูช่วยเปลี่ยนชีวิตของผม”

ผู้เขียนและครูใหญ่ได้นำละมุดในการอธิษฐานรับพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของตน ขอพระเยซูคริสต์ยกโทษบาปผิดที่ผ่านมาของเขา และขอพระเยซูคริสต์เปลี่ยนแปลงเสริมสร้างชีวิตใหม่แก่ตน ละมุดได้มาร่วมนมัสการพระเจ้าในอาทิตย์ เขาได้บอกเล่าถึงความเชื่อของเขาในพระเยซูคริสต์ที่พระองค์ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาแก่คนที่ร่วมในการนมัสการพระเจ้าในวันนั้น

ถึงแม้ละมุดบอกว่าเขาได้รับชีวิตใหม่แล้วในพระเยซูคริสต์ แต่ในจิตใจของเขายังค้างคาใจเกี่ยวกับชายสองคนที่พยายามลักขโมยจักรยานของเขา เขารู้จักว่าสองคนนี้เป็นใครกันแน่   และตั้งใจว่าจะกำจัดสองคนนี้เสียเพื่อจะไม่มีใครมารบกวนเขาอีกต่อไป

ต่อมา คนหนึ่งในสองคนนั้นได้เสียชีวิตเพราะถูกคนอื่นสังหารก่อน ส่วนอีกคนหนึ่งต่อมาได้มาเยี่ยมละมุดอย่างไม่ได้นัดหมายก่อน ละมุดอึ้งไม่รู้จะทำอย่างไรดีเลยเข้าครัวทำอาหารเลี้ยงเขา   ขณะที่กำลังรับประทานอาหารด้วยกัน ชายคนนั้นได้ขอโทษและสารภาพกับละมุดว่าเขาคือโจรคนหนึ่งที่เคยพยายามเข้ามาลักจักรยานในบ้านของละมุด ตั้งแต่นั้นมาความเป็นศัตรูกันก็หมดสิ้นไป ภายหลังชายคนนี้ถูกยิงบาดเจ็บอยู่ข้างถนนใกล้บ้านละมุด ละมุดได้นำเขาส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

อนงค์ ภรรยาของละมุดใช้เวลา 5 ปีหลังจากที่ละมุดกลับใจถึงตัดสินใจยอมรับพระเยซูคริสต์เป็นองค์พระผู้ช่วยให้รอด เธอบอกกับอาจารย์ยูแบงก์ว่า “ดิฉันรอดูว่าพี่ละมุดเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จริงหรือเปล่า เขาเปลี่ยนได้จริง เวลานี้ดิฉันรับบัพติสมาแล้วและดิฉันรู้แล้วว่า การบังเกิดใหม่นั้นเป็นเช่นไร”

ละมุดรู้ว่าพระเจ้ามีจริง เพราะพระองค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ที่เขาเองไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ จากบทเรียนชีวิตของละมุดเราได้เรียนรู้ชัดเจนว่า เพราะพระเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงชีวิตของละมุด ละมุดจึงเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนระบบคุณค่าในชีวิต และที่สำคัญละมุดจึงมีชีวิตใหม่ และชีวิตใหม่ของละมุดได้สำแดงให้คนอื่นได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า พระเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตของ “จอมโจร” ได้จริง ๆ ทำให้คนอื่นตัดสินใจรับและเชื่อในพระเจ้าด้วย

พระเจ้าทรงเปลี่ยนทั้งชีวิตของเราให้มีชีวิตใหม่ เราจึงมีประสบการณ์ตรงกับพระราชกิจของพระองค์ที่กระทำในชีวิตของเรา เพื่อเราจะมีความเชื่อและไว้วางใจในพระองค์ด้วยสุดชีวิต  

“ความรอด” เป็นพระราชกิจที่พระเจ้าทรงลงมือกระทำก่อนในชีวิตของเราแต่ละคน มิใช่เราพยายามทำดีก่อนให้พระเจ้าพอพระทัยเพื่อเราจะได้รับความรอดจากพระองค์  

แต่พระองค์เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราก่อน เพื่อเราจะได้รับประสบการณ์ตรงจากพระเจ้า จึงทำให้เราเปลี่ยนความเชื่อของเรา และการดำเนินชีวิตของเราตามพระประสงค์ของพระองค์



24 พฤษภาคม 2564

เพ็นเทคอสต์...พระเจ้าทำงานในชีวิตของผู้เชื่อ ท่ามกลางวิกฤติการทำลายล้างคริสตชน

วันเพ็นเทคอสต์ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติที่อันตรายและรุนแรงต่อกลุ่มผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในเวลานั้น และยิ่งสร้างความหวั่นไหวมากยิ่งขึ้นเมื่อพระคริสต์ได้เสด็จสู่สวรรค์แล้ว   ท่ามกลางวิกฤติที่หนักหนาสาหัสเช่นนี้เอง พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้เสด็จลงมาอยู่ท่ามกลางเป็นกำลังชีวิตแก่พวกเขา ที่จะรับมือกับวิกฤติด้วยการทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แพร่ขยายอย่างทรงพลังในวงกว้างออกไป    

“แต่พวกท่านจะได้รับพระราชทานฤทธานุภาพ เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นสักขีพยานของเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย ทั่วแคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก”  (กิจการ 1:8 มตฐ.)

แล้วในวิกฤติการแพร่ระบาดของ โควิด 19 คริสตจักรจะรับมือกับวิกฤตินี้ด้วยการทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แพร่ขยายอย่างทรงพลังในวงกว้างออกไป เฉกเช่นในเหตุการณ์วันเพ็นเทคอสต์อย่างไร?

ในวันเพ็นเทคอสต์ ที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จลงมาเหนือเหล่าสาวกของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเริ่มแรกมีประมาณ 120 คน พวกเขาพบปะกันที่ห้องชั้นบน ในวันนั้นภายหลังการเทศนาของเปโตรมีผู้กลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ประมาณ 3,000 คน เกิดคำถามว่า แล้วสาวกเหล่านี้เอาใจใส่เลี้ยงดู ผู้กลับใจเชื่อใหม่เหล่านี้อย่างไร?

แน่นอนครับ พวกสาวกที่เคยติดตามพระเยซูคริสต์ได้ร่วมกันใช้ประสบการณ์ที่พระเยซูคริสต์กระทำเสริมสร้างพวกตนมาประยุกต์ใช้ในการเอาใจใส่เลี้ยงดูผู้เชื่อใหม่จำนวนมากมายเหล่านี้   ในที่นี้ผมหมายรวมถึงประสบการณ์ที่พวกเขาถกถาม เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากพระอาจารย์ของตน   การเอาใจใส่เยียวรักษาคนเจ็บป่วย การขับไล่วิญญาณชั่ว และอีกประสบการณ์หนึ่งคือ การบริหารจัดการมวลชนจำนวนมากจากการเลี้ยงอาหาร 5,000 คนที่แบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการแจกจ่ายอาหารแห่งพระพรที่พระเยซูคริสต์ทูลขอจากพระบิดา

เราเรียนรู้การบริหารจัดการเอาใจใส่ชีวิตและความเชื่อของผู้เชื่อใหม่เหล่านี้ได้จาก กิจการ 2:46-47 “ทุก ๆ วันพวกเขามาประชุมกันที่ลานพระวิหาร หักขนมปังตามบ้านของตน และรับประทานร่วมกันด้วยความยินดีและจริงใจ พวกเขาพากันสรรเสริญพระเจ้าและเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งปวง ในแต่ละวันองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะได้รับความรอดมาเข้ากับพวกเขา” (อมธ.)

ผู้เชื่อในพระเจ้าเหล่านี้รวมตัวและพบกันที่ลานพระวิหาร แล้วแบ่งเป็นกลุ่มเล็กพบปะกันตามบ้าน  “เขาทั้งหลายอุทิศตนในคำสอนของเหล่าอัครทูตและในการร่วมสามัคคีธรรม ในการหักขนมปัง และในการอธิษฐาน” (กิจการ 2:42 อมธ.) คนในชุมชนนี้พวกเขาเอาใจใส่หนุนเสริมกันและกัน  และเลี้ยงดู สั่งสอนผู้เชื่อใหม่แบบตัวต่อตัว และพระคัมภีร์บอกเราชัดเจนว่า องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คนทั้งหลายที่กำลังจะรับความรอดมาเข้ากับพวกเขา

ในกิจการ 20:20 เปาโลกล่าวแก่สมาชิกในคริสตจักรเอเฟซัสว่า “ท่านรู้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้รีรอที่จะเทศนาสิ่งใด ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อท่านแต่ได้สั่งสอนทั้งในที่สาธารณะและตามบ้านต่าง ๆ” (อมธ.)

จดหมายของเปาโลที่เขียนถึงคริสตชนผู้เชื่อในพระเยซูคริสต์ที่โรมที่พบปะกันในบ้าน ในจดหมายนี้เปาโลระบุถึงกลุ่มคริสตชนที่พบปะกันที่คริสตจักรบ้านของปริสสิลลา และ อาควิลลา  “ขอฝากความคิดถึงมายังปริสสิลลา กับอาควิลลาเพื่อนร่วมงานของข้าพเจ้าในพระเยซูคริสต์  ทั้งสองเสี่ยงชีวิตเพื่อข้าพเจ้า ไม่เพียงข้าพเจ้าเท่านั้น แต่คริสตจักรทั้งปวงของคนต่างชาติก็สำนึกในบุญคุณของพวกเขาด้วย ขอฝากความคิดถึงมายังคริสตจักรซึ่งมาประชุมกันที่บ้านของทั้งสองด้วย” (โรม 16:3-5 อมธ.)

เปาโลได้ส่งคำทักทายคิดถึงผู้คนที่อยู่ในบ้านของอาริสโทบูลลัส และผู้คนที่อยู่ในครัวเรือนของนารซิสซัสผู้อยู่ในองค์พระผู้เป็นเจ้า (โรม 16:10-11) และเราพบอีกว่า เปาโลได้ทักทายและฝากความคิดถึงไปยัง “อารคิปปัสเพื่อนทหารของเรา และถึงคริสตจักรซึ่งมาประชุมกันที่บ้านของท่าน” (ฟีเลโมน 1:2 อมธ.)

คริสตจักรในยุคแรกเน้นความสำคัญที่กลุ่มผู้เชื่อที่มาพบปะ เสริมหนุน เรียนรู้ถึงพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ พระวจนะของพระเจ้า และพระประสงค์ของพระองค์ร่วมกัน ในสถานที่ที่จะพอหาได้  ไม่ว่าในบ้าน หรือ ที่ทำงาน หรือ มุมใดมุมหนึ่งที่สะดวกในการพบปะพบกัน

บิลลี่ ซันเดย์ กล่าวไว้ว่า “การไป(อาคารและบริเวณ)โบสถ์ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคริสตชนมากไปกว่าการไปอู่ซ่อมรถทำให้คุณเป็นรถยนต์”

หรือขยายความได้ว่า “การไปรวมกันที่อาคารโบสถ์ไม่ได้ทำให้คุณเป็นคริสตชน เฉกเช่นการไปอู่ซ่อมรถไม่ได้ทำให้คุณเป็นรถยนต์” หรือการที่เราไปในที่ที่มีคริสตชนมารวมตัวกันมาก ๆอย่างเช่นที่อาคารคริสตจักร ไม่ได้ทำให้เราเป็นคริสตชน เฉกเช่นที่เราไปอู่ซ่อมรถซึ่งมีรถยนต์มากมายก็ไม่ทำให้เรากลายเป็นรถยนต์ไปได้

“พันธกิจในอาคารโบสถ์” มีประโยชน์สำหรับการนมัสการร่วมกันของคนกลุ่มใหญ่ เพื่อการสั่งสอน และ งานเฉลิมฉลองร่วมกันในจำนวนคนมาก ๆ แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าประสงค์ให้พวกเรามุ่งมอง “คริสตจักร” ว่าเป็นคนมิใช่สถานที่ที่คริสตชนรวมตัวพบปะกัน ไม่ว่าในบ้านของเรา หรือมุมหนึ่งมุมใดในที่ทำงาน หรือที่หนึ่งที่ใดในโรงเรียน หรือโรงพยาบาล ย่อมเป็นที่ที่เหมาะสมยิ่งที่คริสตชนหรือผู้เชื่อสามารถใช้ในการพบปะรวมตัวกันเพื่อซึมซับเอาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เข้าในชีวิตของเราและมีอิทธิพลต่อฐานเชื่อ กระบวนคิด มุมมอง และ การตัดสินใจในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา

ในวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เราต้องงดการพบปะกันในวันอาทิตย์ พระเจ้ากำลังใช้วิกฤติกาลครั้งนี้กระตุ้นให้คริสตจักรไทยไม่ติดยึดอยู่กับตัวอาคารโบสถ์ บริเวณโบสถ์ การพบปะกันครั้งละหลาย ๆ คน หรือประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมานมนาน แต่ให้แสวงหาแนวทางวิธีการที่จะเกิดกลุ่มผู้เชื่อที่จะเสริมสร้างกันละกันในฐานเชื่อกระบวนคิด และ การมีชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มีในยุคของเรารับใช้พระกิตติคุณ