29 พฤษภาคม 2554

พระเยซูมาเพื่อสร้างสันติหรือความแตกแยกกันแน่?

อ่านลูกา 12:49-59

ท่านทั้งหลายคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดสันติภาพในโลกหรือ
เราบอกท่านว่า มิใช่ แต่จะให้แตกแยกกันต่างหาก
(ลูกา 12:51)

เมื่ออ่านพระคัมภีร์ลูกา 12:51 แล้วท่านมีความรู้สึกอย่างไร?
สำหรับส่วนตัวแล้วผมถามตนเองว่า พระคัมภีร์ตอนนี้บันทึกผิดหรือเปล่า?
จริงๆ แล้วหมอลูกาต้องการสื่อความหมายอะไรกันแน่?

อย่างน้อยที่สุด พระคัมภีร์ข้อนี้ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ข้ออื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้ เช่น
ผู้เผยพระวจนะกล่าวถึงพระเมสสิยาห์ว่าเป็น “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6)
เมื่อพระเยซูคริสต์มาบังเกิดที่เบธเลเฮม ทูตสวรรค์มาแจ้งข่าวดีแก่พวกเลี้ยงแกะว่า
14“พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด
ส่วนบนแผ่นดินโลก
สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวง
ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานนั้น” (ลูกา 2:14)

เมื่อพระองค์สอนสาวกและประชาชนที่เนินเขา พระองค์สอนว่า
9“บุคคลผู้ใดสร้างสันติ ผู้นั้นเป็นสุข เพราะว่าพระเจ้าจะทรงเรียกเขาว่าเป็นบุตร”(มัทธิว 5:9)
สำหรับเปาโลก็สอนว่า “...จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน” (อ่านโรม 12:9-18)

แต่ในพระธรรมที่เราอ่านในตอนนี้พระเยซูคริสต์ตรัสว่า...
“ท่านทั้งหลายคิดว่าเรามาเพื่อจะให้เกิดสันติภาพในโลกหรือ
เราบอกท่านว่า มิใช่ แต่จะให้แตกแยกกันต่างหาก” (ลูกา 12:51)

ในที่นี้พระเยซูพูดความจริง และต้องการให้ผู้ฟังได้ยินและเข้าใจอย่างถูกต้องชัดเจน
เราต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าประสงค์ใหญ่สุดในการเสด็จมาทำพระราชกิจของพระองค์คือ
“ขอให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่...
ขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า...
ในสวรรค์เป็นอย่างไร ก็ให้เป็นเช่นนั้นในแผ่นดินโลก” (มัทธิว 6:10)
นี่คือภาพชีวิตและสังคมที่มีสันติสุขในพระเจ้า

ดังนั้น การเสด็จมาทำพระราชกิจของพระเยซูคริสต์จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เปลี่ยนแปลงจากการเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางของชีวิตโลก ให้เป็นพระเจ้าทรงเป็นแก่นหลักในชีวิต
เปลี่ยนจากการเอาความต้องการ ตามใจปรารถนาของตนเองเป็นตัวตั้ง ให้พระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมาย
เปลี่ยนจากสภาพแวดล้อมชีวิตแบบโลกนี้ สู่สภาพชีวิตแวดล้อมใหม่ของพระเจ้า
นี่คือพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่นำการเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมในโลกนี้ไปสู่ชีวิตที่มีสันติสุขในพระเจ้า

ข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสต์ เป็นข่าวดีที่พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงโลกให้มีชีวิตใหม่
การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ มิใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงสภาพแวดล้อมภายนอกเท่านั้น
แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากภายในชีวิตจิตใจ และ จิตวิญญาณของมนุษย์ก่อน
การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ของคนย่อมก่อเกิดความแตกต่างไปจากคนที่ไม่เปลี่ยนแปลง
ความแตกต่างดังกล่าวนำสู่การต้องตัดสินใจเลือก
การตัดสินใจเลือกที่แตกต่างกันนำสู่ความขัดแย้ง นำสู่ความแปลกแยก

ชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
ไม่สามารถจะประนีประนอมความถูกต้องกับความชั่วร้าย
ไม่สามารถประสานประโยชน์ของกันและกัน
ไม่สามารถออมชอมกันได้

เพราะชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นชีวิตที่ต้องเลือก...
ต้องเลือกที่จะรักและเสียสละ แทนผลประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว และพรรคพวก
ต้องเลือกที่ให้เกิดความถูกต้อง ยุติธรรม ตามพระประสงค์ของพระเจ้า
แทนตามความต้องการแห่งตนและการเอาใจมนุษย์คนอื่น
ต้องเลือกที่จะให้ชีวิต แทนการทำร้ายทำลายชีวิต

แต่ในที่นี้ต้องเข้าใจชัดเจนว่า การเป็นสาวกของพระคริสต์มิใช่เป็นนักสร้างความขัดแย้งบาดหมาง
พระคริสต์มีความประสงค์ให้เรามีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับคนทั้งหลาย
พระคริสต์ต้องการให้เราเป็นผู้สร้างสันติ อย่างที่เปาโลกล่าวว่า “ถ้าเป็นได้... จงอยู่อย่างสงบสุขกับทุกคน”

แต่มิใช่สร้างสันติที่ซุกเอาความชั่วร้าย อยุติธรรม ไว้ใต้พรม
การสร้างสันติที่ยุติธรรมและเสริมหนุนชีวิตแบบพระคริสต์ บ่อยครั้งนำมาซึ่งความขัดแย้ง การไม่ยอมรับ
แต่สาวกของพระคริสต์จำเป็นต้องยืนหยัดการเสริมสร้างสันติภาพบนพระกิตติคุณ
เรามั่นใจว่า ในที่สุดเป้าหมายปลายทางที่จะเกิดขึ้นคือ
รัก สันติ ยุติธรรม ชอบธรรม ตามพระประสงค์จะเกิดขึ้น

ประเด็นสำหรับการใคร่ครวญ
1. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่ความสัมพันธ์ต้องฉีกขาด ห่างเหิน เพราะการที่ยืนหยัดตามพระกิตติคุณหรือไม่?
2. เราจะเป็น “ผู้สร้างสันติ” ได้อย่างไร ในสภาพการณ์ปัจจุบันที่ระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่ก่อเกิดความขัดแย้งกับกระแสคุณค่าของสังคมในโลกนี้?
3. เราจะแสวงหาในการเป็นผู้สร้างสันติในความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้อย่างไรในปัจจุบัน?

26 พฤษภาคม 2554

คุณค่าที่สำคัญสุดในชีวิต?

27เมื่อพระองค์ยังตรัสคำเหล่านั้น มีผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่ประชาชนร้องทูลพระองค์ว่า “ครรภ์ซึ่งปฏิสนธิ์พระองค์และหัวนมที่พระองค์เสวยนั้นก็เป็นสุข” 28แต่พระองค์ตรัสว่า “มิใช่เช่นนั้น แต่คนทั้งหลายที่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้า และได้ถือรักษาพระวจนะนั้นไว้ก็เป็นสุข” (ลูกา 11:27-28)

ในทุกวัฒนธรรมต่างมีระบบคุณค่าหลักในวัฒนธรรมนั้นๆ คนอเมริกันก็มีวัฒนธรรมหลัก คือให้ความสำคัญในเรื่องปัจเจกนิยมและมุ่งมั่นความสำเร็จ วัฒนธรรมของคนจีน คนไทย หรือญี่ปุ่นต่างให้ความสำคัญเป็นประการแรกๆ กับครอบครัว และการให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส พระเยซูมีชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับจีน ญี่ปุ่น และไทยมากกว่าวัฒนธรรมอเมริกัน

ในวัฒนธรรมของยิวให้ความสำคัญเกี่ยวกับความผูกพันกันทางสายเลือดสูงมาก ลำดับวงศ์ตระกูลเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการเป็นประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร คุณค่าของชายมาจากบรรพบุรุษของเขา แต่คุณค่าของหญิงมาจากบุตรชายที่นางให้กำเนิด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง ในสังคมยิวการที่เคารพนับถือพ่อแม่และการจงรักภักดีต่อครอบครัววงศ์ตระกูลมีความสำคัญเกือบเทียบเท่าการจงรักภักดีและสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า หรือการที่จงรักภักดีและสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าสามารถแสดงออกมาเป็นรูปธรรมโดยการให้ความเคารพเอาใจใส่ต่อพ่อแม่และครอบครัว

เมื่อหญิงคนหนึ่งในหมู่ประชาชนร้องทูลว่า “ครรภ์ซึ่งปฏิสนธิ์พระองค์และหัวนมที่พระองค์ดูดนั้นก็เป็นสุข” (11:27) เธอพูดมาจากความคิดความเข้าใจตามระบบคุณค่าหลักในวัฒนธรรมของยิวที่มีครอบครัวเป็นศูนย์กลางในชีวิต การยกย่องชื่นชมมารดาพระเยซูก็เป็นการยกย่องสรรเสริญพระเยซูด้วย และนี่ยืนยันให้เห็นชัดถึงสายสัมพันธ์ระหว่างลูกชายกับแม่ในวัฒนธรรมของยิว

คงไม่เป็นที่สงสัยว่า หญิงคนหนึ่งจากในฝูงชนที่พูดออกมาเช่นนี้กับพระเยซู เธอคงคาดหวังว่า พระเยซูจะเห็นด้วยกับสิ่งที่เธอพูด และยิ่งกว่านั้นเธออาจจะคาดหวังว่าพระเยซูจะตอบสนองเธอด้วยการชื่นชม หรือ ขอบคุณเธอ หรือพระองค์อาจจะกล่าวยกย่องมารดาของพระองค์มากกว่าที่เธอชื่นชม เพราะการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เหมาะสมสอดคล้องในวัฒนธรรมของยิวในสมัยนั้น แต่ปรากฏว่าพระเยซูตอบสนองอย่างที่เธอมิได้คาดหวัง แต่กลับตรงกันข้ามกับความคาดหวังของเธอ

พระองค์ตรัสว่า “มิใช่เช่นนั้น แต่คนทั้งหลายที่ได้ยินพระวจนะของพระเจ้าและนำพระวจนะนั้นไปปฏิบัติตามต่างหากที่เป็นสุข”(11:28) แน่นอนว่า ผู้คนในฝูงชนที่ห้อมล้อมพระเยซูอยู่ในขณะนั้นคงงงงวยด้วยคำตอบของพระเยซูคริสต์ ทำไมพระเยซูถึงไม่ให้เกียรติยกย่องมารดาท่ามกลางฝูงชนเช่นนี้ แท้จริงแล้ว ประเด็นที่พระเยซูคริสต์บ่งชี้นั้นมิได้เป็นการกล่าวร้ายหรือกล่าวหาในเชิงลบต่อมารดาของพระองค์ และในความเป็นจริงนั้น มารดาของพระองค์ก็เป็นคนที่กระทำตามพระวจนะของพระเจ้าเป็นปกติอยู่แล้ว การที่พระองค์กล่าวอย่างตรงไปตรงมาจนดูเป็นการกล่าวอย่าง “ขวานผ่าซาก” และเป็นการกล่าวที่ท้าทายต่อระบบคุณค่าในวัฒนธรรมยิวในขณะนั้น เพราะพระเยซูต้องการเน้นให้เห็นชัดว่า การกระทำตามพระวจนะของบพระเจ้านั้นสำคัญยิ่งกว่าสายสัมพันธ์วงศ์ตระกูลในครอบครัว ดังนั้น หญิงที่ไม่สามารถมีบุตรก็สามารถที่จะได้รับพระพรจากพระเจ้าได้ ถึงแม้คนๆ นั้นจะถูกตัดขาดออกจากครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลก็สามารถรับพระพรจากพระจ้าได้ หรือแม้แต่แม่หม้ายและลูกกำพร้าก็สามารถที่จะได้รับพระพรจากพระเจ้าได้

คริสเตียนจะต้องตัดสินใจเลือกกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า หรือ
จะเดินตามระบบคุณค่าในวัฒนธรรมที่ตนมีชีวิตอยู่

คริสเตียนปัจจุบันจำเป็นต้องเลือกระหว่างการดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมปัจจุบัน หรือ
การดำเนินชีวิตตามพระวจนะ

ยิ่งกว่านั้น จะให้อิทธิพลจากกระแสนิยมในสังคมปัจจุบันครอบงำชีวิตของเรา หรือ
จะให้พระ วจนะของพระเจ้าเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตของเรา

คริสเตียนจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกว่า จะมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จตามใจปรารถนาของตนหรือ
การมุ่งมั่นสู่หลักชัยของพระคริสต์คือแผ่นดินของพระเจ้า

เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่เราต้องการได้รับความสำเร็จในชีวิต
จึงมองข้ามที่จะกระทำตามพระวจนะของพระเจ้า หรือ

การที่เราพยายามที่จะเป็นคนที่มีชีวิตที่มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล
จนลืมที่จะมีเวลาส่วนตัวอยู่กับพระเจ้า

โปรดให้ชีวิตของเราได้รับการหล่อหลอมโดยระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้า
โปรดช่วยให้เราคิดและรู้สึกอย่างพระองค์ทรงคิดและรู้สึก
โปรดเพิ่มเติมให้เราปรารถนาที่จะเรียนรู้ถึงพระวจนะของพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และ
โปรดให้ทุกมิติในชีวิตของเราดำเนินตามพระกิตติคุณแห่งแผ่นดินของพระเจ้า และ
โปรดให้พระวจนะของพระองค์เกิดเป็นรูปธรรมในชีวิตของเราแต่ละคน


ประเด็นใคร่ครวญ
จากพระธรรมลูกาตอนนี้ ได้ท้าทายให้เราทบทวนและพิจารณาถึงระบบคุณค่าหลักในชีวิตของเรา

  • อะไรเป็นระบบคุณค่าหลักในกระแสวัฒนธรรมที่ท่านกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในปัจจุบัน?
  • อะไรคือระบบคุณค่าที่สำคัญสุดในชีวิตของท่าน?
  • การได้ยินได้ฟังได้อ่าน และ การกระทำตามพระวจนะนั้น มีความสำคัญอย่างไรสำหรับท่าน?

22 พฤษภาคม 2554

จะจัดการความวิตกกังวลแบบไหนดี?

“... อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้
เพราะพรุ่งนี้ก็จะมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง
แต่ละวันก็มีความเดือดร้อนของวันนั้นพออยู่แล้ว”
(มัทธิว 6:34 อมตธรรม)

“ความวิตกกังวลไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของพรุ่งนี้หมดสิ้นไป
แต่ความวิตกกังวลทำให้พลังของวันนี้สูญเสียไป”
(ชาร์ล สเปอร์เจียน Charles Spurgeon)

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกอาชีพทุกวงการของคน แม้แต่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้รับใช้พระเจ้าในตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่สามารถหลีกลี้หนีพ้นไปได้คือ “ความวิตกกังวล”

ยิ่งใครวิตกกังวลมากแค่ไหน ดูความกังวลทุกข์ใจจะเพิ่มเป็นเงาตามตัวแค่นั้น กล่าวได้ว่าการวิตกกังวลก่อเกิดความวิตกกังวลยิ่งขึ้น Vicki Hitzges ผู้เขียนหนังสือชื่อ Attitude Is Everything ก็เคยวิตกกังวล เขาเคยวิตกกังวลว่า เขากำลังวิตกกังวลมากเกินไปแล้ว กังวลว่าถ้าตนยังวิตกกังวลเช่นนี้มันจะทำให้เจ้าตัวเป็นโรคแผลในกระเพาะ ทุกข์ใจว่าสุขภาพของตนต้องแย่ลง ทำให้เจ้าตัวต้องสิ้นเปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น Vicki จึงตัดสินใจว่า เพื่อที่เขาจะมีทัศนคติที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ Vicki จึงได้ไปหานักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากในเมืองดัลลาส Fred Smith เฟรดได้ช่วยหนุนใจ Vicki ด้วยความคิดคำสอนของ Zig Ziglar, กูรูทางธุรกิจ Ken Blanchard, และเจ้าความคิดเรื่องผู้นำ John Maxwell แล้วเฟรดฟัง Vicki เล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เขา ห่วงใยที่ไหลพรั่งพรูออกมา หลังจากนั้นเฟรดพูดกับเขาว่า “วิคกี้ คุณจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะชะลอ(แขวน)การวิตกกังวลไว้ก่อน”

คำพูดดังกล่าวถูกซึมซับเข้าไปในห้วงความนึกคิดของ Vicki เขาถามเฟรดว่า เฟรดเคยต้องเสียเวลากับความรู้สึกที่เป็นทุกข์กัดกร่อนจิตใจของเขาหรือไม่ Vicki แปลกใจกับคำตอบที่ได้รับ เฟรดสารภาพว่าหลายปีที่ผ่านมา เขาเกิดอาการวิตกกังวลอย่าง “หัวทิ่มดิน” ในเวลานั้น เฟรดเป็นคนหนุ่ม ที่มีตำแหน่งผู้บริหาร ได้รับเงินเดือนสูง แต่เขาจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมปลาย เขากลัวว่าจะมีคนที่มีการศึกษาสูงกว่า หรือ คนที่มีปริญญาจากมหาวิทยาลัยเข้ามาแย่งงานตำแหน่งนี้ไปจากเขา

หลังจากทำงานแต่ละวัน ทุกค่ำคืนเขานั่งลงพร้อมกับกาแฟแล้วก็วิตกและกังวลว่าเขาจะสูญเสียตำแหน่งงานที่ดีที่สุดของเขา เขาคิดว่าไม่มีตำแหน่งงานไหนอีกแล้วที่จะดีเท่าที่เขาได้รับในปัจจุบัน เขาเกิดความทุกข์ใจ ขณะที่เขาทุกข์ใจและถูกกัดกร่อนด้วยความวิตกกังวล เขาเริ่มคิดได้ว่า ความวิตกกังวลของเขาในขณะนี้มิใช่ความวิตกกังวลบนฐานข้อเท็จจริง แต่เขากำลังวิตกกังวลบนฐานจินตนาการของตนเอง เขากำลังวิตกกังวลเกินจริง(ที่เป็นในขณะนี้) นำเอาความวิตกกังวลของอนาคตมาทับถมเพิ่มความทุกข์ใจแก่ความกังวลครุ่นคิดที่มีมากอยู่แล้วในวันนี้

จากนั้น เฟรดพูดกับตนเองว่า “เฟรด ที่นายนั่งวิตกกังวลจนดึกดื่นค่ำคืนเช่นนี้ มันทำให้ชีวิตและการงานของนายดีขึ้นหรือ? การนั่งจับเจ่าวิตกกังวลเช่นนี้ทำให้นายเป็นลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นหรือ? เขาอธิบายต่อมาว่า เขาตัดสินใจที่จะชะลอความวิตกกังวลนี้ไว้ก่อน เฟรดตัดสินใจแขวนความวิตกกังวลในเรื่องนี้ไว้ก่อนจนกว่าเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่เขาควรจะวิตกกังวล...มิใช่มานั่งกังวลกับเรื่องที่เป็นเพียงเรื่องที่บางทีอาจจะเกิดขึ้น... มิใช่วิตกกังวลล่วงหน้า... และความจริงจนถึงวันนี้ เฟรดไม่เคยสูญเสียตำแหน่งงานนี้ เจ้านายของเขาชื่นชมกับการทำงานของเฟรด

เฟรดบอกถึงเคล็ดไม่ลับว่า... เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดอาการวิตกกังวลล่วงหน้าเกิดขึ้น เขาจะบอกกับตนเองว่า... เฟรด คุณต้องชะลอความวิตกกังวลนี้ไว้ก่อน จนกว่าคุณจะมีข้อมูลเท็จจริงชัดเจนกว่านี้ อย่าวิตกกังวลล่วงหน้า แล้วเฟรดจะแขวนความวิตกกังวลนั้นไว้ก่อน... การชะลอความวิตกกังวลช่วยหล่อหลอมนิสัยหรือวินัยชีวิตที่จะไม่รีบด่วนวิตกกังวล หรือ การวิตกกังวลเกินเลยความจริง และเอาชนะการทดลองที่เรียกว่า “ความวิตกกังวล” ได้ นี่คือคำแนะนำของเฟรด

ความวิตกกังวลในมุมมองของพระเยซูคริสต์ พระองค์มองว่า ความวิตกกังวลมีอำนาจที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่มันมีพลังอำนาจที่ต่อสู้กับพระวจนะได้ มันมีพลังอำนาจที่จะครอบงำและครอบคลุมชีวิตคนให้อยู่ใต้อำนาจของมัน เมื่อพระเยซูคริสต์สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดให้เข้าใจเกี่ยวกับการหว่านพระวจนะของพระเจ้าลงในชีวิตมนุษย์นั้น พระองค์ได้ชี้ให้เห็นว่า “พืชซึ่งหว่านกลางหนามนั้น ได้แก่บุคคลที่ได้ฟังพระวจนะ แล้วความกังวลตามธรรมดาโลก และความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติรัดพระวจนะนั้นเสีย จึงไม่เกิดผล” (มัทธิว 13:22) และเมื่อพระเยซูคริสต์พูดถึงเรื่องความวิตกกังวล พระองค์กล่าวว่า “ใครบ้างในพวกท่านที่กังวลแล้วต่ออายุตัวเองให้ยืนยาวออกไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งได้? ในเมื่อเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ท่านยังทำไม่ได้แล้วท่านจะกังวลเรื่องอื่นๆ ไปทำไม?” (ลูกา 12:25-26 อมตธรรม) พระธรรม 1 เปโตร 5:7 ได้เตือนสติคริสเตียนว่า “จงละความกังวลทั้งสิ้นของท่านไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงห่วงใยท่าน” (อมตธรรม)

ครั้งเมื่อพระองค์ตรัสสอนสาวกและประชาชนบนเนินเขา เมื่อพระองค์สอนเรื่องความวิตกกังวลในชีวิตของมนุษย์ พระองค์ได้ให้หลักสำคัญที่เราจะเอาชนะอำนาจลึกลับของความวิตกกังวล (มัทธิว 6:25-34) ไว้ว่า อย่าวิตกเกี่ยวกับชีวิตในด้านการกินการดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการงานที่ตนรับผิดชอบ เพราะชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราแต่ละคนมีคุณค่าและความสำคัญมากกว่าสิ่งเหล่านี้มากนัก ดังนั้น การที่มนุษย์กระวนกระวายในชีวิตเพราะมนุษย์คนนั้นๆ ขาดความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า พระเยซูใช้ประโยคที่ว่า “โอ ท่านผู้มีความเชื่อน้อย” (ข้อ 30 อมตธรรม) และถ้าคริสเตียนคนใดที่มีความวิตกกังวลในชีวิตเช่นนี้ พระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า คนๆ นั้นก็ดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไปที่ไม่มีพระเจ้า “เพราะคนไม่มีพระเจ้าขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้” (ข้อ 32 อมตธรรม)

ที่สำคัญคือ พระบิดาทรงทราบว่า เราแต่ละคนมีความจำเป็นต้องกินต้องใช้สิ่งเหล่านี้ และพระองค์คือผู้จัดเตรียมสิ่งจำเป็นเหมาะสมสำหรับแต่ละคนตามวิธีการของพระองค์ แต่ที่สำคัญยิ่งคือ เป้าหมายปลายทางในการมีชีวิตอยู่ของเราทุกวันนี้คือ การดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์ชุมชนตามพระประสงค์ของพระเจ้า และสำแดงน้ำพระทัยของพระคริสต์ผ่านชีวิตของเราด้วยความเชื่อและไว้วางใจของพระองค์ พระเยซูคริสต์ชี้ทางที่เราไม่ต้องมีชีวิตที่วิตกกังวลไว้ว่า “...จงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และพระองค์จะประทานสิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่านด้วย” พระคริสต์ทรงเรียกเราให้เข้าไปอยู่ใต้การครอบครองของพระเจ้า ให้เราไว้วางใจพระเจ้าในการดูแล ปกป้อง และประทานสิ่งจำเป็นในชีวิต และมุ่งมั่นคำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต ถ้าเช่นนี้อำนาจที่เร้นลับของความวิตกกังวลจะมาทำร้ายทำลาย และมีอำนาจเหนือเราไม่ได้

ถ้าเช่นนี้เราก็ไม่จำเป็น “ที่จะชะลอความวิตกกังวล หรือ เอาความวิตกกังวลแขวนไว้ก่อน” อย่างเฟรด อีกต่อไป

19 พฤษภาคม 2554

ความวิตกกังวล: ศัตรูตัวร้ายของความเชื่อศรัทธา

คุณรู้หรือไม่ว่าความบาปชนิดใดที่เป็นศัตรูตัวร้ายสุดต่อความเชื่อศรัทธา? ลัทธิวัตถุนิยมหรือ? ความละโมบโลภมากหรือ? ความโกรธหรือ? กามตัณหาหรือ? หรือพวกมือถือสากปากถือศีล? ไม่ใช่เลย ความบาปทั้งสิ้นเหล่านี้เป็นศัตรูต่อความเชื่ออย่างแน่นอน แต่มิใช่เป็นศัตรูตัวร้ายต่อความเชื่อ

นักล่าฆ่าความศรัทธานามกระฉ่อนในทุกชีวิตคือ ความกังวล 25“เหตุฉะนั้น เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่ากระวนกระวายถึงชีวิตของตนว่า จะเอาอะไรกิน หรือจะเอาอะไรดื่ม และอย่ากระวนกระวายถึงร่างกายของตนว่า จะเอาอะไรนุ่งห่ม ชีวิตสำคัญยิ่งกว่าอาหารมิใช่หรือ และร่างกายสำคัญยิ่งกว่าเครื่องนุ่งห่มมิใช่หรือ(มัทธิว 6:25)”

จากการศึกษารากศัพท์ในภาษากรีกของคำว่า “วิตกกังวล” มีความหมายที่น่าสนใจ ให้เราเริ่มดูจากคำที่พระธรรมมัทธิวใช้คำว่า meriznao ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า วิตกกังวล รากศัพท์ภาษากรีกคำนี้มาจาก 2 คำด้วยกันคือคำว่า merizo หมายถึง “การแบ่งแยก” และคำว่า nous หมายถึง “ความคิด” รวมความแปลได้ว่า คนๆ นั้นเกิดความวิตกกังวล ได้รับความทุกข์จากการที่แตกแยกทางความคิด การปล่อยให้เกิดความกระสับกระส่ายไม่สงบและมีจิตใจที่ว้าวุ่นวอกแวกหรือฟุ้งซ่าน

จากเรื่องราวในพระคัมภีร์ ไม่มีพระธรรมตอนไหนที่ให้ความหมายที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมเท่ากับที่บันทึกไว้ใน 5 ข้อสุดท้ายในพระธรรมลูกาบทที่ 10 ให้เราลองพิจารณาจากพระธรรมตอนนี้

พระเยซูแวะเข้าไปในบ้านมิตรสหายที่สนิทในเมืองเบธาเนีย มารธาเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพระองค์ที่ตื่นเต้นอย่างมากในการมาของพระเยซู แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายลงเมื่อมารีย์น้องสาวของมารธาชื่นชอบเหลือเกินที่องค์พระผู้เป็นเจ้ามาเยี่ยมบ้านของเธอ เพราะเธอมีโอกาสนั่งใกล้พระองค์ แล้วก็เห็นได้ชัดว่าเธอไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนต่อพี่สาวของเธอที่กำลังว้าวุ่นวิตกกังวลอย่างมาก

ในพระธรรมลูกาได้เล่าไว้ว่า “แต่มารธายุ่งในการปรนนิบัติมาก” (ข้อ 40) และก็ไม่มีใครช่วยมารธา และนี่เป็นฟางเส้นสุดท้าย มารธาโกรธจัด ฉุนเฉียว อารมณ์ถึงจุดเดือด จนระเบิดต่อว่าพระเยซูออกมาว่า “...พระองค์ไม่สนพระทัยหรือ ซึ่งน้องสาวของข้าพระองค์ปล่อยให้ข้าพระองค์ทำการปรนนิบัติแต่คนเดียว ขอพระองค์สั่งเขาให้มาช่วยข้าพระองค์” (ข้อ 40)

แต่พระเยซูไม่ได้ติดใจในงานยุ่งของมารธาและคำสั่งของเธอ แต่พระเยซูตอบเธออย่างสุภาพ มั่นคงว่า “มารธา มารธาเอ๋ย เธอกระวนกระวายและร้อนใจด้วยหลายสิ่งนัก 42สิ่งซึ่งต้องการนั้นมีแต่สิ่งเดียว มารีย์ได้เลือกเอาส่วนดีนั้น ใครจะชิงเอาไปจากเธอไม่ได้” (10:41-42)

ความวิตกกังวล หรือ การกระวนกระวาย และ ร้อนใจนั้นเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าเราต้องรับผิดชอบต่อเรื่องเหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกความสามารถที่เราจะควบคุมได้ บทสรุปที่น่าสนใจยิ่งของพระเยซูที่ว่า “มีเพียงสองสามสิ่งที่จำเป็น แท้จริงแล้วสิ่งที่จำเป็นมีเพียง แต่สิ่งเดียว” (ตัวเอนแปลตามสำนวนของ อมตธรรม) และนี่คือตัวอย่างยอดเยี่ยมของความเชื่อศรัทธาพื้นฐาน

สิ่งที่มารีย์ต้องการมากที่สุดคือโอกาสที่จะอยู่กับพระเยซู และพระองค์ยกย่องเธอในสิ่งที่เธอเลือก ความเชื่อศรัทธาพื้นฐานธรรมดาของมารีย์นี้ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความว้าวุ่นสับสน กระวนกระวาย และร้อนใจของพี่สาว

ความวิตกกังวล และ ว้าวุ่นไม่สามารถที่จะไปได้กับความเชื่อศรัทธา

17 พฤษภาคม 2554

วิบัติแก่เจ้าพวกฟาริสี... วิบัติแก่ข้าพเจ้า...

42“แต่วิบัติแก่เจ้า พวกฟาริสี ด้วยว่าพวกเจ้าถวายทศางค์(สิบลด)ของสะระแหน่และขมิ้นและผักทุกอย่าง และได้ละเว้นความชอบธรรมและความรักพระเจ้าเสีย สิ่งเหล่านั้นพวกเจ้าควรได้กระทำอยู่แล้ว แต่สิ่งอื่นนั้นก็ไม่ควรละเว้นด้วย” (ลูกา 11:42)

ในตอนท้ายของลูกาบทที่ 11 (ข้อ 37-44) เป็นเรื่องที่พระเยซูไปรับประทานอาหารในบ้านของฟาริสี แน่นอนว่า ในงานเลี้ยงวันนี้เต็มไปด้วยผู้นำทางศาสนาของยิว มีทั้งพวกฟาริสีซึ่งเป็นผู้นำศาสนายิวที่เป็นฆราวาส บาเรียน และพวกธรรมาจารย์ แต่ในวันนั้นบรรยากาศการสนทนาบนโต๊ะอาหารดูจะไม่ค่อยชื่นชมราบรื่นเท่าใดนัก ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นการสนทนาที่ดุเดือดเผ็ดร้อน เป็นการสนทนาที่สร้างความตึงเครียดระหว่างพระเยซูและลูกศิษย์ของพระองค์กับพวกผู้นำศาสนายิว คำตอบของพระเยซูในงานเลี้ยงวันนั้นยังเป็นลักษณะติเตียนกล่าวโทษพวกฟาริสีอีกด้วย

พระเยซูคริสต์ได้วิพากษ์พวกฟาริสีในสามประเด็นด้วยกัน ซึ่งในทั้งสามเรื่องพระองค์ทรงเตือนฟาริสีให้ระมัดระวังในการที่พวกเขาเคร่งครัดเรื่องหยุมหยิม หรือ การปฏิบัติศาสนพิธีตามธรรมบัญญัติในข้อปลีกย่อยต่างๆ เพื่อให้คนอื่นได้เห็นการกระทำดีของตนเอง เพื่อที่จะได้ยกย่องชื่นชมการกระทำของเขา แต่ละเลยที่จะเอาใจใส่ต่อจิตใจที่สัตย์ซื่อในการกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ในข้อที่ 42 เป็นการวิพากษ์พวกฟาริสีในประการที่สอง ซึ่งเป็นการกระตุกต่อมสำนึกและความจริงใจของพวกเขาต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ พระองค์ตรัสวิพากษ์พวกฟาริสีว่า “วิบัติแก่เจ้าพวกฟาริสี เจ้าถวายสิบลดของสาระแหน่ ขมิ้น และเครื่องเทศทั้งปวงของเจ้าแด่พระเจ้า แต่เจ้าละเลยความยุติธรรมและความรักของพระเจ้า เจ้าควรปฏิบัติอย่างหลังโดยไม่ละเลยอย่างแรก” (ข้อ 42 อมตธรรม) พวกฟาริสีสนใจเรื่องการถวายเงินและผลผลิตจากทุ่งนาของตนแด่พระเจ้า แต่เขาไม่สนใจและละเลยที่จะกระทำ “ความยุติธรรมและความรักของพระเจ้า”

ในข้อ 41 พระเยซูวิพากษ์พวกฟาริสีว่า เอาใจใส่แต่เรื่องภายนอกที่เป็นการกระทำโอ้อวดให้คนอื่นได้เห็นเพื่อหวังจะได้รับการยกย่องจากคนที่พบเห็น แต่เขามิได้เอาใจใส่จิตภายในชีวิตของเขาที่จะให้จิตใจของตนมีความรักของพระเจ้า ดังนั้น เขาจึงละเลยที่จะรักและช่วยคนยากคนจน พระเยซูคริสต์บอกพวกฟาริสีว่า “แต่จงให้สิ่งที่มีอยู่ในชามแก่ผู้ยากไร้” (ข้อ 37 เทียบข้อ 39) ที่พูดถึงการล้างชามคือการชำระจิตใจ พระเยซูชี้ให้ฟาริสีเห็นชัดว่า การที่ให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อด้วยความรักของพระเจ้าแก่คนยากไร้นั้นเป็นการกระทำจากจิตใจที่สะอาด แต่ฟาริสีเลือกที่จะถวายสิบลดสิ่งเล็กสิ่งน้อย แล้วไม่ยอมที่จะช่วยเหลือเจือจานแก่คนยากคนจน นั่นแสดงว่า ทำตามศาสนบัญญัติ แต่ไม่มีความรักของพระเจ้าในจิตใจของเขา ถ้าเช่นนั้นเขาก็จะไม่มีสำนึกในเรื่องความยุติธรรมในชีวิตและสังคม และที่สำคัญเขาละเลยที่จะกระทำสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต

แต่เมื่อเราอ่านพระธรรมตอนนี้ที่พระเยซูวิพากษ์ฟาริสีว่า “วิบัติแก่เจ้าพวกฟาริสี...” ทำให้สะดุดใจตนเองว่า “วิบัติแก่ข้าพเจ้า...” เพราะบ่อยครั้งเราก็เป็นเหมือนฟาริสี ที่ทำตนให้ดูดีแต่ภายนอก แต่ภายในรู้อยู่แก่ใจตนเองว่าเป็นเช่นไร การวิพากษ์ของพระเยซูจึงเป็นการกระตุกต่อมสำนึกของเรา และเรียกร้องความจริงใจที่จะให้เราถวายแด่พระองค์ด้วยจิตใจที่มีความรักของพระเจ้า ที่สำนึกในความเป็นธรรมในชีวิตมนุษย์และสังคม ให้เราระวังที่เราจะมุ่งสนใจการกระทำตามกฎบัญญัติและระเบียบถี่ย่อยในองค์กรศาสนาของเรา แต่ละเลยที่จะแสวงหาความยุติธรรมและความรักของพระเจ้า เราอาจจะหลงระเริงกับการที่ได้รับเกียรติ ยกย่อง เชิดชูจากผู้คนโดยมิได้สำนึกถึงความฉ้อฉลในจิตวิญญาณของเรา ถ้าเช่นนี้หัวข้อในวันนี้น่าจะเป็น “วิบัติแก่ข้าพเจ้า...” แทน “วิบัติแก่พวกฟาริสี...”

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจจัดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองได้ แต่เราหวังพึ่งในพระคุณและพระกำลังผ่านทางพระเยซูคริสต์ วันนี้ ขอให้กำลังใจแก่ท่านด้วยข้อความอมตะของฟาริสีที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนน่าสังเวชอะไรเช่นนี้ ใครจะช่วยข้าพเจ้าพ้นจากกายแห่งความตายนี้ได้ ขอบพระคุณพระเจ้า ข้าพเจ้าพ้นได้โดยทางพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (โรม 7:24-25 อมตธรรม) เปาโลได้ยืนยันสัจจะความจริงนี้

จากการที่เราได้อ่านคำวิพากษ์ของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อพวกฟาริสี เราได้เห็นบางสิ่งในคำวิพากษ์นั้นมีอยู่ในชีวิตของเราหรือไม่? ถ้ามี เราจะยอมให้องค์พระผู้เป็นเจ้าเปลี่ยนแปลงชีวิตภายในของเรา เพื่อชีวิตที่แสดงออกภายนอกจะได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระองค์ด้วยหรือไม่?

เป็นการง่ายที่เราจะมองหาความผิดพลาดของคนอื่น มองว่าคนอื่นเป็นคนเลวกระทำผิด แต่เมื่อเราได้อ่านได้ใคร่ครวญคำวิพากษ์ของพระเยซูทำให้เราเห็นชัดว่าตนเองก็เป็นอย่างฟาริสีเช่นกัน เราต้องการขอพระเจ้าโปรดยกโทษแก่เรา เราเสียใจที่บ่อยครั้งเราไปเอาใจใส่แต่สิ่งเล็กสิ่งน้อยแต่ละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดของพระเจ้า ขอพระเจ้าโปรดเมตตาและยกโทษเราที่ล้มเหลวที่จะมีความรักและความยุติธรรมของพระองค์ในชีวิตของเรา ขอพระเจ้าโปรดเมตตายกโทษที่เรามักจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญว่า คนอื่นจะมองเราอย่างไร แต่ไม่สนใจที่จะมองเข้าในจิตใจของตนเองว่าเป็นเช่นไร

ในสภาพชีวิตเช่นนี้เราต้องขอพึ่งในพระกรุณาของพระองค์ เพื่อจะปลดปล่อยและชำระจิตใจของเรา และขอพระเจ้าโปรดชี้นำทางชีวิตที่เราควรจะดำเนินไป บนเส้นทางเสรีที่ผูกพันด้วยความรักแบบพระคริสต์ เส้นทางเสรีที่เป็นวิถีแห่งกางเขน เส้นทางเสรีบนวิถีแห่งการเป็นขึ้นใหม่ของพระคริสต์

12 พฤษภาคม 2554

พระเจ้าตรัสผ่านพระคัมภีร์ในแต่ละวัน

“พระดำรัสทุกคำของพระเจ้าไม่มีข้อผิดพลาด
พระองค์ทรงเป็นโล่สำหรับบรรดาผู้ที่ลี้ภัยในพระองค์”
(สุภาษิต 30:5 อมตธรรม)

ข้าพเจ้าอัศจรรย์ใจในการทรงนำของพระเจ้าที่ทรงมีสำหรับเรา การเรียนรู้จากพระปัญญาและความล้ำลึกของพระองค์ เราสามารถดำเนินชีวิตที่ปลอดจากปัญหามากมายที่ผู้อื่นต้องประสบเป็นประจำเพราะเขาเหล่านั้นมิได้รู้ถึงพระดำรัสของพระองค์ เราเรียนรู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ใดจากพระวจนะของพระเจ้า พระคุณของพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เราไว้วางใจได้สูงสุด

ดิฉันได้ค้นพบวิธีการฟังพระวจนะของพระเจ้าที่น่าอัศจรรย์ใจ ที่จะขอแบ่งปันในที่นี้

ดิฉันเรียนรู้พระวจนะของพระเจ้าจากพระคัมภีร์และกระดาษเปล่าสำหรับการเขียน ข้างบนหน้ากระดาษดิฉันจะเขียนสองสามประโยคที่บอกถึงสิ่งที่ฉันคิดในห้วงความคิดของดิฉัน ดิฉันอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับพระเจ้า หรือพระองค์ทรงมีมุมมองในบางเรื่องอย่างไร หรือมีคำถามเกี่ยวกับชีวิตคริสเตียน หรืออาจจะเป็นประโยคที่กล่าวถึงสถานการณ์ที่ฉันพบในชีวิตที่มารบกวนจิตใจของฉันและฉันสามารถใช้ความรู้สติปัญญาของพระเจ้าตอบสิ่งที่พบเหล่านั้น บนกระดาษแผ่นนี้ดิฉันจะเขียนสองสามประโยคที่สรุปถึงสถานการณ์ของชีวิตปัจจุบัน หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดคำถามที่กล่าวข้างต้น

จากนั้น ดิฉันจะตั้งคำถามพระเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนั้น และเขียนคำถามนั้นบนกระดาษด้วย

สิ่งที่ฉันเขียนอาจจะมีลักษณะดังนี้

“ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์รู้สึกว่า ถูกงานที่ต้องทำถาโถมจู่โจม จนรู้สึกว่ามีงานโน่นงานนี่ต้องทำมากมายเหลือเกิน และกำลังรู้สึกว่าไม่รู้จะทำงานให้เสร็จสำเร็จครบถ้วนอย่างไร พูดกันตรงๆ ข้าพระองค์รู้สึกโกรธที่ทำไมงานมันถึงมากเหลือเกินเช่นนี้ พระองค์มองเรื่องนี้อย่างไร พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์ได้เรียนรู้ และ มีวิธีมองอย่างพระองค์ในขณะนี้?"

ดิฉันเลือกใช้พระคัมภีร์ที่มีรายการศัพท์สำคัญที่บอกถึงข้อพระคัมภีร์ในแต่ละคำศัพท์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ด้านท้ายของพระคัมภีร์ ดิฉันจะพลิกไปด้านหลังพระคัมภีร์ค้นหาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับคำถาม หรือ คำอธิษฐานในวันนี้ เช่น “การงาน” “การทำงาน” “โกรธ” “กังวล” “พระกำลังจากพระเจ้า” และ ฯลฯ ในแต่ละคำศัพท์เราจะพบข้อพระคัมภีร์ต่างๆที่มีคำศัพท์คำนั้น ตัวอย่างเช่น คำว่า “โกรธ” ก็จะมีรายการข้อพระคัมภีร์เช่น มาระโก 3:5; มาระโก 11:14-16; โรม 2:8; มัทธิว 23; และ ฯลฯ

ปัจจุบันนี้ทันสมัยกว่านั้น ในพระคัมภีร์ฉบับคอมพิวเตอร์ของสมาคมพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ จะมีโปรแกรมค้นหาข้อพระคัมภีร์สำหรับศัพท์สำคัญที่ใช้ในพระคัมภีร์ เพียงแต่เราคลิกเข้าไปโปรแกรมค้นหาข้อพระคัมภีร์และพิมพ์คำศัพท์ที่ต้องการค้นหาลงในช่องที่กำหนด และเลือกพระคัมภีร์ฉบับที่ต้องการใช้ แล้วสั่งให้ค้นหา ท่านก็จะได้ข้อพระคัมภีร์ตารมศัพท์สำคัญที่ท่านสั่งค้นหา

จากนั้น ดิฉันก็จะอ่านตามข้อพระคัมภีร์ในรายการที่ค้นได้ทีละข้อละตอน ถ้าพระคัมภีร์ข้อไหนตอนไหนที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคำถามหรือสถานการณ์ชีวิตของดิฉัน ดิฉันก็จะเขียนเนื้อหาของข้อพระคัมภีร์นั้นลงบนกระดาษ (สำหรับดิฉัน จะเขียนเนื้อหาข้อพระคัมภีร์นั้นด้วยลายมือแม้จะเป็นการค้นหาด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ตาม เพราะดิฉันจะมีโอกาสค่อยๆ อ่านอย่างละเอียด เพื่อจะได้ยินคำพูดจากพระคัมภีร์ตอนนั้นๆ) หรือดิฉันจะเขียนข้อพระคัมภีร์เท่านั้น หลังจากนั้นจะกลับมาอ่านพระคัมภีร์ตอนนั้น อาจจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับข้ออื่นๆ อีก 2, 3 หรือ 5 ข้อ ดิฉันก็จะคัดข้อทั้งหลายที่เกี่ยวข้องหรือที่ตอบคำถาม หรือ ตอบสนองต่อสถานการณ์ชีวิตที่ดิฉันประสบอยู่ เมื่อเขียนเสร็จแล้วกลับมาอ่านซ้ำอย่างเอาใจใส่อีกครั้งหนึ่ง ก็จะช่วยให้ดิฉันเห็นภาพรวม กรอบคิด หรือ ข่าวสารที่พระคัมภีร์ตอนนั้นกำลังพูดกับดิฉัน ดิฉันทูลขอพระเจ้าโปรดสอนดิฉัน และใคร่ครวญพระธรรมตอนนั้นว่า พระองค์กำลังตรัสอะไรในเรื่องนั้น หรือ ในคำถามที่ดิฉันเขียนลงในกระดาษก่อนหน้านี้

ตัวอย่างเช่น ดิฉันรู้สึกโกรธคนบางคน แล้วได้ค้นพบและอ่านในพระคัมภีร์หลายข้อหลายตอนที่เกี่ยวกับเรื่องโกรธ การยกโทษ หรือ ใจสงบสันติ ดิฉันต้องการค้นหาพระคัมภีร์ที่พูดถึงเรื่องนี้ ค้นหาข่าวสารจากพระเจ้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดิฉันอาจจะพบว่า พระคัมภีร์ได้พูดกับฉันว่า เมื่อพระเยซูคริสต์ได้ไถ่ดิฉันออกจากอำนาจของความบาปแล้ว พระองค์ไม่ได้ถือโทษในความบาปที่มีในอดีตของดิฉัน ดิฉันก็ควรจะยกโทษ ให้อภัยแก่เพื่อนคนนั้นด้วย เฉกเช่นที่พระคริสต์ยกโทษแก่ดิฉันแล้ว

บางครั้ง พระเจ้าทรงให้พระคัมภีร์ข้อใดข้อเดียวที่ตอบคำถามหรือสถานการณ์ชีวิตของเราในตอนนั้น พระองค์ทรงตรัสตรงกับเราผ่านพระคัมภีร์ข้อนั้นๆ ดิฉันก็จะค้นหาต่อไปว่า ข้อพระคัมภีร์ที่ให้ความหมายเดียวกันนี้สามารถพบได้ที่ไหนบ้าง ซึ่งพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ก็จะให้ข้อพระคัมภีร์อ้างอิงในลักษณะเหมือน footnote ซึ่งบางฉบับจะอยู่กลางหน้า บางฉบับจะอยู่ด้านล่างของแต่ละหน้า แล้วดิฉันจะศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นด้วย

บางครั้งดิฉันใช้เวลาการค้นหาและศึกษาใคร่ครวญเช่นนี้เพียง 10-15 นาทีเท่านั้น แต่บางครั้งน่าสนใจมากดิฉันใช้เวลาการศึกษาใคร่ครวญเช่นนี้ไป ครึ่งชั่วโมง บางครั้งหนึ่งชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

ในช่วงเวลานี้มีความสำคัญมาก ดิฉันจะทูลขอให้พระเจ้าทรงสอนดิฉัน ทูลขอให้พระองค์ทรงสอนให้ดิฉันมีมุมมองอย่างพระองค์ เพราะดิฉันต้องการมีชีวิตที่ติดตามพระองค์ อย่างไรก็ตาม ในการค้นหา ศึกษาใคร่ครวญเช่นนี้ ดิฉันมิได้ค้นหาว่ามีข้อพระคัมภีร์ข้อไหนที่ ดิฉันจะใช้ในการกระทำเพื่อพระเจ้า แต่จุดประสงค์ของดิฉันคือต้องการฟังสิ่งที่พระองค์ตรัสกับดิฉันถึงวิถีทางที่พระองค์ประสงค์ เพื่อที่จะสนองตอบพระประสงค์ของพระองค์ที่ทรงมีในชีวิตของดิฉัน ดิฉันทูลขอพระองค์ทรงกำหนดแผนการของพระองค์ในชีวิตของดิฉัน มิใช่ทูลขอให้พระองค์ช่วยให้ดิฉันสามารถทำตามแผนการชีวิตของดิฉันที่กำหนดเอง เมื่อดิฉันได้เรียนรู้จากพระวจนะของพระเจ้าว่าพระองค์มีพระประสงค์ให้ดิฉันดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงบางประการของพระองค์ ดิฉันจะทูลขอพระองค์ทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของดิฉัน ประทานพลังแก่ชีวิตของดิฉัน และมีใจปรารถนาที่จะกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ เช่น เมื่ออ่านข้อพระคัมภีร์ที่ว่า “จงมีใจถ่อมลงทุกอย่าง และใจอ่อนสุภาพอดทนนาน และอดกลั้นต่อกันและกันด้วยความรัก” (เอเฟซัส 4:2) “ขอพระเจ้าโปรดทำงานในชีวิตของข้าพระองค์ให้ข้าพระองค์เป็นคนถ่อม สุภาพ และอดทนต่อคนอื่นๆ พระองค์ทรงทราบว่า นี่มิใช่ลักษณะนิสัยและชีวิตของดิฉันที่จะทำกับคนอื่นๆ เช่นนี้ โปรดสอนข้าพระองค์ที่จะมีชีวิตเช่นนี้ได้อย่างไร” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ดิฉันไว้วางใจในพระเจ้า พึ่งพิงในพระองค์ ทูลขอพระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของดิฉันตามที่พระองค์ตรัสแก่ดิฉันในวันนี้

นี่เป็นวิธีการง่ายๆ ที่จะทูลขอพระเจ้าที่จะสอนเราผ่านพระวจนะของพระองค์ โดยให้เราเข้าพบกับพระเจ้าด้วยชีวิตจิตใจที่เปิดออก ทูลขอให้พระเจ้าตรัสกับเราในเรื่องในสถานการณ์ที่ชีวิตของท่านกำลังประสบอยู่ในวันนั้น ให้เราเสนอความคิดความรู้สึกที่เป็นจริงในวันนั้นด้วยความจริงใจต่อพระองค์ จากนั้นให้เราทูลขอพระเจ้าโปรดตรัสกับเราตามมุมมองของพระองค์ บางครั้งดิฉันจะทูลขอต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า ในสถานการณ์ชีวิตของข้าพระองค์ในตอนนี้ พระองค์ประสงค์ให้ข้าพระองค์รู้จักพระองค์ในแง่ไหนมุมไหนบ้าง? พระองค์ต้องการให้ข้าพระองค์ไว้วางใจพระองค์ในแบบไหน? พระองค์ต้องการตรัสอะไรกับข้าพระองค์?” จากนั้น ให้เวลากับพระเจ้า ในขณะที่เราคัดลอกข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเราพิจารณาถึงภาพรวมของข่าวสารในพระคัมภีร์ที่พระองค์ตรัสกับเรา เมื่อพระองค์สอนเรา จากนั้นให้เราขอบพระคุณพระเจ้า และทูลขอให้พระองค์โปรดสร้างสิ่งที่พระองค์ตรัสแก่เราในชีวิตของเรา

ถอดความและเรียบเรียงจากข้อเขียนของ Marilyn Adamson
เรื่อง How God Speaks to Us Through the Bible

10 พฤษภาคม 2554

อะไรที่ทำให้เป็นคนสำคัญในพระคัมภีร์

เมื่อเราอ่านเรื่องราวของบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ เราไม่ได้พบว่า ที่คนนั้นคนนี้เป็นคนสำคัญเพราะเป็น คนดี เด่น เก่ง ดัง สิ่งที่เราพบในชีวิตคนสำคัญในพระคัมภีร์มิได้มีแต่ด้านดีด้านบวกเท่านั้น แต่เราพบความจริงว่าคนเหล่านี้ก็ผิดพลาดในชีวิตมากมาย เช่น โกหก หลอกลวง เห็นแก่ตัว โกง เล่นชู้ เที่ยวหญิงบริการ เอาเมียคนอื่นมาเป็นเมียของตนอง

เวลาอ่านเรื่องราวของบุคคลสำคัญในพระคัมภีร์ ที่เขาเป็นคนสำคัญเพราะ พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเขา และ ผ่านชีวิตของเขา ชีวิตของเขาจึงเกิดผลตามแผนการของพระเจ้า

ท่ามกลางเหตุร้าย สถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ อาจจะเกิดจากการที่บุคคลสำคัญคนนั้นทำผิดพลาด หรือ เพราะคนรอบข้างทำให้เขาต้องตกในสถานการณ์เลวร้ายและทุกข์ยาก พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ผ่านทั้งสถานการณ์ดีและเลวร้ายในชีวิตของบุคคลให้เกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์ จึงทำให้เราเห็นว่าคนๆ นั้นเป็นคนสำคัญในพระคัมภีร์

อีกประการหนึ่ง เราจะพบว่า ทุกคนที่เป็นคนสำคัญในพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสัญญาและทรงสถิตอยู่ด้วยกับเขา และนี่คือจุดเริ่มต้นการเป็นคนสำคัญในพระคัมภีร์

อับราฮัม
เมื่อพระเจ้าทรงเรียกอับราม มิใช่เพราะอับรามเป็นคนดี ร่ำรวย มีอำนาจ แต่พระเจ้าทรงเรียกอับรามที่เป็นบรรพบุรุษแห่งความเชื่อเพราะ พระองค์ต้องการสำแดงพระประสงค์ของพระองค์ต่ออับราม และ ต่อบรรดาประชาชาติผ่านทางอับราม พระองค์จึงมีพระสัญญา สถิตอยู่ด้วย และกระทำพระราชกิจในชีวิตและผ่านชีวิตของอับราม
เรา จะทำ ให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ และเราจะ อวยพร เจ้า
เรา จะทำให้ชื่อเสียงของเจ้า เลื่องลือ และเจ้าจะเป็นพระพร
เรา จะอวยพร ผู้ที่อวยพรเจ้า และเราจะ สาปแช่ง บรรดาผู้ที่แช่งเจ้า
ทุกชนชาติทั่วโลก จะได้รับพระผ่านทางเจ้า” (อมตธรรม ปฐมกาล 12:2)


ยาโคบ
เมื่อยาโคบได้หลอกล่อวางแผนแย่งพรบุตรหัวปีจากพี่ชาย ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดหาทางจะปลิดชีวิตกัน ดังนั้น ยาโคบจึงหนีออกจากบ้านไปอยู่กับลุง ทั้งด้วยความกลัวจะถูกทำร้ายและถูกฆ่า อีกทั้งกลัวเพราะไม่รู้ว่าอนาคตของตนจะเป็นเช่นไร ณ กลางทางที่เขารอนแรมนอนค้างคืนนั้นเอง พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ และ ให้พระสัญญาแก่ยาโคบ
"เรา อยู่ กับเจ้า และจะ ดูแลปกป้อง เจ้า ไม่ว่าเจ้าไปที่ไหน และเราจะ นำ เจ้ากลับมายังดินแดนนี้ เราจะ ไม่ทิ้ง เจ้า จนกว่า เรา จะ ได้ทำ สิ่งที่เราได้ สัญญา ไว้กับเจ้าแล้ว" (อมตธรรม ปฐมกาล 28:15)

โยเซฟ
เมื่อโยเซฟถูกขายให้กับโปทิฟาร์ ผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ของฟาโรห์แห่งอียิปต์ พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า "องค์พระผู้เป็นเจ้า สถิต กับโยเซฟและ ทรงอวยพร ให้เขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นในบ้านของเจ้านายชาวอียิปต์ เมื่อนายเห็นว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า สถิต กับเขา และองค์พระผู้เป็นเจ้า ประทานความสำเร็จ ในทุกสิ่งที่เขาทำ โยเซฟจึงเป็นที่โปรดปรานและกลายเป็นคนสนิทของนาย..." (อมตธรรม ปฐมกาล 39:2-4)

เมื่อโยเซฟถูกใส่ความเพราะไม่ยอมทำตามใจนายหญิง เขาจึงถูกจำคุกหลวง "...แต่ขณะที่โยเซฟถูกขังอยู่ในคุกนั้น องค์พระผู้เป็นเจ้า สถิต กับโยเซฟ ทรงกรุณา เขา และ ทำให้ โยเซฟ เป็นที่โปรดปรานในสายตาของพัศดี ดังนั้นพัศดีจึงตั้งให้โยเซฟเป็นผู้ดูแลนักโทษทุกคน และให้เขารับผิดชอบงานทุกอย่างในคุก... เพราะว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า สถิต กับโยเซฟและ ประทานความสำเร็จ ในทุกสิ่งที่เขาทำ" (อมตธรรม ปฐมกาล 39:20-23)

เมื่อฟาโรห์หาคนทำนายความฝันไม่ได้ ในที่สุดจึงให้โยเซฟมาช่วยทำนายความฝันของพระองค์ โยเซฟบอกกับฟาโรห์ตรงไปตรงมาว่า "ข้าพระบาททำ(บอกความหมายของความฝัน)ไม่ได้ แต่พระเจ้าจะ ทรงแจ้ง ให้ฟาโรห์ทราบคำตอบตามที่ฟาโรห์ต้องการ" (อมตธรรม ปฐมกาล 41:16) เมื่อโยเซฟได้บอกถึงความหมายของความฝันที่พระเจ้า ประสงค์บอกแก่ฟาโรห์ แล้ว โยเซฟยังได้แนะวิธีการบริหารจัดการสิ่งที่พระเจ้าทรงเปิดเผย "ฟาโรห์ตรัสกับโยเซฟว่า "เนื่องจากพระเจ้า ทรงเปิดเผย ความหมายของความฝันให้เจ้ารู้ จึงไม่มีผู้ใดฉลาดหลักแหลมและมีสติปัญญาเหมือนเจ้า เราจะแต่งตั้งเจ้าให้ดูแลพระราชสำนักของเรา และราษฎรทั้งหมดของเราจะทำตามคำสั่งของเจ้า...บัดนี้เราขอตั้งเจ้าให้ดูแลทั่วแผ่นดินอียิปต์..."" (อมตธรรม ปฐมกาล 41:39-41)

เมื่อโยเซฟเปิดเผยตนเองแก่บรรดาพี่ชายที่มาซื้อข้าวที่อียิปต์ว่า ตนคือโยเซฟ พวกพี่ๆ ต่างกลัวลาน เพราะคิดว่าโยเซฟจะแก้แค้นที่พวกเขาขายโยเซฟ แต่โยเซฟได้บอกกับพี่ๆว่า การที่เขาถูกขายมาที่อียิปต์พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจผ่านชีวิตของตน "บัดนี้อย่าเสียใจและอย่าโกรธตนเองที่ได้ขายเรามาที่นี่ เพราะว่าพระเจ้า ทรงส่ง เรามาล่วงหน้าพวกพี่เพื่อช่วยชีวิตคนทั้งหลาย... และทรงช่วยชีวิตพวกพี่ไว้ด้วย การช่วยกู้ยิ่งใหญ่... ฉะนั้น จึงมิใช่พี่ที่ส่งเรามาที่นี่ แต่เป็นพระเจ้าเอง..." (อมตธรรม ปฐมกาล 45:5, 7-8)

โมเสส
เมื่อพระเจ้าทรงเรียกโมเสส ให้กลับไปช่วยชนอิสราเอล ซึ่งครั้งหนึ่งเขาพยายามที่จะช่วยแต่ประสบความล้มเหลว เนื่องจากเขาพยายามใช้ความสามารถและฐานะการเป็น “เจ้าชาย” ของเขาในการช่วย แต่ในครั้งนี้พระเจ้าทรงเรียกโมเสสให้กลับไปอียิปต์อีก ครั้งนี้มิใช่ให้โมเสสเป็นผู้กระทำ แต่พระเจ้าจะอยู่กับเขาและใช้เขาทำในสิ่งที่พระองค์จะทรงกระทำ พระองค์จะทำผ่านโมเสส พระเจ้าตรัสว่า "เรา ได้เห็นความทุกข์เข็ญ ของประชากรของเราในอียิปต์แล้ว เรา ได้ยินเสียงร่ำร้อง เนื่องจากนายงานอำมหิตของพวกเขา และเรา ห่วงใยในความทุกข์ทรมาน ของพวกเขา ดังนั้น เราจึง ลงมาเพื่อช่วย พวกเขาให้พ้นจากเงื้อมือชาวอียิปต์ และ นำพวกเขาออก ไปยังดินแดนกว้างใหญ่ อุดมไปด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง..." (อมตธรรม อพยพ 3:7-8)

โยชูวา
เมื่อพระเจ้าทรงรับโมเสสไปแล้ว โยชูวาจึงเป็นผู้นำของอิสราเอลต่อจากโมเสส พระเจ้าตรัสกับโยชูวาว่า "โมเสสผู้รับใช้ของเราสิ้นชีวิตแล้ว บัดนี้เจ้ากับประชากรทั้งปวงจงเตรียมข้ามแม่น้ำจอร์แดน เข้าสู่ดินแดนที่เรากำลังจะยกให้อิสราเอล... ไม่มีใครยืนหยัดต่อสู้เจ้าได้ตลอดชีวิตของเจ้า เพราะเรา จะอยู่กับเจ้า เหมือนที่เราอยู่กับโมเสส เรา จะไม่ละจาก เจ้า หรือ ทอดทิ้ง เจ้าเลย จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด..." (อมตธรรม โยชูวา 1:2, 5-6)

พระเยซูคริสต์
ภายหลังพระเยซูได้รับบัพติศมา และ ถูกมารทดลองแล้ว พระองค์ได้เริ่มพระราชกิจของพระองค์ด้วยการประกาศถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่ทรงส่งให้พระองค์เข้ามาทำพันธกิจในโลกนี้ พระองค์ประกาศจุดยืนแห่งพันธกิจของพระองค์ในธรรมศาลาบ้านเกิดของพระองค์ ในเมืองที่พระองค์ทรงเติบโต ที่พระองค์ไปที่ธรรมศาลานั้นเป็นประจำ พระองค์ประกาศจุดยืนการทำพันธกิจของพระองค์โดยอ่านจากคำเผยพระวจนะของอิสยาห์ว่า


"พระวิญญาณแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงอยู่เหนือ ข้าพเจ้า
เพราะพระองค์ ทรงเจิมตั้ง ข้าพเจ้าไว้ให้แจ้งข่าวดีแก่คนยากไร้
ทรงใช้ ข้าพเจ้าให้ประกาศอิสรภาพแก่ผู้ถูกจองจำ และ
ให้คนตาบอดมองเห็น
ให้ปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่
ให้ประกาศปีแห่งการโปรดปรานขององค์พระผู้เป็นเจ้า...
ในวันนี้พระคัมภีร์ตอนนี้เป็นจริงแล้วตามที่ท่านได้ฟัง" (อมตธรรม ลูกา 4:18-19, 21)

พระเยซูคริสต์ทรงยืนยันว่า "เราต้องประกาศข่าวประเสริฐแห่งแผ่นดินของพระเจ้าแก่เมืองอื่นๆ ด้วย ด้วยเพราะเราถูกส่งมาก็เพื่อเหตุนี้" (อมตธรรม ลูก 4:44) พระองค์ตรัสบอกพวกฟาริสีและธรรมา-จารย์ว่า "เรามิได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเรียกคนบาปให้กลับใจเสียใหม่" (ลูกา 5:32) นั่นหมายความว่า พระเจ้าทรงใช้พระเยซูคริสต์ให้มาเรียกคนบาปกลับมาคืนดีกับพระเจ้า

พระเยซูสอนสาวกให้รู้ถึงเป้าหมายแห่งพันธกิจของพระองค์ มิใช่เพื่อปฏิบัติตามกฎระเบียบศาสนาอย่างที่พวกเขาเข้าใจ หรือการปฏิบัติศาสนพิธีที่พวกยิวปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่พระองค์มาเพื่อให้เกิดความเข้าใจพระประสงค์ในพระบัญญัติของพระเจ้าเพื่อจะเข้าใจความหมายและกระทำตามอย่างถูกต้อง เป้าหมายแห่งพันธกิจของพระเยซูคริสต์คือ "...ให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่ ขอให้เป็นไปตามพระทัยของพระองค์ ในสวรรค์เป็นอย่างไรก็ให้เป็นไปอย่างนั้นในแผ่นดินโลก" (มัทธิว 6:10 TBS71b)

และเมื่อยอห์นผู้ให้บัพติสมาสงสัยว่าพระเยซูคือพระเมสสิยาห์ที่รอคอยหรือไม่จึงได้ส่งลูกศิษย์ไปถามพระเยซู พระองค์ตรัสตอบว่า "จงกลับไปรายงานสิ่งที่ท่านได้เห็นได้ยินแก่ยอห์น คือ
คนตาบอดเห็นได้
คนง่อยเดินได้
คนโรคเรื้อนหายจากโรค
คนหูหนวกกลับได้ยิน
คนตายแล้วเป็นขึ้นมา และ
ข่าวประเสริฐได้ประกาศแก่คนยากไร้" (ลูกา 7:22-23)

และพระเยซูยืนยันกับสาวกว่า ที่พระองค์ถูกส่งมาในโลกนี้ก็เพื่อ "...กระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าผู้ทรงส่งเรามา และกระทำพระราชกิจของพระองค์ให้สำเร็จ (ยอห์น 4:34)

ทั้งสิ้นนี้ย่อมชี้ชัดแล้วว่า บุคคลสำคัญในพระคัมภีร์มิได้เป็นคนสำคัญเพราะเป็นเพียงคนดี เด่นเก่ง ดัง แต่ที่คนทั้งหลายยกย่องว่าคนเหล่านั้นสำคัญเพราะ
เขายอมเปิดชีวิตรับพระเจ้าเข้ามาในชีวิตของเขา
เขาให้พระองค์กระทำพระราชกิจตามพระสัญญา และ
ตามพระประสงค์ของพระองค์
เขามีชีวิตที่เชื่อฟังและกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าให้สำเร็จ
ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข
และน่าสังเกตว่าในทุกวิกฤติชีวิต คนๆนั้นจะพบพระหัตถ์ที่ทรงชูช่วยของพระเจ้า และ
เมื่อเขายอมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าท่ามกลางความทุกข์
คนทั้งหลายจึงได้เห็นพระเจ้าทรงทำงานในชีวิตและผ่านชีวิตของเขา
อีกทั้งนำพระพรมาสู่คนอื่นด้วย
คนทั้งหลายจึงเห็นคุณค่า ความหมาย และความสำคัญในชีวิตของคนๆ นั้น

ท่าน
พระเจ้ามิได้ประสงค์ให้มีคนสำคัญในพระคัมภีร์เท่านั้น
แต่พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นคนสำคัญของพระองค์ในสายตาของคนทั่วไปด้วย

08 พฤษภาคม 2554

วิธีใหม่ในการตอบคำถามยากๆ ทางความเชื่อ

คริสเตียนควรจะเป็นมากกว่านักปกป้องความเชื่อและคริสต์ศาสนา
มากกว่าการแสดงหลักการทางคริสต์ศาสนศาสตร์
แต่คริสเตียนจำเป็นจะต้องดำเนินชีวิตด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเท ร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวด
ที่จะรักคนรอบข้างในขณะที่ผู้คนเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของความชั่วร้าย

คริสเตียนหนีไม่พ้นที่จะถูกถามจากเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวถึงคำถามที่ตอบยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเรา และเรามักจะตอบคำถามเหล่านั้นในลักษณะการปกป้องความเชื่อของเรา หรือเพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าเป็นความเชื่อถูกต้องน่าเชื่อถือ

เมื่อพูดถึงการปกป้องความเชื่อทำให้ผมคิดถึงเซาโล ที่เซาโลกขออำนาจออกไปปราบทำลายพวกคริสเตียนในเมืองต่างๆ เพราะเขาเห็นว่าพวกคริสเตียนเป็นภัยคุกคามเป็นลัทธิที่บ่อนทำลายศาสนายิว ที่เซาโลทำเช่นนี้เป็นการปกป้องความเชื่อและสถาบันศาสนาของยิว ผู้นำทางศาสนายิวก็เห็นด้วยและสนับสนุนเซาโลเต็มที่

แต่ที่เซาโลเปลี่ยนจุดยืนทางความเชื่อ ชีวิตเปลี่ยน เป้าหมายของชีวิตเปลี่ยน มิใช่เพราะความสามารถของคริสเตียนในเวลานั้นคนใดคนหนึ่งที่สามารถยกหลักการความเชื่อโน้มน้าวเซาโลให้เปลี่ยนแปลง แต่เพราะบนเส้นทางไปดามัสกัสที่พระเยซูคริสต์สำแดงพระองค์และเข้ามาในชีวิตของเซาโลนี้เอง จากคนที่ชื่อเซาโลเปลี่ยนเป็นเปาโล และที่สำคัญกว่าชื่อคือ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อเราถูกถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเรา พึงตระหนักว่า นี่มิใช่เวลาของการโต้วาที ที่จะต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ หรือพยายามหาหลักการคำตอบที่น่าเชื่อถือ เพื่อโน้มน้าวจิตใจ แต่ให้เราตระหนักว่า คนถามคนนั้นกำลังแสวงหา ต้องการคำตอบสำหรับชีวิตของตน ต้องการคำตอบสำหรับประเด็น ปัญหา ความทุกข์ ความเจ็บปวดในชีวิตของเขา ที่สำคัญเขาต้องการเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของเขา

ถ้าเรามีทัศนคติต่อคนที่ถามคำถามตอบยากดั่งเช่นที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้เราสามารถที่จะช่วยให้เขาได้รับคำตอบในชีวิตของเขาได้ และที่สำคัญคือทัศนคติดังกล่าวช่วยเปลี่ยนท่าทีที่ไม่พึงประสงค์ในการตอบคำถามที่ยากเหล่านั้นของเราคือ

1. ความใจร้อนขาดความอดทน การกระทำที่ไร้เมตตาปรานี(ต้องการชนะ) การอดรนทนไม่ได้กับคำถามของคนช่างสงสัย (ทั้งที่ถามด้วยจริงใจ)
2. อาการตอบสนองอย่างหยามเหยียด หุนหัน หรือ ด้วยความทะนงยโส
3. การมองว่าคนถามถามผิด ไม่เข้าใจ ทำเหมือนว่า ถ้าเป็นคำถามที่ถูกต้องสอดคล้องตามหลักการจะสามารถตอบได้ง่ายดาย

การแสดงออกให้เห็นย่อมดังกว่าคำพูดพันคำ
เมื่อเราต้องเผชิญกับคำถามที่ตอบยากๆ ในชีวิต ในเรื่องพระเจ้า และอำนาจของความชั่วร้าย ความจริงจังที่อ่อนแอของคริสเตียนบางคนที่พยายามตอบคำถามเหล่านั้นที่ตนถูกถาม จะเผชิญหน้าผู้ถามด้วยทัศนคติ ด้วยความต้องการที่จะปกป้องความเชื่อของตน(เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ตนเชื่อตนศรัทธานั้นถูกต้องที่สุด) จนลืมหรือไม่ยอมที่จะฟังเสียงความเจ็บปวดทนทุกข์ที่อยู่เบื้องหลังคำถามเหล่านั้น เช่น “พระเจ้าของคุณอยู่ที่ไหน?” “คุณรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าของคุณเป็นอยู่จริง?”

บ่อยครั้งคริสเตียนกลุ่มนี้รับรู้เพียงคำพูดที่ดูเหมือนท้าทายความเชื่อและความสามารถในการตอบคำถามยากๆ เช่นนี้ แต่คริสเตียนจำพวกนี้สูญเสียโสตประสาททางชีวิตจิตใจที่จะได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญที่อยู่ในห้วงลึกที่กำลังเจ็บปวดในชีวิตของผู้ถาม ดังนั้น คนเตียนกลุ่มนี้จึงมิได้ “ร้องไห้กับคนที่ร้องไห้” เขามิได้ร่วมในความทุกข์ของผู้ที่กำลังตกอยู่ในวังวนของความเจ็บปวด ชีวิตที่ยากลำบาก

แต่คริสเตียนกลุ่มนี้จะรีบพูดซ้ำซาก รีบอธิบาย รีบสอน รีบเทศน์ รีบยกข้อพระคัมภีร์ รีบยกข้อคิดทางปรัชญา รีบบรรยาย เพื่อพิสูจน์ให้รู้เสียว่า พระเจ้ามีอยู่จริง พระเจ้าอยู่ที่ไหน แต่น่าเสียดายคนถามก็ไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพร่ำบ่นพรั่งพรูออกมาเช่นกัน เพราะคำตอบเหล่านั้นไม่สามารถแตะต้องสัมผัสชีวิตจิตใจของคนถามในขณะนั้น เปรียบได้ว่า คริสเตียนเหล่านี้ได้ส่งบัตรแสดงความความยินดีไปให้คนที่กำลังหมดเนื้อหมดตัวจากภัยพิบัติซึนามิที่ญี่ปุ่น

ผมคาดหวังว่า คริสเตียนคงมิใช่ผู้ทำตนปกป้องความเชื่อที่ตนยึดถืออยู่ ตรงกันข้ามกลับให้ความเชื่อศรัทธาของตนแสดงออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการสำแดงออกทั้งท่าทีและทั้งหมดของชีวิต ดั่งน้ำที่ไหลชโลมแผ่นดินที่แห้งผาก ยาที่ทาลงบนบาดแผลด้วยความรักเมตตากรุณาของพระคริสต์ ทำการสมานแผลที่ฉีกขาดและระบม การตอบคำถามด้วยหัวใจ ด้วยชีวิต ด้วยการกระทำเช่นนี้จะเป็นคำตอบที่สามารถถูกซึมซับเข้าไปในชีวิต ในบาดแผล ในความเจ็บปวดของผู้ถาม ที่ผู้ถามสามารถสัมผัสถึงการเยียวยารักษา คำตอบจึงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เป็นรูปธรรมที่เป็นเมล็ดงอกงามในชีวิตของเขา สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องพยายามที่จะปกป้องพระเจ้า ยืนยัน พิสูจน์ ทำให้เขาต้องยอมรับว่าพระเจ้ามีจริง แต่ให้การตอบคำถามด้วยการกระทำในชีวิต พระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเขา พระเจ้าสัมผัสชีวิตของเขา เขามีประสบการณ์การสัมผัสของพระเจ้า เขาจึงรู้จักพระองค์ที่มีชีวิตอยู่ ที่ทำงานเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ทั้งสิ้นนี้เกินกว่าความสามารถที่เราจะอธิบาย ถกเถียง หรือยกเหตุผลให้เขาฟังได้ แต่เขาจะได้สัมผัสและรู้จักพระเจ้าในชีวิตของเขาอย่างชัดแจ้ง

คริสเตียนมิได้มีหน้าที่เพียงพยายามหาคำตอบต่อคำถามยากๆ เพื่อให้จุใจคนถามว่า พระเจ้าทำอะไร อย่างไรในความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดในชีวิตของมนุษย์ และพระเจ้าทำอะไรอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยอำนาจของความชั่วร้าย แต่คริสเตียนคือผู้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนเหล่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความทุกข์ยากซับซ้อน ชีวิตของเขาต้องพบกับความเจ็บปวดเพราะเขาตกอยู่ในอุ้งเล็บอำนาจของความบาปชั่วร้าย ด้วยการร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวดกับเขาเหล่านั้นเพื่อเขาจะได้สัมผัสกับพระเจ้าที่อยู่กับเขาในเวลาที่มืดมิดจนตรอกในชีวิต ยิ่งกว่านั้น เขาจะมีประสบการณ์ตรงถึงการที่พระเจ้าทรงนำเขาให้หลุดรอดออกจาก “กงเล็บปีศาจ” นี้ด้วยความรักเมตตาของพระองค์ คำถามยากๆ เหล่านั้นได้รับคำตอบตรงจากพระเจ้า ได้รับคำตอบจากประสบการณ์ของเขาในการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเขา เขารู้ว่าพระเจ้าอยู่ที่ไหนจากการที่ได้รับการเยียวยาจากพระองค์ แต่ไม่ใช่หลักการคำตอบทางคริสต์ศาสนศาสตร์ที่ชาญฉลาดของคริสเตียน ตรงกันข้าม หลักการคริสต์ศาสนศาสตร์นั้นควรได้มาจากการสรุปบทเรียนแห่งชีวิตที่ผู้คนได้พบสัมผัสตรงจากการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของตน ทั้งการทรงปลดปล่อย การช่วยกู้ การเยียวยารักษา การเสริมสร้างชีวิตใหม่ และการร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์

11เมื่อสหายทั้งสามของโยบได้ยินถึงภัยพิบัตินี้ทั้งสิ้นที่ได้เกิดขึ้นกับท่าน
ต่างก็มาจากที่ของตนคือ เอลีฟัสชาวเทมาน บิลดัด ตระกูลชูอาห์ และโศฟาร์ชาวนาอาเมห์
เขาได้นัดมาพร้อมกันเพื่อร่วมทุกข์กับท่านและ ให้กำลังใจ ท่าน
12เมื่อเขาเห็นท่านแต่ไกลเขาก็จำท่าน แทบ ไม่ได้
ก็เปล่งเสียงร้องไห้ต่างก็ฉีกเสื้อคลุมของตน
และซัดผงคลีดินเหนือศีรษะของตนขึ้นไปยังฟ้าสวรรค์
13และนั่งกับท่านบนดินเจ็ดวันเจ็ดคืน
ไม่มีใครเอ่ยอะไรแม้แต่คำเดียว
เพราะเห็นว่าโยบทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพียงใด
(โยบ 2:11-13 อักษรเอนเป็นสำนวนอมตธรรม)

ประเด็นชวนคิด

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของท่านเมื่อท่านต้องประสบในความทุกข์ยากเจ็บปวดหรือไม่? ถ้าเคย เรื่องเป็นอย่างไร? เกิดผลอย่างไรบ้าง?
2. เมื่อท่านถูกถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของท่าน ท่านทำอย่างไรบ้าง? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?
3. ในคริสตจักรของท่านได้ทำพันธกิจอะไรบ้างที่สมาชิกคริสตจักรมีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวดกับผู้คนในชุมชน? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

05 พฤษภาคม 2554

คริสเตียนวันอาทิตย์?

ถ้ามีใครถูกตีตราว่าเป็นคริสเตียนคริสต์มาส เราก็ตีความได้ทันทีว่าเป็นคริสเตียนที่มานมัสการพระเจ้าในวันคริสต์มาสเท่านั้น

แต่ถ้า...มีคนตีตราว่า คนนั้นคนนี้เป็นเป็นคริสเตียนวันอาทิตย์ เราเข้าใจว่าคนๆ นั้นเป็นคนเช่นไร?
แน่นอนว่า ...สิ่งแรกเขาคนนั้นจะต้องเป็นคนที่มาโบสถ์เป็นประจำในทุกวันอาทิตย์
เขาเป็นคนที่เคร่งครัด... เก็บวันอาทิตย์ไว้สำหรับพระเจ้า ไว้สำหรับงานพันธกิจในคริสตจักร
วันอาทิตย์เป็นวันที่เขาจะหยุดพัก เป็นวันสำหรับนมัสการพระเจ้า

ผู้ปกครอง มหาเดช รวีวัน (นามสมมติ) ทุกคนในโบสถ์รู้ว่า นอกจากที่เขาเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงแล้ว ท่านยังเป็นผู้ปกครองที่ถวายชีวิตและถวายทรัพย์เพื่องานของพระเจ้าในคริสตจักรที่ท่านเป็นสมาชิก

ผป. มหาเดช รวีวัน จะมาร่วมพันธกิจในทุกวันอาทิตย์ นอกจากอาทิตย์ที่ไม่สบาย ท่านเป็นผู้สอนในชั้นเรียนพระคัมภีร์ของอนุชน นำนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ บางครั้งก็เทศนาด้วย ถ้าคริสตจักรต้องการสิ่งของเครื่องใช้ใดๆ หรือต้องก่อสร้างอาคารหรือสิ่งต่างๆ ท่านจะไม่เคยพลาดในการมีส่วนร่วม

ผป.มหาเดช รวีวัน เป็นคนที่สมาชิกในคริสตจักรชื่นชอบ และ พึ่งหวัง เป็นคนที่ผู้คนในโบสถ์ชื่นชม และ เลื่อมใสนับถือ เป็นคนที่เอาใจใส่และกระตือรือร้น
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ผป.มหาเดช วีรวัน เป็นคริสเตียนที่คริสตจักรคาดหวังและไว้ใจได้

ในวันจันทร์
ผู้คน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้องในบริษัทที่เขาบริหารจัดการต่างรู้จักเขาอย่างดีและฝังใจ
เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง รู้จักมักคุ้น ผป.มหาเดช วีรวัน อย่างเต็มอกว่า เขามีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนพฤติกรรมคริสเตียน อย่างที่เขามีที่โบสถ์ในวันอาทิตย์

ผป.มหาเดช วีรวัน เป็นผู้บริหารที่กล้าลุย...ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ดีและควรกระทำ
แต่เขากลับกล้าลุยเพื่อตนเอง... เขาเห็นแก่ตัว

ผป.มหาเดช วีรวัน เป็นผู้บริหารที่มีความคิดที่มุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว... ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีถูกต้อง
แต่เป็นการมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างมีเล่ห์เหลี่ยม กลโกงที่ซ่อนเร้น

ผป.มหาเดช วีรวัน เป็นผู้บริหารที่มุ่งไปข้างหน้าอย่างไม่ลดละ...ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีน่านับถือ
แต่เป็นการมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ให้ตนเองจะอยู่หน้าโดดเด่น และตั้งใจทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลัง

ผป.มหาเดช วีรวัน เขาเป็นแค่คริสเตียนวันอาทิตย์
เขาเป็นคริสเตียนในวันอาทิตย์ที่โบสถ์เท่านั้น

เปาโลเขียนจดหมายฉบับที่สองถึงคริสเตียนในเมืองโครินธ์ เพื่อเตือนให้คริสเตียนที่นั่นทำในสิ่งที่ถูกต้อง “ไม่เพียง(แต่)ในสายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า แต่ในสายตาของคนทั้งปวงด้วย”(อมตธรรม, คำในวงเล็บผู้เขียนเพิ่มเติม)

ทุกวันนี้... เราเป็นคริสเตียนวันอาทิตย์เท่านั้น หรือ เป็นคริสเตียนทุกวัน เพื่อตอบสนองการทรงเรียกอันสูงส่งขององค์พระผู้เป็นเจ้า?

เพราะเราพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง
ไม่เพียงในสายพระเนตรขององค์พระผู้เป็นเจ้า
แต่ในสายตาของคนทั้งปวงด้วย
(2โครินธ์ 8:21 อมตธรรม)

สะท้อนคิดจากการฟังรายการของ Howard E. Butt, Jr.
เรื่อง Sunday, Sunday

03 พฤษภาคม 2554

สรรเสริญคือพลังชีวิตในวิกฤติ

ราวเที่ยงคืน เปาโลกับสิลาสกำลังอธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า
และนักโทษอื่นๆ ฟังอยู่
(กิจการ 16:25 อมตธรรม)

สามีภรรยาคริสเตียนที่ฟลอริดาคู่หนึ่ง มีลูกสาวที่น่ารักด้วยกัน 4 คน ในจำนวนนี้เป็นแฝดเหมือนสองคน และทั้งสองมีอาการผิดปกติทางสมองเกิดอาการชักและไม่สามารถที่จะช่วยตนเองได้ กว่า 14 ปีที่ผ่านมา ทั้งสามีภรรยาต่างเอาใจใส่ลูกสาวแฝดที่พิการทั้งสองอย่างโอบอ้อมอารี ผู้เป็นแม่ได้ใช้เวลามากมายในการดูแลเอาใจใส่ลูกสาวทั้งสองด้วยความเหนื่อยยากอย่างทรหด เธอต้องเสียน้ำตากับความทุกข์ใจ ต้องระเบิดอารมณ์ด้วยความสับสน และทะลักออกมาด้วยความโกรธ มีบางครั้งเธอมีความรู้สึกว่าพระเจ้าทรงทดทิ้งเธอ เธอยอมรับว่าหลายต่อหลายครั้งที่เธอร้องเรียกหาพระเจ้า อย่างผู้เขียนพระธรรมสดุดีที่ร้องทูลต่อพระเจ้าว่า “ขอทรงโปรดตอบเมื่อข้าพระองค์ร้องทูล เมื่อข้าพระองค์จนตรอก ขอพระองค์ประทานช่องทางให้ ขอทรงเมตตาแก่ข้าพระองค์ และทรงฟังคำอธิษฐานของข้าพระองค์” (สดุดี 4:1)

อย่างไรก็ตามเธอตัดสินใจว่า ไม่ว่าแต่ละวันจะมีสถานการณ์ยุ่งยากสับสนเพียงใดก็ตาม เธอจะสรรเสริญพระเจ้า เธอบอกว่า “ฉันอธิษฐานขอพระเจ้ารักษาลูกสาวทั้งสองของดิฉัน” เธอแบ่งปันต่อไปว่า “ขอเพียงพระเจ้าทรงสัมผัสลูกทั้งสองคนคู่แฝดก็จะได้รับการเยียวยาฟื้นฟูดีขึ้นแน่ และถ้าพระองค์ทรงรักษาลูกแฝดของฉันให้หาย ฉันจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตสรรเสริญพระเจ้า และประกาศแก่คนอื่นๆ ถึงพระราชกิจอันมีพระคุณของพระเจ้า เพราะนี่คือการอัศจรรย์ แน่นอนว่าพระเจ้าทรงสามารถรักษาลูกทั้งสองได้ แต่ฉันได้เรียนรู้ด้วยว่า ดิฉันจะสรรเสริญพระเจ้าตลอดทั้งชีวิตเพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ไม่ว่าพระองค์จะทรงรักษาลูกสาวทั้งสองของดิฉันให้หายหรือไม่ก็ตาม ดิฉันไว้วางใจในพระเจ้าแม้ในเวลาที่ดิฉันไม่เข้าใจพระองค์ก็ตาม” เธอจบคำพูดของเธอด้วยประโยคที่ครุ่นคิดว่า “มันฟังดูง่ายนะ แต่มันยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

เราจะมีจิตใจที่สัตย์ซื่อ กล้าหาญเช่นนี้ได้อย่างไร? ชีวิตของเธอนั้นถูกท้าทายอย่างแรง แต่เธอตัดสินใจที่จะสรรเสริญพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิต เมื่อได้ยินเรื่องของคุณแม่ลูกแฝดคนนี้กระตุ้นหนุนเสริมให้ผมมุ่งมั่นที่จะไว้วางใจในพระเจ้า จากเรื่องที่เธอเล่าทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ในสถานการณ์ชีวิตที่ถูกการทดลองนี้กลับนำให้เธอพึ่งพิงในพระเจ้ามากยิ่งขึ้น และไว้วางใจอย่างลงลึกมั่นคงในการปกป้องของพระเจ้า เรื่องของคุณแม่คนนี้เตือนผมให้ระลึกได้ว่า ในทุกสถานการณ์ที่ผมต้องเผชิญหน้ากับทางแพ่งและต้องตัดสินใจเลือก ผมสามารถเลือกความไม่พอใจอารมณ์เสียหรือเลือกสรรเสริญพระเจ้า ผมมีโอกาสเลือกที่จะหันหนีไปจากพระเจ้าหรือหันเข้าหาพระเจ้าด้วยมั่นใจในน้ำพระทัยของพระเจ้า แม้ว่าจะต้องเจ็บปวด หรือถูกกระแทกจากอารมณ์อันฉุนเฉียวของคนอื่น หรือแม้จะต้องเต็มด้วยคำถามและความสงสัยมากมายก็ตาม

ท่านเคยเผชิญหน้ากับทางแพ่งในชีวิตหรือไม่?

เมื่อเรากลับย้อนไปศึกษาถึงประสบการณ์ของคริสตจักรสมัยเริ่มแรก ในพระธรรมกิจการบทที่ 16 เราได้พบตัวอย่างของคริสเตียนเมื่อพบกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ถูกทำร้ายข่มเหง ถูกจำขังอย่างไม่เป็นธรรม ครั้งเมื่อเปาโลและสิลาสไปประกาศพระกิตติคุณที่เมืองฟิลิปปี การทำพันธกิจของทั้งสองเกิดความขัดแย้งทางความเชื่อกับคนในฟิลิปปี และพระกิตติคุณไปขัดผลประโยชน์ของธุรกิจทางความเชื่อของผู้นำศาสนาในเมืองนั้น สิ่งที่ทั้งสองได้รับคือ ถูกรุมประชาทัณฑ์อย่างน่าสยอง ถูกกระชากเสื้อผ้าออกจนเปลือย แล้วลงโทษด้วยการเฆี่ยนต่อหน้าฝูงชน พระธรรมกิจการอธิบายภาพในสถานการณ์ตอนนั้นว่า “ฝูงชนเข้าร่วมเล่นงานเปาโลกับสิลาส คณะผู้ปกครองเมืองสั่งให้กระชากเสื้อผ้าของเขาออกและโบยตีพวกเขา หลังจากโบยตีอย่างหนักแล้ว ก็โยนเขาเข้าห้องขัง และกำชับพัศดีให้ดูแลอย่างกวดขัน เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนั้น พัศดีจึงจำเขาไว้ในห้องขังชั้นใน และใส่ขื่อที่เท้าของเขา” (16:22-24 อมตธรรม)

คนส่วนมากที่ตั้งใจทำพันธกิจตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผลที่ได้รับมิเพียงแต่การต่อต้านเท่านั้น แต่ต้องถูกทำร้ายทำลายด้วยความแค้นเพราะเสียผลประโยชน์ มักจะเกิดคำถามในชีวิตว่า ทำไมทำดีแล้วยังต้องได้รับความทุกข์ยากบาดเจ็บเช่นนี้ เขาอาจจะนั่งกลุ้มอกกลุ้มใจ เจ็บช้ำน้ำใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ้างก็หาทางที่จะหลบหนี บ้างคิดวางแผนหาทางตอบโต้ บ้างกล่าวโทษต่อคนที่กระทำต่อตนอย่างอยุติธรรม หรือบ้างก็ถึงกับต่อว่าพระเจ้า

แต่เปาโลและสิลาสเลือกที่ทำในสิ่งที่ผมไม่คาดคิด เขาทั้งสองเลือกที่จะไว้วางใจในแผนการของพระเจ้า ความสนใจของทั้งสองมิได้อยู่ที่บาดแผลเหวอะหวะ ความเจ็บปวดทั่วร่างกาย หรือความรู้สึกเจ็บแค้นที่ถูกฝูงชนทำร้าย ถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรม แต่ความสนใจของทั้งสองมุ่งพุ่งเป้าไปสู่ “แผนงานของพระเจ้า” ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า อะไรคือฉากต่อไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ตามแผนการของพระเจ้า เขาทั้งสองเชื่อและไว้วางใจว่า พระเจ้าจะทำสิ่งที่ดีที่สุดจากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุด เขาทั้งสองไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ดังนั้น ทั้งสองจึงอธิษฐาน และ สรรเสริญพระเจ้า ทั้งๆ ที่บาดเจ็บ ถูกจำขัง ลงขื่อเท้า ขังในคุกชั้นใน แต่ทั้งสองสรรเสริญพระเจ้าเพราะเขาเชื่อและวางใจในองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อมั่นในแผนงานอันดีเลิศของพระองค์ในชีวิตของเขาทั้งสอง

พระธรรมกิจการ 16:23-25 บันทึกไว้ว่า “ราวเที่ยงคืน เปาโลกับสิลาสกำลังอธิษฐานและร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า และนักโทษคนอื่นๆ ฟังอยู่ ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ จนฐานรากของคุกสั่นคลอน ประตูคุกทุกบานเปิดออกทันที และโซ่ตรวนหลุดจากทุกคน พัศดีตื่นขึ้นมาเมื่อเห็นประตูคุกเปิด ก็ชักดาบออกมาจะฆ่าตัวตายเพราะคิดว่านักโทษหนีไปแล้ว แต่เปาโลตะโกนว่า “อย่าทำร้ายตนเอง! เราทุกคนอยู่ที่นี่” (อมตธรรม) และนี่คือการไว้วางใจในพระเจ้าของเปาโลและสิลาส ที่เขาร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าท่ามกลางความมืดมิด ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรคือแผนการขั้นต่อไปของพระเจ้า

ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้คือ พัศดีและทุกคนในครัวเรือนของเขากลับใจและเชื่อในองค์พระเยซูคริสต์ “พัศดีเรียกให้จุดไฟแล้ววิ่งเข้ามาหมอบลงตัวสั่นต่อหน้าเปาโลกับสิลาส จากนั้นพาพวกเขาออกมาแล้วถามว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องทำอย่างไรจึงจะได้รับความรอด?” คำตอบจากเปาโลคือ “จงเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วท่านกับครัวเรือนของท่านจะได้รับความรอด” เปาโลกและสิลาสประกาศพระวจนะขององค์พระผู้เป็นเจ้าแก่พัศดีและแก่คนทั้งปวงที่อยู่ในบ้านของเขา” (ข้อ 29-31 อมตธรรม) พัศดีจัดการล้างรักษาบาดแผลของทั้งสอง ในคืนนั้นเองพัศดีพร้อมทุกคนในบ้านรับเชื่อพระเยซูคริสต์ และรับบัพติศมาทันที พวกเขาจัดอาหารเลี้ยงฉลองในบ้าน พัศดีและครอบครัวชื่นชมยินดีมากที่ได้เชื่อในพระเจ้า

ด้วยประสบการณ์จริงของเปาโลนี้เอง ท่านจึงบอกกับคริสเตียนว่า “จงชื่นชมยินดีในองค์พระผู้เป็นเจ้าเสมอ ข้าพเจ้าของย้ำอีกครั้งว่า จงชื่นชมยินดีเถิด ให้ความสุภาพอ่อนโยนของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งปวง ...อย่ากระวนกระวายในเรื่องใดๆ เลย แต่จงทูลขอทุกสิ่งต่อพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน และการอ้อนวอน พร้อมกับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้า ซึ่งเกินความเข้าใจ จะปกป้องความคิดจิตใจของท่านไว้ในพระเยซูคริสต์” (ฟิลิปปี 4:4, 6-7 อมตธรรม)

“พี่น้องทั้งหลาย เมื่อใดที่ท่านเผชิญความทุกข์ยากนานาประการ จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะท่านรู้ว่าการทดสอบความเชื่อของท่านนั้นทำให้เกิดความอดทนบากบั่น จงอดทนบากบั่นให้ถึงที่สุด เพื่อท่านจะเติบโตเต็มที่และสมบูรณ์เพียบพร้อมไม่มีสิ่งใดบกพร่องเลย” (ยากอบ 1:1-3 อมตธรรม) การที่เราสรรเสริญพระเจ้าท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้ายที่เรากำลังเผชิญหน้านั้น การสรรเสริญของเราเป็นพลังที่จะนำให้เราสามารถทะลุผ่านสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านั้น และยิ่งกว่านั้นสิ่งที่เราได้คือ การทรงเสริมสร้างเราให้เข้มแข็งขึ้น เป็นคนใหม่ตามพระประสงค์ของพระเจ้า “...เรายังชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากของเราด้วย เพราะรู้ว่าความทุกข์ยากนั้นก่อให้เกิดความบากบั่น ความบากบั่นทำให้เกิดอุปนิสัยที่พิสูจน์แล้วว่าใช้การได้ และอุปนิสัยเช่นนั้นทำให้เรามีความหวัง และความหวังทำให้เราไม่ผิดหวัง...”(โรม 5:3-5)

ไม่ว่าเราจะต้องพบพานเผชิญหน้ากับความทุกข์แบบใดขนาดไหนก็ตาม เป็นการคุ้มค่าอย่างยิ่งที่เราจะสรรเสริญพระเจ้า เมื่อต้องตกในความทุกข์ยากลำบาก หรือ จมจ่อมในความเครียด เศร้าใจ ให้เราเลือกที่สรรเสริญพระเจ้า เลือกที่จะไว้วางใจในแผนงานของพระองค์ข้างหน้าที่มีสำหรับชีวิตของเราตามแผนการของพระองค์(แม้เราจะไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไรในข้างหน้า) แล้วเราจะพบหน้าผู้คนในเหตุการณ์นั้นแปลกประหลาดใจ อย่างกับพัศดีที่ฟิลิปปี การถวายด้วยการสรรเสริญเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตคริสเตียน ในทุกสถานการณ์ชีวิตให้เราเลือกที่จะสรรเสริญพระเจ้า ไม่ว่าเราจะต้องได้รับบาดแผลและเจ็บปวด แล้วท่านจะประหลาดใจอย่างยิ่งว่า การสรรเสริญนำความชื่นชมยินดีเข้ามาในชีวิตของเรา

อย่าหลบลี้หลีกหนีความทุกข์ยากลำบากในชีวิต
แต่จงเผชิญหน้าเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยชีวิตที่สรรเสริญพระเจ้า
ท่านจะพบกับความชื่นชมยินดีที่คาดไม่ถึง
ยิ่งกว่านั้น ท่านจะได้รับการเสริมสร้างเพิ่มใหม่จากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

01 พฤษภาคม 2554

รอคอยพระเจ้า

สดุดี บทที่ 77 (อมตธรรม)

1ข้าพเจ้าร้องทูลให้พระเจ้าทรงช่วย
ข้าพเจ้าร้องทูลให้พระเจ้าทรงสดับฟัง
2ยามทุกข์ยาก ข้าพเจ้าแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า
ยามค่ำคืนข้าพเจ้าชูมือไม่อ่อนล้า
จิตใจของข้าพเจ้าไม่ยอมรับการปลอบประโลม
3ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ระลึกถึงพระองค์ และร้องคร่ำครวญ
ข้าพระองค์ครุ่นคิดและจิตวิญญาณของข้าพระองค์อ่อนระโหยไป
4พระองค์ทรงทำให้ตาของข้าพระองค์ไม่อาจปิดลงได้
ข้าพระองค์ทนทุกข์จนพูดไม่ออก

7“องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทอดทิ้งตลอดไปหรือ?
พระองค์จะไม่ทรงโปรดปรานอีกเลยหรือ?
8ความรักมั่นคงของพระองค์สูญสิ้นไปเป็นนิตย์แล้วหรือ?
พระสัญญาของพระองค์ล้มเลิกไปตลอดกาลหรือ?
9พระเจ้าทรงลืมที่จะเมตตากรุณาแล้วหรือ?
พระองค์ทรงระงับความสงสารเพราะพิโรธแล้วหรือ?”
10แล้วข้าพเจ้าก็คิดว่า “สิ่งนี้แหละที่ทำให้ข้าพเจ้าเจ็บปวด
คือองค์ผู้สูงสุดไม่ทรงสำแดงฤทธานุภาพแห่งพระหัตถ์ขวาอีกแล้ว”
11ข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระราชกิจทั้งปวงขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ข้าพเจ้าจะระลึกถึงการอัศจรรย์ต่างๆ ของพระองค์ในครั้งเก่าก่อน
12ข้าพเจ้าจะใคร่ครวญถึงพระราชกิจทั้งสิ้นของพระองค์
และตรึกตรองพระราชกิจอันเกรียงไกรทั้งปวงของพระองค์

เป็นความรับผิดชอบของใคร
เมื่อจิตวิญญาณของตนแห้งผาก และ ฟุ้งกระจาย ?

ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่ชีวิตคริสเตียนของเราต้องจาริกไปในทะเลทรายแห่งจิตวิญญาณ
ท่ามกลางความร้อนระอุ แห้งแล้ง เรารู้สึกว่าพระเจ้าเลือนรางจางหายห่างจากเรามากขึ้นทุกที
การอธิษฐาน การมีชีวิตส่วนตัวกับพระเจ้า
การอ่านพระวจนะของพระองค์ดูเหมือนว่าจะต้องใช้กำลังความพยายามมากมายเหลือเกิน

หลายคนที่ชีวิตมีแนวโน้มตกอยู่ในสภาวะชีวิตที่แห้งแล้ง
บางคนบ่นออกมาว่า
“ทำไมฉันรู้สึกว่าฉันไม่ได้ใกล้ชิดพระเจ้าอย่างที่ควรจะเป็น
ฉันใช้เวลาในการอธิษฐานไม่พอเพียง”
คำตอบของเขามีก็คือ
เขาต้องอธิษฐานมากกว่านี้
เขาต้องมีเวลาใกล้ชิดพระเจ้านานกว่านี้
เขาจะต้องอ่านพระคัมภีร์มากกว่านี้
เพราะสำหรับบางคนแล้ว
ความแห้งแล้งของชีวิตจิตวิญญาณอาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเกียจคร้าน

แต่นั่นมิใช่เป็นสาเหตุของทุกคนหรือทุกกรณี
ทั้งๆ ที่พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเราเสมอ
บางครั้งเราเกิดความรู้สึกว่า พระองค์ทรงซ่อนพระองค์จากเรา

เราพบว่ามีหนังสือมากมายที่เขียนเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่แห้งแล้งที่ฟุ้งกระจาย
และมักจะโยงใยไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการรู้จักพระเจ้า
นักเขียนในคริสต์ศตวรรษ 17 Michael Molinos ได้เขียนไว้ว่า

“ความแห้งแล้ง(ทางจิตวิญญาณ)เป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์
และในภาวะเช่นนั้นจะไม่ทำให้ท่านต้องหลุดลอยพ้นจากสายพระเนตรของพระเจ้า
อย่ามองว่าความแห้งแล้งนี้เป็นสิ่งที่น่ารำคาญ ว้าวุ่นใจ”

คำแนะนำมากมายจากคริสเตียนผู้ที่มีจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง
ตลอดประวัติศาสตร์ได้เป็นพยานว่า
ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่มีชีวิตที่มุ่งจาริกต่อไปข้างหน้า
อธิษฐานต่อไป ฟังพระเจ้าต่อไป อ่านพระวจนะของพระองค์ต่อไป
มุ่งหน้าเดินต่อไปอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ไม่หยุดยั้ง
ไม่ว่าท่านจะรู้สึกว่ามีภาวะจิตใจจิตวิญญาณว้าวุ่น สับสน อย่างไรก็ตาม
ข่าวดีก็คือ ในที่สุด การสถิตอยู่กับเราของพระเจ้าก็จะกลับชัดเจนขึ้น
และด้วยการจาริกอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ด้วยความสัตย์ซื่อ
เราจึงได้รู้จักพระเจ้ามากยิ่งขึ้นตามที่เรากระหายหานั้น

ข้อคิดใคร่ครวญ

อย่ารีบด่วนสรุป หลายอย่างยังไม่ลงตัว และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ
พระเจ้ามองสิ่งเหล่านั้นช่างแตกต่างจากมุมองของเราเหลือเกิน
เราพบว่า บางครั้งพระเจ้าทรงใช้สถานการณ์ชีวิตที่แห้งแล้งฟุ้งกระจาย
เพื่อเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของเราขึ้นใหม่
ให้เจริญ เติบโตขึ้น และพร้อมที่จะเกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์
แล้วเราจะหลีกเลี่ยงหลบหนีจากสถานการณ์แห่งการเสริมสร้างของพระองค์หรือ?

บทเรียนล้ำค่าจากผู้เขียนสดุดีบทที่ 77 คือ...
เมื่อผู้เขียนสดุดีคร่ำครวญ มุ่งมองแต่ความทุกข์ยากของตนเอง
ทำให้ตัวเขายิ่งจมลึกลงในความเจ็บปวด และ สิ้นหวัง
ชีวิตพบแต่ความแห้งแล้ง ฉีกขาด จิตวิญญาณฟุ้งซ่านกระจาย

จากข้อ 2-12 ผู้เขียนมุ่งมองและมุ่งเน้นที่ตนเอง
แต่เมื่อเขาเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนจุดที่เขามุ่งเน้น
มามุ่งมองที่พระราชกิจอันทรงพระคุณของพระเจ้า

จากข้อ 13-20 ผู้เขียนมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในการมุ่งมองชีวิตของเขา
และเขาสรุปประสบการณ์ชีวิตของเขาไว้อย่างน่าฟังว่า

“พระมรรคาของพระองค์ผ่านทะเล
ทางของพระองค์ผ่านห้วงน้ำหลาก
แม้ไม่เห็นรอยพระบาทของพระองค์
พระองค์ทรงนำประชากรของพระองค์ไปดั่งฝูงแกะ
โดยมือของโมเสสและอาโรน” (ข้อ 19-20)