22 พฤษภาคม 2554

จะจัดการความวิตกกังวลแบบไหนดี?

“... อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้
เพราะพรุ่งนี้ก็จะมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง
แต่ละวันก็มีความเดือดร้อนของวันนั้นพออยู่แล้ว”
(มัทธิว 6:34 อมตธรรม)

“ความวิตกกังวลไม่ได้ทำให้ความทุกข์ของพรุ่งนี้หมดสิ้นไป
แต่ความวิตกกังวลทำให้พลังของวันนี้สูญเสียไป”
(ชาร์ล สเปอร์เจียน Charles Spurgeon)

สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกอาชีพทุกวงการของคน แม้แต่ศาสนาจารย์ ศิษยาภิบาล ผู้รับใช้พระเจ้าในตำแหน่งต่างๆ ก็ไม่สามารถหลีกลี้หนีพ้นไปได้คือ “ความวิตกกังวล”

ยิ่งใครวิตกกังวลมากแค่ไหน ดูความกังวลทุกข์ใจจะเพิ่มเป็นเงาตามตัวแค่นั้น กล่าวได้ว่าการวิตกกังวลก่อเกิดความวิตกกังวลยิ่งขึ้น Vicki Hitzges ผู้เขียนหนังสือชื่อ Attitude Is Everything ก็เคยวิตกกังวล เขาเคยวิตกกังวลว่า เขากำลังวิตกกังวลมากเกินไปแล้ว กังวลว่าถ้าตนยังวิตกกังวลเช่นนี้มันจะทำให้เจ้าตัวเป็นโรคแผลในกระเพาะ ทุกข์ใจว่าสุขภาพของตนต้องแย่ลง ทำให้เจ้าตัวต้องสิ้นเปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น Vicki จึงตัดสินใจว่า เพื่อที่เขาจะมีทัศนคติที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ Vicki จึงได้ไปหานักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากในเมืองดัลลาส Fred Smith เฟรดได้ช่วยหนุนใจ Vicki ด้วยความคิดคำสอนของ Zig Ziglar, กูรูทางธุรกิจ Ken Blanchard, และเจ้าความคิดเรื่องผู้นำ John Maxwell แล้วเฟรดฟัง Vicki เล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เขา ห่วงใยที่ไหลพรั่งพรูออกมา หลังจากนั้นเฟรดพูดกับเขาว่า “วิคกี้ คุณจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะชะลอ(แขวน)การวิตกกังวลไว้ก่อน”

คำพูดดังกล่าวถูกซึมซับเข้าไปในห้วงความนึกคิดของ Vicki เขาถามเฟรดว่า เฟรดเคยต้องเสียเวลากับความรู้สึกที่เป็นทุกข์กัดกร่อนจิตใจของเขาหรือไม่ Vicki แปลกใจกับคำตอบที่ได้รับ เฟรดสารภาพว่าหลายปีที่ผ่านมา เขาเกิดอาการวิตกกังวลอย่าง “หัวทิ่มดิน” ในเวลานั้น เฟรดเป็นคนหนุ่ม ที่มีตำแหน่งผู้บริหาร ได้รับเงินเดือนสูง แต่เขาจบการศึกษาเพียงชั้นมัธยมปลาย เขากลัวว่าจะมีคนที่มีการศึกษาสูงกว่า หรือ คนที่มีปริญญาจากมหาวิทยาลัยเข้ามาแย่งงานตำแหน่งนี้ไปจากเขา

หลังจากทำงานแต่ละวัน ทุกค่ำคืนเขานั่งลงพร้อมกับกาแฟแล้วก็วิตกและกังวลว่าเขาจะสูญเสียตำแหน่งงานที่ดีที่สุดของเขา เขาคิดว่าไม่มีตำแหน่งงานไหนอีกแล้วที่จะดีเท่าที่เขาได้รับในปัจจุบัน เขาเกิดความทุกข์ใจ ขณะที่เขาทุกข์ใจและถูกกัดกร่อนด้วยความวิตกกังวล เขาเริ่มคิดได้ว่า ความวิตกกังวลของเขาในขณะนี้มิใช่ความวิตกกังวลบนฐานข้อเท็จจริง แต่เขากำลังวิตกกังวลบนฐานจินตนาการของตนเอง เขากำลังวิตกกังวลเกินจริง(ที่เป็นในขณะนี้) นำเอาความวิตกกังวลของอนาคตมาทับถมเพิ่มความทุกข์ใจแก่ความกังวลครุ่นคิดที่มีมากอยู่แล้วในวันนี้

จากนั้น เฟรดพูดกับตนเองว่า “เฟรด ที่นายนั่งวิตกกังวลจนดึกดื่นค่ำคืนเช่นนี้ มันทำให้ชีวิตและการงานของนายดีขึ้นหรือ? การนั่งจับเจ่าวิตกกังวลเช่นนี้ทำให้นายเป็นลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นหรือ? เขาอธิบายต่อมาว่า เขาตัดสินใจที่จะชะลอความวิตกกังวลนี้ไว้ก่อน เฟรดตัดสินใจแขวนความวิตกกังวลในเรื่องนี้ไว้ก่อนจนกว่าเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่เขาควรจะวิตกกังวล...มิใช่มานั่งกังวลกับเรื่องที่เป็นเพียงเรื่องที่บางทีอาจจะเกิดขึ้น... มิใช่วิตกกังวลล่วงหน้า... และความจริงจนถึงวันนี้ เฟรดไม่เคยสูญเสียตำแหน่งงานนี้ เจ้านายของเขาชื่นชมกับการทำงานของเฟรด

เฟรดบอกถึงเคล็ดไม่ลับว่า... เมื่อใดก็ตาม ที่เกิดอาการวิตกกังวลล่วงหน้าเกิดขึ้น เขาจะบอกกับตนเองว่า... เฟรด คุณต้องชะลอความวิตกกังวลนี้ไว้ก่อน จนกว่าคุณจะมีข้อมูลเท็จจริงชัดเจนกว่านี้ อย่าวิตกกังวลล่วงหน้า แล้วเฟรดจะแขวนความวิตกกังวลนั้นไว้ก่อน... การชะลอความวิตกกังวลช่วยหล่อหลอมนิสัยหรือวินัยชีวิตที่จะไม่รีบด่วนวิตกกังวล หรือ การวิตกกังวลเกินเลยความจริง และเอาชนะการทดลองที่เรียกว่า “ความวิตกกังวล” ได้ นี่คือคำแนะนำของเฟรด

ความวิตกกังวลในมุมมองของพระเยซูคริสต์ พระองค์มองว่า ความวิตกกังวลมีอำนาจที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา แต่มันมีพลังอำนาจที่ต่อสู้กับพระวจนะได้ มันมีพลังอำนาจที่จะครอบงำและครอบคลุมชีวิตคนให้อยู่ใต้อำนาจของมัน เมื่อพระเยซูคริสต์สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดให้เข้าใจเกี่ยวกับการหว่านพระวจนะของพระเจ้าลงในชีวิตมนุษย์นั้น พระองค์ได้ชี้ให้เห็นว่า “พืชซึ่งหว่านกลางหนามนั้น ได้แก่บุคคลที่ได้ฟังพระวจนะ แล้วความกังวลตามธรรมดาโลก และความลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติรัดพระวจนะนั้นเสีย จึงไม่เกิดผล” (มัทธิว 13:22) และเมื่อพระเยซูคริสต์พูดถึงเรื่องความวิตกกังวล พระองค์กล่าวว่า “ใครบ้างในพวกท่านที่กังวลแล้วต่ออายุตัวเองให้ยืนยาวออกไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งได้? ในเมื่อเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ท่านยังทำไม่ได้แล้วท่านจะกังวลเรื่องอื่นๆ ไปทำไม?” (ลูกา 12:25-26 อมตธรรม) พระธรรม 1 เปโตร 5:7 ได้เตือนสติคริสเตียนว่า “จงละความกังวลทั้งสิ้นของท่านไว้กับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงห่วงใยท่าน” (อมตธรรม)

ครั้งเมื่อพระองค์ตรัสสอนสาวกและประชาชนบนเนินเขา เมื่อพระองค์สอนเรื่องความวิตกกังวลในชีวิตของมนุษย์ พระองค์ได้ให้หลักสำคัญที่เราจะเอาชนะอำนาจลึกลับของความวิตกกังวล (มัทธิว 6:25-34) ไว้ว่า อย่าวิตกเกี่ยวกับชีวิตในด้านการกินการดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการงานที่ตนรับผิดชอบ เพราะชีวิตที่พระเจ้าประทานแก่เราแต่ละคนมีคุณค่าและความสำคัญมากกว่าสิ่งเหล่านี้มากนัก ดังนั้น การที่มนุษย์กระวนกระวายในชีวิตเพราะมนุษย์คนนั้นๆ ขาดความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า พระเยซูใช้ประโยคที่ว่า “โอ ท่านผู้มีความเชื่อน้อย” (ข้อ 30 อมตธรรม) และถ้าคริสเตียนคนใดที่มีความวิตกกังวลในชีวิตเช่นนี้ พระเยซูคริสต์ชี้ชัดว่า คนๆ นั้นก็ดำเนินชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไปที่ไม่มีพระเจ้า “เพราะคนไม่มีพระเจ้าขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้” (ข้อ 32 อมตธรรม)

ที่สำคัญคือ พระบิดาทรงทราบว่า เราแต่ละคนมีความจำเป็นต้องกินต้องใช้สิ่งเหล่านี้ และพระองค์คือผู้จัดเตรียมสิ่งจำเป็นเหมาะสมสำหรับแต่ละคนตามวิธีการของพระองค์ แต่ที่สำคัญยิ่งคือ เป้าหมายปลายทางในการมีชีวิตอยู่ของเราทุกวันนี้คือ การดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์ชุมชนตามพระประสงค์ของพระเจ้า และสำแดงน้ำพระทัยของพระคริสต์ผ่านชีวิตของเราด้วยความเชื่อและไว้วางใจของพระองค์ พระเยซูคริสต์ชี้ทางที่เราไม่ต้องมีชีวิตที่วิตกกังวลไว้ว่า “...จงแสวงหาอาณาจักรของพระเจ้าและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และพระองค์จะประทานสิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่านด้วย” พระคริสต์ทรงเรียกเราให้เข้าไปอยู่ใต้การครอบครองของพระเจ้า ให้เราไว้วางใจพระเจ้าในการดูแล ปกป้อง และประทานสิ่งจำเป็นในชีวิต และมุ่งมั่นคำนึงถึงพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต ถ้าเช่นนี้อำนาจที่เร้นลับของความวิตกกังวลจะมาทำร้ายทำลาย และมีอำนาจเหนือเราไม่ได้

ถ้าเช่นนี้เราก็ไม่จำเป็น “ที่จะชะลอความวิตกกังวล หรือ เอาความวิตกกังวลแขวนไว้ก่อน” อย่างเฟรด อีกต่อไป

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ18 กันยายน 2556 เวลา 07:57

    ตลอดเวลาที่เราเผชิญกับความวิตกกังวลนั้นเเหละเราจะได้เข้าใกล้
    พระเจ้ามากขึ้นกว่าเดิม

    ตอบลบ