08 พฤษภาคม 2554

วิธีใหม่ในการตอบคำถามยากๆ ทางความเชื่อ

คริสเตียนควรจะเป็นมากกว่านักปกป้องความเชื่อและคริสต์ศาสนา
มากกว่าการแสดงหลักการทางคริสต์ศาสนศาสตร์
แต่คริสเตียนจำเป็นจะต้องดำเนินชีวิตด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเท ร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวด
ที่จะรักคนรอบข้างในขณะที่ผู้คนเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของความชั่วร้าย

คริสเตียนหนีไม่พ้นที่จะถูกถามจากเพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวถึงคำถามที่ตอบยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเรา และเรามักจะตอบคำถามเหล่านั้นในลักษณะการปกป้องความเชื่อของเรา หรือเพื่อพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าเป็นความเชื่อถูกต้องน่าเชื่อถือ

เมื่อพูดถึงการปกป้องความเชื่อทำให้ผมคิดถึงเซาโล ที่เซาโลกขออำนาจออกไปปราบทำลายพวกคริสเตียนในเมืองต่างๆ เพราะเขาเห็นว่าพวกคริสเตียนเป็นภัยคุกคามเป็นลัทธิที่บ่อนทำลายศาสนายิว ที่เซาโลทำเช่นนี้เป็นการปกป้องความเชื่อและสถาบันศาสนาของยิว ผู้นำทางศาสนายิวก็เห็นด้วยและสนับสนุนเซาโลเต็มที่

แต่ที่เซาโลเปลี่ยนจุดยืนทางความเชื่อ ชีวิตเปลี่ยน เป้าหมายของชีวิตเปลี่ยน มิใช่เพราะความสามารถของคริสเตียนในเวลานั้นคนใดคนหนึ่งที่สามารถยกหลักการความเชื่อโน้มน้าวเซาโลให้เปลี่ยนแปลง แต่เพราะบนเส้นทางไปดามัสกัสที่พระเยซูคริสต์สำแดงพระองค์และเข้ามาในชีวิตของเซาโลนี้เอง จากคนที่ชื่อเซาโลเปลี่ยนเป็นเปาโล และที่สำคัญกว่าชื่อคือ ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และการดำเนินชีวิตของเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อเราถูกถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของเรา พึงตระหนักว่า นี่มิใช่เวลาของการโต้วาที ที่จะต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ หรือพยายามหาหลักการคำตอบที่น่าเชื่อถือ เพื่อโน้มน้าวจิตใจ แต่ให้เราตระหนักว่า คนถามคนนั้นกำลังแสวงหา ต้องการคำตอบสำหรับชีวิตของตน ต้องการคำตอบสำหรับประเด็น ปัญหา ความทุกข์ ความเจ็บปวดในชีวิตของเขา ที่สำคัญเขาต้องการเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของเขา

ถ้าเรามีทัศนคติต่อคนที่ถามคำถามตอบยากดั่งเช่นที่กล่าวมานี้ จะช่วยให้เราสามารถที่จะช่วยให้เขาได้รับคำตอบในชีวิตของเขาได้ และที่สำคัญคือทัศนคติดังกล่าวช่วยเปลี่ยนท่าทีที่ไม่พึงประสงค์ในการตอบคำถามที่ยากเหล่านั้นของเราคือ

1. ความใจร้อนขาดความอดทน การกระทำที่ไร้เมตตาปรานี(ต้องการชนะ) การอดรนทนไม่ได้กับคำถามของคนช่างสงสัย (ทั้งที่ถามด้วยจริงใจ)
2. อาการตอบสนองอย่างหยามเหยียด หุนหัน หรือ ด้วยความทะนงยโส
3. การมองว่าคนถามถามผิด ไม่เข้าใจ ทำเหมือนว่า ถ้าเป็นคำถามที่ถูกต้องสอดคล้องตามหลักการจะสามารถตอบได้ง่ายดาย

การแสดงออกให้เห็นย่อมดังกว่าคำพูดพันคำ
เมื่อเราต้องเผชิญกับคำถามที่ตอบยากๆ ในชีวิต ในเรื่องพระเจ้า และอำนาจของความชั่วร้าย ความจริงจังที่อ่อนแอของคริสเตียนบางคนที่พยายามตอบคำถามเหล่านั้นที่ตนถูกถาม จะเผชิญหน้าผู้ถามด้วยทัศนคติ ด้วยความต้องการที่จะปกป้องความเชื่อของตน(เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ตนเชื่อตนศรัทธานั้นถูกต้องที่สุด) จนลืมหรือไม่ยอมที่จะฟังเสียงความเจ็บปวดทนทุกข์ที่อยู่เบื้องหลังคำถามเหล่านั้น เช่น “พระเจ้าของคุณอยู่ที่ไหน?” “คุณรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าของคุณเป็นอยู่จริง?”

บ่อยครั้งคริสเตียนกลุ่มนี้รับรู้เพียงคำพูดที่ดูเหมือนท้าทายความเชื่อและความสามารถในการตอบคำถามยากๆ เช่นนี้ แต่คริสเตียนจำพวกนี้สูญเสียโสตประสาททางชีวิตจิตใจที่จะได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญที่อยู่ในห้วงลึกที่กำลังเจ็บปวดในชีวิตของผู้ถาม ดังนั้น คนเตียนกลุ่มนี้จึงมิได้ “ร้องไห้กับคนที่ร้องไห้” เขามิได้ร่วมในความทุกข์ของผู้ที่กำลังตกอยู่ในวังวนของความเจ็บปวด ชีวิตที่ยากลำบาก

แต่คริสเตียนกลุ่มนี้จะรีบพูดซ้ำซาก รีบอธิบาย รีบสอน รีบเทศน์ รีบยกข้อพระคัมภีร์ รีบยกข้อคิดทางปรัชญา รีบบรรยาย เพื่อพิสูจน์ให้รู้เสียว่า พระเจ้ามีอยู่จริง พระเจ้าอยู่ที่ไหน แต่น่าเสียดายคนถามก็ไม่ได้ยินสิ่งที่เขาพร่ำบ่นพรั่งพรูออกมาเช่นกัน เพราะคำตอบเหล่านั้นไม่สามารถแตะต้องสัมผัสชีวิตจิตใจของคนถามในขณะนั้น เปรียบได้ว่า คริสเตียนเหล่านี้ได้ส่งบัตรแสดงความความยินดีไปให้คนที่กำลังหมดเนื้อหมดตัวจากภัยพิบัติซึนามิที่ญี่ปุ่น

ผมคาดหวังว่า คริสเตียนคงมิใช่ผู้ทำตนปกป้องความเชื่อที่ตนยึดถืออยู่ ตรงกันข้ามกลับให้ความเชื่อศรัทธาของตนแสดงออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการสำแดงออกทั้งท่าทีและทั้งหมดของชีวิต ดั่งน้ำที่ไหลชโลมแผ่นดินที่แห้งผาก ยาที่ทาลงบนบาดแผลด้วยความรักเมตตากรุณาของพระคริสต์ ทำการสมานแผลที่ฉีกขาดและระบม การตอบคำถามด้วยหัวใจ ด้วยชีวิต ด้วยการกระทำเช่นนี้จะเป็นคำตอบที่สามารถถูกซึมซับเข้าไปในชีวิต ในบาดแผล ในความเจ็บปวดของผู้ถาม ที่ผู้ถามสามารถสัมผัสถึงการเยียวยารักษา คำตอบจึงเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เป็นรูปธรรมที่เป็นเมล็ดงอกงามในชีวิตของเขา สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องพยายามที่จะปกป้องพระเจ้า ยืนยัน พิสูจน์ ทำให้เขาต้องยอมรับว่าพระเจ้ามีจริง แต่ให้การตอบคำถามด้วยการกระทำในชีวิต พระเจ้าต่างหากที่เป็นผู้ทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเขา พระเจ้าสัมผัสชีวิตของเขา เขามีประสบการณ์การสัมผัสของพระเจ้า เขาจึงรู้จักพระองค์ที่มีชีวิตอยู่ ที่ทำงานเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา ทั้งสิ้นนี้เกินกว่าความสามารถที่เราจะอธิบาย ถกเถียง หรือยกเหตุผลให้เขาฟังได้ แต่เขาจะได้สัมผัสและรู้จักพระเจ้าในชีวิตของเขาอย่างชัดแจ้ง

คริสเตียนมิได้มีหน้าที่เพียงพยายามหาคำตอบต่อคำถามยากๆ เพื่อให้จุใจคนถามว่า พระเจ้าทำอะไร อย่างไรในความทุกข์ยากลำบากและความเจ็บปวดในชีวิตของมนุษย์ และพระเจ้าทำอะไรอย่างไรในโลกที่เต็มไปด้วยอำนาจของความชั่วร้าย แต่คริสเตียนคือผู้ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้คนเหล่านั้นที่ตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความทุกข์ยากซับซ้อน ชีวิตของเขาต้องพบกับความเจ็บปวดเพราะเขาตกอยู่ในอุ้งเล็บอำนาจของความบาปชั่วร้าย ด้วยการร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวดกับเขาเหล่านั้นเพื่อเขาจะได้สัมผัสกับพระเจ้าที่อยู่กับเขาในเวลาที่มืดมิดจนตรอกในชีวิต ยิ่งกว่านั้น เขาจะมีประสบการณ์ตรงถึงการที่พระเจ้าทรงนำเขาให้หลุดรอดออกจาก “กงเล็บปีศาจ” นี้ด้วยความรักเมตตาของพระองค์ คำถามยากๆ เหล่านั้นได้รับคำตอบตรงจากพระเจ้า ได้รับคำตอบจากประสบการณ์ของเขาในการทำงานของพระเจ้าในชีวิตของเขา เขารู้ว่าพระเจ้าอยู่ที่ไหนจากการที่ได้รับการเยียวยาจากพระองค์ แต่ไม่ใช่หลักการคำตอบทางคริสต์ศาสนศาสตร์ที่ชาญฉลาดของคริสเตียน ตรงกันข้าม หลักการคริสต์ศาสนศาสตร์นั้นควรได้มาจากการสรุปบทเรียนแห่งชีวิตที่ผู้คนได้พบสัมผัสตรงจากการที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของตน ทั้งการทรงปลดปล่อย การช่วยกู้ การเยียวยารักษา การเสริมสร้างชีวิตใหม่ และการร่วมรับใช้ในพระราชกิจของพระองค์

11เมื่อสหายทั้งสามของโยบได้ยินถึงภัยพิบัตินี้ทั้งสิ้นที่ได้เกิดขึ้นกับท่าน
ต่างก็มาจากที่ของตนคือ เอลีฟัสชาวเทมาน บิลดัด ตระกูลชูอาห์ และโศฟาร์ชาวนาอาเมห์
เขาได้นัดมาพร้อมกันเพื่อร่วมทุกข์กับท่านและ ให้กำลังใจ ท่าน
12เมื่อเขาเห็นท่านแต่ไกลเขาก็จำท่าน แทบ ไม่ได้
ก็เปล่งเสียงร้องไห้ต่างก็ฉีกเสื้อคลุมของตน
และซัดผงคลีดินเหนือศีรษะของตนขึ้นไปยังฟ้าสวรรค์
13และนั่งกับท่านบนดินเจ็ดวันเจ็ดคืน
ไม่มีใครเอ่ยอะไรแม้แต่คำเดียว
เพราะเห็นว่าโยบทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพียงใด
(โยบ 2:11-13 อักษรเอนเป็นสำนวนอมตธรรม)

ประเด็นชวนคิด

1. ท่านเคยมีประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของท่านเมื่อท่านต้องประสบในความทุกข์ยากเจ็บปวดหรือไม่? ถ้าเคย เรื่องเป็นอย่างไร? เกิดผลอย่างไรบ้าง?
2. เมื่อท่านถูกถามคำถามยากๆ เกี่ยวกับความเชื่อของท่าน ท่านทำอย่างไรบ้าง? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?
3. ในคริสตจักรของท่านได้ทำพันธกิจอะไรบ้างที่สมาชิกคริสตจักรมีโอกาสที่จะเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมเจ็บปวดกับผู้คนในชุมชน? ผลเป็นอย่างไรบ้าง?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น