27 ตุลาคม 2558

เสรี...คือการที่เราเลือกได้ว่าจะให้ใครมีอิทธิพลในชีวิตเรา

12เหตุฉะนั้นอย่าให้บาปครอบครองกายที่ต้องตายของท่าน ซึ่งทำให้ท่านต้องยอมทำตามความปรารถนาชั่วของกายนั้น 13อย่ายกส่วนต่าง ๆ ในกายของท่านให้แก่บาปเป็นเครื่องมือของความชั่วร้าย แต่จงถวายตัวของท่านเองแด่พระเจ้าในฐานะผู้ที่ทรงให้มีชีวิต เป็นขึ้นจากตาย และถวายส่วนต่าง ๆ ในกายของท่านแด่พระองค์ให้เป็นเครื่องมือของความชอบธรรม 14เพราะบาปจะไม่เป็นนายของท่านอีกต่อไป ด้วยว่าท่านไม่ได้อยู่ใต้บทบัญญัติแต่อยู่ใต้พระคุณ (โรม 6:12-14 อมต.)

เราท่านเชื่อหรือไม่ว่า ในชีวิตแต่ละวันของเราถูกควบคุมและครอบงำด้วยอำนาจ  และบางสิ่งบางอย่างที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา   เราอาจจะถูกควบคุมด้วยความอยากได้ใคร่มีของตนเอง   หรือไม่ความคาดหวังของคนบางคนมีอิทธิพลในชีวิตของเรา   บางคนอาจจะถูกควบคุมบังคับด้วยความกลัว หรือ ความรู้สึกผิด หรือ ความรู้สึกขุ่นเคืองข้องใจ หรือ มีใจที่ขมขื่น   เราอาจจะถูกอิทธิพลของ “นิสัย” หรือ “ความคิดความเชื่อ” บางอย่างที่ครอบงำเราอยู่   ชัดเจนครับ ชีวิตแต่ละวันของเราควบคุมครอบงำด้วยอิทธิพลบางสิ่งบางอย่าง

เสรีหรือความเป็นไทในชีวิตคือ  การที่เราเลือกที่จะให้อะไรหรือใครให้มีอิทธิพลควบคุมหรือครอบครองชีวิตของเรา   ในพระธรรมโรม 6:12-14  บอกกับเราว่า  อย่ายอมให้อำนาจแห่งความบาปชั่วครอบครองชีวิตของเรา   ซึ่งทำให้เรายอมทำตามความปรารถนาชั่ว(ที่กำลังมีอิทธิพลในชีวิตของเรา)   เราต้องไม่ยอมใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดในชีวิตของเรากลายเป็นเครื่องมือกระทำความชั่วร้าย ตามอำนาจบาปชั่ว   (การที่เราจะทำเช่นนี้ได้)เราต้องถวายชีวิตของเรา(ด้วยความสำนึกว่า)พระเจ้าทรง(กระทำ)ให้เรามีชีวิตใหม่ ที่หลุดรอดออกจากการครอบครองและครอบงำของอำนาจแห่งความบาปชั่ว   แล้วให้เรามอบกายถวายชีวิตทั้งหมดแด่พระเจ้า  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของความชอบธรรม   และนี่เป็น “พระคุณของพระเจ้า”   เพราะเป็นพระราชกิจของพระองค์ที่ทรงกระทำในชีวิตของเรา   ในส่วนซึ่งเราไม่สามารถจะจัดการตนเองได้ ในชีวิต (สำนวนแปลของผู้เขียน)

ขั้นตอนที่ชีวิตของเราจะเป็นไทในพระเจ้า  มีดังนี้
  • ยอมรับความจริงว่า ชีวิตของเราตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความบาปชั่ว  
  • ยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะบังคับควบคุมด้วยตนเองได้   แต่กลับดำเนินชีวิตตามอิทธิพลอำนาจของความบาปชั่วที่กำลังมีอิทธิพลและครอบงำในชีวิตของเรา
  • ยอมเปิดชีวิตของเราด้วยใจถ่อม   ตัดสินใจเลือกขอพระเจ้าเข้ามาช่วยปลดปล่อยเราให้หลุดรอดออกจากอิทธิพลแห่งความบาปชั่วนั้น   และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้อยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์
  • ยอมมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดแด่พระเจ้าที่จะทรงใช้ชีวิตของเราทำในสิ่งที่ชอบธรรมตามพระประสงค์ของพระองค์   แทนความปรารถนาอยากได้ใคร่มีใคร่เป็นอย่างเดิม ๆ
  • ขอบพระคุณใน “พระคุณของพระเจ้า” ที่ทรงกระทำในสิ่งที่เราไม่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ในชีวิตของเรา   จนเราได้โอกาสใหม่  พลังใหม่  และชีวิตใหม่
  • ให้ความสำนึกและตระหนักชัดว่า   ชีวิตที่เรามีอยู่เป็นอยู่มิใช่ชีวิตของเราอีกแล้ว   แต่เป็นชีวิตของพระคริสต์   ที่เรายอมกระทำทุกอย่างตามพระประสงค์ และ ทำทุกอย่างให้เป็นที่ยกย่องเทิดทูนพระนามของพระองค์


คงต้องถามคำถามตรงว่า   เราท่านต้องการให้ชีวิตเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ หรือเปล่า?   

ถ้าเราต้องการให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงมีความเป็นไท   เราจะต้องเลิกวิถีแนวทางเดิม ๆ ที่เราพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าก็พบแต่ความล้มเหลว  พ่ายแพ้ในชีวิต   เพราะความจริงก็คือความจริงว่า   เราไม่สามารถจะจัดการตนเองให้หลุดรอดออกจากอิทธิพลการครอบงำของบาปชั่วในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง   แต่ยอมรับความจริงนี้แล้วตัดสินใจเลือกที่จะมีชีวิตที่อยู่ภายใต้การครอบครองของพระเจ้า   แล้วถ่อมใจลงทูลขอพระเจ้าจัดการกับชีวิตของเรา   ทูลขอพระเจ้ากระทำพระราชกิจในชีวิตของเราที่เราไม่สามารถช่วยตนเองได้นี้   และนี่คือพระคุณของพระเจ้า

วันนี้  ความเป็นไทเป็นโอกาสของเราทุกคนครับ   เพราะเราสามารถเลือกว่า จะให้ใครเป็น “เจ้านาย” ที่จะมีอิทธิพลครอบครองชีวิตของเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

26 ตุลาคม 2558

ท่านทำงานด้วยแรงกระตุ้นจูงใจอะไร?

พวก​เขา​จึง​ว่า มา​เถิด ให้​เรา​สร้าง​เมือง​ขึ้น​สำหรับ​เรา​และ​สร้าง​หอ​ให้​ยอด​เทียม​ฟ้า ให้​เรา​ทำ​ชื่อ​เสียง​ไว้ เพื่อ​เรา​จะ​ไม่​ถูก​ทำ​ให้​กระ​จัด​กระ​จาย​ไป​ทั่ว​แผ่น​ดิน​โลก (ปฐมกาล 11:4 มตฐ.)

ในแต่ละวัน  เราแต่ละคนต่างก็มีงานที่ทำ  ไม่ว่างานที่ทำนั้นจะได้รับเงินค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม  แต่ก็เป็นงานที่เราทำ   ไม่ว่าจะเป็นคนเสนอขายสินค้าตามบ้าน หรือ เป็นพนักงานขายที่ห้าง  เราอาจจะเป็นผู้ผลิตสินค้า   เป็นเกษตรกร   ช่างก่อสร้าง  ครูสอนในโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย  เป็นคนตัดหญ้าที่สนาม   ภารโรง  เป็นหมอ หรือพนักงานทำความสะอาด   เป็นพ่อครัวแม่ครัว  หรือเป็นหัวหน้าคนงาน  เป็นนักเทศน์  เป็นคนเปลี่ยนผ้าอ้อม

ผมมีคำถามว่าแล้วเราท่านทำงานไปทำไม?   อะไรคือแรงจูงใจให้ท่านทำงานต่าง ๆ ที่ท่านทำในวันนี้?   อะไรคือตัวกระตุ้นให้ท่านลงแรง ใส่ใจทำงานของท่านในวันนี้?

คนส่วนมากแล้ว มักมีมุมมองต่องานที่ทำในชีวิตว่า   เพื่อที่จะให้ตนสามารถอยู่รอดได้   เราทำงานเพื่อจะมีอาหาร  ที่ซุกหัวนอน  และส่วนใหญ่แล้วยังทำงานเพื่อเอาใจใส่ต่อสวัสดิภาพของคนในครอบครัวด้วย   โดยเฉพาะในปัจจุบัน หลายต่อหลายคนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อหารายได้มา “เลี้ยงลูก”  จนไม่มีเวลาที่จะสัมพันธ์ใกล้ชิดและรู้จักลูกของตนเองเพียงพอ

ถ้าเราจะมีมุมมองในชีวิตต่องานที่เราทำในแต่ละวันที่สูงกว่าความคิดความต้องการทำงานเพื่อมิติทางร่างกาย หรือ กายภาพของเราเองแล้ว    อะไรล่ะที่กระตุ้นจูงใจให้เราทำงาน?   หลายคนในพวกเราอาจจะทำงานเพื่อความมั่นคงในอนาคตของเรา   หรือที่เราทำงานเพื่อจะได้เงินเพื่อที่จะนำไปซื้อสิ่งของที่เราต้องการ   การทำงานอาจจะเป็นแหล่งหนึ่งที่ทำให้เราแต่ละคนรู้ถึงคุณค่าในชีวิต   หรือ การทำงานทำให้เรารู้สึกว่าตนมีความสำคัญ  

สำหรับในบางท่านการทำงานเป็นการแสดงออกถึงเป้าหมายในชีวิต   บางคนทำงานเพราะเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการตอบสนองต่อพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเขา   คนกลุ่มนี้ทำงานเพราะเกิดจากแรงกระตุ้นของพลังแห่งความศรัทธา   เขาทำงานโดยมีเป้าหมายตามพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีในชีวิตของเขา   และเขาสู้ทนบากบั่นทำงานนั้น หรือ มีพลังชีวิตทำงานนั้นเพราะเขาเชื่อว่า   งานที่เขาทำ เป็นการทำงานที่ร่วมในพระราชกิจที่พระเจ้าทรงกระทำงานอยู่ในโลกปัจจุบันนี้   เป็นการร่วมและสานงานต่องานของพระองค์   และด้วยความเชื่อศรัทธาเช่นนี้เอง   เขาจึงเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและความสำคัญในชีวิตเพราะงานที่เขาทำนั้นเป็นงานเพื่อคนอื่นตามพระประสงค์ของพระเจ้า

แต่จากพระธรรมปฐมกาล บทที่ 11 การสร้าง “หอบาเบล” ก็เป็นการทำงาน   แต่การทำงานในเรื่องนี้บ่งชี้ไปในทางการทำงานที่เกิดผลทางลบ   มิใช่พระคัมภีร์ตอนนี้เห็นว่าการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่ดี   แต่กำลังบ่งชี้ให้เห็นว่า  “แรงกระตุ้นจูงใจ” ในการทำงานที่ “หอบาเบล” ทำให้เกิดผลเสีย

การสร้างหอบาเบลนั้นมิใช่การทำงานร่วมกันเพื่อจะเสริมสร้างประโยชน์ต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์รอบข้าง  แต่เบื้องหลังของคนที่วางแผนสร้างหอบาเบลนี้คือ  แรงกระตุ้นในความยโสโอหัง   เขาทำเพราะกำลังแสวงหาอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความเด่นดัง  ชื่อเสียงและเกียรติยศของตน (ปฐก. 11:6)   และที่สำคัญคือ  เพื่อตอบสนองตัณหาความอยากได้ใคร่มีลึก ๆ ในจิตใจของตน   ไม่ต่างอะไรกับความต้องการของอาดัมและอีวา ที่ต้องการเป็นเหมือนพระเจ้า   คนสร้างหอบาเบลไม่เป็นเหมือน “นิมโรด” ผู้ยิ่งใหญ่   ที่นิมโรดยิ่งใหญ่เพราะการกระทำการงานของเขาเป็นงานที่ชอบในสายพระเนตรของพระเจ้า   แต่ผู้สร้างหอบาเบลทำงานเพื่อ “ตนเอง” ทำตามที่ตนเองต้องการ  เพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น

เมื่อคนทำงานเพื่อประโยชน์แห่งตน   ทำงานเพราะแรงกระตุ้นจากตัณหาลึก ๆ ที่อยากมีตำแหน่ง ชื่อเสียง เกียรติยศของตน   ทำอะไรก็คิดเข้าหาตนเอง  แทนจะคิดออกไปถึงคนรอบข้าง คนอื่น ๆ และ พระประสงค์ของพระเจ้า   ด้วยอิทธิพลการคิดที่บาปชั่วเช่นนี้   นอกจากที่เขากำลังคดโกง ทรยศพระเจ้าผ่านการทำงานของเขาแล้ว   เพราะการคิดถึงแต่ตนเองเท่านั้นทำให้เขา “พูดกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง”   ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้   เพราะตนทำตามที่ตนต้องการ หรือ ตนทำตามที่ตนพอใจแล้วอะไรเกิดขึ้นครับ   การสื่อสัมพันธ์ของที่ทำงาน ขององค์กรก็ต้องล้มครืนพังพินาศตามมามิใช่หรือ?  

ทุกวันนี้ตัวเรา  คริสตจักรของเรา  องค์กรของเรา  สถาบันของเรา ทำงานเพราะแรงกระตุ้นจูงใจแบบไหนครับ?   ถ้าเรารู้ได้  รู้เท่าทัน  และบอกถูก   เราก็รู้อนาคตตั้งแต่วันนี้แล้วครับ

เรา  คริสตจักรของเราจะเดินไปทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า  การทำงานของแต่ละคน และ ผู้นำองค์กรของเรานั้นมีแรงจูงใจจากอะไรกันแน่ครับ?   

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ชุมชนคริสตจักรอยู่ที่ไหน?...เมื่อชีวิตต้องตกระกำลำบาก

จง​ชื่น​ชม​ยินดี​กับ​ผู้​ที่​มี​ความ​ชื่น​ชม​ยินดี จง​ร้อง​ไห้​กับ​ผู้​ที่​ร้อง​ไห้ 
(โรม 12:15 มตฐ.)

พระธรรมโรมบทที่ 12 เริ่มต้นด้วยการขอให้เราคริสตชนถวายทั้งชีวิตของเราแด่พระคริสต์  เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์  ทั้งนี้เพื่อเราแต่ละคนที่เป็นคน ๆ หนึ่งในคริสตจักรจะได้เกื้อหนุน เอื้อเฟื้อ และเสริมสร้างกันและกันในเวลาที่จำเป็นต้องการแก่คนอื่น ๆ ในชุมชนคริสตจักร   ดั่งอวัยวะหนึ่งในพระกายของพระคริสต์ที่ประสานเสริมสร้างกันและกันให้พระกายนั้นเติบโตแข็งแรงขึ้น

คริสตจักรมิใช่เป็นที่ที่ผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์มารวมตัวกันประกอบศาสนพิธี และ เป็นที่จะมาร้องซ้องสรรเสริญพระนามของพระเจ้าด้วยกันในวันอาทิตย์เท่านั้น   แต่คริสตจักรคือสายสัมพันธภาพที่ผูกพันผู้คนเข้าด้วยกันโดยพระคุณแห่งความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์

พระประสงค์ประการหนึ่งที่พระคริสต์ทรงสถาปนาคริสตจักรของพระองค์ไว้ท่ามกลางโลกที่แปรปรวน สับสน  และมีแต่ความทุกข์ยากลำบากนี้   เพื่อคริสตจักรจะได้ทำหน้าที่ที่จะดูแลเอาใจใส่ผู้คนในชุมชนของตนทั้งในเวลาที่สุขและเวลาที่แสนทุกข์ลำบาก

ใช่ครับ... คริสตจักรคือชุมชนที่ร้องไห้กับคนที่ร้องไห้  และหัวเราะกับคนที่มีชีวิตชื่นชมยินดี!

แน่นอนครับ  ในชีวิตของเราแต่ละคนคงมีบางเวลาที่เราหัวเราะจนน้ำตาไหล   แต่มีบางเวลาที่เราต้องเผชิญกับวิกฤติผิดหวังอย่างรุนแรงในชีวิตจนน้ำตาแห้งเหือดไม่มีจะไหลออกมาอีกแล้ว   คงไม่แปลกใจถ้าเมื่อเราชื่นชมยินดีมีแต่คนล้อมหน้าล้อมหลังชื่นชมยินดีกับเราด้วย

แต่เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความสิ้นหวังและสูญเสียล่ะ   ในเวลาเช่นนั้นมีใครบ้างที่อยู่เคียงข้างเรา?

เมื่อคู่ชีวิตของเราอยู่ในห้องผ่าตัดเอามะเร็งออก   ใครนั่งรอความสำเร็จของการผ่าตัดเคียงข้างเรา?

เมื่อเราต้องนั่งรอและรอฟังข่าวลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของเราว่ารอดพ้นจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เนปาลหรือเปล่า   ใครอยู่ข้าง ๆ เราในเวลานั้น?

เมื่อวันที่เรารับซองขาวและพร้อมกับคำเห็นอกเห็นใจของผู้บริหาร   เราเดินกลับบ้านพร้อมกับใคร?
เมื่อวันที่คู่ชีวิตของเรา  เดินออกไปจากเส้นทางชีวิตคู่ของเรา   ใครอยู่เคียงข้างเรา?

ในสถานการณ์ลักษณะเช่นนี้   มีคนในชุมชนคริสตจักรได้เดินเคียงข้างคนเหล่านี้หรือไม่?  อย่างไร?

ความจริงที่เราท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ   มีบางเวลาที่ชีวิตต้องพบกับความทุกข์ยากสาหัส   ที่ชีวิตต้องประสบกับความโศกเศร้า   ที่ชีวิตต้องตกอยู่ในข่าวร้ายรุนแรงแบบไม่รู้จะตั้งรับอย่างไรดี   ในเวลาเช่นนั้นชุมชนคริสตจักรอยู่ที่ไหน?

ผมได้ยินได้ฟังจากท่านศิษยาภิบาลสองท่าน   ที่แบ่งปันประสบการณ์การอภิบาลชีวิตผู้คนในคริสตจักร   ซึ่งเป็นประสบการณ์ในเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก   แต่เพราะมีมุมมองที่แตกต่างกัน   ศิษยาภิบาลและชุมชนคริสตจักรจึงตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันด้วยวิธีการที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินครับ

ศิษยาภิบาลท่านแรก   เป็นศิษยาภิบาลในคริสตจักรใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่คนรู้จักกันดีมาก   เล่าให้ฟังว่า   สมาชิกของท่านคนหนึ่งมานมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรในวันอาทิตย์เป็นประจำ   แต่เมื่อเขานมัสการเสร็จก็ออกไปจากคริสตจักรทันที   ไม่เข้าร่วมกลุ่มหรือร่วมสมานฉันท์สัมพันธ์กับคนอื่นในคริสตจักร   กระทั่งวันหนึ่ง ภรรยาของเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งที่ปอด   พอดีวันนั้นศิษยาภิบาลท่านต้องรีบเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อเข้าร่วมสัมมนาการประกาศพระกิตติคุณ   เมื่อกลับมาท่านก็ยังไม่รู้ถึงวิกฤติชีวิตของสมาชิกครอบครัวนี้   และคนในคริสตจักรก็ไม่รู้   จนวันหนึ่งสมาชิกคนนี้เข้ามาหาศิษยาภิบาลและบอกว่า   เขาขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของคริสตจักรนี้   เพราะเมื่อภรรยาของเขาป่วยหนัก และรับการผ่าตัด  ครอบครัวของเขาตกลงในภาวะวิกฤติไม่มีคนในคริสตจักรเลยแม้คนเดียวที่ใส่ใจเขา

ศิษยาภิบาลได้แบ่งปันให้ฟังต่อไปว่า ช่วยไม่ได้จริง ๆ ไม่มีใครรู้เรื่องของเขา ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาทำตัวเอง เขาไม่ยุ่งเกี่ยวสัมพันธ์กับใครเลยในคริสตจักร  เมื่อเราทำตัวเช่นนี้ก็ต้องรับผลที่เกิดขึ้น  ในมุมมองของศิษยาภิบาลท่านนี้เห็นว่า   ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะเจ้าตัวไม่สุงสิงกับสมาชิกคนอื่นในคริสตจักร   ไม่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่คริสตจักรจัดขึ้น   การที่สมาชิกครอบครัวนี้เดินออกไปจากคริสตจักรดูจะไม่เป็นการสูญเสียอะไรมากนักสำหรับคริสตจักร   เพราะสมาชิกและศิษยาภิบาลมองว่า ครอบครัวนี้ก็ไม่อะไรเท่าใดกับคริสตจักร?

ศิษยาภิบาลท่านที่สองที่ผมเคยได้ฟังการแบ่งปันงานอภิบาลของเขาเล่าให้ฟัง   ซึ่งเรื่องอยู่ในทำนองคล้ายกันมาก   เป็นเรื่องที่ลูกชายประสบอุบัติเหตุ   ซึ่งชายคนนี้ก็คล้ายกันคือมานมัสการพระเจ้าเป็นครั้งคราวและไม่ได้ร่วมในกิจกรรมพันธกิจอะไรของคริสตจักร   และในช่วงเวลานั้นศิษยาภิบาลต้องเดินทางไปเรียนหลักสูตรต่อเนื่องที่พระคริสต์ธรรม   เมื่อเขากลับมาถึงคริสตจักรถึงได้รู้จากสมาชิกคริสตจักรถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้น   ในขณะที่ศิษยาภิบาลกำลังเตรียมตัวจะออกไปเยี่ยมสมาชิกครอบครัวนี้   ชายคนนี้เดินเข้ามาพบกับศิษยาภิบาลพอดี   พร้อมทั้งขอบอกขอบใจคริสตจักรที่ได้ไปอธิษฐานเผื่อลูกชายของเขาเมื่อกำลังรับการผ่าตัดสมอง   เขาขอบคุณทีมเยี่ยมเยียนที่ผลัดเปลี่ยนกันไปนั่งเป็นเพื่อนเขา และ อธิษฐานกับเขาที่โรงพยาบาล   และตอนนี้พระเจ้าก็ทรงรักษาให้ลูกชายพ้นวิกฤติแล้ว   และเขาได้ขอโทษที่เวลาผ่านมาเขาไม่ได้ใส่ใจเข้าร่วมกับคริสตจักรอย่างจริงจัง   เขาขอศิษยาภิบาลอธิษฐานเผื่อเขา   เขาต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่กับพระเจ้า

แท้จริงแล้ว   ชุมชนคริสตจักรคือ “ตาข่ายนิรภัย” สำหรับวิกฤติชีวิตของผู้คนในคริสตจักร   ที่ช่วยให้เขาได้รับประสบการณ์และสัมผัสกับความรักเมตตาของพระเจ้า   และเป็นตาข่ายที่ช่วยให้เขาได้มีโอกาสใหม่ที่จะเริ่มต้นชีวิตกับพระองค์

ชุมชนคริสตจักรของท่านทุกวันนี้เป็นชุมชนแบบไหนครับ?   แบบคริสตจักรแรก หรือ คริสตจักรที่สอง?   ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้ครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

14 ตุลาคม 2558

พระเจ้าทรงกระทำงานของพระองค์ในเวลาที่เรารอคอย

ข้าพเจ้ารอคอยองค์พระผู้เป็นเจ้า
จิตวิญญาณของข้าพเจ้าเฝ้าคอย
และฝากความหวังไว้ที่พระวจนะ (พระสัญญา) ของพระองค์
(สดุดี 130:5 อมต. ในวงเล็บของผู้เขียน)

พระเจ้าประสงค์ให้เรารอคอยการตอบคำอธิษฐานจากพระองค์ด้วยความอดทนและไว้วางใจ   และพระองค์ต้องการให้เรารอคอยคำตอบจากพระองค์ด้วยความหวัง   ด้วยความเชื่อศรัทธา  และหวังใจว่าพระเจ้าฟังคำอธิษฐานของเรา และเชื่อด้วยว่าพระองค์จะตอบคำอธิษฐานของเรา   การที่เรารอคอยคำตอบจากพระเจ้าด้วยความหวังใจ   นั่นเป็นการยืนยันว่าเราเชื่อในพระวจนะและพระสัญญาของพระเจ้า   ยิ่งกว่านั้นเราเชื่อว่าพระองค์จะทรงรักษาคำพูดและพระสัญญาของพระองค์ด้วย

บางท่านคงกำลังสับสนงงงวยว่า   ทำไมพระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานสักที   เราสับสนงงงวยว่า   เราได้อธิษฐานต่อพระเจ้าให้สถานการณ์ชีวิตคู่ของเราให้ดีขึ้น   แต่ทำไมไม่เห็นมันดีขึ้นสักที?   เราอาจจะสับสนงงงวยกับงานอาชีพของเรา   เราอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยเราในเรื่องการเลือกและทำอาชีพการงาน   แต่งานที่เราทำกลับลุ่ม ๆ ดอน ๆ   เปลี่ยนงานแล้วเปลี่ยนงานอีก   ไม่เห็นพบงานที่ดีสักงาน?   เราอธิษฐานทูลขอให้เรามีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับเพื่อนของเรา   แต่ทำไมยังพบแต่เพื่อนที่ไม่เข้าใจเรา?   เรางงสับสน รู้สึกว่าตนไม่มีกำลังอำนาจที่จะจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา   ทำไมถึงมีชีวิตที่เป็นเช่นนี้   ทั้ง ๆ ที่อธิษฐานต่อพระเจ้าทุกเรื่อง?

เมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการความช่วยเหลือ  ต้องการคำตอบจากพระเจ้า   แต่ดูเหมือนพระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานของเราสักที   เราต้องตระหนักชัดถึงความจริงสำคัญบางประการ 

ประการแรก  แม้เราตกในสภาพที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ชีวิตของตนได้เลย   แต่ในความเป็นจริงพระเจ้าทรงสามารถควบคุมทุกเรื่องได้  

ประการที่สอง  อย่าลืมว่าพระองค์ทรงรู้ว่าอะไรที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับเรา   มากกว่าที่เราจะรู้ว่าเรามีความจำเป็นต้องการอะไรในชีวิต   

ประการที่สาม ไม่มีกองทุกข์หรือขุนเขาแห่งปัญหาใดที่ใหญ่เกินกว่าที่พระเจ้าจะทรงเคลื่อนย้ายได้   ไม่มีปัญหาชีวิตใดที่ซับซ้อนสับสนเกินกว่าที่พระองค์จะจัดการได้   

ประการที่สี่  ไม่มีความทุกข์โศกเศร้าใดในชีวิตเรื่องที่พระเจ้าจะทรงปลอบประโลมไม่ได้   เราต้องรู้และมั่นใจว่า   พระเจ้าทรงควบคุมทุกอย่างในพระหัตถ์ของพระองค์   และ

ประการที่ห้า  และที่สำคัญพระองค์ทรงมีแผนการของพระองค์ในทุกเรื่องเหล่านี้สำหรับชีวิตของเรา!

พระองค์กำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในเรื่องที่เราอธิษฐานต่อพระองค์   ท่านจะไว้วางใจและรอคอยพระองค์ด้วยความไว้วางใจ และ อดทนได้ไหม?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 ตุลาคม 2558

ทำไมพระเจ้าไม่ตอบคำอธิษฐานสักที?

เมื่ออธิษฐานแล้วยังไม่ได้คำตอบ   ในพระธรรมเอเฟซัสบอกเราว่า
“จง​อธิษฐาน​... ​​เฝ้า​ระวัง​ด้วย​ความ​เพียร​​...” (6:18 มตฐ.)
ทำไมเราต้องอธิษฐานด้วยความเพียรทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับคำตอบจากการอธิษฐาน
มีรากฐานความเข้าใจในชีวิตคริสตชนสำคัญในเรื่องนี้สี่ประการ คือ...

ประการแรก:   การอธิษฐานด้วยความเพียรเป็นการช่วยให้เรามุ่งเน้นแสวงหาความเด่นชัดลงไปในเรื่องที่เรากำลังอธิษฐาน   การที่เรามุ่งมั่นเพียรอธิษฐานในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างพากเพียรหลายครั้ง   มิใช่เป็นการเตือนความทรงจำของพระเจ้าไม่ให้ลืมเรื่องที่เราทูลอธิษฐานต่อพระองค์   แต่เพื่อที่จะเตือนตนเองว่า  พระเจ้าทรงเป็นแหล่งแห่งคำตอบในเรื่องที่เราอธิษฐาน  และพระองค์เป็นแหล่งที่จะประทานในสิ่งที่จำเป็นต้องการที่เราทูลขอพระเจ้า   ถ้าเราอธิษฐานแล้วก็ได้รับคำตอบโดยอัตโนมัติ  จะเกิดสองสิ่งในชีวิตของเราคือ  

สิ่งแรก การอธิษฐานกลายเป็นสิ่งที่ทำลายชีวิตของเราเอง   เพราะเราจะไม่เรียนรู้และตระหนักชัดว่าชีวิตของเราต้องพึ่งพิงในพระเจ้า   แต่เรากลับไปพึ่งพิงการกระทำของเราเองคือการอธิษฐาน   การอธิษฐานของเรากลายเป็น “เครื่องหยอดเหรียญ” เพื่อให้ได้สิ่งที่เราอยากได้ต้องการ  

สิ่งที่สอง การอธิษฐานควรจะเป็นการที่เราติดต่อสัมพันธ์และการติดสนิทกับพระเจ้า   เรากำลังใช้การอธิษฐานในการใช้พระเจ้าทำในสิ่งที่เราอยากได้ต้องการหรือไม่?   แล้วเรามักมุ่งมองไปที่สิ่งที่เราอยากจะได้รับ   มากกว่าที่จะมุ่งมองไปที่พระเจ้าผู้ทรงอวยพระพรแก่เราหรือเปล่า?   และที่สำคัญคือ  เราละเลยและไม่สนใจว่าพระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรในชีวิตของเรา   มุ่งสนใจแต่ความต้องการของตนเอง

ประการที่สอง: การอธิษฐานด้วยความเพียร  ช่วยให้เราค่อย ๆ ชัดเจนในสิ่งที่เราอธิษฐานวิงวอน   การที่เราไม่ได้รับคำตอบจากการอธิษฐานของเราทันทีหรือโดยอัตโนมัติ   ทำให้เราต้องเพียรอธิษฐาน  การที่เรามีโอกาสเพียรอธิษฐานทำให้เรามีเวลาในการใคร่ครวญในสิ่งที่เราอธิษฐานวิงวอนต่อพระเจ้ามากขึ้น ละเอียดขึ้น   ครั้งแล้วครั้งเล่า   ทำให้เราสามารถแบ่งแยกชัดเจนระหว่างความปรารถนาจากส่วนลึกในชีวิต กับ ความต้องการใฝ่ฝันหรือการปรารถนาตามอำเภอใจ   การที่เราไม่ได้รับคำตอบจากการอธิษฐานทันที   เป็นโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญลงลึกว่าเราใส่ใจในเรื่องนั้นแท้จริงแค่ไหน   มิใช่พระเจ้าละเลยเมินเฉยต่อการอธิษฐานของเรา   แต่พระเจ้าใช้โอกาสที่เราอธิษฐานในการเสริมสร้างให้เราเติบโตขึ้นเป็น “ผู้ใหญ่ในพระคริสต์” มากยิ่งขึ้นต่างหาก

ประการที่สาม:  “เพราะ​พวก​ท่าน​รู้​ว่า​การ​ทด​สอบ​ความ​เชื่อ​ของ​ท่าน​นั้น ทำ​ให้​เกิด​ความ​ทรหด​อดทน  และ​จง​ให้​ความ​ทรหด​อด​ทน​นั้น​มี​ผล​อย่าง​สม​บูรณ์ เพื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​จะ​ได้​เป็น​คน​ที่​สม​บูรณ์​และ​ดี​พร้อม โดย​ไม่​ขาด​สิ่ง​ใด​เลย” (ยากอบ 1:3-4 มตฐ.)  การที่เราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ได้นั้น “ความเชื่อ ความศรัทธาของเราต้องผ่านการทดสอบ”   ดังนั้น การที่เราไม่ได้รับคำตอบทันทีจากการอธิษฐานเพราะพระเจ้ามีแผนการที่จะใช้สิ่งหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา   ที่เรานำมาทูลอธิษฐานต่อพระเจ้าในการเสริมสร้างเราให้เติบโต และ มีชีวิตที่เข้มแข็ง   เพื่อเตรียมเราท่านให้พร้อมที่จะรับและใช้สิ่งที่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานให้เกิดผลและเป็นประโยชน์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

ประการที่สี่:  การเพียรอธิษฐานเป็นโอกาสที่พระเจ้าจะทรงเตรียมชีวิตจิตใจของเราให้พร้อมที่จะรับคำตอบจากพระองค์   เพราะพระองค์ประสงค์ที่จะตอบในสิ่งที่เราอธิษฐานวิงวอนมากกว่าเราที่คาดหวัง  และดีกว่าที่เราปรารถนา   ดังนั้น   พระองค์จึงประสงค์ที่จะเตรียมชีวิตจิตใจของเราให้พร้อมรับคำตอบจากพระองค์   เพราะเราอธิษฐานวิงวอนสิ่งต่าง ๆ ตามกรอบคิดกรอบเชื่อที่จำกัดของเรา   แต่พระองค์ประสงค์ที่จะประทานตามพระประสงค์ของพระองค์ที่ใหญ่กว่า และ ดีกว่าที่เราอธิษฐานทูลขอ   ดังนั้น ช่วงเวลาที่เรายังไม่ได้รับคำตอบจากการอธิษฐานของเรา   จึงเป็นเวลาที่พระเจ้าจะทรงเสริมสร้างเปลี่ยนแปลงและเตรียมเราให้พร้อมที่จะสามารถรับสิ่งที่พระองค์จะตอบคำอธิษฐานของเราตามพระประสงค์ของพระองค์

อย่าลืมว่าพระเจ้า “...​ผู้​ทรง​สา​มารถ​ทำ​ทุก​สิ่ง​ได้​มาก​ยิ่ง​กว่า​ที่​เรา​ทูล​ขอ​หรือ​คิด...” (เอเฟซัส 3:20 มตฐ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

12 ตุลาคม 2558

ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อคนอื่น?

ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อตนเองก็หนักพออยู่แล้ว   นี่จะให้ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อคนอื่น   แล้วจะให้อธิษฐานอย่างไรดี?

เอปาฟรัส...เขาได้ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อท่านเสมอ
เพื่อท่านจะยืนหยัดมั่นคงในพระประสงค์ทั้งสิ้นของพระเจ้า
(ให้)เป็นผู้ใหญ่และมั่นใจเต็มที่(ในพระคริสต์)
(โคโลสี 4:12 อมต.,  ในวงเล็บเพิ่มโดยผู้เขียน)

ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อตนเองก็เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับหลาย ๆ คนอยู่แล้ว!
แต่นี่กำลังพูดถึง “การปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อคนอื่น”  จะเป็นภาระหนักหนามากขึ้นแค่ไหน?
บ่อยครั้งเราอธิษฐานเพื่อลูกของเรา  พ่อแม่ของเรา  คู่ชีวิตของเรา  หรือ เพื่อนและคนที่เรารู้จัก

เรามักอธิษฐานเพื่อคนอื่นในเรื่อง “สิ่งที่จำเป็นต้องการของเขา” เช่น มีงานทำ   ทำงานให้สำเร็จ  หรือ  มีโอกาส
พบคู่ชีวิตที่ดี  เดินทางโดยปลอดภัย  สามารถรอดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญ  ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง  มีความสุข
ในชีวิต ฯลฯ

การอธิษฐานเพื่อคนอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว   หลายท่านไม่รู้ว่าจะอธิษฐานเพื่อคนอื่นในเรื่องอื่นอะไร
ไม่บ่อยครั้งสักเท่าใดนักที่เราอธิษฐานเพื่อคนอื่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เหมือนพระคริสต์มากยิ่งขึ้น
เราไม่ค่อยอธิษฐานเพื่อคนอื่นเหมือน เอปาฟรัส ที่เปาโลใช้คำว่า “ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อ...”  ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อคนอื่น... “อย่างสม่ำเสมอ”

เอปาฟรัส...อธิษฐานเพื่อคนที่ท่านอธิษฐานเผื่อให้...
เป็นคนยืนหยัดมั่นคงในพระประสงค์ทั้งสิ้นของพระเจ้า
เป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์
มีความมั่นใจเต็มที่ในพระคริสต์

อย่าให้เราหยุดอยู่แค่การอธิษฐานเผื่อเรื่องชีวิตประจำวันที่เขาจะต้องเผชิญเท่านั้น
อย่าอธิษฐานเผื่อแค่ให้เขาสามารถอยู่รอดปลอดภัย หรือ ประสบความสำเร็จในชีวิตประจำวันเท่านั้น

แต่ปล้ำสู้อธิษฐานเพื่อคน ๆ นั้นให้ได้สัมผัสและเรียนรู้จากสถานการณ์เหล่านั้นว่า  พระเจ้าทรงสำแดงความรักเมตตาและเอาใจใส่เขามากแค่ไหน   ยิ่งกว่านั้น  ทำให้เขาสามารถตระหนักรับรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของเขาผ่านการทำงานของพระเจ้าในเหตุการณ์ประจำวันเหล่านั้น

เพื่อเขาคนนั้นจะมีชีวิตที่เติบโตขึ้นทั้งร่างกาย  จิตใจ  สังคม  และจิตวิญญาณ   และเป็นการเติบโตขึ้นในพระคริสต์  กล่าวคือ   เติบโตขึ้นในความรักเยี่ยงพระคริสต์   และ   เข้มแข็งขึ้นในความทรหดอดทนที่มาจากพระองค์ (ดู 2เธสะโลนิกา 3:5)   

พระคัมภีร์หลายตอนที่กล่าวถึงการอธิษฐานเผื่อ  เพื่อการเติบโตของชีวิตทั้งครบ เช่น
ข้าพเจ้า​ทูล​ขอ​ให้​ท่าน​สา​มารถ​เข้าใจ​ร่วม​กับ​ธรรมิกชน​ทั้ง​หมด​ถึง​ความ​กว้าง ความ​ยาว ความ​สูง และ​ความ​ลึก  คือ​ให้​ซาบซึ้งใน​ความ​รัก​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​เกิน​ความ​รู้ เพื่อ​พวก​ท่าน​จะ​ได้​รับ​ความ​บริบูรณ์​ของ​พระ​เจ้า​อย่าง​เต็ม​เปี่ยม  (เอเฟซัส 3:18-19 มตฐ.)
ให้เราอธิษฐานเพื่อคนนั้นของเราว่า “...ขอพระเจ้าโปรดเมตตาให้เขาสามารถสัมผัสรู้ซึ้งถึงความรักเมตตาของพระองค์ที่มีในชีวิตของเขา...”

ขอ​พระ​เจ้า​แห่ง​สันติ​สุข...ทรง​ให้​พวก​ท่าน​เพียบ​พร้อม (มีใจกระตือรือร้น ปรารถนาที่จะทำ) ​ด้วย​สิ่ง​ดี​ทุก​อย่าง เพื่อ​ที่​จะ​ทำ​ตาม​พระทัย​ของ​พระ​องค์​โดย​ทรง​ทำ​งาน​ใน​เรา ให้​เกิด​ผล​เป็น​ที่​พอ​พระ​ทัย​ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระ​องค์​ทาง​พระ​เยซู​คริสต์ (ฮีบรู 13:20-21 มตฐ.)
ให้เราอธิษฐานเพื่อคนนั้นของเราว่า  “...ขอพระเจ้าประทานให้เขามีจิตใจที่สัตย์ซื่อมั่นคงตามพระประสงค์ของพระองค์”

ขอ​พระ​เจ้า​แห่ง​ความ​หวัง​โปรด​ให้​ท่าน​บริบูรณ์​ด้วย​ความ​ชื่น​ชม​ยินดี และ​สันติ​สุข​ใน​ความ​เชื่อ เพื่อ​ท่าน​จะ​ได้​เปี่ยม​ด้วย​ความ​หวัง​โดย​ฤทธิ์​เดช​แห่ง​พระวิญญาณบริสุทธิ์ (โรม 15:13 มตฐ.)
ใคร ๆ ก็ต้องการมีความหวัง และ ความชื่นชมยินดีในชีวิต   ให้เราอธิษฐานเพื่อคน ๆ นั้นของเราว่า “...ขอพระองค์โปรดเมตตา......    โปรดประทานความหวังแก่เขาท่ามกลางวิกฤติที่เขากำลังเผชิญหน้าในวันนี้.... ให้เขามีความหวังในพระองค์  เพื่อเขาจะได้ความชื่นชมยินดีจากพระองค์”
                                     
ข้าพเจ้าเพียรทูลขอให้พระเจ้า...ทรงให้ท่านมีพระวิญญาณแห่งสติปัญญาและการสำแดง  เพื่อท่านจะรู้จักพระองค์ดียิ่งขึ้น (เอเฟซัส 1:17 อมต.) 
ให้เราอธิษฐานเพื่อคน ๆ นั้นของเรา   “...ขอพระเจ้าโปรดประทานพระวิญญาณแห่งสติปัญญาแก่เขา   เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจที่ถูกต้องตามพระประสงค์ ”

ขอ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทรง​นำ​ใจ​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ให้​เข้า​ถึง​ความ​รัก​ซึ่ง​มา​จาก​พระ​เจ้า และ​ถึง​ความ​ทร​หด​อด​ทน​ซึ่ง​มา​จาก​พระ​คริสต์  (2เธสะโลนิกา 3:5 มตฐ.)
ท่ามกลางความสับสนมืดมนในชีวิตประจำวันของแต่ละคน   เราต้องการผู้ชี้นำทางชีวิตแก่เรา   ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายให้เราอธิษฐานเพื่อคน ๆ นั้นของเรา  “ขอพระเจ้านำทางชีวิตของเขาให้เข้าถึงความรักของพระองค์   และให้ได้รับความทรหดอดทนที่มาจากการหนุนเสริมของพระคริสต์”

ข้าพ​เจ้า​ทูล​ขอ​ให้​ประ​ทาน​ความ​เข้ม​แข็ง​ภาย​ใน​จิตใจ​ด้วย​ฤทธา​นุภาพ​ที่​มา​ทาง​พระ​วิญ​ญาณ​ของ​พระ​องค์​แก่​พวก​ท่าน (เอเฟซัส 3:16 มตฐ.)
ความทรหดอดทนแบบพระคริสต์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่มีจิตใจที่เข้มแข็งด้วยฤทธานุภาพจากพระวิญญาณ   ดังนั้น ให้เราทูลขอเพื่อคน ๆ นั้นของเรา  “...ในวันนี้ขอพระองค์โปรดช่วยให้เขาได้ตระหนักว่า   เขาไม่ได้อยู่ตัวโดดเดี่ยวคนเดียว   แต่พระองค์ทรงเคียงข้างเขา   และโปรดประทานจิตใจที่เข้มแข็งด้วยพลังจากพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เขา   ไม่ว่าเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากปานใดก็ตาม...”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

02 ตุลาคม 2558

เมื่อฉันล้มใครจะฉวยฉันไว้?

จน​กระ​ทั่ง​เจ้า​แก่ เรา​ก็​คือ​ผู้​นั้น
เรา​จะ​อุ้มชู​(ค้ำจุน)เจ้า​จน​เจ้า​ผม​หงอก
เรา​ได้​สร้าง(เจ้า) เรา​จะ​แบก(ฟูมพัก)​ไว้
เรา​จะ​อุ้มชู​และ​เรา​จะ​ช่วย​กู้(เจ้า) 
(อิสยาห์ 46:4 มตฐ.  ข้อความในวงเล็บสำนวน อมต.)

ในส่วนลึกแล้ว ผู้สูงอายุต้องการซึ่งกันและกัน!
ในช่วงวัยที่สูงอายุร่างกายคงไม่พัฒนาแข็งแรงขึ้นเหมือนวัยหนุ่มสาว  หรือ
เราคงไปหยุดความเสื่อมและอ่อนแรงของร่างกายไม่ได้  แม้เวลาชีวิตยังคงเคลื่อนต่อไปไม่หยุด
บางครั้งชีวิตในวัยนี้เกิดวิกฤติกระทันหัน
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า  ผู้สูงวัยอย่างเรา  จะสูงด้วยวุฒิภาวะที่จะไม่ยอมหลีกลี้หนีจากวิกฤตินั้น

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น  ผ่านวันเวลามากขึ้น  พูดง่าย ๆ แก่มากขึ้น
ชีวิตฉันก็เชื่องช้าลง   หลายส่วนอ่อนแรงลง   หัวเข่า ข้อต่อติดขัดบ่อยขึ้น
ฉันรู้ว่าฉันหลีกเลี่ยง หรือ หลบลี้ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้ตามกาลเวลาไม่ได้
เสียงภายในชีวิตกระซิบให้ฉันพัฒนาเพิ่มพูนความสงบสันติในชีวิตมากขึ้นต่อเนื่อง
ตอนนี้ ฉันถูกปลดปล่อย(หรือ ปลดออก)จากงานที่เคยทำประจำ  และ  ว่างเว้นจากสิ่งเดิม ๆ ที่เคยรับผิดชอบ

ฉันจินตนาการเห็นภาพผู้สูงวัยกำลังนั่งในเก้าอี้โยก ที่ระเบียงบ้าน
เขายอมเป็น ยอมทำ ตามสภาพชีวิตที่ธรรมชาติขับเคลื่อนเข้ามาในชีวิตของเขา
แต่ฉันว่า  ผู้สูงวัยไม่จำเป็นที่จะต้องมีชีวิตตามที่ว่านี้
แม้ความเสื่อมถอยจู่โจมเข้ามาในชีวิตของเรา  
เราก็ยังจะมีชีวิตที่ต้องเคลื่อนไปเช่นนั้น ไปอีกระยะหนึ่ง  อาจจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นหรือยาว
แล้วการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่ก็จะคืบคลานเข้ามาหาเรา

ความสงบ นิ่ง สันติสุข
จะมีความสงบ สันติ และความนิ่ง เกิดขึ้นในชีวิตของเราได้อย่างไรเมื่อชีวิตยังมีความรู้สึก
แต่ความเจ็บปวดด้วยจิตใจที่รักเมตตากรุณาจะเดินเคียงข้างด้วยความชื่นชมยินดี

สิ่งที่ผู้สูงอายุกลัวนักกลัวหนาในชีวิตวัยนี้คือ กลัวที่จะล้มลง   ในที่นี้หมายถึงการล้มลงของร่างกาย  เช่น การลื่นหกล้มในห้องน้ำ   ทำให้กระดูกซี่โครงร้าว หรือ หัก   ต้องนอนพักฟื้นเป็นเวลานาน  

แต่อย่างไรก็ตาม   สิ่งที่กลัวมากกว่านี้ในผู้สูงอายุคือ   ในขณะที่ตนกำลังจะล้มลง หรือ จะพลาดพลั้งไปในชีวิต   จะมีใครหรือไม่ที่อยู่เคียงข้างแล้วช่วยคว้าช่วยฉุดยึด  หรือ ค้ำจุนพยุงเราไว้ไม่ให้ล้มหรือไม่   และกลัวว่าชีวิตของตนเองจะเข้าสู่สภาพที่ไม่สามารถที่จะช่วยตนเองได้

ผู้สูงอายุกลัวอีกว่า   เมื่ออายุสูงขึ้น ๆ  ไม่มีใครที่จะมาดูแลตนได้   ต้องถูกส่งเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา  ที่ต้องพึ่งพิงคนดูแลในสถานที่นั้น   และต้องพึ่งพิงเครื่องมือต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตอยู่   แล้วชีวิตของตนจะเป็นอย่างไร

แต่ในสภาพชีวิตเช่นนี้ที่ขาดที่พึ่ง หาที่เกาะยึดในชีวิตไม่ได้   เราต้องระลึกและตระหนักชัดเสมอว่า   เราสามารถพึ่งพิงและเกาะยึดองค์พระผู้เป็นเจ้าได้   ผู้เผยพระวจนะ โฮเชยา ได้ให้ภาพแห่งการเลี้ยงดูเอาใจใส่  เอฟราอิม หรือ อิสราเอล เหมือนพระเจ้าทรงเลี้ยงดูเอาใจใส่เด็กที่สะดุดและล้มลงง่าย แต่พระเจ้าทรงอุ้มอิสราเอลที่ล้มลงขึ้นใหม่ (โฮเชยา 11:3-4)  ดังนั้น  จงไว้วางใจว่า พระเจ้าจะทรงค้ำจุนเราเมื่อแก่ตัวลง   เราสามารถที่จะพึ่งพิงในพระคุณของพระองค์   และที่จะทรงเป็นกำลังชีวิตแก่เราในแต่ละวันได้

ในวัยที่อายุกำลังสูงหรือเพิ่มมากขึ้น   ข้อพระคัมภีร์ที่ย้ำเตือนและเป็นกำลังใจเสมอคือ
พระ​เจ้า​ผู้​ดำรง​เป็น​นิตย์​เป็น​ที่​อาศัย​ของ​ท่าน
และ​พระ​กร​นิรันดร์​รอง​รับ​ท่าน​อยู่...
(เฉลยธรรมบัญญัติ 33:27 มตฐ.)

พระกรนิรันดร์ของพระเจ้า  
เป็นพระหัตถ์แห่งการค้ำชูหนุนเสริมสำหรับทุกคน ทุกวัย  
ไม่ว่าเราจะมีอายุแค่ไหนก็ตาม

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

01 ตุลาคม 2558

วันนี้ท่านทำอะไรแก่พระคริสต์บ้าง?

แล้ว​พระ​มหา​กษัตริย์​จะ​ตรัส​ตอบ​ว่า
เรา​บอก​ความ​จริง​กับ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ว่า
ซึ่ง​พวก​ท่าน​ได้​ทำ​กับ​คน​ใด​คน​หนึ่ง​ที่​เล็ก​น้อย​ที่​สุด​ใน​พี่​น้อง​ของ​เรา​นี้
ก็​เหมือน​ทำ​กับ​เรา​ด้วย’  (มัทธิว 25:40 มตฐ.)

คริสตจักรคือพระกายของพระคริสต์

เมื่อคริสตชนดำเนินชีวิตประจำวันในพระคริสต์   หมายความว่า สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนทำสิ่งต่าง ๆ แก่คนรอบข้างอย่างที่พระคริสต์ประสงค์จะกระทำแก่คนเหล่านั้น   หรือทำอย่างที่พระคริสต์ทรงกระทำเมื่อครั้งที่พระองค์ดำเนินชีวิตบนผืนแผ่นดินโลกนี้  

กล่าวสรุปคือ คริสตชนคือคนที่ดำเนินชีวิตประจำวันสานต่อพระราชกิจที่พระคริสต์ได้กระทำแล้วบนโลกใบนี้   และนี่เองมิใช่หรือเราจึงเรียกชุมชนคริสตจักรว่าเป็น “พระกายของพระคริสต์”   ที่มีพระองค์เป็นศีรษะ   ที่อวัยวะทุกภาคส่วนทำหน้าที่ทำงานตามศักยภาพความสามารถที่ได้รับจากพระเจ้า   ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระคริสต์   และเวลาเดียวกันที่เปาโลเรียกชีวิตคริสตชนว่า “ชีวิตในพระคริสต์”   คือชีวิตที่ทำการสานต่อจากงานที่พระคริสต์ทรงเริ่มต้นไว้นั้น

ถ้าพระคริสต์อยู่กับเรา อยู่กับคริสตจักรไทยในวันนี้   พระเยซูคริสต์จะทำอะไรบ้าง?

แน่นอนว่า  พระคริสต์ในฐานะพระบุตรของพระเจ้า มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดาเจ้า   พระองค์จะใช้ชีวิตแต่ละวันของพระองค์เพื่อสำแดงความรักเมตตาตามพระประสงค์ของพระเจ้า   พระองค์จะร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างกับ “ผู้เล็กน้อย” ในชุมชนสังคมโลกปัจจุบันนี้ เช่น

คนแปลกหน้าได้รับการต้อนรับ   คริสตชนมองเห็นและกระทำต่อคนเหล่านี้อย่างมีคุณค่า
คนหิวโหยได้รับการเอาใจใส่และได้รับอาหาร
คนกระหายได้รับน้ำใจและเครื่องดับกระหาย (ข้อ 35)
คนที่ไร้เสื้อผ้าได้รับการห่มกายให้อบอุ่น
คนเจ็บป่วยว้าเหว่ได้รับการเยี่ยมเยียนเอาใจใส่
นักโทษคนชั่วในสายตาของสังคมได้รับการเยี่ยมเยียน ได้รับความสัมพันธ์ใหม่ และคุณค่าในชีวิต(ข้อ 36)

ขอตั้งข้อสังเกตว่า  พระคัมภีร์ตอนนี้ไม่ได้นั่งวิเคราะห์หาสาเหตุว่า  ทำไมเขาต้องติดคุกต้องขัง   ทำไมเขาถึงหิวโหยและกระหาย   ทำไมเขาถึงเปลือยเปล่าหมดเนื้อหมดตัว   ทำไมเขาถึงกลายเป็นคนแปลกหน้าของสังคม   ทำไมเขาถึงต้องเจ็บป่วย   พระเยซูคริสต์มิได้พยายามอธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมผู้เล็กน้อยเหล่านี้ถึงตกสู่สภาพชีวิตวิกฤติเช่นนี้   แต่สิ่งที่พระคริสต์กำลังกล่าวในที่นี้กำลังบอกกับคริสตชนหรือคริสตจักรว่า   เราจะมีท่าทีและกระทำอย่างไรกับคนที่กำลังได้รับผลกระทบทางโลกในสังคมชุมชนในปัจจุบันนี้

คริสตชนหลายคนคงแปลกใจอย่างมากว่า   เมื่อเขากระทำต่อผู้เล็กน้อยเหล่านี้   แม้พวกเขาไม่เห็นพระเยซูอยู่ที่นั่นก็ตาม   แต่พระคริสต์ได้อธิบายแก่คริสตชนกลุ่มนี้ว่า   การที่พวกเขาทำอะไรแก่คนเล็กน้อยด้อยค่าในสายตาของสังคมโลก   พวกเขาได้กระทำแก่พระเยซูคริสต์ด้วย (ข้อ 40)  

ทำไมคริสตชนกลุ่มนี้ถึงไม่รู้ว่าเขาทำแก่พระเยซูคริสต์ด้วย?   เพราะคริสตชนกลุ่มนี้กระทำงานเหล่านี้ในชีวิตประจำวันด้วยความจริงใจ   ช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นรอบข้างด้วยความตั้งใจเต็มใจ   มิได้ทำเพราะต้องการให้พระเจ้าพอพระทัยชีวิตของตนเอง   มิใช่เพราะต้องการเก็บ “คะแนน” หรือผลงานเพื่อจะนำไปรายงานต่อหน้าพระเจ้าในวันที่ต้องอยู่ต่อพระพระพักตร์พระองค์?   และที่เขาทำเช่นนี้มิใช่เพราะต้องการทำดีในสายตาของมนุษย์และพระเจ้า   แต่ที่ทำเช่นนี้เพราะเขาสำนึกในพระคุณของพระคริสต์ที่ทรงมีพระคุณต่อชีวิตของเขามาก่อน   ดังนั้น การกระทำเช่นนี้กลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันที่ต้องการสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์บนผืนแผ่นดินโลกนี้

ในด้านตรงกันข้ามของสัจธรรมข้อนี้  คือถ้าคริสตชนละเลย หรือมองข้ามไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน   เขาก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำแก่พระคริสต์ในชีวิตประจำวันด้วย (ข้อ 42-45)   และการที่ไม่กระทำในสิ่งที่คริสตชนพึงกระทำก็ถือว่าเป็นความบาปพอ ๆ กับการกระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำด้วย (ดูยากอบ 2:16)

เมื่อเรากระทำสิ่งต่าง ๆ แก่คนเล็กน้อยด้วยความตั้งใจและเต็มใจ   พระเจ้าทรงมองว่าเราได้กระทำสิ่งเหล่านั้นต่อพระคริสต์   และในเวลาเดียวกันที่เราละเลยทอดทิ้งคนที่เราจะต้องเอาใจใส่   เราก็ได้ทอดทิ้งและละเลยพระคริสต์ในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ถ้าวันนี้ตอนเย็นก่อนนอน พระคริสต์ถามท่านว่า “วันนี้ท่านได้กระทำอะไรแก่เรา?”   ท่านจะตอบพระองค์ว่าอย่างไร?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499