26 เมษายน 2554

นักบริโภคนิยม หรือ ผู้สร้างศานติ

เป็นคนตามกระแสโลก หรือ เป็นประชาชนของพระเจ้า

คริสเตียนจะต้องเลือกระหว่างเส้นทางชีวิตที่ติดตามกระแสสังคม หรือ กระแสนิยมในปัจจุบัน ที่รวมความเรียกว่า “ผู้บริโภคนิยม” กับ การติดตามกระแสคุณค่านิยมแบบพระเยซูคริสต์ ยอมตนมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าภายใต้การครอบครองของพระคริสต์ ที่รวมความเรียกว่า “ผู้สร้างศานติ”

คริสเตียนจะต้องดำเนินชีวิตในโลกนี้ แต่ต้องเลือกว่า จะเป็นคนของโลก หรือ เป็นคนของพระคริสต์ จะติดตามกระแสทันสมัยแห่งโลกนี้ หรือ ติดตามพระคริสต์ตามวิถีชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

คริสเตียนที่ตกลงในกับดักของ “บริโภคนิยม” คือคนที่แสวงหาความสุข ความพออกพอใจ และผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ(จากภายนอก)เพื่อสนองต่อความต้องการ(ภายใน)ของตนเองอย่าง “เห็นแก่ตน” ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เพื่อตนเองจะได้ จะมีอำนาจในตนเอง จะมีอำนาจเหนือคนอื่น จะมีสถานภาพเท่าเทียมกับพระเจ้า ดั่งภาพของอาดัมและเอวาในสวนเอเดน แต่เสียงที่มาเชิญชวนกระตุ้นความอยากของทั้งสองคนนั้นซ่อนเร้นความจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญจากเขาทั้งสองคือ การได้รับความพึงพอใจ การได้ผลประโยชน์ในชีวิตของตนนั้น แลกกับตนต้องตกลงในวงจรอุบาทว์แห่งความหายนะของผู้เชิญชวนกระตุ้นนั้นโดยไม่รู้ตัว เฉกเช่นที่เราเห็นแล้วถึงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่ต้องตกเข้าอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ของวัตถุนิยม ทุนนิยม ปัจเจกนิยม ตามกระแสที่ดูสวยงามแห่งบริโภคนิยมปัจจุบัน

กระแสบริโภคนิยม ที่ถาโถมเข้าในชีวิตและสังคมโลกปัจจุบันนี้เป็นกระแสอิทธิพลเงียบที่แฝงเร้นในรูปแบบของการมีชีวิตที่ทันสมัย ที่มุ่งเน้นให้แต่ละคนสนใจที่จะไขว่คว้าหาสิ่งที่จะเอื้ออำนวยความสุขจากภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการอยากได้ภายในชีวิตของตน ที่สำคัญคือผู้คนในกลุ่มนี้สนใจแต่สิ่งที่จะตอบสนองความอยากได้ใคร่มีภายในชีวิตของตนเอง แต่ละเลย ไม่สนใจต่อความเป็นตัวตนแท้จริงที่เป็นอยู่ภายในตนเองในขณะนี้

ดังนั้น คนในกระแสบริโภคนิยมจึงไม่สนใจที่จะตรวจสอบชีวิตภายในของตนเอง ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่ว้าวุ่น สับสน เจ็บปวด สิ้นหวัง แต่กลับแสวงหาสิ่งที่จะมาทำให้เกิดความแตกต่าง สร้างความเพลิดเพลิน หรือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตไม่ว่างเปล่า หาสิ่งจากภายนอกมาเติมเต็มแทนที่ด้วยเสียง กิจกรรมต่างๆ และสิ่งของต่างๆ เพื่อที่จะกลบเกลื่อน หลีกลี้จากการที่ต้องขบคิดใคร่ครวญอย่างจริงจัง และการสะท้อนคิดในชีวิตของตนเอง
ผู้คนในกระแสบริโภคนิยมแสวงหาสภาพแวดล้อมชีวิตที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แสวงหาสิ่งของ ประสบการณ์ต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของตนเอง ผู้คนกลุ่มนี้เลือกรูปแบบชีวิตที่ทันสมัย ระบบชีวิตที่กำลังเป็นที่นิยม และไขว่คว้าที่จะครอบครองสิ่งต่างๆ มิใช่เพราะชื่นชอบพอใจในความงามหรือสุนทรียะของสิ่งเหล่านั้น แต่เพื่อต้องการทำให้ตนเองตามทันมาตรฐานคุณค่าของกระแสนิยมตามภาพลักษณ์ต่างๆ ในเวลานั้นๆ เพื่อหวังจะให้เป็นคนที่คนอื่นยอมรับและชื่นชอบ

คนที่อยู่ในกระแสบริโภคนิยม แสวงหาประสบการณ์ ที่จะทำให้ตนมีภาพลักษณ์เป็นเหมือนคนที่เขาคิดว่าทันสมัย ที่เขาชื่นชอบ อยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นเหมือนคนดังในเวลานั้นๆ นี่เป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้ผู้บริโภคนิยมสนใจทุ่มเทติดตามความโด่งดังทันสมัย เพื่อต้องการให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนหนึ่งในคนกลุ่มนั้น เป็นการแข่งขันสร้างตนในกิจกรรมเลียนแบบชีวิตที่ไร้เป้าหมายและว่างเปล่า เพียงเพื่อต้องการทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น สิ่งเหล่านี้พบเห็นได้ในเยาวชนวัยรุ่นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และในกลุ่มอนุชนคริสตจักรด้วย (ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็มีไม่น้อยเลย)

เนื่องด้วยผู้บริโภคนิยมมักมีชีวิตที่ฉาบฉวย บ่อยครั้งสัมพันธภาพที่มีต่อกันจึงเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถลงลึกถึงความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าและความหมายในชีวิต ยิ่งกว่านั้น คนในกลุ่มบริโภคนิยมจะหมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองถูกรุมเร้าให้สนใจ น่าสนใจว่าผู้คนในกลุ่มบริโภคนิยมจะมองเรื่องผู้คนในลักษณะเครือข่ายสัมพันธ์ ที่มีเป้าหมายปลายทางเพื่อความต้องการที่เห็นแก่ตัวของตนเอง น่าเศร้าใจว่า ในปัจจุบันนี้คนไทยตั้งแต่พี่น้องชาติพันธุ์กระทั่งผู้คนทันสมัยส่วนใหญ่ในเมืองตกอยู่ใต้อิทธิพลความเข้าใจตนเองและสังคมบนรากฐานของบริโภคนิยม เราจึงสามารถเห็นความสัมพันธ์บนรากฐานบริโภคนิยมดาษดื่นทั่วไป ไม่ว่าในชุมชนหมู่บ้าน ในองค์กรสถาบัน ในหมู่นักการเมืองการปกครอง ตั้งแต่ อบต.ถึงรัฐสภาฯ ตลอดจนรัฐบาลที่บริหารประเทศ ทั้งในคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรภูมิภาค หรือ องค์กรคริสตจักรระดับชาติต่างก็ถูกอิทธิพลแบบบริโภคนิยมดูดกลืนไปมากต่อมากแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมในฐานะ “ผู้สร้างศานติ” จากภายในตนเอง แทนการเลียนแบบบุคลิกชีวิตจากภายนอก คนกลุ่มนี้มุ่งมั่นตั้งใจในการเสริมสร้างพัฒนาตัวตนจากภายในสู่ภายนอก ผู้สร้างศานติคือกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ให้เกิดผลในชีวิตของผู้คน คนกลุ่มนี้จะไม่มองสิ่งต่างๆ เป็นเพียงเพื่อจะครอบครอง ยึดกุม และมองผู้คนว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย แต่เขาจะกลับมุ่งมองว่าสิ่งเหล่านั้นและผู้คนทั้งหลายมีศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์สังคมโลกได้เช่นไร และเขาเชื่อและปรารถนาในสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์เป็นเป้าหมายปลายทาง ผู้สร้างศานติคือนักคิด พวกเขาจะสะท้อนคิดจากภายในของตนเองและกับสภาพแวดล้อมรอบข้างชีวิตของตน เป็นผู้กระหายอยากรู้ว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นไปเช่นนี้ แล้วจะมีหนทางใดบ้างไหมที่จะแก้ไขพัฒนาตามที่จำเป็น ผู้สร้างศานติคือผู้ที่พยายามค้นหาให้พบว่าอะไรคือความจริงแท้อะไรคือสัจจะ การกระทำอะไร เช่นไรที่จะสร้างเสริมสิ่งที่ดี ที่จะนำมาซึ่งความดีงาม

มีน้ำหนักมากพอที่จะกล่าวว่า คริสเตียนควรจะเลือกการเป็น “ผู้สร้างศานติ” แทนการเลือกเป็น “ผู้บริโภคนิยม” แต่การกล่าวเช่นนี้หมายความอะไรกันแน่? ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึงคริสเตียนผู้สร้างศานติในความหมายของพระคัมภีร์คือ ผู้ที่นำเอา “สันติสุข” หรือ “ชาโลม” (shalom) เข้ามายังโลกใบนี้ คำว่า “ชาโลม” เป็นภาษาฮีบรูมีความหมายตามพระคัมภีร์ว่า การกระทำความยุติธรรม คำว่า “ชาโลม” เป็นหลักคิดที่รุ่มรวยเข้มข้นเป็นการเข้าใจโลกที่เกี่ยวข้องครอบคลุมในทุกมิติทุกสัมพันธภาพในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แสดงออกถึงอุดมคติที่มีต่อทั้งชีวิตของอิสราเอลและชีวิตของทั้งโลก คำว่า “ชาโลม” มีความหมายครอบคลุมถึงสุขภาวะ การอยู่ดีมีสุขของแต่ละคน (สดุดี 38:3 การทำบาปทำให้สูญเสีย “ชาโลม” คือความแข็งแรงของสุขภาพ) มีความหมายถึง สวัสดิภาพ หรือ ความมั่นคงปลอดภัย (ปฐมกาล 15:15) ความรุ่งเรืองมั่งคั่ง และ มีสัมพันธภาพอันดีกับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งในโลก (โยบ 5:18-26) ทำให้ลุล่วงสำเร็จด้วยการบากบั่นพยายาม (ผู้วินิจฉัย 18:5; 1ซามูเอล 1:17) กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ชาโลม” คือพระพรจากพระเจ้าเพื่อเราจะมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนครบ ทั้งในระดับส่วนตนและในระดับสังคมโลกด้วย

ในฐานะประชากรของพระเจ้า เราได้รับการทรงเรียกจากพระองค์ให้เป็นผู้ทำพันธกิจแห่ง “ชาโลม” คือผู้สร้างสันติ (มัทธิว 5:9) เพื่อที่จะนำและกระทำให้ นิมิต หรือ พระประสงค์ของพระเจ้าให้เป็นจริงเป็นรูปธรรมในแผ่นดินโลกนี้ เราทำพันธกิจนี้ด้วยสองแนวทางด้วยกันคือ แนวทางแรก เราจะเสริมสร้าง “ชาโลม” ในชีวิตคริสตจักร ด้วยการมีชีวิตที่หนุนเสริมร่วมไม้ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเอื้ออำนวยและตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของกันและกัน เอาใจใส่เกื้อกูลหญิงหม้าย ลูกกำพร้า ผู้เจ็บป่วยทนทุกข์ ยอมรับและแบกภาระของกันและกัน และ ฯลฯ แนวทางที่สอง การประกาศถึงนิมิตหมายแห่งแผ่นดินของพระเจ้า กระทำทุกวิถีทางที่จะให้เกิดการคืนดีกันในทุกมิติของโลกนี้ตามพันธกิจที่พระคริสต์ทรงมอบหมายแก่เรา (โคโลสี 1:20) สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่พระเยซูคริสต์ทรงหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสสอนว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน” ?(มัทธิว 6:33 คือการ มุ่งที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นเป้าหมายอันดับแรกของผู้เชื่อทุกคน)

แผ่นดินของพระเจ้าได้ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องตามลำดับ เป็นแผ่นดินที่สถาปนา “ชาโลม” ศานติ กล่าวคือเป็นสังคมชุมชนที่มีระบบระเบียบชีวิตที่เหมาะสม มีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กันและกัน และเป็นชุมนุมชนที่หนุนสร้างให้เกิดการคืนดี เป็นชุมชนที่ห่วงใยเอาใจใส่กันและกัน อย่างไรก็ตามพันธกิจเช่นนี้ได้ถูกลดค่าและลดส่วนจากผู้ที่เรียกตนเองว่าคริสเตียนทั้งการตีความหมายของพระกิตติคุณ และ การกระทำสิ่งที่ดีในแนวทางของคริสเตียน ที่สำคัญที่สุดคือ การเป็นคริสเตียนที่ “สร้างศานติ” ให้เกิด “ชาโลม” บนโลกใบนี้ไม่สามารถที่จะแยกส่วนออกจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เป็นส่วนที่ขาดเสียมิได้และเป็นส่วนพลังสำคัญในพระกิตติคุณ (ยอห์น 13:35; 17:20-23; 1เปโตร 2:12, 15-17)

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้บริโภคนิยมได้ละเลยการเอาใจใส่ชีวิตภายในของตนเองในขณะที่ชีวิตภายในเต็มไปด้วยความว้าวุ่นรำคาญ หรือ สนุกสนานบันเทิง สำหรับคริสเตียนแล้วจะต้องจัดเตรียมให้มีพื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับพระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา ผ่านทางการอธิษฐาน การมีเวลาที่จะอยู่คนเดียวกับพระเจ้า ในการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ภาวนา เพื่อที่จะรับการสร้างใหม่จากพระเจ้า เพื่อที่จะมีบุคลิกชีวิตตามแบบพระคริสต์ แทนการที่ลอกเลียนแบบชีวิตตามแบบคนที่ตนปรารถนา คริสเตียนมิได้มีชีวิตเพื่อตนเอง แต่คริสเตียนกระทำสันติ “ชาโลม” ในทุกชีวิตที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และ เสริมสร้าง “ชาโลม” ในชุมชนที่เราเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย และนี่คือภารกิจเดียวกันกับพวกอิสราเอลที่ตกไปเป็นเชลยศึกในแผ่นดินบาบิโลน พระเจ้าทรงเรียกอิสราเอลเชลยศึกเหล่านี้ให้เป็นผู้สร้างศานติในแผ่นดินบาบิโลนว่า “ทั้งจงบากบั่นเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของนครซึ่งเราให้เจ้าตกไปเป็นเชลยนั้น จงอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อนครนั้น เพราะหาก(เขา)มันเจริญเจ้าก็จะเจริญด้วย” (เยเรมีย์ 29:7 อมตธรรม) การทรงเรียกของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตามคือการทรงเรียกให้เราแสวงหาและสร้างเสริม “ชาโลม” ศานติสุขในชุมชนนั้นๆ ที่เราอยู่ด้วย นี่รวมความถึงการสร้างเสริมระบบระเบียบในความสัมพันธ์ของเราในครอบครัว ในคริสตจักรของเรา ในที่ทำงานของเรา ในโรงเรียนที่เราเรียนหรือทำงาน ในชุมชน ในประเทศชาติ ในทุกเวลา ทุกที่ ทุกโอกาสที่เราจะเสริมสร้างเอื้ออำนวยให้เกิดศานติสุขได้

ขอยอมรับตรงๆ ว่า ไม่เป็นการง่ายเลยที่เราจะตัดสินใจและลงมือที่จะแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และ ทำการขับเคลื่อนเสริมสร้าง “ชาโลม” ในชุมชนนั้นก่อนชีวิตการงานที่เราต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตนเองต้องติดกับดักในวงจรอุบาทว์ของบริโภคนิยม เวลาที่คิดหาทางหลีกเลี่ยงการเป็นผู้สร้างศานติสุข เป็นที่น่าเสียใจจริงๆ ว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราสนใจแต่ศานติสุขของเราเอง สนใจแต่ความสะดวกสบาย สวัสดิภาพของตนเอง มากกว่าการทำงานเสริมสร้างศานติในชีวิตผู้คนที่พบปะสัมพันธ์ และ ในชีวิตชุมชนที่ตนอยู่ด้วย หรือ องค์กรที่เราทำงานด้วย แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เล็กน้อย กล่าวคือคิดถึงสิ่งที่ตนสนใจให้น้อยลง แต่ให้ความสนใจและเอาใจใส่ชีวิตของพระคริสต์และความสนใจของพระองค์เป็นหลักและมากขึ้น เมื่อตอนเริ่มต้นมีชีวิตเช่นนี้เราอาจจะดูเหมือนว่าเรากำลังสูญเสีย แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามที่พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นเช่นนั้น แล้วทำให้เราเป็นคนที่มีชีวิตตามพระประสงค์ ที่มีสันติสุข สวัสดิภาพ และ กำลังใจที่แท้จริงที่เราได้ประสบพบ (ยอห์น 14:27) เราดำเนินบนวิถีทางนี้ด้วยความเชื่อศรัทธา และเมื่อเราต้องเผชิญความยากลำบากเราจะเห็นถึงการทรงหนุนช่วยและเสริมเพิ่มความเชื่อศรัทธาแก่เรา และเรายังปล้ำสู้อยู่บนเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่เราต้องเดินไปไม่มีทางอื่นให้ “เบี่ยง” หรือหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเรารักพระคริสต์อย่างจริงใจ ให้เราเข้าร่วมในกระบวนการแสวงหา เคาะ และขอจากพระเจ้าผู้ประทานในสิ่งที่เราขาดทั้งในความเชื่อและความสามารถ

ในที่สุดนี้ อยากจะบอกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่า ในเป้าหมายปลายทาง เราจะไม่ได้พบสิ่งดีในการเข้าไปเป็น “ผู้บริโภคนิยม” เราจะพบแต่ความว่างเปล่า ไร้จุดหมายในชีวิต มิใช่ชีวิตที่เป็นพระประสงค์ การที่เราจะเป็น “ผู้สร้างศานติ” ที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน เปลี่ยนแปลงการใช้กำลังอำนาจ และการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และเสริมสร้างโครงสร้างสังคมด้วยความรักของพระเจ้าด้วย “ศานติ” นั้น เราต้องยอมมอบกายถวายชีวิตจิตวิญญาณของเราแด่พระคริสต์ ยอมถ่อมตนในคริสตจักร และสนใจเอาใจใส่ผู้คนรอบข้างด้วยความรักของพระองค์

เรียบเรียงและสะท้อนคิดจากบทความของ S. Michael Craven
เรื่อง Consumers or Creators: Being of the World or Being God’s People

24 เมษายน 2554

ลักษณะเด่นแท้ 7 ประการของผู้นำ

คงเป็นการไม่ง่ายนักที่จะดับลดความหยิ่งยโสในตัวผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเขาคนนั้นได้ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่ง “ผู้นำ” แต่ถ้าผู้นำคนใดที่จะภูมิอกภูมิใจในการเป็นผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนแล้ว ผู้นำคนนั้นน่าชื่นชมน่าคบหาเป็นอย่างยิ่ง

ผู้นำเด่นๆ ส่วนใหญ่มักเป็นคนที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มีพรสวรรค์ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่คนในกลุ่มนี้ที่น้อยคนนักจะสามารถควบคุมตนเองให้เป็นผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะของการถ่อม แต่ผู้นำส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงลืมตัวเลือกคุณสมบัติของการวางตัวเป็นใหญ่แสดงอำนาจ ทั้งนี้เพราะ ผู้นำหลายคนที่มีมุมมองที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน มองว่าการนอบน้อมถ่อมตนเป็นความอ่อนแอ หรือเป็นลักษณะของคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่เด็ดขาด จริงจัง แต่ในความเป็นจริงแล้วการนอบน้อมถ่อมตนเป็นสุดยอดของปัญญา และ เป็นความมั่นใจที่นิ่งสงบที่แท้จริง

ผมมีโอกาสได้อ่านข้อเขียนของ John C. Maxwell ท่านได้ให้ข้อแนะนำ 7 ประการของลักษณะผู้นำที่น่านับถือ จึงขอเก็บความและเรียบเรียงแบ่งปันกันอ่านในที่นี้

1. เป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบ
ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนพร้อมเสมอที่จะมีรับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เมื่อมีสิ่งผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้นำประเภทนี้จะพิจารณาอย่างเป็นระบบเจาะลึกเข้าไปใน “กึ๋น” ของความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาให้เข้าใจว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอื่นใดไหมที่จะไม่ล้มเหลว มากกว่าที่จะมุ่งมองภายนอกรอบข้างเพื่อหา “แพะ” รับผิด ผู้นำประเภทนี้เต็มใจยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นความผิดพลาดของตน ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนจะรีบแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่รีรอให้มีใครคนอื่นเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหา

2. เป็นผู้ที่ยึดความจริงเป็นที่ตั้ง
Ezara Taqft Benson เคยกล่าวไว้ว่า “คนยโสโอหังสนใจแต่ใครทำถูก คนนอบน้อมถ่อมตนสนใจว่าอะไรที่ถูกต้อง” ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนมิได้ติดยึดอยู่กับความคิด และ แผนงานของตนเองว่าสำคัญที่สุด เขาจะไม่ดื้อรั้นยืนกรานตามแนวทางวิธีการของตนเท่านั้น แต่เขาเปิดใจกว้างและมุ่งมองหาแนวทางที่มีเหตุและผลของการดำเนินการ ไม่ขึ้นอยู่กับว่าความคิดนั้นเป็นของใคร

3. เป็นผู้ที่เปิดใจเปิดความคิด
ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนตระหนักและสำนึกเสมอว่า มีอีกมากมายหลายสิ่งหลายเรื่องที่ตนยังไม่รู้ เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น เร็วทั้งในการฟังและเรียนรู้ มั่นใจและรู้เท่าทันในความสามารถของตนเอง ไม่หวั่นกลัวต่อข้อเสนอของผู้อื่น มิเพียงแต่เปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือ การสะท้อนกลับ เขายังเป็นผู้นำที่วอนขอให้คนรอบข้างช่วยสะท้อนคิดในสิ่งที่ตนทำแบบตรงไปตรงมาด้วย

4. เป็นผู้ที่ยืดหยุ่น
คุณสมบัตินี้ตรงกันข้ามกับผู้นำที่ยโสโอหัง ที่เป็นคนที่ติดยึด คับแคบ แข็งทื่อ ตายตัว แม้จะพบว่าการดำเนินการขับเคลื่อนที่ผ่านมาชี้ชัดว่ามันไม่เกิดผลก็ยังดื้อรั้น ยึดมั่นตายตัวในสิ่งที่ทำมา แต่ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนเป็นผู้ที่ไวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณความผิดพลาดคลาดเคลื่อนปรากฏ ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนจะไม่หวั่นใจกับคำครหาที่จะเกิดขึ้น ไม่กลัวที่จะยอมรับถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตน แล้วรีบปรับเปลี่ยนยุทธวิธีให้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว

5. เป็นผู้ที่กระตุ้นดลใจ
ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนนั้นชื่นชมในผู้คน เมื่อใดที่เกิดความสำเร็จ เขาจะไม่รีรอที่จะฉายชี้ให้เห็นว่าเป็นความสำเร็จของบุคคลต่างๆ เป็นผู้ที่สำนึกเสมอว่า เขาต้องพึ่งพิงคนรอบข้างในการทำงาน และเป็นคนที่แสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณต่อการช่วยเหลือสนับสนุนของทีมงาน ด้วยท่าทีที่ขอบคุณและเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงานเช่นนี้เองที่เป็นการดลจิตชูใจให้ทีมงานมีกำลังใจในการทำงานร่วมกัน

6. เป็นผู้ที่ให้การนับถือคนรอบข้าง
ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนเห็นว่าชีวิตของเพื่อนร่วมงานสำคัญกว่าตัวเขาเอง และเพิ่มเสริมคุณค่าแก่ชีวิตของเพื่อนร่วมงานด้วยการรับใช้คนเหล่านั้น ด้วยการอุทิศตนเพื่อก่อเกิดความสำเร็จตัวเพื่อนร่วมงาน เขาให้การความนับถือเพื่อนร่วมงานของตน ผู้นำจึงได้รับการยอมรับ นับถือ และความจงรักภักดี

7. เป็นผู้ที่สร้างโยงใยสัมพันธ์
ผู้นำที่นอบน้อมถ่อมตนยึดมั่นในสัจจะที่ว่า “ร่วมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย” ผู้นำเช่นนี้รู้ชัดแจ้งว่า วิสัยทัศน์ของตนจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่โยงใยสัมพันธ์เข้ากับแต่ละคนในทีมงานด้วยกัน ดังนั้น เขาจึงเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาร่วมและช่วยกันผลักดันงานให้ถึงเป้าหมาย ผู้นำเช่นนี้มองว่า ชีวิตนี้มิได้มีไว้สำหรับเกียรติยศ ชื่อเสียงส่วนตัว แต่กลับมองว่าทุก ชีวิตต่างจาริกร่วมกันไปบนเส้นทางเดียวกัน ไปสู่จุดหมายร่วมกัน บรรลุความสำเร็จด้วยกัน

เก็บความและเรียบเรียงจากข้อเขียนของ John C. Maxwell
เรื่อง Seven Hallmarks of a Leader

19 เมษายน 2554

คริสตจักร: ชุมชนแห่งการเยียวยารักษา

คริสตจักรของพระเยซูคริสต์ควรจะเป็นชุมชนแห่งการเยียวยารักษาบาดแผลแห่งชีวิต สามัคคีธรรมที่เรามีต่อกันควรจะเป็นกระบวนการเลี้ยงดู ฟูมฟัก เป็นการเติมเต็มชีวิตแก่กันและกัน มิใช่ชุมชนมีกลิ่นคละคลุ้งด้วยใจพยาบาทคิดร้าย เป็นชุมชนที่คอยจับจ้องที่จะทำการล้างแค้น เคยมีผู้กล่าวว่า คริสตจักรเป็นสถาบันชนิดเดียวที่ยิ่งเหยียบซ้ำย่ำบาดแผลเดิม... น่าเศร้าอย่างยิ่งครับ ที่ต้องสารภาพว่า บ่อยครั้งที่คริสตจักรทำตัวเช่นนั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นเช่นนี้เลย

ให้เราถอดบทเรียนจากธรรมชาติ ลองพินิจพิจารณาต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “ซิไคว” (Sequoia tree) “ซิไคว เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมานมนานแต่โบราณ และที่สำคัญคือเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง มันเป็นต้นไม้ที่สูงตระหง่านพุ่งตรงเสียดแทงฟ้าเพราะมันมีรากหยั่งลึกประสานเกาะเกี่ยวกันอย่างหนาแน่น เปลือกไม้ของมันมีกลิ่นฉุน รสเปรี้ยว มีความเป็นกรดที่ขับไล่แมลงที่จะมากัดกินมัน มันยืนหยัดตระหง่านอย่างมั่นคงต้านลมพายุกระโชก และ ฝนที่ตกลงมาอย่างรุนแรง ที่มันยืนยงอยู่เช่นนี้ได้เพราะต้น “ซิไคว” เป็นต้นใหญ่ที่เจริญเติบโตขึ้นท่ามกลางหมู่ไม้นานาพันธุ์ และรากของมันนอกจากหยั่งลึกลงดินแล้วมันยังงอกประสานสอดแทรกเข้ากับรากของต้นไม้อื่นๆ ที่อยู่ล้อมรอบมันอย่างแข็งแรง ถ้าพายุจะโหมกระหน่ำให้ต้นซิไควล้มครืนได้ นั่นหมายความว่าต้นไม้ทั้งภูที่ยึดเกาะสานรากเข้าด้วยกันต้องล้มระเนระนาดพร้อมกันไปทั้งภูเขาแน่

ถ้าคริสตจักรเติบโตแข็งแรงจากส่วนลึกของชีวิต คือจากรากที่หยั่งลึกลงในพระวจนะและพระประสงค์ของพระเจ้าด้วยสามัคคีธรรมที่มีในชุมชนคริสตจักร คริสตจักรควรเป็นชุมชนที่เปิดกว้างสำหรับผู้คนที่ได้รับบาดแผลเจ็บปวดในชีวิต ผู้คนที่เกิดความสับสนยุ่งเหยิ่งในชีวิตแต่ละวัน อ้าแขนเปิดรับคนที่ถูกกีดกันให้ตกไปอยู่ที่ชายขอบสังคม ถูกปล้นศักดิ์ศรีความเป็นคนที่พระเจ้าประทานให้ คริสตจักรเปิดประตูชีวิตออกรับคนที่หลงหาย คนที่ล้ม คนที่ถูกขับออกนอกสังคม คริสตจักรจะต้องนำคนเหล่านี้เข้ามาในครอบครัวของพระเจ้า คนที่ต้องทนทุกข์จะต้องได้รับการเอาใจใส่

ทำไมหรือ? เพราะพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่ในชีวิตของเราทั้งหลาย หนุนเสริมให้เราซึ่งเป็นคริสตจักรรู้จักที่จะรักกรุณาอย่างที่พระคริสต์ทรงรักและมอบชีวิตให้ผู้คน ด้วยการประสานเกาะเกี่ยวรากแห่งชีวิตของเรากับรากของผู้คนในสภาพหลากหลายเข้าเป็นแผงรากเดียวกันจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ได้ปกป้องให้คริสตจักรและผู้ยากไร้สามารถทนทุกข์ยืนหยัดตระหง่านในสังคมโลกนี้ได้ด้วยการมีรากฐานที่มีชีวิตที่สานเกาะเกี่ยวเข้าด้วยกันจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ รากแห่งชีวิตดังกล่าวที่หยั่งลงเพื่อดูดซับอาหารไปเลี้ยงต้นไม้แห่งคริสตจักรทั้งต้น และต้นไม้อื่นๆ ในสังคม และทำให้คริสตจักรและผู้ยากไร้ต่างได้สัมผัสกับรากฐานแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า แล้วเกาะประสานรากแห่งชีวิตเข้าด้วยกัน

อย่างที่เปาโลเคยเปรียบเทียบชีวิตของคริสตจักรว่าเป็นเหมือนร่างกายไว้ว่า 14เพราะว่าร่างกายมิได้ประกอบด้วยอวัยวะเดียว แต่ด้วยหลายอวัยวะ” (1โครินธ์ 12:14) และ คริสตจักรจะสานต่อพันธกิจจากพระเยซูคริสต์ และเหล่าอัครทูตในคริสตจักรสมัยเริ่มแรกแล้ว แน่นอนว่า จำเป็นที่คริสตจักรจะต้องเอาใจใส่ผู้เล็กน้อย คนด้อยโอกาส คนที่ถูกกีดกันและเหยียดหยามจากสังคมในสมัยนี้

อย่างเช่นในกิจการบทที่ 3 เปโตรและยอห์นเมื่อเข้าไปในพระวิหาร พบผู้คนมากมายหลายชนชั้น แต่ทั้งสองมุ่งหน้าเข้าไปหาชายง่อยที่ขอทานที่ประตูงาม และสานต่อพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในนามคริสตจักรของพระองค์ เพื่อชายง่อยขอทานคนนี้จะได้รับการเยียวยาบาดแผลในชีวิต และมีชีวิตร่วมในความรอด พบกับคุณค่าและความหมายของชีวิตที่ได้รับการเยียวยาจากชุมชนคริสตจักรในสมัยเริ่มแรก และได้รับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคริสตจักรด้วย

17 เมษายน 2554

เปลี่ยนบาดแผลในชีวิตเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า

ในยุคนี้ ผู้คนต่างพูดถึงชีวิตที่มีเป้าหมาย หรือ ชีวิตที่มีวัตถุประสงค์ แล้วคริสเตียนเชื่อและคิดเช่นนั้นหรือไม่? แน่นนอนทีเดียวคริสเตียนจะต้องมีเป้าหมายในชีวิตด้วย ถ้าไม่เช่นนั้นคงเป็นชีวิตที่แสนเชย มากกว่าเชยเสียอีกแต่จะกลายเป็นชีวิตที่ไร้ทิศทางที่จะมุ่งไป เป็นเรือชีวิตที่ลอยเคว้งกลางมหาสมุทรอย่างไร้หางเสือ
เดี๋ยวก่อน เวลาที่ผู้คนพูดถึง “เป้าหมาย หรือ จุดประสงค์ของชีวิต” คนส่วนใหญ่แล้วมักหมายถึงว่า สิ่งที่ตนต้องการที่จะบรรลุและประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นสิ่งที่ตนต้องการให้เกิดขึ้นและสำเร็จตามนั้นในชีวิตของตน แต่ถ้าเป็นคริสเตียนล่ะ “เป้าหมายหรือจุดประสงค์ในชีวิต” เหมือนและแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่? อย่างไร?

ที่ว่าเหมือนกับผู้คนทั่วไปก็คือ ทุกคนควรมีเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของตน แต่ที่ต่างกันก็คือ เป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของคนทั่วไปคือสิ่งที่คนๆ นั้น ต้องการให้ได้ ให้มี ให้สำเร็จ และพยายามมุ่งมั่นทุ่มเทความสามารถ ทรัพย์สิน เวลา และทุกอย่างในชีวิตของตนเพื่อที่จะบรรลุและสำเร็จตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ ในขณะที่คริสเตียนแต่ละคนก็มีเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของตน แต่การได้มาซึ่งเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของตนแตกต่างจากคนทั่วไปคือ เป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของคริสเตียนมิใช่สิ่งที่ตนเองอยากได้ ใคร่มี ใคร่เป็นเท่านั้น แต่รากฐานที่มาของเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตของตนมาจาก “พระประสงค์ของพระเจ้าในชีวิตของคนๆ นั้น” และนี่คือจุดต่างอย่างสิ้นเชิง!

ด้วยสาเหตุที่คริสเตียนหลายท่านไม่รู้เท่าทันทั้งในความเหมือนและความต่างของเป้าหมายชีวิตนี้เอง ชีวิตจึงต้องประสบพบเจอกับความผิดพลาด ผิดหวัง เจ็บปวด เกิดบาดแผลในชีวิต และสิ้นหวัง เพราะชีวิตคริสเตียนของคนๆ นั้นมิได้มีพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิต

แต่เหลือเชื่อจริงๆ เมื่อชีวิตของคริสเตียนคนนั้นสะดุดล้มลง หัวใจฉีกขาด มีบาดแผลลึก และได้รับความเจ็บปวดมากในชีวิต พระเจ้ายังอยู่เคียงข้างชีวิตคริสเตียนคนนั้น ยิ่งกว่านั้น พระองค์ยังเตรียมพระประสงค์ใหม่สำหรับเป้าหมายในชีวิตของคริสเตียนคนนั้น เรียกว่า ในทุกสภาพการของชีวิต พระเจ้ายังทรงติดตามใกล้ชิด และเตรียมพร้อมพระประสงค์ของพระองค์สำหรับชีวิตที่ผิดพลาด ล้มเหลว และเจ็บปวด ให้ได้รับการเยียวยารักษา ยิ่งกว่านั้นทรงเตรียมโอกาสใหม่ พระประสงค์ใหม่ ที่จะใช้ชีวิตที่บาดเจ็บ สิ้นหวังได้ลุกขึ้นมาใหม่ มีส่วนสร้างสรรค์ให้ชีวิตของตน และ คนรอบข้างได้ประสบกับคุณค่าและความหมายใหม่ในชีวิต “บรรลุเป้าหมายแห่งชีวิต” อันเป็นเป้าหมายชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์

ผมขอนำเอาเรื่องชีวิตจริงของสตรีชายขอบ วิจิตร สุพรรณนครอินทร์ (นามสมมุติ) มาเล่าสู่กันฟัง ผมเห็นว่าเรื่องราวนี้ทำให้เราเข้าใจในเรื่อง “เป้าหมายชีวิต” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อครั้ง วิจิตร สุพรรณนครอินทร์ เป็นสาว เธอเห็นว่าสิ่งที่จะทำใช้ชีวิตของเธอประสบความสำเร็จและสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อเธอมีคู่ชีวิต... เธอมี สามี

เธอเคยกล่าวว่า “ในชีวิตของฉัน ฉันต้องการคู่ชีวิตที่หล่อ แข็งแรง และเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน... ตอนที่ฉันเป็นเด็ก ฉันเคยฝันถึง “เจ้าชายในฝัน” ของฉัน ฉันต้องการที่จะลงหลักปักฐานสร้างชีวิตร่วมกับเขา”

วิจิตร ติดตามไล่ล่าความใฝ่ฝันของตน... แต่แล้วเธอพบกับความผิดหวัง... เธอเสียใจ

“ในช่วงที่เรียนอยู่ในระดับวิทยาลัย ฉันเกาะยึดอยู่กับชายหนุ่มคนแรกของฉัน ช่วงเริ่มแรก เขาให้ความสนใจในตัวฉัน เมื่อฉันมาคิดทบทวนย้อนหลัง ในเวลานั้น พระเจ้าทรงเตือนและแนะนำให้ฉันออกห่างจากชายหนุ่มคนนี้”

แต่ในเวลานั้น วิจิตร ยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ดังนั้น เธอตัดสินใจยึดเกาะชายหนุ่มคนนี้ต่อไป แม้สัมพันธภาพดูจะไม่ค่อยเหมาะสมลงรอยในเวลาต่อมา แต่เธอก็กลัวว่าจะต้องอยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ถึงแม้เธอจะถูกชายหนุ่มคนนี้ทอดทิ้ง และ เริ่มไม่สนใจ และกระทำความรุนแรงด้านอารมณ์ต่อเธอ หลังจากที่คบหาและไปไหนมาไหนด้วยกันไม่กี่ปี ปรากฏว่า เธอตั้งครรภ์ ทั้งสองเลยต้องแต่งงาน

วิจิตร เล่าว่า “นี่คือความพยายามที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายของตน และ ด้วยการพึ่งความสามารถของตนเอง ผลก็คือต้องล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า ยิ่งกว่านั้น จบลงด้วยความทุกขเวทนา ยากลำบาก... เมื่อลูกสาวอายุ 2 ขวบ สามีของฉันก็ไปมีกิ๊ก... วิกฤตินี้ทำให้ฉันตัดสินใจคุกเข่าลง อธิษฐานต่อพระเจ้า”

“ฉันหันชีวิตกลับมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า ตอนนั้นฉันพยายามที่จะเป็นภรรยาที่ดี และเป็นภรรยาที่ติดสนิทกับพระเจ้า แต่เขาต่อต้านการที่ฉันสนิทใกล้ชิดกับพระเจ้าอย่างเปิดเผย และเรื่องลงเอยด้วยการที่เขาทิ้งฉันไปในปีที่เจ็ดของชีวิตครอบครัว”

“ฉันไม่เสียใจที่มีลูกสาวที่แสนสวย แต่ที่ฉันเสียใจคือฉันไม่เชื่อและไว้วางใจพระเจ้ามากพอจนกล้าเดินออกจากความสัมพันธ์กับเขาแต่แรกเริ่ม และนี่ได้นำมาซึ่งบาดแผลและความเจ็บปวดในชีวิตเป็นเวลานานหลายปี นี่ยังไม่รวมถึงการนำมาซึ่งความสับสนสำหรับลูกสาว เมื่อมองย้อนหลัง ฉันยังตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำไมตอนนั้นฉันไม่กล้าไว้ใจสิ่งที่พระเจ้าทัดทาน คำตอบคงไม่ต่างจากคนทั่วไป เพราะฉันต้องการเขา แต่สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากการไตร่ตรองย้อนหลังพบว่า แท้จริงแล้วพระเจ้าทรงรู้ว่าสิ่งใดที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเรา... และยิ่งกว่านั้น ฉันพบว่า เมื่อฉันเลือกที่จะเดินทางชีวิตตามทางที่ฉันต้องการ ต้องล้มเหลว และบาดเจ็บในชีวิต... ฉันพบว่า พระเจ้ายังอยู่กับฉันที่นั่น... ถึงแม้ว่า ฉันทิ้งพระเจ้า ในที่สุดเขาก็ทิ้งฉันไป แต่พระเจ้าไม่ได้ทิ้งฉัน... ยังอยู่กับฉันที่นั่น ในเวลานั้น”

ตอนนี้ วิจิตร อายุ 30 กว่าปี เธอเป็นหม้าย สามีทิ้งเธอไปกว่า 5 ปี เธอได้รับการเยียวยาด้านจิตวิญญาณเพื่อรักษาบาดแผลในชีวิตจากกลุ่มเพื่อนในคริสตจักร เธอกล่าวว่า “ในภาวะที่ฉันล้มเหลวในชีวิต แต่พระเจ้ายังคงดำเนินการให้ฉันมีเป้าหมายและจุดประสงค์ในชีวิตต่อไป แต่เป็นเป้าหมายชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์”

ในไม่กี่ปีมานี้ วิจิตร เปลี่ยนจากการที่ตนพยายามกำหนดเป้าหมายและมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย เพื่อชีวิตจะพบกับคุณค่าและความหมาย เป็นการแสวงหาว่า พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในชีวิตของเธอ ในที่สุด วิจิตร พร้อมด้วยคุณแม่คนอื่นๆ ที่เป็นหม้ายในคริสตจักรได้รวมกลุ่มกัน ตั้งเป็นชมรมคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยตนเองคนเดียวในคริสตจักร โดยเรียกกลุ่มนี้ว่า “พันธกิจแม่เด็ดเดี่ยว”

วิจิตร ได้เล่าให้เราฟังว่า “ถึงแม้ว่าเมื่อเริ่มแรกนั้นฉันเองก็ลังเล สองจิตสองใจที่จะเริ่ม “พันธกิจแม่เด็ดเดี่ยว” นี้ แต่เมื่อเริ่มแล้ว ก็ดำเนินไปด้วยการหนุนเสริมกันอย่างอบอุ่น พันธกิจนี้เป็นพระพรอย่างมากแก่ตัวฉัน และ เพื่อนๆ ในกลุ่มเกินคาด และพวกเรายังได้รับการสนับสนุนจากพันธกิจครอบครัวคริสตจักรเป็นอย่างดี

กลุ่มพันธกิจแม่เด็ดเดี่ยว จะพบกันทุกสัปดาห์ เราอธิษฐานด้วยกัน พูดคุยถึงประสบการณ์ ปัญหา และทางสร้างสรรค์ในการเลี้ยงลูก เรามีโอกาสอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ และร่วมสามัคคีธรรมกันในกลุ่มของเรา เราได้วางแผนงานกิจกรรมด้วยกัน บางครั้ง อาจารย์ก็เอาคลิปวีดีโอ จากอินเตอร์เน็ทเกี่ยวกับเรื่องชีวิตครอบครัวมาให้พวกเราดูด้วยกัน หลังจากนั้นอภิปรายสิ่งที่ได้ดูจากประสบการณ์จริงของพวกเรา บางครั้งเราก็กินขนมด้วยกัน บางครั้งก็รับประทานอาหารด้วยกัน คริสต์มาสปีหนึ่งคณะธรรมกิจได้จัดส่งต้นคริสต์มาสไปตามบ้านสมาชิกในกลุ่ม “พันธกิจแม่เด็ดเดี่ยว” ทุกบ้าน พวกเราตื่นเต้นมาก วิจิตรกล่าวกับเราว่า “ตอนนี้พวกเรากลายเป็นครอบครัวใหญ่ เรามีความสุขร่วมกัน และเราเปลี่ยนความโดดเดี่ยว ว้าเหว่ และเจ็บปวด ไปสู่การมีชีวิตร่วมกันเสริมสร้างกันและกัน และเสริมเพิ่มความสุขแก่กันและกัน... พระเจ้าทรงใช้ความเจ็บปวดจากบาดแผลในชีวิตของฉัน ให้เป็นโอกาสและเครื่องมือในการสร้างครอบครัวใหญ่ของคุณแม่ที่เด็ดเดี่ยว”

10 เมษายน 2554

ฝ่าวิกฤติชีวิตที่ไม่เคยผ่านพบ

“เพราะท่านไม่เคยเดินผ่านทางนี้มาก่อน
ฉะนั้นเขา(หีบพันธสัญญาของพระเจ้า”)จะนำท่านไป...”
(โยชูวา 3:4 อมตธรรม)

คนเรากลัวในหลายเรื่องด้วยกัน แต่ความกลัวอย่างหนึ่งที่มีมาในทุกยุคทุกสมัยคือ กลัวสิ่งที่เราไม่รู้จัก สิ่งที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ไม่รู้แน่ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น กลัวว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร? กลัวสุขภาพของเราจะแข็งแรงหรืออ่อนแอ? กลัวเกี่ยวกับสวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของลูกหลาน อนาคตของลูกหลาน ลูกหลานยังจะติดตามพระเจ้า หรือ จะติดตามเพื่อน? กลัวว่าชีวิตของเราต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่เราไม่คาดคิด ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยทางสงคราม การเมือง และเศรษฐกิจ ความกลัวลักษณะที่กล่าวข้างบนนี้มีสาเหตุของความกลัวจากประการใหญ่ๆ 2 ประการคือ

  • อนาคตเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ดังนั้น เราจึงไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร คิดตัดสินใจไม่ได้
  • อนาคตเป็นสิ่งที่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของเรา

เป็นความจริงว่า อนาคตเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความสามารถที่เราแต่ละคนจะควบคุมมันได้ อนาคตมิได้อยู่ในกำมือของเราก็จริง แต่เราสามารถที่จะเชื่อไว้วางใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้าได้ เพราะพระองค์ทรงสามารถควบคุมและจัดการกับอนาคตทั้งสิ้นในชีวิตของเรา เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ชีวิตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคตข้างหน้า ให้เราพิจารณามุ่งมองไปที่ชีวิตของโยชูวาเป็นตัวอย่าง ว่าโยชูวาเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ล่อแหลม คลุมเครือ สุ่มเสี่ยง โดยมีชีวิตของอิสราเอลเป็นเดิมพัน ด้วยความไว้วางใจในพระสัญญาของพระเจ้าอย่างไร

โมเสสได้เตรียมโยชูวาให้สืบทอดการนำอิสราเอลต่อจากท่าน โยชูวาได้เรียนรู้ ได้ฝึกฝน ได้รับการเตรียมพร้อมในช่วงที่อิสราเอลเดินวนเวียนในถิ่นทุรกันดาร 40 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ที่โยชูวาจะนำอิสราเอลต่อจากโมเสสนั้นเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิมมากมาย โยชูวาต้องเผชิญและจัดการกับสิ่งใหม่ๆ เช่น ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์การเป็นทาสในอียิปต์ได้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดสิ้น คนหนุ่มแน่นในประชากรอิสราเอลเป็นชนรุ่นใหม่ที่เกิดในถิ่นทุรกันดาร ภารกิจในการขับเคลื่อนประชากรอิสราเอลเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ จากการเดินวนเวียนเรียนรู้และการบ่มเพาะชีวิตที่เชื่อฟังพระเจ้า เพื่อเตรียมคุณภาพชีวิตของอิสราเอลในความเชื่อศรัทธาไว้วางใจในพระเจ้า กำลังมุ่งหน้าสู่ความเชื่อศรัทธาที่จะต้องแสดงออกมาด้วยการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในการสร้างชาติ ในการยึดครองแผ่นดินแห่งพระสัญญา ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับบรรพบุรุษของพวกเขา และนี่คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากโยชูวา ผู้นำที่พระเจ้าทรงใช้ในภาวะวิกฤติแห่งชาติ

วิกฤติแห่งชาติอิสราเอลในช่วงเวลานั้น เป็นวิกฤติใหม่วิกฤติที่ผู้นำอย่างโยชูวาไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไร เป็นวิกฤติที่กว้างลึกกว่าประสบการณ์การเป็นผู้นำอย่างโมเสส แต่อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงเตรียมโยชูวา ภารกิจใหม่ของอิสราเอลในช่วงเวลานั้นคือ การบุกยึดดินแดนแห่งพระสัญญาซึ่งจะต้องใช้การทำศึกสงคราม ทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ พระเจ้าทรงเตรียมโยชูวาในฐานะผู้นำกองทัพอิสราเอลในสมัยของโมเสส แต่โยชูวาไม่รู้ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

การเป็นผู้นำในภาวะวิกฤติของโยชูวาได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่เราในปัจจุบันนี้ที่สำคัญคือ

1. ภาวะผู้นำในสถานการณ์วิกฤติ ความเข้มแข็ง กล้าหาญ และมั่นคง ตั้งอยู่บนรากฐานการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า (มิใช่ความเข้มแข็ง กล้าหาญ เก่งกาจของผู้นำ) “ไม่มีใครยืนหยัดต่อสู้เจ้าได้ตลอดชีวิตของเจ้า เพราะเราอยู่กับเจ้า... เราจะไม่ละจากเจ้าหรือทอดทิ้งเจ้าเลย จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด...”(โยชูวา 1:5-6) “...จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิด อย่าหวาดกลัว อย่าท้อใจ เพราะไม่ว่าเจ้าไปที่ไหน พระยาเวห์พระเจ้าของเจ้าจะอยู่กับเจ้าที่นั่น” (1:9)

2. เมื่ออิสราเอลรวมพลตั้งค่ายบนฝั่งแม่น้ำจอร์แดนด้านตะวันออก ทำให้ระลึกถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำที่ทะเลแดงครั้งเมื่ออิสราเอลเคลื่อนพลออกจากอียิปต์ แต่ในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนคือ ที่ทะเลแดง วิกฤติและหายนะกำลังไล่ล่าตามหลังมา กองกำลังอิสราเอลข้ามทะเลแดงเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในชีวิตของตน แต่ในครั้งนี้ ไพล่พลประชาชนอิสราเอลต้องตัดสินใจว่าจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนหรือไม่ ที่ต้องเสี่ยงเผชิญหน้ากับวิกฤติที่ขวางอยู่ข้างหน้าเพื่อบุกยึดแผ่นดินแห่งพระสัญญา ในภาวะเช่นนี้ โยชูวา และ ประชาชนอิสราเอลต้องการความเข้มแข็ง และความกล้าหาญ แน่นอนว่า ความเข้มแข็งและความกล้าหาญนั้นมาจากการไว้วางใจในการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า แต่ในภาวะวิกฤติที่เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ความมั่นใจ ยืนหยัด และกล้าหาญมาจากพระสัญญาที่ว่า พระองค์จะเป็นผู้นำในภาวะวิกฤตินี้เอง “เพราะท่าน(อิสราเอล)ไม่เคยเดินผ่านทางนี้มาก่อน ฉะนั้นเขา(หีบพันธสัญญาของพระเจ้า”)จะนำท่านไป...”(3:4)

ในภาวะวิกฤติที่ผู้นำไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ที่อิสราเอลยังเข้มแข็ง กล้าหาญ และมั่นใจได้นั้น เพราะทั้งผู้นำและประชาชนอิสราเอลเชื่อมั่นและไว้วางใจในการทรงนำของพระเจ้าไปบนเส้นทางที่เขาไม่รู้จัก และไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น การให้อิสราเอลติดตาม “หีบพันธสัญญา” คือติดตามการทรงสำแดงของพระเจ้า ให้พระประสงค์ของพระองค์นำหน้า และติดตามการทรงสำแดงพระประสงค์ของพระองค์ในทุกช่วงเวลาและสถานการณ์

3. ผู้นำในภาวะวิกฤติ เป็นผู้นำที่จะต้องถ่อมใจและมอบความไว้วางใจในการทรงเปิดเผยทีละขั้นทีละตอนจากพระเจ้า และเป็นผู้นำที่เอื้ออำนวยกระบวนการให้ประชาชนสามารถติดตาม ไว้วางใจ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามการทรงเปิดเผยและการทรงนำของพระองค์ “...บรรดาเจ้าหน้าที่ออกไปทั่วค่าย แจ้งคำสั่งแก่ประชาชนว่า “เมื่อเห็นปุโรหิตซึ่งเป็นชนเลวีหามหีบพันธสัญญาของพระยาเวห์พระเจ้าของท่าน จงเคลื่อนออกจากที่ของท่านตามไป เพราะท่านไม่เคยเดินผ่านทางนี้มาก่อน ฉะนั้น เขา(หีบพันธสัญญา)จะนำท่านไป....”” (โยชูวา 3:2-4) ในภาวะวิกฤติ ทั้งผู้นำและประชาชนต่างต้องมุ่งมองที่การทรงสำแดงของพระเจ้าเพื่อสามารถเดินผ่าน “หุบเหวชีวิตที่ตนไม่รู้จักมาก่อน” และอะไรที่จะยิ่งใหญ่สำคัญไปกว่าการที่พระเจ้าผู้ทรงรู้ถึงภาวะข้างหน้าชีวิต ผู้ทรงกำหนดแผนการในการจัดการกับภาวะที่เราเองไม่รู้ และทรงเป็นผู้นำชีวิตของเราให้ฝ่าข้ามหุบเหวเงามัจจุราชนั้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

พระเจ้าทรงเข้าพระทัยในความกลัวของเราแต่ละคนต่อสิ่งที่เราไม่รู้จักคุ้นชิน พระองค์ทรงรู้ว่าชีวิตของเราต้องเข้าไปสู่สถานการณ์ที่เราไม่เคยผ่านพบมาก่อน...เราจึงกลัว อาจจะเป็นครั้งแรกที่ท่านต้องเข้ามารับผิดชอบในงานที่ไม่เคยรับมือมาก่อน หรือเป็นครั้งแรกที่ท่านตกงานมึนจนไม่รู้ว่าจะจัดการกับตนเองอย่างไร ท่านหรือคนสนิทของท่านตรวจพบว่าเป็นโรคร้าย ท่านอาจจะได้รับข่าวร้ายที่ลูกต้องติดยาเสพติด บนเส้นทางชีวิตเหล่านี้ที่ท่านยังไม่เคยผ่านพบมาก่อน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงไม่รู้ว่าจะรับมือกับมันอย่างไร จงเข้มแข็งและกล้าหาญเถิดเพราะพระเจ้าพร้อมที่จะนำท่านในภาวะวิกฤติชีวิตของท่าน

ชีวิตของโยชูวานั้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เหมือนกับชีวิตของท่านและข้าพเจ้า แต่โยชูวาสามารถต้านทานความกลัวด้วยการมุ่งมองแน่วแน่ไปที่พระเจ้า มากกว่าการมองจดจ่ออยู่ที่สถานการณ์แวดล้อมด้วยความหวาดหวั่น พระเจ้าเคยนำอิสราเอลเข้าสู่แผ่นดินและอาณาจักรที่พวกเขาไม่เคยรู้จักและผ่านพบมาก่อนอย่างไร พระองค์จะทรงนำชีวิตของเราไปสู่เป้าประสงค์ที่พระองค์กำหนดไว้

เมื่อชีวิตจะต้องฝ่าเข้าสถานการณ์ที่เราไม่รู้จัก เกิดวิกฤติในชีวิต ขอให้เราระลึกถึงพระสัญญาในพระธรรมอิสยาห์ 43:2-3ก ที่ว่า “เมื่อเจ้าลุยน้ำ เราจะอยู่กับเจ้า เมื่อเจ้าลุยข้ามแม่น้ำ น้ำจะไม่ซัดท่วมเจ้า เมื่อเจ้าลุยไฟ ไฟจะไม่ไหม้ เปลวไฟจะไม่เผาผลาญเจ้า เพราะเราคือพระยาเวห์พระเจ้าของเจ้า เป็นองค์บริสุทธิ์แห่งอิสราเอล พระผู้ช่วยให้รอดของเจ้า”

ถึงแม้ว่า ประชากรอิสราเอลมิได้รับการอธิบายจากผู้นำของพวกเขาว่า พวกเขาจะข้ามแม่น้ำจอร์แดนอย่างไร แต่ประชาอิสราเอลมุ่งหน้าเดินข้ามแม่น้ำจอร์แดนด้วยความเชื่อศรัทธาและไว้วางใจในการทรงนำของพระเจ้า มุ่งมองไปที่การทรงสำแดงของพระเจ้าตลอดเส้นทางที่เสี่ยงไม่แน่นอนและไม่รู้ว่าในที่สุดอะไรจะเกิดขึ้น
ให้เราเชื่อมั่นและขอบพระคุณในพระสัญญาของพระเจ้าที่ทรงให้ไว้กับเรา

ให้เราเชื่อมั่นและขอบพระคุณว่าเรามิได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยวคนเดียว
ให้เราเชื่อมั่นและขอบพระคุณที่พระเจ้าทรงนำเราฝ่าผ่านเส้นทางชีวิตที่เราไม่เคยรู้จักคุ้นชินมาก่อน
ให้เราเชื่อมั่นและขอบพระคุณที่พระเจ้าสำแดงเส้นทางที่เราควรเดินไปเป็นขั้นเป็นตอนในเวลาเหมาะสม

07 เมษายน 2554

คริสเตียนไม่คิดจะประกาศพระกิตติคุณให้กับตนเองบ้างหรือ?

พระกิตติคุณมีไว้สำหรับพวกคริสเตียนด้วย !

เมื่อคริสเตียนประกาศ หรือเรียกให้สวยก็คือ แบ่งปันพระกิตติคุณกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ตนคิดว่ามีความเชื่อต่างจากตน ในการพูดคุยสนทนาของ “คริสเตียน” มักตั้งอยู่บนสมมติฐานหรือความคิดเข้าใจของตนเองว่า

เราคริสเตียนมีข่าวดีหรือพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์
ส่วนคนที่ไม่เป็นคริสเตียนไม่มีข่าวดีหรือพระกิตติคุณนี้
คริสเตียนยืนอยู่ข้างพระคริสต์ อยู่ข้างความชอบธรรม
ส่วนพวกยิว มุสลิม ยืนอยู่ฝั่งของคนบาป
คริสเตียนอยู่ใกล้ชิดพระเจ้า
ส่วนคนพุทธ และ ฮินดู อยู่ห่างไกลจากพระเจ้า

ท่าทีการสนทนาจึงแสดงออก(อาจจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)ว่า
คนที่ไม่ใช่คริสเตียนต้องได้รับความช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณ
ส่วนเราคริสเตียนต้องการความช่วยเหลือด้านจิตวิญญาณไม่มากเท่ากับพวกที่ไม่เป็นคริสเตียน
คนที่ไม่เป็นคริสเตียนคือคนที่หลงหาย
แต่เรารอดแล้ว ไม่หลงหาย
คนต่างศาสนาต้องการพระกิตติคุณ
เราเป็นคริสเตียนแล้วเราไม่จำเป็นต้องฟังพระกิตติคุณ

ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ เราคริสเตียนอาจจะไม่ได้พูดออกเสียง และก็มิใช่สิ่งที่เราพึงจะพูดออกมาเมื่อเราต้องเสวนากับเพื่อนต่างศาสนา (Interfaith Dialogue) แต่ในใจลึกๆ ในก้นบึ้งความเข้าใจของเราคิดเช่นนั้น และบอกกับตนเองเช่นนั้น มิใช่หรือ? เราวางท่าทีหยิ่งผยองและคิดว่าตนเองชอบธรรม และสิ่งนี้ก็ทำให้เราต้องสับสนในตนเอง เพราะเมื่อเราต้องคบหาสนทนากับเพื่อนต่างศาสนาเราต่างแสดงท่าทีสุภาพยอมรับและเมตตา และนี่คงมาจากต้นเหตุแห่งความคิดความเข้าใจของเราที่กล่าวข้างต้น

แท้จริงแล้ว เราถูกสอนให้คิดและเชื่อว่า เมื่อเราสื่อสารสนทนาพระกิตติคุณกับผู้ที่ไม่เป็นคริสเตียนที่เราพบ เรามักเข้าใจว่าเราเป็นผู้ที่พบสัจจะความจริงแล้ว ส่วนเขายังค้นหาไม่พบ เราเป็นคนที่ได้รับการทรงเลือกจากพระเจ้า แต่เขาไม่ได้รับการทรงเลือก เราเป็นคนที่สวยงามในสายตาของพระเจ้า แต่พวกเขาไม่ใช่ เวลาใดก็ตามที่เรานึกคิดเช่นนั้น จะด้วยการรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เรามิได้สื่อสารพระกิตติคุณเท่านั้นแต่เราผสมปนเปื้อนสิ่งอื่นลงในพระกิตติคุณที่เรานำเสนอด้วย

ให้เราลองเจาะลึกลงในแก่นหลักของพระกิตติคุณ พระคัมภีร์บอกกับเราชัดถ้อยชัดความว่า “เราทุกคน” ทำบาป...ในที่นี้หมายรวมถึงคริสเตียนด้วย...และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า (โรม 3:23) และในขณะที่เราอ่อนกำลัง...(เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของบาป)... พระคริสต์ได้สิ้นพระชนม์เพื่อคนบาป ซึ่งหมายรวมถึงเราทุกคน (โรม 5:6 อมตธรรม) โดยพระคริสต์ พระเจ้าทรงให้โลก... มุสลิม ยิว และ คริสเตียน...คืนดีกับพระองค์ (2 โครินธ์ 5:19) เพราะพระเจ้าทรงรักโลก...พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู...ฯลฯ ... จึงได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์... (ยอห์น 3:16)

คำถามก็คือว่า เราจะบอกกล่าวสนทนาถึงความเชื่อศรัทธาของเราอย่างไรที่จะไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคริสเตียนใส่ร้ายป้ายสี ดูหมิ่นคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน ทำให้เขารู้สึกโกรธ ประการหนึ่งที่เราสามารถที่จะสนทนาหรือนำเสนอพระกิตติคุณที่เป็นความเชื่อของเรา ที่ทำให้ ทุกคน รู้สึกว่าเราพูดถึงทั้งเขาและเราในฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่ใส่ร้ายป้ายสีตีตรากันแม้จะเป็นทางอ้อมก็ตาม เพื่อว่า ทุกคน (รวมถึงคริสเตียนด้วย) รู้สึกว่าตนได้รับการกล่าวถึงอย่างยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อว่าทุกคน (ไม่งดเว้นคริสเตียนด้วย) จะตระหนักและสำนึกถึงความบาปผิดของตนเอง เพื่อว่าเราทุกคน...รวมถึงคริสเตียนด้วย...ที่จะยืนอยู่ใต้กางเขนของพระคริสต์ ต่างมีความต้องการพระผู้ช่วยให้รอดอย่างมากเหมือนกัน

ถ้าเราสามารถที่จะทำอย่างที่กล่าวข้างต้น จะมีสิ่งที่น่าสังเกตเกิดขึ้นสองสามประการด้วยกัน ประการแรก เราจะตระหนักชัดในความเข้าใจใหม่ว่า เรามิได้พูดถึง “ศาสนาของเรา กับ ศาสนาของเขา” มิได้พยายามที่จะปกป้องถกเถียงว่าความเชื่อของเราถูกต้องอย่างไรและของเขาผิดอย่างไร เรามิได้พูดถึงว่าศาสนาของเราสงบ สันติอย่างไร และศาสนาของเขาดุดัน รุนแรงอย่างไร เรามิได้พูดถึงความชอบธรรมของเราและความอธรรมของเขา เราจะไม่มองด้วยสายตาที่มีมุมมองว่าเรากำลังทำสงครามน้ำลายศาสนา แต่เราต่างเป็นพันธมิตรกันในหลุมหลบภัยแห่งความเชื่อศรัทธา

ประการต่อมา ในเวลาเดียวกัน เราต่างจะได้เห็นถึงพระหัตถ์แห่งความเมตตาจากเบื้องบนที่ยื่นมาถึง เราทุกคน เฉกเช่นพระหัตถ์ของพระคริสต์ที่ยื่นออกฉวยฉุดคนง่อยให้ยืนขึ้น พระหัตถ์ที่แตะต้องตาของคนตาบอดทำให้สามารถมองเห็นได้ และพระหัตถ์ที่แยงเข้าไปในหูของคนหูหนวกทำให้เขาสามารถกลับมาได้ยินอีกครั้งหนึ่ง และ เรา ต่างจะได้ยินการชวนเชิญของพระองค์ว่า ทุกคน ที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนักให้เข้าไปหาพระองค์ เพราะแอกของพระองค์เบา และจะทรงกระทำให้เราได้หายเหนื่อย และเกิดความสันติสุขที่เหนือความเข้าใจ

ประการที่สาม เราถูกทำให้เขว แล้วเรามักถามว่า “แล้วเราที่เป็นคริสเตียนจะต้องรับเอาคำเชิญชวนนี้ด้วยเช่นนั้นหรือ? นี่ไม่ใช่เป็นคำเชิญชวนสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนเท่านั้นหรือ? คริสเตียนและคนที่ไม่เป็นคริสเตียนไม่แตกต่างกันเลยหรือ? เราคริสเตียนถูกเรียกให้เชิญชวนคนที่ไม่ได้เป็นคริสเตียนให้ติดตามพระคริสต์มิใช่หรือ?”

แต่เป็นที่ชัดเจนว่า โดยพระคุณของพระเจ้าผ่านทางความเชื่อศรัทธา ทำให้โลกนี้ได้กลับคืนดีกับพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์ และทรงมอบเรื่องพระราชกิจแห่งการคืนดีนี้ให้เราประกาศ ซึ่งเป็นข่าวสารการคืนดีของโลกทั้งใบนี้กับพระเจ้า (2โครินธ์ 5:19)

ถ้าเช่นนั้น นี่มิใช่คำเชิญชวนที่เราคริสเตียนแต่ละคนจำเป็นต้องรับเอาใหม่ในแต่ละเช้าหรือ? และนี่มิใช่พระกิตติคุณที่เขย่าผลักดันแก่นหลักในชีวิตของเราให้เราลุกขึ้นรับเอาชีวิตใหม่ในแต่ละวันหรือ? และวันนี้มิใช่วันแห่งความรอดอีกวันหนึ่งหรือ? ถ้าใช่ แล้วเราจะสามารถประกาศพระกิตติคุณที่มิได้ประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราแก่คนอื่นได้หรือ?

เราเห็นแล้วใช่ไหมว่าเป็นไปไม่ได้ ที่เราจะเทศนาพระกิตติคุณนี้ โดยที่ตนเองยังหลบหลีกบ่ายเบี่ยงพระกิตติคุณดังกล่าว และไม่มีประสบการณ์ตรงกับพระกิตติคุณ แค่อ้างตนว่าเป็นคริสเตียนและเป็นคนชอบธรรมนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

เราได้เห็นหรือยังว่า ทำไม เวลาจะเสวนาวิสาสะกับเพื่อนต่างศาสนาจำเป็นที่คริสเตียนจะต้องมีท่าทีที่ถ่อมสุภาพ และ มีรากฐานความเชื่อที่หยั่งรากลึกในพระกิตติคุณ และเมื่อคริสเตียนเสวนาวิสาสะกับเพื่อนต่างศาสนิก เราจำเป็นจะต้องพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตจริงของตนว่า พระกิตติคุณที่เราหยั่งรากยึดมั่นนี้ มีพลังที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราอย่างไร เพื่อจะประกาศว่า พระกิตติคุณมีพลังอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสร้างชีวิตใหม่ของทุกๆ คนได้ด้วยเช่นกัน

05 เมษายน 2554

การนมัสการพระเจ้าเช้าวันอาทิตย์

ผมมีโอกาสตีวงสนทนากันกับศิษยาภิบาล ผู้ปกครอง มัคนายก และสมาชิกคริสตจักรรวมกันประมาณ 10 คนโดยไม่ได้ตั้งใจ หลังจากการพูดคุยกันสักพักหนึ่ง หัวข้อที่สนใจพูดคุยกันกลับเป็นเรื่องการนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ และนี่คือคำถามและความคิดเห็น และ สรุปข้อสังเกตจากการสนทนาในวันนั้น

1. การนมัสการพระเจ้าของเราในแต่ละสัปดาห์มีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลหรือไม่ อย่างไร?

แท้จริงแล้วการนมัสการพระเจ้าของพวกเรานั้นประสบกับความล้มเหลวและบรรลุผลสำเร็จ เราไม่เคยมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทอย่างเต็มกำลังที่จะให้การนมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์ทำให้คริสตจักรของเราเจริญเติบโต ดังนั้น เราจึงไม่ต้องล้มเหลวในประการนี้เพราะเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ที่เราประสบความล้มเหลวเพราะ เราได้สูญเสียผู้ที่รับเชื่อในคริสตจักรของเราเหมือนถุงก้นรั่ว ที่ผิดพลาดเพราะคริสตจักรมัวแต่ให้ความสนใจกับการบริหารจัดการพันธกิจคริสตจักรแบบการตลาด(ที่เน้นจำนวนคนที่มานมัสการพระเจ้า แต่ไม่เอาใจใส่คุณภาพชีวิตคริสเตียนของสมาชิก)

2. คุณคิดว่า “ผู้เชื่อ”ในยุคทันสมัยนี้ เข้ามาร่วมนมัสการพระเจ้าเพื่อที่จะให้ หรือ เพื่อที่จะได้รับ?

แท้จริงแล้วหลายต่อหลายคริสตจักรในปัจจุบันนี้กระทำต่อสมาชิกของตนในฐานะผู้รับ คือคริสตจักรพยายามสรรหาโปรแกรม รายการ กิจกรรมต่างๆ ในการนมัสการพระเจ้าให้เป็นที่พึงพอใจของสมาชิกที่มานมัสการพระเจ้า ไม่ว่าจะด้านดนตรีที่ถูกคอผู้มานมัสการในยุคปัจจุบัน และรูปแบบการนมัสการที่สอดคล้องกับรสนิยมและความต้องการของผู้มานมัสการพระเจ้าในคริสตจักร

แต่ก็ก่อเกิดความขัดแย้งเพราะผู้คนที่มานมัสการพระเจ้ามีภูมิหลัง วัย สถานภาพ และมาจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่มานมัสการพระเจ้าได้อย่างทั่วถึง

ในยุคที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟูขึ้นสมอง คริสตจักรที่พอมีอันจะกินก็จะจัด “มิชชั่นทัวร์” เพื่อชีวิตสมาชิกจะได้ไปต่างถิ่น พบสิ่งใหม่ๆ พบคนใหม่ ๆ และคริสเตียนในต่างแดน แต่ขาดและพร่องที่จะใช้โอกาสในการรับใช้ในพระนามของพระคริสต์ตามศักยภาพความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ สิ่งที่ได้คือความตื่นตาตื่นใจสักพักหนึ่ง แล้วก็เย็นชาหายไปเมื่อกลับมาอยู่ในชีวิตคริสตจักรสภาพเดิม

การนมัสการพระเจ้ากลับกลายเป็นโอกาสสร้างเสริมความบันเทิงจิตใจ แต่หลงลืมหรือเว้นว่างการที่จะนมัสการพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณด้วยการมีชีวิตที่รับใช้และแบ่งปัน

3. เราบ่งชี้ความเข้มแข็งของชีวิตคริสตจักรที่จำนวนสมาชิกที่มาร่วมนมัสการพระเจ้า หรือ คุณภาพชีวิต คริสเตียนของผู้ที่มาร่วมนมัสการพระเจ้า?

เรามักใช้ขนาดหรือจำนวนของผู้คนที่มาร่วมนมัสการพระเจ้าเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของคริสตจักร ในความเป็นจริงจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ความเข้มแข็งของคริสตจักรก็ได้ ถ้าคริสตจักรนั้นๆ ช่วยให้ผู้คนมาร่วมนมัสการพระเจ้าพบกับคุณค่าความหมายของชีวิตในพระเยซูคริสต์

แต่ถ้าคริสตจักรที่มีผู้มาร่วมนมัสการจำนวนมากขึ้นเพราะ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้ความบันเทิงสร้างความรู้สึกสบายใจ หรือเพราะคริสตจักรนี้กำลัง “ดัง” ในช่วงนี้ หรือไม่ก็เพราะศิษยาภิบาลเทศนาเก่ง แต่สิ่งเหล่านี้มิได้เสริมสร้างคุณภาพชีวิตคริสเตียน หรือ คุณภาพชีวิตในพระเยซูคริสต์ ด้วยการติดสนิทกับองค์พระผู้เป็นเจ้าให้มีชีวิตที่เข้มข้นขึ้น และมีความรักเมตตากรุณา เป็นชีวิตที่ให้และแบ่งปันเยี่ยงพระคริสต์เพิ่มขึ้น

แม้คริสตจักรนั้นจะมีผู้คนล้นอาคารโบสถ์จนต้องขยายตัวอาคารทางปีกซ้าย-ขวา ก็มิได้บ่งชี้ว่าชีวิตคริสตจักรนี้เข้มแข็ง และการนมัสการพระเจ้าที่ทำอยู่ได้เสริมชีวิตจิตวิญญาณในเข้มแข็งในพระคริสต์

4. การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของเราเป็นเหมือนเดิม ดีกว่าเดิม หรือแย่กว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบกับการนมัสการพระเจ้าเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา?

หลายคริสตจักรอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าของเราก็เหมือนเดิม เพราะเรายังนมัสการพระเจ้าที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น การนมัสการพระเจ้าของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง บ้างอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของตนดีขึ้น เพราะได้มีการปรับเปลี่ยนให้การนมัสการพระเจ้าให้มีชีวิตชีวา ตื่นเต้น เร้าใจขึ้นในหลายด้าน ส่วนบางคริสตจักรอาจจะตอบว่า การนมัสการพระเจ้าในคริสตจักรของตนแย่ลง เพราะการนมัสการพระเจ้าของเราก็ทำเป็นพิธี หรือ เป็นเพียงศาสนพิธี การนมัสการมิได้หยั่งรากลงลึกด้วยชีวิตจิตวิญญาณที่แท้จริง ขาดความคิดสร้างสรรค์

น่าสังเกตว่า การประเมินการนมัสการพระเจ้าของเรามักติดยึดอยู่กับรูปแบบการนมัสการ ความคุ้นชินที่เคยทำมา บรรยากาศและความตื่นเต้น บ้างยึดติดกับการประกอบพิธีกรรม “ที่ถูกต้อง” และบ้างติดยึดอยู่กับกฎระเบียบในลัทธินิกายของตนยึดถือ จึงไม่แปลกใจที่ความเชื่อศรัทธา และ การดำเนินชีวิต คริสเตียนมิใช่การเปลี่ยนแปลงและได้รับพลังจาก “ชีวิตภายใน” ที่เริ่มต้นด้วยการหยั่งรากปักฐานความเชื่อศรัทธาบนพระวจนะของพระเจ้า

5. “ความเป็นเลิศ” ยังเป็นระบบคุณค่าในคริสตจักรของเราอยู่หรือไม่?

“ความดีเลิศ” มักถูกมองในรูปของความดีพร้อมสมบูรณ์ ทั้งในการประพฤติปฏิบัติ หรือ การกระทำในสิ่งต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้กำลังลดหดตัวลงในคริสตจักรสมัยใหม่

แต่ความสมบูรณ์พูนพร้อมที่ว่านี้มีความหมายที่กว้างไกลกว่าเดิมคือ การกระทำอย่างตั้งใจ อย่างเจตนา มีการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี ความปรารถนาถึงคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์พูนครบในแผ่นดินของพระเจ้าที่ไม่แปรปรวนเปลี่ยนแปลง

คริสตจักรจะต้องฟื้นฟู ปฏิสังขรณ์ระบบคุณค่านี้ขึ้นใหม่ โดยเริ่มต้นที่ให้ทุกคนที่เข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าได้สัมผัสกับระบบคุณค่าแห่งแผ่นดินของพระเจ้าด้วยประสบการณ์จากการนมัสการพระเจ้าในคริสตจักร

6. เปรียบเทียบกับ 25 ปีที่ผ่านมา การนมัสการของคริสตจักรน่าสนใจมากขึ้น หรือ น่าสนใจน้อยลง สำหรับผู้คนที่ยังไม่ได้เชื่อศรัทธาในพระเจ้า

ถ้าจะกล่าวถึงคริสตจักรที่มีการดึงดูดความสนใจของผู้คนนั้น บ่อยครั้งเรามักหลงไปสร้างความสนใจเกี่ยวกับโปรแกรม ทำกิจกรรมตามกระแสความสนใจของผู้คน

แต่ประเด็นหนึ่งที่ชุมชนคริสตจักรดึงดูดความสนใจของผู้คนคือ ชุมชนคริสตจักรที่มีชีวิตความสัมพันธ์เป็นครอบครัวที่เอาใจใส่ ห่วงใย และเอื้ออาทรต่อกันและกัน (ชุมชนที่รักซึ่งกันและกัน) แท้จริงแล้วนี่คือคุณภาพชีวิตคริสตจักรลักษณะหนึ่งที่พระคริสต์ได้ระบุชัด

การนมัสการพระเจ้าของชุมชนคริสตจักรมิใช่การประกอบศาสนพิธีเพื่อให้พระเจ้าพอใจ แล้วก็ไม่เหมือนกับการประชุมหมู่บ้าน ไม่ใช่การประชุมสมาชิกเครดิตยูเนี่ยน และก็ไม่ใช่การประชุมสัมมนาของผู้เสนอขายสินค้าของแอมเวย์ หรือ มิสทีน

แต่การนมัสการพระเจ้ามีความหมายที่ลุ่มลึกและกว้างไกลกว่านั้นคือ เรามานมัสการพระองค์เพราะชีวิตของเราอยู่ภายใต้การครอบครองของพระองค์ เราเข้ามานมัสการพระเจ้าเพราะการที่ชีวิตของเราจะเจริญ เติบโตขึ้นในพระคริสต์นั้นเราต้องพึ่งกำลัง อำนาจจากพระองค์ในการทรงเสริมสร้างเราขึ้นใหม่ เรานมัสการพระองค์เพื่อเราจะได้ออกไปกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ เราเข้ามานมัสการพระองค์เพราะเราต้องการขอบพระคุณ และ เทิดทูนพระองค์ผู้สูงสุดสำคัญสุดในชีวิตของเราแต่ละคน และทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของชีวิตที่ร่วมกันเป็นคริสตจักร

แต่สิ่งที่น่าห่วงใยในปัจจุบันคือ การนมัสการพระเจ้าในปัจจุบัน อาจจะมีพลังและประสิทธิภาพในการเสริมสร้างชีวิตในพระเยซูคริสต์ของผู้เข้าร่วมนมัสการได้น้อยที่สุด !

แต่สิ่งน่าห่วงมากกว่านั้นก็คือ จากการวิจัยชีวิตและพันธกิจคริสตจักรของวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมแมคกิลวารี มหาวิทยาลัยพายัพ เราพบว่า สมาชิกส่วนมากไม่ว่าในคริสตจักรชาติพันธุ์ คริสตจักรชนบท คริสตจักรชานเมือง และคริสตจักรเมืองใหญ่ในสภาคริสตจักรต่างคาดหวังว่า ชีวิตคริสเตียนของตนจะเจริญ เติบโต เข้มแข็ง และเกิดผลจากการเลี้ยงดูด้วยคำเทศนาในการนมัสการพระเจ้าเช้าวันอาทิตย์เท่านั้น !

03 เมษายน 2554

อำนาจแห่งคำพูด

10ใครจะพบภรรยาที่ดี (ใครจะพบภรรยาที่ดีเลิศ)
เธอประเสริฐยิ่งกว่าทับทิมมากนัก (นางล้ำค่ายิ่งกว่าทับทิมมากนัก)
(สุภาษิต 31:10, TBS; อมตธรรม)

วันนี้ ผมขอให้เราใช้จินตนาการในการใคร่ครวญของเรา ขอท่านลองจินตนาการว่าคู่ชีวิตของท่านนั่งอยู่อย่างเงียบๆ แล้วเขา/เธอกำลังครุ่นคิดอยู่ว่าเป็นพระพรมากแค่ไหนที่ได้คุณเป็นคู่ชีวิตของเขา ในมือของเขาถือรูปของคุณ แล้วก็มีอะไรที่ชื้นเปียกที่ดวงตาของเขา/เธอ เขา/เธอกำลังประทับใจและหลงในเสน่ห์แห่งคู่ชีวิตของเขา/เธอ

ความคิดของเขา/เธอรำพึงครุ่นคิดไปดังนี้.... ความดีมีค่าในโลกนี้ทั้งสิ้นไม่สามารถเปรียบได้กับคู่ชีวิตของฉัน อะไรที่ทำให้ฉันสมควรที่จะได้รับสิ่งล้ำค่าเหล่านี้จากเธอ/เขาหรือ? พระเจ้าทรงประทานของขวัญอันล้ำค่านี้แก่ฉัน ในชีวิตสมรส เธอ/เขาได้ดึงเอาสิ่งดีๆ มีค่าออกมาจากตัวฉัน และมุ่งมองสนใจในสิ่งดีเลิศที่มีอยู่ในตัวฉัน ผู้คนในสำนักงานต่างอิจฉาในความสัมพันธ์ของเรา... สิ่งหนึ่งคือคำพูดคำทักของเธอ/เขา เพื่อนบางคนในสำนักงานนำคำพูดของเขา/เธอไปเปรียบกับคำพูดคู่ชีวิตของเขา... เมื่อฉันมองย้อนทบทวนถึงความสำเร็จในชีวิตของฉัน เขา/เธอมีส่วนที่ยิ่งใหญ่ในความสำเร็จเหล่านั้น... แน่นอนว่า ในโลกนี้มีสามี/ภรรยาที่ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากมาย แต่คู่ชีวิตของฉัน...นั้นล้ำเลิศ ดียิ่งกว่าคนอื่นๆ...

นั่นเป็นภาพของคู่ชีวิตที่คุณอยากจะเป็นใช่หรือไม่? ประการหนึ่งที่ทำให้ภาพจินตนาการข้างต้นสำเร็จเป็นจริงได้หรือไม่...ก็คือ คำพูดของคู่ชีวิต ผมเชื่อว่าคุณคงทราบบ้างแล้วว่า คำพูดใดที่คู่ชีวิตของคุณต้องการได้ยิน เฝ้ารอคำพูดนั้นจากคู่ชีวิตของตน และ คำพูดใดบ้างที่เขา/เธอไม่ต้องการได้ยิน หรือแม้แต่ลอยผ่านโสตประสาทของเขา/เธอ ผมขอแบ่งปันข้อแนะนำที่น่าสนใจที่ได้ไปอ่านจากเอกสารชิ้นหนึ่ง ที่บอกถึงคำพูดที่คู่ชีวิตอยากได้ยินได้ฟัง กับคำพูดที่ไม่พึงประสงค์ที่จะได้ยินได้ฟัง จากเอกสารชื่อ “อำนาจแห่งคำพูดของคู่สมรส”

คำพูดที่ไม่ควรพูดกับคู่ชีวิตของคุณ
1. ฉันว่าแล้ว...
2. ทำไมเธอไม่รู้จักคิดบ้าง....?
3. นี่เป็นความผิดของคุณ...
4. อะไรเกิดขึ้นกับคุณหรือ ถึงทำผิดเช่นนี้....
5. ถ้าเช่นนั้น... ฉันช่วยไม่ได้
6. คุณสนใจแต่ตนเอง
7. คุณไม่เคยฟังฉันบ้างเลย...
8. ฉันไม่รู้ว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างไร...?
9. แล้วตอนนี้คุณต้องการอะไรกันแน่...?
10. ฉันบอกคุณกี่ครั้งกี่หนแล้ว....?

คำพูดที่คู่ชีวิตของคุณเฝ้ารอจะได้ยินได้ฟัง
1. ฉันคิดถึงคุณตลอดเวลา
2. มีอะไรบ้าง...ที่ฉันจะทำเพื่อคุณได้?
3. วันนี้มีเรื่องอะไรที่ฉันจะอธิษฐานเผื่อเธอได้บ้าง?
4. ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือเมื่อคุณกลับเข้ามาในบ้าน
5. คุณเป็นของขวัญที่มีค่าที่สุดที่พระเจ้าประทานแก่ฉัน
6. คุณนี้ดีเยี่ยมที่สุด
7. วันนี้คุณดูดีจังเลย
8. ฉันจะไม่รู้สึกว่าสำเร็จ...ถ้าไม่มีคุณ
9. ฉันจะรักคุณเสมอ
10. ฉันวางใจในการตัดสินใจของคุณ

วันนี้ให้เราใส่ใจกับคำพูดที่เราจะพูดกับคู่ชีวิตของเรา คำพูดที่เราพูดกับเขา/เธอนั้นมีอำนาจ/อิทธิพลที่จะดึงเขาขึ้น เหยียบเขาลง หรือ หนุนเขาให้มีพลังมุ่งไปสู่เป้าหมายของชีวิต คำพูดของคุณทำให้เขา/เธอมีความชื่นชมยินที่อยากจะกลับมาที่บ้าน หรือ ทำให้เขา/เธอหน่วงเวลาให้ช้าที่สุดที่จะต้องกลับบ้าน?

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดเฝ้ามองและควบคุมริมฝีปากของเราในวันนี้
โปรดช่วยให้คำพูดที่จะออกมาจากความคิดและปากของเรา....
เพิ่มแรงและพลังชีวิตของผู้ที่ได้ยินได้ฟัง
เป็นการสร้างสรรค์ และ เสริมหนุนคนอื่น
มิใช่ฉุดกระชากลากชีวิตของเธอ/เขาให้ดิ่งจมลง