26 เมษายน 2554

นักบริโภคนิยม หรือ ผู้สร้างศานติ

เป็นคนตามกระแสโลก หรือ เป็นประชาชนของพระเจ้า

คริสเตียนจะต้องเลือกระหว่างเส้นทางชีวิตที่ติดตามกระแสสังคม หรือ กระแสนิยมในปัจจุบัน ที่รวมความเรียกว่า “ผู้บริโภคนิยม” กับ การติดตามกระแสคุณค่านิยมแบบพระเยซูคริสต์ ยอมตนมีชีวิตในแผ่นดินของพระเจ้าภายใต้การครอบครองของพระคริสต์ ที่รวมความเรียกว่า “ผู้สร้างศานติ”

คริสเตียนจะต้องดำเนินชีวิตในโลกนี้ แต่ต้องเลือกว่า จะเป็นคนของโลก หรือ เป็นคนของพระคริสต์ จะติดตามกระแสทันสมัยแห่งโลกนี้ หรือ ติดตามพระคริสต์ตามวิถีชีวิตแห่งแผ่นดินของพระเจ้า

คริสเตียนที่ตกลงในกับดักของ “บริโภคนิยม” คือคนที่แสวงหาความสุข ความพออกพอใจ และผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ(จากภายนอก)เพื่อสนองต่อความต้องการ(ภายใน)ของตนเองอย่าง “เห็นแก่ตน” ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เพื่อตนเองจะได้ จะมีอำนาจในตนเอง จะมีอำนาจเหนือคนอื่น จะมีสถานภาพเท่าเทียมกับพระเจ้า ดั่งภาพของอาดัมและเอวาในสวนเอเดน แต่เสียงที่มาเชิญชวนกระตุ้นความอยากของทั้งสองคนนั้นซ่อนเร้นความจริงอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญจากเขาทั้งสองคือ การได้รับความพึงพอใจ การได้ผลประโยชน์ในชีวิตของตนนั้น แลกกับตนต้องตกลงในวงจรอุบาทว์แห่งความหายนะของผู้เชิญชวนกระตุ้นนั้นโดยไม่รู้ตัว เฉกเช่นที่เราเห็นแล้วถึงชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่ต้องตกเข้าอยู่ภายใต้วงจรอุบาทว์ของวัตถุนิยม ทุนนิยม ปัจเจกนิยม ตามกระแสที่ดูสวยงามแห่งบริโภคนิยมปัจจุบัน

กระแสบริโภคนิยม ที่ถาโถมเข้าในชีวิตและสังคมโลกปัจจุบันนี้เป็นกระแสอิทธิพลเงียบที่แฝงเร้นในรูปแบบของการมีชีวิตที่ทันสมัย ที่มุ่งเน้นให้แต่ละคนสนใจที่จะไขว่คว้าหาสิ่งที่จะเอื้ออำนวยความสุขจากภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการอยากได้ภายในชีวิตของตน ที่สำคัญคือผู้คนในกลุ่มนี้สนใจแต่สิ่งที่จะตอบสนองความอยากได้ใคร่มีภายในชีวิตของตนเอง แต่ละเลย ไม่สนใจต่อความเป็นตัวตนแท้จริงที่เป็นอยู่ภายในตนเองในขณะนี้

ดังนั้น คนในกระแสบริโภคนิยมจึงไม่สนใจที่จะตรวจสอบชีวิตภายในของตนเอง ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่ว้าวุ่น สับสน เจ็บปวด สิ้นหวัง แต่กลับแสวงหาสิ่งที่จะมาทำให้เกิดความแตกต่าง สร้างความเพลิดเพลิน หรือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตไม่ว่างเปล่า หาสิ่งจากภายนอกมาเติมเต็มแทนที่ด้วยเสียง กิจกรรมต่างๆ และสิ่งของต่างๆ เพื่อที่จะกลบเกลื่อน หลีกลี้จากการที่ต้องขบคิดใคร่ครวญอย่างจริงจัง และการสะท้อนคิดในชีวิตของตนเอง
ผู้คนในกระแสบริโภคนิยมแสวงหาสภาพแวดล้อมชีวิตที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แสวงหาสิ่งของ ประสบการณ์ต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของตนเอง ผู้คนกลุ่มนี้เลือกรูปแบบชีวิตที่ทันสมัย ระบบชีวิตที่กำลังเป็นที่นิยม และไขว่คว้าที่จะครอบครองสิ่งต่างๆ มิใช่เพราะชื่นชอบพอใจในความงามหรือสุนทรียะของสิ่งเหล่านั้น แต่เพื่อต้องการทำให้ตนเองตามทันมาตรฐานคุณค่าของกระแสนิยมตามภาพลักษณ์ต่างๆ ในเวลานั้นๆ เพื่อหวังจะให้เป็นคนที่คนอื่นยอมรับและชื่นชอบ

คนที่อยู่ในกระแสบริโภคนิยม แสวงหาประสบการณ์ ที่จะทำให้ตนมีภาพลักษณ์เป็นเหมือนคนที่เขาคิดว่าทันสมัย ที่เขาชื่นชอบ อยากเป็นคนหนึ่งที่เป็นเหมือนคนดังในเวลานั้นๆ นี่เป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้ผู้บริโภคนิยมสนใจทุ่มเทติดตามความโด่งดังทันสมัย เพื่อต้องการให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนหนึ่งในคนกลุ่มนั้น เป็นการแข่งขันสร้างตนในกิจกรรมเลียนแบบชีวิตที่ไร้เป้าหมายและว่างเปล่า เพียงเพื่อต้องการทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนั้น สิ่งเหล่านี้พบเห็นได้ในเยาวชนวัยรุ่นในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และในกลุ่มอนุชนคริสตจักรด้วย (ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็มีไม่น้อยเลย)

เนื่องด้วยผู้บริโภคนิยมมักมีชีวิตที่ฉาบฉวย บ่อยครั้งสัมพันธภาพที่มีต่อกันจึงเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถลงลึกถึงความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าและความหมายในชีวิต ยิ่งกว่านั้น คนในกลุ่มบริโภคนิยมจะหมกมุ่นกับสิ่งที่ตนเองถูกรุมเร้าให้สนใจ น่าสนใจว่าผู้คนในกลุ่มบริโภคนิยมจะมองเรื่องผู้คนในลักษณะเครือข่ายสัมพันธ์ ที่มีเป้าหมายปลายทางเพื่อความต้องการที่เห็นแก่ตัวของตนเอง น่าเศร้าใจว่า ในปัจจุบันนี้คนไทยตั้งแต่พี่น้องชาติพันธุ์กระทั่งผู้คนทันสมัยส่วนใหญ่ในเมืองตกอยู่ใต้อิทธิพลความเข้าใจตนเองและสังคมบนรากฐานของบริโภคนิยม เราจึงสามารถเห็นความสัมพันธ์บนรากฐานบริโภคนิยมดาษดื่นทั่วไป ไม่ว่าในชุมชนหมู่บ้าน ในองค์กรสถาบัน ในหมู่นักการเมืองการปกครอง ตั้งแต่ อบต.ถึงรัฐสภาฯ ตลอดจนรัฐบาลที่บริหารประเทศ ทั้งในคริสตจักรท้องถิ่น คริสตจักรภูมิภาค หรือ องค์กรคริสตจักรระดับชาติต่างก็ถูกอิทธิพลแบบบริโภคนิยมดูดกลืนไปมากต่อมากแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมในฐานะ “ผู้สร้างศานติ” จากภายในตนเอง แทนการเลียนแบบบุคลิกชีวิตจากภายนอก คนกลุ่มนี้มุ่งมั่นตั้งใจในการเสริมสร้างพัฒนาตัวตนจากภายในสู่ภายนอก ผู้สร้างศานติคือกลุ่มคนผู้ขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ให้เกิดผลในชีวิตของผู้คน คนกลุ่มนี้จะไม่มองสิ่งต่างๆ เป็นเพียงเพื่อจะครอบครอง ยึดกุม และมองผู้คนว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมาย แต่เขาจะกลับมุ่งมองว่าสิ่งเหล่านั้นและผู้คนทั้งหลายมีศักยภาพเพื่อสร้างสรรค์สังคมโลกได้เช่นไร และเขาเชื่อและปรารถนาในสัมพันธภาพกับเพื่อนมนุษย์เป็นเป้าหมายปลายทาง ผู้สร้างศานติคือนักคิด พวกเขาจะสะท้อนคิดจากภายในของตนเองและกับสภาพแวดล้อมรอบข้างชีวิตของตน เป็นผู้กระหายอยากรู้ว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นไปเช่นนี้ แล้วจะมีหนทางใดบ้างไหมที่จะแก้ไขพัฒนาตามที่จำเป็น ผู้สร้างศานติคือผู้ที่พยายามค้นหาให้พบว่าอะไรคือความจริงแท้อะไรคือสัจจะ การกระทำอะไร เช่นไรที่จะสร้างเสริมสิ่งที่ดี ที่จะนำมาซึ่งความดีงาม

มีน้ำหนักมากพอที่จะกล่าวว่า คริสเตียนควรจะเลือกการเป็น “ผู้สร้างศานติ” แทนการเลือกเป็น “ผู้บริโภคนิยม” แต่การกล่าวเช่นนี้หมายความอะไรกันแน่? ในที่นี้ผู้เขียนกล่าวถึงคริสเตียนผู้สร้างศานติในความหมายของพระคัมภีร์คือ ผู้ที่นำเอา “สันติสุข” หรือ “ชาโลม” (shalom) เข้ามายังโลกใบนี้ คำว่า “ชาโลม” เป็นภาษาฮีบรูมีความหมายตามพระคัมภีร์ว่า การกระทำความยุติธรรม คำว่า “ชาโลม” เป็นหลักคิดที่รุ่มรวยเข้มข้นเป็นการเข้าใจโลกที่เกี่ยวข้องครอบคลุมในทุกมิติทุกสัมพันธภาพในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แสดงออกถึงอุดมคติที่มีต่อทั้งชีวิตของอิสราเอลและชีวิตของทั้งโลก คำว่า “ชาโลม” มีความหมายครอบคลุมถึงสุขภาวะ การอยู่ดีมีสุขของแต่ละคน (สดุดี 38:3 การทำบาปทำให้สูญเสีย “ชาโลม” คือความแข็งแรงของสุขภาพ) มีความหมายถึง สวัสดิภาพ หรือ ความมั่นคงปลอดภัย (ปฐมกาล 15:15) ความรุ่งเรืองมั่งคั่ง และ มีสัมพันธภาพอันดีกับสรรพสัตว์และสรรพสิ่งในโลก (โยบ 5:18-26) ทำให้ลุล่วงสำเร็จด้วยการบากบั่นพยายาม (ผู้วินิจฉัย 18:5; 1ซามูเอล 1:17) กล่าวอีกนัยหนึ่ง “ชาโลม” คือพระพรจากพระเจ้าเพื่อเราจะมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนครบ ทั้งในระดับส่วนตนและในระดับสังคมโลกด้วย

ในฐานะประชากรของพระเจ้า เราได้รับการทรงเรียกจากพระองค์ให้เป็นผู้ทำพันธกิจแห่ง “ชาโลม” คือผู้สร้างสันติ (มัทธิว 5:9) เพื่อที่จะนำและกระทำให้ นิมิต หรือ พระประสงค์ของพระเจ้าให้เป็นจริงเป็นรูปธรรมในแผ่นดินโลกนี้ เราทำพันธกิจนี้ด้วยสองแนวทางด้วยกันคือ แนวทางแรก เราจะเสริมสร้าง “ชาโลม” ในชีวิตคริสตจักร ด้วยการมีชีวิตที่หนุนเสริมร่วมไม้ร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเอื้ออำนวยและตอบสนองต่อความจำเป็นต้องการในชีวิตของกันและกัน เอาใจใส่เกื้อกูลหญิงหม้าย ลูกกำพร้า ผู้เจ็บป่วยทนทุกข์ ยอมรับและแบกภาระของกันและกัน และ ฯลฯ แนวทางที่สอง การประกาศถึงนิมิตหมายแห่งแผ่นดินของพระเจ้า กระทำทุกวิถีทางที่จะให้เกิดการคืนดีกันในทุกมิติของโลกนี้ตามพันธกิจที่พระคริสต์ทรงมอบหมายแก่เรา (โคโลสี 1:20) สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือที่พระเยซูคริสต์ทรงหมายถึงเมื่อพระองค์ตรัสสอนว่า “จงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้าก่อน” ?(มัทธิว 6:33 คือการ มุ่งที่จะทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าเป็นเป้าหมายอันดับแรกของผู้เชื่อทุกคน)

แผ่นดินของพระเจ้าได้ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องตามลำดับ เป็นแผ่นดินที่สถาปนา “ชาโลม” ศานติ กล่าวคือเป็นสังคมชุมชนที่มีระบบระเบียบชีวิตที่เหมาะสม มีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กันและกัน และเป็นชุมนุมชนที่หนุนสร้างให้เกิดการคืนดี เป็นชุมชนที่ห่วงใยเอาใจใส่กันและกัน อย่างไรก็ตามพันธกิจเช่นนี้ได้ถูกลดค่าและลดส่วนจากผู้ที่เรียกตนเองว่าคริสเตียนทั้งการตีความหมายของพระกิตติคุณ และ การกระทำสิ่งที่ดีในแนวทางของคริสเตียน ที่สำคัญที่สุดคือ การเป็นคริสเตียนที่ “สร้างศานติ” ให้เกิด “ชาโลม” บนโลกใบนี้ไม่สามารถที่จะแยกส่วนออกจากพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ เป็นส่วนที่ขาดเสียมิได้และเป็นส่วนพลังสำคัญในพระกิตติคุณ (ยอห์น 13:35; 17:20-23; 1เปโตร 2:12, 15-17)

ในทางกลับกัน กลุ่มผู้บริโภคนิยมได้ละเลยการเอาใจใส่ชีวิตภายในของตนเองในขณะที่ชีวิตภายในเต็มไปด้วยความว้าวุ่นรำคาญ หรือ สนุกสนานบันเทิง สำหรับคริสเตียนแล้วจะต้องจัดเตรียมให้มีพื้นที่ว่างในชีวิตสำหรับพระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา ผ่านทางการอธิษฐาน การมีเวลาที่จะอยู่คนเดียวกับพระเจ้า ในการใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ภาวนา เพื่อที่จะรับการสร้างใหม่จากพระเจ้า เพื่อที่จะมีบุคลิกชีวิตตามแบบพระคริสต์ แทนการที่ลอกเลียนแบบชีวิตตามแบบคนที่ตนปรารถนา คริสเตียนมิได้มีชีวิตเพื่อตนเอง แต่คริสเตียนกระทำสันติ “ชาโลม” ในทุกชีวิตที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และ เสริมสร้าง “ชาโลม” ในชุมชนที่เราเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย และนี่คือภารกิจเดียวกันกับพวกอิสราเอลที่ตกไปเป็นเชลยศึกในแผ่นดินบาบิโลน พระเจ้าทรงเรียกอิสราเอลเชลยศึกเหล่านี้ให้เป็นผู้สร้างศานติในแผ่นดินบาบิโลนว่า “ทั้งจงบากบั่นเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของนครซึ่งเราให้เจ้าตกไปเป็นเชลยนั้น จงอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อนครนั้น เพราะหาก(เขา)มันเจริญเจ้าก็จะเจริญด้วย” (เยเรมีย์ 29:7 อมตธรรม) การทรงเรียกของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราไม่ว่าในสถานการณ์ใดก็ตามคือการทรงเรียกให้เราแสวงหาและสร้างเสริม “ชาโลม” ศานติสุขในชุมชนนั้นๆ ที่เราอยู่ด้วย นี่รวมความถึงการสร้างเสริมระบบระเบียบในความสัมพันธ์ของเราในครอบครัว ในคริสตจักรของเรา ในที่ทำงานของเรา ในโรงเรียนที่เราเรียนหรือทำงาน ในชุมชน ในประเทศชาติ ในทุกเวลา ทุกที่ ทุกโอกาสที่เราจะเสริมสร้างเอื้ออำนวยให้เกิดศานติสุขได้

ขอยอมรับตรงๆ ว่า ไม่เป็นการง่ายเลยที่เราจะตัดสินใจและลงมือที่จะแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และ ทำการขับเคลื่อนเสริมสร้าง “ชาโลม” ในชุมชนนั้นก่อนชีวิตการงานที่เราต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตนเองต้องติดกับดักในวงจรอุบาทว์ของบริโภคนิยม เวลาที่คิดหาทางหลีกเลี่ยงการเป็นผู้สร้างศานติสุข เป็นที่น่าเสียใจจริงๆ ว่า บ่อยครั้งเหลือเกินที่เราสนใจแต่ศานติสุขของเราเอง สนใจแต่ความสะดวกสบาย สวัสดิภาพของตนเอง มากกว่าการทำงานเสริมสร้างศานติในชีวิตผู้คนที่พบปะสัมพันธ์ และ ในชีวิตชุมชนที่ตนอยู่ด้วย หรือ องค์กรที่เราทำงานด้วย แต่ด้วยพระคุณของพระเจ้าที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เล็กน้อย กล่าวคือคิดถึงสิ่งที่ตนสนใจให้น้อยลง แต่ให้ความสนใจและเอาใจใส่ชีวิตของพระคริสต์และความสนใจของพระองค์เป็นหลักและมากขึ้น เมื่อตอนเริ่มต้นมีชีวิตเช่นนี้เราอาจจะดูเหมือนว่าเรากำลังสูญเสีย แต่ตรงกันข้ามกลับเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามที่พระเจ้าประสงค์ให้เราเป็นเช่นนั้น แล้วทำให้เราเป็นคนที่มีชีวิตตามพระประสงค์ ที่มีสันติสุข สวัสดิภาพ และ กำลังใจที่แท้จริงที่เราได้ประสบพบ (ยอห์น 14:27) เราดำเนินบนวิถีทางนี้ด้วยความเชื่อศรัทธา และเมื่อเราต้องเผชิญความยากลำบากเราจะเห็นถึงการทรงหนุนช่วยและเสริมเพิ่มความเชื่อศรัทธาแก่เรา และเรายังปล้ำสู้อยู่บนเส้นทางนี้ เป็นเส้นทางที่เราต้องเดินไปไม่มีทางอื่นให้ “เบี่ยง” หรือหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเรารักพระคริสต์อย่างจริงใจ ให้เราเข้าร่วมในกระบวนการแสวงหา เคาะ และขอจากพระเจ้าผู้ประทานในสิ่งที่เราขาดทั้งในความเชื่อและความสามารถ

ในที่สุดนี้ อยากจะบอกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่า ในเป้าหมายปลายทาง เราจะไม่ได้พบสิ่งดีในการเข้าไปเป็น “ผู้บริโภคนิยม” เราจะพบแต่ความว่างเปล่า ไร้จุดหมายในชีวิต มิใช่ชีวิตที่เป็นพระประสงค์ การที่เราจะเป็น “ผู้สร้างศานติ” ที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน เปลี่ยนแปลงการใช้กำลังอำนาจ และการแก้ไข เปลี่ยนแปลง และเสริมสร้างโครงสร้างสังคมด้วยความรักของพระเจ้าด้วย “ศานติ” นั้น เราต้องยอมมอบกายถวายชีวิตจิตวิญญาณของเราแด่พระคริสต์ ยอมถ่อมตนในคริสตจักร และสนใจเอาใจใส่ผู้คนรอบข้างด้วยความรักของพระองค์

เรียบเรียงและสะท้อนคิดจากบทความของ S. Michael Craven
เรื่อง Consumers or Creators: Being of the World or Being God’s People

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น