27 มิถุนายน 2561

เราจะก้าวข้ามบาดแผลในชีวิตอย่างไร?

ในสงครามกลางเมืองของอเมริกา  ทำให้อเมริกันชนทั้งสองฝ่ายต้องเสียเลือดเสียเนื้อเสียชีวิตมากมาย  มากกว่าครั้งใดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ในอเมริกา   ประมาณกันว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งเหนือและใต้รวมกันในครั้งนี้ถึง 750,000 คน   ผู้นำสองคนที่นำคนละฝ่าย  ประธานาธิบดี เจฟเฟอร์สัน เดวิส (President Jefferson Davis)  และ นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนท์ (General Ulysses S. Grant) ที่ต่างดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน

ภายหลังที่ผู้นำทั้งสองตาย  ภรรยาหม้ายของทั้งสองคือ วารินา เดวิส (Varina Davis) และ จูเลีย แกรนท์ (Julia Grant) ได้มานั่งใกล้ชิดกัน   ถึงแม้ในอดีตสามีของทั้งสองจะมีความขัดแย้งและสร้างความโหดเหี้ยมในชีวิตของผู้คน   แต่หลังจากผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองตายไป   ภรรยาหม้ายทั้งสองกลับกลายเป็นเพื่อนสนิทตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

การที่คนเราจะมีการคืนดี  มีมุมมอง หรือ ทัศนคติที่ดีต่อกันเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง   คิดว่าตลอดระยะเวลาช่วงสงครามกลางเมือง ภรรยาของผู้นำทั้งสองคงไม่มีโอกาสที่จะพบปะกัน   ดูเหมือนว่าไม่เคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน   แต่เมื่อความขัดแย้งจบสิ้นลง   ทั้งสองกลับเอาความขัดแย้ง และ ความแตกต่างกันออกจากชีวิตตน   แล้วกลับมามีความสัมพันธ์ต่อกัน

การคืนดีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเย็นเหลือเกิน   แต่นั่นเป็นพระบัญชาจากพระคัมภีร์   ในชีวิตของคริสตชน การยกโทษ การให้อภัยมิใช่ทางเลือกของคริสตชน   แต่เป็นสิ่งที่คริสตชนจะต้องมีต้องปฏิบัติ   ถึงแม้ว่าอีกคนหนึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่ตนเคยคิดว่ายกโทษให้ไม่ได้ก็ตาม   แม้ว่าคน ๆ นั้นสร้างความขมขื่นใจและเจ็บปวดปานใดในชีวิตที่ผ่านมาก็ตาม   พระเจ้าทรงเรียกคริสตชนทุกคนให้ยกโทษ และ มุ่งหน้าไปสู่การเสริมสร้างสัมพันธภาพใหม่กับทุกคนรอบข้าง

แต่​จง​มี​ใจ​กรุ​ณา ใจ​สง​สาร และ​ใจ​ให้​อภัย​แก่​กัน​และ​กัน
เหมือน​อย่าง​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ให้​อภัย​พวก​ท่าน​ใน​พระ​คริสต์ (เอเฟซัส 4:32 มตฐ.)

การยกโทษ  การให้อภัย และ การเข้าไปหากันเพื่อสร้างการคืนดีมีสัมพันธภาพใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ได้รับความรู้สึกเจ็บปวด และเกิดบาดแผลในชีวิตที่บาดลงลึก   และยิ่งคนที่รู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่ถูกหักหลัง  ถูกทรยศ  ถูกเหยียดให้ด้อยค่า   แต่การที่จะมีการให้อภัย การยกโทษ เพื่อให้เกิดการคืนดีได้นั้น  

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทูลขอพระเจ้าโปรดเยียวยาบาดแผลในชีวิตของแต่ละฝ่าย  และเสริมสร้างสัมพันธภาพที่มีต่อกันขึ้นใหม่   เพื่อบาดแผลในอดีตจะได้รับการสมานแล้วเนื้อใหม่จะงอกขึ้นแทนที่ เป็นความสัมพันธ์ใหม่ในชีวิต

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

25 มิถุนายน 2561

ฉันเลือกที่จะเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้า

ในแต่ละวันเรามีสิ่งที่ต้องตัดสินใจเลือกมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง
ตั้งแต่ต้องตัดสินใจว่าจะใส่เสื้อตัวไหน  ไปจนถึงจะไปที่ทำงานด้วยเส้นทางใด
แม้แต่ในร้านกาแฟโปรดของเรา   เรายังต้องตัดสินใจว่าจะสั่งกาแฟอะไรดี

แต่มีการตัดสินใจเลือกที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งเหล่านั้นในแต่ละวัน
และน่าจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องตัดสินใจเลือก

เราต้องตัดสินใจว่า... เราจะเชื่อในพระสัญญาของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเราหรือไม่?

เมื่อเราตื่นมา... มีมากมายหลายเรื่องเหลือเกินที่เป็นเสียงโกหกหลอกลวงของมารเกี่ยวกับตัวเราเอง
คำหลอกลวงดังกล่าวเช่น...
“ฉันเป็นคนไม่ดีพอ  ไม่เก่ง  ไม่ฉลาดพอ”
“ปัญหาที่พบมันหนักเกินกว่าที่ฉันจะแก้ไขจัดการได้”
“วันนี้ฉันต้องไปไม่รอดแน่ ๆ”
“คนพวกนี้มันทำให้ฉันต้องหัวเสีย”
“วันนี้...ฉัน..........................”

ท่านเคยต้องประสบพบเจอเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกเช่นนี้ไหม?  ผมเชื่อว่าท่านเคยพบแน่
แต่เราไม่จำเป็นจะต้องให้ความคิดพวกนี้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำความนึกคิดจิตใจของเรา
เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเชื่อคำโกหกหลอกลวงของมาร

แต่เราสามารถเลือกที่จะฟังและเชื่อมั่นในพระสัญญาของพระเจ้าแทน เช่น
+ ฉันคือผู้มีชัยในสถานการณ์นี้ (โรม 8:37)
+ ชีวิตของฉันเต็มเปี่ยมด้วยความหวังและสันติสุข (โรม 15:13)
+ ฉันชนะทุกสิ่งได้ในทุกวันด้วยพระกำลังจากพระคริสต์ (ฟิลิปปี 4:13)
+ ฉันอยู่ในแผนการชีวิตแห่งสวัสดิภาพและความหวังของพระเจ้าที่มีสำหรับฉัน (เยเรมีย์ 29:11)

วันนี้ให้เรา...เลือกที่เชื่อในพระสัญญาของพระเจ้า  มากกว่าเชื่อในสิ่งอื่นใด!


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

22 มิถุนายน 2561

ด่านแรกของผู้นำคือ...ความไว้วางใจ

ผู้คน ประชาชนในยุคนี้หมดหวังกับผู้นำทั้งในวงการราชการ นักการเมือง การปกครอง การทหาร องค์กรเอกชน  และพวกพ่อค้านักธุรกิจ ลามไปถึงผู้นำขององค์กรศาสนา  ประชาชนต้องการผู้นำที่เป็นคนที่เขาไว้วางใจได้  มีอุปนิสัยและคุณลักษณะที่ดี   ถ้าใครก็ตามที่ต้องการเป็นผู้นำ หรือ คนที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในทางบวกสร้างสรรค์ที่ไว้วางใจได้พึงมีสำนึกและคุณลักษณะดังนี้

1. มีคุณลักษณะชีวิตที่เสมอต้นเสมอปลาย   เพราะสัมพันธภาพเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนสามารถไว้วางใจผู้นำคนนั้นได้  และความสัมพันธ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

2. ให้การสื่อสารที่สัตย์ซื่อจริงใจ   นอกจากการเป็นคนที่ไว้วางใจได้แน่นอนแล้ว   ผู้นำก็ยังต้องเป็นเหมือนนักประพันธ์เพลง   ที่ประพันธ์ทั้งทำนองและเนื้อเพลงสอดคล้องรับกันเป็นเนื้อเดียว  กล่าวคือ เนื้อคำพูดคำสอนและการกระทำสอดคล้องกัน เป็นเพลงเดียวกัน

3. ให้คุณค่ากับความโปร่งใส   ถ้าผู้นำสัตย์ซื่อจริงใจกับประชาชนคนรอบข้าง  และยอมรับจุดอ่อนที่เขามีอยู่   ผู้คนจะชื่นชมในความเปิดเผยจริงใจของผู้นำ   และผู้คนจะสามารถเข้าถึงติดต่อสัมพันธ์กับผู้นำได้ดียิ่งขึ้น และ ด้วยความสบายใจและวางใจได้

4. เป็นคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน   ประชาชนคนรอบข้างจะไม่ไว้วางใจผู้นำคนนั้นเลย  ถ้าผู้คนมองออกแล้วว่าผู้นำคนนั้นเอาตนเองเป็นใหญ่ เอาตนเองเป็นที่ตั้ง   เป็นคนที่ระแวงอิจฉาคนอื่น   หรือทำตัวว่าตนสำคัญกว่าประชาชน

5. เป็นคนที่ให้การสนับสนุนคนอื่น   ไม่มีอะไรที่จะพัฒนาหรือแสดงคุณลักษณะของผู้นำได้ดีกว่าความปรารถนาของตัวผู้นำที่ให้ความสำคัญคนอื่นก่อนตนเอง

6. เป็นคนที่รักษาและกระทำตามสิ่งที่สัญญาไว้   วิธีการที่จะทำลายความไว้วางใจที่ผู้คนมีต่อผู้นำได้รวดเร็วที่สุดคือ   การที่ผู้นำไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้

ผู้ปกครองที่ขาดสำนึกที่ดีก็รังแกประชาชน
แต่ผู้ที่ชิงชังการคดโกงฉ้อฉล การฉ้อราษฎร์บังหลวง จะมีชีวิตยืนยาว
(สุภาษิต 28:16 สมช.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

20 มิถุนายน 2561

...โกหกคำโตที่ต้องระวัง!

บ่อยครั้ง เมื่อเรามี “ความฝัน” ที่ยิ่งใหญ่ และ มีแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง   แต่หลายครั้งมิใช่หรือ ที่ความฝันก็ยังคงเป็นแค่เพียง “ความใฝ่ฝัน”  ความฝันเป็นเหมือนฝุ่นที่คลุ้งเกาะคลุมไปทั่วห้องทำงานของเรา?

ในประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม การวางเป้าหมายให้กว้าง ให้ใหญ่ และ ให้ไกลนั้น พบว่า “หินก้อนใหญ่” ที่วางขวางบนเส้นทางสู่ “ความฝันอันยิ่งใหญ่” คือคำว่า “เป็นไปไม่ได้” หลายคนติดแหงกอยู่กับการบอกตนเองว่า “ฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้”  “สิ่งนี้มันใหญ่เกินแบก ยากเกินแก้ แย่เกินกว่าจะเยียวยา”   “จ้างก็ไม่มีใครจะทำสิ่งใหญ่ ๆ นี้ได้!” 

“เป็นไปไม่ได้เป็น “โกหกคำโต”  ที่เราท่านพึงระวัง

ถ้าทุกคนในโลกนี้คิดว่า “เป็นไปไม่ได้”  ขณะนี้เราก็จะไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  การค้นพบสิ่งใหม่  ไม่มีวิธีการใหม่ ๆ  ไม่มีนวัตกรรม  ไม่มีการฝ่าฝันอุปสรรคจนเจริญก้าวหน้าในหลายด้านเฉกเช่นในปัจจุบันนี้  ตราบใดที่เรายังยึดรั้งตนเองให้จมจ่อมอยู่ในโคลนตมแห่งความสงสัย  กับดักของการขีดเส้นจำกัดศักยภาพของตนเอง   เราก็จะไม่สามารถที่ดึงและดันตนเองให้เคลื่อนทะลุไปสู่ “ความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ได้”

การที่จะให้ “ความฝัน” ก้าวไกล กลายเป็นจริงได้นั้น   มิได้อยู่ที่การคิดฝันเท่านั้น   แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงมือดำเนินการด้วย  เช่น  เมื่อเกิดความคิด เมื่อมีจินตนาการ ให้เอากระดาษสักแผ่นหนึ่งมาแล้วเขียนความคิด จินตนาการที่เกิดขึ้นลงบนกระดาษ   แล้วคิดและเขียนรายละเอียดลงในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น หรือ แต่ละจินตนาการลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวกันนั้น   แต่ก่อนจะไปไกลกว่านั้น   เอาอย่างงี้ได้ไหมครับ   ช่วยแยกแยะ ความคิด หรือ ประเด็นที่ใฝ่ฝันออกเป็นรายละเอียด 3 รายการใหญ่ ๆ ดังนี้ก่อน

1) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน สามารถทำได้
2) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน อาจจะ สามารถทำได้
3) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน ทำไม่ได้ และ เป็นไปไม่ได้ สำหรับท่าน

จากนั้น  ให้ท่านพิจารณาในรายละเอียดข้อที่ 1)  ที่ท่านจะมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำจนบรรลุให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในสิ่งที่ท่านรู้และมั่นใจแล้วว่าท่านสามารถจัดการประเด็นต่าง ๆ ในข้อนี้ได้   แล้วให้ทำเครื่องหมายในแต่ละประเด็นเมื่อท่านทำจนบรรลุความสำเร็จ   เมื่อท่านค่อย ๆ ทำไปในรายละเอียดให้สำเร็จทีละประเด็นย่อยท่านก็จะสามารถทำเครื่องหมายที่ท่านทำสำเร็จในทุกประเด็นที่อยู่ในข้อที่ 1) นี้   จากนั้นให้ท่านก้าวขึ้นไปสู่ข้อที่ 2) ที่เป็นรายละเอียดหรือประเด็นต่าง ๆ ในส่วนที่ท่านบอกว่า อาจจะสามารถ ทำให้บรรลุสำเร็จได้

เมื่อท่านก้าวเข้ารายละเอียดในข้อที่ 2)   ที่ท่านยังไม่มั่นใจนักว่าตนเองจะสามารถทำสำเร็จได้นั้น   ก็ให้ทำเช่นเดียวกับที่ทำในข้อที่ 1) คือเรียงรายละเอียดเป็นประเด็นย่อย   แล้วค่อย ๆ ดำเนินการไปทีละหัวข้อย่อย  ลงมือทดลองทำในส่วนที่จะลงมือทำได้  แล้วดูว่าเกิดผลเช่นไร  แล้ววิเคราะห์ว่า ทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น(เพราะอะไร  เพราะทำอย่างไร)  แล้วมีอะไรที่น่าจะทำให้ดีกว่านี้เพื่อให้บางรายละเอียดเกิดผลตามที่ตั้งใจไว้   จะต้องเพิ่มรายละเอียดในการทำอะไรบ้าง  แล้วลงมือทำใหม่  แล้วดูผลที่ตามมา  

กระบวนการที่ทำแล้วคิด คิดแล้วทำ ทำให้เราได้พบทางพัฒนาในการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นย่อย  จนสามารถขับเคลื่อนสำเร็จได้  มิใช่ขับเคลื่อนได้เท่านั้นแต่ยังเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะสำเร็จได้   และนี่คือองค์ความรู้ที่เราสามารถนำไปใช้ในการทำงานอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา   และในที่สุด ท่านจะเห็นความจริงว่า สิ่งที่ท่านเห็นว่าอาจไม่สามารถทำได้ กลายเป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้อย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน 

เมื่อท่านก้าวถึงความสำเร็จในขั้นตอนข้อที่ 2)   แน่นอนครับท่านก็ไม่กลัวแล้วที่จะก้าวขึ้นไปในขั้นตอนข้อที่ 3) รายละเอียดในประเด็นที่ท่านมองว่า ท่านไม่สามารถทำได้ หรือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้   กระบวนการในการดำเนินการในข้อนี้ก็ไม่ยากเย็นซับซ้อนไปกว่า ข้อที่ 1) และ 2)   คือ เขียนประเด็นย่อยในข้อนี้ว่ามีอะไรบ้าง   แล้วค่อยพิจารณาไปทีละข้อ  ทำไมเราถึงคิดว่าทำไม่ได้?   เพราะอะไรเราถึงคิดเช่นนั้น?   ถ้าเราจะลองทำในหัวข้อย่อยนี้ดู  เราจะทดลองทำอย่างไร?  แล้วลงมือทำ  และดูว่าเกิดผลอย่างไร?  ถามต่อไปว่าทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น?   และถ้าจะทำให้เกิดผลที่ดีในด้านนี้ เราจะต้องทำอย่างไร?  แล้วลงมือทดลองทำใหม่   นี่เป็นกระบวนการทำแล้วคิด คิดแล้วทำใหม่  เป็นกระบวนการแสวงหาการเรียนรู้ผ่านการกระทำด้วยมือของเราเอง  และเราได้รับประสบการณ์เรื่องนั้นแบบเป็นประสบการณ์ตรง หรือ ประสบการณ์มือหนึ่งเลยทีเดียว 

ในที่นี้อยากบอกและให้กำลังใจว่า กระบวนการนี้ช้าหน่อยแต่สำเร็จแน่!  

และนี่คือกระบวนการ “แทะทีละนิดเพื่อพิชิตบ้านใหญ่ทั้งหลัง”  

ใช่ครับปรัชญาชีวิตของปลวกครับ!   ใครจะไปคิดได้ว่า ปลวก ตัวกระจิริดจะไปกินบ้านใหญ่โตทั้งหลังได้อย่างไรกัน?   และนี่คือกระบวนการการคิดและการทำงานชีวิตให้บรรลุเป้าหมายใหญ่และกว้างไกลตามที่ต้องการ  ก้าวทีละก้าว  กินข้าวทีละคำ  คุณค่าที่แท้จริงในที่นี้คือ คุณค่าที่เราสามารถก้าวออกไปทีละก้าวครับ   แต่ไม่ได้อยู่ที่เราไปได้หมื่นลี้ แสนกิโล

ด้วย “ปรัชญาชีวิตการทำงานของปลวก” นี้เองที่โลกเราได้ก้าวหน้า  คิดค้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  ประดิษฐ์สิ่งดีมีประโยชน์มากมายต่อชีวิตผู้คนบนโลกนี้   เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง  และยังจะก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง  และจุดเริ่มต้นของสิ่งนี้คือ คนมีความคิด คนมีจินตนาการ  คนมีความใฝ่ฝัน  ฝันใหญ่ ฝันไกล และสำคัญพอ ๆ กันคือ ฝันแล้วต้องกล้าที่จะลงมือทำ  กล้าที่จะทำแม้มันไม่เกิดผลอย่างที่คิด  และสิ่งที่สี่ที่สำคัญพอกันคือ  ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำ  ย่อย และ ซึมซับประสบการณ์ที่ได้รับเข้าไปให้ก่อตัวในชีวิตจิตวิญญาณของเราเป็น “ปัญญา” ที่จะใช้ในชีวิตก้าวต่อไป 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

18 มิถุนายน 2561

พระเจ้าแห่งการพลิกฟื้นคืนสู่สภาพดี

ให้เราอธิษฐานทูลขอการพลิกฟื้นคืนดีสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยกัน

พระบิดา ผู้ครอบครองในสวรรค์  
พระผู้ทรงพลิกฟื้นสิ่งต่าง ๆ ให้คืนสู่สภาพดีสมบูรณ์โดยทางพระเยซูคริสต์

ลูกขอพระองค์โปรดช่วยพลิกฟื้นชีวิตส่วนที่เสื่อมโทรม  ฉ้อฉล และ ที่สูญเสียไป
ขอโปรดพลิกฟื้นลูกสำหรับวันที่อยู่ข้างหน้า  สัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง
ในเดือนและปีที่คืบคลานเข้ามาใกล้
โปรดพลิกฟื้นสุขภาพร่างกายของลูกให้แข็งแรงและแข็งแกร่ง  ดั่งขุนเขา
โปรดพลิกฟื้นจิตวิญญาณ ความนึกคิดของลูกให้กลับฟื้นชื่นขึ้น  สดชื่น ดั่งดอกบานยามเช้า
โปรดพลิกฟื้นพลังกาย ใจ ความคิด และ ปัญญา ให้สุขุม รอบคอบ มั่นคง ที่เอื้ออาทร
โปรดพลิกฟื้นอาชีพ การงาน และความรับผิดชอบในประจำวันที่เอื้อ  เสริมหนุน  และค้ำจุนคุณค่าของกันและกัน
โปรดพลิกฟื้นความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนรอบข้างทั้งในที่ทำงาน ชุมชน และในบ้าน
โปรดพลิกฟื้นความสัมพันธ์ที่ลูกมีต่อพระองค์
โปรดพลิกฟื้นความสัมพันธ์ภายในตัวลูกเองให้มีเอกภาพในสัมพันธภาพกับพระองค์
โปรดพลิกฟื้นการเงิน หนี้สิน การลงทุนของลูก  
เพื่อใช้เป็นเครื่องหนุนเสริมให้มีชีวิตที่ให้คุณค่าต่อตน คนอื่น และสิ่งแวดล้อม
โปรดพลิกฟื้นทั้งชีวิตของลูกด้วยพลังแห่งการพลิกฟื้นคืนดีสู่สภาพสมบูรณ์โดยพระเยซูคริสต์

ขอบพระคุณพระบิดาที่ใส่ใจ และ กระทำสิ่งดีในชีวิตลูกเสมอมา

ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า
อาเมน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

15 มิถุนายน 2561

กรอบคิดกรอบเชื่อ ทำให้เขาเป็นอย่างที่เขาเชื่อและคิด

ถ้าเราเชื่อเราคิดตามกระแสโลกที่ล้อมรอบเรา  ความเชื่อความคิดของโลกก็จะมีอิทธิพลทำให้ชีวิตของเราเป็นไปตามกระแสสังคมโลก   เราเชื่ออย่างไรเราก็ถูกกำหนดถูกหล่อหลอมพฤติกรรมที่แสดงออกของเราไปตามอิทธิพลของกระแสคิดและเชื่อของสังคมดังกล่าว   พฤติกรรมที่เราแสดงออกคือตัวกำหนดเป้าหมายชีวิตของเรา   หลักการนี้เกิดเป็นจริงกับทั้งคริสตจักร  องค์กร  ประเทศ  หรือ แม้แต่สังคมโลกเราด้วย   กล่าวโดยภาพรวมคือ  ชีวิตของเราเป็นไปตามระบบคุณค่าและคุณธรรมที่เรายึดถือ  (ที่เป็นระบบคุณค่าที่กำหนดโดยกรอบคิดกรอบเชื่อของเรา)

ปัญหาที่น่าหนักใจคือ   คริสตชนถูกกรอบเชื่อกรอบคิดตามกระแสสังคมโลกปัจจุบันเข้ามาทำลายและเข้ายึดพื้นที่หลักเชื่อหลักคิดบนรากฐานสัจจะของพระกิตติคุณที่ควรจะเป็นรากฐาน หรือ แก่นกลางในกรอบคิดกรอบเชื่อของคริสตชน

แล้วหลักเชื่อหลักคิดตามกระแสสังคมโลกปัจจุบันที่แทรกซึมเข้ามายึดพื้นที่กรอบเชื่อความคิดของคริสตชนมีอะไรบ้าง?

1เสรีปัจเจกนิยม:  เข้ามาแทนที่ความเป็นไทในพระคริสต์ 

กรอบเชื่อกรอบคิดแห่งสัจจะของพระคริสต์เท่านั้นที่ให้ความเป็นไทแก่ชีวิตมนุษย์ที่พระคริสต์กอบกู้ให้หลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจความบาปชั่ว   มาสู่ชีวิตที่เสรีหรือมีความเป็นไทในพระคริสต์  ที่ดำเนินชีวิตตามแผนการและพระประสงค์ของพระคริสต์  ในขณะที่เสรีปัจเจกนิยม  หรือ เสรีตามใจฉัน  ที่คน ๆ นั้นคิด ตัดสินใจ และมีพฤติกรรมตามใจตามความต้องการของตนเอง  จะผิดจะถูกอยู่ที่การพิจารณาตัดสินตามใจของเจ้าตัว  แม้คนอื่นจะมองว่าการทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง   แต่ถ้ามีประโยชน์ ดีต่อตนเอง  ก็จะตัดสินใจทำ  กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว   เอาตนเองเป็นที่ตั้ง  อย่างที่ปรากฏในพระคัมภีร์ผู้วินิจฉัย 21:25 “ใน​สมัย​นั้น​ไม่​มี​กษัตริย์​ใน​อิส​รา​เอล ต่าง​ก็​ทำ​ตาม​ที่​ตน​เอง​เห็น​ชอบ”  หรือเป็นเหมือนผู้นำที่ชื่อว่าแซมสัน   ที่ตัดสินใจตามใจตนเอง  เมื่อแซมสันต้องการที่จะแต่งงาน  พ่อแม่ให้แซมสันหาหญิงที่เหมาะสมในหมู่อิสราเอล  มิใช่หญิงฟาลิสเตีย เพราะเขาเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า   แต่แซมสันกลับเอาแต่ใจตนเอง  ตอบพ่อแม่ว่า “ไป​ขอ​นาง​ให้​ลูก​ที เพราะ​นาง​ต้อง​ตา​ต้อง​ใจ​ลูก​มาก” (ผู้นิจฉัย 14:3 มตฐ.)

2โลกียนิยม หรือ โลกนิยม: 

พูดง่าย ๆ สั้น ๆ ของหลักเชื่อหลักคิดในที่นี้คือ “พระเจ้าไม่สำคัญ” “ไม่จำเป็นต้องมีพระเจ้า”  เป็นการขับดันความคิดเรื่องพระเจ้าออกไปจากทุก ๆ มิติในชีวิตของเรา   จนถึงหน่วยย่อยลงไปทั้งในด้านการศึกษา  การปกครองสังคมชุมชน  ความสัมพันธ์ในครอบครัวถึงระดับประเทศ และ ในโลกปัจจุบัน   แต่ที่น่าหนักใจอย่างยิ่งคือ   คริสตชนจำนวนมากในปัจจุบันนี้ต้องตกอยู่ใต้อิทธิพล กรอบเชื่อกรอบคิดนี้  แม้ว่าคริสตชนกลุ่มนี้จะบอกตรง ๆ ว่าเขายังเชื่อในพระเจ้า  แต่คริสตชนกลุ่มนี้ดันให้พระเจ้าไปอยู่ในมุมที่ถูกจำกัดพื้นที่ทั้งกาละเทศะ  ให้พระเจ้าไปอยู่ที่คริสตจักรในวันอาทิตย์ตอนเช้าเท่านั้น   เขาไม่ให้พระเจ้าไปป้วนเปี้ยนในชีวิตประจำวันของเขา  ในที่ทำงาน  ในกลุ่มเพื่อ  ในชุมชนและประเทศ

3ไม่มีสัจจะที่ตายตัว: 

หลักคิดหลักเชื่อของคนกลุ่มนี้คือ  สัจจะของฉันไม่จำเป็นต้องเป็นหรือเหมือนสัจจะของคุณ  คนกลุ่มนี้จะคิดจะเชื่อว่า  สัจจะจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์แวดล้อม   ตามบริบท  ตามวัฒนธรรม  ดังนั้น จึงไม่มีสัจจะที่จริงแท้ตายตัว หรือ มีสัจจะที่เป็นหนึ่งเดียว   ดังนั้น  เขาจึงมิได้ยึดถือสัจจะหนึ่งเดียวของพระเจ้าที่จะใช้เป็นมาตรฐานในการชี้วัด   ซึ่งอิทธิพลความคิดเช่นนี้กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในสังคมปัจจุบันนี้

คริสตชนจะต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิตประจำ   อย่าให้อิทธิพลความคิดความเชื่อทั้ง 3 ประการที่มีอิทธิพลของกระแสสังคมเข้ามาครอบงำกรอบคิดกรอบเชื่อของเรา  อิทธิพลทั้ง 3 ประการคือ เสรีปัจเจกนิยม  โลกียนิยม  และสัจจะความจริงแท้ไม่มีจริง  หรือ สัจจะความจริงไม่ใช่สิ่งตายตัว  แต่เปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อมชีวิต

ถ้าสังคมถูกครอบงำด้วยอิทธิพลจากกระแสสังคมปัจจุบันทั้ง 3 ประการจะทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ  สังคมที่เราอยู่จะมีแต่ผู้คนที่เอาตนเองเป็นที่ตั้งเป็นหลัก  เป็นคนที่เห็นแก่ตัว  สังคมก็จะเคลื่อนไปอย่างโงนเงน ไม่มั่นคง หวั่นไหว  นำสู่ความขัดแย้งวุ่นวาย   ผู้คนจะไม่มีใครที่จะอุทิศทุ่มเทเพื่อสัจจะสูงสุด  สำหรับคริสตชนคือพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์  

คริสตชนที่ถูกกระแสอิทธิพลนี้ครอบงำจะยังบอกคนอื่นว่า เขาเป็นสาวกของพระคริสต์  เขาเป็นคริสเตียน   แต่การคิดการตัดสินใจ และ พฤติกรรมที่เขาแสดงออกคือ   เขาเลือกทำตามสิ่งที่เขาเห็นว่าถูกว่าควรสำหรับเขา   เขาทำเพื่อความต้องการของตนเอง   เขาเห็นแก่ตนเองมากกว่าที่จะทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   สิ่งที่ตามมาในระยะยาว  เกิดความสับสน ขัดแย้ง ล่มจมขึ้นในวงการคริสตจักร และ สังคมโลกที่คนพวกนี้อาศัยอยู่

เมื่อรากฐานถูกทำลายลงแล้ว
คนชอบธรรมจะทำอะไรได้? (สดุดี 11:3 อมธ.)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

13 มิถุนายน 2561

ทำไมไม่สร้างสาวกอย่างที่พระคริสต์สร้าง?

พระเยซูคริสต์ทรงเทศนาแก่ฝูงชน  แต่ใช้เวลาทุ่มเทสร้างสาวกเพียง 12 คน   และในจำนวนนั้นทรงใช้เวลามากพิเศษกว่าคนอื่น ๆ กับสาวก 3 คน (เปโตร ยากอบ และ ยอห์น)  และดูเหมือนว่าใช้เวลามากกว่าเพื่อนกับเปโตร   ผู้นำคริสตจักรหลายคนมิได้ทำเช่นนี้ ...

และต่อไปนี้...คือเหตุผลที่ได้จากการสังเกตว่าทำไมผู้นำคริสตจักรไม่ทำเช่นนั้น

1. เรามักสอนสาวกแบบชั้นเรียนทีละหลาย ๆ คน  และใช้เวลาฝึกฝนชีวิตด้านต่าง ๆ และ ในการเป็นพี่เลี้ยงของสาวกพระคริสต์ก็มิได้ทำแบบคนต่อคน   ตั้งแต่ผมเห็นการสร้างสาวกในคริสตจักร   ทั้งหมดผมเห็นเป็นการสอนในชั้นเรียน  มีผู้เรียนทีละหลาย ๆ คน   เป็นการส่งผ่านข้อมูลความรู้มากกว่าสร้างสาวก   และเห็นว่าทั้งผู้สอนและคนในคริสตจักรต่างเห็นว่าชั้นเรียนยิ่งใหญ่ยิ่งดี   การสอนเรื่องสาวกพระคริสต์ทีละไม่กี่คนดูมันจืดชืด ไม่ตื่นเต้น

2. ผู้สอนกลัวว่า ถ้าสร้างสาวกแบบกลุ่มเล็ก ๆ และ แบบตัวต่อตัว   จะถูกมองว่าเลือกที่รักมักที่ชัง หรือ เป็นการเล่นพรรคเล่นพวก   ถ้าผู้สร้างสาวกใช้เวลากับกลุ่มเล็ก 1-3 คนนั้นมากกว่าคนอื่น ๆ ในกลุ่ม กลัวอาจจะสร้างความเข้าใจผิดว่า  ผู้สร้างสาวกลำเอียงเอาใจใส่ 3 คนนี้มากกว่าคนอื่น ๆ   เมื่อกลัวเช่นนี้จึงไม่ได้สอนลงลึกในกลุ่มเล็กเฉพาะคน

3. ถ้าเป็นการสร้างสาวกแบบตัวต่อตัว หรือ แบบกลุ่มเล็ก ๆ  ผู้สร้างสาวกหลายคนไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  (เพราะผู้สร้างสาวกมักคุ้นชินกับการสอนแบบชั้นเรียน   เพราะเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน   และผู้สร้างสาวกในกรณีนี้ส่วนใหญ่เกือบทุกคนเป็นคนสร้างสาวกที่ไม่เคยถูกสร้างให้เป็นสาวกมาก่อน   ดังนั้น การสร้างสาวกแบบเข้าถึงชีวิตรายบุคคลจึงเป็นเรื่องแปลก  ที่ตนไม่คุ้นชินที่จะทำ

4. ต้องใช้เวลามาก   ถ้าเลือกที่จะสร้างสาวกแบบตั้งใจสร้างเป็นรายบุคคลต้องใช้เวลาอันมีค่ามากมาย   แล้วจะเอาเวลาจากที่ไหนมาทำเช่นนั้น?

5. มองว่าเป็นวิธีที่เสี่ยง   การที่ผู้สร้างใช้เวลาเป็นพิเศษกับบางคน  กลัวว่า คนที่ตนกำลังสร้างให้เป็นสาวกจะรู้เรื่องราวชีวิตของตนในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นกว่าปกติ   หลายคนไม่พร้อมที่จะให้คนอื่นรู้ลึกในรายละเอียดชีวิตของตนมากเกินไป

6. มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมากว่า งานของตนเป็นการศึกษา การสอน และ การเทศน์พระวจนะเท่านั้น   ทั้งพระเยซูคริสต์ และ เปาโล ได้ทำให้เห็นชัดแล้วว่า   การเป็นผู้อภิบาล สร้างสาวกทำมากกว่านั้นอีกมากมาย

7. ผู้อภิบาล หรือ ผู้นำคริสตจักร เข้าใจว่างานของตนทำเพื่อการเกิดผลในปัจจุบัน  ไม่ได้คิดถึงชีวิตคริสตจักรในอนาคต   เพราะผู้อภิบาลหลายคนทำงานให้บรรลุตามตัวชี้วัด  ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน   แต่น้อยนักที่จะให้บรรลุผลกระทบต่ออนาคต

8. ผู้อภิบาลบางท่านมีประสบการณ์เชิงลบกับการทำพันธกิจในอดีต   ผู้นำบางคนเคยทุ่มเทสร้างผู้นำรุ่นใหม่  แต่ผู้นำใหม่กลับมาหักหลังทำร้ายตน ดังนั้น จึงเข็ดหลาบที่จะสร้างสาวกในกระบวนการนั้นซ้ำอีก

9. มองว่าการสร้างสาวกแบบกลุ่มเล็กหรือตัวต่อตัวมิใช่ส่วนหนึ่งในพันธกิจที่ตนรับผิดชอบ   ผู้นำคริสตจักรกลุ่มนี้มองว่า การสร้างสาวกแบบตัวต่อตัวเป็น “งานพิเศษ” ที่เพิ่มขึ้นมา   แต่ตนมีงานมากมายที่ต้องรับผิดชอบ   เขาจะทำและทุ่มเทถ้าเขามีเวลาเหลือจากงานหลัก   แต่เขามองไม่เห็นว่า นี่เป็นการสร้างผู้นำที่ตนสามารถจะมอบหมายให้เขาเข้ามาร่วมทำงานพันธกิจกับตน  ตนไม่ต้องทำอยู่คนเดียวในอนาคต

10. มักบอกว่า  ไม่มีใครที่มากระตุ้นท้าทายให้เขาสร้างสาวกแบบตัวต่อตัว ตามแนวทางแบบพระคริสต์   แต่ปัจจุบันมีการท้าทายมากมายหลายทาง   ทั้งในสื่อหนังสือสิ่งพิมพ์  สื่อออนไลน์  และข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย   แต่อยากจะบอกว่า การที่จะทุ่มเทสร้างสาวกแบบจริงจังคนต่อคน ชีวิตต่อชีวิต แบบพระคริสต์นี้เป็นเรื่องที่เกิดจากใจ คือ ตั้งใจ และ เต็มใจที่จะทำ   และยังทำอย่างมีขั้นตอนแผนงานขับเคลื่อนที่ชัดเจน   เพื่อจะเทพลังชีวิตให้กับผู้เชื่อกลุ่มเป้าหมายเล็ก ๆ นี้เหมือนกับพระคริสต์  เราสามารถเริ่มต้นแม้จะมีเพียงคนที่เราจะสร้าง 1 คนก็ตาม


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

11 มิถุนายน 2561

คริสตชนกับทรัพย์สินเงินทอง

เรื่องราวมานา  เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคริสตชนในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง

แต่​เมื่อ​พวก​เขา​ใช้​เครื่อง​ตวง คน​ที่​เก็บ​ได้​มาก​ก็​ไม่​มี​เหลือ และ​คน​ที่​เก็บ​ได้​น้อย​ก็​ไม่​ขาด​แคลน
ทุก​คน​เก็บ​ได้​เท่า​ที่​คน​หนึ่ง​รับ​ประ​ทาน​ได้ (อพยพ 16:18 มตฐ.)

เมื่อพระเจ้าประทานมานาแก่คนอิสราเอล (อพยพ 16:1-36) เรื่องนี้มิได้บอกเราเพียงแต่ว่า พระเจ้าทรงเลี้ยงดูประชากรของพระองค์แก่เราเท่านั้น   “ประสบการณ์มานา” มีคำสอนที่สำคัญและทรงพลังแก่เราด้วย   ประสบการณ์มานาสอนถึงเรื่องความสัตย์ซื่อ และ ความอดทนของพระเจ้า   ที่มีต่อประชากรที่ขี้บ่น และ จิตวิญญาณที่มีความเชื่อวางใจในพระเจ้าเพียงน้อยนิด

เรื่องราวมานา อพยพ 16:1-36

หลังจากที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ประชากรอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์   เมื่อต้องเดินทางในถิ่นทุรกันดารไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา  พระเจ้าได้ทรงประทานอาหารที่จำเป็นสำหรับพวกเขา  พระองค์ทรงประทานมานาแก่ประชากรทุกเช้า  และประทานเนื้อในตอนเย็น   และนี่เป็นของประทานจากพระเจ้า   และเวลาเดียวกันเป็นการทดสอบเพื่อการเรียนรู้ของพวกเขาว่า  เขาเห็นความสำคัญและสนใจในอาหารที่พระองค์ประทานแก่พวกเขา หรือ พวกเขามุ่งใส่ใจต่อพระเจ้าที่ทรงดูแลเอาใจใส่พวกเขา

หลักเกณฑ์การรับของประทานจากพระเจ้ามีเพียงง่าย ๆ คือ  ให้แต่ละครอบครัวเก็บอาหารให้พอเพียงตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว   ทุกครอบครัวจะไม่สั่งสมส่วนเกินด้วยความโลภ  แต่ให้ไว้วางใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้าที่จะประทานอาหารในแต่ละวันแก่พวกตน   นอกจากวันที่หกของสัปดาห์ให้แต่ละครอบครัวเก็บอาหารเป็นสองเท่าของวันปกติ   เพื่อมีรับประทานในวันที่เจ็ดคือวันสะบาโต

เรื่องนี้ได้ให้บทบาทชีวิตมากมายแก่เรา   ประการแรก เราได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ  ประทานอาหารแก่ประชากรอิสราเอลเพื่อพวกเขาจะพุ่งความสนใจมุ่งมาที่ “พระเจ้าผู้ทรงประทาน”   แต่เมื่อใดก็ตามที่ประชากรมุ่งความสนใจไปที่ “ของประทาน”  สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ  ความโลภและเสียงบ่นของประชากร   เมื่อเรามุ่งความสนใจไปที่พระเจ้าผู้เป็นแหล่งแห่งความจำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา  เราชื่นชมและและเกิดความสำนึกในพระคุณพระเจ้า (อ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 8:1-3)  

สิ่งสำคัญ ประการที่สอง  ของประทานจากพระเจ้ามีเพียงพอสำหรับทุกคน

เปาโลเปรียบเรื่องมานากับเงินทอง

เปาโลได้ใช้เรื่องราวมานาในการอ้างอิงเมื่อท่านกล่าวถึงว่า คริสตชนควรคิดเช่นไรเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง   ในจดหมายฉบับที่สองที่เขียนถึงคริสตจักรโครินธ์  ท่านได้ขอร้องด้วยความจริงใจให้ช่วยคริสตชนในกรุงเยรูซาเล็มที่กำลังขัดสนด้วยการชักจูงให้ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ  (ไม่ว่าในการอ้างถึงความช่วยเหลือที่คริสตจักรมาซิโดเนียได้ให้  พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างในการให้  และ อื่น ๆ)   และที่สำคัญคือทั้งสิ้นนี้ได้ให้ด้วยใจกว้างขวาง

เมื่อเปาโลพยายามโน้มน้าวให้คริสตจักรโครินธ์ในการให้ความช่วยเหลือคริสตชนในเยรูซาเล็ม   เปาโลได้อ้างถึงเจตนาของพระเจ้าในการประทานมานาแก่ประชากรอิสราเอล

ให้ตาม​ความ​สา​มารถ​ที่​มี​อยู่​...พระ​เจ้า​ก็​จะ​ทรง​รับ​ตาม​ที่​เขา​มี​อยู่ ไม่​ใช่​ตาม​ที่​เขา​ไม่​มี  ... ตาม​ที่​เขียน​ไว้​ว่า  “คน​ที่​เก็บ​ได้​มาก​นั้น ไม่​มี​เหลือ   และ​คน​ที่​เก็บ​ได้​น้อย​ก็​ไม่​ขาด” (2โครินธ์ 8:12-15 มตฐ.)

มานาและทรัพย์สินเงินทอง

ในข้อสุดท้ายข้างต้น(ข้อ 15) เป็นการคัดลอกจาก อพยพ 16:18  ในเรื่องราวมานา   เปาโลไม่ได้ประสงค์ที่จะให้คริสตชนในโครินธ์ยากจนลงและให้คริสตชนในเยรูซาเล็มมั่งคั่งขึ้น   แต่เปาโลต้องการที่จะให้ของประทานจากพระเจ้ามีเพียงพอสำหรับทุกคน   เปาโลต้องการเห็นการเผื่อแผ่ แบ่งปันแก่กันและกัน  ตามความจำเป็นในชีวิตแก่กันและกันด้วยความเต็มใจ  

เปาโลมีความคิดว่า   พระเจ้าประสงค์ให้เราประยุกต์ใช้เรื่องราวมานาถึงการใช้จ่ายเงินทองของคริสตชน   เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะเราแต่ละคนต่างต้องการมีส่วนที่สะสมเผื่อไว้เพื่อว่าตนจะมีใช้เพียงพอในอนาคต หรือในเวลาที่เราจำเป็นต้องการ  ในเวลาเช่นนั้นเราถึงจะพึ่งตนเองได้???  

ถ้าเช่นนั้น  เราวางใจในทรัพย์สินเงินทองที่พระเจ้าประทานให้เรา  มากกว่าที่จะไว้วางใจพระเจ้าผู้เป็นแหล่งประทานสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของเราใช่ไหม?

การที่จะให้คริสตชนพุ่งความสนใจไปที่พระเจ้าผู้ประทานสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น  เป็นสิ่งที่ยากสำหรับทั้งประชากรอิสราเอล และ คริสตชนในโครินธ์  และสำหรับเราด้วย   ส่วนมากแล้วเรามักมุ่งความสนใจไปที่สิ่งของที่พระเจ้าประทานให้มากกว่า

บทเรียนที่เราได้รับจาก อพยพ 16:1-36  ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องความมั่งคั่งกับการให้การแบ่งปันของเราในชีวิตประจำวัน
  • ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้มาต้องมองว่าเป็นของประทานจากพระเจ้า   ที่เราเป็นและมีอยู่นี้ก็เพราะพระเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อเรา   และการที่เราจะมีชีวิตที่ตอบสนองต่อความสัตย์ซื่อของพระเจ้า  คือการที่เราไว้วางใจในพระองค์สำหรับอนาคตของเรา
  • ให้เราระมัดระวังอย่างมากสำหรับตัวเราที่มีแนวโน้มจะโลภ  สะสมเก็บรักษาเกินกว่าที่เราจำเป็น   ประเด็นนี้หลายท่านกังวลเกี่ยวกับการออมสำหรับเมื่อเกษียณอายุ  (เราไม่ไว้วางใจพระเจ้าสำหรับอนาคตของเราหรือเปล่า?  หรือเราไว้วางใจในทรัพย์สินเงินทอง?)
  • ส่วนเกินจากที่เราจำเป็นในชีวิตควรมองว่าส่วนนั้นมีไว้เพื่อช่วยให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จำเป็นในชีวิต  และนี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เราใช้ส่วนเกินความจำเป็นเพื่อการนั้น   พระเจ้าทรงเป็นความมั่นคง  ความมั่งคั่ง ยั่งยืนที่แท้จริงในชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงสัตย์ซื่อ   และพระองค์ประทานให้พอเพียงสำหรับทุกคน


เมื่อพระเยซูคริสต์เตือนไม่ให้สั่งสมสิ่งต่าง ๆ ที่เกินความต้องการเพื่อตัวเราเองในโลกนี้   มิใช่เพียงเพราะไม่ให้ความมั่งคั่งสูญเสียไป   แต่เตือนว่า...ความมั่งคั่ง (มันไม่ยั่งยืน) ย่อมเสื่อมสูญไป  เราต้องตระหนักชัดว่า มันอยู่กับเราเพียงชั่วครู่เท่านั้น  แต่เราจะต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์เกิดคุณค่าที่แท้จริง  

สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว  การสั่งสมทรัพย์สินเงินทองเพื่อตนเอง  มิเพียงแต่เป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์   แต่เป็นการวางแผนแบบคนโง่อีกด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

08 มิถุนายน 2561

เมื่อมารทำให้พระมหาบัญชาหมดพลัง?:

แยกการประกาศพระกิตติคุณออกจากการสร้างสาวกพระคริสต์

เมื่อมารเข้ามาขวางให้พระมหาบัญชาของพระคริสต์หมดแรงสิ้นพลัง   มารมิได้ทำให้คริสตจักรของพระคริสต์หยุดทำพันธกิจตามพระมหาบัญชา   เพียงแต่หลอกล่อให้คริสตจักรแยกการประกาศพระกิตติคุณออกจากการสร้างสาวก   โดยให้ทั้งสองกลุ่มมีกรอบคิดกรอบเชื่อที่แตกต่างกัน   สองกลุ่มนี้ไม่ถึงกับต้องทะเลาะกัน   แต่สองกลุ่มนี้ต่างคนต่างทำ ไม่ประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือไม่บางคริสตจักรเลือกออกไปประกาศ และบางคริสตจักรเลือกการสร้างสาวก

พวกหนึ่งถูก “ใส่ความคิด”   ว่า     เพื่อให้คริสตจักร และ คริสต์ศาสนาเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก    ดังนั้น คริสตจักรควรเน้นเรื่องการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแบบคริสตชนในคริสตจักร   ให้สังคมโลกมองเห็นว่า        คริสตจักรเป็นชุมชนที่มีคุณภาพที่ชีวิตที่ดี  ที่เอื้ออาทรต่อกัน   ที่รักกัน   ดังนั้นคริสตจักรเหล่านี้มักเน้นให้สมาชิกอยู่กันแต่ในรั้วคริสตจักร   สนใจตนเอง  สร้างชุมชนคุณภาพของตนเอง  ส่วนมากมักพบว่าเป็น        คริสตจักรที่มีอายุยาวนาน   เน้นเรื่องชั้นเรียนคริสเตียนศึกษาที่ให้ความสำคัญกับความรู้ในสิ่งที่ตนเชื่อ เน้นการส่งทอดความเชื่อแก่ลูกหลาน   ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนปัญญาชน   เป็นชุมชนที่มิได้เชื่องมงายแต่มีเหตุมีผล   หลักศาสนศาสตร์ต้องเป็นตรรกะมีเหตุมีผล

ในขณะมีคริสตจักรอีกกลุ่มหนึ่งที่เน้นและให้ความสำคัญในประกาศพระกิตติคุณ   แต่มักมุ่งเน้นที่การประกาศพระกิตติคุณเพื่อให้ผู้คนในสังคมชุมชนเปลี่ยนแปลงศาสนาให้มานับถือศาสนาคริสต์   แต่ไม่ได้ใส่ใจที่จะเน้นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน  และในการเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมชุมชน   ขอเน้นว่าเป็นการเน้นการเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อในศาสนา   มิใช่เปลี่ยนแปลงชีวิต

ทั้งสองกลุ่มต่างไม่ได้กระทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์   เพราะทั้งสองกลุ่มมิได้นำเอาพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน(รวมถึงของตนเองด้วย)  และสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตชุมชน

ดังนั้น   มองเผิน ๆ เรามองและคิดว่าคริสตจักรทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  ถ้าเรากระทำตามพระมหาบัญชาของพระคริสต์ต้องก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน และ การเปลี่ยนแปลงชีวิตสังคมโลก   แต่เพราะเราทำพระมหาบัญชาตามกรอบคิดกรอบเชื่อของตนเอง   จึงทำให้การทำตามพระมหาบัญชาอ่อนแรงและมีพลังถดถอย

การประกาศพระกิตติคุณกับการสร้างสาวกเป็นคู่อุปถัมภ์หนุนเสริมกัน

พระเยซูคริสต์เริ่มต้นพระราชกิจของพระองค์ด้วยการเทศนาถึงเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า  แล้วเรียกร้องให้ผู้ฟังเหล่านั้นกลับใจ (ประกาศพระกิตติคุณ)   แล้วรวบรวมคนกลุ่มหนึ่งขึ้นเพื่อร่วมในพระราชกิจของพระองค์ (การสร้างสาวก)   และในช่วงท้ายแห่งการทำพระราชกิจของพระองค์ พระคริสต์ทรงบัญชาและมอบหมายสิทธิอำนาจแก่พวกเขา  แล้วส่งพวกเขาเข้าไปทำอย่างที่พระองค์กระทำในสังคมโลก   เพื่อผู้คนจะรับการเปลี่ยนแปลงชีวิต  มาเป็นสาวกของพระคริสต์เพิ่มมากยิ่งขี้น  จนกลายเป็นพลังเปลี่ยนแปลงระบบสังคมชุมชนโลก  ด้วยการให้รับบัพติสมา (การประกาศ) และสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่างที่พระคริสต์ได้สอนพวกสาวกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว (สร้างสาวก)

เรียกว่าพระคริสต์ได้หลอมให้การประกาศพระกิตติคุณ และ การสร้างสาวกพระคริสต์เป็นคู่อุปถัมภ์กัน

การประกาศพระกิตติคุณ และ การสร้างสาวกเป็นสิ่งที่หนุนเสริมกันและกัน

ตลอดการทำพระราชกิจของพระเยซูคริสต์  พระองค์ได้หลอมรวมบูรณาการการประกาศพระกิตติคุณกับการสร้างชีวิตที่เป็นสาวกของพระคริสต์ให้เป็นชีวิตประจำวันที่เป็นเนื้อเดียวกัน  ทั้งชีวิตจิตวิญญาณและพฤติกรรมที่สำแดงออกในชีวิตแต่ละวันของสาวกเหล่านี้ที่พระองค์ทรงสร้าง   และเราในฐานะที่ติดตามและเป็นสาวกของพระคริสต์  เราจะทำแตกต่างไปจากวิธีการและแบบอย่างที่พระองค์ทำเป็นตัวอย่างแก่เราได้อย่างไร?

เมื่อพระคริสต์ทรงหลอมรวมการประกาศพระกิตติคุณและการสร้างสาวกเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่ต้นแล้ว       คริสตจักรคือใคร  ที่จะทำให้ทั้งสองต้องแยกออกจากกัน?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

06 มิถุนายน 2561

ลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ?

ที่ชวนคุยเรื่องนี้มิใช่เพราะผมมีความชำนาญในการ “บอกปฏิเสธ” คนอื่น   แต่ต้องปล้ำสู้กับความรู้สึกนี้มายาวนาน   ผมได้มีโอกาสดูปฏิทินนัดหมายของเพื่อนสนิทบางท่าน   ไม่น่าเชื่อเลยครับ งานการนัดหมายแบบติดต่อชนกัน  วันชนวัน  ชั่วโมงชนชั่วโมง   จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วแน่นอนว่ามันทับถมทับท่วมจนเจ้าตัวต้องแบกจนหลังแอ่น  และแย่กว่านั้นมันเป็นภาระที่ทำให้จิตวิญญาณของเราต้องอ่อนเปลี้ยหมดแรง   เมื่อผมต้องพักฟื้นสุขภาพไปไหนไม่ได้   ก็รับนัดหมายไม่ได้ (แต่ก็ยังมีนัดหมายมาพบกันที่บ้านได้)  ช่วยให้ผมมีเวลาที่จะสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ว่า  ตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา  ผมต้องปล้ำสู้กับเรื่อง “การลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ” คนอื่น   ผมได้พบและเรียนรู้อะไรบ้าง? 

1. ฉันรักในสิ่งที่ฉันทำ  เมื่อเรารักเราชอบในสิ่งที่เราทำ เป็นการง่ายอย่างยิ่งครับที่เราจะ “ตอบรับ” งานนั้น  เพราะเราเห็นโอกาสที่จะร่วมในงานที่ตนรักตนชอบ  เราไม่ต้องการเสียโอกาส

2. ฉันไม่เคยร้องขอให้ใครช่วยสอนฉันในการสร้างสมดุลการรับงานกับชีวิตจริง   ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาผมเองไม่เคยที่จะขอผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ช่วยสอนผมให้เรียนรู้ที่จะสร้างความสมดุลในการทำงานกับชีวิตจริงในแต่ละวัน  (ทำไมผมถึงเป็นคนแบบนี้หนอ?)

3. ฉันไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำของคนอื่น (โดยเฉพาะในเรื่องนี้)  จะบอกว่าไม่มีใครบอกผมถึงเรื่องการมีสมดุลในการรับงานกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้ เพราะมีคนและบทความบอกผมถึงการที่ผมจะต้องรู้จักการ “ปฏิเสธ” บ้าง   เพียงแต่ผมมัก “ปิดหู”(ภายใน)  มองข้าม  ไม่ใส่ใจฟังใครในเรื่องนี้

4. ฉันวางกรอบคิดที่ให้ความสำคัญกับชีวิตที่รีบเร่ง  ลึก ๆ เราให้คุณค่าของตนว่า การที่เรามีงานมากมาย ต้องไปงานในหลาย ๆ ที่แสดงว่า คนต้องการตัวเราอย่างมาก  และทำให้รู้สึกว่าตนมีคุณค่าใช่หรือไม่? และ ต้องการให้คนอื่นรู้ คนอื่นเห็นถึงความรีบเร่งในชีวิตของตน ดังนั้น   จึงรับนัดหมายงานต่างๆอัดแน่น!  เพราะนั่นคือโอกาสสร้างคุณค่าในตนเองหรือเปล่า?

5. ฉันชอบการได้รับเกียรติ  เมื่อพูดถึงประเด็นนี้มันเจ็บปวดหัวใจ   เพราะนี่เป็นการเปิดโปงเปิดหน้ากากชีวิตของตนเอง   เรามีความสุขใจเมื่อเราได้รับเกียรติ รับการยกย่อง รับการนับถือ ในงานที่เราทำ   ทำให้เราทำงานหนักเกินกว่าที่จำเป็นที่เราต้องทำ?

6. กรอบคิดที่ว่า “ฉันต้องช่วยทุกคน” (ที่มาหาฉัน)   ถ้าคนที่ฉันเคารพนับถือ หรือ คนที่ฉันรักฉันชอบ  ต้องการให้ฉันช่วยทำอะไรบางอย่าง   ฉันจะทำสิ่งนั้น   แท้จริงแล้วถ้าฉันจะบอกเขาว่า  ขอโทษครับ ช่วงนี้ผมมีโปรแกรมการงานแน่นมาก   คนเหล่านี้เขาจะเข้าใจผม  แต่ผมกลับไม่เปิดโอกาสให้เขาได้รู้  เรื่องเลยลงเอยด้วยการรับงานเกินกำลังอีกเช่นเคย

7. กรอบคิดที่ว่าการบอกปฏิเสธทำให้คนอื่นมองว่าฉันหยิ่ง หรือ เจ้ายศเจ้าอย่าง  งานดังกล่าวที่เขามาเชิญแท้จริงแล้วมีคนในพื้นที่ที่สามารถทำได้ดีหลายคน   แต่ฉันก็ไม่สามารถบอกปฏิเสธทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่างานที่ทำ 5 เท่าก็ตาม   เพียงเพราะกลัวว่าผู้คนจะมองว่า เรายโสเลือกงาน  หรือ หยิ่ง ไม่ยอมไปในที่ที่ห่างไกล

8. ฉันไม่ได้พิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อเวลาชีวิตและสุขภาพของตนเอง  บ่อยครั้งที่ฉันให้ความสำคัญแก่ด้านการเงิน ชื่อเสียง การยอมรับ จนไม่ได้คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการเรื่องเวลาในชีวิตของตน  และซ้ำร้ายกว่านั้นกลับมองข้ามที่จะรับผิดชอบต่อร่างกายและสุขภาพรอบด้านของตนเอง

9. ความสำเร็จในชีวิตและการงานกลายเป็น “รูปเคารพ” ที่ฉันบูชา ฉันรู้และบอกคนอื่นให้ระมัดระวังในเรื่องนี้   แต่กลับมาพบว่าฉันเองมีชีวิตอย่างที่เคยบอกคนอื่นให้ระวัง  คุณค่าชีวิตของฉันไปแขวนไว้กับความสำเร็จในงานที่ทำและชีวิตที่เป็น

10. ชีวิตของฉันยังต้องก้าวต่อไป  แม้อายุจะเกษียณมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังบอกตนเองว่าชีวิตของเรายังต้องก้าวต่อไป เรามีภารกิจที่สำคัญกว่าในวัยนี้  เพราะเรามีประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมามากมาย เรามีเวลาที่เราเองสามารถตัดสินใจได้เอง  เราอยู่ในวัยอาวุโสที่คนอื่นต้องยอมรับนับถือ...ฯลฯ   ดังนั้น  เราต้องใช้ “ของประทานเหล่านี้” ให้เกิดผลและเกิดความสำเร็จที่แตกต่างจากวัยที่ผ่านมา พอมีงานมีการขอความช่วยเหลืออะไรเข้ามา “รีบคว้าเอาไว้” ไม่ยั้งคิด

ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า  หลักการที่บอกให้เราจัดรายการงานก่อนหลังเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เลือกและตัดสินใจก็เป็นการแนะนำที่ดีและสำคัญ   แต่กรอบคิดกรอบเชื่อที่คลาดเคลื่อนที่ฝังลึกในแต่ละคนมีอิทธิพลต่อการ  “บอกปฏิเสธคนอื่น” ที่ค่อนข้างมีพลัง  และเราไม่ค่อยรู้ตัวด้วย

แล้วท่านผู้อ่านละครับ   ท่านมีประสบการณ์ในเรื่อง “ลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ” อย่างไรบ้างครับ   แบ่งปันให้ฟังให้อ่านกันบ้างที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

04 มิถุนายน 2561

ไม่เป็นดั่งตั้งใจ?...แล้วจะทำอย่างไร?

ท่านเคยแปลกใจและสงสัยไหมว่า ทำไมเรายังทำในสิ่งที่เราไม่ต้องการจะทำ?  และ ทำไมเราไม่มีพลังที่จะทำในสิ่งที่เรารู้ว่าควรกระทำ?

อำนาจแห่งความบาปผิดที่ฝังแน่นภายในชีวิตของเรา  ทำให้เราไม่สามารถที่จะกระทำตามที่เราคิดและตัดสินใจ   เราทำในสิ่งที่รู้แล้วว่าไม่ควรทำ   แต่ก็ไม่มีกำลังพอที่จะทำในสิ่งที่รู้ว่าควรกระทำ  อย่างที่เปาโลกกล่าวว่า  “ข้าพ​เจ้า​ไม่​เข้า​ใจ​การ​กระ​ทำ​ของ​ข้าพ​เจ้า​เอง เพราะ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​ไม่​ทำ​สิ่ง​ที่​ข้าพ​เจ้า​ปรารถ​นา​ที่​จะ​ทำ แต่​กลับ​ทำ​สิ่ง​ที่​ข้าพ​เจ้า​เกลียด​ชัง​นั้น... ข้าพ​เจ้า​จึง​ไม่​ใช่​ผู้​ทำ แต่​ว่าอำนาจแห่งความ​บาปชั่ว ​ซึ่ง​อยู่​ใน​ตัว​ข้าพ​เจ้า​นั่น​เอง​เป็น​ผู้​ทำ  ด้วย​ว่า​ใน​ตัว​ข้าพ​เจ้า คือ​ใน​เนื้อ​หนัง​ของ​ข้าพ​เจ้า​ไม่​มี​ความ​ดี​ใด​อยู่​เลย เพราะ​ว่า​เจต​นา​ดี​ข้าพ​เจ้า​ก็​มี​อยู่ แต่​การ​ดี​นั้น​ไม่​สา​มารถ​ทำ​ได้​เลย” (โรม 5:15, 17-18 สมช.)

พลังการต่อสู้ที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้  เกิดขึ้นแม้เมื่อเราเป็นคริสตชนแล้ว  ชีวิตของเราที่พระเจ้าทรงสร้างมานี้มีพลังอำนาจจากพระเจ้าที่มุ่งให้กระทำในสิ่งที่ดีตามพระประสงค์ และในเวลาเดียวกันก็มีอำนาจแห่งพลังความชั่วร้ายที่เข้ามาฝังรากในชีวิตของเราด้วย   ชีวิตที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ของเรา จึงอยู่ในภาวะที่สองขั้วอำนาจที่อยู่ในชีวิตของเรา “ดึงกัน”

ภาวะเช่นนี้ในชีวิตของเรา  เราจะทำเช่นไร?  เราจะหลุดรอดออกจากแรงดึงกันในชีวิตของเราได้อย่างไร?

มีทางออกครับ   พระเยซูคริสต์ได้ให้สัญญาว่า  “...พวก​ท่าน​จะ​รู้​จัก​สัจ​จะ และ​สัจจะ​จะ​ทำ​ให้​ท่าน​เป็น​ไท” (ยอห์น 8:32 มตฐ.)

เคล็ดลับในเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ความตั้งใจ  ความพยายามที่จะควบคุมตนเอง  หรือ ในการบังคับตนเอง   ไม่มียารักษาความตึงเครียดภายในชีวิตเพราะแรงทั้งสองดึงกัน   ไม่มีวิธีการสำหรับการแก้เรื่องนี้   แล้วเราก็ไม่สามารถจะแก้ไขด้วยการสาบาน บนบานศาลกล่าวเช่นใดได้   และความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราก็ไม่ใช่คำตอบที่เป็นจริงได้ในเรื่องนี้

เคล็ดลับในการแก้ไขแรงดึงตึงจนเกิดความตึงเครียดในชีวิตนี้  ไม่สามารถแก้ไขด้วยการที่ตัวเราเองพยายามจะทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง   แต่พระวจนะของพระเจ้าให้เคล็ดลับว่า  การที่เราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้นั้นอยู่ที่ “การที่เรารู้ถึงสัจจะ”  แล้วสัจจะนั้นเองที่จะมีพลังเปลี่ยนความคิดความเชื่อ กรอบคิดกรอบเชื่อของเรา   จากนั้น ความรู้สึกของเราก็จะได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วย   มุมมองของท่านต่อชีวิตของตนเองก็จะเปลี่ยน   และนี่คือตัวเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวันของเรา

วิธีการต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ท่านเอาชนะตนเองนั้น เป็นสิ่งที่โกหกหลอกลวงจากกรอบคิดกรอบเชื่อเดิมของท่าน   เป็นกรอบคิดกรอบเชื่อจากการหลอกลวงของมารเกี่ยวกับตัวท่านเอง  เกี่ยวกับอดีตหรืออนาคตของท่าน  เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า  หรือเกี่ยวกับคนอื่น  และเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

แล้วทำไมเรายังทำบางสิ่งบางอย่างทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งนี้ไม่ถูกไม่ควรกระทำ?   เพราะเราคิดว่าเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากการกระทำในสิ่งนั้น(เพราะความสนใจของเรามุ่งมองไปที่ผลประโยชน์ที่จะได้จากการกระทำนั้น  มิใช่จากสัจจะของพระเจ้า) และนี่คือการโกหกหลอกลวงโดยใช้ผลประโยชน์ที่ท่านคิดว่าจะได้มาหลอกล่อให้ท่านทำในสิ่งนั้น สิ่งที่ดีมีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรานั้นมาจากการที่เราทำในสิ่งที่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชีวิตของเราเท่านั้น และจะต้องเริ่มต้นจากการที่เราเริ่มต้นรู้ถึงสัจจะของพระเจ้า ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา เราต้องเริ่มต้นที่ความนึกคิดของเรา เริ่มต้นที่มีกรอบคิดกรอบเชื่อที่เกิดจากสัจจะของพระเจ้า เราต้องเริ่มต้นที่จะรู้และเชื่อในสัจจะของพระเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด

เมื่อเรารู้ถึงสัจจะของพระเจ้า   สัจจะนั้นจะกอบกู้และปลดปล่อยให้เราเป็นไท   ทำให้เราได้มองเห็นถึงสิ่งที่หลอกลวงเราอย่างชัดเจน  เป็นสิ่งหลอกลวงที่เราเคยหลงเชื่อ และหลงรับเอาไว้เป็นกรอบคิดกรอบเชื่อของชีวิต

สิ่งหลอกลวงที่เรารับเราเชื่อจนตกผลึกแข็งตัวเป็นกรอบคิดกรอบเชื่อที่ผิด ๆ มาจากหลายทางด้วยกัน   อาจจะเกิดขึ้นในตอนที่เรายังเป็นเด็ก   อาจจะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตตอนเด็กที่เรามีกับเพื่อน  พ่อแม่ พี่น้อง ผู้คน   บางครั้งมาจากเรื่องในโทรทัศน์  หรือบางครั้งเกิดจากความคิดที่เราจินตนาการขึ้นเอง   แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวโกหกหลอกลวงและมีอิทธิพลหลอมตัวจนกลายเป็นกรอบคิดกรอบเชื่อของเรา   แต่ถ้าในวันใดในเวลาใด เรากลับมาให้สัจจะที่เราพบเราเรียนรู้จากพระวจนะของพระเจ้าให้มีอิทธิพลหล่อหลอมกรอบคิดกรอบเชื่อของเราใหม่ตามสัจจะของพระเจ้า เราจะพบว่า กรอบคิดกรอบเชื่อเดิมที่เกิดจากการโกหกหลอกลวง ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในอดีตถูกเปลี่ยนเป็นกรอบคิดกรอบเชื่อใหม่ที่เกิดจากอิทธิพลของสัจจะที่เราเรียนรู้จากพระวจนะของพระเจ้า   และนี่แหละที่เราเรียกว่า “เราเป็นไท” 

เราเป็นไทเพราะเราไม่ถูกครอบงำจากกรอบคิดกรอบเชื่อเดิมที่หลอกลวงเรา   แต่เรามีกรอบคิดกรอบเชื่อใหม่ตามสัจจะของพระเจ้า   ดังนั้น  สิ่งที่เราเชื่อเราคิด กับ สิ่งที่เรารู้ในสัจจะของพระเจ้าเป็นเรื่องเดียวกัน   ปัญหาความตึงเครียดในชีวิตจากแรงดึงกันระหว่างอำนาจในกรอบคิดกรอบเชื่อ กับพลังของสัจจะความจริงของพระเจ้าจึงยุติลง แต่กลับหนุนเสริมเพิ่มพลังแก่กัน  และนี่ก็คือชีวิตที่เป็นไทในอีกแง่มุมหนึ่งด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

01 มิถุนายน 2561

ผู้เฒ่า...ผู้คิดบวก!

ท่านผู้เฒ่าคนหนึ่งได้แบ่งปันบทเรียนที่กลั่นและตกผลึกจากตลอดชีวิตของตนแก่สังคมว่า...

1. โดยเกณฑ์ตัดสินในชีวิตของเรา  เราเห็นว่าชีวิตนี้ไม่ยุติธรรมหรอก   แต่มันก็ยังมีสิ่งที่ดีนะ!

2. เมื่อตกอยู่ในความสงสัย  ให้เราก้าวไปข้างหน้าอีกสักก้าวเล็ก ๆ

3. ชีวิตนี้มันสั้น เกินกว่าที่เราจะไม่มีความชื่นชมกับมัน

4. งานที่ท่านทำจะไม่ได้เอาใจใส่ท่านเมื่อท่านเจ็บป่วย  แต่ครอบครัว หรือ เพื่อนฝูงต่างหาก

5. อย่าขวนขวาย แสวงหาสิ่งของที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิตของตน 

6. ไม่จำเป็นที่ตนต้องเป็นฝ่ายชนะในการถกเถียงเสียทุกครั้งไป   แต่ให้เราสัตย์ซื่อต่อตนเองทุกครั้ง

7. ร้องไห้กับใครบางคน   จะเป็นการเยียวยารักษามากกว่า การร้องไห้กับตัวเอง

8. อยู่กับอดีตอย่างฉันท์มิตร  เพื่อจะไม่ต้องสับสนในปัจจุบัน

9. อย่าเอาชีวิตของเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น   เพราะเราไม่รู้เลยว่าตลอดชีวิตที่เขาจาริกมาเขาต้องประสบพบเจออะไรบ้าง

10. วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นลบ  สิ่งลบ ๆ ก็มาหาตนเอง  มองคนอื่นให้เกิดการสร้างสรรค์ สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับส่วนรวม

แล้วท่านผู้เฒ่าท่านอื่นมีบทเรียนอะไรบ้างครับ?..........................................................................

ผู้เฒ่าคริสตชนมีบทเรียนอะไรบ้างครับ?....................................................................................

แล้วท่านที่ “ยังบ่เฒ่า” คิดอย่างไรกับคนเฒ่าอย่างพวกผมครับ?.....................................................
                                                                                                                         
ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499