11 มิถุนายน 2561

คริสตชนกับทรัพย์สินเงินทอง

เรื่องราวมานา  เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคริสตชนในเรื่องทรัพย์สินเงินทอง

แต่​เมื่อ​พวก​เขา​ใช้​เครื่อง​ตวง คน​ที่​เก็บ​ได้​มาก​ก็​ไม่​มี​เหลือ และ​คน​ที่​เก็บ​ได้​น้อย​ก็​ไม่​ขาด​แคลน
ทุก​คน​เก็บ​ได้​เท่า​ที่​คน​หนึ่ง​รับ​ประ​ทาน​ได้ (อพยพ 16:18 มตฐ.)

เมื่อพระเจ้าประทานมานาแก่คนอิสราเอล (อพยพ 16:1-36) เรื่องนี้มิได้บอกเราเพียงแต่ว่า พระเจ้าทรงเลี้ยงดูประชากรของพระองค์แก่เราเท่านั้น   “ประสบการณ์มานา” มีคำสอนที่สำคัญและทรงพลังแก่เราด้วย   ประสบการณ์มานาสอนถึงเรื่องความสัตย์ซื่อ และ ความอดทนของพระเจ้า   ที่มีต่อประชากรที่ขี้บ่น และ จิตวิญญาณที่มีความเชื่อวางใจในพระเจ้าเพียงน้อยนิด

เรื่องราวมานา อพยพ 16:1-36

หลังจากที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ประชากรอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในประเทศอียิปต์   เมื่อต้องเดินทางในถิ่นทุรกันดารไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา  พระเจ้าได้ทรงประทานอาหารที่จำเป็นสำหรับพวกเขา  พระองค์ทรงประทานมานาแก่ประชากรทุกเช้า  และประทานเนื้อในตอนเย็น   และนี่เป็นของประทานจากพระเจ้า   และเวลาเดียวกันเป็นการทดสอบเพื่อการเรียนรู้ของพวกเขาว่า  เขาเห็นความสำคัญและสนใจในอาหารที่พระองค์ประทานแก่พวกเขา หรือ พวกเขามุ่งใส่ใจต่อพระเจ้าที่ทรงดูแลเอาใจใส่พวกเขา

หลักเกณฑ์การรับของประทานจากพระเจ้ามีเพียงง่าย ๆ คือ  ให้แต่ละครอบครัวเก็บอาหารให้พอเพียงตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว   ทุกครอบครัวจะไม่สั่งสมส่วนเกินด้วยความโลภ  แต่ให้ไว้วางใจในความสัตย์ซื่อของพระเจ้าที่จะประทานอาหารในแต่ละวันแก่พวกตน   นอกจากวันที่หกของสัปดาห์ให้แต่ละครอบครัวเก็บอาหารเป็นสองเท่าของวันปกติ   เพื่อมีรับประทานในวันที่เจ็ดคือวันสะบาโต

เรื่องนี้ได้ให้บทบาทชีวิตมากมายแก่เรา   ประการแรก เราได้เรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ  ประทานอาหารแก่ประชากรอิสราเอลเพื่อพวกเขาจะพุ่งความสนใจมุ่งมาที่ “พระเจ้าผู้ทรงประทาน”   แต่เมื่อใดก็ตามที่ประชากรมุ่งความสนใจไปที่ “ของประทาน”  สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือ  ความโลภและเสียงบ่นของประชากร   เมื่อเรามุ่งความสนใจไปที่พระเจ้าผู้เป็นแหล่งแห่งความจำเป็นในชีวิตประจำวันของเรา  เราชื่นชมและและเกิดความสำนึกในพระคุณพระเจ้า (อ่าน เฉลยธรรมบัญญัติ 8:1-3)  

สิ่งสำคัญ ประการที่สอง  ของประทานจากพระเจ้ามีเพียงพอสำหรับทุกคน

เปาโลเปรียบเรื่องมานากับเงินทอง

เปาโลได้ใช้เรื่องราวมานาในการอ้างอิงเมื่อท่านกล่าวถึงว่า คริสตชนควรคิดเช่นไรเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง   ในจดหมายฉบับที่สองที่เขียนถึงคริสตจักรโครินธ์  ท่านได้ขอร้องด้วยความจริงใจให้ช่วยคริสตชนในกรุงเยรูซาเล็มที่กำลังขัดสนด้วยการชักจูงให้ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่าง ๆ  (ไม่ว่าในการอ้างถึงความช่วยเหลือที่คริสตจักรมาซิโดเนียได้ให้  พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างในการให้  และ อื่น ๆ)   และที่สำคัญคือทั้งสิ้นนี้ได้ให้ด้วยใจกว้างขวาง

เมื่อเปาโลพยายามโน้มน้าวให้คริสตจักรโครินธ์ในการให้ความช่วยเหลือคริสตชนในเยรูซาเล็ม   เปาโลได้อ้างถึงเจตนาของพระเจ้าในการประทานมานาแก่ประชากรอิสราเอล

ให้ตาม​ความ​สา​มารถ​ที่​มี​อยู่​...พระ​เจ้า​ก็​จะ​ทรง​รับ​ตาม​ที่​เขา​มี​อยู่ ไม่​ใช่​ตาม​ที่​เขา​ไม่​มี  ... ตาม​ที่​เขียน​ไว้​ว่า  “คน​ที่​เก็บ​ได้​มาก​นั้น ไม่​มี​เหลือ   และ​คน​ที่​เก็บ​ได้​น้อย​ก็​ไม่​ขาด” (2โครินธ์ 8:12-15 มตฐ.)

มานาและทรัพย์สินเงินทอง

ในข้อสุดท้ายข้างต้น(ข้อ 15) เป็นการคัดลอกจาก อพยพ 16:18  ในเรื่องราวมานา   เปาโลไม่ได้ประสงค์ที่จะให้คริสตชนในโครินธ์ยากจนลงและให้คริสตชนในเยรูซาเล็มมั่งคั่งขึ้น   แต่เปาโลต้องการที่จะให้ของประทานจากพระเจ้ามีเพียงพอสำหรับทุกคน   เปาโลต้องการเห็นการเผื่อแผ่ แบ่งปันแก่กันและกัน  ตามความจำเป็นในชีวิตแก่กันและกันด้วยความเต็มใจ  

เปาโลมีความคิดว่า   พระเจ้าประสงค์ให้เราประยุกต์ใช้เรื่องราวมานาถึงการใช้จ่ายเงินทองของคริสตชน   เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะเราแต่ละคนต่างต้องการมีส่วนที่สะสมเผื่อไว้เพื่อว่าตนจะมีใช้เพียงพอในอนาคต หรือในเวลาที่เราจำเป็นต้องการ  ในเวลาเช่นนั้นเราถึงจะพึ่งตนเองได้???  

ถ้าเช่นนั้น  เราวางใจในทรัพย์สินเงินทองที่พระเจ้าประทานให้เรา  มากกว่าที่จะไว้วางใจพระเจ้าผู้เป็นแหล่งประทานสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของเราใช่ไหม?

การที่จะให้คริสตชนพุ่งความสนใจไปที่พระเจ้าผู้ประทานสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น  เป็นสิ่งที่ยากสำหรับทั้งประชากรอิสราเอล และ คริสตชนในโครินธ์  และสำหรับเราด้วย   ส่วนมากแล้วเรามักมุ่งความสนใจไปที่สิ่งของที่พระเจ้าประทานให้มากกว่า

บทเรียนที่เราได้รับจาก อพยพ 16:1-36  ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องความมั่งคั่งกับการให้การแบ่งปันของเราในชีวิตประจำวัน
  • ทรัพย์สินเงินทองที่เราได้มาต้องมองว่าเป็นของประทานจากพระเจ้า   ที่เราเป็นและมีอยู่นี้ก็เพราะพระเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อเรา   และการที่เราจะมีชีวิตที่ตอบสนองต่อความสัตย์ซื่อของพระเจ้า  คือการที่เราไว้วางใจในพระองค์สำหรับอนาคตของเรา
  • ให้เราระมัดระวังอย่างมากสำหรับตัวเราที่มีแนวโน้มจะโลภ  สะสมเก็บรักษาเกินกว่าที่เราจำเป็น   ประเด็นนี้หลายท่านกังวลเกี่ยวกับการออมสำหรับเมื่อเกษียณอายุ  (เราไม่ไว้วางใจพระเจ้าสำหรับอนาคตของเราหรือเปล่า?  หรือเราไว้วางใจในทรัพย์สินเงินทอง?)
  • ส่วนเกินจากที่เราจำเป็นในชีวิตควรมองว่าส่วนนั้นมีไว้เพื่อช่วยให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จำเป็นในชีวิต  และนี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้เราใช้ส่วนเกินความจำเป็นเพื่อการนั้น   พระเจ้าทรงเป็นความมั่นคง  ความมั่งคั่ง ยั่งยืนที่แท้จริงในชีวิตของเรา   และพระองค์ทรงสัตย์ซื่อ   และพระองค์ประทานให้พอเพียงสำหรับทุกคน


เมื่อพระเยซูคริสต์เตือนไม่ให้สั่งสมสิ่งต่าง ๆ ที่เกินความต้องการเพื่อตัวเราเองในโลกนี้   มิใช่เพียงเพราะไม่ให้ความมั่งคั่งสูญเสียไป   แต่เตือนว่า...ความมั่งคั่ง (มันไม่ยั่งยืน) ย่อมเสื่อมสูญไป  เราต้องตระหนักชัดว่า มันอยู่กับเราเพียงชั่วครู่เท่านั้น  แต่เราจะต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์เกิดคุณค่าที่แท้จริง  

สำหรับพระเยซูคริสต์แล้ว  การสั่งสมทรัพย์สินเงินทองเพื่อตนเอง  มิเพียงแต่เป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์   แต่เป็นการวางแผนแบบคนโง่อีกด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น