20 มิถุนายน 2561

...โกหกคำโตที่ต้องระวัง!

บ่อยครั้ง เมื่อเรามี “ความฝัน” ที่ยิ่งใหญ่ และ มีแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง   แต่หลายครั้งมิใช่หรือ ที่ความฝันก็ยังคงเป็นแค่เพียง “ความใฝ่ฝัน”  ความฝันเป็นเหมือนฝุ่นที่คลุ้งเกาะคลุมไปทั่วห้องทำงานของเรา?

ในประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม การวางเป้าหมายให้กว้าง ให้ใหญ่ และ ให้ไกลนั้น พบว่า “หินก้อนใหญ่” ที่วางขวางบนเส้นทางสู่ “ความฝันอันยิ่งใหญ่” คือคำว่า “เป็นไปไม่ได้” หลายคนติดแหงกอยู่กับการบอกตนเองว่า “ฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้”  “สิ่งนี้มันใหญ่เกินแบก ยากเกินแก้ แย่เกินกว่าจะเยียวยา”   “จ้างก็ไม่มีใครจะทำสิ่งใหญ่ ๆ นี้ได้!” 

“เป็นไปไม่ได้เป็น “โกหกคำโต”  ที่เราท่านพึงระวัง

ถ้าทุกคนในโลกนี้คิดว่า “เป็นไปไม่ได้”  ขณะนี้เราก็จะไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  การค้นพบสิ่งใหม่  ไม่มีวิธีการใหม่ ๆ  ไม่มีนวัตกรรม  ไม่มีการฝ่าฝันอุปสรรคจนเจริญก้าวหน้าในหลายด้านเฉกเช่นในปัจจุบันนี้  ตราบใดที่เรายังยึดรั้งตนเองให้จมจ่อมอยู่ในโคลนตมแห่งความสงสัย  กับดักของการขีดเส้นจำกัดศักยภาพของตนเอง   เราก็จะไม่สามารถที่ดึงและดันตนเองให้เคลื่อนทะลุไปสู่ “ความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ได้”

การที่จะให้ “ความฝัน” ก้าวไกล กลายเป็นจริงได้นั้น   มิได้อยู่ที่การคิดฝันเท่านั้น   แต่ต้องเป็นเรื่องของการลงมือดำเนินการด้วย  เช่น  เมื่อเกิดความคิด เมื่อมีจินตนาการ ให้เอากระดาษสักแผ่นหนึ่งมาแล้วเขียนความคิด จินตนาการที่เกิดขึ้นลงบนกระดาษ   แล้วคิดและเขียนรายละเอียดลงในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น หรือ แต่ละจินตนาการลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวกันนั้น   แต่ก่อนจะไปไกลกว่านั้น   เอาอย่างงี้ได้ไหมครับ   ช่วยแยกแยะ ความคิด หรือ ประเด็นที่ใฝ่ฝันออกเป็นรายละเอียด 3 รายการใหญ่ ๆ ดังนี้ก่อน

1) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน สามารถทำได้
2) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน อาจจะ สามารถทำได้
3) มีรายละเอียดอะไรบ้างในสิ่งที่ฝันที่จินตนาการที่ท่าน ทำไม่ได้ และ เป็นไปไม่ได้ สำหรับท่าน

จากนั้น  ให้ท่านพิจารณาในรายละเอียดข้อที่ 1)  ที่ท่านจะมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำจนบรรลุให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในสิ่งที่ท่านรู้และมั่นใจแล้วว่าท่านสามารถจัดการประเด็นต่าง ๆ ในข้อนี้ได้   แล้วให้ทำเครื่องหมายในแต่ละประเด็นเมื่อท่านทำจนบรรลุความสำเร็จ   เมื่อท่านค่อย ๆ ทำไปในรายละเอียดให้สำเร็จทีละประเด็นย่อยท่านก็จะสามารถทำเครื่องหมายที่ท่านทำสำเร็จในทุกประเด็นที่อยู่ในข้อที่ 1) นี้   จากนั้นให้ท่านก้าวขึ้นไปสู่ข้อที่ 2) ที่เป็นรายละเอียดหรือประเด็นต่าง ๆ ในส่วนที่ท่านบอกว่า อาจจะสามารถ ทำให้บรรลุสำเร็จได้

เมื่อท่านก้าวเข้ารายละเอียดในข้อที่ 2)   ที่ท่านยังไม่มั่นใจนักว่าตนเองจะสามารถทำสำเร็จได้นั้น   ก็ให้ทำเช่นเดียวกับที่ทำในข้อที่ 1) คือเรียงรายละเอียดเป็นประเด็นย่อย   แล้วค่อย ๆ ดำเนินการไปทีละหัวข้อย่อย  ลงมือทดลองทำในส่วนที่จะลงมือทำได้  แล้วดูว่าเกิดผลเช่นไร  แล้ววิเคราะห์ว่า ทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น(เพราะอะไร  เพราะทำอย่างไร)  แล้วมีอะไรที่น่าจะทำให้ดีกว่านี้เพื่อให้บางรายละเอียดเกิดผลตามที่ตั้งใจไว้   จะต้องเพิ่มรายละเอียดในการทำอะไรบ้าง  แล้วลงมือทำใหม่  แล้วดูผลที่ตามมา  

กระบวนการที่ทำแล้วคิด คิดแล้วทำ ทำให้เราได้พบทางพัฒนาในการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นย่อย  จนสามารถขับเคลื่อนสำเร็จได้  มิใช่ขับเคลื่อนได้เท่านั้นแต่ยังเรียนรู้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะสำเร็จได้   และนี่คือองค์ความรู้ที่เราสามารถนำไปใช้ในการทำงานอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา   และในที่สุด ท่านจะเห็นความจริงว่า สิ่งที่ท่านเห็นว่าอาจไม่สามารถทำได้ กลายเป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้อย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน 

เมื่อท่านก้าวถึงความสำเร็จในขั้นตอนข้อที่ 2)   แน่นอนครับท่านก็ไม่กลัวแล้วที่จะก้าวขึ้นไปในขั้นตอนข้อที่ 3) รายละเอียดในประเด็นที่ท่านมองว่า ท่านไม่สามารถทำได้ หรือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้   กระบวนการในการดำเนินการในข้อนี้ก็ไม่ยากเย็นซับซ้อนไปกว่า ข้อที่ 1) และ 2)   คือ เขียนประเด็นย่อยในข้อนี้ว่ามีอะไรบ้าง   แล้วค่อยพิจารณาไปทีละข้อ  ทำไมเราถึงคิดว่าทำไม่ได้?   เพราะอะไรเราถึงคิดเช่นนั้น?   ถ้าเราจะลองทำในหัวข้อย่อยนี้ดู  เราจะทดลองทำอย่างไร?  แล้วลงมือทำ  และดูว่าเกิดผลอย่างไร?  ถามต่อไปว่าทำไมถึงเกิดผลเช่นนั้น?   และถ้าจะทำให้เกิดผลที่ดีในด้านนี้ เราจะต้องทำอย่างไร?  แล้วลงมือทดลองทำใหม่   นี่เป็นกระบวนการทำแล้วคิด คิดแล้วทำใหม่  เป็นกระบวนการแสวงหาการเรียนรู้ผ่านการกระทำด้วยมือของเราเอง  และเราได้รับประสบการณ์เรื่องนั้นแบบเป็นประสบการณ์ตรง หรือ ประสบการณ์มือหนึ่งเลยทีเดียว 

ในที่นี้อยากบอกและให้กำลังใจว่า กระบวนการนี้ช้าหน่อยแต่สำเร็จแน่!  

และนี่คือกระบวนการ “แทะทีละนิดเพื่อพิชิตบ้านใหญ่ทั้งหลัง”  

ใช่ครับปรัชญาชีวิตของปลวกครับ!   ใครจะไปคิดได้ว่า ปลวก ตัวกระจิริดจะไปกินบ้านใหญ่โตทั้งหลังได้อย่างไรกัน?   และนี่คือกระบวนการการคิดและการทำงานชีวิตให้บรรลุเป้าหมายใหญ่และกว้างไกลตามที่ต้องการ  ก้าวทีละก้าว  กินข้าวทีละคำ  คุณค่าที่แท้จริงในที่นี้คือ คุณค่าที่เราสามารถก้าวออกไปทีละก้าวครับ   แต่ไม่ได้อยู่ที่เราไปได้หมื่นลี้ แสนกิโล

ด้วย “ปรัชญาชีวิตการทำงานของปลวก” นี้เองที่โลกเราได้ก้าวหน้า  คิดค้นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  ประดิษฐ์สิ่งดีมีประโยชน์มากมายต่อชีวิตผู้คนบนโลกนี้   เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง  และยังจะก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง  และจุดเริ่มต้นของสิ่งนี้คือ คนมีความคิด คนมีจินตนาการ  คนมีความใฝ่ฝัน  ฝันใหญ่ ฝันไกล และสำคัญพอ ๆ กันคือ ฝันแล้วต้องกล้าที่จะลงมือทำ  กล้าที่จะทำแม้มันไม่เกิดผลอย่างที่คิด  และสิ่งที่สี่ที่สำคัญพอกันคือ  ถอดบทเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำ  ย่อย และ ซึมซับประสบการณ์ที่ได้รับเข้าไปให้ก่อตัวในชีวิตจิตวิญญาณของเราเป็น “ปัญญา” ที่จะใช้ในชีวิตก้าวต่อไป 

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น