06 มิถุนายน 2561

ลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ?

ที่ชวนคุยเรื่องนี้มิใช่เพราะผมมีความชำนาญในการ “บอกปฏิเสธ” คนอื่น   แต่ต้องปล้ำสู้กับความรู้สึกนี้มายาวนาน   ผมได้มีโอกาสดูปฏิทินนัดหมายของเพื่อนสนิทบางท่าน   ไม่น่าเชื่อเลยครับ งานการนัดหมายแบบติดต่อชนกัน  วันชนวัน  ชั่วโมงชนชั่วโมง   จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ถ้าเป็นแบบนี้แล้วแน่นอนว่ามันทับถมทับท่วมจนเจ้าตัวต้องแบกจนหลังแอ่น  และแย่กว่านั้นมันเป็นภาระที่ทำให้จิตวิญญาณของเราต้องอ่อนเปลี้ยหมดแรง   เมื่อผมต้องพักฟื้นสุขภาพไปไหนไม่ได้   ก็รับนัดหมายไม่ได้ (แต่ก็ยังมีนัดหมายมาพบกันที่บ้านได้)  ช่วยให้ผมมีเวลาที่จะสะท้อนคิดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ว่า  ตลอดช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมา  ผมต้องปล้ำสู้กับเรื่อง “การลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ” คนอื่น   ผมได้พบและเรียนรู้อะไรบ้าง? 

1. ฉันรักในสิ่งที่ฉันทำ  เมื่อเรารักเราชอบในสิ่งที่เราทำ เป็นการง่ายอย่างยิ่งครับที่เราจะ “ตอบรับ” งานนั้น  เพราะเราเห็นโอกาสที่จะร่วมในงานที่ตนรักตนชอบ  เราไม่ต้องการเสียโอกาส

2. ฉันไม่เคยร้องขอให้ใครช่วยสอนฉันในการสร้างสมดุลการรับงานกับชีวิตจริง   ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาผมเองไม่เคยที่จะขอผู้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ช่วยสอนผมให้เรียนรู้ที่จะสร้างความสมดุลในการทำงานกับชีวิตจริงในแต่ละวัน  (ทำไมผมถึงเป็นคนแบบนี้หนอ?)

3. ฉันไม่ได้ใส่ใจฟังคำแนะนำของคนอื่น (โดยเฉพาะในเรื่องนี้)  จะบอกว่าไม่มีใครบอกผมถึงเรื่องการมีสมดุลในการรับงานกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้ เพราะมีคนและบทความบอกผมถึงการที่ผมจะต้องรู้จักการ “ปฏิเสธ” บ้าง   เพียงแต่ผมมัก “ปิดหู”(ภายใน)  มองข้าม  ไม่ใส่ใจฟังใครในเรื่องนี้

4. ฉันวางกรอบคิดที่ให้ความสำคัญกับชีวิตที่รีบเร่ง  ลึก ๆ เราให้คุณค่าของตนว่า การที่เรามีงานมากมาย ต้องไปงานในหลาย ๆ ที่แสดงว่า คนต้องการตัวเราอย่างมาก  และทำให้รู้สึกว่าตนมีคุณค่าใช่หรือไม่? และ ต้องการให้คนอื่นรู้ คนอื่นเห็นถึงความรีบเร่งในชีวิตของตน ดังนั้น   จึงรับนัดหมายงานต่างๆอัดแน่น!  เพราะนั่นคือโอกาสสร้างคุณค่าในตนเองหรือเปล่า?

5. ฉันชอบการได้รับเกียรติ  เมื่อพูดถึงประเด็นนี้มันเจ็บปวดหัวใจ   เพราะนี่เป็นการเปิดโปงเปิดหน้ากากชีวิตของตนเอง   เรามีความสุขใจเมื่อเราได้รับเกียรติ รับการยกย่อง รับการนับถือ ในงานที่เราทำ   ทำให้เราทำงานหนักเกินกว่าที่จำเป็นที่เราต้องทำ?

6. กรอบคิดที่ว่า “ฉันต้องช่วยทุกคน” (ที่มาหาฉัน)   ถ้าคนที่ฉันเคารพนับถือ หรือ คนที่ฉันรักฉันชอบ  ต้องการให้ฉันช่วยทำอะไรบางอย่าง   ฉันจะทำสิ่งนั้น   แท้จริงแล้วถ้าฉันจะบอกเขาว่า  ขอโทษครับ ช่วงนี้ผมมีโปรแกรมการงานแน่นมาก   คนเหล่านี้เขาจะเข้าใจผม  แต่ผมกลับไม่เปิดโอกาสให้เขาได้รู้  เรื่องเลยลงเอยด้วยการรับงานเกินกำลังอีกเช่นเคย

7. กรอบคิดที่ว่าการบอกปฏิเสธทำให้คนอื่นมองว่าฉันหยิ่ง หรือ เจ้ายศเจ้าอย่าง  งานดังกล่าวที่เขามาเชิญแท้จริงแล้วมีคนในพื้นที่ที่สามารถทำได้ดีหลายคน   แต่ฉันก็ไม่สามารถบอกปฏิเสธทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่างานที่ทำ 5 เท่าก็ตาม   เพียงเพราะกลัวว่าผู้คนจะมองว่า เรายโสเลือกงาน  หรือ หยิ่ง ไม่ยอมไปในที่ที่ห่างไกล

8. ฉันไม่ได้พิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อเวลาชีวิตและสุขภาพของตนเอง  บ่อยครั้งที่ฉันให้ความสำคัญแก่ด้านการเงิน ชื่อเสียง การยอมรับ จนไม่ได้คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการเรื่องเวลาในชีวิตของตน  และซ้ำร้ายกว่านั้นกลับมองข้ามที่จะรับผิดชอบต่อร่างกายและสุขภาพรอบด้านของตนเอง

9. ความสำเร็จในชีวิตและการงานกลายเป็น “รูปเคารพ” ที่ฉันบูชา ฉันรู้และบอกคนอื่นให้ระมัดระวังในเรื่องนี้   แต่กลับมาพบว่าฉันเองมีชีวิตอย่างที่เคยบอกคนอื่นให้ระวัง  คุณค่าชีวิตของฉันไปแขวนไว้กับความสำเร็จในงานที่ทำและชีวิตที่เป็น

10. ชีวิตของฉันยังต้องก้าวต่อไป  แม้อายุจะเกษียณมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังบอกตนเองว่าชีวิตของเรายังต้องก้าวต่อไป เรามีภารกิจที่สำคัญกว่าในวัยนี้  เพราะเรามีประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมามากมาย เรามีเวลาที่เราเองสามารถตัดสินใจได้เอง  เราอยู่ในวัยอาวุโสที่คนอื่นต้องยอมรับนับถือ...ฯลฯ   ดังนั้น  เราต้องใช้ “ของประทานเหล่านี้” ให้เกิดผลและเกิดความสำเร็จที่แตกต่างจากวัยที่ผ่านมา พอมีงานมีการขอความช่วยเหลืออะไรเข้ามา “รีบคว้าเอาไว้” ไม่ยั้งคิด

ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า  หลักการที่บอกให้เราจัดรายการงานก่อนหลังเพื่อใช้เป็นเกณฑ์เลือกและตัดสินใจก็เป็นการแนะนำที่ดีและสำคัญ   แต่กรอบคิดกรอบเชื่อที่คลาดเคลื่อนที่ฝังลึกในแต่ละคนมีอิทธิพลต่อการ  “บอกปฏิเสธคนอื่น” ที่ค่อนข้างมีพลัง  และเราไม่ค่อยรู้ตัวด้วย

แล้วท่านผู้อ่านละครับ   ท่านมีประสบการณ์ในเรื่อง “ลำบากใจที่จะบอกปฏิเสธ” อย่างไรบ้างครับ   แบ่งปันให้ฟังให้อ่านกันบ้างที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ  

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น