24 มิถุนายน 2557

พลังความเงียบ

พระเยซูคริสต์ชวนให้เรา “ผ่อนพัก” ในพระองค์
เมื่อความรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรง  สิ้นหวัง  เพลียใจ
เมื่อความเหนื่อยอ่อนแผลงฤทธิ์  “ดื้อต้าน” กระทบชีวิตภายในของเรา
ให้เรา “ผ่อนพัก” “ผ่อนคลาย” และ ให้ชีวิตของเรา “นิ่ง เงียบ และสงบ”
จนกว่า “พลังแห่งชีวิต” ของพระคริสต์จะไหลเอ่อล้นเข้าคลุมทุกพื้นที่ในชีวิตของเรา

พระคริสต์ถามใจของเราว่า  “เจ้ากังวลถึงอนาคตของเจ้าหรือ?”
พระองค์บอกเราว่า “จงให้ชีวิตของเจ้านิ่ง เงียบ และสงบ”
และในความสงบนิ่งนั้นเอง   เราจะได้รับพลังชีวิต 
พลังนั้นจะซ่อมเสริมค้ำจุนชีวิตของเรา

โลกนี้มักมองเห็น “พลัง” ในการกระทำขับเคลื่อน
แต่ในแผ่นดินของพระเจ้าเราต่างรู้ว่า  “พลัง” นั้นอยู่ใน “ความเงียบ สงบ และความนิ่ง”
 “...การ​เงียบ​สงบ​และ​การ​ไว้​วาง​ใจ​จะ​เป็น​กำ​ลัง​ของ​เจ้า...” (อิสยาห์ 30:15 มตฐ.)

นี่คือสัจจะ  เป็นความจริงในชีวิตที่ยิ่งใหญ่
เป็นพลังแห่งศานติภาพ และ เป็นศานติภาพแห่งพลัง!
ให้เรา “ผ่อนพัก” ในพระคริสต์   และ
มีความชื่นบานในพระองค์ไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

ใช่...  ในวันนี้ด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ชีวิตเกิดผลดีในทุกสถานการณ์

อ่านปฐมกาล 39:1-5

...พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​อยู่​กับ​โยเซฟ ท่าน​จึง​ประ​สบ​ความ​สำเร็จ ท่าน​อยู่​ใน​บ้าน​คน​อียิปต์​นาย​ของ​ท่าน นาย​ของ​ท่าน​ก็​เห็น​ว่า​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​อยู่​กับ​ท่าน และ​พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​ให้​การ​งาน​ทุก​อย่าง​ที่​มือ​ท่าน​ทำ​สำเร็จ...นาย​ก็​ตั้ง​ให้​เป็น​ผู้​ดู​แล​บ้าน และ​มอบ​ทุก​สิ่ง​ที่​เขา​มี​ไว้​ใน​มือ​ของ​ท่าน...พระ​ยาห์​เวห์​ก็​ทรง​อวย​พร​แก่​ครอบ​ครัว​ของ​คน​อียิปต์​นั้น​เพราะ​เห็น​แก่​โยเซฟ... (ข้อ 2-5 มตฐ.)

ถ้ามีคนมาถามเราว่า   ใครเอ่ยในพระคัมภีร์ที่ชีวิตตกต่ำลงทุกขณะ   แต่กลับเกิดผลดีในทุกสถานการณ์?

สำหรับผม   ผมคิดถึงโยเซฟลูกยาโคบ   เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง   เป็นลูกโปรดของพ่อที่เกิดจากภรรยาที่พ่อรักที่สุด   มีของประทานในการรู้ถึงอนาคต   เป็นเด็กหนุ่มที่ช่างฝัน  ฝันอะไรก็เก็บเป็นความลับไม่ได้   เป็นต้องบอกคนอื่นๆ ในบ้าน   เป็นคนเลี้ยงแกะที่ไว้ใจได้   แต่ไม่ค่อยถูกตาต้องใจของบรรดาพี่ๆ ที่เกิดจากภรรยาที่พ่อรักน้อยกว่า

บรรดาพี่ชายเขม่นโยเซฟเพราะพ่อรักเขามากกว่าลูกคนอื่น   ดังนั้น   จึงถูกแผนขจัดให้ออกจากวงจรในครอบครัว   พี่ชายขายเขาให้คนอิชมาเอล   แล้วถูกขายต่อให้ โปทิฟาร์ผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์คนอียิปต์

จากลูกคนโปรดในบ้าน
ถูกขายให้คนอิชมาเอล
ถูกขายต่อเป็นทาสในเรือนของโปทิฟาร์
ถูกใส่ร้ายว่าพยายามไล่ปล้ำนายหญิง   ถูกติดคุกนักโทษหลวงใต้ดิน
ทำดีแต่ถูกลืม   ถูกขังต่อในคุกนักโทษหลวง
ถูกเบิกตัวทำนายฝันแก่ฟาโรห์
ถูกใช้เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระนามของฟาโรห์ให้เตรียมการรับมือภัยพิบัติ
บริหารราชการแผ่นดินแทนฟาโรห์  ในยุดแผ่นดินแล้งจัด  ข้าวยากหมากแพง  กันดารอาหาร
กอบกู้ครอบครัวพี่ชายและพ่อจากภัยพิบัติการกันดารอาหาร

หลายๆ คนในปัจจุบันนี้ที่มีจังหวะชีวิตที่ไม่ต่างอะไรจากโยเซฟ   เมื่อองค์กรผลัดเปลี่ยนผู้บริหาร   ตนอาจจะถูกย้าย  ถูกกีดกัน   ถูกลดตำแหน่ง  กลายเป็นคนที่ไม่มีความสำคัญ   บางคนต้องทำงานที่รู้สึกว่าต่ำต้อยลดถอยลง  

ถ้าเป็นท่าน   ท่านจะรับมือกับชีวิตที่ “เตี้ยลง  เตี้ยลง” ดังกล่าวอย่างไร?

จากบทเรียนชีวิตของโยเซฟ   เราพบวิธีรับมือของโยเซฟ (โยเซฟโมเดล) ที่ดูเรียบง่าย  

ประการแรก   ไม่ว่าโยเซฟจะตกลงในสถานการณ์ใด   เขาใช้ชีวิตของเขาที่จะทำสิ่งดีสร้างเสริมคุณประโยชน์แก่ที่นั้น  และแก่คนต่างๆ ที่อยู่ในที่นั้น   ในสถานการณ์ที่ตกต่ำ แทนที่โยเซฟจะมัวแต่นั่งซึมเศร้าคิดสงสารตนเองที่ถูกรังแก   ไม่ได้รับความเป็นธรรม   ถูกกลั่นแกล้ง   ถูกใส่ร้าย  และจิปาถะ   แต่โยเซฟทำตัวให้เกิดประโยชน์แก่เจ้านาย และ คนอื่นๆ ที่อยู่ในที่นั้น   ไม่ว่าในบ้านของโปทิฟาร์   ในคุกหลวง   ในการเตรียมการรับมือกับมหาภัยพิบัติ   หรือแม้แต่เผชิญหน้ากับบรรดาพี่ชายที่เคยเฉดหัวเขาให้ออกจากบ้านต้องพบกับความทุกข์ระกำลำบาก

ประการที่สอง   ชีวิตของโยเซฟมีลักษณะพิเศษคือ   เขาติดสนิทกับพระเจ้าในทุกสถานการณ์ชีวิต   พระคัมภีร์จะบอกในทุกสถานการณ์ชีวิตว่า  พระเจ้าสถิตอยู่กับโยเซฟ   การสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้านีเองที่ทำให้เกิดผลสำคัญในชีวิตของโยเซฟคือ   คนรอบข้างในที่นั้นเห็นถึงการสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้าในชีวิตของโยเซฟ  และการงานทุกอย่างพระเจ้าประทานความสำเร็จ เช่น  เมื่อต้องเป็นทาสในเรือนของโปทิฟาร์   พระคัมภีร์บันทึกว่า  
“...(โปทิฟาร์)นายของท่านก็เห็นว่าพระยาเวห์ทรงอยู่กับท่าน...”  ( 39:3 มตฐ.) 
“...และพระยาเวห์ทรงให้การงานทุกอย่างที่มือท่านทำสำเร็จ” (ข้อ 3)
“โยเซฟเป็นที่โปรดปรานของนาย  และมอบทุกสิ่งที่เขามีไว้ในมือของโยเซฟ” (ข้อ 4)
“...พระยาเวห์อวยพระพรแก่ครอบครัวของโปทิฟาร์เพราะเห็นแก่โยเซฟ...” (ข้อ 5)
“...และพระพรของพระยาเวห์มาเหนือทุกสิ่งที่เขามี  ทั้งในบ้านและในนา” (ข้อ 5)

เมื่อชีวิตตกต่ำกลายเป็นนักโทษหลวงที่ถูกขังคุกใต้ดิน   พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า  (ข้อ 21-23)
“พระยาเวห์ทรงอยู่กับโยเซฟ   ทรงสำแดงความโปรดปรานท่าน”
“...การงานที่ทำในที่นั้นทุกอย่างโยเซฟเป็นผู้ทำ...”
“พัศดีมอบนักโทษทั้งหมดในเรือนจำไว้ในความดูแลของโยเซฟ   พัฒดีไม่ต้องดูแลการงานทุกอย่างที่โยเซฟดูแล   เพราะพระยาเวห์ทรงอยู่กับโยเซฟ
“...และพระยาเวห์ทรงทำให้สิ่งที่โยเซฟทำนั้นสำเร็จ”

ประการที่สาม   ในทุกสถานการณ์ชีวิต   โยเซฟคิดถึงคนอื่นที่อยู่ในที่นั้นก่อนที่จะคิดถึงตนเอง

ประการที่สี่ โยเซฟตกลงไปอยู่ในสถานการณ์ไหน   เขามีชีวิตที่เป็นตัวกลางนำพระพรของพระเจ้าเข้าไปถึงที่นั่น

ประการที่ห้า ในทุกที่ที่โยเซฟอยู่   เขาคือความหวัง และ ที่พึ่งของคนในที่นั้นๆ

ประการที่หก โยเซฟมิได้ขับเคลื่อนชีวิตของเขาตามสถานการณ์ที่เขาเผชิญ   แต่เขาขับเคลื่อนชีวิตของเขาตามการทรงนำของพระเจ้า   เพื่อก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดสันติสุขในที่นั้นๆ

ประการที่เจ็ด โยเซฟมีความเชื่อว่า   ทุกสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นกับเขา   พระเจ้าสถิตอยู่ด้วย   และใช้ชีวิตของเขาในทุกสถานการณ์ตามพระประสงค์ของพระองค์     ดังนั้น  โยเซฟจึงเชื่อมั่นว่าทุกสถานการณ์ชีวิตพระเจ้าจะใช้ท่านให้มีชีวิตที่เกิดผลดีแก่ผู้คนรอบข้างในที่นั้นๆ  

เมื่อโยเซฟเผชิญหน้ากับบรรดาพี่ชายที่ขายเขาให้กับคนอิชมาเอล   โยเซฟกลับมองสถานการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมานั้นว่า  “แต่​เดี๋ยว​นี้​อย่า​เสีย​ใจ​ไป​เลย อย่า​โกรธ​ตัว​เอง​ที่​ขาย​ฉัน​มา​ที่​นี่ เพราะ​ว่า​พระ​เจ้า​ทรง​ใช้​ฉัน​ให้​มา​ก่อน​หน้า​พวก​พี่ เพื่อ​จะ​ได้​ช่วย​ชีวิต...ฉะนั้น ไม่​ใช่​พี่​เป็น​ผู้​ให้​ฉัน​มา​ที่​นี่ แต่​พระ​เจ้า​ทรง​ให้​มา” (ปฐมกาล 45:5-8  มตฐ.)

วันนี้เราจะรับมือกับชีวิตที่ตกต่ำอย่างไรดีครับ?   เอาแบบ “โยเซฟ” โมเดลดีไหมครับ!?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499 

18 มิถุนายน 2557

เมื่อความเชื่อล้มเหลว...เป็นโอกาสเติบโตในความเชื่อ

“ข้าพระองค์เชื่อ   ที่ยังขาดความเชื่ออยู่นั้นขอทรงช่วยให้เชื่อด้วยเถิด” 
(มาระโก 9:24 อมต.)

เสียงร้องขอความช่วยเหลือจากก้นบึ้งแห่งหัวใจพ่อ
“...แต่ถ้าพระองค์ทรงช่วยได้ขอโปรดทรงสงสารเรา และช่วยเราด้วยเถิด” (ข้อ 22)
พระเยซูคริสต์ท้าทายผู้เป็นพ่อว่า  “ถ้าช่วยได้นะหรือ...ทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับคนที่เชื่อ”
ผู้เป็นพ่อเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมนที่เป็นมาเวลานาน   ร้องประโยคอมตะออกมาว่า
“ข้าพระองค์เชื่อ   ที่ยังขาดความเชื่ออยู่นั้นขอทางช่วยให้เชื่อด้วยเถิด”

ใช่...ความเชื่อเป็นความไว้วางใจในพระเจ้า
แต่ความเชื่อที่เกิดขึ้นในตัวเรา...ไม่ใช่การตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น
แต่ความเชื่อเป็นพระราชกิจของพระเจ้าที่ทรงกระทำในชีวิตของเรา
ดังผู้เป็นพ่อทูลขอพระเยซูคริสต์ให้ช่วยเขามีความเชื่อในส่วนที่ขาดอยู่ด้วย

ความเชื่อคือการที่เรารู้ถึงพระคริสต์และพลังอำนาจของพระองค์
เป็นการที่เรารู้ว่าพระองค์เป็นพระผู้ช่วยในชีวิตของเรา 
เรารู้ว่าพระองค์ผู้ทรงไถ่ถอนให้เราหลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปผิด

การรู้เช่นนี้เท่านั้น  ไม่ได้ทำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งเสมอไป
บ่อยครั้งชีวิตของเราล้มเหลว   ความเชื่อของเราสะดุดล้ม
ในเวลาวิกฤติเช่นนี้   ถ้าเราเปิดชีวิตเราให้พระเจ้าเข้ามา
พระองค์จะทรงกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเรา
เราได้รับประสบการณ์และการสัมผัสจากพระองค์
ความเชื่อที่ขาดพร่องจึงได้รับการเสริมเพิ่มเติมเต็มให้แข็งแรงขึ้น
เราไว้วางใจพระองค์มากยิ่งขึ้น

เมื่อใดที่ความเชื่อเราล้มเหลว...จงอย่าท้อถอย  อย่าหันหลังให้พระคริสต์
เพราะนั่นเป็นเวลาและโอกาสที่พระองค์จะกระทำพระราชกิจในชีวิตของเรา
เป็นโอกาสที่เราจะเติบโตขึ้นในความเชื่อ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

16 มิถุนายน 2557

โศกเศร้า...เพื่อรับการทรงเปลี่ยนแปลงชีวิต

ความสุขมีแก่ผู้ที่โศกเศร้า  
เพราะเขาจะได้รับการปลอบประโลม (การหนุนใจ)  (อมต.)

อะไรที่ไม่ใช่ความหมายในพระธรรมตอนนี้

ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการที่มีอารมณ์ไม่ดีเป็นเนื่องนิจ   ร้องไห้ตลอดเวลา   ในที่นี้พระเยซูไม่ได้หมายถึงคนที่หดหู่ โศกเศร้า  มีแต่ความทุกข์ใจ   หรือบ่นพึมพำ

ความโศกเศร้าในที่นี้ไม่ได้เกิดจากการสงสารตนเอง   หรือเป็นคนที่ร้องห่มร้องไห้เพราะความไม่พอใจหรือไม่ถูกใจในการทำงาน  รูปร่างหน้าตาของตน   หรือหลายๆ เรื่องในชีวิต

ความโศกเศร้าในที่นี้ไม่ได้เกิดจากผลการสูญเสียสิ่งภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือ ความสัมพันธ์ทั่วไป   ไม่ใช่ความโศกเศร้าที่เกิดจากไม่ได้สิ่งที่อยากได้ใคร่มีตามที่ปรารถนา   หรือไม่ใช่ทำทีโศกเศร้าเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนเคร่งครัด  เช่นที่พระเยซูคริสต์กล่าวเตือนในมัทธิว 6:16 เมื่อ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ถือ​อด​อาหาร อย่า​ทำ​หน้า​เศร้า​หมอง​เหมือน​พวก​คน​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด เพราะ​พวก​เขา​ทำ​หน้า​ให้​มอม​แมม เพื่อ​จะ​ให้​คน​เห็น​ว่า​เขา​ถือ​อด​อาหาร...”

ความโศกเศร้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความสิ้นหวังสิ้นคิด เช่น ยูดาส อิสการิโอท  ที่รู้ถึงความผิดบาปของตนเอง   เกิดความเสียใจ   ยอมรับสิ่งที่กระทำผิด   เอาเงินไปคืน   แต่เขาไม่ได้ “โศกเศร้า”  อย่างที่พระเยซูคริสต์หมายถึงตามพระธรรมตอนนี้   นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง “ความสิ้นหวัง” กับ “ความโศกเศร้า” ในจิตวิญญาณ   เพราะ “ความสิ้นหวัง” ของยูดาสเกิดจากการที่เขามองที่ตัวเขาเอง   แต่มิได้มุ่งมองที่พระคริสต์   ผลที่ตามมาก็คือการฆ่าตัวตาย

นี่คือความหมายที่พระคริสต์กล่าวถึง

การโศกเศร้าในที่นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากการที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ    เป็นความโศกเศร้าที่เกิดจากการที่คนๆ นั้นสำนึกว่าตนล้มละลายในด้านจิตวิญญาณ   เสียใจที่ตนเป็นเช่นนั้นทำให้เกิดความโศกเศร้า   ยอมรับถึงความผิดบาปเสียหายที่เกิดขึ้นในชีวิต   และสำนึกในความผิดพลาดของตน   และในที่นี้รู้สึกเจ็บปวดต่อการผิดบาปและตกลงในสภาพชีวิตที่ล้มละลายด้านจิตวิญญาณดังกล่าว   เขาจึงโศกเศร้าด้วยการสารภาพในความบาปผิด   เป็นความโศกเศร้าที่คร่ำครวญแสวงหาการทรงช่วยจากเบื้องบน (เพราะตนไม่สามารถพึ่งตนเองหรือช่วยตนเองได้)  อย่างที่เปาโลกล่าวใน โรม 7:24 ที่ว่า  “โอย ข้าพ​เจ้า​เป็น​คน​น่า​สม​เพช​อะไร​เช่น​นี้? ใคร​จะ​ช่วย​ให้​พ้น​จาก​ร่าง​กาย​แห่ง​ความ​ตาย​นี้"   เป็นความโศกเศร้าถึงความบาปผิดของตนที่ชัดเจน   เขาเป็นเหมือนผู้ป่วยที่บอกถึงอาการเจ็บป่วย  หรือการเจ็บปวดอย่างเฉพาะเจาะจง   ว่าตนกำลังเจ็บในส่วนใดของร่างกาย และ ชีวิต  

นี่เป็นการโศกเศร้าในจิตวิญญาณของเราที่แสวงหารับการเยียวยารักษาจิตวิญญาณของตน    เป็นความโศกเศร้าที่ติดตามด้วยการหันกลับมาแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้า   ดัง โยเอล 12:12-13 กล่าวไว้ว่า  12พระ​ยาห์​เวห์​ตรัส​ดัง​นี้​ว่า ถึง​กระ​นั้น​ก็​ดีบัดนี้ พวกเจ้า​จง​กลับ​มา​หา​เรา​ด้วย​สุด​ใจด้วย​การ​อด​อา​หาร การ​ร้อง​ไห้ และ​การ​โอด​ครวญ 13 ​​จง​ฉีก​ใจ​ของ​พวกเจ้า ไม่​ใช่​ฉีก​เสื้อ​ของ​เจ้าจง​กลับ​มา​หา​พระ​ยาห์​เวห์​พระ​เจ้า​ของ​พวกท่านเพราะ​ว่า​พระ​องค์​ทรง​เปี่ยม​ด้วย​พระ​คุณ​และ​พระ​กรุ​ณา...” (มตฐ.) 

การโศกเศร้าในที่นี้ยังมีความหมายรวมถึงความโศกเศร้าที่เกิดจากความบาปผิดของคนอื่นด้วย   เมื่อคริสตชนอ่านพระธรรมมัทธิวบทที่ 23  เรามักตอกย้ำถึงวิบัติที่เกิดขึ้นแก่คนอื่นที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึง   แล้วก็ “สะใจ” หยุดเพียงแค่นั้น  แต่เรากลับละเลยที่จะพิจารณาและทำอย่างพระเยซูคริสต์ในตอนสุดท้ายของบทนี้   พระองค์ทรงคร่ำครวญถึงความบาปผิดมากมายที่ผู้นำศาสนาและคนทั้งหลายกระทำ   และพระองค์มีใจต้องการให้พวกเขาได้เข้ามาอยู่ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของพระองค์   แต่พวกเขากลับไม่ยอม  และสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้พระองค์โศกเศร้าในสดุดี 119:136 เขียนไว้ว่า “น้ำ​ตา​ของ​ข้า​พระ​องค์​ไหล​พรั่ง​พรูเพราะ​คน​ไม่​ปฏิ​บัติ​ตาม​ธรรม​บัญ​ญัติ​ของ​พระ​องค์”    

ยากอบ 4:9-10 เขียนไว้ว่า “จง​เป็น​ทุกข์ โศก​เศร้า และ​ร้อง​ไห้ ให้​เสียง​หัว​เราะ​ของ​พวก​ท่าน​กลาย​เป็น​ความ​โศก​เศร้า และ​ความ​ชื่น​ชม​ยินดี​กลาย​เป็น​ความ​เศร้า​สลด พวก​ท่าน​จง​ถ่อม​ใจ​ลง​ต่อ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า แล้ว​พระ​องค์​จะ​ทรง​ยก​ชู​ท่าน”   พระธรรมตอนนี้ไม่ได้ต่อต้านความชื่นชมยินดี   หรือมิได้นิยมความโศกเศร้า    บริบทในยากอบบทที่ 4 กำลังกล่าวถึงผู้คนที่ปรารถนาความชั่วภายในชีวิตของเขา   ไม่แยแสไม่สนใจต่อความบาปผิด   เพราะคนพวกนี้ “ทำตัวเป็นมิตรกับโลก  แต่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพระเจ้า”   และผู้เขียนเรียกร้องให้คนเหล่านั้นกลับใจอย่างจริงใจ

ด้วยความโศกเศร้าจากภายในของชีวิตเนื่องจากความบาปผิดและการล้มละลายในจิตวิญญาณของเรา   จึงทำให้เราได้รับการปลอบประโลม   จากผ้ากระสอบแห่งการไว้ทุกข์เขาจะได้รับชุดสวมใส่ใหม่แห่งการสรรเสริญ    ที่เราได้ประสบการณ์เช่นนี้เพราะพระคริสต์ได้ทรงปลดอำนาจของความบาปชั่วอันหนักอึ้งที่กดทับชีวิตจิตวิญญาณของเราออก   ชีวิตจึงได้รับความเป็นไท   แล้วทรงเปลี่ยนแปลง  และยกชูชีวิตของเราขึ้นใหม่จากพระองค์

นี่คือพระพรจากพระเจ้า   นี่คือความสุขที่มาจากการได้รับ “การยกโทษ” จากพระเจ้า  ได้รับการเยียวยารักษา   ชีวิตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากพระเจ้า   และ รับการทรงสร้างใหม่จากพระองค์   นี่ไม่ใช่เป็นพระพร และ ความสุขในชีวิตของเราเท่านั้น   แต่จะก่อเกิดความสุขและพระพรกระทบต่อสังคมชุมชนอีกด้วย   เพราะเมื่อชีวิตภายในของเราได้รับการเปลี่ยนแปลงและสร้างใหม่จากพระคริสต์   เราถึงจะมีพลังชีวิตที่สามารถจะสร้างการปรองดองคืนดี  และ  นำสันติสุขมายังสังคมชุมชนต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

13 มิถุนายน 2557

สำนึกว่า...จิตวิญญาณของตนล้มละลาย!

ความสุขมีแก่ผู้ที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ  
เพราะอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของเขาแล้ว  (มัทธิว 5:3 อมต.)

อะไรที่ไม่ใช่ความหมายในพระธรรมตอนนี้

พระเยซูคริสต์มิได้หมายความว่า  คนยากจนคือคนที่ได้พระพร หรือมีความสุขทางจิตวิญญาณ    และก็ไม่ได้หมายความว่า  เพราะความขัดสนทางวัตถุ สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองทำให้พวกเขาใกล้ชิดพระเจ้า  และรับพระพรของพระองค์มากกว่าคนอื่น

พระเยซูคริสต์ไม่ได้หมายความว่า  พระพร หรือ ความสุขเป็นของคนที่ “ยากจนขัดสนในจิตวิญญาณ”  ที่มีความหมายถึงคนที่ขาดความกล้าหาญ  ขาดพลัง  ขาดความกระตือร้น   หรือมีจิตใจที่ห่อเหี่ยว  ไม่อยากทำอะไร  พระองค์ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเป็นที่พึงพอใจของพระเจ้า

พระเยซูก็ไม่ได้หมายความว่า  คนที่ “เก็บตัว”  คนเฉยๆ ดูไม่ดิ้นรน  จะเป็นคนที่ดีกว่าคนที่เปิดเผย  ชอบคบค้าสมาคมกับคนอื่น   และพระองค์ก็ไม่ได้หมายความว่า   คนที่รู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง  หรือ รู้สึกว่าตนมีภาพลักษณ์ชีวิตที่ย่ำแย่จะได้รับพระพรหรือมีสุข

เราต้องชัดเจนในประการนี้ว่า  พระพรและความสุขที่พระเยซูคริสต์สอนในตอนนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับบุคลิกภาพของบุคคล

ความหมายที่พระคริสต์กล่าวถึง

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า   การที่พระเยซูคริสต์ใช้คำว่า “ขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ” หรือ “ยากจนด้านจิตวิญญาณ”   นั้นเป็นการสอนด้วยการอุปมาเปรียบเทียบ   โดยใช้คำว่า “ขัดสน หรือ ยากจน” ด้านวัตถุสิ่งของ หรือ เงินทอง   มาใช้กับ  ชีวิตด้านจิตวิญญาณของคนเรา

คำว่า “ขัดสน หรือ ยากจน” พระคัมภีร์ภาษากรีกใช้กันอยู่  2 คำคือ คำแรก penichros  เราพบในลูกา 21:2 “หญิงหม้ายคนหนึ่งซึ่งเป็นคน ขัดสน”  นางมีเงินเพียงเล็กน้อย (สองเหรียญทองแดง)  ซึ่งเป็นความยากจนขัดสนอย่างมาก  แต่อย่างน้อยเธอก็ยังมีอยู่สองเหรียญทองแดง   กับอีกคำหนึ่งในภาษากรีก  ptochos  ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในพระธรรมตอนนี้ หมายถึงความยากจนขัดสนจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลยในชีวิต   ไม่สามารถที่จะพึ่งตนเองได้   ต้องพึ่งพิงทุกอย่างจากคนอื่นเพื่อค้ำจุนชีวิตตนเองให้อยู่รอด

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม “คนยากจนขัดสน” เป็นกลุ่มชนที่ไร้ซึ่งอำนาจ มีแต่ต้องพึ่งพิงคนอื่น   เป็นความยากจนขัดสนด้านวัตถุและเศรษฐกิจและมักถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกใช้เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ของคนมั่งมีและผู้มีอำนาจ   เราพบว่าคนกลุ่มนี้ในพระคัมภีร์เขาพึ่งหวังการปกป้องและค้ำจุนจากองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม  ในพระธรรมตอนนี้เป็นเรื่อง “ความยากจนขัดสนด้านจิตวิญญาณ”   และเป็นความยากจนขัดสนที่ไม่อะไรเหลืออยู่ในด้านจิตวิญญาณ   ในที่นี้หมายถึงคนที่ “ล้มละลายด้านจิตวิญญาณ”   ไม่มีคุณค่า  ไม่มีบุญญาบารมี  หรือ  คุณธรรมอะไรเหลืออยู่เลยต้องพึ่งพาและการค้ำจุนจากพระเจ้าในทั้งชีวิต   คนที่สำนึกเช่นนี้แหละที่พระเยซูคริสต์บอกว่า  “ความสุขมีแก่คนที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ”   เพราะอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของเขาแล้ว   หมายความว่า   เพราะเขาสำนึกว่าตนต้องพึ่งพิงพระเจ้าในด้านจิตวิญญาณ   และยอมตนเข้าอยู่ใต้การครอบครองของพระองค์   ที่รับการทรงเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างชีวิตจิตวิญญาณของตนขึ้นใหม่   ดังนั้นเขาจึงได้เป็นประชากรคนหนึ่งในแผ่นดินของพระเจ้า

การสำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ   คือการยอมรับและตระหนักชัดเจนว่า   ตนสิ้นเนื้อประดาตัวในด้านจิตวิญญาณ   เป็นการรู้เท่าทันและสารภาพยอมรับต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าว่า  จิตวิญญาณของตนเสื่อมต่ำ ขัดสน ข้นแค้น  ไร้ความชอบธรรม  และต้องการพึ่งพิงในพระคุณของพระเจ้าเท่านั้น   ผู้ประพันธ์สดุดี 51:17  กล่าวว่า  
“เครื่อง​บูชา​ที่​พระ​เจ้า​ทรง​ปรารถ​นา​คือ​จิต​ใจ​ที่​แตก​สลาย
จิตใจที่​แตก​สลาย​และ​สำ​นึก​ผิด​นั้น
ข้า​แต่​พระ​เจ้า พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรง​ดู​ถูก (มตฐ.)

ทำไมพระเยซูถึงกล่าวเรื่องนี้เป็นประการแรก

ทำไมข้อนี้จึงเป็นพระพร หรือ ความสุขประการแรก?   ที่พระคริสต์นำขึ้นมา

ทำไมคุณลักษณะการสำนึกใน  “ความยากจนขัดสนด้านจิตวิญญาณ”   จึงเป็นเรื่องแรกที่พระคริสต์กล่าวถึง?

ทำไม “การล้มละลายด้านจิตวิญญาณ”  จึงเป็นเรื่องแรกที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง?

เพราะการที่เราสำนึก และ ตระหนักชัดว่า ชีวิตของเราว่างเปล่า  ล้มละลายในด้านคุณธรรมและคุณค่า  เมื่อนั้นองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงเติมเต็มความชอบธรรมในชีวิตของเราด้วยพระเมตตาและพระคุณของพระองค์   ประการนี้เป็นรากฐานสำคัญสุดของชีวิตคริสตชน   ตราบใดที่คนเราไม่สำนึกและตระหนักชัดว่า “เราขาด”   แต่กลับคิดว่าเรามี....   เมื่อนั้นชีวิตของเราไม่มีที่ว่างที่องค์พระผู้เป็นเจ้าจะเติมเต็มคุณค่าและคุณธรรมของพระองค์ให้แก่เราได้    ดังที่ ยอห์นเตือนเราในพระธรรมวิวรณ์ 3:17 ว่า  “เพราะ​เจ้า​พูด​ว่า ข้า​เป็น​เศรษฐี​และ​ข้า​ร่ำ​รวย​แล้ว ข้า​ไม่​ต้อง​การ​สิ่ง​ใด​เลยเจ้า​ไม่​รู้​ว่า​เจ้า​เป็น​คน​น่า​สม​เพช น่า​สัง​เวช เจ้า​ยาก​จน ตา​บอด และ​เปลือย​กาย” 

พระเยซูคริสต์กล่าวว่า   ความสุขมีแก่ผู้ที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ   เพราะว่าอาณาจักรของพระเจ้า(สวรรค์)เป็นของเขาแล้ว   ขอตั้งข้อสังเกตว่า   ประโยคนี้ในพระคัมภีร์ภาษากรีกเป็นประโยคปัจจุบันกาล   คือคนๆ นั้นได้เริ่มเป็นประชากรในแผ่นดินของพระเจ้าตั้งแต่วันนี้   ไม่ต้องรอหลังความตายก่อนจึงจะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์

พระพรหรือความสุขที่แท้จริงนั้น  เริ่มต้นที่การสำนึกถึงสภาพชีวิตภายในของตน   แล้วยอมรับการทรงเปลี่ยนแปลง   เติมเต็ม  และสร้างใหม่จากพระเจ้า   พระพรและความสุขมิใช่สิ่งที่เกิดจากสภาพการณ์ภายนอก   มิใช่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย   ไม่ได้ขึ้นกับความเด็ดขาดจริงจังในการควบคุมสังคม   ไม่ได้เกิดขึ้นจากมีสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี    สิ่งเหล่านี้มีบางคนที่หยิบยื่นให้เราได้   แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พระพรที่ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงยั่งยืนแก่คนและสังคม

พระพรที่เป็นความสุขที่แท้จริงเริ่มต้นที่เราท่านได้รับการวางรากฐานชีวิตภายในจิตวิญญาณจากพระเจ้าเป็นประการแรก   ทั้งในความคิด  มุมมองทัศนคติ  ความเชื่อศรัทธา   และความไว้วางใจในพระเจ้า   ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจ  การเลือก   การพูด  ท่าทีที่แสดงออกจนถึงการกระทำของตน   และสิ่งเหล่านี้ที่เป็นผลจากภายในชีวิตของเราต่างหาก  ที่ทำให้สังคมของเราได้รับพระพรหรือการแช่งสาป   ได้รับความสุขหรือความทุกข์ที่นำสู่ความหายนะ

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

11 มิถุนายน 2557

ความสุขไม่มีใครหยิบยื่นให้ ได้ ... อยากได้ชีวิตคุณต้องเปลี่ยน!

1 เมื่อพระเยซู​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ฝูง​ชนมากมาย  ก็เสด็จขึ้นเนินเขา และ​​ประ​ทับนั่ง​
เหล่า​สา​วก​ของ​พระ​องค์พากันมาหา​​พระ​องค์
2 และ​พระ​องค์​ทรงเริ่มต้นสั่งสอนพวกเขาว่า... (มัทธิว 5:1-2 อมต.)

บทใคร่ครวญ 9 บทต่อไปนี้เป็นกระบวนการสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์ในเรื่องเป็นคนที่มี “ความสุข”
ใครๆ ก็อยากจะมีชีวิตที่มีความสุข
ไม่น่าเชื่อเลย   แม้แต่การทำรัฐประหารก็เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน!?

บทใคร่ครวญชุด “ความสุข”  ที่พระคริสต์ทรงสอนและใช้สร้างความคิดและความเชื่อของสาวก  ที่เป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตประจำวัน    เป็นความสุขที่ผู้คนทั้งหลายไขว่คว้า   เป็นความสุขที่เหมือนกับที่คณะก่อการยึดอำนาจจะนำมาให้ประชาชนหรือไม่?   หรือเป็น “ความสุข” ที่แตกต่างออกไป?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ   ความสุขที่ว่านี้คริสตชนเรียกว่า “พระพร”   และพระพรที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนและต้องการให้เกิดเป็นจริงในชีวิตของผู้คนมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญสองส่วนด้วยกันคือ   เป็นทั้ง “ความรู้” และต้อง “กระทำ” ในสิ่งที่เรียนรู้ตามที่พระคริสต์สอนนั้นจึงจะเกิดเป็นพระพร หรือ ความสุข  

พระพรหรือความสุข มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมายากล  เวทมนต์  หรือ คาถาอาคม

แต่ถ้าเราต้องการ “พระพร” หรือ “ความุข” ตามที่พระเยซูคริสต์สอน   เราต้องกระทำตามสิ่งที่พระองค์สอนในชีวิตประจำวัน

ในมัทธิว 5:3-11 พระเยซูเริ่มสอนถึง  คน 8 คุณลักษณะเฉพาะที่จะมีความสุขหรือได้รับพระพร   พระองค์กล่าวว่า  “ความสุขมีแก่ผู้ที่...” ถึงแปดครั้ง แปดลักษณะด้วยกัน   ถ้าเราพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์จะสามารถเห็นว่า   คุณลักษณะแปดประการของคนที่ได้รับพระพรหรือมีความสุขตามคำสอนของพระเยซูคริสต์   เป็นกระบวนการแห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่ทำการ “พลิกคว่ำและเปลี่ยนแปลงจิตใจมนุษย์อย่างรุนแรง”

ที่สำคัญเราต้องไม่เข้าใจผิดว่า   พระพรหรือความสุขของผู้คน 8 คุณลักษณะ  มิใช่คำสัญญา หรือ มีเงื่อนไขว่าถ้าคุณเป็นคนแบบนี้แล้วคุณจะมีความสุข หรือได้รับพระพรจากพระเจ้า   ถ้าเราไปเข้าใจเช่นนั้นเราจะพบว่าคำสอนของพระเยซูดูเหมือนขัดแย้งกันเองอย่างสิ้นเชิง 

พระพร หรือ ความสุข 4 ประการแรก เป็นความสุขที่เกี่ยวกับคุณลักษณะชีวิตภายในของคนเรา   เป็นการกล่าวถึง “จิตใจ” ของผู้ที่ต้องการเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เชื่อฟังพระองค์   เป็นผู้ที่มีความนอบน้อมถ่อมตน  คนที่ตกอยู่ในความโศกเศร้า   เป็นคนที่ถ่อมสุภาพ   เป็นคนกระหายหาความชอบธรรม

ในส่วนพระพร หรือ ความสุขของคน 4 ลักษณะหลังเน้นความสำคัญที่ “การกระทำ” ในชีวิตในการเป็นสาวกที่ติดตามพระคริสต์   กล่าวคือเป็นคนที่แสดงออกถึงความเมตตากรุณา   แสดงออกถึงชีวิตที่บริสุทธิ์  เป็นผู้ที่สร้างสันติ   และ เป็นคนที่แสวงหาความชอบธรรมแม้จะถูกกดขี่ข่มเหงก็ตาม

คำสอนถึงพระพรหรือความสุขของคนแปดคุณลักษณะข้างต้นนี้    เหมาะสมสำหรับเราที่มีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน   ท่ามกลางสังคมที่สับสน  ว้าวุ่น  ใช้อำนาจเอาชนะคะคานกัน  แย่งชิงทุกรูปแบบเพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพรรคพวก   หลอกล่อให้ประชาชนผู้คนตกลงในกับดักทั้งทางด้านเศรษฐกิจ   การใช้อำนาจ/แย่งชิงอำนาจ   เน้นเรื่องประชาธิปไตยที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ   เพื่อตนและพวกตนจะมีอำนาจและเป็นใหญ่   เน้นเรื่องประชานิยม  เพียงเอาผลประโชน์เข้าล่อจนประชาชนหลงงมงายถูกโกงอย่างเป็นระบบ

ในสภาพการณ์เช่นนี้   ให้เรากลับมาใคร่ครวญถึง   คำสอนที่เป็นพระพรและความสุขสำหรับชีวิตของเราจากพระเยซูคริสต์ครับ

ความสุขมีแก่ผู้ที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ...
ความสุขมีแก่ผู้ที่โศกเศร้า...
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถ่อมสุภาพ...
ควมสุขมีแก่ผู้หิวกระหายความชอบธรรม...
ความสุขมีแก่ผู้ที่เมตตากรุณา...
ความสุขมีแก่ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์...
ความสุขมีแก่ผู้ที่สร้างสันติ...
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความชอบธรรม...

พระพรหรือความสุขที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึงนี้เป็นของ “คนรากหญ้า”   ที่ถูกช้างสารงัดกันจนหญ้าถูกเหยียบย่ำจนแหลกลาน   ที่สำคัญกว่านั้นครับ   พระพรและความสุข ที่พระเยซูพูดถึงนี้คนที่จะนำมาให้เกิดเป็นจริงเป็นรูปธรรมคือ  ผ่านชีวิตของคนรากหญ้าที่ถูกเหยียบจนแหลกลาญนี้แหละครับ   ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาว/ม้าดำที่ไหนจะนำ “ความสุข” มาคืนให้เราได้หรอกครับ

คนรากหญ้าเฉกเช่นเราทั้งหลายที่มีใจสัตย์ซื่อและมีชีวิตที่เชื่อฟังพระคริสต์   และดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ต่างหาก   ที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย   และนำพระพรและความสุขจากเบื้องบนมายังสังคมประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งครับ

ความสุขมีแก่ผู้สร้างสันติ   เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพระเจ้า
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความชอบธรรม   เพราะแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของเขาแล้ว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

09 มิถุนายน 2557

รับมือความขัดแย้งในการทำงาน

ครั้งหนึ่งเมื่อผมต้องรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในงานที่ทำ   เพื่อนบอกผมว่า  “ใจเย็นๆ”

มันก็จริงของเพื่อนคนนี้   เราอยู่ในสังคมโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายทั้งด้านความนึกคิด   ท่าทีที่แสดงออก  และพฤติกรรมที่เรากระทำต่อคนอื่น....ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ   ยิ่งถ้างานที่ทำต้องอยู่ท่ามกลางการสื่อสารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ   เกิดการเข้าใจผิด   ต้องทำงานท่ามกลางการแข่งขัน   หรือการชิงดีชิงเด่น  หรือถึงขนาดปัดแข้งปัดขากันแล้ว   สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่   ความขัดแย้งยิ่งลงลึกซับซ้อน   สร้างบาดแผลบาดลึกลงในชีวิต   ทำให้เกิดความเจ็บปวดในความรู้สึก  และเกิดการฉีกขาดในความสัมพันธ์  ความตึงเครียด   ความไม่ลงรอยย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งในที่ทำงาน  บริษัท  องค์กร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  หรือแม้แต่ในคริสตจักร   ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน  หรือพยายามที่จะเป็นคนดีปานใด   เราก็จะพบว่า  “เจอเข้าแล้วกับความขัดแย้ง   ชนอย่างจังกับปัญหา”   แต่เราก็คงต้องยอมรับความจริงด้วยว่า   ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป   เพราะในบางความขัดแย็งเป็น “ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์” ได้

สิ่งที่หายไปเมื่อขัดแย้งจนโกรธ

ผมกลับมาคิดถึงคำเตือนสติของเพื่อนเมื่อผมเผชิญหน้ากับ “คู่ขัดแย้ง”  จนเกิดความโกรธ  อารมณ์เดือดพล่าน   ทำให้ผมพูดเสียงดังขึ้น   คิดแต่ว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาผิดและผมถูกอย่างไร   เกิดจิตใจที่ขุ่นข้นมัวหมอง   ท่าทางที่แสดงออกที่จริงจังพัฒนาไปสู่ท่าทีที่ “ตึงตัง”หรือบางครั้งแสดง “หน้ายักษ์หน้ามาร”  โดยไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ!

ใช่...เพื่อนถึงต้องบอกผมว่า “ใจเย็นๆ”  

ใช่สินะ   ตอนนั้นผมถูกพลังร้ายครอบงำ   สุมไฟผลักดันไปสู่ความร้อนแรงเดือดพล่าน   และมันกำลังทำลายทั้งผม  เพื่อน  และองค์กรที่ผมทำงานด้วย   ใช่ผมต้องใจเย็นๆ   ผมต้องกลับมามีสติ   กลับมาที่ความตั้งใจต้องการแก้ไขความขัดแย้ง   ต้องการแก้ปัญหา   ไม่ใช่จะเอาชนะเพื่อนร่วมงานคนนั้น

ใช่สินะ   ผมแก้ปัญหา และ ความขัดแย้งได้    แต่ผมแก้ไขตัวเพื่อนไม่ได้!

ใช่สินะ   ผมลืมไปแวบหนึ่งเมื่อโกรธจัดว่า   ผมเป็นคริสตชน   ผมเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน

รับมืออย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง?

1. ตั้งจิตให้มั่น

ก่อนที่เราจะทำหรือตอบโต้อะไรออกไป   ให้เรานำสถานการณ์นั้นปรึกษากับพระเจ้า   เพื่อพระองค์จะประทานจิตใจที่ถ่อม สุภาพ มั่นคง สงบแก่เรา   เพื่อเราจะมีมุมมองในเรื่องดังกล่าวที่สร้างสรรค์และสันติ   และที่สำคัญเราควรขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราว่า   เรามีส่วนผิดพลาดอะไรบ้างในเหตุการณ์นี้   เพื่อเราจะรู้เท่าทันตนเองและกลับใจ   อธิษฐานเผื่อแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้   รวมถึงคู่ขัดแย้ง และ คนที่เราโกรธด้วย   ทั้งนี้จะเป็นการ “ปรับจิตใจ” ของเราให้เป็นจิตใจที่เชื่อฟังพระเจ้า   การที่เราอธิษฐานเช่นนี้ก่อนย่อมช่วยให้เราหลุดรอดออกจากจิตใจที่ต้องการเอาชนะ  จิตใจที่ต้องการให้เขาได้รับโทษที่สาสมในสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว

2. แยกปัญหา/ความขัดแย้งออกจากตัวบุคคล

เราสามารถแก้ปัญหาและความขัดแย้งได้   แต่เราแก้คู่ขัดแย้งของเราไม่ได้   ในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าที่เราขัดแย้งกันนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัว  เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สร้างความขุ่นเคืองรำคาญใจหรือทำให้เราโกรธที่เราจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากัน   ในบางเรื่องเราเพียงปล่อยและวางเสีย   เราควรยกโทษ  แล้วเดินหน้าต่อไป

เราน่าจะถามตนเองว่า   นี่เป็นความขัดแย้งด้วยเรื่องส่วนตัว   หรือเป็นการขัดแย้งเพราะมีปัญหาต้องแก้ไข?   เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับทุกคนในที่ทำงาน   แต่ในฐานะคริสตชนเราพึงพยายามที่จะเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา และ ให้ความนับถือในความเป็นคนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

3. อย่าขยายความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่โต

เมื่อเกิดความขัดแย้งพยายามขีดวงความขัดแย้งให้แคบหรือเล็กที่สุด   ให้เราแก้ไขความขัดแย้งเฉพาะในวงของผู้ขัดแย้งด้วยกันเท่านั้น   นี่เป็นหลักการจากพระคัมภีร์ (มัทธิว 18:15-16)ที่เหมาะสมและใช้ได้ในที่ทำงาน   แต่ถ้าคู่กรณีพยายามทำให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่  เช่น  เอาความขัดแย้งไปให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นจัดการแทนที่จะเริ่มจัดการกันเองในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น   ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง   เพิ่มความรุนแรงในความขัดแย้ง   แล้วยังกระทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจเลวร้ายลงไปอย่างมากเกินกว่าที่คิดและเข้าใจ

4. ความรับผิดชอบที่สำคัญในการรับมือความขัดแย้ง

ถ้าเราเป็นคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งดังกล่าว  สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเปิดใจและจริงใจคือ   เรามีความบกพร่องผิดพลาด หรือ มีส่วนที่ทำให้เกิดความบกพร่องหรือผิดพลาดหรือไม่   ถ้ามีสิ่งแรกที่เราต้องรับผิดชอบในความขัดแย้งดังกล่าวคือ   เราต้องไปขอโทษคู่กรณีของเราในสิ่งเหล่านั้น   หลายครั้งหลายคนที่ทำเช่นนี้จะพบปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจคือ   ความขัดแย้งถูกแก้ได้เกินคาด

แต่ถ้าเรามิใช่คู่กรณีในความขัดแย้ง   เราต้องระวังที่จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งนั้น   เพราะถ้าเราเข้าไปจัดการความแย้งในเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแม้ว่าเราจะเป็นผู้บริหารของเขาก็ตาม   อาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีเราอาจจะถูกใครบางคนยืมมือของเราเอาผิดหรือลงโทษอีกคนหนึ่งก็ได้

ดังนั้น   เรามีหน้าที่ให้กำลังใจให้คู่กรณีพูดคุยหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยกันเองก่อน

5. แสวงหาจุดร่วม

ให้คู่กรณีมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายร่วมของงานที่ทั้งคู่รับผิดชอบ   เพื่อจะค้นหาแนวทางการปฏิบัติงานของแต่ละคนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสม  สร้างสรรค์  และหนุนเสริมกันและกัน   และประเด็นสำคัญคือการที่ช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์แก่องค์กร   ถึงแม้ว่าเป้าหมายงานความรับผิดชอบของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน    แต่เป้าหมายร่วมขององค์กรเป็นจุดเดียวกัน   ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันเพื่อไปให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์กร

สิ่งที่ต้องชัดเจนเสมอ

เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดเสมอว่า   เราเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน หรือ ในแต่ละงานที่เราทำ (2โครินธ์ 5:20)   และหนทางหนึ่งที่เราสามารถสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์แก่เพื่อนร่วมงานของเราคือ  การที่เรารับมือกับความขัดแย้งอย่างไรในงานที่ทำ   เรารับมืออย่างไรในความทุกข์ยากลำบากในงานที่ทำ   ในขณะที่คนอื่นอาจจะหลีกเลี่ยง  เมินเฉยไม่สนใจ  หรือเอาเรื่องขัดแย้งไปนินทาว่าร้าย คุ้ยเขี่ยหาความผิดกัน   แต่ในฐานะคริสตชนท่านคือพลังแห่งสันติ   พลังแห่งการคืนดี  พลังแห่งสมัครสมานสามัคคี   และพลังที่จะช่วยคู่กรณีให้หลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจแห่งความขัดแย้งนั้น

เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งในการทำงาน   โปรดตระหนักชัดถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของท่านคือ  “ไม่​ว่า​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด ก็​จง​ทำ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เหมือน​ทำ​ถวาย​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่​ใช่​เหมือน​ทำ​ต่อ​มนุษย์    ... เพราะ​ท่าน​กำ​ลัง​รับใช้​พระ​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อยู่” (โคโลสี 3:23-24)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ผู้นำคือผู้เสริมภาวะผู้นำแก่ทีมงาน

ณ วันนี้ผู้นำคงจะต้องถามตนเองว่า...
ในฐานะผู้นำ   เรามุ่งเน้นที่ความสนใจของเพื่อนร่วมงาน หรือ ความสนใจของเราเอง?
เราได้ทำอะไรบ้างไหมสำหรับเพื่อนร่วมทีมของเรา  ที่เขาไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยตัวเขาเอง?

เมื่อเราเริ่มทำงานใหม่ๆ  คนทำงานมือใหม่มักสนใจถึงความก้าวหน้าในงานที่ตนทำ
เรามักถามว่า  “ใครจะช่วยในสิ่งที่ฉันทำบ้าง?”
ตอนนั้น เราใช้เวลามากมายที่จะทำให้เพื่อนรอบตัวสนใจในความคิดและความสามารถของเรา
แล้วมักจบลงด้วยพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นถึงความสำเร็จของตน  และแสดงออกถึงความรู้ที่เรามี
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   เราพยายามให้คนอื่นชื่นชมประทับใจในสิ่งที่เรารู้เราสำเร็จ

แต่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในการทำงาน    เราเริ่มเรียนรู้เข้าใจว่าเราจะต้องมุ่งเน้นสนใจในความก้าวหน้าของคนอื่นรอบข้าง   เราก็จะถามว่า  “ผมจะมีส่วนช่วยอะไรบ้างในงานของคุณ?”   แทนการทำให้คนอื่นประทับใจในความสำเร็จของเรา   แต่เราเริ่มแสดงความสนใจและประทับใจในคนอื่น   เป้าหมายของเราก็เพื่อแสดงออกถึงสองประการที่สำคัญคือ  (1) เราสนใจ ใส่ใจในตัวเพื่อนร่วมงาน   และ   (2) เราต้องการที่จะช่วยเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

การแสดงออกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ  เราสนใจในสิ่งที่ทีมงานไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง   มิเพียงแต่เป็นการเสริมเพิ่มพลังคนอื่นเท่านั้น   แต่เป็นการนำความสำเร็จมาสู่คนอื่นด้วย   ดั่งที่ จอห์น บันยัน (John Bunyan) เคยกล่าวไว้ว่า  “คุณยังไม่มีชีวิตที่มีค่าในวันนี้จนกว่าคุณได้ทำบางสิ่งบางอย่างแก่ใครบางคนที่ไม่สามารถตอบแทนสิ่งดีที่คุณทำแก่เขา”   เราเจตนาที่จะสร้างสิ่งแตกต่างขึ้นในชีวิตของคนอื่น   แล้วชีวิตของเราก็จะมีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้นเมื่อเราทำเช่นนั้น

การที่เราทำแก่เพื่อนร่วมงาน  ในสิ่งที่เขาไม่สามารถทำเองนั้นคืออะไรบ้าง?

(1) แนะนำเขาให้รู้จักกับคนที่เขาไม่สามารถที่จะรู้จักหรือเข้าถึงได้

ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ  เรารู้จักมักคุ้นกับคนมากมาย   มีเครือข่ายกับคนที่เราทำงานด้วยกัน   ทางหนึ่งที่ผู้นำควรเปิดทางสำหรับคนทำงานรอบข้างคือ   การเชื่อมประสานให้เขาได้รู้จักกับผู้คนที่เขาควรจะรู้จัก   และ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่เขาเช่น  รู้จักกับคนที่เป็นพี่เลี้ยง  โค้ช  หรือ หุ้นส่วนในธุรกิจ   หรือคนที่มีความสามารถโดดเด่นที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นต้องการเรียนรู้และพัฒนา

(2) นำเขาไปที่ที่เขาไม่สามารถไปด้วยตัวเขาเอง

ในสถานที่สำคัญๆ บางแห่ง   เปิดรับเฉพาะคนบางคนบางกลุ่มที่จะเข้าไปร่วม  เรียนรู้  หรือมีประสบการณ์    ทำให้เพื่อนร่วมงานหลายคนไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปดู  มีประสบการณ์  หรือเรียนรู้    แต่ในฐานะผู้นำท่านสามารถที่จะประสานหาช่องทางให้เพื่อนร่วมงานของท่านมีโอกาสเข้าไปสัมผัส  มีประสบการณ์ และเรียนรู้ในพื้นที่เฉพาะจำกัดดังกล่าว

ผู้นำที่ดี   เป็นผู้นำเพื่อนร่วมงานเข้าไปพบเห็น เรียนรู้ในที่ที่เขาเข้าไม่ถึง   ในที่นี้อาจจะรวมไปถึงแหล่งทุน   หรือ  การหาทางสะสมกองทุนเพื่อให้เพื่อนร่วมงานในทีมได้มีโอกาสเข้าร่วมในการสัมมนา  การอบรมพิเศษ  ที่โดยปกติเขาไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมเรียนรู้ได้

(3) เสนอโอกาสที่เขาไม่สามารถจะมีได้ด้วยตนเอง

ผู้นำที่ดีคือคนที่สร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมงานรอบข้างสามารถเข้าถึงโอกาสดังกล่าว   ในที่นี้ยังหมายรวมถึงการให้โอกาสใช้อำนาจแก่เพื่อนร่วมงาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอำนาจที่ผู้นำมีแต่คนอื่นในทีมไม่มี   เช่น อำนาจในการตัดสินใจที่มากับตำแหน่ง   อำนาจในการดำเนินงาน   และการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร-วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน   แทนที่จะหวงเก็บงำอำนาจเหล่านี้ไว้เป็นของตนผู้เดียว    แต่ในฐานะผู้นำเราสามารถที่จะแบ่งสันปันส่วนให้คนอื่นๆ ได้ร่วมในการตัดสินใจด้วย   ให้เพื่อนร่วมงานในทีมมีโอกาสในการนำการประชุมบ้าง   หรือให้เพื่อนร่วมงานมีบทบาทในกระบวนการคิดจัดทำงบประมาณด้วย

(4) แบ่งปันความคิดของเราที่เขายังไม่มีหรือคิดไม่ถึง

ผู้นำมือใหม่ไม่สามารถเรียนรู้ทุกเรื่องจากตำรา   ในเมื่อเขายังไม่มีประสบการณ์ในหลายเรื่อง   เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำมือใหม่จะหยิบยืมเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้นำที่คร่ำหวอด   ในฐานะผู้นำสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่เราสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้นำมือใหม่ของเราคือ  องค์ความรู้ และ สติปัญญาที่เราได้รับจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา

ผู้นำที่แท้จริงคือผู้นำที่เสริมเพิ่มให้เพื่อนร่วมงานมีภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แล้วทีมงานของท่านจะกลายเป็นทีมงานที่แกร่งและทรงประสิทธิภาพ
และท่านจะเดินอยู่บนเส้นทางผู้นำที่ทรงอิทธิพลและสร้างประสิทธิผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

04 มิถุนายน 2557

ความล้มเหลวนำสู่ความสำเร็จอย่างไร?

แท้จริงแล้ว   ทุกครั้งที่เราประสบความล้มเหลว   เราควรดีใจ 
เพราะความล้มเหลวให้โอกาสที่เราจะลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง!
หลายคนเกิดคำถามในใจว่า   ทำไมถึงคิดเช่นนั้น?
มีเหตุผล 3 ประการที่คิดเช่นนี้ครับ

ประการแรก   การล้มเหลวช่วยให้เรารู้ว่า เราจะต้องสำเร็จ!

ผู้คนมากมายที่คิดผิดว่า   เพราะครั้งนี้ล้มเหลวเลยทำให้เราต้องทำต่อไป   หรือ
ถ้าเราล้มเหลวแสดงว่าเราจะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น
ผมว่า...คิดผิดหรือเปล่า?
เมื่อเราพยายามที่จะทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ   ความล้มเหลวคือสิ่งดีแท้ที่สามารถเกิดกับเราได้
นี่ไม่ใช่ตีฝีปาก   แต่หมายถึงเช่นนั้นจริงๆ ครับ!
เรารู้แน่แก่ใจว่า หลอดไฟฟ้าไม่ได้ประสบความสำเร็จจากการทดลองครั้งแรก
ความจริงก็คือว่า   โธมัส เอดิสัน ใช้เวลาทดลองเป็นพันครั้ง   กว่าจะได้หลอดไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้
แล้วโทรศัพท์ หรือ ล้อที่ใช้ให้ขับเคลื่อนไปล่ะ?   แน่นอนเช่นเดียวกันครับ   ต้องใช้เวลาในการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า  นักประดิษฐ์คิดค้นคนแล้วคนเล่ากว่าที่จะประสบความสำเร็จ
แต่ประเด็นหลักคือ...  เราต้องล้มเหลวเพื่อที่จะรู้ว่าเราจะสำเร็จได้อย่างไร?

ดูตัวอย่างจากชีวิตจริง...  ว่าเด็กน้อยเรียนรู้ว่าจะเดินได้อย่างไร

แม้ว่าในช่วงหัดเดิน  เด็กน้อนคนนั้นต้องล้มลุกคลุกคลาน   ร้องไห้  เจ็บตัว  โมโห  ฉุนเฉียว เพราะต้องล้มต้องสะดุด   แต่ทุกครั้งที่เด็กน้อยคนนั้นล้มลงด้วยสาเหตุใดก็ตาม   เด็กน้อยจะลุกขึ้นอีก   แล้วพยายามเดินใหม่อีกครั้งหนึ่ง   อีกครั้งหนึ่ง   และ อีกครั้งหนึ่ง

โดยสัญชาตญาณที่พระเจ้าทรงประทานให้มีในตัวเด็กน้อยนั้น   ได้สอนเขาว่าเขาจะเดินไปได้อย่างมั่นคงสมบูรณ์ได้อย่างไร   โดยการเรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลวในการเดินของเขาที่ผ่านมา

เด็กน้อยเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก!

พระเจ้าประทานสัญชาตญาณแห่งการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต   แม้จะเป็นประสบการณ์แห่งความผิดพลาดล้มเหลวในชีวิตก็ตาม   พระเจ้าประทานโอกาสที่เราจะเรียนรู้จากความผิดพลาด   พระองค์ให้โอกาสที่เราจะลองผิดเพื่อได้เรียนรู้สิ่งที่ถูก

ความล้มเหลวจึงเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการที่นำสู่ความสำเร็จ!

ความล้มเหลวของเราเปิดตา เปิดใจ  และ เปิดประตูแห่งโอกาสเพื่อเราจะได้ค้นหาอีกครั้งหนึ่งว่า   อะไรคือเป้าหมายปลายทางที่แท้จริงในชีวิตของเรา

ประการที่สอง   ความล้มเหลวช่วยเราให้ค้นหาว่า แท้จริงเราต้องการทำอะไรแน่

แน่นอนครับ   คนที่เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยตั้งใจที่จะได้รับปริญญาบัตรสักใบเพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำงาน  เมื่อเขาเข้าไปเรียน   เขาพบกับทั้งวิชาที่เขาเรียนได้สำเร็จ   หรือ ประสบความล้มเหลว   แต่ประสบการณ์ทั้งสองด้านในการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทำให้เขาค้นพบตนเองว่า   ตนเองมีความสนใจ และ เหมาะสม ในอาชีพการงานอะไร   และอาจจะทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพการงานที่เขาเคยตั้งใจไว้ก่อนเข้าเรียนก็ได้

ผมคิดถึงนักศึกษาหญิงคนหนึ่งที่เข้ามาเรียนเพื่อจะมีอาชีพเป็นพยาบาล   แต่เมื่อเรียนๆ ไประยะหนึ่งเธอพบว่า  เธอมีความสุขในการสอน   เมื่อเธอกลับมาพิจารณาใคร่ครวญดู   เธอพบว่า   ที่เธอตั้งใจมาเรียนพยาบาลก็เพราะเธอต้องการช่วยผู้คนได้พัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของตน   เมื่อเรียนไปเธอพบว่า แท้จริงแล้วเธอไม่ได้ต้องการที่จะเป็นพยาบาล   แต่ต้องการที่จะสอนและช่วยให้ผู้คนดูแล และ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพของตน  

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาด!   เธอไม่ได้ตัดสินใจผิด!
ตราบใดที่เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่ “ผิดพลาด” ของเราเอง   สิ่งนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดพลาดต่อไป
แต่นั่นเป็นโอกาสสำหรับความสำเร็จ!   เป็นก้าวหนึ่งที่นำสู่ความสำเร็จ!

มีบางสิ่งบางอย่างที่เราเรียนรู้จากแต่ละสถานการณ์และในทุกสถานการณ์
และเมื่อเราเข้าใจและเรียนรู้จากสถานการณ์นั้น   ก็จะเสริมหนุนให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น
นี่เป็นพระคุณแห่งการทรงสร้างของพระเจ้าในชีวิตของเราแต่ละคนมิใช่หรือ?

ประการที่สาม   ความล้มเหลวสร้างเสริมให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น

ลองจินตนาการดูครับว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร  
ถ้าทุกสิ่งที่เราทำสำเร็จสมประสงค์ตามความตั้งใจของเรา
แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตของเราต้องพบกับ...ความล้มเหลว...เราจะเป็นอย่างไร?
วันนั้น   เราคงรู้สึกว่าเราล้มเหลวอย่างเลวร้าย  คงทำให้เรารู้สึกว่าเราสูญเสียทุกอย่างในชีวิต

แล้ววันนั้น   เราจะรับมือกับความล้มเหลวนั้นอย่างไร   ในเมื่อเราไม่เคยประสบพบเจอกับความล้มเหลว   และไม่เคยมีประสบการณ์ที่จะเอาชนะอุปสรรคในชีวิตเลยมาก่อน?

ความล้มเหลวเปิดประตูชีวิตให้เราเป็นคนที่เข้มแข็งขึ้น!
เพราะในความล้มเหลวเราสามารถโน้มตัวไปข้างหน้าได้...เพื่อหาทางออก

ในเมื่อเรารู้แล้วว่า  ความล้มเหลวคือประตูแห่งความสำเร็จ  
ความล้มเหลวเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่ความความสำเร็จ
และนี่คือ   พระคุณของพระเจ้าที่มีในทุกสถานการณ์ชีวิตประจำวันของเรา

นอกจากพระคุณของพระเจ้าที่พระองค์อดทนต่อความดื้อรั้นของเราแล้ว
เรายังได้รับพระคุณของพระเจ้าที่ให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่ง
เป็นพระคุณที่พระองค์ช่วยให้เราได้เกิดการเรียนรู้ชีวิต และ เข้าใจในพระประสงค์มากยิ่งขึ้น
และยังเป็นพระคุณของพระเจ้าที่ทรงเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชีวิตของเรา

กษัตริย์ดาวิดได้กล่าวถึงเรื่องนี้จากประสบการณ์ชีวิตของท่านเองในสดุดี 103:1-5, 8-10 ว่า
1 จิต​ใจ​ของ​ข้า​เอ๋ย จง​ถวาย​สาธุ​การ​แด่​พระ​ยาห์​เวห์
และ​ทั้ง​สิ้น​ที่​อยู่​ภาย​ใน​ข้า จง​ถวาย​สาธุ​การ​แด่​พระ​นาม​บริ​สุทธิ์​ของ​พระ​องค์

2 จิต​ใจ​ของ​ข้า​เอ๋ย จง​ถวาย​สาธุ​การ​แด่​พระ​ยาห์​เวห์
และ​อย่า​ลืม​พระ​ราช​กิจ​อัน​มี​พระ​คุณ​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระ​องค์

3 ผู้​ทรง​อภัย​ความ​ชั่ว​ทั้ง​สิ้น​ของ​เจ้า
ผู้​ทรง​รัก​ษา​โรค​ทั้ง​สิ้น​ของ​เจ้า

4 ผู้​ทรง​ไถ่​ชีวิต​ของ​เจ้า​มา​จาก​หลุม​มรณะ
ผู้​ทรงสวม​ความ​รัก​มั่น​คง​และ​พระ​กรุ​ณา​ให้​เจ้า

5 ผู้​ทรง​ให้​เจ้า​อิ่ม​ด้วย​ของ​ดี ตลอด​ชีวิต​ของ​เจ้า
วัย​หนุ่ม​ของ​เจ้า​จึง​กลับ​คืน​มา​ใหม่​อย่าง​วัย​นก​อิน​ทรี
....

8 พระ​ยาห์​เวห์​ทรง​พระ​กรุ​ณา​และ​มี​พระ​คุณ
กริ้ว​ช้า​และ​อุดม​ด้วย​ความ​รัก​มั่น​คง

9 พระ​องค์​จะ​ไม่​ทรง​ตำ​หนิ​เสมอ
หรือ​ทรง​เก็บ​ความ​กริ้ว​ไว้​เป็น​นิตย์

10 พระ​องค์มิ​ได้​ทรง​ทำ​แก่​เรา​ตาม​บาป​ของ​เรา
และ​มิ​ได้​ทรง​ตอบ​สนอง​เรา​ตาม​ความ​ชั่ว​ของ​เรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ปล.   วันนี้ต้องไม่ลืมอ่าน  2โครินธ์ 12:9-10 นะครับ
9 แต่​พระ​องค์​ตรัส​กับ​ข้าพ​เจ้า​แล้ว​ว่า

การ​มี​พระ​คุณ​ของ​เรา​ก็​เพียง​พอ​กับ​เจ้า เพราะ​ว่า​ความ​อ่อน​แอ​มี​ที่​ไหน ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​เรา​ก็​ปรา​กฏ​เต็ม​ที่​ที่​นั่นเพราะ​ฉะนั้น ข้าพ​เจ้า​จะ​อวด​บรร​ดา​ความ​อ่อน​แอ​ของ​ข้าพ​เจ้า​มาก​ขึ้น​ด้วย​ความ​ยินดี​อย่าง​ยิ่ง เพื่อ​ว่า​ฤทธา​นุ​ภาพ​ของ​พระ​คริสต์​จะ​อยู่​ใน​ข้าพ​เจ้า

10 เพราะ​เหตุ​นี้ เพื่อ​เห็น​แก่​พระ​คริสต์
ข้าพ​เจ้า​จึง​พอใจ​ใน​บรรดา​ความ​อ่อน​แอ ใน​การ​ถูก​เยาะ​เย้ย​ต่างๆ
ใน​ความ​ลำบาก ใน​การ​ถูก​ข่ม​เหง ใน​เหตุ​วิบัติ​ต่างๆ
เพราะ​ว่า​ข้าพ​เจ้า​อ่อน​แอ​เมื่อ​ใด ข้าพ​เจ้า​ก็​จะ​เข้ม​แข็ง​มาก​เมื่อ​นั้น

บาป... ละเลยสิ่งดีที่ควรทำ!

...ขอ​ทรง​ยก​บาป​ผิดของ​พวก​ข้า​พระ​องค์...   (มัทธิว 6:12 มตฐ.)

แท้จริงแล้ว   การที่เราละเลยไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ...ก็เป็นความบาป!

ยากอบ 4:17 บอกเราว่า   “เพราะ​ฉะนั้น คน​ที่​รู้​ว่า​อะไร​เป็น​ความ​ดี​ที่​ต้อง​ทำ แต่​ไม่​ได้​ทำ คน​นั้น​จึง​มี​บาป”   เมื่อเราต้องเกี่ยวข้องพัวพันในความขัดแย้ง  แล้วละเลยโอกาสที่รับใช้คนอื่น (ทั้งในการแบกรับภาระของกันและกัน   หนุนเสริมคนอื่นด้วยความสุภาพ และ ฯลฯ)   เราก็ได้กระทำบาปในสายพระเนตรของพระเจ้า

การที่เราละเลยในการกระทำสิ่งที่ดี   ก็เป็นการแสดงถึงการที่เราเมินเฉยต่อพระเจ้า

ท่านเคยอยู่ในเหตุการณ์ที่ท่านได้รับการร้องขอให้ทำสิ่งดีบางอย่าง   พูดสิ่งดีในบางเรื่อง  แต่ท่านไม่ได้ทำตามที่ร้องขอหรือไม่?   ไม่ต้องสงสัยเลยครับ   เราต่างเคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นว่านี้   ในบางครั้งเรารู้สึกว่าเราได้ปล่อยปละละทิ้งใครบางคน   แต่มีสักกี่ครั้งที่เราตระหนักชัดว่าในสถานการณ์เหล่านั้นเราได้ละทิ้งพระเจ้าด้วย?

เมื่อเรากระทำบางสิ่งบางอย่างแก่พี่น้องของเราถึงแม้จะเป็นผู้เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม   นั่นเรากำลังกระทำต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า   เมื่อเราไม่ได้กระทำบางสิ่งบางประการที่ดีแก่พี่น้องที่เล็กน้อยปานใดก็ตาม   เราก็ละเลยและไม่ได้กระทำสิ่งดีแก่องค์พระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน    การละเลยการละเว้นการไม่ได้กระทำสิ่งที่ควรกระทำการไม่ได้กระทำดังกล่าวก็เป็นความบาปในสายพระเนตรของพระเจ้า

เราควรทูลขอพระกำลังจากพระองค์ที่จะเสริมสร้างให้เราได้มีพลังชีวิตในการกระทำสิ่งที่ดีแก่ผู้คนที่เราสัมพันธ์และพบเห็น   พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นพลังจากพระเจ้าทรงเสริมสร้างให้เรามีกำลังในการทำสิ่งที่ดีตามพระประสงค์ของพระองค์   และในเวลาเดียวกันองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ได้ทรงสร้างชีวิตของเราขึ้นใหม่  ตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วย

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

เทเกลือออกจากขวด!

เมื่อคริสตชนถูกส่งเข้าไปในสังคมชุมชนโลก

6 อย่า​ให้​ใคร​ล่อ​ลวง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย​คำ​พูด​ที่​เหลว​ไหล
เพราะ​สิ่ง​ที่​กล่าว​มา​ทั้ง​หมด​นี้​พระ​พิโรธ​ของ​พระ​เจ้า​จึง​มา​ถึง​พวก​ที่​ไม่​เชื่อ​ฟัง
7 เพราะ​ฉะ​นั้น​อย่า​มี​ส่วน​ร่วม​กับ​เขา​ทั้ง​หลาย   (เอเฟซัส 5:6-7 มตฐ.)

พระเยซูคริสต์ได้ท้าทายคนที่ติดตามพระองค์ และ ประชาชนที่มาฟังคำสอนของพระองค์ว่า   ให้แต่ละคนดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเหมือน “เกลือ” ในสังคมของโลกนี้

คริสตชนยุคปัจจุบันนี้หลายคนหลายกลุ่มเป็นเกลือที่ถูกบรรจุในขวดใส่เกลือที่สวยงาม   เป็นคริสตชนที่ระมัดระวังตนเองพยายามอยู่แต่ในกลุ่มผู้เชื่อด้วยกัน   ชีวิตคริสเตียนของเขาจะสำแดงออกแต่เฉพาะในกลุ่มเพื่อนคริสเตียนด้วยกัน   ในกลุ่มอธิษฐาน  ในกลุ่มสามัคคีธรรม   ในกลุ่มนมัสการตามบ้านสมาชิก  หรือในกลุ่มคริสตชนที่มานมัสการพระเจ้าในเช้าวันอาทิตย์

ถูกแล้วครับ... คริสตชนดังกล่าวคือ เกลือที่ใส่ไว้ในขวดใส่เกลือที่สวยงาม!

ชีวิตคริสตชนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกเขย่าเทให้ออกจากขวดเกลือ   เพื่อลงไปในอาหารเพื่อทำให้อาหารนั้นมีรสเค็ม  หรือเพื่อรักษาอาหารนั้นไว้   ชีวิตคริสเตียนของคนกลุ่มนี้  “เป็นความเค็มท่ามกลางเกลือในขวดเดียวกัน” ?

Becky Manley Pippert ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ออกจากขวดเกลือเข้าสูสังคมโลก:  การประกาศพระกิตติคุณด้วยการดำเนินชีวิต” (Out of the Saltshaker and Into the World: Evangelism as a Way of Life (InterVarsity Press, 1979) เป็นหนังสือขายดีของฝรั่งเขามากกว่าล้านเล่มครับ

มีให้เห็นเกลื่อนในปัจจุบันนี้ว่า   คริสตชนที่พระเยซูคริสต์เปรียบเหมือนเกลือ   มีความลำบากใจที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนในกระแสสังคม วัฒนธรรมแบบโลกๆ แต่เขากลับไม่กระดากปากเทศนาในคริสตจักรว่า  พระเยซูคริสต์สอนให้เราเป็น “เกลือ” และ “แสงสว่าง” ในสังคมโลก  (มัทธิว 5:13-14)

คริสตชนปัจจุบันจะต้องระมัดระวังในความคิดและการกระทำที่พยายามแยกตัวออกจากสังคมโลกปัจจุบัน   เพราะนั่นกำลังแสดงว่าคนๆ นั้นเป็นคริสตชน หรือ เป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ที่ไม่ได้สัตย์ซื่อต่อพระองค์

เราเคยคิดที่อยากจะเป็นคริสตชนที่บริสุทธิ์ด้วยการมีชีวิตที่แยกต่างหากจากชีวิตคนที่อยู่ในกระแสสังคมโลกหรือไม่?   เพราะ คริสตชนจำนวนมากไม่ต้องการมีชีวิตที่เสี่ยงที่จะเข้าไปมีชีวิตอยู่ในสังคมของ “ชาวโลก”   ไม่ต้องการเกี่ยวข้อง “วิถีชีวิตแบบชาวโลก”  หรือ มีชีวิตตามระบบคุณค่าตามกระแสโลกใช่ไหม?

ก็น่าจะเป็นความคิดที่ใช่ ที่ปลอดภัย  แต่มิใช่วิถีชีวิตที่พระเยซูคริสต์ทรงแนะนำครับ!

การที่คริสตชนหาทางที่จะปกป้องชีวิตของตนจากความเสี่ยงด้วยการแยกตัวออกจากสังคมมิใช่ทางเลือกของคริสตชนที่สัตย์ซื่อต่อพระเยซูคริสต์   ดูแต่พระเยซูคริสต์   พระองค์ใช้ชีวิตท่ามกลางคนในสังคมโลก   มีทั้งคนดีและคนชั่ว   ทั้งคนที่อ้างตนว่าบริสุทธิ์และคนที่มีชีวิตแปดเปื้อนด้วยความบาป   รวมทั้งผู้คนที่ถูกตีตราบาปจากสังคมในสมัยนั้น   พระองค์ใช้ชีวิตในสังคมโลก   ชีวิตคลุกคลีกับผู้คนในสังคมนั้น   มีชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมในช่วงเวลานั้น

แต่สิ่งที่เราจะต้องถามตนเอง และ จะต้องเอาใจใส่คือ   เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมโลก  ทั้งวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตตามสังคมโลกอย่างไรต่างหากที่สำคัญ

เอเฟซัส 5:6-7 กล่าวไว้ว่า “อย่าให้ใครล่อลวงท่านทั้งหลายด้วยคำพูดที่เหลวไหล เพราะสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พระพิโรธของพระเจ้าจึงมาถึงพวกที่ไม่เชื่อฟัง  เพราะฉะนั้นอย่ามีส่วนร่วมกับเขาทั้งหลาย” พระธรรมตอนนี้มิได้บอกให้คริสตชนหลบลี้หนีหน้าหรือไม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่กล่าวล่อลวง พูดเหลวไหล  และไม่เชื่อฟัง   พระธรรมตอนนี้มิได้บอกเราคริสตชนค่อยๆ คลานกลับเข้า “ขวดเกลือ” ของตน   แต่พระธรรมตอนนี้คาดหวังให้คริสตชนมีปฏิสัมพันธ์ หรือ พัวพันกับผู้คนในสังคมโลก  แม้เป็นผู้ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความบาปผิดในลักษณะต่างๆ   พระธรรมตอนนี้
  • ต้องการให้คริสตชนพูดคุยกับคนเหล่านี้
  • มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเขา
  • พร้อมที่จะช่วยเหลือ

แต่ มิให้เข้าไป “มีส่วนร่วม” ในสิ่งที่เขากระทำเพราะตกใต้อำนาจของความบาปผิด
ทั้งนี้เพราะการมีส่วนร่วมในการกระทำเหล่านั้นของเขามิใช่วิถีชีวิตใหม่ในพระคริสต์   ถึงแม้เราเชื่อและวางใจในพระเยซูคริสต์   ถึงแม้จะเชื่อไว้วางใจว่าพระเจ้าจะสามารถทรงช่วยเราจากอำนาจบาปชั่วนั้น   แม้เราจะเชื่อว่าพระคริสต์จะยกโทษแก่เราก็ตาม   แต่การที่เราเข้าไป “มีส่วนร่วม” ในการดำเนินชีวิตตามกระแสสังคมโลกที่ตกอยู่ใต้อำนจของความบาป จะทำให้คนในสังคมโลกเห็นชีวิตตามแบบพระเยซูคริสต์แตกต่างไปจากชีวิตในสังคมโลกทั่วไปอย่างไร

คริสตชนควรมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมโลก   หรือเราควรใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนที่ยังถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความบาปผิดในสังคมโลก   ทั้งนี้ก็เพื่อว่าทุกคนในสังคมโลกที่เราใช้ชีวิตด้วยจะได้มีประสบการณ์ถึงสัจจะความจริง และ ความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์ผ่านการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา   เราเต็มใจใช้ชีวิตกับผู้คนในสังคม   แต่เราจะไม่มีส่วนร่วมในการกระทำตามแบบกระแสสังคมโลก   และเราจะไม่สนับสนุนให้ผู้คนทำตามอำนาจครอบงำด้วยความบาปชั่วทั้งหลาย

เราเป็นเกลือที่ถูกใส่และเทเข้าไปในโลกนี้เพื่อหนุนช่วยและปกปักรักษาโลกนี้
เราต้องเป็นเกลือที่แผ่ซึมซาบซ่านความเค็มเข้าไปในเนื้อชีวิตแห่งสังคมโลก  และ
เรายังมีความเค็มในตัวของเราอยู่   ชีวิตเรายังสำแดงพระคริสต์อยู่

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499