09 มิถุนายน 2557

ผู้นำคือผู้เสริมภาวะผู้นำแก่ทีมงาน

ณ วันนี้ผู้นำคงจะต้องถามตนเองว่า...
ในฐานะผู้นำ   เรามุ่งเน้นที่ความสนใจของเพื่อนร่วมงาน หรือ ความสนใจของเราเอง?
เราได้ทำอะไรบ้างไหมสำหรับเพื่อนร่วมทีมของเรา  ที่เขาไม่สามารถที่จะทำได้ด้วยตัวเขาเอง?

เมื่อเราเริ่มทำงานใหม่ๆ  คนทำงานมือใหม่มักสนใจถึงความก้าวหน้าในงานที่ตนทำ
เรามักถามว่า  “ใครจะช่วยในสิ่งที่ฉันทำบ้าง?”
ตอนนั้น เราใช้เวลามากมายที่จะทำให้เพื่อนรอบตัวสนใจในความคิดและความสามารถของเรา
แล้วมักจบลงด้วยพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นถึงความสำเร็จของตน  และแสดงออกถึงความรู้ที่เรามี
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง   เราพยายามให้คนอื่นชื่นชมประทับใจในสิ่งที่เรารู้เราสำเร็จ

แต่เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในการทำงาน    เราเริ่มเรียนรู้เข้าใจว่าเราจะต้องมุ่งเน้นสนใจในความก้าวหน้าของคนอื่นรอบข้าง   เราก็จะถามว่า  “ผมจะมีส่วนช่วยอะไรบ้างในงานของคุณ?”   แทนการทำให้คนอื่นประทับใจในความสำเร็จของเรา   แต่เราเริ่มแสดงความสนใจและประทับใจในคนอื่น   เป้าหมายของเราก็เพื่อแสดงออกถึงสองประการที่สำคัญคือ  (1) เราสนใจ ใส่ใจในตัวเพื่อนร่วมงาน   และ   (2) เราต้องการที่จะช่วยเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

การแสดงออกที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือ  เราสนใจในสิ่งที่ทีมงานไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง   มิเพียงแต่เป็นการเสริมเพิ่มพลังคนอื่นเท่านั้น   แต่เป็นการนำความสำเร็จมาสู่คนอื่นด้วย   ดั่งที่ จอห์น บันยัน (John Bunyan) เคยกล่าวไว้ว่า  “คุณยังไม่มีชีวิตที่มีค่าในวันนี้จนกว่าคุณได้ทำบางสิ่งบางอย่างแก่ใครบางคนที่ไม่สามารถตอบแทนสิ่งดีที่คุณทำแก่เขา”   เราเจตนาที่จะสร้างสิ่งแตกต่างขึ้นในชีวิตของคนอื่น   แล้วชีวิตของเราก็จะมีคุณค่าและความหมายมากยิ่งขึ้นเมื่อเราทำเช่นนั้น

การที่เราทำแก่เพื่อนร่วมงาน  ในสิ่งที่เขาไม่สามารถทำเองนั้นคืออะไรบ้าง?

(1) แนะนำเขาให้รู้จักกับคนที่เขาไม่สามารถที่จะรู้จักหรือเข้าถึงได้

ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ  เรารู้จักมักคุ้นกับคนมากมาย   มีเครือข่ายกับคนที่เราทำงานด้วยกัน   ทางหนึ่งที่ผู้นำควรเปิดทางสำหรับคนทำงานรอบข้างคือ   การเชื่อมประสานให้เขาได้รู้จักกับผู้คนที่เขาควรจะรู้จัก   และ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่เขาเช่น  รู้จักกับคนที่เป็นพี่เลี้ยง  โค้ช  หรือ หุ้นส่วนในธุรกิจ   หรือคนที่มีความสามารถโดดเด่นที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นต้องการเรียนรู้และพัฒนา

(2) นำเขาไปที่ที่เขาไม่สามารถไปด้วยตัวเขาเอง

ในสถานที่สำคัญๆ บางแห่ง   เปิดรับเฉพาะคนบางคนบางกลุ่มที่จะเข้าไปร่วม  เรียนรู้  หรือมีประสบการณ์    ทำให้เพื่อนร่วมงานหลายคนไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปดู  มีประสบการณ์  หรือเรียนรู้    แต่ในฐานะผู้นำท่านสามารถที่จะประสานหาช่องทางให้เพื่อนร่วมงานของท่านมีโอกาสเข้าไปสัมผัส  มีประสบการณ์ และเรียนรู้ในพื้นที่เฉพาะจำกัดดังกล่าว

ผู้นำที่ดี   เป็นผู้นำเพื่อนร่วมงานเข้าไปพบเห็น เรียนรู้ในที่ที่เขาเข้าไม่ถึง   ในที่นี้อาจจะรวมไปถึงแหล่งทุน   หรือ  การหาทางสะสมกองทุนเพื่อให้เพื่อนร่วมงานในทีมได้มีโอกาสเข้าร่วมในการสัมมนา  การอบรมพิเศษ  ที่โดยปกติเขาไม่มีโอกาสเข้าไปร่วมเรียนรู้ได้

(3) เสนอโอกาสที่เขาไม่สามารถจะมีได้ด้วยตนเอง

ผู้นำที่ดีคือคนที่สร้างโอกาสให้เพื่อนร่วมงานรอบข้างสามารถเข้าถึงโอกาสดังกล่าว   ในที่นี้ยังหมายรวมถึงการให้โอกาสใช้อำนาจแก่เพื่อนร่วมงาน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอำนาจที่ผู้นำมีแต่คนอื่นในทีมไม่มี   เช่น อำนาจในการตัดสินใจที่มากับตำแหน่ง   อำนาจในการดำเนินงาน   และการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร-วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน   แทนที่จะหวงเก็บงำอำนาจเหล่านี้ไว้เป็นของตนผู้เดียว    แต่ในฐานะผู้นำเราสามารถที่จะแบ่งสันปันส่วนให้คนอื่นๆ ได้ร่วมในการตัดสินใจด้วย   ให้เพื่อนร่วมงานในทีมมีโอกาสในการนำการประชุมบ้าง   หรือให้เพื่อนร่วมงานมีบทบาทในกระบวนการคิดจัดทำงบประมาณด้วย

(4) แบ่งปันความคิดของเราที่เขายังไม่มีหรือคิดไม่ถึง

ผู้นำมือใหม่ไม่สามารถเรียนรู้ทุกเรื่องจากตำรา   ในเมื่อเขายังไม่มีประสบการณ์ในหลายเรื่อง   เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำมือใหม่จะหยิบยืมเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้นำที่คร่ำหวอด   ในฐานะผู้นำสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งที่เราสามารถแบ่งปันให้แก่ผู้นำมือใหม่ของเราคือ  องค์ความรู้ และ สติปัญญาที่เราได้รับจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา

ผู้นำที่แท้จริงคือผู้นำที่เสริมเพิ่มให้เพื่อนร่วมงานมีภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แล้วทีมงานของท่านจะกลายเป็นทีมงานที่แกร่งและทรงประสิทธิภาพ
และท่านจะเดินอยู่บนเส้นทางผู้นำที่ทรงอิทธิพลและสร้างประสิทธิผล

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น