09 มิถุนายน 2557

รับมือความขัดแย้งในการทำงาน

ครั้งหนึ่งเมื่อผมต้องรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในงานที่ทำ   เพื่อนบอกผมว่า  “ใจเย็นๆ”

มันก็จริงของเพื่อนคนนี้   เราอยู่ในสังคมโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความชั่วร้ายทั้งด้านความนึกคิด   ท่าทีที่แสดงออก  และพฤติกรรมที่เรากระทำต่อคนอื่น....ความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ   ยิ่งถ้างานที่ทำต้องอยู่ท่ามกลางการสื่อสารที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ   เกิดการเข้าใจผิด   ต้องทำงานท่ามกลางการแข่งขัน   หรือการชิงดีชิงเด่น  หรือถึงขนาดปัดแข้งปัดขากันแล้ว   สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่   ความขัดแย้งยิ่งลงลึกซับซ้อน   สร้างบาดแผลบาดลึกลงในชีวิต   ทำให้เกิดความเจ็บปวดในความรู้สึก  และเกิดการฉีกขาดในความสัมพันธ์  ความตึงเครียด   ความไม่ลงรอยย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งในที่ทำงาน  บริษัท  องค์กร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  หรือแม้แต่ในคริสตจักร   ไม่ว่าเราจะเป็นคนดีแค่ไหน  หรือพยายามที่จะเป็นคนดีปานใด   เราก็จะพบว่า  “เจอเข้าแล้วกับความขัดแย้ง   ชนอย่างจังกับปัญหา”   แต่เราก็คงต้องยอมรับความจริงด้วยว่า   ไม่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งเป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป   เพราะในบางความขัดแย็งเป็น “ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์” ได้

สิ่งที่หายไปเมื่อขัดแย้งจนโกรธ

ผมกลับมาคิดถึงคำเตือนสติของเพื่อนเมื่อผมเผชิญหน้ากับ “คู่ขัดแย้ง”  จนเกิดความโกรธ  อารมณ์เดือดพล่าน   ทำให้ผมพูดเสียงดังขึ้น   คิดแต่ว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาผิดและผมถูกอย่างไร   เกิดจิตใจที่ขุ่นข้นมัวหมอง   ท่าทางที่แสดงออกที่จริงจังพัฒนาไปสู่ท่าทีที่ “ตึงตัง”หรือบางครั้งแสดง “หน้ายักษ์หน้ามาร”  โดยไม่รู้ตัวและไม่ตั้งใจ!

ใช่...เพื่อนถึงต้องบอกผมว่า “ใจเย็นๆ”  

ใช่สินะ   ตอนนั้นผมถูกพลังร้ายครอบงำ   สุมไฟผลักดันไปสู่ความร้อนแรงเดือดพล่าน   และมันกำลังทำลายทั้งผม  เพื่อน  และองค์กรที่ผมทำงานด้วย   ใช่ผมต้องใจเย็นๆ   ผมต้องกลับมามีสติ   กลับมาที่ความตั้งใจต้องการแก้ไขความขัดแย้ง   ต้องการแก้ปัญหา   ไม่ใช่จะเอาชนะเพื่อนร่วมงานคนนั้น

ใช่สินะ   ผมแก้ปัญหา และ ความขัดแย้งได้    แต่ผมแก้ไขตัวเพื่อนไม่ได้!

ใช่สินะ   ผมลืมไปแวบหนึ่งเมื่อโกรธจัดว่า   ผมเป็นคริสตชน   ผมเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน

รับมืออย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้ง?

1. ตั้งจิตให้มั่น

ก่อนที่เราจะทำหรือตอบโต้อะไรออกไป   ให้เรานำสถานการณ์นั้นปรึกษากับพระเจ้า   เพื่อพระองค์จะประทานจิตใจที่ถ่อม สุภาพ มั่นคง สงบแก่เรา   เพื่อเราจะมีมุมมองในเรื่องดังกล่าวที่สร้างสรรค์และสันติ   และที่สำคัญเราควรขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแก่เราว่า   เรามีส่วนผิดพลาดอะไรบ้างในเหตุการณ์นี้   เพื่อเราจะรู้เท่าทันตนเองและกลับใจ   อธิษฐานเผื่อแต่ละคนที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งนี้   รวมถึงคู่ขัดแย้ง และ คนที่เราโกรธด้วย   ทั้งนี้จะเป็นการ “ปรับจิตใจ” ของเราให้เป็นจิตใจที่เชื่อฟังพระเจ้า   การที่เราอธิษฐานเช่นนี้ก่อนย่อมช่วยให้เราหลุดรอดออกจากจิตใจที่ต้องการเอาชนะ  จิตใจที่ต้องการให้เขาได้รับโทษที่สาสมในสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว

2. แยกปัญหา/ความขัดแย้งออกจากตัวบุคคล

เราสามารถแก้ปัญหาและความขัดแย้งได้   แต่เราแก้คู่ขัดแย้งของเราไม่ได้   ในเรื่องนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาดูว่าที่เราขัดแย้งกันนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัว  เป็นเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างกัน   ไม่ใช่ทุกเรื่องที่สร้างความขุ่นเคืองรำคาญใจหรือทำให้เราโกรธที่เราจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากัน   ในบางเรื่องเราเพียงปล่อยและวางเสีย   เราควรยกโทษ  แล้วเดินหน้าต่อไป

เราน่าจะถามตนเองว่า   นี่เป็นความขัดแย้งด้วยเรื่องส่วนตัว   หรือเป็นการขัดแย้งเพราะมีปัญหาต้องแก้ไข?   เราไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับทุกคนในที่ทำงาน   แต่ในฐานะคริสตชนเราพึงพยายามที่จะเป็นคนที่มีจิตใจเมตตา และ ให้ความนับถือในความเป็นคนของเพื่อนร่วมงานแต่ละคน

3. อย่าขยายความขัดแย้งให้เป็นเรื่องใหญ่โต

เมื่อเกิดความขัดแย้งพยายามขีดวงความขัดแย้งให้แคบหรือเล็กที่สุด   ให้เราแก้ไขความขัดแย้งเฉพาะในวงของผู้ขัดแย้งด้วยกันเท่านั้น   นี่เป็นหลักการจากพระคัมภีร์ (มัทธิว 18:15-16)ที่เหมาะสมและใช้ได้ในที่ทำงาน   แต่ถ้าคู่กรณีพยายามทำให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่  เช่น  เอาความขัดแย้งไปให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นจัดการแทนที่จะเริ่มจัดการกันเองในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น   ด้วยวิธีการเช่นนี้ทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง   เพิ่มความรุนแรงในความขัดแย้ง   แล้วยังกระทำให้ความสัมพันธ์และความไว้วางใจเลวร้ายลงไปอย่างมากเกินกว่าที่คิดและเข้าใจ

4. ความรับผิดชอบที่สำคัญในการรับมือความขัดแย้ง

ถ้าเราเป็นคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งดังกล่าว  สิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาอย่างเปิดใจและจริงใจคือ   เรามีความบกพร่องผิดพลาด หรือ มีส่วนที่ทำให้เกิดความบกพร่องหรือผิดพลาดหรือไม่   ถ้ามีสิ่งแรกที่เราต้องรับผิดชอบในความขัดแย้งดังกล่าวคือ   เราต้องไปขอโทษคู่กรณีของเราในสิ่งเหล่านั้น   หลายครั้งหลายคนที่ทำเช่นนี้จะพบปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจคือ   ความขัดแย้งถูกแก้ได้เกินคาด

แต่ถ้าเรามิใช่คู่กรณีในความขัดแย้ง   เราต้องระวังที่จะเข้าไปจัดการความขัดแย้งนั้น   เพราะถ้าเราเข้าไปจัดการความแย้งในเวลาที่ยังไม่เหมาะสมแม้ว่าเราจะเป็นผู้บริหารของเขาก็ตาม   อาจจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดีเราอาจจะถูกใครบางคนยืมมือของเราเอาผิดหรือลงโทษอีกคนหนึ่งก็ได้

ดังนั้น   เรามีหน้าที่ให้กำลังใจให้คู่กรณีพูดคุยหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยกันเองก่อน

5. แสวงหาจุดร่วม

ให้คู่กรณีมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายร่วมของงานที่ทั้งคู่รับผิดชอบ   เพื่อจะค้นหาแนวทางการปฏิบัติงานของแต่ละคนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสม  สร้างสรรค์  และหนุนเสริมกันและกัน   และประเด็นสำคัญคือการที่ช่วยกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นการสร้างผลกระทบที่สร้างสรรค์แก่องค์กร   ถึงแม้ว่าเป้าหมายงานความรับผิดชอบของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน    แต่เป้าหมายร่วมขององค์กรเป็นจุดเดียวกัน   ที่ทุกคนจะต้องร่วมกันเพื่อไปให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์กร

สิ่งที่ต้องชัดเจนเสมอ

เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดเสมอว่า   เราเป็น “ทูตของพระคริสต์” ในที่ทำงาน หรือ ในแต่ละงานที่เราทำ (2โครินธ์ 5:20)   และหนทางหนึ่งที่เราสามารถสำแดงความรักเมตตาที่เสียสละของพระคริสต์แก่เพื่อนร่วมงานของเราคือ  การที่เรารับมือกับความขัดแย้งอย่างไรในงานที่ทำ   เรารับมืออย่างไรในความทุกข์ยากลำบากในงานที่ทำ   ในขณะที่คนอื่นอาจจะหลีกเลี่ยง  เมินเฉยไม่สนใจ  หรือเอาเรื่องขัดแย้งไปนินทาว่าร้าย คุ้ยเขี่ยหาความผิดกัน   แต่ในฐานะคริสตชนท่านคือพลังแห่งสันติ   พลังแห่งการคืนดี  พลังแห่งสมัครสมานสามัคคี   และพลังที่จะช่วยคู่กรณีให้หลุดรอดออกจากการครอบงำของอำนาจแห่งความขัดแย้งนั้น

เมื่อเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งในการทำงาน   โปรดตระหนักชัดถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของท่านคือ  “ไม่​ว่า​พวก​ท่าน​จะ​ทำ​สิ่ง​ใด ก็​จง​ทำ​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ​เหมือน​ทำ​ถวาย​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า ไม่​ใช่​เหมือน​ทำ​ต่อ​มนุษย์    ... เพราะ​ท่าน​กำ​ลัง​รับใช้​พระ​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​อยู่” (โคโลสี 3:23-24)

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น