11 มิถุนายน 2557

ความสุขไม่มีใครหยิบยื่นให้ ได้ ... อยากได้ชีวิตคุณต้องเปลี่ยน!

1 เมื่อพระเยซู​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ฝูง​ชนมากมาย  ก็เสด็จขึ้นเนินเขา และ​​ประ​ทับนั่ง​
เหล่า​สา​วก​ของ​พระ​องค์พากันมาหา​​พระ​องค์
2 และ​พระ​องค์​ทรงเริ่มต้นสั่งสอนพวกเขาว่า... (มัทธิว 5:1-2 อมต.)

บทใคร่ครวญ 9 บทต่อไปนี้เป็นกระบวนการสร้างสาวกของพระเยซูคริสต์ในเรื่องเป็นคนที่มี “ความสุข”
ใครๆ ก็อยากจะมีชีวิตที่มีความสุข
ไม่น่าเชื่อเลย   แม้แต่การทำรัฐประหารก็เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน!?

บทใคร่ครวญชุด “ความสุข”  ที่พระคริสต์ทรงสอนและใช้สร้างความคิดและความเชื่อของสาวก  ที่เป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตประจำวัน    เป็นความสุขที่ผู้คนทั้งหลายไขว่คว้า   เป็นความสุขที่เหมือนกับที่คณะก่อการยึดอำนาจจะนำมาให้ประชาชนหรือไม่?   หรือเป็น “ความสุข” ที่แตกต่างออกไป?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ   ความสุขที่ว่านี้คริสตชนเรียกว่า “พระพร”   และพระพรที่พระเยซูคริสต์ทรงสอนและต้องการให้เกิดเป็นจริงในชีวิตของผู้คนมีองค์ประกอบหลักที่สำคัญสองส่วนด้วยกันคือ   เป็นทั้ง “ความรู้” และต้อง “กระทำ” ในสิ่งที่เรียนรู้ตามที่พระคริสต์สอนนั้นจึงจะเกิดเป็นพระพร หรือ ความสุข  

พระพรหรือความสุข มิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างมายากล  เวทมนต์  หรือ คาถาอาคม

แต่ถ้าเราต้องการ “พระพร” หรือ “ความุข” ตามที่พระเยซูคริสต์สอน   เราต้องกระทำตามสิ่งที่พระองค์สอนในชีวิตประจำวัน

ในมัทธิว 5:3-11 พระเยซูเริ่มสอนถึง  คน 8 คุณลักษณะเฉพาะที่จะมีความสุขหรือได้รับพระพร   พระองค์กล่าวว่า  “ความสุขมีแก่ผู้ที่...” ถึงแปดครั้ง แปดลักษณะด้วยกัน   ถ้าเราพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์จะสามารถเห็นว่า   คุณลักษณะแปดประการของคนที่ได้รับพระพรหรือมีความสุขตามคำสอนของพระเยซูคริสต์   เป็นกระบวนการแห่งพระราชกิจของพระเจ้าที่ทำการ “พลิกคว่ำและเปลี่ยนแปลงจิตใจมนุษย์อย่างรุนแรง”

ที่สำคัญเราต้องไม่เข้าใจผิดว่า   พระพรหรือความสุขของผู้คน 8 คุณลักษณะ  มิใช่คำสัญญา หรือ มีเงื่อนไขว่าถ้าคุณเป็นคนแบบนี้แล้วคุณจะมีความสุข หรือได้รับพระพรจากพระเจ้า   ถ้าเราไปเข้าใจเช่นนั้นเราจะพบว่าคำสอนของพระเยซูดูเหมือนขัดแย้งกันเองอย่างสิ้นเชิง 

พระพร หรือ ความสุข 4 ประการแรก เป็นความสุขที่เกี่ยวกับคุณลักษณะชีวิตภายในของคนเรา   เป็นการกล่าวถึง “จิตใจ” ของผู้ที่ต้องการเป็นผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่เชื่อฟังพระองค์   เป็นผู้ที่มีความนอบน้อมถ่อมตน  คนที่ตกอยู่ในความโศกเศร้า   เป็นคนที่ถ่อมสุภาพ   เป็นคนกระหายหาความชอบธรรม

ในส่วนพระพร หรือ ความสุขของคน 4 ลักษณะหลังเน้นความสำคัญที่ “การกระทำ” ในชีวิตในการเป็นสาวกที่ติดตามพระคริสต์   กล่าวคือเป็นคนที่แสดงออกถึงความเมตตากรุณา   แสดงออกถึงชีวิตที่บริสุทธิ์  เป็นผู้ที่สร้างสันติ   และ เป็นคนที่แสวงหาความชอบธรรมแม้จะถูกกดขี่ข่มเหงก็ตาม

คำสอนถึงพระพรหรือความสุขของคนแปดคุณลักษณะข้างต้นนี้    เหมาะสมสำหรับเราที่มีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบัน   ท่ามกลางสังคมที่สับสน  ว้าวุ่น  ใช้อำนาจเอาชนะคะคานกัน  แย่งชิงทุกรูปแบบเพื่อผลประโยชน์แห่งตนและพรรคพวก   หลอกล่อให้ประชาชนผู้คนตกลงในกับดักทั้งทางด้านเศรษฐกิจ   การใช้อำนาจ/แย่งชิงอำนาจ   เน้นเรื่องประชาธิปไตยที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ   เพื่อตนและพวกตนจะมีอำนาจและเป็นใหญ่   เน้นเรื่องประชานิยม  เพียงเอาผลประโชน์เข้าล่อจนประชาชนหลงงมงายถูกโกงอย่างเป็นระบบ

ในสภาพการณ์เช่นนี้   ให้เรากลับมาใคร่ครวญถึง   คำสอนที่เป็นพระพรและความสุขสำหรับชีวิตของเราจากพระเยซูคริสต์ครับ

ความสุขมีแก่ผู้ที่สำนึกว่าตนขัดสนฝ่ายจิตวิญญาณ...
ความสุขมีแก่ผู้ที่โศกเศร้า...
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถ่อมสุภาพ...
ควมสุขมีแก่ผู้หิวกระหายความชอบธรรม...
ความสุขมีแก่ผู้ที่เมตตากรุณา...
ความสุขมีแก่ผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์...
ความสุขมีแก่ผู้ที่สร้างสันติ...
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความชอบธรรม...

พระพรหรือความสุขที่พระเยซูคริสต์กล่าวถึงนี้เป็นของ “คนรากหญ้า”   ที่ถูกช้างสารงัดกันจนหญ้าถูกเหยียบย่ำจนแหลกลาน   ที่สำคัญกว่านั้นครับ   พระพรและความสุข ที่พระเยซูพูดถึงนี้คนที่จะนำมาให้เกิดเป็นจริงเป็นรูปธรรมคือ  ผ่านชีวิตของคนรากหญ้าที่ถูกเหยียบจนแหลกลาญนี้แหละครับ   ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาว/ม้าดำที่ไหนจะนำ “ความสุข” มาคืนให้เราได้หรอกครับ

คนรากหญ้าเฉกเช่นเราทั้งหลายที่มีใจสัตย์ซื่อและมีชีวิตที่เชื่อฟังพระคริสต์   และดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ต่างหาก   ที่จะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย   และนำพระพรและความสุขจากเบื้องบนมายังสังคมประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งครับ

ความสุขมีแก่ผู้สร้างสันติ   เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นลูกของพระเจ้า
ความสุขมีแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะความชอบธรรม   เพราะแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของเขาแล้ว

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น