28 พฤษภาคม 2563

หยุด!...การผัดวันประกันพรุ่ง...อย่างไร?

หลายคนสงสัยว่า เราจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างไร? ให้เราลองกลับมาค่อย ๆ มองตนเอง เหมือนคนรอบข้างที่มองเรา บางครั้งเราก็พบว่า ในบางงานเราสนุกกับงานที่ทำ แต่ในบางงานที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกว่างานนี้ไปไม่ถึงไหนสักที น่าเบื่อหน่าย ในบางงานเรานั่งดูวันกำหนดส่งงานผ่านเลยไป ในขณะที่เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเองให้ชีวิตมันเดินไปข้างหน้า อาการเหล่านี้ฟังแล้วน่ากลัว หรือบางท่านบอกว่าต้องพบกับมันทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งช่วงโควิด 19 ที่ต้องทำงานที่บ้านอย่างอิสระแล้ว โอกาสผัดวันประกันพรุ่งเกิดได้ง่าย

แล้วเราจะสู้หรือรับมือกับอาการ “การผัดวันประกันพรุ่ง” ในชีวิตของเราอย่างไร? ลองพิจารณาข้อเสนอบางประการข้างล่างนี้...

1. เราเป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบไหม?

การผัดวันประกันพรุ่งทุกกรณีมิได้มาจากสาเหตุของ “คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ” (perfectionism) เสมอไป แต่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้

ถ้าความคิดแบบคนนิยมความสมบูรณ์แบบครอบงำความคิดของเรา ทำให้เราไม่กล้าที่จะเริ่มงานหรือโครงการของเรา อาจจะทำให้เราเลือกที่จะผัดวันประกันพรุ่งในงานนั้น

ถ้าการที่เราผัดวันประกันพรุ่งมิใช่เพราะการที่เป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ เราอาจจะสามารถที่จะผ่อนคลายระดับมาตรฐานของเรา เลือกทำ “ให้ดีพอควร” และเมื่อมีเวลาก็จะทำให้ดีระดับสูงขึ้นเป็นดีเลิศ อย่าให้อิทธิพลความคิดแบบความสมบูรณ์แบบนิยมครอบงำเราเมื่อเริ่มงานโครงการนั้น

2. เริ่มทำงานที่ใช้เวลาไม่มากก่อน

บางครั้งรายการสิ่งที่ต้องทำดูยาวมากมายดูจะคุกคามทำให้เรากลัวเลยคิดผัดวันประกันพรุ่งไปก่อน และรายการมากมายเหล่านั้นมันดูดกลืนเอาพลังที่จะใช้เริ่มต้นไปหมดสิ้น วิธีการหนึ่งที่อาจจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งของเราคือ ให้เราเขียนรายการที่เราต้องทำให้เสร็จ และบอกด้วยว่าในแต่ละรายการต้องใช้เวลาประมาณเท่าใดที่จะทำให้เสร็จได้ ในรายการที่ต้องทำมีรายการอะไรบ้างที่สามารถทำให้สำเร็จได้ใน 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น เลือกทำรายการเหล่านั้นแล้วลงมือทำทันที การทำเช่นนี้จะทำให้รายการที่เราต้องทำลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว แล้วกลับมาทบทวนรายการที่เหลือว่าเราจะเริ่มในรายการไหนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้

3. ทำให้แต่ละขั้นตอนให้เล็ก-สั้นลง

ซอยย่อยขั้นตอนการทำงานในโครงการที่เราผัดวันประกันพรุ่งลง ให้แต่ละขั้นตอนเล็กลงหรือสั้นลง จะช่วยให้เราง่ายที่จะเริ่มกับแต่ละขั้นตอนของโครงการ เพราะเรารู้ว่ามันจะสำเร็จได้เร็วขึ้น และเมื่อเราเริ่มต้นกับบางขั้นตอนสำเร็จ ก็จะเป็นพลังกระตุ้นเราในการทำขั้นตอนต่อ ๆ ไปจนสำเร็จสู่เป้าหมายมากขึ้นจนโครงการสำเร็จ (ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนจะทำให้เราเกิดกำลังใจที่กระตุ้นให้เราต้องการทำให้สำเร็จมากขึ้น)

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ แบ่งขั้นตอนของการขับเคลื่อนในแต่ละขั้นตอนให้สั้นลง แล้วพิจารณาดูว่าขั้นตอนสั้น ๆ ขั้นตอนไหนที่จะนำไปทำในงานประจำของแต่ละวันของเราได้ จะช่วยให้เราสามารถทำให้งานที่เราผัดวันประกันพรุ่งสำเร็จ

4. ให้รางวัลแก่ตนเอง

เมื่อเราทำขั้นตอนเล็ก ๆ หลายขั้นตอนสำเร็จ ความรู้สึกที่พออกพอใจในความสำเร็จที่ได้รับย่อมเป็นรางวัลในตัวสำหรับเรา และกลายเป็นแรงกระตุ้นเราให้ก้าวต่อไปข้างหน้า แต่เราอาจจะให้รางวัลพิเศษแก่ตัวเราเอง ไม่ว่าจะไปดูหนัง ฉลองที่สำเร็จในขั้นตอนหนึ่งกับเพื่อน ๆ ทำในสิ่งที่เรารู้สึกสนุกชื่นชมเมื่อเราสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพลังกระตุ้นให้เราเริ่มก้าวเดินในขั้นตอนอื่นต่อ ๆ ไป

5. ทำในสิ่งที่ง่ายก่อน

เมื่อเรารู้สึกหนักอกหนักใจในงานที่ต้องทำ บ่อยครั้งอาจเป็นเพราะเราสงสัยหรือไม่แน่ใจในความสามารถของเราที่จะทำงานชิ้นนั้น ทางหนึ่งที่เราจะสร้างความมั่นใจว่าเราทำงานชิ้นนั้นสำเร็จได้คือ ให้เราเริ่มจากงานส่วนที่ง่ายก่อน

เมื่อเราทำงานในส่วนที่ง่ายเสร็จลง ความน่ากลัวของงานชิ้นนั้นก็น้อยลง เป็นการหยุดการที่เราจะผัดวันประกันพรุ่ง  แต่ทำให้เราสามารถทำให้งานชิ้นนั้นสำเร็จ

เมื่องานส่วนที่ง่ายทำสำเร็จแล้ว งานส่วนที่ต้องทำให้สำเร็จก็ดูน้อยลง และอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าง่ายที่เราจะทำให้สำเร็จ และความเชื่อมั่นในตนเองของเราจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นจากการที่เราเริ่มทำงานในส่วนที่ง่ายก่อน

6. หรือ ทำในส่วนที่ยากก่อน

ถ้าเรารู้ว่า เราสามารถทำงานชิ้นนั้นได้ เพียงแต่เราคิดถึงบางส่วนของงานที่อาจจะทำให้เรารู้สึกเครียด และ บางส่วนที่ยากลำบากที่มีแนวโน้มให้เราคิดที่จะผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อหยุดความคิดของการผัดวันประกันพรุ่งในงานชิ้นนั้น ให้เราเริ่มต้นจากงานส่วนที่ยากดังกล่าวก่อน ทำงานส่วนที่อาจจะทำให้เราเครียดให้สำเร็จ หรือ เป็นส่วนงานที่เราไม่ชอบให้สำเร็จเป็นส่วนแรกก่อน แล้วงานส่วนที่เหลือก็จะเป็นส่วนที่เราสามารถทำให้สำเร็จโดยง่าย

7. การมองโลกในแง่ดี

อีกทางหนึ่งในการเอาชนะความสงสัย-ไม่มั่นใจในตนเองที่มักนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งคือ การมีมุมมองโลกในแง่ดี เน้นที่มุมมองเชิงบวก และลดมุมมองเชิงลบในงานชิ้นนั้นและในตัวเรา และมองให้ชัดเจนในส่วนงานที่เราเห็นว่าเราทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ และท้าทายมุมมองในส่วนที่เรามองว่าเราทำไม่ได้  ด้วยการค้นหาเหตุผลที่เราทำได้ในส่วนนั้น เช่น เรามีพลัง เรามีวัตถุดิบ เราเคยประสบความสำเร็จ และงานที่คล้ายกันกับงานชิ้นนี้ที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต

ให้มุ่งเน้นมองลงไปที่ว่า ทำไมเราถึงสามารถทำงานชิ้นนี้ มากกว่าที่มุ่งมองหาว่าทำไมเราไม่สามารถทำงานชิ้นนี้

8. พลิกใช้สิ่งที่ทำให้เราท้อแท้เป็นแรงกระตุ้น

บางครั้งเราคงแปลกใจว่า เราจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งอย่างไรดี? ให้เราพลิกใช้สิ่งที่คอยทำให้เราท้อแท้และหลอกลวงเราเพื่อทำให้เราไม่มั่นใจในตนเอง ทำให้จิตใจของเราวอกแวกให้กลายเป็นแรงกระตุ้น เช่น บอกกับตนเองว่า “ให้เราลองทำงานชิ้นนี้ดูสักครั้งสิ” เพราะเมื่อสำเร็จ เราจะได้รางวัลที่งดงาม บอกกับตัวเราเองว่า ให้เราลงมือทำจริงจังสักครั้งสิ และเมื่อสำเร็จแล้วเราจะได้รับผลตอบแทนที่ล้ำค่า

9. ใช้พลังที่เรามีอยู่อย่างฉลาดและมีปัญญา

เราเคยสังเกตตนเองบ้างไหมว่า ช่วงไหนในแต่ละวันที่เรามีพลังสูงสุด? (โดยทั่วไปแล้วมักเป็นตอนเช้าของวัน) ให้เรานำชิ้นงานที่เราผัดวันประกันพรุ่งมาทำใช่วงเวลาที่เรามีพลังสูงสุด ซึ่งมีโอกาสที่เราจะเริ่มต้นลงมือทำได้สูงหรือง่ายกว่าช่วงเวลาอื่น

สังเกตช่วงเวลาที่เรามีพลังสูงสุดในแต่ละวัน และใช้เวลานั้นในการทำในส่วนงานที่เราผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลาส่วนอื่น ๆ ในการทำส่วนงานที่ทำสำเร็จได้ง่ายกว่า การบริหารจัดการการใช้พลังให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของการมีพลังในการทำงานจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้สำเร็จจำนวนมากกว่า

10. ประสบการณ์ที่ท่านเคยหลุดรอดเป็นไทจากการผัดวันประกันพรุ่งมีอะไรบ้างครับ?  

ขอช่วยแบ่งปันกันหน่อยได้ไหมครับ? เพื่อเราจะไม่ถูกอิทธิพลของการผัดวันประกันพรุ่งมาครอบงำและบงการชีวิตการงานของเราต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


27 พฤษภาคม 2563

ถ้าเราไม่รู้...เราจะทำอย่างไรดี?

ในชีวิตจริงของเราท่านต่างพบความจริงว่า เราไม่รู้อะไรต่อมิอะไรหลายเรื่อง ยิ่งในภาวะวิกฤตินี้เรามีคำถามสำคัญ ๆ มากมายที่ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ เมื่อเราต้องประสบกับเรื่องที่เราถามแล้วไม่ได้คำตอบ สมองเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ  

(1) ยอมรับในความไม่รู้ของเราด้วยจริงใจ หรือ

(2) ลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง

เราพบว่า ทางเลือก (2) คือทางที่คนส่วนใหญ่เลือก กล่าวคือเมื่อเผชิญกับความไม่รู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผู้คนมักตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่าง

จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า การเลือกที่ลงมือทำอะไรบางสิ่งบางอย่างทั้ง ๆ ที่เรายังไม่รู้ว่าเรื่องนั้นมันเป็นอย่างไรจริง หรือยังไม่รู้คำตอบ หรือ ข้อสรุปของคำถามนั้น แต่ผมเอง “คิดว่า” ตนเองพอจะรู้  แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ผม “คิดว่า” ตนเองรู้นั้นมิใช่ความรู้ที่ถูกต้อง

ในความเป็นจริง พระเจ้าทรงรู้ว่าทั้งท่านและผมไม่สามารถมีคำตอบสำหรับทุกคำถาม จริงแล้วเรามีคำตอบในเรื่องต่าง ๆ ไม่มากมายหลายเรื่องเท่าใดหรอก และพระเจ้าทรงล่วงรู้ด้วยว่าในความไม่รู้ของเราเราเกิดความกลัว แล้วก็ไม่กล้าที่จะยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่รู้ ดังนั้น พระเจ้าจึงประทานพระสัญญาแก่เราว่า...

"แต่ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ทูลขอ" (ยากอบ 1:5 มตฐ.)

จากพระธรรมข้อนี้ ช่วยให้ผมยอมรับความจริงในความไม่รู้ได้ง่ายขึ้น ยากอบได้กล่าวด้วยการดลใจจากพระเจ้า   และได้ให้ความมั่นใจแก่เราในหลายประเด็นด้วยกันดังนี้

1) เราไม่ได้รู้เสียทุกเรื่อง
2) แต่พระเจ้าทรงรู้ในทุกเรื่อง
3) เราสามารถที่จะทูลขอพระปัญญาจากพระองค์
4) และพระเจ้าจะไม่ตำหนิต่อว่าเราที่ไม่รู้
5) แต่พระองค์พอพระทัยที่จะให้คำตอบแก่เรา

เราจะไม่รู้ว่าจะทำอะไร จะทำอย่างไร ถ้าเราไม่ยอมรับว่า “เราไม่รู้เรื่องอะไร”  ถ้าเรากลัวที่จะทูลขอการทรงช่วยเหลือจากพระเจ้า

แต่ถ้าเรากล้าที่จะทูลขอพระปัญญาจากพระองค์ให้ทรงช่วยเรา มิเพียงแต่พระองค์จะตอบรับที่จะช่วยเราเท่านั้น   แต่ท่านจะมีประสบการณ์ตรงกับความดีงามและพระทัยกว้างขวางของพระเจ้าที่กระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของท่าน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


25 พฤษภาคม 2563

สิ่งดีที่คริสตจักรน่าจะทำต่อหลังวิกฤติโควิด 19

“วิถีชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” หลังโควิด 19 จะเป็นแบบไหน อย่างไรนั้นต่างก็คาดเดากันไปได้ แต่ละคริสตจักรท้องถิ่นไม่จำเป็นที่จะต้องมี “วิถีชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” ที่เหมือนกันเสมอไป แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เคยทำแต่ทำในช่วงรับมือกับวิกฤติโควิด 19 แล้วเห็นว่า เราน่าจะทำเช่นนั้นต่อไป ซึ่งพอจะประมวลบางประเด็นได้ดังนี้ 

1. การประชุมปรึกษางานของคณะธรรมกิจคริสตจักร หรือ คณะกรรมการต่าง ๆ ของคริสตจักร ผมยอมรับว่า  บางครั้งที่เรายังจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมคณะธรรมกิจ หรือ คณะกรรมการพันธกิจต่าง ๆ แบบพร้อมหน้ากัน แต่ในการประชุมบางครั้งสามารถที่จะประชุมกันแบบออนไลน์เพื่อลดการเดินทาง หรือ สามารถประชุมทั้ง ๆ ที่บางท่านอาจจะอยู่ต่างจังหวัด และสามารถเลือกเวลาประชุมที่สะดวกสำหรับทุกคนโดยไม่ต้องเดินทางมาที่คริสตจักร  และเรื่องเร่งด่วนก็สามารถได้รับการพิจารณาทันเวลา

2. มุ่งเน้นการทำพันธกิจการรับใช้ จากสถานการณ์โควิด 19  คริสตจักรของเราได้เรียนรู้ถึงการทำพันธกิจการรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการรับใช้กันและกันในชุมชนคริสตจักร และการรับใช้ที่เข้าถึงชุมชนสังคมรอบข้างชีวิตของสมาชิกคริสตจักร 

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ศิษยาภิบาลบางท่านได้ใช้พื้นที่สื่อสารทางออนไลน์ของตน บางท่านใช้พื้นที่ออนไลน์ของคริสตจักร กลายเป็น “ตลาดเสนอสินค้าออนไลน์” ชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตโดยสมาชิก ทั้งที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป และผลผลิตด้านหัตถกรรมต่าง ๆ ที่สมาชิกผลิต ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าออนไลน์อย่างดี ช่วยให้สมาชิกสามารถมีรายได้อีกทางหนึ่งอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเป็นการบริการฟรีจากศิษยาภิบาล/คริสตจักร เป็นพันธกิจการส่งเสริมการตลาดแก่สมาชิกคริสตจักรครับ

ขอตั้งข้อสังเกตว่า คริสตจักรเหล่านี้การถวายในช่วงวิกฤติโควิด 19 กลับมีการถวายที่มากกว่าก่อนสถานการณ์โควิดเสียอีก เพราะนี่คือทางหนึ่งในการอภิบาลชีวิตด้านเศรษฐกิจของสมาชิกคริสตจักร  และ อาจจะสามารถขยายกว้างออกไปถึงชุมชนรอบข้างด้วยในอนาคต

3. การพบปะกันของกลุ่มเล็กต่าง ๆ ในคริสตจักรทางออนไลน์ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการพบปะกลุ่มเล็กต่อไปนี้ต้องทำกันบนออนไลน์ทุกครั้ง แต่ถ้าสมาชิกกลุ่มสะดวกที่จะพบกลุ่มเล็กของตนออนไลน์ก็น่าจะทำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอธิษฐาน กลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ กลุ่มที่ทำพันธกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสมาชิกทุกคนจะสามารถเข้าร่วมได้ตามความสะดวกของแต่ละคน และคนในครอบครัวคนอื่นที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมได้ด้วย

4. การถ่ายทอดสดการนมัสการ และ การอัดเทปการนมัสการ ที่เราบันทึกเทปเพื่อสมาชิกที่ต้องการสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของคริสตจักร สำหรับคนที่ไม่สามารถมาร่วมหรือเข้าร่วมในการนมัสการในอาทิตย์นั้น ๆ จะมีโอกาสติดตามการนมัสการในเวลาที่เขาสะดวก

5. ให้เยาวชน/วัยรุ่นเข้าร่วมพันธกิจคริสตจักร จากวิกฤติที่ผ่านมาในหลายคริสตจักรได้รับความช่วยเหลือจากเยาวชน/วัยรุ่นในคริสตจักรในการถ่ายทอดรายการไลฟ์สด หรือการทำคลิปการนมัสการพระเจ้าของแต่ละสัปดาห์   บางคริสตจักรศิษยาภิบาลได้ขอให้อนุชนบางท่านมาช่วยศิษยาภิบาลในการทำไลฟ์สดการสอนพระคัมภีร์ด้วย สิ่งเหล่านี้ให้เราทำต่อไปและเยาวชน/วัยรุ่นจะร่วมในพันธกิจคริสตจักรอีกมากมายที่ต้องใช้ความรู้ทักษะและความสร้างสรรค์ในการสื่อสารทันสมัยเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวอนุชนของคริสตจักร

6. นิมิต/วิสัยทัศน์ของคริสตจักร เมื่อวิกฤติโควิด 19 ผ่านไป ศิษยาภิบาลควรเชิญชวนคณะธรรมกิจ  สมาชิกคริสตจักร  เยาวชน/วัยรุ่นในคริสตจักรมาร่วมกันถอดบทเรียนรู้จากการทำงานในช่วงที่คริสตจักรต้องรักษาระยะห่างทางสังคม รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล  และ การเก็บกักตัวในบ้าน เพื่อใช้บทเรียนที่ได้จากวิกฤติที่ผ่านมาในการกำหนดนิมิต/วิสัยทัศน์ และ การวางแผนงานพันธกิจของคริสตจักรในช่วงครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม 2020)   และนำสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำแล้วเกิดผลมาปรับประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรต่อไป

7. เวลาของครอบครัว จากวิกฤติที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการที่คนในครอบครัวมีโอกาสที่จะร่วมกันในการนมัสการพระเจ้าด้วยกัน การเรียนรู้พระวจนะ และการอธิษฐานร่วมกัน ตลอดจนมีโอกาสในการปรึกษาหารือกันว่า  จะทำพันธกิจเข้าถึงชีวิตของชุมชนอย่างไรบ้าง ขอให้รักษาเวลาอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้และดำเนินการต่อไป และยังสามารถที่จะทำสิ่งอื่น ๆ ร่วมกันในครอบครัวมากกว่านี้

8. การอภิบาลชีวิตกันและกันในคริสตจักร ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา หลายครอบครัวได้มีโอกาสติดต่อสื่อสารแสดงความรักห่วงใยต่อกัน และมีโอกาสที่จะอธิษฐานเผื่อกัน ตลอดจนช่วยเหลือกันและกันในสิ่งต่าง ๆ ที่แบ่งปันและเอื้ออาทรกันได้ ขอให้จิตวิญญาณของการอภิบาลกันและกันเหล่านี้พัฒนาและเติบโตต่อไปทั้งในครอบครัวและในชุมชนคริสตจักรของเรา

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงวิกฤตินี้มีศิษยาภิบาลบางท่านที่ได้ทำพันธกิจแบบ “ครอบครัว/ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ในการขับเคลื่อนพันธกิจการอภิบาลคนในคริสตจักร ซึ่งแตกต่างจากวิธีการทำพันธกิจอภิบาลในคริสตจักรก่อนหน้าวิกฤติโควิด 19 ที่ใช้การพบปะกันในคริสตจักรเป็นศูนย์กลางการทำพันธกิจการอภิบาลชีวิต

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (physical Distancing) ในช่วงของ Social Distancing  นอกจากศิษยาภิบาลจะใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ในการนมัสการ ในการเรียนพระคัมภีร์แล้ว ศิษยาภิบาลบางท่านยังติดตามไปอภิบาลสมาชิกในจุดต่าง ๆ ในชุมชนโดยนัดหมายมาพบปะกันในบ้านของบางท่าน แต่รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน เพื่อที่จะนมัสการด้วยกัน เรียนพระวจนะ และ อธิษฐานร่วมกัน   ตลอดจนการปรึกษาหารือในประเด็นวิกฤติชีวิตที่พบของบางคนบางครอบครัว

ศิษยาภิบาลเหล่านี้ยืนยันว่า ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ท่านเหล่านี้กระจายจุดอภิบาลกว้างไกลและมากกว่าก่อนหน้าวิกฤตินี้ และยืนยันว่าได้ผลมากกว่าการอภิบาลที่ใช้อาคารโบสถ์เป็นศูนย์กลางเท่านั้น และตั้งใจว่า หลังโควิด 19 ก็จะทำเช่นนี้ต่อไป

9. คิดอย่างสร้างสรรค์ จากวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เราต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าเราจะตอบสนองต่อวิกฤติหรือบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างไร และเราพบว่าเราสามารถคิดจนได้ความคิดที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม  สร้างสรรค์ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิถีชีวิตและการทำพันธกิจหลังโควิด 19 เราจะมีสมาชิกและผู้นำที่คิดอย่างมีเป้าหมายและสร้างสรรค์

แล้วท่านละครับ... ต้องการเห็นสิ่งดีมีค่าที่คริสตจักรของท่านควรกระทำต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด 19 อะไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


24 พฤษภาคม 2563

เยี่ยมเยียนไปทำไม?

ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ศิษยาภิบาล ผู้นำ และสมาชิกคริสตจักรต้องพบกับการสูญเสียด้านต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านข้างเคียงในชุมชน หลายท่านต้องไปร่วมงานศพ ไปเยี่ยมญาติของผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ในชุมชน เคยมีผู้อภิบาลท่านหนึ่งชวนผมคุยว่า เวลาเราไปเยี่ยมคนที่มีความทุกข์มาก ๆ ที่มีความเจ็บปวดในชีวิต เราจะต้องทำอะไรบ้าง? ทำไมคริสตชนจึงเน้นความสำคัญเรื่องการเยี่ยมเยียน?  

ทำไม...เราถึงทำพันธกิจการเยี่ยมเยียน?

[14] พี่น้องทั้งหลาย ขอให้พวกท่าน... หนุนใจผู้ที่ขาดความกล้าหาญ ช่วยเหลือคนที่อ่อนกำลัง และมีความอดทนต่อทุกคน (1เธสะโลนิกา 5:14 มตฐ.)

[2] จงช่วยรับภาระของกันและกัน และด้วยการกระทำเช่นนี้ท่านทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของพระคริสต์ (กาลาเทีย 6:2 มตฐ.)

1. ไปเยี่ยม...เพื่ออยู่เป็นเพื่อนเขา  

อย่าพยายามที่จะหาทางที่จะให้คำตอบทุกเรื่องทุกอย่างแก่เขา ผู้อภิบาลบางท่านต้องการแสดงให้คนที่ตนไปเยี่ยมเห็นว่าตนรู้ทุกเรื่องที่เขากำลังทนทุกข์ แต่คนที่กำลังมีชีวิตอยู่ในความมืดที่เจ็บปวด เขาไม่ต้องการใครที่จะมาช่วยแก้ทุกเรื่อง เขาแค่ต้องการที่จะมีคนมาอยู่เป็นเพื่อนของเขาในเวลาเช่นนั้น

2. ไปเยี่ยม...เพื่อไปฟัง 

อย่าพยายามที่จะตอบทุกประเด็นปัญหา เพื่อแสดงตนว่าตนตอบได้ทุกเรื่อง คนที่จิตวิญญาณที่กำลังเจ็บปวดเขาต้องการคนที่จะฟังเขา เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เขาไปเยี่ยมได้ระบายออกมาถึงสิ่งที่เขาเก็บกด อัดอั้นในจิตใจ ความคิด และความรู้สึกของเขาออกมา

3. ไปเยี่ยม...เพื่อร่วมในความเจ็บปวดและแบ่งปันประสบการณ์ 

อย่าพยายามแสดงตนว่ารู้ในทุกเรื่อง แต่แบ่งปันความเจ็บปวดที่ตนเคยประสบ และ ความล้มเหลวที่ตนเคยพบ   เพื่อเป็นประสบการณ์หนึ่งที่อาจจะช่วยคนที่เราไปเยี่ยม

4. ไปเยี่ยม...เพื่ออธิษฐานร่วมกับเขา  

การที่เราทูลถึงชื่อของผู้ที่เราไปเยี่ยมต่อพระเจ้านั้นมีพลังอย่างมาก เมื่อเขาได้ยินชื่อของเขาที่เราทูลต่อพระเยซูคริสต์ การเยียวยารักษาชีวิตที่ทนทุกข์บาดเจ็บก็จะเริ่มต้นขึ้นในเวลานั้น

5. ไปเยี่ยม...เพื่อที่จะให้ 

บางครั้งการให้ความช่วยเหลือคนอื่น อาจจะมากกว่าเพียงกำลังใจ ความคิด ความรู้สึก มากกว่าการโอบกอด ในบางครั้งเขามีความต้องการที่เป็นรูปธรรม เช่น อาหารที่จะอยู่รอด การเงิน สิ่งของที่จำเป็นในเวลานั้น การที่เรามีส่วนช่วยเหลือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องการเต็มกำลังความสามารถเท่าที่เราจะให้ได้ ย่อมทำให้คนได้รับการเยี่ยมมองเห็นถึงความจริงใจและเต็มใจของเรา

6. ไปเยี่ยม...เพื่อช่วยแบกภาระแทนเขา  

ท่านเคยมีประสบการณ์ หรือ เคยได้ยินเรื่องมีคนไปเยี่ยมและเมื่อเขารู้ถึงความทุกข์ยากที่ไร้ทางออก ในที่สุดคนที่ไปเยี่ยมก็ตัดสินใจจัดการแบกรับเอาความทุกข์ยากของคนที่เขาไปเยี่ยม เพื่อช่วยให้คนที่เขาไปเยี่ยมหลุดรอดออกจากความทุกข์ยากที่เขาไม่มีทางออก

เฉกเช่นพระเยซูคริสต์ ที่มาหามนุษย์เราในโลกนี้ พระองค์เห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถหลุดรอดออกจากจากอำนาจบาปชั่วได้ ชีวิตของเขาจึงต้องตกในความทุกข์ ความตาย และ ความสิ้นหวัง พระองค์ตัดสินใจยอมเข้าไปอยู่ในที่ที่แห่งความตายและสิ้นหวังแทนมนุษย์ เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้หลุดรอดออกจากอำนาจแห่งความบาปชั่วที่มีแต่ความทุกข์   เพื่อมนุษย์จะได้มีชีวิตที่มีสันติสุขในแผ่นดินของพระเจ้า และมนุษย์คนนั้นก็คือตัวเราเอง

ถ้าพระคริสต์ยอมแบกรับความทุกข์ยากและความตายแทนเรา แล้วเราจะไม่ยอมที่จะรับแบกภาระของเพื่อนมนุษย์ที่เราไปเยี่ยมหรือ? ให้การที่เราไปเยี่ยม...เพื่อเป็นการสำแดงถึงพระคริสต์ที่ยอมรับภาระบาปแทนมนุษย์

การเยี่ยมเยียนเป็นการอภิบาลชีวิตผู้คน และเมื่อต้องมีการประเมินงานของศิษยาภิบาลและพันธกิจที่คริสตจักรได้ทำ จากประสบการณ์พบว่า มีสองเรื่องที่เป็นตัวชี้วัดแรก ๆ ที่คริสตจักรและสมาชิกใช้ในการประเมินการอภิบาลชีวิตคือ การเทศนาพระวจนะ และ การเยี่ยมเยียน จึงไม่แปลกว่า บ่อยครั้งสมาชิกจะบ่นมากในศิษยาภิบาลบางท่านว่า  “อาจารย์ไม่ค่อยออกไปเยี่ยมเยียนเลย?”

การเยี่ยมเยียนอภิบาลชีวิตมิใช่หน้าที่ของศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักรเท่านั้น แต่เป็นพันธกิจที่เราได้รับมอบหมายโดยตรงจากพระคริสต์ที่กระทำในชีวิตประจำวันของเรา ในฐานะสาวกของพระองค์

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



22 พฤษภาคม 2563

ในปี ค.ศ. 1918 เขาก็ปิดโบสถ์กันเพราะโรคระบาด!

นี่มิใช่ครั้งแรกของโลกที่คริสตจักรท้องถิ่นต้องงดการนมัสการในอาคารโบสถ์ เคยเกิดเหตุการณ์ในทำนองคล้าย ๆ กันกับวิกฤติโควิด 19 นี้เมื่อปี ค.ศ. 1918 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในอเมริกาและยุโรป

ทำไมถึงได้ชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน? ไวรัสตัวนี้มีต้นตอมาจากสัตว์ปีก โดยเชื่อว่า เริ่มต้นแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานชาวจีน แล้วได้กลายพันธุ์ที่อเมริกา แต่ในที่สุดได้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน จึงเรียกชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” การแพร่ระบาดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งโลกถึงราว 50 ล้านคน

แต่ในเวลาเดียวกัน ไข้หวัดตัวนี้มิได้สร้างผลกระทบต่อด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เท่านั้น แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคริสตจักรที่ต้องงดการนมัสการร่วมกันในวันอาทิตย์ที่อาคารคริสตจักรด้วย

ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 7 ตุลาคม 1918 ผู้ว่าการรัฐ อาลาบามา Charles Henderson ได้มีคำสั่งให้ปิดคริสตจักร  โรงเรียน โรงภาพยนตร์ทุกแห่งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสที่ได้คร่าชีวิตชาวอเมริกันประมาณ 675,000 คน

ในวิกฤตกาลการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918  

คริสตจักรท้องถิ่นในอเมริกาได้รับมือกับการแพร่ระบาดที่เลวร้ายนี้อย่างไร? แล้วปัจจุบันนี้เราได้เรียนรู้อะไรจากคริสตจักรอเมริกาในยุคนั้น?

เมื่อต้องปิดโบสถ์ เขาจัดการอย่างไรกับวันอาทิตย์?

ดูไปแล้วความคิดก็คล้าย ๆ กับคริสตจักรในปัจจุบัน...!?   

คริสตจักรในยุค 1918 ได้หาวิธีการรับมือกับสถานการณ์ “ปิดโบสถ์” ที่เกิดขึ้น เช่น บางคริสตจักรจัดการให้รวมกันนมัสการในที่โล่งแจ้ง หลายคริสตจักรได้จัดพิมพ์คำเทศนาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น บางคริสตจักรได้จัดพิมพ์คำเทศนาแล้วส่งไปถึงบ้านสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน/ครอบครัวทาง “เมล์หอยทาก” (snail-mail ปัจจุบันฟังแล้วเราคงไม่เข้าใจกัน เช่น มีคริสตจักรหนึ่งใช้ลูกเสือที่ช่วยจัดส่งคำเทศนาไปถึงแต่ละบ้าน)

คริสตจักรในเวลานั้นได้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการสื่อสารและอภิบาลสมาชิกของตนอย่างดีที่สุดที่เขาจะสามารถทำได้

คริสตจักรยอมหยุดชั่วคราว

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการที่สมาชิกคริสตจักรไม่สามารถมาพบปะกันหน้าต่อหน้า พวกเขาก็ใช้เวลาที่มีอยู่ในการที่จะเรียนรู้ถึงสิ่งที่พระเจ้าเปิดเผย และหนุนเสริมเพื่อนสมาชิกที่จะทำเช่นนี้ด้วย เช่น ท่านศิษยาภิบาลคริสตจักรเมธิดิสท์ Pastor Fletcher Parrish จาก Eleventh Avenue Methodist Church ได้กล่าวว่า...

“การใคร่ครวญภาวนามีประโยชน์อย่างมากต่อจิตวิญญาณ แต่โลกแห่งความรีบเร่งในเวลานี้(ในยุคนั้น)เรามีเวลาที่จะไตร่ตรอง สะท้อนคิดที่จำกัด เรามักคิดว่าเราไม่มีเวลาที่จะคิดใคร่ครวญถึงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ หรือแม้แต่ที่จะมีเวลาจะนั่งสงบในบ้านที่จะครุ่นคิดไตร่ตรอง

แต่ตอนนี้พระเจ้าประทานโอกาส “ช่วงเวลาสะบาโต” ที่เราจะอยู่สงบ คริสตจักรของเราปิด งดกิจกรรมชั่วคราว เราไม่ไปทำงานในวันปกติ หรือแม้แต่งานในท้องทุ่ง เพราะเรากลัวว่าจะไปติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เราจึงมีเวลาที่นั่งสงบลง คิด ใคร่ครวญ และสะท้อนคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชีวิตของเรา...”

พวกเขาใช้โอกาสนั้นในการประเมินคุณค่าชีวิตใหม่

เมื่อชีวิตของพวกเขาต้องหยุดชั่วคราว เขาใช้เวลานั้นในการประเมินถึงคุณค่า/ความสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ศิษยาภิบาล S. O. Cox จากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน Handley Memorial ได้แบ่งปันบางสิ่งบางอย่างที่เขาได้เรียนรู้ในคำเทศนาสำหรับสมาชิกในคริสตจักรของเขาว่า

“เราจำเป็นต้องใช้เวลาเก็บตัวในบ้านวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในการพักผ่อนและความบันเทิง ในสถานการณ์นี้ช่วยให้เราระลึกได้ว่า สิ่งล้ำค่า ศักดิ์สิทธิ์ที่มีในครอบครัวนั้นคือสามัคคีธรรม หรือ มิตรภาพที่ดีที่สุด... และยิ่งถ้าเราใช้เวลานี้ในการอธิษฐาน การใคร่ครวญเราก็จะเปลี่ยนสิ่งที่เลวร้ายขณะนี้กลายเป็นพระพรได้”

พวกเขาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์

จากคำเทศนาด้วยวาจาปรับเปลี่ยนเป็นคำเทศนาที่จัดพิมพ์ นอกจากนั้นแล้ว อย่างคริสตจักร Calvary Episcopal ที่ Pittsburg ได้ดัดแปลงให้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว แล้วปรับใช้เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีให้ใช้ประโยชน์มากที่สุด คริสตจักรทำในสิ่งที่สำแดงออกถึงความเป็นคริสตจักรที่ตอบสนองพระกิตติคุณและความต้องการจำเป็นของโลกในเวลานั้น

พวกเขาโต้เถียงกัน

ในช่วงเวลาวิกฤติรุนแรง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า คริสตจักรควรจะตอบสนองและรับมืออย่างไรต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดสเปน คนบางกลุ่มต้องการให้คริสตจักร “เปิดโบสถ์ใหม่” อีกครั้งหนึ่งเร็วที่สุด หรือมีบ้างที่คิดว่า ไม่ควรจะปิดโบสถ์เลย ในขณะที่มีคนเห็นว่า คริสตจักรควรปฏิบัติตามคำสั่งข้อปฏิบัติของรัฐบาล แต่เมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรหันหน้ามาพูดจากันแบบเปิดใจว่า เราควรจะมีการนมัสการพบปะกันแบบหน้าต่อหน้าหรือไม่? อย่างไร?

นี่ก็คล้าย ๆ กับสถานการณ์ที่คริสตจักรของเราได้พบในวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ในอเมริกาหลายพันคริสตจักรในแคลิฟอร์เนีย ที่ประกาศว่า ได้วางแผนที่จะเปิดคริสตจักรใหม่อีกครั้งหนึ่งก่อนที่ฝ่ายรัฐจะมีแผนการนี้   พวกเขาเรียกร้องว่าการพบปะกันในคริสตจักรเป็นสิ่งที่จำเป็น และพวกเขาควรมีเสรีภาพที่จะพบปะกัน

การคิดการเชื่อเช่นนี้มิใช่สิ่งใหม่ ในปี 1918 ศิษยาภิบาล C. H. Watson ได้เขียนความคิดของเขาในแนวนี้ไว้ว่า “ผมคิดว่าเวลาที่เจ็บป่วย และ มีความยากลำบากเป็นเวลาที่เราจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อของเราต่อพระเจ้ามิใช่หรือ? ในเวลาเช่นนี้แทนที่จะปิดโบสถ์ ควรจะเปิดโบสถ์ทุกวันมากกว่า เพื่อผู้คนจะสะดวกที่จะเข้ามาร่วมกันอธิษฐานต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อที่พระองค์จะทรงช่วยขจัดเชื้อโรคร้ายนี้ออกไป...”

เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติที่ร้าย ๆ ไม่ใช่สิ่งง่ายที่เราจะรับมือ สำหรับหลายคนคงพบว่านี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ที่พบในชีวิต

เราสามารถเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา เราจะผ่านวิกฤตกาลนี้ไปได้ ในเวลาที่ดูเหมือนวิบากลำเค็ญ เราก็สามารถค้นพบด้านที่เราทำได้ดีเด่น เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ และอุทิศตนที่จะเข้าถึงผู้คนที่ต้องการพระกิตติคุณของพระคริสต์มากกว่าในโอกาสใด ๆ มาก่อน

อ้างอิง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


20 พฤษภาคม 2563

คริสตชน “แตกต่าง” แต่ไม่สร้าง “ความแตกแยก” ในสังคม

หลายคนได้อ้างถึงเสรีภาพ อ้างถึงสิทธิส่วนบุคคล เพื่อใช้เสรีภาพที่กล่าวอ้างในการกระทำตามความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ลึก ๆ คือการกระทำด้วยความเห็นแก่ตัวโดยอ้างคำว่า “เสรีภาพ” เพื่อปกปิดธาตุแท้ (หรือ ทาสแท้) แห่งความชั่วที่ตนกระทำ

15เพราะพระเจ้าทรงประสงค์จะให้พวกท่านระงับความโง่ของคนโฉดเขลาด้วยการทำดี 16จงดำเนินชีวิตอย่างคนมีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพนั้นเป็นข้ออ้างเพื่อทำความชั่ว แต่จงดำเนินชีวิตอย่างผู้รับใช้ของพระเจ้า 17จงให้เกียรติทุกคน จงรักพวกพี่น้อง จงยำเกรงพระเจ้า จงให้เกียรติแด่จักรพรรดิ (1เปโตร 2:15-17 มตฐ.)

ในพระธรรม 1 เปโตร บทที่ 2 เปโตรเขียนถึงคริสตชนที่แตกกระเจิงหลบลี้หนีจากอำนาจของโรมันและผู้นำศาสนายิว ได้หนีออกจากกรุงเยรูซาเล็มไปในดินแดนต่าง ๆ ต้องยอมตนตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีอำนาจในที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ที่เลวร้าย หรือ ผู้ปกครองที่ดีมีเมตตา การดำเนินชีวิตที่ดีของคริสตชนเป็นสิ่งที่สร้างการยอมรับของผู้ปกครองในดินแดนนั้น ๆ ที่พวกเขาหนีไปอยู่ด้วย  

ในฐานะที่เราเป็นเหมือนประชากรของพระเจ้าที่กลายเป็น “ผู้หลบลี้หนีภัย” เปโตรบอกเราว่า ให้เรา “ระงับความโง่ของคนโฉดเขลาด้วยการทำดี” (มตฐ.) การต่อต้านการกระทำที่โฉดเขลาต่อคนมีอำนาจมิใช่ทำด้วยการโต้เถียง  ด้วยการเดินขบวน ด้วยการต่อต้านกล่าวร้าย แต่ด้วยการกระทำการดี ด้วยการรับใช้ ด้วยการนับถือ ให้ความรักเมตตา และด้วยการให้เกียรติ (ตามที่เขาควรจะได้รับ)

เปโตรได้ให้กำลังใจแก่คริสตชนที่ต้องหลบลี้หนีกระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่างแดนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมที่ตนอาจจะไม่คุ้นชินว่า อย่าให้การกดขี่ข่มเหง และ ความทุกข์ยากลำบากที่ได้รับมาบดขยี้ความเชื่อศรัทธาของเรา   ตรงกันข้าม ให้คริสตชนแบกรับน้ำหนักแห่งความทุกข์ยากที่ได้รับทั้งหมดให้เป็นแรงกดทับตัวเราในทุกย่างก้าวการดำเนินชีวิตของเราที่จะ “ก้าวย่ำซ้ำลงในรอยพระบาทของพระคริสต์” ทำให้รอยพระบาทพระคริสต์ชัดเจนยิ่งขึ้น 

การที่คริสตชนมีชีวิตที่เป็นคน “นอกขอบสังคม” (ไม่ใช่ชายขอบสังคม) เป็นโอกาสที่คริสตชนจะทำให้คริสตจักรมีพันธกิจในการเยียวยารักษาผ่านความเจ็บปวด บาดเจ็บในชีวิตของผู้คนในสังคม จากการที่คริสตชนต้องทนทุกข์ยากลำบากในประวัติศาสตร์ เราพบว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้ปลดปล่อยคริสตชนเหล่านี้ออกจากอิทธิพลของอำนาจบาปชั่ว คริสตชนที่ได้รับการข่มเหงและต้องทนทุกข์ ต้องหลบลี้หนีแตกกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะแพร่กระจายพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปในทุกพื้นที่ที่พวกเขากระจัดกระจายไปด้วย เป็นโอกาสหนึ่งที่พวกเขาจะสื่อสารพระกิตติคุณของพระคริสต์แก่คนในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไป คริสตชนที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง ทำร้าย ทำลาย ติดตามไล่ล่า ผลักดันให้พวกเขาต้องดำเนินใน “เส้นทางที่คับแคบ” ด้วยความเชื่อฟังในพระคริสต์

เมื่อคริสตชนต้องดำเนินชีวิตในสังคมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่ออย่างตน คำสอนของเปโตรในตอนนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเกิดผล และเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติที่พวกเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ คนที่ไม่ยอมรับพวกคริสตชนพวกเขาไม่สนใจหรอกว่า คริสตชนมีหลักข้อเชื่อว่าอย่างไร อะไรสอนถูกอะไรสอนผิด อะไรเทียมเท็จ และ อะไรที่แท้จริง แต่พวกเขาสนใจพฤติกรรมที่กระทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

สังคมต้องการดูว่าคำสอน ข้อถกเถียงทางความเชื่อของเราสอดคล้องเป็นจริงกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ และเมื่อเราต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก เรายังสัตย์ซื่อ ดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เราสอน เราประกาศ หรือที่เราถกเถียงปกป้องหรือไม่

ในสังคมโลกปัจจุบัน เราถูกกีดกันผลักดันให้หลุดออกนอกชายขอบของสังคม แต่ในสังคมโลกใหม่ที่พระเยซูคริสต์กำลังนำมาสถาปนาบนแผ่นดินโลกนี้ พระองค์จะนำพวกเราเข้าในสังคมใหม่ที่พระองค์นำมา และวันนั้นจะสำเร็จเป็นจริง และเราเองมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในการนำผู้คนเข้าร่วมในชีวิตสังคมใหม่แห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่พระคริสต์นำมาตั้งอยู่นั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


18 พฤษภาคม 2563

“นิวนอร์มัล” ของคริสตจักรท้องถิ่น หลังโควิด 19

วิถีชีวิตและการทำพันธกิจปกติใหม่ของคริสตจักรท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร?

น่าสังเกตว่า ผู้นำในคริสตจักรแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ผู้นำคริสตจักรที่นั่งรอให้สถานการณ์ต่าง ๆ กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว เพื่อว่าเขาจะได้กลับไปทำในสิ่งที่คุ้นชิน ผู้นำกลุ่มนี้มักถามว่า “แล้วเราจะเปิดคริสตจักรอีกครั้งหนึ่งได้เมื่อใด?”

ผมไม่มีคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว แต่ที่แน่ ๆ ถ้ามันจะเกิดขึ้นก็คงต้องใช้เวลามากกว่าที่คิดแน่

แล้วเราจะกลับไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันที่คริสตจักรได้เมื่อไหร่?

ก่อนหน้านี้หลายคริสตจักรคิดว่า เมื่อคริสตจักรงดการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในคริสตจักร (การรักษาระยะห่างทางสังคม) ไปได้สัก 2 อาทิตย์ก็คิดว่า คริสตจักรน่าจะกลับไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันที่อาคารคริสตจักร คิดว่าทุกสิ่งจะกลับคืนสู่สภาพปกติเดิม แต่แล้วเมื่อถึงสัปดาห์พระคริสต์คืนพระชนม์ เราก็ต้องจัดการนมัสการเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์แบบออนไลน์ มีเรื่องเล่าประสบการณ์มากมายของการนมัสการพระเจ้าในวันอีสเตอร์ออนไลน์ครั้งแรก

เราคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอีกนานกว่าที่คิด?

แต่ตอนนี้ผมชักจะเชื่อว่า คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าที่เราจะกลับไปนมัสการพระเจ้าในอาคารโบสถ์ร่วมกันอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง บางคนเสนอว่าน่าจะเป็นประมาณเดือนพฤษภาคม แต่หลายท่านกลับเห็นว่าเร็วที่สุดน่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม หลายคนมองว่าคริสตจักรไม่น่าจะรีบกลับไปนมัสการร่วมกันในตัวอาคารคริสตจักรจนกว่าจะมั่นใจว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด 19 จะสงบลง บางท่านคิดไปโน่นครับว่าน่าจะรอจนกว่าเรามีวัคซีนป้องกัน โควิด 19 ก่อนค่อยพิจารณาการกลับไปรวมตัวกันนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรอีกครั้งหนึ่ง

หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับผม และอาจจะหยุดอ่านข้อเขียนนี้ แต่ผมคิดอย่างนี้ครับ ผู้นำคริสตจักรควรที่จะวางแผนว่าคริสตจักรของเราจะต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และใช้การนมัสการพระเจ้าร่วมกันทางออนไลน์ไปจนถึงปลายปีนี้ครับ เมื่อผู้รู้เรื่องนี้ในประเทศของเราเห็นว่า การพบปะกันทางสังคมแบบหน้าต่อหน้าอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยแล้ว

และนั่น...ทำให้เราจำเป็นพูดถึงผู้นำคริสตจักรกลุ่มที่สอง

ผู้นำกลุ่มที่สองมิได้ให้ความสนใจว่า เมื่อไหร่คริสตจักรจะเปิดให้มีการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารโบสถ์อย่างที่เคยทำมาในอดีต เพราะจากประการณ์ที่เขาได้รับในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผู้นำกลุ่มนี้รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะกลับมานมัสการร่วมกันในโบสถ์ได้... แต่ผู้นำกลุ่มนี้รู้ว่า เหตุการณ์นี้กำลังผลักดันให้คริสตจักรต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คริสตจักรเคยปฏิบัติเป็นปกติจะไม่กลับมาเป็นอย่างเดิมอย่างที่เขาคุ้นชินอีกแล้ว คำถามที่เขาถามคือ “คริสตจักรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตปกติใหม่อย่างไร?”  

แล้วผู้นำกลุ่มนี้เตรียมพร้อมที่จะเริ่มก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดี๋ยวนี้ พวกเขาจะไม่รีรอให้ประตูโบสถ์ของเขาเปิดก่อน

วิถีใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักรท้องถิ่น

ถ้าเช่นนั้น “วิถีปกติใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” คืออะไรกันแน่? แล้วมีลักษณะเช่นไรบ้าง?
ผมขอเน้นการเปลี่ยนแปลง 7 ประการในชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ที่มีผลให้เกิด “วิถีปกติใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร”

1. เปลี่ยนจากระบบ “อนาล็อก” เป็น “ดิจิทัล”

การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมื่อ วิกฤติโควิด 19 หมดไปแล้ว แต่การทำพันธกิจแบบดิจิทัลจะไม่หมดไปจากคริสตจักร

คริสตจักรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทั้งชีวิตและการทำพันธกิจเข้าสู่การใช้ระบบดิจิทัล มิเพียงแต่การไลฟ์สด หรือ การสตรีมออนไลน์คำเทศนา และ การสอนพระคัมภีร์เท่านั้น แต่วิธีการทำพันธกิจ วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ในคริสตจักรจะเป็นแบบดิจิทัลมากขึ้น

2. เปลี่ยนจากการสอนไปเป็นการเสริมสร้าง

ที่ผ่านมา คริสตจักรมักเน้นเรื่องการสอน และใช้การสื่อสารแบบทางเดียวเสียส่วนมาก แทนที่จะเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้กระทำ หรือ ดำเนินชีวิตในสิ่งที่สอนให้เป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เน้นการฝึกหัดวินัยชีวิตทางจิตวิญญาณ และการดำเนินชีวิตประจำวันที่สำแดงถึงพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้แต่ละคนกระทำ

คริสตจักรจะต้องเปลี่ยนแปลงจาก “ผู้บริโภคเนื้อหาคำสอน” ไปเป็น การมีชีวิตที่จาริกไปบนเส้นทางชีวิตที่กระทำพันธกิจของพระเจ้าตามพระบัญชา และตามรูปแบบชีวิตเหมือนพระเยซูคริสต์

3. เปลี่ยนจากการมาร่วมชุมนุมกันสู่การเชื่อมสัมพันธ์กันเชิงลึก

ก่อนวิกฤติโควิด 19 ผู้คนในคริสตจักรมีเวลาค่อนข้างจำกัดที่จะทำอะไรร่วมกันในคริสตจักร คริสตจักรพยายามสร้างกิจกรรมมากมายเพื่อคาดหวังดึงสมาชิกให้เข้ามาร่วมในคริสตจักรมากขึ้น แต่เมื่อสมาชิกมีประสบการณ์ในวิกฤติที่เกิดขึ้นเริ่มเรียนรู้ถึงความสำคัญของมิตรภาพในชุมชนคริสตจักร และมีความรู้สึกว่าการที่ถูกโดดเดี่ยวคนเดียวเป็นการถูกแบ่งแยกและเป็นเหมือนถูกลงโทษ พระเจ้าทรงสร้างให้เราต้องการกันและกัน การที่เขาต้องรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้เขาตระหนักมากขึ้นว่า ไม่เป็นการดีเลยที่จะต้องอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว

4. เปลี่ยนจากความสนใจการทำพันธกิจระดับโลกสู่ระดับท้องถิ่น

ที่ผ่านมาเรามักเน้นการส่งมิชชั่น หรือ ส่งผู้คนไปเรียนรู้เรื่องมิชชั่นในประเทศอื่น เพราะมักคิดว่าอยากเชื่อมต่อคริสตจักรในระดับสากล แต่การทำเช่นนี้เป็นการสิ้นเปลืองเงินถวายหรือไม่? แทนที่จะใช้เงินถวายในการส่งทีมไปดูงานในคริสตจักรประเทศต่าง ๆ เราส่งเงินเหล่านั้นไปหนุนเสริมชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรที่จำเป็นต้องการไม่ดีกว่าหรือ? และพระเจ้าประสงค์ให้คริสตจักรของเราออกไปและเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชน เพื่อทำพันธกิจในชีวิตของผู้คนเหล่านั้น

อย่าให้เราเบี่ยงแบนหลีกเลี่ยงความใส่ใจในการทำพันธกิจในพื้นที่ท้องถิ่นชุมชนของเรา ที่ยากลำบากยิ่งกว่าการไปเรียนรู้พันธกิจในระดับสากล เพราะพันธกิจการเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นของเราเป็นความรับผิดชอบของคริสตจักรที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

5. ปรับเปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างมากเกินไปเป็นการมีจิตใจที่เอื้ออาทร (ให้ด้วยใจกว้างขวาง)

จากวิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบทำให้จำนวนเงินที่ถวายลดลง ทำให้คริสตจักรต้องกลับมาพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือมากเกินตัว และคริสตจักรได้เรียนรู้ที่จะใช้งบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อทำพันธกิจที่เข้าถึงชีวิตของคนในชุมชนที่มีความจำเป็นต้องการ

6. ปรับเปลี่ยนการทำพันธกิจที่ซับซ้อนสู่ความเรียบง่าย

อย่างที่เรารู้แล้วว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด 19 หลายคริสตจักรได้ทำกิจกรรมมากมาย เราพบว่าสมาชิกส่วนหนึ่งที่มาโบสถ์จะมีงานยุ่งมาก มีงานที่ต้องทำหลายเรื่อง แต่เมื่อต้องรักษาระยะห่าง และ เก็บกักตัวเองที่บ้าน แล้วนมัสการร่วมกันผ่านการนมัสการระบบทางไกล ก็ได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วการที่ต้องทำอะไรมาก ๆ และยุ่งยาก ในคริสตจักรไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของตนเกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์อะไรมากนักเลย แต่การที่มีเวลาสงบกับพระเจ้าและคนในครอบครัว ได้มีเวลาพิจารณาถึงชีวิตของตนเอง และสะท้อนคิดร่วมกัน เราก็พบว่า  ชีวิตแบบพระคริสต์กลับเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มิใช่ชีวิตที่ซับซ้อนสับสน

และเพราะการที่ผู้คนมาที่โบสถ์แล้วต้องทำโน่นทำนี่มากมายหลายอย่าง เหน็ดเหนื่อยกลับบ้านนี่เอง ที่ทำให้สมาชิกที่มาร่วมหลายคนหาทางหลบหลีกเลี่ยงออกไปจากคริสตจักรมิใช่หรือ?

7. ปรับเปลี่ยนจากคริสตจักรที่ “สมาชิกเป็นผู้ชม” ไปเป็นคริสตจักรที่ “สมาชิกมีส่วนร่วมขับเคลื่อนพันธกิจ”

สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวิกฤตินี้มานานแล้ว สิ่งที่ยังสร้างให้เกิดความกังวลคือ คริสตจักรอาจจะเปลี่ยนจากการนับจำนวนผู้มาร่วมในการนมัสการ มาเป็นการนับจำนวนผู้คนที่เข้ามาร่วมในการชมรายการนมัสการทางออนไลน์ หรือนับจำนวนรายการถ่ายทอดออนไลน์ในแต่ละสัปดาห์มีกี่ครั้งกี่รายการ ตัวเลขเหล่านี้มิใช่ตัวบ่งชี้ที่แท้จริงของความสำเร็จในชีวิตและการการทำพันธกิจคริสตจักร

การสร้างสาวกพระคริสต์ควรจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร เราต้องการที่จะให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพระกายของพระคริสต์และทำพันธกิจที่พระคริสต์มอบหมายอย่างเชื่อมประสานเป็นร่างกายเดียวกัน

วิถีใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักรควรปรับเปลี่ยนจากการนับจำนวนผู้เข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นการนับรายหัวที่มาโบสถ์ หรือ การนับจำนวนบุคคลที่เข้าชมรายการถ่ายทอดสดการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ ไปเป็นการที่เสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้เป็นสาวกพระคริสต์ แล้วทำตามพระบัญชาของพระองค์ที่ให้เราร่วมในพระราชกิจที่พระองค์ทรงเริ่มต้นไว้นั้น

ที่กล่าวมานี้เป็น “วิถีใหม่ในชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่น” ที่ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ มิใช่รอเมื่อคริสตจักรเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเรารอให้ถึงวันที่เปิดโบสถ์อีกครั้งหนึ่งอาจจะสายเกินไป เพราะง่ายเหลือเกินที่สมาชิกคริสตจักรจะกลับไปทำในสิ่งที่ตนคุ้นชินที่ทำในอดีต หรือ “วิถีชีวิตและการทำพันธกิจอย่างเดิม ๆ” ในอดีต   และเราจะเสียโอกาสในสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมานั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


16 พฤษภาคม 2563

อะไรคือสิ่งที่มีค่ายิ่งในชีวิต?

หลายครั้งที่เราพยายามแสดงตัวว่าเรารู้ในทุกเรื่อง แต่เมื่อตนเองรู้ว่ามีบางเรื่องที่ตนเองไม่รู้ก็จะมโนไปเองว่า มันน่าจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้เพื่อจะตอบคนอื่นได้ เพื่อคนอื่นจะได้เห็นว่าเรารู้ในทุกเรื่อง แต่ที่เลวร้ายกว่านี้คือการที่เรารู้เรื่องต่าง ๆ ในบางเรื่อง และรู้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่กลับไม่ทำนี่สิ มันน่าเสียหายหลายแสน?

สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดที่เรามีในขณะนี้มิใช่คฤหาสน์หลังงาม หรือบัญชีเงินฝากในธนาคาร หรือธุรกิจหมื่นล้านของเรา   แต่สิ่งที่มีคุณค่ายิ่งที่สุดของเราคือ “ปัญญา”

ภูมิปัญญาคือความรู้ที่ล้ำค่าที่ใช้ในการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน ที่ว่านี้เป็น “ปัญญาปฏิบัติ” และพระคัมภีร์ได้บอกเราว่า “ปัญญา” นี้มีค่าอย่างเหลือเชื่อ

     ความสุขมีแก่ผู้ที่พบปัญญา
     ผู้ที่ได้รับความเข้าใจ
     เพราะปัญญาให้ประโยชน์ยิ่งกว่าเงิน
     และให้ผลตอบแทนยิ่งกว่าทองคำ
     ปัญญาล้ำค่ายิ่งกว่าทับทิม
     สิ่งใด ๆ ที่เจ้าปรารถนาก็ไม่สามารถเทียบได้
     ในมือขวาของปัญญามีชีวิตอันยืนยาว
     ในมือซ้ายมีความมั่งคั่งและเกียรติ
     หนทางของปัญญาคือทางอันรื่นรมย์
     วิถีทั้งสิ้นของปัญญาคือสันติสุข
     ปัญญาเป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่ผู้ที่กอดนางไว้
     ความสุขมีแก่ผู้ที่ยึดนางไว้มั่น (สุภาษิต 3:13-18 อมธ.)

ในโลกแห่งเงินทอง-ทรัพย์สินมักถูกประเมินค่าว่ามีมูลค่าเป็นเงินกี่บาท เฉกเช่น บ้านหลังโตของเรา ทั้งนี้เพราะมีมุมมองว่า ทรัพย์สินที่เรามีสามารถทำให้เกิดรายได้แก่เรา (โรเบิร์ด คิโยซากิ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บางครั้งเรามองว่าทรัพย์สินชิ้นนั้นอาจจะเป็นหนี้ที่เราต้องชำระ เช่น บ้านที่เรากำลังผ่อน ที่เราต้องหาเงินมาผ่อนชำระ หรือ ซ่อมแซม

ในทำนองเดียวกัน ความรู้เรื่องต่าง ๆ มากมายก็เป็นเหมือนทรัพย์สิน แต่ถ้าเราไม่นำเอาความรู้ที่มีอยู่แปลงสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในชีวิต มันก็จะไม่ทำให้เกิดมูลค่าอะไรเลย ขอตั้งข้อสังเกตจากข้อเขียนของพระธรรมสุภาษิตข้างต้น ผู้เขียนบอกว่า “ปัญญาให้ประโยชน์ยิ่งกว่าเงิน และให้ผลตอบแทนยิ่งกว่าทองคำ ปัญญาล้ำค่ายิ่งกว่าทับทิม”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราสามารถใช้ “ปัญญา” มาลงทุนด้วยการนำมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เมื่อเรานำเอาปัญญามาใช้ในการดำเนินชีวิตของเรา เราได้สร้างมูลค่าจากปัญญาและเราจะเห็นผลตอบแทนจากปัญญานั้น เช่น อาจจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ดี มีสุขภาวะในชีวิต มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น หรือฐานะการเงินที่มั่นคงขึ้น

อย่าอ่านพระคัมภีร์เพียงเพื่อเรียนรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงจากพระคัมภีร์ อย่างที่เราอ่านตำราที่น่าเบื่อหน่าย ให้เราดูดซับปัญญาจากพระคัมภีร์เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และพัฒนาคุณค่าในชีวิตของเรา อ่านพระคัมภีร์ให้ได้ “ปัญญาปฏิบัติ” ในชีวิตประจำวัน

ชีวิตจะดีขึ้นเสมอเมื่อเรานำเอาปัญญาจากพระคัมภีร์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499