25 พฤษภาคม 2563

สิ่งดีที่คริสตจักรน่าจะทำต่อหลังวิกฤติโควิด 19

“วิถีชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” หลังโควิด 19 จะเป็นแบบไหน อย่างไรนั้นต่างก็คาดเดากันไปได้ แต่ละคริสตจักรท้องถิ่นไม่จำเป็นที่จะต้องมี “วิถีชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” ที่เหมือนกันเสมอไป แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่เคยทำแต่ทำในช่วงรับมือกับวิกฤติโควิด 19 แล้วเห็นว่า เราน่าจะทำเช่นนั้นต่อไป ซึ่งพอจะประมวลบางประเด็นได้ดังนี้ 

1. การประชุมปรึกษางานของคณะธรรมกิจคริสตจักร หรือ คณะกรรมการต่าง ๆ ของคริสตจักร ผมยอมรับว่า  บางครั้งที่เรายังจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมคณะธรรมกิจ หรือ คณะกรรมการพันธกิจต่าง ๆ แบบพร้อมหน้ากัน แต่ในการประชุมบางครั้งสามารถที่จะประชุมกันแบบออนไลน์เพื่อลดการเดินทาง หรือ สามารถประชุมทั้ง ๆ ที่บางท่านอาจจะอยู่ต่างจังหวัด และสามารถเลือกเวลาประชุมที่สะดวกสำหรับทุกคนโดยไม่ต้องเดินทางมาที่คริสตจักร  และเรื่องเร่งด่วนก็สามารถได้รับการพิจารณาทันเวลา

2. มุ่งเน้นการทำพันธกิจการรับใช้ จากสถานการณ์โควิด 19  คริสตจักรของเราได้เรียนรู้ถึงการทำพันธกิจการรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการรับใช้กันและกันในชุมชนคริสตจักร และการรับใช้ที่เข้าถึงชุมชนสังคมรอบข้างชีวิตของสมาชิกคริสตจักร 

นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า ศิษยาภิบาลบางท่านได้ใช้พื้นที่สื่อสารทางออนไลน์ของตน บางท่านใช้พื้นที่ออนไลน์ของคริสตจักร กลายเป็น “ตลาดเสนอสินค้าออนไลน์” ชนิดต่าง ๆ ที่ผลิตโดยสมาชิก ทั้งที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป และผลผลิตด้านหัตถกรรมต่าง ๆ ที่สมาชิกผลิต ผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าออนไลน์อย่างดี ช่วยให้สมาชิกสามารถมีรายได้อีกทางหนึ่งอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเป็นการบริการฟรีจากศิษยาภิบาล/คริสตจักร เป็นพันธกิจการส่งเสริมการตลาดแก่สมาชิกคริสตจักรครับ

ขอตั้งข้อสังเกตว่า คริสตจักรเหล่านี้การถวายในช่วงวิกฤติโควิด 19 กลับมีการถวายที่มากกว่าก่อนสถานการณ์โควิดเสียอีก เพราะนี่คือทางหนึ่งในการอภิบาลชีวิตด้านเศรษฐกิจของสมาชิกคริสตจักร  และ อาจจะสามารถขยายกว้างออกไปถึงชุมชนรอบข้างด้วยในอนาคต

3. การพบปะกันของกลุ่มเล็กต่าง ๆ ในคริสตจักรทางออนไลน์ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าการพบปะกลุ่มเล็กต่อไปนี้ต้องทำกันบนออนไลน์ทุกครั้ง แต่ถ้าสมาชิกกลุ่มสะดวกที่จะพบกลุ่มเล็กของตนออนไลน์ก็น่าจะทำต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอธิษฐาน กลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ กลุ่มที่ทำพันธกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อสมาชิกทุกคนจะสามารถเข้าร่วมได้ตามความสะดวกของแต่ละคน และคนในครอบครัวคนอื่นที่สนใจก็สามารถเข้าร่วมได้ด้วย

4. การถ่ายทอดสดการนมัสการ และ การอัดเทปการนมัสการ ที่เราบันทึกเทปเพื่อสมาชิกที่ต้องการสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของคริสตจักร สำหรับคนที่ไม่สามารถมาร่วมหรือเข้าร่วมในการนมัสการในอาทิตย์นั้น ๆ จะมีโอกาสติดตามการนมัสการในเวลาที่เขาสะดวก

5. ให้เยาวชน/วัยรุ่นเข้าร่วมพันธกิจคริสตจักร จากวิกฤติที่ผ่านมาในหลายคริสตจักรได้รับความช่วยเหลือจากเยาวชน/วัยรุ่นในคริสตจักรในการถ่ายทอดรายการไลฟ์สด หรือการทำคลิปการนมัสการพระเจ้าของแต่ละสัปดาห์   บางคริสตจักรศิษยาภิบาลได้ขอให้อนุชนบางท่านมาช่วยศิษยาภิบาลในการทำไลฟ์สดการสอนพระคัมภีร์ด้วย สิ่งเหล่านี้ให้เราทำต่อไปและเยาวชน/วัยรุ่นจะร่วมในพันธกิจคริสตจักรอีกมากมายที่ต้องใช้ความรู้ทักษะและความสร้างสรรค์ในการสื่อสารทันสมัยเหล่านี้ที่มีอยู่ในตัวอนุชนของคริสตจักร

6. นิมิต/วิสัยทัศน์ของคริสตจักร เมื่อวิกฤติโควิด 19 ผ่านไป ศิษยาภิบาลควรเชิญชวนคณะธรรมกิจ  สมาชิกคริสตจักร  เยาวชน/วัยรุ่นในคริสตจักรมาร่วมกันถอดบทเรียนรู้จากการทำงานในช่วงที่คริสตจักรต้องรักษาระยะห่างทางสังคม รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล  และ การเก็บกักตัวในบ้าน เพื่อใช้บทเรียนที่ได้จากวิกฤติที่ผ่านมาในการกำหนดนิมิต/วิสัยทัศน์ และ การวางแผนงานพันธกิจของคริสตจักรในช่วงครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม 2020)   และนำสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำแล้วเกิดผลมาปรับประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรต่อไป

7. เวลาของครอบครัว จากวิกฤติที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นของการที่คนในครอบครัวมีโอกาสที่จะร่วมกันในการนมัสการพระเจ้าด้วยกัน การเรียนรู้พระวจนะ และการอธิษฐานร่วมกัน ตลอดจนมีโอกาสในการปรึกษาหารือกันว่า  จะทำพันธกิจเข้าถึงชีวิตของชุมชนอย่างไรบ้าง ขอให้รักษาเวลาอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้และดำเนินการต่อไป และยังสามารถที่จะทำสิ่งอื่น ๆ ร่วมกันในครอบครัวมากกว่านี้

8. การอภิบาลชีวิตกันและกันในคริสตจักร ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา หลายครอบครัวได้มีโอกาสติดต่อสื่อสารแสดงความรักห่วงใยต่อกัน และมีโอกาสที่จะอธิษฐานเผื่อกัน ตลอดจนช่วยเหลือกันและกันในสิ่งต่าง ๆ ที่แบ่งปันและเอื้ออาทรกันได้ ขอให้จิตวิญญาณของการอภิบาลกันและกันเหล่านี้พัฒนาและเติบโตต่อไปทั้งในครอบครัวและในชุมชนคริสตจักรของเรา

นอกจากนี้ยังพบว่า ในช่วงวิกฤตินี้มีศิษยาภิบาลบางท่านที่ได้ทำพันธกิจแบบ “ครอบครัว/ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” ในการขับเคลื่อนพันธกิจการอภิบาลคนในคริสตจักร ซึ่งแตกต่างจากวิธีการทำพันธกิจอภิบาลในคริสตจักรก่อนหน้าวิกฤติโควิด 19 ที่ใช้การพบปะกันในคริสตจักรเป็นศูนย์กลางการทำพันธกิจการอภิบาลชีวิต

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (physical Distancing) ในช่วงของ Social Distancing  นอกจากศิษยาภิบาลจะใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ในการนมัสการ ในการเรียนพระคัมภีร์แล้ว ศิษยาภิบาลบางท่านยังติดตามไปอภิบาลสมาชิกในจุดต่าง ๆ ในชุมชนโดยนัดหมายมาพบปะกันในบ้านของบางท่าน แต่รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมหน้ากากอนามัยทุกคน เพื่อที่จะนมัสการด้วยกัน เรียนพระวจนะ และ อธิษฐานร่วมกัน   ตลอดจนการปรึกษาหารือในประเด็นวิกฤติชีวิตที่พบของบางคนบางครอบครัว

ศิษยาภิบาลเหล่านี้ยืนยันว่า ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ท่านเหล่านี้กระจายจุดอภิบาลกว้างไกลและมากกว่าก่อนหน้าวิกฤตินี้ และยืนยันว่าได้ผลมากกว่าการอภิบาลที่ใช้อาคารโบสถ์เป็นศูนย์กลางเท่านั้น และตั้งใจว่า หลังโควิด 19 ก็จะทำเช่นนี้ต่อไป

9. คิดอย่างสร้างสรรค์ จากวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้เราต้องคิดอย่างรวดเร็วว่าเราจะตอบสนองต่อวิกฤติหรือบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างไร และเราพบว่าเราสามารถคิดจนได้ความคิดที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม  สร้างสรรค์ และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า วิถีชีวิตและการทำพันธกิจหลังโควิด 19 เราจะมีสมาชิกและผู้นำที่คิดอย่างมีเป้าหมายและสร้างสรรค์

แล้วท่านละครับ... ต้องการเห็นสิ่งดีมีค่าที่คริสตจักรของท่านควรกระทำต่อเนื่องจากวิกฤติโควิด 19 อะไรบ้างครับ?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น