20 พฤษภาคม 2563

คริสตชน “แตกต่าง” แต่ไม่สร้าง “ความแตกแยก” ในสังคม

หลายคนได้อ้างถึงเสรีภาพ อ้างถึงสิทธิส่วนบุคคล เพื่อใช้เสรีภาพที่กล่าวอ้างในการกระทำตามความปรารถนาที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ลึก ๆ คือการกระทำด้วยความเห็นแก่ตัวโดยอ้างคำว่า “เสรีภาพ” เพื่อปกปิดธาตุแท้ (หรือ ทาสแท้) แห่งความชั่วที่ตนกระทำ

15เพราะพระเจ้าทรงประสงค์จะให้พวกท่านระงับความโง่ของคนโฉดเขลาด้วยการทำดี 16จงดำเนินชีวิตอย่างคนมีเสรีภาพ แต่อย่าใช้เสรีภาพนั้นเป็นข้ออ้างเพื่อทำความชั่ว แต่จงดำเนินชีวิตอย่างผู้รับใช้ของพระเจ้า 17จงให้เกียรติทุกคน จงรักพวกพี่น้อง จงยำเกรงพระเจ้า จงให้เกียรติแด่จักรพรรดิ (1เปโตร 2:15-17 มตฐ.)

ในพระธรรม 1 เปโตร บทที่ 2 เปโตรเขียนถึงคริสตชนที่แตกกระเจิงหลบลี้หนีจากอำนาจของโรมันและผู้นำศาสนายิว ได้หนีออกจากกรุงเยรูซาเล็มไปในดินแดนต่าง ๆ ต้องยอมตนตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีอำนาจในที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ที่เลวร้าย หรือ ผู้ปกครองที่ดีมีเมตตา การดำเนินชีวิตที่ดีของคริสตชนเป็นสิ่งที่สร้างการยอมรับของผู้ปกครองในดินแดนนั้น ๆ ที่พวกเขาหนีไปอยู่ด้วย  

ในฐานะที่เราเป็นเหมือนประชากรของพระเจ้าที่กลายเป็น “ผู้หลบลี้หนีภัย” เปโตรบอกเราว่า ให้เรา “ระงับความโง่ของคนโฉดเขลาด้วยการทำดี” (มตฐ.) การต่อต้านการกระทำที่โฉดเขลาต่อคนมีอำนาจมิใช่ทำด้วยการโต้เถียง  ด้วยการเดินขบวน ด้วยการต่อต้านกล่าวร้าย แต่ด้วยการกระทำการดี ด้วยการรับใช้ ด้วยการนับถือ ให้ความรักเมตตา และด้วยการให้เกียรติ (ตามที่เขาควรจะได้รับ)

เปโตรได้ให้กำลังใจแก่คริสตชนที่ต้องหลบลี้หนีกระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่างแดนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมที่ตนอาจจะไม่คุ้นชินว่า อย่าให้การกดขี่ข่มเหง และ ความทุกข์ยากลำบากที่ได้รับมาบดขยี้ความเชื่อศรัทธาของเรา   ตรงกันข้าม ให้คริสตชนแบกรับน้ำหนักแห่งความทุกข์ยากที่ได้รับทั้งหมดให้เป็นแรงกดทับตัวเราในทุกย่างก้าวการดำเนินชีวิตของเราที่จะ “ก้าวย่ำซ้ำลงในรอยพระบาทของพระคริสต์” ทำให้รอยพระบาทพระคริสต์ชัดเจนยิ่งขึ้น 

การที่คริสตชนมีชีวิตที่เป็นคน “นอกขอบสังคม” (ไม่ใช่ชายขอบสังคม) เป็นโอกาสที่คริสตชนจะทำให้คริสตจักรมีพันธกิจในการเยียวยารักษาผ่านความเจ็บปวด บาดเจ็บในชีวิตของผู้คนในสังคม จากการที่คริสตชนต้องทนทุกข์ยากลำบากในประวัติศาสตร์ เราพบว่าพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้ปลดปล่อยคริสตชนเหล่านี้ออกจากอิทธิพลของอำนาจบาปชั่ว คริสตชนที่ได้รับการข่มเหงและต้องทนทุกข์ ต้องหลบลี้หนีแตกกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะแพร่กระจายพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปในทุกพื้นที่ที่พวกเขากระจัดกระจายไปด้วย เป็นโอกาสหนึ่งที่พวกเขาจะสื่อสารพระกิตติคุณของพระคริสต์แก่คนในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไป คริสตชนที่ได้รับการกดขี่ข่มเหง ทำร้าย ทำลาย ติดตามไล่ล่า ผลักดันให้พวกเขาต้องดำเนินใน “เส้นทางที่คับแคบ” ด้วยความเชื่อฟังในพระคริสต์

เมื่อคริสตชนต้องดำเนินชีวิตในสังคมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่ออย่างตน คำสอนของเปโตรในตอนนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างเกิดผล และเหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติที่พวกเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ คนที่ไม่ยอมรับพวกคริสตชนพวกเขาไม่สนใจหรอกว่า คริสตชนมีหลักข้อเชื่อว่าอย่างไร อะไรสอนถูกอะไรสอนผิด อะไรเทียมเท็จ และ อะไรที่แท้จริง แต่พวกเขาสนใจพฤติกรรมที่กระทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน

สังคมต้องการดูว่าคำสอน ข้อถกเถียงทางความเชื่อของเราสอดคล้องเป็นจริงกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่ และเมื่อเราต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก เรายังสัตย์ซื่อ ดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เราสอน เราประกาศ หรือที่เราถกเถียงปกป้องหรือไม่

ในสังคมโลกปัจจุบัน เราถูกกีดกันผลักดันให้หลุดออกนอกชายขอบของสังคม แต่ในสังคมโลกใหม่ที่พระเยซูคริสต์กำลังนำมาสถาปนาบนแผ่นดินโลกนี้ พระองค์จะนำพวกเราเข้าในสังคมใหม่ที่พระองค์นำมา และวันนั้นจะสำเร็จเป็นจริง และเราเองมีส่วนร่วมในพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ในการนำผู้คนเข้าร่วมในชีวิตสังคมใหม่แห่งแผ่นดินของพระเจ้าที่พระคริสต์นำมาตั้งอยู่นั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น