11 พฤษภาคม 2563

ถอดบทเรียนความเชื่อของอับราฮัม

ใช้ในวิกฤติโควิด 19

ถอดบทเรียนรู้ความเชื่อศรัทธาของอับราฮัม เพื่อใช้ในชีวิตท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ในชีวิตของคริสตชนไทย ผมพบว่า ความเชื่อของบรรพบุรุษยังเป็นความเชื่อที่ยังขับเคลื่อนชีวิตของเราได้ปัจจุบัน

(ขอโทษครับ...ข้อเขียนนี้ยาวหน่อยนะครับ)

8โดยความเชื่อ เมื่ออับราฮัมได้รับการทรงเรียกให้ออกเดินทางไปยังที่ที่ท่านจะรับเป็นมรดก ท่านก็เชื่อฟังและเดินทางออกไปโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน (ปฐก.12:1-5) 9โดยความเชื่อ ท่านได้อาศัยในแผ่นดินแห่งพระสัญญาเหมือนเป็นคนต่างด้าว โดยพักอยู่ในเต็นท์ร่วมกับอิสอัคและยาโคบผู้เป็นทายาทตามพระสัญญาเดียวกันนั้น (ปฐก.35:27) 10ท่านเฝ้าคอยนครที่ตั้งอยู่บนรากฐานซึ่งพระเจ้าทรงเป็นสถาปนิกและทรงเป็นผู้สร้าง (ฮีบรู 11:8-10 มตฐ.)

ก. ความเชื่อเป็นเรื่องทั้งชีวิต ที่เป็นรูปธรรม และ มีพลังขับเคลื่อน

[1] ชีวิตของอับราฮัมนั้นไม่เหมือนกับชีวิตของเรา ชีวิตของอับราฮัมเป็นการจาริกไปบนเส้นทางชีวิตแห่งความเชื่อศรัทธา

[2] หากเราติดตามองค์พระผู้เป็นเจ้า เราต้องไว้วางใจในพระองค์

[3] ชีวิตของเราอยู่ในพระหัตถ์ของผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ ประเด็นต่าง ๆ ในความเชื่อศรัทธาเป็นเป้าหมายของการเชื่อศรัทธา

[4] ความเชื่อศรัทธาเป็นพระบัญชาของพระเจ้า

[5] ความเชื่อศรัทธานี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา และด้วยความเชื่อเดียวกันนี้ที่จะหนุนเสริมเราในช่วงเวลาที่ชีวิตตกอยู่ในความยากลำบาก

[6] ถ้าไม่มีความเชื่อ ก็ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า

[7] ความเชื่อเป็นการเชื่อฟัง ความเชื่อเป็นเรื่องของการกระทำ เป็นการตอบสนองต่อพระบัญชาของพระเจ้า   ความเชื่อศรัทธาเป็นเรื่องที่เราต้องกระทำ

[8] เมื่อเราพูดว่าเราเชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า เราฟังพระวจนะ เราอ่านพระวจนะ เราต้องทำตามพระวจนะด้วย

[9] เราเชื่อศรัทธาในพระเจ้าแม้ว่าจะมีการต่อต้านขัดขวางเช่นไรก็ตาม

[10] ความเชื่อศรัทธามิใช่อะไรที่ง่าย ๆ สะดวกสบาย แต่เป็นสิ่งที่ทุกข์ยากลำบากทั้งกาย ใจ ความนึกคิด และ การตัดสินใจของเราด้วย

ข. เราเชื่อฟังพระเจ้าเมื่อเราไม่รู้ว่าเราจะไปที่ไหน

[1] ในความเชื่อของเรา เราไม่รู้ชัดเจนว่าเราจะไปไหน แต่เรารู้ชัดเจนว่าพระเจ้าคือผู้ใด

[2] ความเชื่อคือความมั่นใจในพระบัญชาของพระเจ้า อับราฮัมรู้ว่าพระเจ้าได้มีพระบัญชาแล้ว และนั่นคือความมั่นใจทั้งสิ้นที่เขาต้องการ

[3] ความเชื่อศรัทธาคือการที่เราตัดสินใจเดินบนเส้นทางชีวิตที่ทรงบัญชา ทิศทางที่ชัดเจนจากพระเจ้า มิใช่เป็นเพียงข้อเสนอ หรือ ทางเลือก มีเพียงทางเดียวเท่านั้นคือ “การที่เราตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางนั้นที่พระเจ้าทรงบัญชาให้เราจาริกไป”

[4] การที่เราเชื่อมั่นในพระเจ้า มิใช่เพราะเรามีแผนหลักแผนรองอะไรในทำนองนั้น แต่เป็นการที่เรายอมทำตามพระบัญชา เพราะเรารู้และไว้วางใจว่า พระองค์รู้จักตลอดเส้นทางที่ต้องฝ่าทะลุผ่านถิ่นทุรกันดารแห่งชีวิตที่เราจะต้องจาริกไป

[5] การมีความเชื่อ เราจะขับเคลื่อนไปตามพระบัญชาแม้เราไม่รู้จักหรือคุ้นชินกับวิถีชีวิตที่เราต้องจาริกไป เราคงต้องถามตนเองว่า เรากลัวที่จะขับเคลื่อนไปตามเส้นทางที่เราต้องจาริกไปตามพระบัญชานี้หรือเปล่า?

[6] การที่เรามีความเชื่อ คือการที่เราตอบสนองด้วยปัญญา การที่เรามี “ปัญญา” ไม่ใช่เรารู้ว่าพระเจ้าทรงกระทำอะไรมากน้อยแค่ไหน แต่การที่เรามี “ปัญญา” คือการที่เราตอบสนองตามข้อมูลรายละเอียดที่พระองค์เปิดเผยและประทานแก่เราด้วยความสัตย์ซื่อ

[7] ความเชื่อคือการที่เราไว้วางใจพระเจ้าก่อน การที่เราเรียกร้องคำตอบจากพระเจ้าก่อนที่เราจะตอบสนองพระองค์ ก็เป็นการบอกกับพระเจ้าว่า พระองค์ต้องไว้วางใจเราก่อน ที่เราจะลงมือขับเคลื่อนหรือกระทำในสิ่งที่พระองค์บัญชา

[8] ความเชื่อคือการที่เราตอบรับพระบัญชาของพระเจ้าก่อน เรามักต้องการให้พระเจ้าประทานสิ่งต่าง ๆ ก่อนที่เราจะ “ตอบรับ” พระเจ้า แต่พระเจ้าตรัสว่า “เจ้าต้องตอบรับเราก่อน แล้วเราจะประทานสิ่งเหล่านั้นแก่เจ้า”

[9] ความเชื่อศรัทธาเป็นการเชื่อฟัง เป็นการที่เรายอมเชื่อฟังพระเจ้าแม้เมื่อเรายังไม่รู้ว่าเราจะต้องไปที่ไหน

[10] ความเชื่อคือ การทำทุกสิ่งที่พระเจ้าบอกให้เราทำ

ค. เราเชื่อฟังพระเจ้าแม้เมื่อเราไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ที่พระเจ้าจะกระทำให้พระสัญญาของพระองค์สำเร็จ 

1. เราเชื่อศรัทธาแม้เราจะมีความจำกัดในชีวิต อับราฮัมเป็น “คนดีที่ไร้ผลผลิต” เพราะเขาไม่สามารถที่จะมีผู้ที่สืบตระกูลจากเขา

2. ถ้าเราเอาเหตุผลของเราเหนือความเชื่อความเสียหายจะเกิดขึ้นในชีวิต เพราะการขาดความอดทนบางครั้งเราจึงเอาหลักการเหตุผลมาแทนที่ความเชื่อของเรา

3. ความเชื่อศรัทธาจะไม่ดัดแปลง/เพิ่มเติม/หรือมโนไปเองแล้วเพิ่มเติมบางสิ่งลงในความเชื่อของเรา ดังนั้นต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่เพิ่มเติมสิ่งอื่นใดลงในในสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสแก่เราแล้ว

4. การขาดความอดทนและความประมาทไม่ใช่ความเชื่อศรัทธา

5. บางครั้งเรากระทำด้วยความประมาทและทูลขอพระองค์ให้ทรงอวยพระพร

6. พระเจ้าจะไม่กระทำตามคำเรียกร้องของเราให้พระองค์ทำ แต่พระองค์จะกระทำเมื่อพระองค์พร้อมในเวลาของพระองค์

7. บางครั้งการที่เราจะ “นิ่ง” เราต้องมีความเชื่อศรัทธาอย่างมากกว่าการที่เราจะขับเคลื่อน

8. บางครั้งเราทำกิจกรรมที่มีความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเราเอง (หรือ ภาวะหนีเสือปะจระเข้ของเรา)

9.  การรอคอยทำให้เราได้เรียนรู้ในประสบการณ์ถึงการที่พระเจ้าทรงครอบครองเหนือชีวิตของเรา

10. เมื่อเราไม่สามารถที่จะทำอะไร อย่าพยายามที่จะทำอะไรบางอย่าง เพราะในการอยู่นิ่งสงบคนเดียว จะมีบทเรียนที่เราต้องเรียนรู้

11. เมื่อพระเจ้าให้บางอย่างแก่เราก่อนเวลาอันควร เราอาจจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พระองค์ประทานให้มากกว่าพระเจ้าผู้ทรงประทานแก่เรา

ง. เราเชื่อฟังพระเจ้าเมื่อเราไม่รู้ว่าทำไมพระเจ้าถึงให้เราทำในสิ่งที่ต้องทนทุกข์ และเจ็บปวด

1. ในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 คริสตจักรของพระเยซูคริสต์ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นมากกว่าพึ่งพิงในพระองค์ไหม? เราได้สูญเสียการเชื่อฟังในพระเจ้าอะไรไปบ้างไหม?

2. ถ้าเราไม่ถวายสิ่งที่พระองค์ประทานแก่เราคืนให้พระองค์ ถ้าเช่นนั้น สิ่งที่พระเจ้าประทานแก่เราจะไปแทนที่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

3. ถ้าเราไม่สามารถที่จะถวายบุตรที่พระเจ้าประทานแก่เรากลับคืนแด่พระองค์ บุตรคนนั้นก็จะอยู่แทนที่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

4. ถ้าเราไม่สามารถถวายคืนคู่อุปถัมภ์ (คู่ชีวิต) ที่พระองค์ประทานแก่เรา คู่อุปถัมภ์ก็จะอยู่แทนที่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

5. ถ้าเราไม่สามารถถวายเงินทองที่พระเจ้าประทานแก่เราคืนพระองค์ ทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นก็จะไปอยู่แทนที่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

6. ถ้าเราไม่ถวายอาชีพการงานที่พระเจ้าประทานแก่เราคืนพระองค์ อาชีพการงานเหล่านั้นก็จะอยู่แทนที่ของพระเจ้าในชีวิตของเรา

7. หลายต่อหลายคนในพวกเราที่ยึดถือพระเจ้าเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในชีวิต

8. การที่เรากล่าวว่า เราเป็นผู้ที่มีความเชื่อศรัทธา ก็เป็นการกล่าวว่าเราจะเชื่อฟังพระเจ้าในทุกทางทุกมิติในชีวิตของเรา

9. หลังจากวิกฤติโควิด 19 ชีวิตจะไม่เหมือนเดิม ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นสิ่งร้ายหรือไม่ 

10. วิกฤติโควิด 19 ไม่ควรจะสร้างผลกระทบต่อนิมิตหมายของเราในพระเจ้า แต่ตรงกันข้าม วิกฤตินี้ควรผลักดันให้เราเข้าใกล้ชิดพระองค์มากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ให้วิกฤตินี้เผาไหม้เอาสิ่งที่ไม่สำคัญในชีวิตของเราออกไปก็ยังดี

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น