28 พฤษภาคม 2563

หยุด!...การผัดวันประกันพรุ่ง...อย่างไร?

หลายคนสงสัยว่า เราจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างไร? ให้เราลองกลับมาค่อย ๆ มองตนเอง เหมือนคนรอบข้างที่มองเรา บางครั้งเราก็พบว่า ในบางงานเราสนุกกับงานที่ทำ แต่ในบางงานที่ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกว่างานนี้ไปไม่ถึงไหนสักที น่าเบื่อหน่าย ในบางงานเรานั่งดูวันกำหนดส่งงานผ่านเลยไป ในขณะที่เราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับตนเองให้ชีวิตมันเดินไปข้างหน้า อาการเหล่านี้ฟังแล้วน่ากลัว หรือบางท่านบอกว่าต้องพบกับมันทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งช่วงโควิด 19 ที่ต้องทำงานที่บ้านอย่างอิสระแล้ว โอกาสผัดวันประกันพรุ่งเกิดได้ง่าย

แล้วเราจะสู้หรือรับมือกับอาการ “การผัดวันประกันพรุ่ง” ในชีวิตของเราอย่างไร? ลองพิจารณาข้อเสนอบางประการข้างล่างนี้...

1. เราเป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบไหม?

การผัดวันประกันพรุ่งทุกกรณีมิได้มาจากสาเหตุของ “คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ” (perfectionism) เสมอไป แต่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้

ถ้าความคิดแบบคนนิยมความสมบูรณ์แบบครอบงำความคิดของเรา ทำให้เราไม่กล้าที่จะเริ่มงานหรือโครงการของเรา อาจจะทำให้เราเลือกที่จะผัดวันประกันพรุ่งในงานนั้น

ถ้าการที่เราผัดวันประกันพรุ่งมิใช่เพราะการที่เป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ เราอาจจะสามารถที่จะผ่อนคลายระดับมาตรฐานของเรา เลือกทำ “ให้ดีพอควร” และเมื่อมีเวลาก็จะทำให้ดีระดับสูงขึ้นเป็นดีเลิศ อย่าให้อิทธิพลความคิดแบบความสมบูรณ์แบบนิยมครอบงำเราเมื่อเริ่มงานโครงการนั้น

2. เริ่มทำงานที่ใช้เวลาไม่มากก่อน

บางครั้งรายการสิ่งที่ต้องทำดูยาวมากมายดูจะคุกคามทำให้เรากลัวเลยคิดผัดวันประกันพรุ่งไปก่อน และรายการมากมายเหล่านั้นมันดูดกลืนเอาพลังที่จะใช้เริ่มต้นไปหมดสิ้น วิธีการหนึ่งที่อาจจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งของเราคือ ให้เราเขียนรายการที่เราต้องทำให้เสร็จ และบอกด้วยว่าในแต่ละรายการต้องใช้เวลาประมาณเท่าใดที่จะทำให้เสร็จได้ ในรายการที่ต้องทำมีรายการอะไรบ้างที่สามารถทำให้สำเร็จได้ใน 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น เลือกทำรายการเหล่านั้นแล้วลงมือทำทันที การทำเช่นนี้จะทำให้รายการที่เราต้องทำลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว แล้วกลับมาทบทวนรายการที่เหลือว่าเราจะเริ่มในรายการไหนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้

3. ทำให้แต่ละขั้นตอนให้เล็ก-สั้นลง

ซอยย่อยขั้นตอนการทำงานในโครงการที่เราผัดวันประกันพรุ่งลง ให้แต่ละขั้นตอนเล็กลงหรือสั้นลง จะช่วยให้เราง่ายที่จะเริ่มกับแต่ละขั้นตอนของโครงการ เพราะเรารู้ว่ามันจะสำเร็จได้เร็วขึ้น และเมื่อเราเริ่มต้นกับบางขั้นตอนสำเร็จ ก็จะเป็นพลังกระตุ้นเราในการทำขั้นตอนต่อ ๆ ไปจนสำเร็จสู่เป้าหมายมากขึ้นจนโครงการสำเร็จ (ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนจะทำให้เราเกิดกำลังใจที่กระตุ้นให้เราต้องการทำให้สำเร็จมากขึ้น)

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ แบ่งขั้นตอนของการขับเคลื่อนในแต่ละขั้นตอนให้สั้นลง แล้วพิจารณาดูว่าขั้นตอนสั้น ๆ ขั้นตอนไหนที่จะนำไปทำในงานประจำของแต่ละวันของเราได้ จะช่วยให้เราสามารถทำให้งานที่เราผัดวันประกันพรุ่งสำเร็จ

4. ให้รางวัลแก่ตนเอง

เมื่อเราทำขั้นตอนเล็ก ๆ หลายขั้นตอนสำเร็จ ความรู้สึกที่พออกพอใจในความสำเร็จที่ได้รับย่อมเป็นรางวัลในตัวสำหรับเรา และกลายเป็นแรงกระตุ้นเราให้ก้าวต่อไปข้างหน้า แต่เราอาจจะให้รางวัลพิเศษแก่ตัวเราเอง ไม่ว่าจะไปดูหนัง ฉลองที่สำเร็จในขั้นตอนหนึ่งกับเพื่อน ๆ ทำในสิ่งที่เรารู้สึกสนุกชื่นชมเมื่อเราสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นพลังกระตุ้นให้เราเริ่มก้าวเดินในขั้นตอนอื่นต่อ ๆ ไป

5. ทำในสิ่งที่ง่ายก่อน

เมื่อเรารู้สึกหนักอกหนักใจในงานที่ต้องทำ บ่อยครั้งอาจเป็นเพราะเราสงสัยหรือไม่แน่ใจในความสามารถของเราที่จะทำงานชิ้นนั้น ทางหนึ่งที่เราจะสร้างความมั่นใจว่าเราทำงานชิ้นนั้นสำเร็จได้คือ ให้เราเริ่มจากงานส่วนที่ง่ายก่อน

เมื่อเราทำงานในส่วนที่ง่ายเสร็จลง ความน่ากลัวของงานชิ้นนั้นก็น้อยลง เป็นการหยุดการที่เราจะผัดวันประกันพรุ่ง  แต่ทำให้เราสามารถทำให้งานชิ้นนั้นสำเร็จ

เมื่องานส่วนที่ง่ายทำสำเร็จแล้ว งานส่วนที่ต้องทำให้สำเร็จก็ดูน้อยลง และอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าง่ายที่เราจะทำให้สำเร็จ และความเชื่อมั่นในตนเองของเราจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นจากการที่เราเริ่มทำงานในส่วนที่ง่ายก่อน

6. หรือ ทำในส่วนที่ยากก่อน

ถ้าเรารู้ว่า เราสามารถทำงานชิ้นนั้นได้ เพียงแต่เราคิดถึงบางส่วนของงานที่อาจจะทำให้เรารู้สึกเครียด และ บางส่วนที่ยากลำบากที่มีแนวโน้มให้เราคิดที่จะผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อหยุดความคิดของการผัดวันประกันพรุ่งในงานชิ้นนั้น ให้เราเริ่มต้นจากงานส่วนที่ยากดังกล่าวก่อน ทำงานส่วนที่อาจจะทำให้เราเครียดให้สำเร็จ หรือ เป็นส่วนงานที่เราไม่ชอบให้สำเร็จเป็นส่วนแรกก่อน แล้วงานส่วนที่เหลือก็จะเป็นส่วนที่เราสามารถทำให้สำเร็จโดยง่าย

7. การมองโลกในแง่ดี

อีกทางหนึ่งในการเอาชนะความสงสัย-ไม่มั่นใจในตนเองที่มักนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งคือ การมีมุมมองโลกในแง่ดี เน้นที่มุมมองเชิงบวก และลดมุมมองเชิงลบในงานชิ้นนั้นและในตัวเรา และมองให้ชัดเจนในส่วนงานที่เราเห็นว่าเราทำงานชิ้นนี้ไม่ได้ และท้าทายมุมมองในส่วนที่เรามองว่าเราทำไม่ได้  ด้วยการค้นหาเหตุผลที่เราทำได้ในส่วนนั้น เช่น เรามีพลัง เรามีวัตถุดิบ เราเคยประสบความสำเร็จ และงานที่คล้ายกันกับงานชิ้นนี้ที่เราเคยทำสำเร็จมาแล้วในอดีต

ให้มุ่งเน้นมองลงไปที่ว่า ทำไมเราถึงสามารถทำงานชิ้นนี้ มากกว่าที่มุ่งมองหาว่าทำไมเราไม่สามารถทำงานชิ้นนี้

8. พลิกใช้สิ่งที่ทำให้เราท้อแท้เป็นแรงกระตุ้น

บางครั้งเราคงแปลกใจว่า เราจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งอย่างไรดี? ให้เราพลิกใช้สิ่งที่คอยทำให้เราท้อแท้และหลอกลวงเราเพื่อทำให้เราไม่มั่นใจในตนเอง ทำให้จิตใจของเราวอกแวกให้กลายเป็นแรงกระตุ้น เช่น บอกกับตนเองว่า “ให้เราลองทำงานชิ้นนี้ดูสักครั้งสิ” เพราะเมื่อสำเร็จ เราจะได้รางวัลที่งดงาม บอกกับตัวเราเองว่า ให้เราลงมือทำจริงจังสักครั้งสิ และเมื่อสำเร็จแล้วเราจะได้รับผลตอบแทนที่ล้ำค่า

9. ใช้พลังที่เรามีอยู่อย่างฉลาดและมีปัญญา

เราเคยสังเกตตนเองบ้างไหมว่า ช่วงไหนในแต่ละวันที่เรามีพลังสูงสุด? (โดยทั่วไปแล้วมักเป็นตอนเช้าของวัน) ให้เรานำชิ้นงานที่เราผัดวันประกันพรุ่งมาทำใช่วงเวลาที่เรามีพลังสูงสุด ซึ่งมีโอกาสที่เราจะเริ่มต้นลงมือทำได้สูงหรือง่ายกว่าช่วงเวลาอื่น

สังเกตช่วงเวลาที่เรามีพลังสูงสุดในแต่ละวัน และใช้เวลานั้นในการทำในส่วนงานที่เราผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลาส่วนอื่น ๆ ในการทำส่วนงานที่ทำสำเร็จได้ง่ายกว่า การบริหารจัดการการใช้พลังให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของการมีพลังในการทำงานจะช่วยให้เราสามารถทำงานได้สำเร็จจำนวนมากกว่า

10. ประสบการณ์ที่ท่านเคยหลุดรอดเป็นไทจากการผัดวันประกันพรุ่งมีอะไรบ้างครับ?  

ขอช่วยแบ่งปันกันหน่อยได้ไหมครับ? เพื่อเราจะไม่ถูกอิทธิพลของการผัดวันประกันพรุ่งมาครอบงำและบงการชีวิตการงานของเราต่อไป

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น