18 พฤษภาคม 2563

“นิวนอร์มัล” ของคริสตจักรท้องถิ่น หลังโควิด 19

วิถีชีวิตและการทำพันธกิจปกติใหม่ของคริสตจักรท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร?

น่าสังเกตว่า ผู้นำในคริสตจักรแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ผู้นำคริสตจักรที่นั่งรอให้สถานการณ์ต่าง ๆ กลับคืนสู่สภาพปกติอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว เพื่อว่าเขาจะได้กลับไปทำในสิ่งที่คุ้นชิน ผู้นำกลุ่มนี้มักถามว่า “แล้วเราจะเปิดคริสตจักรอีกครั้งหนึ่งได้เมื่อใด?”

ผมไม่มีคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว แต่ที่แน่ ๆ ถ้ามันจะเกิดขึ้นก็คงต้องใช้เวลามากกว่าที่คิดแน่

แล้วเราจะกลับไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันที่คริสตจักรได้เมื่อไหร่?

ก่อนหน้านี้หลายคริสตจักรคิดว่า เมื่อคริสตจักรงดการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในคริสตจักร (การรักษาระยะห่างทางสังคม) ไปได้สัก 2 อาทิตย์ก็คิดว่า คริสตจักรน่าจะกลับไปนมัสการพระเจ้าร่วมกันที่อาคารคริสตจักร คิดว่าทุกสิ่งจะกลับคืนสู่สภาพปกติเดิม แต่แล้วเมื่อถึงสัปดาห์พระคริสต์คืนพระชนม์ เราก็ต้องจัดการนมัสการเฉลิมฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์แบบออนไลน์ มีเรื่องเล่าประสบการณ์มากมายของการนมัสการพระเจ้าในวันอีสเตอร์ออนไลน์ครั้งแรก

เราคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอีกนานกว่าที่คิด?

แต่ตอนนี้ผมชักจะเชื่อว่า คงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าที่เราจะกลับไปนมัสการพระเจ้าในอาคารโบสถ์ร่วมกันอย่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง บางคนเสนอว่าน่าจะเป็นประมาณเดือนพฤษภาคม แต่หลายท่านกลับเห็นว่าเร็วที่สุดน่าจะเป็นเดือนกรกฎาคม หลายคนมองว่าคริสตจักรไม่น่าจะรีบกลับไปนมัสการร่วมกันในตัวอาคารคริสตจักรจนกว่าจะมั่นใจว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด 19 จะสงบลง บางท่านคิดไปโน่นครับว่าน่าจะรอจนกว่าเรามีวัคซีนป้องกัน โควิด 19 ก่อนค่อยพิจารณาการกลับไปรวมตัวกันนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรอีกครั้งหนึ่ง

หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับผม และอาจจะหยุดอ่านข้อเขียนนี้ แต่ผมคิดอย่างนี้ครับ ผู้นำคริสตจักรควรที่จะวางแผนว่าคริสตจักรของเราจะต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และใช้การนมัสการพระเจ้าร่วมกันทางออนไลน์ไปจนถึงปลายปีนี้ครับ เมื่อผู้รู้เรื่องนี้ในประเทศของเราเห็นว่า การพบปะกันทางสังคมแบบหน้าต่อหน้าอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยแล้ว

และนั่น...ทำให้เราจำเป็นพูดถึงผู้นำคริสตจักรกลุ่มที่สอง

ผู้นำกลุ่มที่สองมิได้ให้ความสนใจว่า เมื่อไหร่คริสตจักรจะเปิดให้มีการนมัสการพระเจ้าร่วมกันในอาคารโบสถ์อย่างที่เคยทำมาในอดีต เพราะจากประการณ์ที่เขาได้รับในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผู้นำกลุ่มนี้รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะกลับมานมัสการร่วมกันในโบสถ์ได้... แต่ผู้นำกลุ่มนี้รู้ว่า เหตุการณ์นี้กำลังผลักดันให้คริสตจักรต้องพบกับการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คริสตจักรเคยปฏิบัติเป็นปกติจะไม่กลับมาเป็นอย่างเดิมอย่างที่เขาคุ้นชินอีกแล้ว คำถามที่เขาถามคือ “คริสตจักรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตปกติใหม่อย่างไร?”  

แล้วผู้นำกลุ่มนี้เตรียมพร้อมที่จะเริ่มก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เดี๋ยวนี้ พวกเขาจะไม่รีรอให้ประตูโบสถ์ของเขาเปิดก่อน

วิถีใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักรท้องถิ่น

ถ้าเช่นนั้น “วิถีปกติใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร” คืออะไรกันแน่? แล้วมีลักษณะเช่นไรบ้าง?
ผมขอเน้นการเปลี่ยนแปลง 7 ประการในชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด 19 ที่มีผลให้เกิด “วิถีปกติใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร”

1. เปลี่ยนจากระบบ “อนาล็อก” เป็น “ดิจิทัล”

การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เมื่อ วิกฤติโควิด 19 หมดไปแล้ว แต่การทำพันธกิจแบบดิจิทัลจะไม่หมดไปจากคริสตจักร

คริสตจักรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวทั้งชีวิตและการทำพันธกิจเข้าสู่การใช้ระบบดิจิทัล มิเพียงแต่การไลฟ์สด หรือ การสตรีมออนไลน์คำเทศนา และ การสอนพระคัมภีร์เท่านั้น แต่วิธีการทำพันธกิจ วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ในคริสตจักรจะเป็นแบบดิจิทัลมากขึ้น

2. เปลี่ยนจากการสอนไปเป็นการเสริมสร้าง

ที่ผ่านมา คริสตจักรมักเน้นเรื่องการสอน และใช้การสื่อสารแบบทางเดียวเสียส่วนมาก แทนที่จะเสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้กระทำ หรือ ดำเนินชีวิตในสิ่งที่สอนให้เป็นการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เน้นการฝึกหัดวินัยชีวิตทางจิตวิญญาณ และการดำเนินชีวิตประจำวันที่สำแดงถึงพันธกิจที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้แต่ละคนกระทำ

คริสตจักรจะต้องเปลี่ยนแปลงจาก “ผู้บริโภคเนื้อหาคำสอน” ไปเป็น การมีชีวิตที่จาริกไปบนเส้นทางชีวิตที่กระทำพันธกิจของพระเจ้าตามพระบัญชา และตามรูปแบบชีวิตเหมือนพระเยซูคริสต์

3. เปลี่ยนจากการมาร่วมชุมนุมกันสู่การเชื่อมสัมพันธ์กันเชิงลึก

ก่อนวิกฤติโควิด 19 ผู้คนในคริสตจักรมีเวลาค่อนข้างจำกัดที่จะทำอะไรร่วมกันในคริสตจักร คริสตจักรพยายามสร้างกิจกรรมมากมายเพื่อคาดหวังดึงสมาชิกให้เข้ามาร่วมในคริสตจักรมากขึ้น แต่เมื่อสมาชิกมีประสบการณ์ในวิกฤติที่เกิดขึ้นเริ่มเรียนรู้ถึงความสำคัญของมิตรภาพในชุมชนคริสตจักร และมีความรู้สึกว่าการที่ถูกโดดเดี่ยวคนเดียวเป็นการถูกแบ่งแยกและเป็นเหมือนถูกลงโทษ พระเจ้าทรงสร้างให้เราต้องการกันและกัน การที่เขาต้องรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้เขาตระหนักมากขึ้นว่า ไม่เป็นการดีเลยที่จะต้องอยู่โดดเดี่ยวตัวคนเดียว

4. เปลี่ยนจากความสนใจการทำพันธกิจระดับโลกสู่ระดับท้องถิ่น

ที่ผ่านมาเรามักเน้นการส่งมิชชั่น หรือ ส่งผู้คนไปเรียนรู้เรื่องมิชชั่นในประเทศอื่น เพราะมักคิดว่าอยากเชื่อมต่อคริสตจักรในระดับสากล แต่การทำเช่นนี้เป็นการสิ้นเปลืองเงินถวายหรือไม่? แทนที่จะใช้เงินถวายในการส่งทีมไปดูงานในคริสตจักรประเทศต่าง ๆ เราส่งเงินเหล่านั้นไปหนุนเสริมชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรที่จำเป็นต้องการไม่ดีกว่าหรือ? และพระเจ้าประสงค์ให้คริสตจักรของเราออกไปและเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชน เพื่อทำพันธกิจในชีวิตของผู้คนเหล่านั้น

อย่าให้เราเบี่ยงแบนหลีกเลี่ยงความใส่ใจในการทำพันธกิจในพื้นที่ท้องถิ่นชุมชนของเรา ที่ยากลำบากยิ่งกว่าการไปเรียนรู้พันธกิจในระดับสากล เพราะพันธกิจการเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นของเราเป็นความรับผิดชอบของคริสตจักรที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

5. ปรับเปลี่ยนจากการใช้จ่ายอย่างมากเกินไปเป็นการมีจิตใจที่เอื้ออาทร (ให้ด้วยใจกว้างขวาง)

จากวิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบทำให้จำนวนเงินที่ถวายลดลง ทำให้คริสตจักรต้องกลับมาพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือมากเกินตัว และคริสตจักรได้เรียนรู้ที่จะใช้งบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อทำพันธกิจที่เข้าถึงชีวิตของคนในชุมชนที่มีความจำเป็นต้องการ

6. ปรับเปลี่ยนการทำพันธกิจที่ซับซ้อนสู่ความเรียบง่าย

อย่างที่เรารู้แล้วว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด 19 หลายคริสตจักรได้ทำกิจกรรมมากมาย เราพบว่าสมาชิกส่วนหนึ่งที่มาโบสถ์จะมีงานยุ่งมาก มีงานที่ต้องทำหลายเรื่อง แต่เมื่อต้องรักษาระยะห่าง และ เก็บกักตัวเองที่บ้าน แล้วนมัสการร่วมกันผ่านการนมัสการระบบทางไกล ก็ได้เรียนรู้ว่า แท้จริงแล้วการที่ต้องทำอะไรมาก ๆ และยุ่งยาก ในคริสตจักรไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของตนเกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีการดำเนินชีวิตแบบพระคริสต์อะไรมากนักเลย แต่การที่มีเวลาสงบกับพระเจ้าและคนในครอบครัว ได้มีเวลาพิจารณาถึงชีวิตของตนเอง และสะท้อนคิดร่วมกัน เราก็พบว่า  ชีวิตแบบพระคริสต์กลับเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มิใช่ชีวิตที่ซับซ้อนสับสน

และเพราะการที่ผู้คนมาที่โบสถ์แล้วต้องทำโน่นทำนี่มากมายหลายอย่าง เหน็ดเหนื่อยกลับบ้านนี่เอง ที่ทำให้สมาชิกที่มาร่วมหลายคนหาทางหลบหลีกเลี่ยงออกไปจากคริสตจักรมิใช่หรือ?

7. ปรับเปลี่ยนจากคริสตจักรที่ “สมาชิกเป็นผู้ชม” ไปเป็นคริสตจักรที่ “สมาชิกมีส่วนร่วมขับเคลื่อนพันธกิจ”

สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวิกฤตินี้มานานแล้ว สิ่งที่ยังสร้างให้เกิดความกังวลคือ คริสตจักรอาจจะเปลี่ยนจากการนับจำนวนผู้มาร่วมในการนมัสการ มาเป็นการนับจำนวนผู้คนที่เข้ามาร่วมในการชมรายการนมัสการทางออนไลน์ หรือนับจำนวนรายการถ่ายทอดออนไลน์ในแต่ละสัปดาห์มีกี่ครั้งกี่รายการ ตัวเลขเหล่านี้มิใช่ตัวบ่งชี้ที่แท้จริงของความสำเร็จในชีวิตและการการทำพันธกิจคริสตจักร

การสร้างสาวกพระคริสต์ควรจะเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักร เราต้องการที่จะให้สมาชิกคริสตจักรแต่ละคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในพระกายของพระคริสต์และทำพันธกิจที่พระคริสต์มอบหมายอย่างเชื่อมประสานเป็นร่างกายเดียวกัน

วิถีใหม่ของชีวิตและการทำพันธกิจคริสตจักรควรปรับเปลี่ยนจากการนับจำนวนผู้เข้าร่วมในการนมัสการพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นการนับรายหัวที่มาโบสถ์ หรือ การนับจำนวนบุคคลที่เข้าชมรายการถ่ายทอดสดการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ ไปเป็นการที่เสริมสร้างสมาชิกแต่ละคนให้เป็นสาวกพระคริสต์ แล้วทำตามพระบัญชาของพระองค์ที่ให้เราร่วมในพระราชกิจที่พระองค์ทรงเริ่มต้นไว้นั้น

ที่กล่าวมานี้เป็น “วิถีใหม่ในชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่น” ที่ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ มิใช่รอเมื่อคริสตจักรเปิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้าเรารอให้ถึงวันที่เปิดโบสถ์อีกครั้งหนึ่งอาจจะสายเกินไป เพราะง่ายเหลือเกินที่สมาชิกคริสตจักรจะกลับไปทำในสิ่งที่ตนคุ้นชินที่ทำในอดีต หรือ “วิถีชีวิตและการทำพันธกิจอย่างเดิม ๆ” ในอดีต   และเราจะเสียโอกาสในสิ่งที่เราได้เรียนรู้ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมานั้น

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น