22 พฤษภาคม 2563

ในปี ค.ศ. 1918 เขาก็ปิดโบสถ์กันเพราะโรคระบาด!

นี่มิใช่ครั้งแรกของโลกที่คริสตจักรท้องถิ่นต้องงดการนมัสการในอาคารโบสถ์ เคยเกิดเหตุการณ์ในทำนองคล้าย ๆ กันกับวิกฤติโควิด 19 นี้เมื่อปี ค.ศ. 1918 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในอเมริกาและยุโรป

ทำไมถึงได้ชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน? ไวรัสตัวนี้มีต้นตอมาจากสัตว์ปีก โดยเชื่อว่า เริ่มต้นแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานชาวจีน แล้วได้กลายพันธุ์ที่อเมริกา แต่ในที่สุดได้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน จึงเรียกชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” การแพร่ระบาดครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งโลกถึงราว 50 ล้านคน

แต่ในเวลาเดียวกัน ไข้หวัดตัวนี้มิได้สร้างผลกระทบต่อด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เท่านั้น แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคริสตจักรที่ต้องงดการนมัสการร่วมกันในวันอาทิตย์ที่อาคารคริสตจักรด้วย

ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 7 ตุลาคม 1918 ผู้ว่าการรัฐ อาลาบามา Charles Henderson ได้มีคำสั่งให้ปิดคริสตจักร  โรงเรียน โรงภาพยนตร์ทุกแห่งเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสที่ได้คร่าชีวิตชาวอเมริกันประมาณ 675,000 คน

ในวิกฤตกาลการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918  

คริสตจักรท้องถิ่นในอเมริกาได้รับมือกับการแพร่ระบาดที่เลวร้ายนี้อย่างไร? แล้วปัจจุบันนี้เราได้เรียนรู้อะไรจากคริสตจักรอเมริกาในยุคนั้น?

เมื่อต้องปิดโบสถ์ เขาจัดการอย่างไรกับวันอาทิตย์?

ดูไปแล้วความคิดก็คล้าย ๆ กับคริสตจักรในปัจจุบัน...!?   

คริสตจักรในยุค 1918 ได้หาวิธีการรับมือกับสถานการณ์ “ปิดโบสถ์” ที่เกิดขึ้น เช่น บางคริสตจักรจัดการให้รวมกันนมัสการในที่โล่งแจ้ง หลายคริสตจักรได้จัดพิมพ์คำเทศนาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น บางคริสตจักรได้จัดพิมพ์คำเทศนาแล้วส่งไปถึงบ้านสมาชิกคริสตจักรแต่ละคน/ครอบครัวทาง “เมล์หอยทาก” (snail-mail ปัจจุบันฟังแล้วเราคงไม่เข้าใจกัน เช่น มีคริสตจักรหนึ่งใช้ลูกเสือที่ช่วยจัดส่งคำเทศนาไปถึงแต่ละบ้าน)

คริสตจักรในเวลานั้นได้ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในการสื่อสารและอภิบาลสมาชิกของตนอย่างดีที่สุดที่เขาจะสามารถทำได้

คริสตจักรยอมหยุดชั่วคราว

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการที่สมาชิกคริสตจักรไม่สามารถมาพบปะกันหน้าต่อหน้า พวกเขาก็ใช้เวลาที่มีอยู่ในการที่จะเรียนรู้ถึงสิ่งที่พระเจ้าเปิดเผย และหนุนเสริมเพื่อนสมาชิกที่จะทำเช่นนี้ด้วย เช่น ท่านศิษยาภิบาลคริสตจักรเมธิดิสท์ Pastor Fletcher Parrish จาก Eleventh Avenue Methodist Church ได้กล่าวว่า...

“การใคร่ครวญภาวนามีประโยชน์อย่างมากต่อจิตวิญญาณ แต่โลกแห่งความรีบเร่งในเวลานี้(ในยุคนั้น)เรามีเวลาที่จะไตร่ตรอง สะท้อนคิดที่จำกัด เรามักคิดว่าเราไม่มีเวลาที่จะคิดใคร่ครวญถึงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ หรือแม้แต่ที่จะมีเวลาจะนั่งสงบในบ้านที่จะครุ่นคิดไตร่ตรอง

แต่ตอนนี้พระเจ้าประทานโอกาส “ช่วงเวลาสะบาโต” ที่เราจะอยู่สงบ คริสตจักรของเราปิด งดกิจกรรมชั่วคราว เราไม่ไปทำงานในวันปกติ หรือแม้แต่งานในท้องทุ่ง เพราะเรากลัวว่าจะไปติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เราจึงมีเวลาที่นั่งสงบลง คิด ใคร่ครวญ และสะท้อนคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชีวิตของเรา...”

พวกเขาใช้โอกาสนั้นในการประเมินคุณค่าชีวิตใหม่

เมื่อชีวิตของพวกเขาต้องหยุดชั่วคราว เขาใช้เวลานั้นในการประเมินถึงคุณค่า/ความสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ศิษยาภิบาล S. O. Cox จากคริสตจักรเพรสไบทีเรียน Handley Memorial ได้แบ่งปันบางสิ่งบางอย่างที่เขาได้เรียนรู้ในคำเทศนาสำหรับสมาชิกในคริสตจักรของเขาว่า

“เราจำเป็นต้องใช้เวลาเก็บตัวในบ้านวันละหลาย ๆ ชั่วโมงในการพักผ่อนและความบันเทิง ในสถานการณ์นี้ช่วยให้เราระลึกได้ว่า สิ่งล้ำค่า ศักดิ์สิทธิ์ที่มีในครอบครัวนั้นคือสามัคคีธรรม หรือ มิตรภาพที่ดีที่สุด... และยิ่งถ้าเราใช้เวลานี้ในการอธิษฐาน การใคร่ครวญเราก็จะเปลี่ยนสิ่งที่เลวร้ายขณะนี้กลายเป็นพระพรได้”

พวกเขาปรับเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์

จากคำเทศนาด้วยวาจาปรับเปลี่ยนเป็นคำเทศนาที่จัดพิมพ์ นอกจากนั้นแล้ว อย่างคริสตจักร Calvary Episcopal ที่ Pittsburg ได้ดัดแปลงให้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว แล้วปรับใช้เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่มีให้ใช้ประโยชน์มากที่สุด คริสตจักรทำในสิ่งที่สำแดงออกถึงความเป็นคริสตจักรที่ตอบสนองพระกิตติคุณและความต้องการจำเป็นของโลกในเวลานั้น

พวกเขาโต้เถียงกัน

ในช่วงเวลาวิกฤติรุนแรง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า คริสตจักรควรจะตอบสนองและรับมืออย่างไรต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดสเปน คนบางกลุ่มต้องการให้คริสตจักร “เปิดโบสถ์ใหม่” อีกครั้งหนึ่งเร็วที่สุด หรือมีบ้างที่คิดว่า ไม่ควรจะปิดโบสถ์เลย ในขณะที่มีคนเห็นว่า คริสตจักรควรปฏิบัติตามคำสั่งข้อปฏิบัติของรัฐบาล แต่เมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรหันหน้ามาพูดจากันแบบเปิดใจว่า เราควรจะมีการนมัสการพบปะกันแบบหน้าต่อหน้าหรือไม่? อย่างไร?

นี่ก็คล้าย ๆ กับสถานการณ์ที่คริสตจักรของเราได้พบในวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ในอเมริกาหลายพันคริสตจักรในแคลิฟอร์เนีย ที่ประกาศว่า ได้วางแผนที่จะเปิดคริสตจักรใหม่อีกครั้งหนึ่งก่อนที่ฝ่ายรัฐจะมีแผนการนี้   พวกเขาเรียกร้องว่าการพบปะกันในคริสตจักรเป็นสิ่งที่จำเป็น และพวกเขาควรมีเสรีภาพที่จะพบปะกัน

การคิดการเชื่อเช่นนี้มิใช่สิ่งใหม่ ในปี 1918 ศิษยาภิบาล C. H. Watson ได้เขียนความคิดของเขาในแนวนี้ไว้ว่า “ผมคิดว่าเวลาที่เจ็บป่วย และ มีความยากลำบากเป็นเวลาที่เราจะต้องแสดงออกถึงความเชื่อของเราต่อพระเจ้ามิใช่หรือ? ในเวลาเช่นนี้แทนที่จะปิดโบสถ์ ควรจะเปิดโบสถ์ทุกวันมากกว่า เพื่อผู้คนจะสะดวกที่จะเข้ามาร่วมกันอธิษฐานต่อพระเจ้า ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ เพื่อที่พระองค์จะทรงช่วยขจัดเชื้อโรคร้ายนี้ออกไป...”

เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติที่ร้าย ๆ ไม่ใช่สิ่งง่ายที่เราจะรับมือ สำหรับหลายคนคงพบว่านี่คือวิกฤตครั้งใหญ่ที่พบในชีวิต

เราสามารถเรียนรู้จากอดีตที่ผ่านมา เราจะผ่านวิกฤตกาลนี้ไปได้ ในเวลาที่ดูเหมือนวิบากลำเค็ญ เราก็สามารถค้นพบด้านที่เราทำได้ดีเด่น เป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ และอุทิศตนที่จะเข้าถึงผู้คนที่ต้องการพระกิตติคุณของพระคริสต์มากกว่าในโอกาสใด ๆ มาก่อน

อ้างอิง

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น