03 พฤษภาคม 2563

สัญญาณที่บ่งชี้ถึง “คริสตจักรขาลง”

มีนักวิชาการเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของคริสตจักรได้กล่าวถึงว่า ชีวิตคริสตจักรเป็นกระบวนการเหมือนระฆังคว่ำ  กล่าวคือ มีกระบวนการในการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นลักษณะของคริสตจักร “ขาขึ้น” มีลักษณะหลัก ๆ คือ เป็นคริสตจักรที่มีนิมิตหรือวิสัยทัศน์ เป็นคริสตจักรที่เข้าไปถึงสังคมชุมชน และเป็นคริสตจักรที่เติบโตขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ และกระบวนการอีกด้านหนึ่งของระฆังคว่ำ ที่เป็นชีวิต “ขาลง” ของคริสตจักร ซึ่งมีลักษณะหลัก ๆ เช่น  การโหยหาถึงอดีต เกิดการลดน้อยถอยลงทั้งจำนวนสมาชิกและคุณภาพ และเกิดการแบ่งแยกจนถึงแตกแยก

Chuck Lawless อาจารย์พระคริสต์ธรรม สายวิชาคริสตจักรวิทยา และที่ปรึกษาทางด้านชีวิตและพันธกิจคริสตจักรเชิงปฏิบัติ ได้ประมวล “ลักษณะบ่งชี้” ถึงคริสตจักรที่กำลังเป็น “คริสตจักรขาลง” ไว้ดังนี้ 

1. ผู้นำไม่มีนิมิต หรือ วิสัยทัศน์ บ่อยครั้งที่ผู้นำหลัก และ ศิษยาภิบาลของคริสตจักร ได้สูญเสียนิมิต หรือ วิสัยทัศน์ และ กระบวนทัศน์ที่นำไปสู่อนาคตของคริสตจักร

2. ความขัดแย้งที่ถูกซุกไว้ใต้เสื่อ หรือ ความขัดแย้งที่ซ่อนเร้น อาจจะเป็นความขัดแย้งที่ไม่ได้ผุดขึ้นชัดเจนหรือร้อนแรง แต่เปลวไฟแห่งความแตกแยกกำลังค่อย ๆ ลุกขึ้นลามออกอย่างเงียบ ๆ

3. คริสตจักรเกิดอาการ “ถุงก้นรั่ว” มีคนออกไปจากคริสตจักรมากขึ้นและมากขึ้นกว่าคนใหม่ที่มาร่วม ในบางแห่งความต่างทั้งสองกลุ่มของคริสตจักรมีช่องว่างถ่างห่างแตกต่างกันอยู่สูง

4. มีผู้กลับใจใหม่เพียงน้อยนิด คริสตจักรในลักษณะนี้มักเป็นคริสตจักรที่ไม่มีการประกาศพระกิตติคุณ หรือ มีเพียงน้อยนิดเท่านั้น

5. แขกที่เคยมาคริสตจักรไม่กลับมาซ้ำอีก คนที่เคยมาร่วมในคริสตจักรเป็นครั้งแรกหายหน้าหายตาและไม่เคยกลับมาร่วมอีกเลย

6. สภาวะทางการเงินคริสตจักรซบเซา ถ้าไม่ลดลงก็มีการถวายคงที่ อาจจะเกิดจากการที่สมาชิกดั้งเดิมของคริสตจักร “ลอยตัว” ในการถวาย ไม่มีความรู้สึกผูกพันด้านการถวายที่มีงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

7. ความสัมพันธ์ของผู้นำคริสตจักรมีความแตกร้าว เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้นำคริสตจักรอย่างต่อเนื่อง และนี่คืออาการผิดปกติอย่างมากของชีวิตคริสตจักรที่ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียก

8. การทำพันธกิจในคริสตจักรรู้สึกไม่สนุก ทั้งนี้มักเกิดจากการที่พยายามรักษาผู้รับใช้จำนวนเดิมในขณะที่คริสตจักรมีขนาดเล็กลง งบประมาณส่วนใหญ่หมดไปกับหมวดค่าจ้าง

9. พูดคุยกันแต่เรื่องที่ผ่านมามากกว่า “เรื่องของวันนี้” และ “เรื่องของอนาคต” มักจะได้ยินประโยคที่ว่า “ฉันจำได้ว่า ในสมัยนั้น...” บ่อยกว่าประโยคที่ว่า “ฉันตื่นเต้นกับสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำในตอนนี้...”  

10. ผู้นำ หรือ ผู้อภิบาลที่อยู่มาอย่างยาวนานเกาะยึดตำแหน่ง หรือ ฐานะนั้นอย่างเหนียวแน่น แม้แต่สมาชิกที่สัตย์ซื่อ แข็งแรงสุดเริ่มคิดถึงการที่จะออกไปจากคริสตจักร และคริสตจักรนี้กำลังอยู่ในด้าน “ขาลง” มิใช่หรือ?

11. มีแต่สมาชิกวัยเดียวกัน (ส่วนมากเป็นวัยสูงอายุ หรือ กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ) เพิ่มมากขึ้น ครอบครัวที่มีอายุที่น้อยจะออกไปจากคริสตจักร  เพราะหมดความอดทนรอการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น

12. สิ้นหวังในการเปลี่ยนแปลง คนที่ยังเหลืออยู่ในคริสตจักรแห่งนี้ความหวังเริ่มหดหาย แต่เขาเองก็ไม่เต็มใจที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคริสตจักร

มีลักษณะบ่งชี้ถึงคริสตจักรขาลงประการอื่น ๆ อีกไหม?

แล้วท่านคิดว่า คริสตจักรควรจะมีการรับมือและจัดการอย่างไรกับ “ภาวะคริสตจักรขาลงนี้”

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น