02 มิถุนายน 2563

เราอาจจะถูก “กักกัน” (Quarantine) จากคนอื่น

แต่ไม่มีใคร “กักกัน”พระกิตติคุณได้?  

อย่าสูญเสียโอกาสช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 อย่างน่ากลัว ในการแผ่อิทธิพลของพระกิตติคุณเข้าในชีวิตผู้คน-สังคมชุมชนรอบข้างเรา

คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยว่า ชีวิตที่ผ่านมาไม่มีช่วงเวลาใดที่มีโอกาสในการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้อย่างน่าอัศจรรย์เท่ากับวิกฤติชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานี้ เราพบว่าช่วงเวลาวิกฤติชีวิตเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนแสวงหาความช่วยเหลือ แสวงหาที่พึ่ง แสวงหาที่ยึดที่เกาะในชีวิตของเขา และเราพบว่า ผู้คนเหล่านี้ยอมรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นสรณะ เป็นรากฐานในชีวิตของพวกเขา

ขอตั้งข้อสังเกตว่า น่าอัศจรรย์ประหลาดใจแค่ไหน ที่ผู้คนต้อง “รักษาระยะห่างทั้งทางกาย และ สังคม”  และรวมไปถึงคนที่ต้อง “เก็บกักตนเองอยู่ในบ้านหรือในห้อง” แต่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กลับแผ่อิทธิพลเข้าในชีวิตของผู้คนเหล่านี้ได้อย่างมากกว่าโอกาสอื่นใดที่ผ่านมาอย่างน่าแปลกใจ?  

แต่ที่แน่ชัดต้องบอกก่อนว่า นี่มิใช่สิ่งดี (หรือ ความดี) ที่เกิดจากเจ้าเชื้อโควิด  ละนี่ก็มิใช่ “โอกาสดี” ที่เจ้าเชื้อร้ายโควิด 19 หยิบยื่นให้เรา แต่นี่เป็นพระราชกิจของพระเยซูคริสต์ที่ทรงชี้นำและกระทำผ่านชีวิตประจำวันในช่วงวิกฤตินี้ของเราท่ามกลางการถล่มทลายทำลายชีวิตของผู้คนโดยเจ้าเชื้อวายร้ายตัวนี้

เปาโลมีประสบการณ์กับสถานการณ์คล้ายที่เราประสบในเวลานี้มาก่อน เมื่อเปาโลถูกคุมตัวไปถึงโรม ท่านถูกจำจองในบ้านเช่าที่มีทหารคอยคุมตัวตลอดเวลา (กิจการ 28:16) เพื่อรอเวลาที่จะถูกส่งตัวเข้าเฝ้ากษัตริย์เนโรห์ แต่เปาโลก็ได้พบแนวทางที่ทำให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แพร่ออกไป ใน ฟีลิปปี 1:12-13 เขียนไว้ว่า

 “[12] พี่น้องทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าอยากให้ท่านทราบว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดกับข้าพเจ้ากลับทำให้ข่าวประเสริฐแพร่ออกไป  [13]จนทหารทั้งปวงที่รักษาวัง (หรือคนทั้งวัง) และคนอื่น ๆ ทุกคนประจักษ์ทั่วกันว่าข้าพเจ้าถูกจองจำเพื่อพระคริสต์” (ฟีลิปปี 1:12-13 อมธ.) ตามข้อมูลในประวัติศาสตร์พบว่า ทหารหลายคนที่คอยควบคุมดูแลเปาโลได้กลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์

มีคำถามว่า แล้วในวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในขณะนี้  พระกิตติคุณจะเข้าถึงชีวิตของผู้คนในชุมชนได้อย่างไร?

มีอยู่ 3 ประการที่คริสตชนจะต้องทำร่วมกันในพระราชกิจของพระเจ้า ถ้าต้องการให้พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์แผ่อิทธิพลเข้าไปในชีวิตจิตใจของผู้คนที่ถูกครอบงำด้วยภัยร้ายจากผลกระทบของโควิด 19 คริสตชนต้อง  อธิษฐาน  ใส่ใจเพื่อนบ้าน  แบ่งปันทุ่มเทชีวิต

อธิษฐาน

การอธิษฐานคือเคล็ดลับความสำเร็จของเปาโลในการประกาศพระกิตติคุณ เปาโลอธิษฐานเพื่อผู้คนอย่างไม่ย่อท้อหยุดหย่อนทั้งชีวิต เพื่อให้คนเหล่านั้นได้รับความรอด  

“[1] พี่น้องทั้งหลาย ความปรารถนาในใจและคำอธิษฐานของข้าพเจ้าต่อพระเจ้าเพื่อชนชาติอิสราเอลคือ ขอให้เขาทั้งหลายได้รับความรอด” (โรม 10:1 อมธ.) และเราพบว่าพระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของเปาโลเสมอ

แล้วเราในสถานการณ์เช่นนี้เราจะทำได้อย่างไร?

ในสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 คริสตชนแต่ละคนสามารถทำได้ด้วยการเขียนชื่อของคนที่ยังไม่ได้เชื่อในพระเยซูคริสต์ ที่ตนรู้จัก และมีความสัมพันธ์สัก 2-3 ชื่อ แล้วอธิษฐานเผื่อเขาทุกวันเป็นประจำให้เขาได้รับการสัมผัสและรู้จักกับพระคริสต์ในที่สุด

การใส่ใจเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

เปาโลใส่ใจในชีวิตของผู้คนอย่างจริงใจด้วยความรักเมตตาและทุ่มเททั้งชีวิต เปาโลเขียนไว้ว่า “[1] ข้าพเจ้าพูดความจริงในพระคริสต์ ข้าพเจ้าไม่ได้กำลังมุสา จิตสำนึกของข้าพเจ้ายืนยันโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่า [2] ข้าพเจ้าทุกข์โศกยิ่งนักและปวดร้าวใจไม่หยุดหย่อน [3] เพราะข้าพเจ้าปรารถนาว่าถ้าเป็นไปได้ให้ข้าพเจ้าเองถูกสาปแช่งและถูกตัดขาดจากพระคริสต์เพื่อพี่น้องของข้าพเจ้าผู้เป็นคนเชื้อชาติเดียวกับข้าพเจ้า” (โรม 9:1-3 อมธ.)

เปาโลเป็นคนที่ใส่ใจอย่างลึกซึ้งในชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ยากในด้านต่าง ๆ แล้วท่านจะหาทางที่จะช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับคำตอบในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องการเสมอ เปาโลเป็นผู้ที่ใส่ใจดูแลคนที่ต่ำต้อยด้อยค่าในสังคม “[10] เขาทั้งสาม (ยากอบ เปโตร และ ยอห์น) ขอแต่เพียงให้เราคิดถึงคนจนเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ากระตือรือร้นที่จะทำอยู่แล้ว” (กาลาเทีย 2:10 อมธ.) นี่เป็นคำกล่าวในจดหมายที่เปาโลเขียนถึงคริสตจักรในเมืองกาลาเทีย

จำนวนผู้คนมากมายในสังคมชุมชนขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19  ทั้งด้านสุขภาพ ความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ  การงานอาชีพ และความมั่นคงในชีวิต หน้าที่ของคริสต์ชนคือการที่เราจะใส่ใจทั้งด้านร่างกายสุขภาพ อาหารความอยู่รอดในแต่ละวัน ทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการเพื่อน ของทั้งเพื่อนบ้านข้างเคียง เพื่อนร่วมงาน ที่คริสตชนจะสำแดงความรักที่เสียสละแบบพระคริสต์ที่เป็นรูปธรรม ใส่ใจถามถึงความรู้สึกและอารมณ์ และมีอะไรบ้างไหมที่จำเป็นต้องการในขณะนี้ที่เราสามารถแบ่งปันได้ และนี่คือการที่เราเอาใจใส่ด้วยจริงใจอย่างแท้จริง

การสื่อสารแบ่งปันพระกิตติคุณ

ให้เรากล้าที่จะสื่อสาร แบ่งปันพระกิตติคุณด้วยวาจา และดำเนินแบบอย่างชีวิตที่เป็นรูปธรรม สำหรับเปาโลไม่ละอายที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ด้วยคำพูดวาจาของตน “[16] ข้าพเจ้าไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด พวกยิวก่อน แล้วพวกกรีกด้วย” (โรม 1:16 อมธ.) คริสตชนปัจจุบันก็ไม่ละอายในการพูดถึงข่าวประเสริฐ  เพราะข่าวประเสริฐมิใช่วาทศิลป์  หรือการใช้เหตุผลตรรกะโต้เถียง แต่ข่าวประเสริฐเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าที่ทำงานในชีวิตของผู้คนต่าง ๆ

คริสตจักรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างให้สมาชิกแต่ละคนที่จะกล้า รู้จัก และสามารถที่จะแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คริสตจักรต้องเสริมสร้างตั้งแต่วันแรกที่คน ๆ นั้นตัดสินใจรับเชื่อในพระเยซูคริสต์ จากวิกฤติครั้งนี้ชี้ชัดว่า นี่คือสิ่งที่คริสตจักรต้องเสริมสร้างสมาชิกทุกคนของตนในการประกาศแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตาม ศิษยาภิบาล และ ผู้นำคริสตจักรอาจจะเสริมสร้างสมาชิกแบบตัวต่อตัวในการประกาศสื่อสารพระกิตติคุณในสถานการณ์จริงในขณะนี้ได้ด้วย

ให้เราตระหนักชัดว่า ในช่วงเวลาวิกฤติชีวิต ผู้คนไขว่คว้า ยึดหาที่มั่นในชีวิต เป็นช่วงเวลาที่คริสตชนสามารถเข้าถึง แบ่งปัน และหนุนเสริมจิตวิญญาณของผู้คนรอบข้างในสังคมชุมชน เป็นโอกาสที่จะประกาศแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้เป็นคำตอบชีวิตของเพื่อนบ้านแต่ละคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์

อย่าปล่อยให้ “โอกาสแห่งการทำพระราชกิจของพระคริสต์” ผ่านเลยไป

อย่าให้การกักเก็บตัวเองของเรากลายเป็นคนที่ “กักเก็บพระกิตติคุณไว้ในตนเองเท่านั้น” ในเวลาที่พระคริสต์ชี้นำ และ ประสงค์ที่ต้องการทำพระราชกิจร่วมกับเรา

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น