09 มีนาคม 2555

แล้วคริสตจักรเป็นอะไรกันแน่?: เมื่อคริสเตียนทะเลาะและขัดแย้งกัน

จากการที่เราได้ร่วมกันค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “คริสตจักรเป็นของใครกันแน่?” เราได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากพระธรรม 1 โครินธ์ว่า ชุมชนคริสตจักรเป็นของพระเจ้า ชุมชนคริสตจักรเป็นชุมชนที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งสร้างขึ้นและพระองค์ทรงเป็นเจ้าของ เมื่อเราทราบความหมายของชุมชนคริสตจักรเช่นนี้ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราตกในภาวะความขัดแย้งโต้เถียงในคริสตจักรหรือกับคริสเตียนคนอื่นๆ เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งแรกที่เราพึงกระทำคือ เราต้องแสวงหาพระประสงค์ของพระเจ้า และ น้ำพระทัยของพระองค์ที่มีต่อชีวิตชุมชนคริสตจักรในสถานการณ์นั้น

ครั้งนี้ให้เราร่วมกันแสวงหาคำตอบต่อคำถามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดูจะเป็นคำถามใหญ่คือ “แล้วคริสตจักรคืออะไรกันแน่?” อะไรคือความเป็นคริสตจักรของพระเจ้า?

ความเข้าใจพื้นฐานที่สุด ชุมชนคริสตจักรคือการที่ผู้คนรวมตัวกันแล้วเป็นชุมชนที่เป็นของพระเจ้าผ่านทางความเชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ไม่ว่าเวลาใดหรือเมื่อใดก็ตามที่คริสเตียนมาร่วมกันในพระคริสต์ ชุมนุมชนนั้นเป็นคริสตจักรของพระเจ้า แต่นี่เป็นเพียงขั้นการเริ่มต้น ใน 1โครินธ์ บทที่ 3 เปาโลกล่าวถึง “คริสตจักร” ด้วยภาษาภาพเด่นชัด สะดุดตา และ ใช้ภาษาที่ชวนให้ประหลาดใจ

“ท่านทั้งหลายรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า พวกท่านเป็นวิหารของพระเจ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ในพวกท่าน? ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น เพราะวิหารของพระเจ้าเป็นที่บริสุทธิ์ และพวกท่านเป็นวิหารนั้น” (3:16-17)

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่ออ่านพระธรรมตอนนี้ผมเองมักเข้าใจว่า พระคัมภีร์ตอนนี้ (3:16-17) มุ่งกล่าวถึงคริสเตียนแต่ละคนเป็นรายบุคคล แต่ถ้าเราพิจารณาพระธรรม 1โครินธ์ บทที่ 6 ที่กล่าวถึงร่างกายของคริสเตียนแต่ละคนว่าเป็นวิหารสำหรับพระวิญญาณของพระเจ้าที่ว่า

“ท่านรู้แล้วไม่ใช่หรือว่า ร่างกายของพวกท่านเป็นวิหารของพระวิญญาณบริสุทธิ์ผู้สถิตในท่าน ผู้ซึ่งพวกท่านได้รับจากพระเจ้า และท่านทั้งหลายไม่ใช่เจ้าของตัวท่านเอง?” (6:19)

พระธรรม 1โครินธ์ 3:9 กล่าวชัดเจนว่า เมื่อเปาโลกล่าวถึง “วิหารของพระเจ้า” ที่ไม่ได้หมายถึง คริสเตียนผู้เชื่อแต่ละตัวบุคคล ในที่นี้ใช้ภาษาภาพว่า ชุมชนคริสตจักรเป็น “ไร่นา” และเป็น “ตึก” ของพระเจ้า และเปาโลยังใช้ภาพการสร้างตึกของพระเจ้าเพื่ออธิบายชุมชนคริสตจักรว่า ในการก่อตั้งสร้างคริสตจักรนั้น มีหลายคนที่มีส่วนร่วมในการสร้าง(มิใช่คนเดียว) ท่านกล่าวว่า ท่านอาจจะเป็นคนที่วางรากฐานชุมชนคริสตจักรนั้นๆ ในฐานะเป็นเหมือนช่างผู้ชำนาญ แต่ก็จะมีคนอื่นๆ เข้ามาสานงานการสร้าง “ตึกของพระเจ้า” ต่อจากท่าน ที่สำคัญคือการสร้างคริสตจักรต่อจากท่านนั้นแต่ละท่านต้องคำนึกถึงรากฐานของคริสตจักร และ ประสิทธิภาพในการสร้างต่อคริสตจักรนั้น (3:10-15)

จากนั้น เมื่อเราอ่านใน 3:16 เราเห็นทันทีว่า “วิหารของพระเจ้า” เปาโลกล่าวถึงนั้นมิได้หมายถึงคริสเตียนผู้เชื่อแต่ละตัวบุคคล แต่เป็นชุมนุมชนของผู้เชื่อศรัทธาในพระเยซูคริสต์ที่มาร่วมกัน ในพระคัมภีร์ภาษาไทยใช้คำว่า “พวกท่าน” (ซึ่งแปลตามภาษากรีกที่คำนี้เป็นพหูพจน์) เป็นวิหารของพระเจ้า และเป็นที่สถิตของพระวิญญาณ องค์พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตใน(ท่ามกลาง) ชุมนุมชนของผู้เชื่อเหล่านั้น

ใน 1โครินธ์ 3:17 ได้ชี้ชัดถึงความหมายของ “วิหารของพระเจ้า” ที่หมายถึง ชุมนุนมชนของผู้เชื่อ ที่เตือนผู้เชื่อแต่ละคนระวังไม่กลายเป็นผู้ทำลายวิหาร “ชุมนุมชนคริสตจักร ” ของพระเจ้า ในพระธรรม 1โครินธ์ 3 บทแรก มิได้กล่าวถึงเรื่องผู้เชื่อหรือคริสเตียนเป็นรายบุคคล แต่กำลังพูดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดการแตกแยกขัดแย้งในชุมนุมชนคริสตจักรโครินธ์ เปาโลได้กล่าวว่า ถ้าใคร “ทำลายวิหารของพระเจ้า” (หรือถ้าใครทำลายชุมนุมชนผู้เชื่อของพระเจ้า) ท่านเน้นว่า “วิหารของพระเจ้า” คือที่ชุมนุมชนผู้เชื่อของพระเจ้ามิได้หมายถึงผู้แต่ละคน และเปาโลเห็นว่าการแตกแยกขัดแย้งในคริสตจักรเป็นกระบวนการหนึ่งในการบ่อนทำลาย “วิหารของพระเจ้า”

ส่วนสำคัญที่ทำให้คริสตจักรเป็นที่พิเศษที่พระวิญญาณของพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย คือเมื่อผู้เชื่อในพระองค์เข้ามาร่วมกัน และพระเจ้าสถิตกับชุมนุมชนพวกเขาทางพระวิญญาณของพระองค์ ฤทธิ์เดชและพระกำลังของพระองค์มีพร้อมสำหรับชุมนุมชนคริสตจักร พร้อมที่จะทรงเสริมหนุนเพิ่มพลังให้คริสตจักรเข้มแข็งขึ้น ซึ่งเปาโลได้กล่าวในรายละเอียดในบทที่ 12-14

จากความจริงและเป็นจุดยืนจุดเชื่อที่ว่า ชุมนุมชนของผู้เชื่อในคริสตจักรเป็นวิหารของพระเจ้า เป็นสิ่งที่เตือนจิตใจและจิตสำนึกของเราว่า การกระทำใดๆ ในชุมชนคริสตจักรจะต้องคิดและกระทำด้วยความยำเกรงในพระเจ้า คำนึงถึงน้ำพระทัยที่พระเจ้าทรงรักเมตตาและเอาใจใส่ต่อชุมนุมชนคริสตจักรของพระองค์ เปาโลกล่าวต่อไปว่า “ถ้าใครทำลายวิหารของพระเจ้า พระเจ้าจะทรงทำลายคนนั้น...” (3:17) ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นที่จะถกเถียงกล่าวร้าย หรือ การสร้างความแตกแยกขัดแย้งกันในชุมชนคริสตจักร หรือ ในกลุ่มคริสเตียน เราแต่ละคนต้องตระหนักชัดว่าตนกำลังทำอะไรอยู่? และควรจะทำอย่างไรในฐานะคริสเตียนที่เป็นส่วนหนึ่งใน“วิหาร”ชุมนุมชนผู้เชื่อในคริสตจักรของพระเจ้า

จากประสบการณ์ของผมได้พบเห็นผู้นำคริสตจักรที่ยอมเสียสละตนเอง ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน ชื่อเสียงเกียรติยศ และศักดิ์ศรีส่วนตัวเพื่อชุมชนผู้เชื่อของพระเจ้า หรือ สถาบันหน่วยงานของพระองค์ เพื่อนของผมท่านหนึ่งท่านเป็นผู้นำผู้บริหารในสถาบันคริสเตียนแห่งหนึ่งที่เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง เรียกว่ารู้จักกันเกือบทั่วโลก แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพวกหนึ่งในสถาบันแห่งนั้นไม่ชอบวิธีการกระทำของท่าน และพยายามหาทางบีบให้ท่านหลุดออกจากการเป็นผู้บริหาร ผู้บริหารท่านนี้ได้พิจารณาสถานการณ์รอบด้านท่านตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนั้นเพื่อรักษาสถาบันของพระเจ้าไว้ แทนที่จะคิดเอาแพ้เอาชนะ แทนที่จะใช้การต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าใครผิดใครถูก และท่านเห็นแล้วว่าถ้าท่านทำการสู้เช่นนั้นมีแต่ความย่อยยับอับปางจะเกิดขึ้นกับสถาบันของพระเจ้า ท่านกลับมีมุมมองว่า อาชีพของท่าน รายได้ของท่าน ชื่อเสียงเกียรติยศและศักดิ์ศรีของท่าน มิได้มีความสำคัญเท่ากับความรักสัตย์ซื่อที่ท่านมีต่อพระเจ้า และสถาบันของพระองค์ เขาจึงตัดสินใจลาออก!

ในที่นี้ผมไม่ได้หมายความว่า ในทุกความขัดแย้ง ศิษยาภิบาล ผู้นำคริสตจักร หรือผู้บริหารสถาบันคริสเตียนต้องจบลงด้วยการลาออกจากตำแหน่งเสมอไป แต่ผมหมายความว่าเราทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเราตกอยู่ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งและแตกแยก เราต้องตระหนักชัดเจนว่า นอกจากคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียน ที่เป็นของพระเจ้าแล้ว แต่ในคริสตจักร หรือ สถาบันคริสเตียนแห่งนั้นพระเจ้าสถิตอยู่ด้วย เป็นเฉกเช่นวิหารที่เป็นที่สถิตของพระเจ้า เป็นที่สถิตอยู่ของพระวิญญาณของพระองค์ ด้วยความสำนึกและความคิดเช่นนี้ เราจะกระทำทุกสิ่งด้วยสุดใจสุดจิตและสุดกำลังความคิดของเราเพื่อให้เกิดการถวายเกียรติแด่พระเจ้า และในเวลาเดียวกันเพื่อปกป้องคริสตจักร และ สถาบันของพระเจ้า แม้เราจะต้องสละผลประโยชน์ และ สละตนเองก็ตาม

ดังนั้น เมื่อเราตกอยู่ท่ามกลางภาวะความขัดแย้งแตกแยก ให้เราก้าวถอยหลังห่างจากประเด็นที่กำลังเผชิญหน้าให้ห่างพอประมาณ เพื่อทบทวนความตระหนัก ระลึกถึง และสะท้อนคิดว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้เชื่อคนหนึ่งในชุมนุมชนของพระเจ้า เราควรเกี่ยวข้องจัดการกับความขัดแย้งดังกล่าวอย่างไร เรายังมองเห็นว่า ชุมชนคริสตจักร หรือ ชุมชนสถาบันคริสเตียนที่เราทำที่เราอยู่เป็นที่สถิตของพระเจ้าและพระวิญญาณของพระองค์หรือไม่? เราได้ทำทุกหนทางที่จะปกป้องและเอาใจใส่ต่อชุมนุมชนคริสตจักร และ ชุมชนสถาบันคริสเตียนที่เราทำงานอยู่ ด้วยความสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าหรือไม่?

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย สันทราย เชียงใหม่
081-289-4499

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น