21 เมษายน 2563

วิกฤติ...ชีวิตและพันธกิจคริสตจักร หลังโควิด 19

คำถามหลังโควิด 19 ที่เราต้องช่วยกันตอบ 

จากประสบการณ์ช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด 19 บนโลกใบนี้ ได้สร้างผลกระทบต่อทุกมิติของชีวิต รวมถึงชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในประเทศไทยด้วย

ในด้านชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่น ความรู้สึกของผู้นำและสมาชิกคริสตจักรต่อผลกระทบดังกล่าวมักมุ่งมองเน้นไปทางการไม่สามารถที่จะพบปะชุมชนกันในการนมัสการพระเจ้าร่วมกันทางกายภาพ เพราะการประกาศ พ.ร.ก. ภาวะฉุกเฉิน คริสตจักรท้องถิ่นได้เรียนรู้เข้าใจชีวิตและพันธกิจคริสต์ที่แท้จริงหรือไม่จากวิกฤตินี้เรียนรู้ว่าอะไร? แล้วเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นใหม่อะไร หรือไม่? เป็นประการแรก  

ประการที่สอง เริ่มเกิดความวิตกกังวลถึงเงินถวายที่ลดน้อยลงในหลายคริสตจักร เกรงว่าจะกระทบต่อรายจ่ายประจำของคริสตจักร ในวิกฤติที่ผ่านมาคริสตจักรของท่านได้เรียนรู้อะไรบ้าง? และท่านเห็นว่า คริสตจักรหลังวิกฤตินี้ควรมีมุมมอง และ ทำอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องการเงิน และ ปัจจัยต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนชีวิตและพันธกิจคริสตจักร?

ประการที่สาม มีประเด็นคำถามที่แสวงหาคำตอบคือ แล้วคริสตจักรของเราจะยังคงใช้เครื่องมือสื่อออนไลน์ในการนมัสการพระเจ้าต่อไปหรือไม่ นานแค่ไหน? เพราะอะไร? มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง? และจะทำอย่างไรต่อไป และถ้าใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในคริสตจักรหรือไม่? แล้วคริสตจักรจะรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรหลังโควิด 19?

ประการที่สี่ แล้วพันธกิจการเสริมสร้างชีวิตสาวกพระคริสต์จะได้รับผลกระทบหรือไม่? แล้วพันธกิจการสร้างคุณภาพชีวิตสมาชิกด้านอื่น ๆ ล่ะ เช่น รวีฯ อนุชน สตรี บ้านและครอบครัวคริสเตียน การประกาศพระกิตติคุณ การเยี่ยมเยียน การให้การปรึกษาแก่สมาชิก การเข้าถึงชีวิตชุมชนและ ฯลฯ จะทำอย่างไรหลังโควิด 19?

ประการที่ห้า บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของศิษยาภิบาล ผู้ปกครองคริสตจักร  มัคนายก และกรรมการต่าง ๆ ในคริสตจักรท้องถิ่นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่? อย่างไร? และจะเกิดผลกระทบทั้งทางบวกและลบอย่างไรบ้าง?

ประการที่หก แล้วเราจะมีตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตคริสตจักร การทำพันธกิจ อะไรบ้าง? แล้วจะใช้วัดอย่างไร? ทำไมถึงกำหนดตัวชี้วัดเช่นนั้น?

ประการที่เจ็ด อะไรคือสถานการณ์ปกติใหม่ (Church new normal) ของชีวิตและการทำพันธกิจของคริสตจักรท้องถิ่นในประเทศไทย? แล้วเราจะรับมืออย่างไร? ใครบ้างที่จะต้องการมามีส่วนร่วมในการหนุนเสริมการรับมือ "สถานการณ์ใหม่" นี้ด้วยกัน? และการตอบสนอง "สถานการณ์ใหม่" ดังกล่าวสอดคล้องกับความเชื่อในพระคัมภีร์ของเราหรือไม่ อย่างไร?

ประการที่แปด ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดกับคริสตจักรในเมืองใหญ่และชานเมืองแน่ แล้วคริสตจักรในชนบท และคริสตจักรบนพื้นที่สูง จะแตกต่าง และ เหมือนกันอย่างไรบ้างหรือไม่? และคริสตจักรท้องถิ่นจะรับมืออย่างไรในแต่ละสถานการณ์ดังกล่าว?

ประการที่เก้า หลังโควิด 19 ยังจะคาดหวังเงินช่วยเหลือจาก "ส่วนกลาง" หรือจริง ๆ คือผลกำไรจากสถาบัน การศึกษา และ การแพทย์และพยาบาล อย่างที่เคยพึ่งพิงอยู่หรือไม่? อย่างไร? ทำไม?

ที่จะต้องพิจารณาในประเด็นนี้เพราะที่ผ่านมางบประมาณ   "ก้อนโต"   มาจากผลกำไรประจำปีของสถาบันต่าง ๆ (ในกรณีของสภาคริสตจักรในประเทศไทย) และเมื่อสถาบันต่าง ๆ ที่มีผลกำไรที่จำกัดและเริ่มลดน้อยถอยลง  

ประจวบกับการได้รับผลกระทบอย่างแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ และ การกระหน่ำซ้ำเติมของวิกฤติโควิด 19 คำถามที่ต้องถามคือ มีผลกระทบต่อรายได้ของสถาบันเหล่านี้มากน้อย อย่างไรบ้าง? และในปีงบประมาณใหม่นี้ กำลังเงินที่สถาบันเหล่านี้จะหนุนเสริมคริสตจักรท้องถิ่น และ การบริหารส่วนกลางของสภาฯจะเกิดความจำกัดและกระทบกระเทือนอย่างแรง แล้วคริสตจักรภาค และ คริสตจักรท้องถิ่นจะรับมือกับวิกฤติการเงินนี้อย่างไร? (กรุณาอย่าโยนความรับผิดชอบไปที่ผู้บริหารสภาคริสตจักรฯ และ ผู้บริหารสถาบัน นี่เป็นความรับผิดชอบเต็ม ๆ ของคริสตจักรท้องถิ่นร่วมกัน)

ประการที่สิบ หลังโควิด 19 สถานการณ์ปกติใหม่ "Church new normal" ที่เราจะพบด้วยกันคือ วิกฤติใหม่ของเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประการที่เก้า คำถามคือ สถาบันเหล่านี้และผู้บริหารสภาคริสตจักรฯ จะมีกระบวนทัศน์การรับมืออย่างไร? อะไรคือเป้าหมายของการรับมือครั้งนี้? และจะมีวิธีการขั้นตอนในการรับมืออย่างไร?

คริสตจักรท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการรับมือ วิกฤติใหม่หลังโควิด 19 หรือไม่อย่างไร? และในเวลาเดียวกันคงต้องถามว่า ทางผู้บริหารสถาบันเห็นว่าคริสตจักรมีศักยภาพเช่นไรหรือไม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤตินี้ของสถาบัน?  

ประการที่สิบเอ็ด วิกฤติหลังโควิด 19 ซึ่งเป็น "สถานการณ์ปกติใหม่" ของเราจะช่วยให้คริสตจักรท้องถิ่นของเราพบกระบวนทัศน์ใหม่ในการมีชีวิตและทำพันธกิจในรูปแบบใหม่ ในกระบวนขับเคลื่อนใหม่หรือไม่ อย่างไร? ทำไมจะต้องมีกระบวนขับเคลื่อนใหม่ดังกล่าว? และใครคือผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนกระบวนการชีวิตและพันธกิจคริสตจักรท้องถิ่นที่ว่านี้?

ประการที่สิบสอง เป็นคำถามแรกที่เราจะต้องถามตนเองคือ เราได้เห็นพระหัตถ์ของพระเจ้าในวิกฤติโควิด 19  หรือไม่? อย่างไร? และเราเชื่อว่า พระเจ้ากำลังกระทำพระราชกิจของพระองค์ในชีวิตของเราแต่ละคน ในชีวิตคริสตจักร และในชุมชนล้อมรอบเราหรือไม่? พระองค์กำลังทำอะไรอยู่? และเราได้เข้าร่วมในพระราชกิจดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร?

ขอท่านกรุณาช่วยเพิ่มประเด็นคำถามที่สำคัญด้วยครับ!

ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.emmaus@gmail.com; 081-2894499



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น