12 ธันวาคม 2553

คริสต์มาส: ข่าวร้ายที่คนมองข้าม

รางหญ้า... “ข่าวร้าย” ที่เป็นข่าวแห่งพระคุณ

ครั้งนั้น ซีซาร์ออกัสตัสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ทำทะเบียนสำมะโนประชากรทั่วทั้งจักรวรรดิโรมัน นี่เป็นการทำทะเบียนสำมะโนประชากรครั้งแรก ในสมัยคีรินิอัสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย ทุกคนต่างไปยังเมืองของตนเพื่อขึ้นทะเบียน

ดังนั้น โยเซฟจึงเดินทางจากนาซาเร็ธในแคว้นกาลิลีขึ้นไปยังเบธเลเฮม นครแห่งดาวิดในแคว้นยูเดีย เพราะเขาสืบเชื้อสายจากดาวิด เขาไปที่นั่นกับมารีย์คู่หมั้นซึ่งกำลังตั้งครรภ์เพื่อขึ้นทะเบียน
ขณะพวกเขาอยู่ที่นั่น ก็ถึงกำหนดที่มารีย์จะคลอดบุตร นางให้กำเนิดบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพัน(ทารกนั้น) แล้ววางไว้ในรางหญ้า เพราะไม่มีที่ว่างสำหรับเขาในนครดาวิด
(ลูกา 2:1-7, อมตธรรม, อักษรเอนสำนวนของผู้เขียน)

เมื่อเราคิดถึงการบังเกิดของพระคริสต์ที่บ้านเบธเลเฮม เราต้องตระหนักว่านี่เป็นเรื่องจริง มิใช่เรื่องที่เขาเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หมอลูกาอ้างอิงหลักฐานการปกครองในเวลานั้นเพื่อยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง

แต่คริสต์มาสได้รับการบอกกล่าวเล่าต่อกันมายาวนานว่า เป็นเวลาแห่งความชื่นชมยินดี เราท่านจะเห็นบัตรอวยพรคริสต์มาส หรือ ภาพวาดฉากการบังเกิดของพระคริสต์ดูยิ่งใหญ่อลังการ มีทั้งทูตสวรรค์อยู่หลังฉาก คนเลี้ยงแกะก้มกราบนมัสการพระกุมาร เหล่านักปราชญ์นำของมีค่ามาถวายบรรณาการ บางครั้งก็มีเด็กน้อยเล่นกลองให้พระกุมารฟัง ภาพเช่นนี้เป็นเรื่องจริงผสมปนเปต่างกรรมต่างวาระไว้ในภาพเดียวกัน

ในพระคัมภีร์ที่หมอลูกาบันทึกไว้ว่า เวลานั้นเป็น “ข่าวร้าย” อย่างยิ่งว่า ในบ้านเบธเลเฮม นครแห่งดาวิด (ห่างจากกรุงเยรูซาเล็มเพียง 8 กิโลเมตร) ไม่มีห้องว่างสำหรับมารีย์ที่จะให้กำเนิดทารกในครรภ์ของเธอ จากบันทึกของหมอลูกาท่านบอกไว้ว่า มารีย์ให้กำเนิดทารกเพศชาย เอาผ้าอ้อมพันทารกนั้น แล้ววางไว้ใน “รางหญ้า” ทำให้เราจินตนาการว่า มารีย์น่าจะคลอดบุตรหัวปีของเธอในคอกสัตว์ ซึ่งโดยปกติทั่วไปในเวลานั้นน่าจะเป็นถ้ำ

“ข่าวร้าย” ประการถัดมาคือ มารีย์ต้องคลอดทารกด้วยตนเอง ไม่มี “หมอตำแย” หรือเรียกให้เพราะหน่อยคือ “นางผดุงครรภ์” แม้แต่หมอลูกาก็ไม่ได้บันทึกว่า โยเซฟได้ช่วยอย่างไรบ้างในการทำคลอด ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า โยเซฟเป็นคุณพ่อ “มือใหม่หัดขับ” ก็เป็นไปได้

สภาพแวดล้อมในที่ทารกน้อยบังเกิดนั้นจึงมืดสลัว มากที่สุดก็คงมีตะเกียงสักอันหนึ่ง มีกลิ่นของคอกสัตว์ และรางหญ้าที่รองรับทารกน้อยก็คงคละคลุ้งด้วยกลิ่นหญ้าคละเคล้าด้วยน้ำลายสัตว์

มารีย์รู้ว่านี่เป็นการมาบังเกิดของพระคริสต์ที่ผู้คนรอคอย
เธอเต็มใจที่จะเป็น “ทาสี” แห่งพระเป็นเจ้า
เธอเองก็ภูมิใจที่มีส่วนในพระราชกิจครั้งสำคัญของพระเจ้า
แม้เธอจะยังไม่เข้าใจรู้แจ้งแทงทะลุในเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น
เธอรำพึง ใคร่ครวญสิ่งเหล่านี้ในใจ ในห้วงความนึกคิดของเธอ
ทำไมแผนการของพระเจ้าดูจะมีอุปสรรคปัญหามากมายร้ายกาจเช่นนี้
พระเจ้ามีพระประสงค์อะไรในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับเธอ

บ่อยครั้ง เมื่อชีวิตของเราต้องเผชิญหน้ากับ “ข่าวร้าย”
เรามักคิดว่า นี่เราทำอะไรบางอย่างผิดแน่

นี่คงมิใช่แผนการของพระเจ้า หรือ
นี่เป็นการลงโทษจากพระเจ้า

แต่ “ข่าวร้าย” “เหตุร้าย” ที่เกิดขึ้นกับเราในชีวิต ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้อง “เลวร้าย”
“ข่าวร้าย” สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพระราชกิจของพระเจ้า
ในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า “ข่าวร้าย” ในสายตาของเรา แต่เป็นพระกิตติคุณ หรือ
“ข่าวที่ทรงคุณค่าความหมาย” จากพระเจ้า

สำหรับมารีย์แล้ว นี่มิใช่ข่าวร้าย หรือ เหตุการณ์ที่เลวร้าย
เธอนำทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รำพึง ภาวนา และใคร่ครวญ
ถึงพระประสงค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

บ่อยครั้ง เรามีกรอบคิด กรอบคาดหวัง ในแต่ละเรื่องแต่ละเหตุการณ์
เมื่อเรื่องใด เหตุการณ์ใดมิได้เกิดขึ้นตามที่คาดหวัง เรามักเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ข่าวร้าย”

แต่ถ้าเราเปิดชีวิต เปิดความนึกคิด เปิดความคาดหวังของเรา รับการทรงเปิดเผยจากพระเจ้า
เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นในชีวิตของเราขณะนั้น แม้จะเลวร้ายแค่ไหน

เราจะสงบ รำพึง ภาวนา และ ใคร่ครวญถึงพระประสงค์ของพระองค์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เราจะเห็นและได้รับ “ข่าวที่ทรงคุณค่าความหมาย” จากพระเจ้า

ผู้นำศาสนา มหาปุโรหิต ฟาริสี ธรรมมาจารย์ ไม่สามารถรับว่า พระเยซูเป็นพระคริสต์ที่เขารอคอย
เพราะพระเยซูคริสต์มิได้เกิดมาตาม “สเปค” “กรอบคิด” “มาตรฐาน” และตามที่เขาคาดหวัง

ผู้นำศาสนากำลังสร้าง “กรอบ” ขีดวงจำกัด การทำพระราชกิจของพระเจ้า
พระเยซูคริสต์จึงเป็น “ข่าวร้าย” สำหรับพวกเขา

ในช่วงเวลาของการเตรียมรับเสด็จ
เป็นช่วงเวลาของการใคร่ครวญ รำพึง ภาวนา ถึงชีวิตของเรากับพระประสงค์ของพระเจ้า
โปรดระวังที่จะไม่พยายาม “ตีกรอบคิด” “กำหนดมาตรฐาน” และสร้างความคาดหวัง
....ว่าพระเจ้าจะต้องกระทำตามกรอบเหล่านั้น
ถ้าเช่นนั้น คริสต์มาสปีนี้ท่านคงจะมีแต่ “ข่าวร้าย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น