04 มิถุนายน 2555

การทรงเรียก พระประสงค์ ใจของข้าฯ?


คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกทุกคน   แม้ว่าในเรื่องที่ทรงเรียก  วิธีการ  และพระประสงค์อาจจะหลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานการณ์และแต่ละบุคคล   แต่เราท่านเชื่อว่าพระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคน และ ทรงเรียกทั้งกลุ่มชน  และ สังคมประเทศชาติด้วย

เรื่องราวของโยนาห์ และ โมเสส ทั้งสองท่านต่างสำนึกในการทรงเรียกของพระเจ้า   ต่างรู้ถึงพระประสงค์ของพระเจ้า   แต่เขาทั้งสองเลือกตอบสนองตามวิธีคิด  วิธีตัดสินใจ  และวิธีการกระทำตามใจของตนเอง

ในยุคที่โมเสสเกิดมา ชนชาติอิสราเอลตกเป็นทาสในประเทศอียิปต์ที่พวกเขาเคยอยู่กินอย่างมีความสุข และ เป็นชนชาติที่ได้รับการนับหน้าถือตาจากประชาชนคนทั่วไปในอียิปต์สมัยนั้น   เพราะผู้คนรู้จักและยอมรับในความเป็นผู้นำของโยเซฟ   ที่คนอียิปต์เห็นว่าเขาปกครองประเทศด้วยการทรงสถิตอยู่ด้วยของพระเจ้า  และใช้พระปัญญาและพระประสงค์เป็นเกณฑ์ในการบริหารปกครองแผ่นดินอียิปต์ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์มหันตภัยแล้งและการกันดารอาหารครั้งสำคัญในภูมิภาคแถบนั้น

แต่เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนคนชาติพันธุ์ใหม่มาเป็นกษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินอียิปต์  จำนวนชนชาติอิสราเอลที่ “มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองจนกลายเป็นชนชาติใหญ่อยู่คับคั่งในดินแดนนั้น” (อพยพ 1:7 อมตธรรม)   แต่กษัตริย์องค์ใหม่มาจากอีกชนชาติเผ่าพันธุ์หนึ่ง  เกรงกลัวว่าพวกอิสราเอลจะลุกฮือขึ้นยึดอำนาจจึงดำเนินการวางแผนควบคุมประชากรอิสราเอลด้วยการสั่งให้นางผดุงครรภ์ฆ่าทารกเพศชายที่เกิดใหม่ให้ตายเสียแต่ในครรภ์   แต่นางผดุงครรภ์ทั้งสองไม่ยอมทำตามคำสั่งของกษัตริย์อียิปต์  เพราะทั้งสอง “ยำเกรงพระเจ้า”(ข้อ 17)  จนกษัตริย์อียิปต์ต้องปรับเปลี่ยนมาตรการ “ราชาพิฆาต” โดยมีคำสั่งและใช้มวลชนคนของพระองค์จับทารกชายของพวกฮีบรูโยนทิ้งลงในแม่น้ำไนล์(ข้อ 22 อมตธรรม)   และนี่คือที่มาของการที่พ่อแม่ของโมเสสนำทารกโมเสสที่อายุ 3 เดือนใส่ในตระกร้าต้นกกลอยในแม่น้ำไนล์(ข้อ 2:2-3 อมตธรรม)

ธิดาฟาโรห์เห็นทารกในตระกร้าแล้ว “รู้สึกสงสาร” (ข้อ 2:6)  เมื่อมีผู้เสนอจะหานางนมที่จะเลี้ยงทารกนี้ ธิดาฟาโรห์เห็นด้วย  และให้ไปตามแม่ของทารกมา  และธิดาฟาโรห์รับสั่งว่า  “ให้นำเด็กคนนี้ไปเลี้ยงดูแทนเราด้วย  แล้วฉันจะให้ค่าจ้าง” (ข้อ 2:8-9)   จนเด็กคนนี้เติบโต แม่นมจึงนำกลับมาเฝ้าธิดาฟาโรห์   พระนางทรงเลี้ยงดูเขาเป็นโอรส  และตั้งชื่อว่า “โมเสส” ชื่อนี้ไม่เท่ห์เลยครับ   เพราะบอกถึงที่มาว่า เป็นเด็กที่พระนางฉุดขึ้นจากน้ำ(ข้อ 2:10)  ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยแล้วว่าเขาคือทารกชาติฮีบรู ที่ได้รับการช่วยจากการตายในแม่น้ำไนล์   และโมเสสได้ร่ำเรียนความรู้ วิทยายุทธ์ต่างๆ ที่เจ้าชายทั้งหลายควรได้รับการร่ำเรียนเตรียมตัวและฝึกฝนจากราชสำนัก

โมเสส

สิ่งหนึ่งที่ฝังในสำนึกของโมเสสคือรู้ว่าตนคือชนชาติฮีบรู   และได้เห็นถึงคนชนชาติเดียวของตนต้องถูกกดขี่ข่มเหง และบังคับให้ต้องทำงานหนัก  ยิ่งกว่านั้นยังถูกทุบตีทำร้ายด้วยความรุนแรงจากชาวอียิปต์  โมเสสต้องการที่จะช่วยชนชาติอิสราเอล   เสียงเรียกเรื่องการปลดปล่อยชนชาติของตนออกจากการตกเป็นทาสของอียิปต์ก้องในจิตสำนึก  รุ่มร้อนในจิตใจ  และโมเสสคิดว่าตนต้องทำอะไรบางอย่าง

สิ่งที่โมเสสตัดสินใจช่วยพี่น้องชนชาติเดียวของตนคือ  การคิด ตัดสินใจ และ ลงมือกระทำตามเสียงเรียกร้องแห่งจิตสำนึกในการปลดปล่อยชนชนอิสราเอลออกจากการเป็นทาสของอียิปต์   ด้วยศักยภาพและความสามารถชำนาญในการต่อสู้และการยุทธ์   พร้อมทั้งใช้อำนาจตำแหน่งฐานะเจ้าชายแห่งอียิปต์ที่คิดว่าตนเองมี   ในการตอบสนองต่อเสียงเรียกแห่งจิตสำนึกของเขา  

โมเสสตอบสนองต่อเสียงเรียกในจิตสำนึกของเขา ตามใจปรารถนาและความมั่นใจในตนเอง   มักคิดว่า “ฉันพร้อม ฉันทำได้”   ปัญหาคือ งานนี้มิใช่แค่ความปรารถนาของโมเสส   แต่นี่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า  จึงมีความสำคัญว่า พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จก็โดย แนวทาง ความคิด และการกระทำตามแผนการของพระเจ้าเท่านั้น   มิใช่ทำตามใจอยากทำของฉัน

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโมเสสเมื่อเขาคิดทำตามใจปรารถนา และ ไว้วางใจในศักยภาพความสามารถของตนเอง   ศูนย์กลางการทำพระราชกิจครั้งนี้มิใช่อยู่ที่พระประสงค์ของพระเจ้า   แต่อยู่ที่ใจปรารถนาของโมเสส   ใจที่ต้องการเอาชนะพวกอียิปต์   ใจที่ต้องการปลดแอกชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสของฟาโรห์   และนั่นหมายความถึงอิสราเอลกลับไปเป็นผู้ปกครองอียิปต์อีกครั้งหนึ่งเฉกเช่นสมัยของโยเซฟ   โมเสสก็จะกลายเป็นผู้นำในอียิปต์   โมเสสฆ่าทหารอียิปต์ที่ข่มเหงทำร้ายแรงงานอิสราเอล

ผลที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองเสียงจากสำนึกของโมเสสคือ   ฟาโรห์ที่เคยระวังและสงสัยการคิดกบฏของโมเสสก็กลายเป็นจริง   ฟาโรห์จึงหาทางกำจัดโมเสสเสียแต่โมเสสเองต้องหนีไปยังดินแดนมีเดียน (ข้อ 2:15)   ที่มีเดียนนั้นเองที่พระเจ้าทรงเตรียมและสร้างโมเสสใหม่   จากเจ้าชายแห่งอียิปต์ ที่ได้รับการเตรียมพร้อมทั้งความรู้การปกครอง และ การทหาร   จะด้วยการรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม  ตอนนี้โมเสสต้องเข้ารับการเตรียมและฝึกฝนจากพระเจ้า   ให้เป็นคนเลี้ยงแกะเพื่อเขาจะพร้อมในการนำและปกครองประชาอิสราเอลตามพระประสงค์ของพระเจ้า  คือให้ปกครองประชากรอิสราเอลอย่างผู้เลี้ยงแกะที่เอาใจใส่แกะ   และอดทนต่อการดูแลฝูงแกะอิสราเอลที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้โมเสสดูแล เลี้ยงดู และนำประชากรอิสราเอลไปสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญาของพระองค์

เมื่อถึงเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนด พระองค์ทรงเรียกโมเสสใหม่อีกครั้งหนึ่ง  แต่โมเสสเข็ดหลาบกับประสบการณ์ในอดีต   ปฏิเสธการทรงเรียกของพระเจ้า   นอกจากไม่รู้จะไปต่อกรอย่างไรกับฟาโรห์แล้ว   โมเสสเองไม่แน่ใจว่าพวกอิสราเอลจะยอมฟังตนหรือไม่   ถึงแม้พระเจ้าทรงให้โมเสสกระทำการอัศจรรย์แต่โมเสสก็ยังปฏิเสธการทรงเรียก   เนื่องจากโมเสสจะต้องไปพูดกับพวกผู้นำของอิสราเอลเรื่องการทรงเรียก และ พระราชกิจที่พระเจ้าจะทรงนำอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์   ดังนั้น  โมเสสจึงให้เหตุผลกับพระเจ้าว่าตนเป็นคนที่พูดไม่เก่ง  พูดไม่คล่อง  ไร้คารม   ขอพระเจ้าส่งคนอื่นไปเถิด (ข้อ 4:10, 13 อมตธรรม)   พระเจ้าจึงบอกโมเสสว่าพระองค์เตรียมให้พี่ชายของโมเสสคืออาโรนเป็นคนพูดแทนโมเสส (ข้อ 14)

ข้อสังเกตที่สำคัญในตอนนี้คือ   การทรงเรียกโมเสสครั้งนี้ของพระเจ้าชี้ให้เห็นชัดว่า   การที่โมเสสจะกระทำตามการทรงเรียกตามพระประสงค์นั้นมิใช่พึ่งพิงความสามารถ ฐานะ  ตำแหน่ง หรือ อำนาจที่เขามีอีกต่อไป    แต่ต้องพึ่งฤทธิ์เดชและการทรงนำของพระเจ้า   นอกจากนั้นแล้วการทำงานตามพระประสงค์ของพระเจ้าครั้งนี้   โมเสสมิใช่ “พระเอกขี่ม้าขาว”   แต่ต้องทำพระราชกิจร่วมกับผู้นำอิสราเอลคนอื่นๆ   แม้ผู้นำเหล่านั้นจะเข้าใจถึงแผนการของพระเจ้ามากบ้างน้อยบ้าง   แต่ทุกคนเข้าร่วมในพระราชกิจแห่งพระประสงค์ของพระเจ้าครั้งนี้   ศูนย์กกลางการขับเคลื่อนอยู่ที่พระเจ้าทรงกระทำพระราชกิจ   มิใช่การขับเคลื่อนของโมเสส หรือ ผู้นำอิสราเอล  

ดังนั้น  การที่โมเสสได้รับการทรงเรียก   เขาต้องกระทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า   มิใช่ทำตามใจปรารถนาของตนเอง   ด้วยศักยภาพและความสามารถของตนเอง   เมื่อได้รับการทรงเรียกแล้วมิใช่ทำตามที่ตนคิดและเข้าใจ   และพึ่งความสามารถ สติปัญญา  เครือข่ายเพื่อนฝูงที่ตนมีเท่านั้น   แต่ต้องทูลขอพระเจ้าทรงเปิดเผยแผนการและวิธีการของพระองค์   และผู้คนที่พระองค์ทรงเตรียมสำหรับพระราชกิจของพระองค์   เพื่อตนจะน้อมนำและเข้าร่วมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

โยนาห์

โยนาห์ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้ไปประกาศถึงความผิดบาปของคนในเมืองนีนะเวห์(เมืองหลวงของอัสซีเรีย)  และประกาศให้เขากลับใจใหม่   มิเช่นนั้นความพินาศหายนะจะเกิดแก่คนและเมืองนี้  โยนาห์ไม่ต้องการทำตามการทรงเรียกของพระเจ้า   ไม่ใช่เพราะโยนาห์ไม่รู้ว่านี่คือการทรงเรียก  และนี่คือพระประสงค์ของพระเจ้า   เขารู้อยู่แก่ใจของตนอย่างแน่ชัด  

สาเหตุที่โยนาห์ไม่ยอมทำตามการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้า   เพราะโยนาห์ไม่ชอบหรือเกลียดพวกคนอัสซีเรียนอย่างเข้ากระดูกดำ   เพราะกองทัพอัสซีเรียเคยโจมตีและทำร้ายทำลายอิสราเอลอย่างยับเยิน   โยนาห์มองว่า คนอัสซีเรียในกรุงนีนะเวห์ไม่ควรได้รับความรอด   เขาจึงไม่ยอมไปประกาศ  เพราะถ้าประกาศแล้วพวกนีนะเวห์จะกลับใจ   และพวกเขาจะไม่ถูกพระเจ้าลงโทษ(โยนาห์ 3:3-10)   โยนาห์ต้องการให้คนอัสซีเรียถูกพระเจ้าลงโทษ

โยนาห์ ไม่ยอมทำตามการทรงเรียกและพระประสงค์เพราะ “อคติ” ที่โยนาห์มีต่อคนในกรุงนีนะเวห์   คือมองคนอัสซีเรียด้วยสายตาและอคติตัดสินว่าคนพวกนี้ไม่ควรได้รับความรอด   เพราะพวกนี้เคยทำความชั่วร้ายต่ออิสราเอลมาก่อน   โยนาห์จึงใช้ใจปรารถนาและอคติของตนเองเป็นศูนย์กลางของชีวิต   แทนที่จะยอมทำตามพระประสงค์และให้พระราชกิจของพระเจ้าเป็นศูนย์กลางในชีวิตของตน

เมื่อพระเจ้าทรงเห็นการกลับใจของชาวนครนีนะเวห์ พระองค์ก็ “ทรงเอ็นดูสงสารและไม่ได้ทำลายพวกเขาตามที่ทรงคาดโทษไว้” (ข้อ 3:10 อมตธรรม)   เพราะพระเจ้ามีพระทัยเมตตาทำให้โยนาห์โกรธและไม่พอใจพระเจ้าอย่างมาก (4:1)   และต่อว่าพระเจ้าว่า  “...ข้าพระองค์ก็บอกตั้งแต่อยู่ที่บ้านแล้วไม่ใช่หรือว่ามันจะเป็นอย่างนี้?   เพราะเหตุนี้แหละ  ข้าพระองค์จึงได้รีบหนีไปเมืองทารชิช...” (ข้อ 4:2)   เมื่อพระเจ้าไม่ทำลายเมืองนีนะเวห์   โยนาห์กล่าวประชดพระเจ้าว่า  “... บัดนี้ขอทรงเอาชีวิตข้าพระองค์ไปเถิด   ข้าพระองค์ตายเสียดีกว่าอยู่” (ข้อ 4:3)   จนพระเจ้าต้องกระตุกต่อมสำนึกของโยนาห์ด้วยการทรงถามว่า “เจ้ามีสิทธิอะไรที่จะโกรธ(เรา)” (ข้อ 4:4)   แต่โยนาห์ต่อปากต่อคำต่อไปว่า  “ข้าพระองค์มีสิทธิ  ข้าพระองค์โกรธจนอยากตาย” (ข้อ 4:9 อมตธรรม)   พระเจ้าทรงเรียกจิตสำนึกของโยนาห์กลับมาว่า  “ก็แล้วนีนะเวห์ซึ่งมีคนกว่า 120,000 คน ซึ่งไม่รู้ประสาว่าไหนมือซ้ายไหนมือขวา  ทั้งยังมีสัตว์เลี้ยงอีกมากมาย  ไม่ควรหรือที่เราจะห่วงใยนครใหญ่นั้น? (ข้อ 4:10)

โยนาห์รู้ถึงการทรงเรียกของพระเจ้า   และยังรู้ว่าพระเจ้ามีพระประสงค์อะไร   แต่ตนเองไม่เห็นด้วยกับพระประสงค์นั้นจึงตอบสนองอย่างตรงกันข้ามกับการทรงเรียกและพระประสงค์    เป็นการตอบสนองการทรงเรียกด้วย “อคติส่วนตัว” แทนที่จะตอบสนองตามแผนการและแนวทางแห่งพระประสงค์ของพระเจ้า

นางผดุงครรภ์

ซิฟราห์ และ ปูอาห์ นางผดุงครรภ์ที่ฟาโรห์สั่งให้ฆ่าทารกเพศชายของชาวฮีบรู   แต่นางผดุงครรภ์ทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของฟาโรห์   เพราะทั้งสองยำเกรงพระเจ้า   นางทั้งสองเลือกที่จะเชื่อฟังพระเจ้ามากกว่าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของฟาโรห์ (อพยพ 1:15-17)   ซึ่งทั้งสองรู้อยู่แก่ใจว่าเสี่ยงต่อการถูกลงโทษจากฟาโรห์อย่างสูง   แต่สำหรับนางผดุงครรภ์ทั้งสองแล้ว  การยำเกรงพระเจ้าสำคัญกว่าความปลอดภัย มั่นคง และมั่งคั่งในชีวิตของตนเอง

ทั้งนี้เขาทั้งสองรู้ว่า  เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะให้ชนชาติอิสราเอลเพิ่มจำนวนทวีมากขึ้นให้เป็นชนชาติใหญ่ของพระองค์   และรู้ว่า ทารกที่เกิดมาเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่พ่อแม่ของทารกและแก่ประเทศชาติ   และรู้แน่ชัดว่าการฆ่าเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดนอกจากเป็นการทำลายพระพรของพระเจ้า   ขัดขืนพระประสงค์ของพระเจ้าแล้ว  ยังเป็นการกระทำผิดต่อพระบัญญัติของพระเจ้าอีกด้วย   และที่สำคัญคือทั้งสองสำนึกว่า การเป็นนางผดุงครรภ์เป็นอาชีพที่พระเจ้าทรงเรียก และเป็นงานที่พระเจ้ามอบหมายให้ตนรับผิดชอบ

ดังนั้น  ทั้งสองรู้ตระหนักชัดถึงการทรงเรียกของพระเจ้า   และรู้ถึงพระประสงค์ของพระองค์   แต่เขาทั้งสองมิได้ทำตามใจตนเอง   มิได้ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจอย่างฟาโรห์   มิได้เบี่ยงเบนการกระทำของตนเพื่อความปลอดภัย  หรือเพื่อถูกใจฟาโรห์   เพื่อตนจะเป็นคนโปรดปรานของผู้มีอำนาจ   แต่เขาทั้งสองเลือกที่จะทำด้วยความยำเกรงพระเจ้า

ในวันนี้  ทุกเรื่องที่เราคิด พิจารณา  ตัดสินใจ  และที่จะลงมือกระทำ   ให้เราใคร่ครวญว่า   พระเจ้าทรงเรียกเราหรือไม่  ในเรื่องอะไร?   พระองค์มีพระประสงค์อะไรในชีวิตวันนี้ของเรา?   แล้วเราจะตอบสนองอย่างไรต่อการทรงเรียกและพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตวันนี้ของเราแต่ละคน?


ประสิทธิ์ แซ่ตั้ง
บ้านแม่แก้ดน้อย  สันทราย  เชียงใหม่
E-mail: prasit.barnabus@gmail.com
081-2894499
หมายเหตุ:  ที่อยู่ e-mail ของผมเปลี่ยนใหม่เป็น prasit.barnabus@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น