29 สิงหาคม 2553

อะไรที่บ่งชี้ถึงความเป็นคริสเตียนของท่าน?

อ่าน 1โครินธ์ 1:10-17

...พวกท่านต่างก็กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เปาโล” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์อปอลโล” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เคฟาส” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นศิษย์พระคริสต์” (ข้อ 12)

เปาโลเขียนจดหมายฉบับแรกถึงชุมชนคริสตจักรในเมืองโครินธ์ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการแตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกในคริสตจักรเวลานั้น มีหลายเหตุผลข้ออ้างของคนในชุมชนคริสตจักรโครินธ์ที่ไม่สามารถจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ชุมชนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์แห่งนี้แบ่งออกเป็นก๊กเป็นเหล่าแทนที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เป็นคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

สาเหตุประการหลักที่ทำให้คริสเตียนในเมืองโครินธ์ต้องแตกเป็นพรรคเป็นพวก เป็นก๊กเป็นเหล่า หรือทำให้คริสเตียนในเมืองนั้นไม่สามารถที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เพราะ “ความต่ำด้อยด้านวุฒิภาวะในความเชื่อและชีวิตคริสเตียน” หรือ “วุฒิภาวะในความเชื่อที่ยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์” แต่ยังเป็นเด็กในพระคริสต์ที่ถูกซัดไปเซมา หันไปเหมา ด้วยลมปากและการใช้เหตุผล ด้วยผลประโยชน์และความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งเป็น “กับดัก” คริสเตียนที่ยังไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระเยซูคริสต์ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นเช่นนั้นเพราะคริสเตียนเหล่านี้นำเอาวัฒนธรรมและบางส่วนในวิถีชีวิตเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตเมื่อกลับใจเชื่อในพระเยซูคริสต์ หรือมองว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตดังกล่าวเป็นสิ่งกระทำกันในสังคมในเวลานั้นและถือว่าเป็นธรรมดา หรือบางครั้งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเสียอีก จึงยึดถือและนำเข้ามาปฏิบัติในชุมชนคริสเตียน ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่สอดคล้องถูกต้องตามวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตคริสเตียนเลย

ตัวอย่างวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตที่คริสเตียนในเมืองโครินธ์นำมาจากความเชื่อเดิม หรือ แนวทางปฏิบัติที่ทำกันในสังคมสมัยนั้นคือ การติดยึดตัวบุคคลที่นำเขาให้เข้าไปสู่ความล้ำลึกทางความเชื่อศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางศาสนา เช่น พระ, อาจารย์, หรือนักปรัชญาในยุคนั้น และประกาศตัวเป็นสาวกของผู้นำคนนั้นๆ สวามิภักดิ์ ทุ่มเทกาย ใจ ความคิด ให้แก่คนๆ นั้น เพราะผู้นำคนนี้นำเขาให้เข้าถึงพระเจ้า นำเขาให้ชีวิตได้ประสบพบโอกาสและสิ่งที่ดีมีประโยชน์ หรือไม่ผู้นำคนนั้นก็ได้ช่วยชี้ทางให้เขาให้ดำเนินเนินชีวิตที่มีจริยธรรม หรือ เสริมหนุนให้เขาพบกับปัญญาความคิด

ด้วยเหตุนี้จึงมีคริสเตียนในเมืองโครินธ์บางคนที่กล่าวอ้างแสดงตนว่า ตนเป็นสาวกของเปาโล บ้างก็ยืนยันว่าตนเป็นสาวกของอปอลโล อีกพวกหนึ่งก็อวดอ้างว่าเป็นสาวกของเปโตร และนี่คือผลของการนำเอาวัฒนธรรมเดิมและวิถีชีวิตเดิมมาปฏิบัติในคริสตจักร หรือการนำเอาวัฒนธรรมและแนวทางปฏิบัติที่นิยมชมชื่นว่าถูกต้องในสมัยนั้นแต่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามแบบพระเยซูคริสต์มาปฏิบัติในชุมชนคริสตจักรของพระองค์ นี่คือที่มาประการหนึ่งของการแตกแยกในคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

คงยากที่จะปฏิเสธว่า สิ่งในทำนองนี้ก็เกิดขึ้นในคริสตจักรไทยปัจจุบัน บางคนยึดมั่นอวดอ้างในมรดกธรรมเนียมปฏิบัติตามลัทธินิกายของตน ในที่นี้รวมถึงพวกที่อ้างตนว่าเป็นคริสตจักรอิสระไม่มีสังกัดลัทธินิกายใดด้วยเช่นกัน (เพราะได้ตั้งตัวเป็นอีกพวกหนึ่งเช่นกัน) ด้วยเหตุผลที่ย้ำอย่างลึกๆ เพื่อจะบอกว่าตนเป็นคริสเตียนขนานแท้ (กว่าพวกอื่น)

อีกกลุ่มหนึ่งได้ยืนยันความเป็นคริสเตียนของตนโดยยึดมั่นในศาสนศาสตร์กระแสใดกระแสหนึ่ง บ้างจึงประกาศตัวว่าตนเป็นคริสเตียน “อีเวนเจริคัล” บ้างก็มุ่งมั่นทำให้คริสตจักรและสถาบันคริสเตียนทั้งหลายให้เชื่อแบบ “เอคคิวเมนิคัล” น่าสังเกตว่า คริสเตียนทั้งสองกลุ่มนี้ติดตามแนวทางศาสนศาสตร์ที่ตนยึดถืออย่างเอาเป็นเอาตาย การที่คริสเตียนจะมีศาสนศาสตร์นั้นไม่ใช่สิ่งผิดแปลกประการใด แต่การยึดมั่นถือมั่นในศาสนศาสตร์จนทำให้สัมพันธภาพของการเป็นชุมชนคริสเตียนของพระเยซูคริสต์ต้องแตกแยกฉีกขาดต่างหากที่เป็นการผิดแน่ๆ และเมื่อใดที่คริสเตียนไทยทำตนเช่นนี้ก็กำลังตกลงใน “กับดัก” ที่ชุมชนคริสตจักรโครินธ์เคยตกลงไปแล้ว

สิ่งที่จะสำแดงและยืนยันในการเป็นคริสเตียนของเราคือการที่เราเลือกที่จะยึดมั่น ยืนหยัดเคียงข้างการเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ ที่จะไม่สร้าง “กำแพง” ที่จะขวางกั้นสามัคคีธรรมของพระเยซูคริสต์ในแผ่นดินของพระเจ้า

ในการที่เราทุกคนยึดมั่น ติดตาม ด้วยความไว้วางใจในพระเยซูคริสต์ นี่คือสายสัมพันธ์ที่จะผูกพันเราเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนคริสตจักรของพระเยซูคริสต์

วันนี้ เราแต่ละคนคงต้องถามตนเองว่า
อะไรคือสิ่งที่บ่งชี้ความเป็นคริสเตียนของเรา?
การที่จะต้อง “ตีตรา” ว่าเราเป็นคริสเตียน “ยี่ห้อ” อะไร สำคัญต่อเราแค่ไหน?
การที่เราต้องแสดงตน หรือ ประกาศตนว่าเป็นพวกของ “ผู้นำคริสเตียน” คนใด มีผลกระทบ หรือ สั่นคลอนต่อสัมพันธภาพกับคริสเตียนคนอื่นๆ หรือไม่?
คงเป็นเวลาที่เราจะต้องหันกลับมาติดตามแต่พระคริสต์
ยึดมั่น ทุ่มเททั้งหมดแด่พระองค์
แม้เราจะมี ศาสนศาสตร์อะไร หรือ เป็นพวกของใครก็ตาม

บ่อยครั้งที่เราถูกครอบงำจนเป็นทาสทางความคิด ความเชื่อที่ได้รับการสอน
จนเราไม่ยอมที่จะเป็นมิตรกับเพื่อนคริสเตียนที่คิดต่างจากเรา หรือปฏิบัติไม่เหมือนเรา
ท่ามกลางความแตกต่างของเราแต่ละคน
ให้เราต่างยึดมั่นวางใจในพระคริสต์
นี่จะเป็นสายใยสามัคคีธรรมที่จะผูกรัดจิตใจ ความคิด จิตวิญญาณ และทั้งชีวิตของเราทุกคนเข้าด้วยกัน
ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะทุกคนเป็นของพระองค์

ให้เราละ วาง สิ่งที่สั่นคลอน กีดขวาง และฉีกกระชากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเราในพระคริสต์ เพื่อเราจะเป็นของกันและกันในครอบครัวของพระองค์

พระธรรมภาวนา

ยอห์น 17:11
บัดนี้ข้าพระองค์จะไม่อยู่ในโลกนี้อีก แต่พวกเขายังอยู่ในโลกนี้ และข้าพระองค์กำลังจะไปหาพระองค์ ข้าแต่พระบิดาผู้บริสุทธิ์ ขอพระองค์ทรงโปรดพิทักษ์รักษาบรรดาผู้ที่พระองค์ได้ประทานแก่ข้าพระองค์ไว้โดยพระนามของพระองค์ เพื่อเขาจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนดังข้าพระองค์กับพระองค์

ยอห์น 17:21
เพื่อเขาทั้งหลายจะได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังที่พระองค์คือพระบิดาทรงสถิตในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ในพระองค์ เพื่อให้เขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ และกับข้าพระองค์ด้วย เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงใช้ข้าพระองค์มา

กาลาเทีย 3:27-28 27
เพราะเหตุว่าคนที่รับบัพติศมาเข้าร่วมในพระคริสต์แล้ว ก็จะสวมชีวิตพระคริสต์ 28จะไม่เป็นยิวหรือกรีก จะไม่เป็นทาสหรือไท จะไม่เป็นชายหรือหญิง เพราะว่าท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยพระเยซูคริสต์

เอเฟซัส 2:14-16, 18-19 14
เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นสันติสุขของเรา เป็นผู้ทรงกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง 15คือการเป็นปฏิปักษ์กัน... เพื่อจะกระทำให้ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใหม่คนเดียวในพระองค์ เช่นนั้นแหละจึงทรงกระทำให้เกิดสันติสุข 16และเพื่อจะทรงกระทำให้ทั้งสองพวกคืนดีกับพระเจ้า เป็นกายเดียวโดยกางเขน ซึ่งเป็นการทำให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหมดสิ้นไป.. 18เพราะว่าพระองค์ทรงทำให้เราทั้งสองพวกมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบิดาโดยพระวิญญาณองค์เดียวกัน 19เหตุฉะนั้นท่านจึงไม่ใช่คนต่างด้าว(ท้าว)ต่างแดนอีกต่อไป แต่ว่าเป็นพลเมืองเดียวกันกับธรรมิกชน และเป็นครอบครัวของพระเจ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น